หลังจากผมได้ของขวัญกีตาร์โปร่งยี่ห้อ JoJo จากพี่สาวจอมโหดซื้อมาให้ในราคาประมาณ 650 บาท ก็ได้ตั้งฉายาเจ้ากีตาร์นี้ว่า “โจโจ้น้อย” และเริ่มฝึกจนเป็นกิจวัตร ผมเป็นคนหนึ่งที่เริ่มเล่นกีตาร์จากการเล่นคอร์ดหรือมักชอบเรียกว่าการตีคอร์ด กว่าจะฝึกจับได้แต่ละคอร์ดใช้เวลาพอสมควร ทั้งยังต้องสลับนิ้วไปจับคอร์ดอื่น ๆ อีก เช่น การตีคอร์ด 4 คอร์ดวน C-Am-Dm-G7 บริเวณตำแหน่งช่วงต้นคอกีตาร์ไม่เกิน 5 เฟร็ตแรก (จำได้ว่าการตีคอร์ดในตำแหน่งเหล่านี้ผมจะเรียกว่า “คอร์ดนอก” ส่วนถ้าเล่นเกินเฟร็ตที่ 5 ไปแล้วจะเรียกว่า “คอร์ดใน” ผมไม่ได้เป็นคนคิดนะครับได้ยินมาจากรุ่นพี่ ๆ อีกทีหนึ่ง) มือซ้าย-ขวาต้องจัดระเบียบและสร้างวินัยกันขนานใหญ่ ยิ่งช่วงฝึกจับการทาบนิ้ว (Barre) หรือผมมักเรียกว่าคอร์ดทาบบนคอร์ด F ที่ท้าทายนิ้วชี้มือซ้ายเป็นอย่างมาก เสมือนเป็นการสอบเลื่อนขั้นการตีคอร์ดไปอีกระดับหนึ่ง ใช่ครับสำหรับผมคิดแบบนั้นจริง ๆ เพราะการเล่นคอร์ดทาบได้ช่วยให้สามารถเล่น “คอร์ดใน” ได้ ส่วนมือขวาก็มีทั้งการใช้นิ้วและปิคกีตาร์ที่อาจตัดมาจากไม้บรรทัดบ้างหรือนำเหรียญห้ามาใช้ดีดบ้าง ฯลฯ กว่าจะเริ่มเรียนรู้คอร์ดในเพลงร็อกอย่าง Power Chord (ผมเรียกว่า “คอร์ดผี” จำมาจากรุ่นพี่ ๆ อีกเช่นกัน) หรือเทคนิคกีตาร์ก็ใช้เวลาไปอีกแรมปี
ช่วงวัยเริ่มแกะเพลงได้ก็เริ่มฝึกวิทยายุทธไปกับเพลงต่าง ๆ ช่วงแรกก็จำแต่ตำแหน่งเฟร็ตเท่านั้นผมเรียนรู้โน้ตบนคอกีตาร์จากการเล่นตำแหน่งมือเบสจำเป็น เพราะเพื่อน ๆ มีแต่คนอยากเล่นกีตาร์หรือไม่ก็กลองชุด กล่าวได้ว่าเป็นการเรียนรู้โน้ตบนคอกีตาร์ในช่วงเวลานั้น แต่เป็นการเรียนรู้เพียง 4 สายบนของกีตาร์เท่านั้น ทำให้รู้โน้ตบนสายเปิดหรือสายเปล่าและวิธีการเทียบโน้ตที่ต่างออกไปอีก 1 ช่วงคู่แปด (Octave)
ช่วงวัยเรียนปริญญาตรีก็เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่จำเป็นต้องจำโน้ตบนคอกีตาร์ให้ได้ความโชคดีของผมคือแวดล้อมด้วยกลุ่มเพื่อนที่จริงจังกับการฝึกซ้อมกีตาร์ จำได้ว่ามักรวมกลุ่มกับเพื่อน กินข้าวมื้อเย็นกันบ่อยครั้งหลังเลิกเรียน เพื่อให้การกินมื้อเย็นได้อรรถรสเพิ่มขึ้นก็มักพูดคุยเรื่องราวทางดนตรีกันไปตามประสา กระทั่งเข้าประเด็นการจำโน้ตบนคอกีตาร์จึงได้เริ่มทดสอบกันด้วยการระบุชื่อโน้ตต่าง ๆ แล้วให้จินตนาการถึงคอกีตาร์ จากนั้นให้ตอบตัวเองให้ได้ว่าเห็นโน้ตเหล่านี้บนตำแหน่งต่าง ๆ บนคอกีตาร์หรือไม่ แน่นอนว่าเราอาจโกหกคนอื่นว่าเห็นโน้ตเหล่านี้ก็เป็นได้แต่ไม่สามารถโกหกตัวเองได้ พวกผมใช้วิธีการนี้พร้อมกับจับเวลาไปด้วย ช่วงแรกอาจเป็น 10 วินาทีช่วงหลังเริ่มคล่องขึ้นก็ลดลงเป็น 5 วินาที ด้วยวิธีการข้างต้นนี้ไม่น่าเชื่อว่าภายในไม่กี่สัปดาห์ ผมจดจำโน้ตบนคอกีตาร์ได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้นกว่าเดิม
ณ ปัจจุบัน ยิ่งเห็นความสำคัญของการรู้ตำแหน่งโน้ตบนคอกีตาร์และมักจะบอกกับนักเรียนของผมเสมอว่าอย่าจำเพียงตำแหน่งเฟร็ตเท่านั้น หากรู้ตำแหน่งโน้ตบนคอกีตาร์และเชื่อมโยงเข้ากับโน้ตบรรทัด 5 เส้นได้ช่วยให้เรียนรู้สาระทางดนตรีสะดวกขึ้น เช่น การเล่นโน้ตที่สัมพันธ์กับคอร์ดหรือโมดการอ่านโน้ต เป็นต้น สำหรับ Ep.8 ผมนำแนวทางการศึกษาหรือการจดจำโน้ตบนคอกีตาร์มากล่าวถึง โดยการศึกษาโน้ตบนคอกีตาร์มีแนวทางหลากหลาย เบื้องต้นผมจะนำมากล่าวถึงทั้งหมด 3 แนวทางด้วยกัน อาจช่วยให้ทราบถึงตำแหน่งโน้ตบนคอกีตาร์ได้มากยิ่งขึ้นไม่มากก็น้อย ซึ่งจะกล่าวถึงเฉพาะกีตาร์ 6 สายและตั้งสายมาตรฐาน (Standard Tuning) เท่านั้น ทั้งนี้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต้องหล่อหลอมจากการฝึกซ้อม วินัย และการทำซ้ำเป็นกุญแจสำคัญ
1. วิธีจำโน้ต 5 เฟร็ตแรก
ลำดับขั้นตอนที่ 1)
ผมขอนำเสนอด้วยโน้ตช่วงตำแหน่ง 5 เฟร็ตแรก คือเริ่มตั้งแต่สายเปิดหรือสายเปล่า (Open String สำหรับบทความนี้ไปผมจะเรียกเป็น “สายเปิด”) จนถึงเฟร็ตที่ 5 ผมแนะนำให้เริ่มจดจำตำแหน่งโน้ตสายเปิดทั้ง 6 สายก่อนเสมือนเป็นสารตั้งต้นไปสู่ตำแหน่งโน้ตอื่น ๆ บนคอกีตาร์ต่อไป
การจดจำตำแหน่งเหล่านี้อาจเริ่มจดจำโน้ตจากสาย 6-1 หรือ 1-6 ตามลำดับ แนวทางปฏิบัติสำหรับการจดจำโน้ตให้พิจารณาร่วมกับรูปคอกีตาร์ด้านล่างซ้ายมือ
เลขวงกลมสีเทา แสดงลำดับสายกีตาร์
อักษรภาษาอังกฤษวงกลมสีเทา แสดงตำแหน่งโน้ตสายเปิดทั้ง 6 สาย
อักษรภาษาอังกฤษวงกลมสีดำ แสดงโน้ตที่ปรากฏบนคอกีตาร์ตำแหน่งเฟร็ตต่าง ๆ
หากจัดเรียงโน้ตตามลำดับเริ่มจากสาย 6-1 ได้เป็นโน้ต E-A-D-G-B-E ส่วนรูปคอกีตาร์ด้านล่างขวามือลูกศรสีส้มแสดงถึงโน้ตบนเฟร็ตที่ 5 และลูกศรสีฟ้าแสดงถึงโน้ตบนเฟร็ตที่ 4 โดยทั้งลูกศรสีส้มและสีฟ้าแสดงถึงความเชื่อมโยงโน้ตระดับเสียงเดียวกันกับโน้ตสายเปิดที่อยู่ติดกันถัดลงไป ดังนี้
(ลูกศรสีส้ม) โน้ตเฟร็ตที่ 5 สาย 6 มีระดับเสียงเดียวกันกับโน้ตสายเปิดสายที่ 5
(ลูกศรสีส้ม) โน้ตเฟร็ตที่ 5 สาย 5 มีระดับเสียงเดียวกันกับโน้ตสายเปิดสายที่ 4
(ลูกศรสีส้ม) โน้ตเฟร็ตที่ 5 สาย 4 มีระดับเสียงเดียวกันกับโน้ตสายเปิดสายที่ 3
(ลูกศรสีฟ้า) โน้ตเฟร็ตที่ 4 สาย 3 มีระดับเสียงเดียวกันกับโน้ตสายเปิดสายที่ 2
(ลูกศรสีส้ม) โน้ตเฟร็ตที่ 5 สาย 2 มีระดับเสียงเดียวกันกับโน้ตสายเปิดสายที่ 1
แนวคิดจากวิธีการข้างต้นนี้ ทำให้ทราบถึงตำแหน่งโน้ตระดับเสียงเดียวกันบนสายถัดไปที่อยู่ห่างออกไป 5 เฟร็ต (ลูกศรสีส้ม) ยกเว้นกรณีตำแหน่งโน้ตบนสาย 3 กับสาย 2 ที่มีระยะห่างออกไปเป็นจำนวน 4 เฟร็ต (ลูกศรฟ้า) วิธีเทียบกับโน้ตสายเปิดแต่ละสายเหล่านี้นอกจากทำให้ทราบตำแหน่งโน้ตสายเปิดบนสายถัดไปแล้วยังเป็นวิธีการเทียบเสียงเพื่อตั้งสาย (หรือตั้งเสียง หรือขึ้นสาย) กีตาร์รูปแบบหนึ่งด้วย โดยอาจเริ่มเทียบจากสาย 6 ไล่ลงไปยังสาย 1 หรือสาย 1 ไล่ขึ้นไปยังสาย 6 ก็ได้ การตั้งเสียงวิธีนี้จำเป็นต้องมีโน้ตที่เป็นเสียงหลักหรือเสียงมาตรฐานอย่างน้อย 1 โน้ต เพื่อใช้เทียบไปยังสายอื่น ๆ ต่อไป
ลำดับขั้นตอนที่ 2)
เมื่อทราบตำแหน่งโน้ตบนสายเปิดทั้งหมด พร้อมทั้งทราบตำแหน่งโน้ตระดับเสียงเดียวกันที่อยู่ห่างออกไปบนสายถัดไปแล้ว ผมจะนำโน้ตที่ปราศจากเครื่องหมายแปลงเสียง เช่น ชาร์ป แฟล็ต หรือสามารถกล่าวได้ว่านำโน้ตในบันไดเสียง C เมเจอร์มาใส่ไปบนตำแหน่งเฟร็ตที่ 1-5 ของทุกสายตามลำดับ สมาชิกโน้ตในบันไดเสียง C เมเจอร์ ประกอบด้วยโน้ต C-D-E-F-G-A-B โดยตั้งข้อสังเกตว่าระยะห่างลำดับขั้นโน้ตแต่ละตัวห่างกัน 1 เสียงเต็ม หรือ 2 เฟร็ตบนสายเดียวกัน ยกเว้นระยะห่างลำดับขั้นโน้ต B-C และ E-F จะห่างกันครึ่งเสียง หรือ 1 เฟร็ตบนสายเดียวกัน (เพื่อให้สังเกตได้สะดวกรูปคอกีตาร์ด้านล่างแสดงด้วยอักษรภาษาอังกฤษวงกลมสีฟ้า) พิจารณาร่วมกับตำแหน่งโน้ตในรูปคอกีตาร์ด้านล่าง โดยเริ่มจากสาย 6-1 และเริ่มจากตำแหน่งโน้ตสายเปิดถึงเฟร็ตที่ 5 ของแต่ละสายตามลำดับสรุปได้ดังนี้
สาย 6 เริ่มจากโน้ต E-F-G-A
สาย 5 เริ่มจากโน้ต A-B-C-D
สาย 4 เริ่มจากโน้ต D-E-F-G
สาย 3 เริ่มจากโน้ต G-A-B-C
สาย 2 เริ่มจากโน้ต B-C-D-E
สาย 1 เริ่มจากโน้ต E-F-G-A
จากข้อสรุปข้างต้นสังเกตได้ว่าตำแหน่งโน้ตบนสาย 6 และสาย 1 มีโน้ตเหมือนกันแต่อยู่ต่างระดับเสียงกัน ทำให้อาจสามารถกล่าวได้ว่าแท้จริงแล้วเราจดจำโน้ตทั้งหมด 5 สาย เนื่องจากสาย 6 และสาย 1 มีโน้ตเหมือนกันแม้ว่าต่างระดับเสียงก็ตาม ซึ่งหมายความว่าถ้าจดจำโน้ตบนสาย 6 ได้ก็สามารถทราบตำแหน่งโน้ตบนสาย 1 ไปด้วยเช่นกัน กรณีนี้จะปรากฏไปบนทุก ๆ ตำแหน่งบนคอกีตาร์เสมอ (ยกเว้นตั้งสายแบบอื่น) สำหรับแนวทางปฏิบัติการจดจำโน้ตด้วยวิธีนี้ผมแนะนำให้ใช้กระบวนการทำซ้ำ ๆ ในแต่ละข้อดังนี้
1) เริ่มจดจำจากตำแหน่งโน้ตสายเปิดไล่เรียงตามลำดับของแต่ละสาย อาจเริ่มเพียง 1สายก่อนในลำดับแรกเพื่อให้จดจำได้สะดวก เช่น เริ่มจดจำจากสาย 6 หรือสาย 1 เพียงสายเดียว เมื่อเริ่มจำได้แล้วจึงใช้วิธีการเช่นนี้บนสายอื่น ๆ ที่อยู่ติดกันต่อไป
2) เมื่อเริ่มจำได้ตั้งแต่ 2 สายขึ้นไป เช่น จำโน้ตบนสาย 6 และสาย 5 ได้แล้วให้เริ่มนำมาไล่เรียงต่อกันโดยเริ่มจากสาย 6 ไปยังสาย 5 และกลับมายังสาย 6 อีกครั้ง (หรืออาจเริ่มจากสาย 5 ไปยังสาย 6 ก็ได้เช่นกัน)
3) จากข้อ 1-2 เมื่อเริ่มจดจำได้แล้วให้เล่นโน้ตเหล่านี้บนกีตาร์ก่อน เพื่อจดจำมิติเสียงที่เกิดขึ้น จากนั้นจึงใช้วิธีจดจำโน้ตปราศจากการเล่นกีตาร์ กล่าวคือจินตนาการถึงคอกีตาร์โดยนึกถึงโน้ตที่เล่นไปบนกีตาร์ว่าเป็นโน้ตอะไรอยู่บนสายไหนตำแหน่งใด อาจเริ่มเพียง 1 สายก่อนจากนั้นจึงเพิ่มไปเป็น 2 สายและค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ
4) สร้างความท้าทายให้ตัวเองด้วยการสุ่มชื่อโน้ตหรือสุ่มสาย เช่น โน้ต G อยู่บนสายไหนตำแหน่งใดบ้าง หรือโน้ตบนสาย 2 ประกอบด้วยโน้ตอะไรและอยู่บนเฟร็ตใดบ้าง เป็นต้น วิธีการนี้อาจปฏิบัติทั้งการเล่นบนกีตาร์และจินตนาการถึงคอกีตาร์ผสมผสานกัน
5) ปฏิบัติวนซ้ำเพื่อสร้างความเชื่อมโยงให้กับการปฏิบัติและจินตนาการถึงคอกีตาร์เป็นสำคัญ ความรวดเร็วอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญในช่วงเวลานี้ หากเชื่อมโยงถึงคอกีตาร์ได้แล้วผมแนะนำให้สร้างความท้าทายเพิ่มขึ้นอีกด้วยการสุ่มชื่อโน้ตและตอบตนเองให้ได้ว่าอยู่บนสายไหนตำแหน่งใด วิธีการนี้สามารถนำไปปฏิบัติได้ทุกที่ตามสมควรไม่จำเป็นต้องมีกีตาร์อยู่ใกล้ตัว
ลำดับขั้นตอนที่ 3)
หากจดจำลำดับขั้นตอนที่ 2 ได้แล้วลำดับขั้นตอนที่ 3 จะเป็นการต่อยอดโน้ตที่เหลือทั้งหมด ขั้นตอนนี้ผมจะนำโน้ตที่เหลือประกอบด้วยเครื่องหมายชาร์ป แฟล็ต ทั้งหมดมาใส่ลงบนคอกีตาร์ช่วง 5 เฟร็ตแรก โดยเป็นโน้ตพ้องเสียง (Enharmonic) กล่าวคือมีระดับเสียงเดียวกันแต่สะกดชื่อต่างกัน เช่น กรณีโน้ต C# หรือ Db เป็นต้น (พิจารณาร่วมกับคอกีตาร์ด้านล่างนี้) ผมแนะนำให้ทำความเข้าใจกับโน้ตพ้องเสียงเหล่านี้ก่อน
โน้ต C# หรือ Db โน้ต D# หรือ Eb โน้ต F# หรือ Gb โน้ต G# หรือ Ab โน้ต A# หรือ Bb
บนคอกีตาร์ด้านล่างนี้เป็นการนำโน้ตพ้องเสียงมาใส่ลงบนทุกตำแหน่งในช่วง 5 เฟร็ตแรก โดยวงกลมสีเทาแสดงตำแหน่งโน้ตสายเปิดทั้ง 6 สาย วงกลมสีดำแสดงตำแหน่งโน้ตบนคอกีตาร์ และวงกลมสีขาวแสดงตำแหน่งโน้ตพ้องเสียง แนวทางปฏิบัติผมแนะนำให้ใช้ 5 ข้อที่ผ่านมาจากลำดับขั้นตอนที่ 2) เป็นพื้นฐาน พิจารณาโน้ตที่ปรากฏบนคอกีตาร์ด้านล่างพบว่ามีโน้ตพ้องเสียงเกิดขึ้น 2 ตำแหน่งบนสายกีตาร์แต่ละสาย หากจดจำลำดับขั้นตอนที่ 2 ได้แล้วการต่อยอดจดจำโน้ตพ้องเสียงเหล่านี้เพิ่มเติมก็จะสะดวกขึ้น
แนวทางการจดจำโน้ตช่วง 5 เฟร็ตแรกมีส่วนช่วยให้ทราบถึงตำแหน่งโน้ตที่ประกอบกันขึ้นเป็นคอร์ดหรือการเล่นโน้ตต่าง ๆ ในช่วงตั้งแต่โน้ตบนสายเปิดถึงเฟร็ตที่ 5 การฝึกฝนของผมช่วงแรกก็เรียนรู้โน้ตบนคอกีตาร์ด้วยวิธีนี้เช่นกัน แม้แนวคิดนี้มีข้อจำกัดจากการเรียนรู้โน้ตช่วง 5 เฟร็ตแรกบนคอกีตาร์เท่านั้นยังมีโน้ตตำแหน่งอื่นอีกที่ต้องเรียนรู้ อย่างไรก็ดีจากแนวคิดที่ผ่านมาเป็นเพียงพื้นฐานหากสามารถจดจำได้แล้วก็สามารถนำไปต่อยอดบนตำแหน่งอื่น ๆ บนคอกีตาร์โดยเชื่อมโยงกับแนวคิดอื่น ๆ ได้ต่อไป
2. วิธีเทียบโน้ตช่วงคู่แปด แบบทะแยงหรือแนวเฉียง
วิธีที่ 1 แบบข้าม 1 สาย
วิธีที่ 1 อาจกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการยอดฮิตและได้ผลลัพธ์รวดเร็วไม่ซับซ้อน แม้ไม่ทราบชื่อโน้ตบนเฟร็ตเหล่านั้นก็สามารถเทียบโน้ต เพื่อหาตำแหน่งโน้ตชื่อเดียวกันที่ต่างระดับเสียงออกไป 1 ช่วงคู่แปดได้(แนะนำให้ควรทราบชื่อโน้ตประจำแต่ละเฟร็ตไปด้วยจะดีที่สุดครับ) วิธีการเทียบโน้ตแบบข้าม 1 สายสามารถนำมาปฏิบัติบนสายกีตาร์ได้ทั้งหมด โดยจดจำเป็น 4 คู่สายที่เชื่อมโยงกันตลอดจนมีระยะห่างกันดังนี้
สาย 6 กับสาย 4 สาย 5 กับสาย 3 (ห่างกัน 2 เฟร็ต)
สาย 4 กับสาย 2 สาย 3 กับสาย 1 (ห่างกัน 3 เฟร็ต)
คอกีตาร์ด้านล่างแสดงถึงแนวคิด 4 คู่สายที่เชื่อมโยงกันตลอดจนมีระยะห่างของแต่ละเฟร็ต สอดคล้องกับแนวคิดข้างต้น โดยแถวบนซ้ายมือวงกลมสีเทาแสดงตำแหน่งโน้ตสายเปิดทั้ง 6 สาย วงกลมสีแดงและสีฟ้าแสดงระยะห่าง 2 เฟร็ตของสาย 6 และสาย 4 (วงกลมสีแดง) รวมถึงสาย 5 และสาย 3 (วงกลมสีฟ้า) ส่วนวงกลมสีม่วงและสีเขียวแสดงระยะห่าง 3 เฟร็ตของสาย 4 และสาย 2 (วงกลมสีม่วง) สาย 3 และสาย 1 (วงกลมสีเขียว) แนวคิดนี้ถือว่าเป็นแนวคิดสำคัญสำหรับวิธีการเทียบโน้ตช่วงคู่แปดจำเป็นต้องจดจำให้ได้จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง
ส่วนคอกีตาร์ด้านล่างแถวบนขวามือและแถวล่าง เป็นการแสดงตัวอย่างเทียบโน้ตด้วยวิธีการนี้ โดยเริ่มแสดงตัวอย่างจากเฟร็ตที่ 5, 8, 10, 12 และ 15 ตามลำดับ สังเกตได้ว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการเทียบโน้ตเหล่านี้ สอดคล้องไปกับแนวคิดหลักจาก 4 คู่สายที่เชื่อมโยงกันรวมถึงระยะห่างของเฟร็ต วิธีการเทียบโน้ตนี้จากประสบการณ์ของผมแนะนำให้อย่างน้อยควรทราบชื่อโน้ตบนสาย 6 หรือ 5 หรือสายอื่นอย่าน้อย 1 สาย เพื่อสามารถนำมาเทียบในการหาตำแหน่งโน้ตที่อยู่บนคู่สายที่เชื่อมโยงกันบนสายอื่น ๆ ต่อไป
วิธีที่ 2 แบบข้าม 2 สาย
อีกวิธีหนึ่งช่วยสนับสนุนให้ทราบถึงตำแหน่งโน้ตที่อยู่ห่างออกไป 1 ช่วงคู่แปดเช่นเดียวกับวิธีที่ 1 อาจกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการเรียนรู้โน้ตบนคอกีตาร์ผ่านตำแหน่งโน้ต 1 ช่วงคู่แปดที่ปรากฏบนสายต่าง ๆ กันออกไป แต่ใช้การเทียบโน้ตแบบข้าม 2 สายที่อยู่ติดกันตามลำดับ แนวคิดสำคัญสำหรับวิธีการนี้ประกอบไปด้วยคู่สายสำคัญจำนวน 3 คู่สายที่นำมาใช้เทียบ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันรวมถึงระยะห่างของเฟร็ตเป็นดังนี้
สาย 6 กับสาย 3 (ห่างกัน 3 เฟร็ต)
สาย 5 กับสาย 2 สาย 4 กับสาย 1 (ห่างกัน 2 เฟร็ต)
พิจารณาร่วมกับลูกศรบนคอกีตาร์ด้านล่าง โดยแถวบนซ้ายมือวงกลมสีแดงแสดงระยะห่าง 3 เฟร็ตของสาย 6 และสาย 3 วงกลมสีฟ้าแสดงระยะห่าง 2 เฟร็ตของสาย 5 และสาย 2 ส่วนวงกลมสีม่วงนั้นแสดงระยะห่าง 2 เฟร็ตของสาย 4 และสาย 1 ผมยกตัวอย่างเทียบโน้ตจากเฟร็ตที่ 5, 8 และ 10 (คอกีตาร์ด้านล่างแถวบนขวามือไล่เรียงไปแถวล่างซ้ายมือและขวามือตามลำดับ) โน้ตวงกลมสีแดงของสาย 6 และสาย 3 เป็นชื่อโน้ตเดียวกันแต่ระดับเสียงต่างกัน 1 ช่วงคู่แปด และมีระยะห่าง 3 เฟร็ต กรณีส่วนวงกลมสีฟ้าและสีม่วงคู่สายที่เชื่อมโยงกันมีระยะห่าง 2 เฟร็ตเท่ากัน (พิจารณาร่วมกับคอกีตาร์ด้านล่างนี้ประกอบ)
สำหรับกรณีการเทียบโน้ตทั้ง 2 วิธีที่ผ่านมาเป็นการเทียบโน้ตชื่อเดียวกันแต่มีช่วงเสียงห่างออกไป 1 ช่วงคู่แปด ผมมักจะเรียกวิธีการเทียบโน้ตลักษณะนี้ว่า “แบบทะแยงหรือแนวเฉียง” โดยให้ผลลัพธ์ในรัศมีไม่เกินระยะ 4 เฟร็ต การเทียบโน้ตยังสามารถนำไปประยุกต์และปฏิบัติได้อีกหลายวิธี โดยผมนำมากล่าวถึงต่อไปอีกวิธีหนึ่งคือวิธีเทียบโน้ตช่วง 2 ช่วงคู่แปด แนวคิดและวิธีการสรุปสาระเป็นดังนี้
3. วิธีเทียบโน้ต 2 ช่วงคู่แปด
วิธีที่ 1 การเทียบโน้ต 2 ช่วงคู่แปด แบบแนวตั้ง
วิธีการนี้เป็นการใช้แนวคิดจากกรณีคู่สาย 6 และสาย 1 ปกติการตั้งสายมาตรฐานบนกีตาร์ 6 สายหากไล่เรียงสายเปิดจากสาย 6 ไปยังสาย 1 ตามลำดับจะเริ่มจากโน้ต E-A-D-G-B-E สังเกตว่าโน้ต E ปรากฏทั้งบนสาย 6 และสาย 1 เป็นโน้ตชื่อเดียวกันแต่มีช่วงเสียงต่างออกไป 2 ช่วงคู่แปด หมายความว่าหากเรานำแนวคิดนี้ไปใช้บนตำแหน่งเฟร็ตอื่น ๆ ของคู่สายนี้ก็จะทราบชื่อโน้ตเดียวกันได้ทุกตำแหน่ง
จากรูปคอกีตาร์ด้านล่างผมได้แสดงตำแหน่งคู่สายตั้งแต่สายเปิดถึงเฟร็ตที่ 12 บนสาย 6 และสาย 1 (ตั้งแต่เฟร็ตที่ 13 เป็นต้นไปสามารถอ้างอิงตำแหน่งโน้ตบนเฟร็ตที่ 1 ไล่เรียงตามลำดับแต่มีช่วงเสียงสูงขึ้นไป 1 ช่วงคู่แปด พิจารณาร่วมกับตัวเลขเฟร็ตแถวบน (เฟร็ตที่ 1-12) และในวงเล็บแถวล่าง (เฟร็ตที่ 13-24) ที่ปรากฏในรูปคอกีตาร์ด้านล่างนี้) วงกลมสีเทาซ้ายมือแสดงถึงโน้ตบนสายเปิด ลูกศรและวงกลมสีแดงแสดงตำแหน่งโน้ตที่เชื่อมโยงกัน ลูกศรและวงกลมสีฟ้าแสดงตำแหน่งโน้ตพ้องเสียง (กรณีลูกศรสีแดงและสีฟ้า เพื่อให้ดูได้สะดวกผมใส่ลูกศรเพียงอย่างละ 1 อันเท่านั้น) ประเด็นสำคัญสำหรับแนวคิดเทียบคู่สายระหว่างสาย 6 และสาย 1 จากประสบการณ์ผมพบว่า อย่างน้อยจำเป็นต้องจดจำโน้ตบนสายใดเป็นหลักให้ได้ในลำดับแรกก่อน เช่น จดจำโน้ตบนสาย 6 ให้ได้ก่อนจึงสามารถนำมาเทียบกับสาย 1 เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามแนวคิดนี้

วิธีที่ 2 การเทียบโน้ต 2 ช่วงคู่แปด แบบทะแยงหรือแนวเฉียง
เป็นวิธีการเทียบโน้ตที่มีรัศมีห่างระยะ 5 เฟร็ต สามารถปฏิบัติได้บนคู่สาย 6 และสาย 2 รวมถึงบนคู่สาย 5 และสาย 1 คู่สายเหล่านี้มีระยะห่าง 5 เฟร็ตเท่ากัน พิจารณาคอกีตาร์ด้านล่างนี้ผมใช้วงกลมสีแดงแสดงคู่สาย 6 กับสาย 2 ส่วนวงกลมสีฟ้าแสดงคู่สาย 5 กับสาย 1 จากนั้นคอกีตาร์ด้านล่างถัดลงไปเป็นการแสดงตัวอย่างการเทียบโน้ตบนคู่สาย 6 กับสาย 2 (วงกลมสีแดง) รวมถึงโน้ตบนคู่สาย 5 กับสาย 1 (วงกลมสีฟ้า) บนเฟร็ตที่ 1, 6 และเฟร็ตที่ 6, 11 ตามลำดับ

แนวทางการศึกษาหรือการจดจำโน้ตบนคอกีตาร์ที่ผมได้นำเสนอผ่านมา 3 วิธีคือ 1) วิธีจำโน้ต 5 เฟร็ตแรก 2) วิธีเทียบโน้ตช่วงคู่แปด และ 3) วิธีเทียบโน้ต 2 ช่วงคู่แปด ทั้งแบบทะแยงหรือแนวเฉียงรวมถึงแนวตั้งกล่าวได้ว่าเป็นแนวทางพื้นฐานไปสู่การจำจดโน้ตบนคอกีตาร์หรือทราบถึงตำแหน่งโน้ตต่าง ๆ สำหรับผู้ที่สนใจนำไปปฏิบัติเพื่อให้ตนเองสามารถจดจำโน้ตบนคอกีตาร์ได้นั้น จำเป็นต้องนำไปปฏิบัติและต่อยอดหรือหาวิธีตลอดจนประยุกต์ให้ตนเองได้ผลลัพธ์ที่กำหนดไว้
วิธีการเหล่านี้ไม่ได้เป็นของวิเศษที่ปฏิบัติเพียงครั้งเดียวจะช่วยให้สามารถจดจำโน้ตบนคอกีตาร์ได้ แนวทางที่นำมากล่าวถึงเป็นเพียงแนวทางหนึ่งยังมีข้อจำกัดบางประการ ประเด็นสำคัญที่สุดคือต้องอาศัยการสนับสนุนจากวินัยของผู้ที่ต้องการจดจำโน้ตบนคอกีตาร์เป็นสำคัญ การฝึกฝนจดจำโน้ตบนคอกีตาร์นั้นนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้หลากหลายสถานการณ์ โดยไม่จำเป็นต้องมีกีตาร์อยู่กับตัว สามารถสร้างความท้าทายด้วยการถาม-ตอบโน้ตบนคอกีตาร์กับตนเอง หากเราสามารถเชื่อมโยงถึงคอกีตาร์ได้ข้อมูลทั้งหมดก็จะอยู่ที่ตัวเราเป็นสำคัญ การจดจำโน้ตก็ไม่ต่างจากการปฏิบัติซ้ำ ๆ อย่างมีวินัยมีส่วนช่วยสนับสนุนเป็นอย่างดีเช่นเดียวกับการฝึกฝนประเด็นอื่นเช่นกัน
สรุปสาระใน Ep.8
1. วิธีที่ 1 จำโน้ต 5 เฟร็ตแรก เป็นการศึกษาโน้ตบนคอกีตาร์ตั้งแต่โน้ตสายเปิดถึงเฟร็ตที่ 5 โน้ตระดับเสียงเดียวกันอยู่บนสายถัดไปที่มีระยะห่าง 5 เฟร็ต ยกเว้นกรณีสาย 3 และสาย 2 มีระยะห่างกัน 4 เฟร็ต
2. วิธีเทียบโน้ตช่วงคู่แปด แบบทะแยงหรือแนวเฉียง กรณีแบบข้าม 1 สาย คู่สายระหว่างสาย 6 กับสาย 4 และสาย 5 กับสาย 3 มีระยะห่างกัน 2 เฟร็ต ส่วนคู่สาย 4 กับสาย 2 และสาย 3 กับสาย 1 มีระยะห่างกัน 3 เฟร็ต กรณีข้าม 2 สาย คู่สายระหว่างสาย 6 กับสาย 3 มีระยะห่างกัน 3 เฟร็ต ส่วนคู่สาย 5 กับสาย 2 และสาย 4 กับสาย 1 มีระยะห่าง 2 เฟร็ต
3. วิธีเทียบโน้ต 2 ช่วงคู่แปด กรณีแบบแนวตั้ง โน้ตสาย 6 และสาย 1 บนเฟร็ตเดียวกันจะเป็นโน้ตชื่อเดียวกันเสมอแต่มีระดับเสียงต่างออกไป 2 ช่วงคู่แปด กรณีแบบทะแยงหรือแนวเฉียง คู่สายระหว่างสาย 6 และสาย 2 รวมถึงคู่สาย 5 และสาย 1 มีระยะห่าง 5 เฟร็ต