คอลัมน์ : วิญญาณของฉัน ตะวันออก (East Of My Soul) นักเขียน : สุวิชานนท์ รัตนภิมล (Suvichanon Rattanapimol)
เอ่ยชื่อรัฐกะเรนนี คนกะเรนนี ผู้คนจำนวนไม่น้อยไม่เคยได้ยิน ไม่รู้จัก ไม่คิดว่าจะมีชื่อรัฐแปลกๆ อยู่ร่วมโลกผืนดินกับเราด้วย ชาวโลกดินแดนอื่นก็ยิ่งไม่ต้องคาดหวัง บางครั้งคนที่พอรู้บ้าง ก็เหมารวมคนกะเรนนีให้รวมอยู่ในกลุ่มคนกะเหรี่ยง มีตัวตนอยู่จริงบนพรมแดน หรือมีใครถามว่า รู้จักกะเหรี่ยงแดงมั้ย ก็ยิ่งต้องอธิบายกันอีกยาว
เวยจี ก็เช่นกัน ไม่ใช่คำคุ้นหู อเวจีดูจะคุ้นเคยเสียมากกว่า ต่างแดนดิน ต่างชื่อ จะรู้ไปทำไม? ผมก็ยังดั้นด้นตามหาให้เจอกับเวยจีจนได้ ต้องไปให้ถึงเวยจีสักครั้งหนึ่ง ผมเคยตั้งใจไว้ในอย่างนั้นเมื่อหลายปีก่อน พอไปจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พอศอนั้นย้อนไปยี่สิบกว่าปีก่อน ทางสะดวกที่สุด ไม่พ้นทางเรือ ตั้งต้นจากท่าแม่สามแลบ ทวนน้ำสาละวินขึ้นไปนานเป็นชั่วโมง ไม่มีถนนตัดเข้าไป มีแต่ทางลากไม้เก่าๆ เฉียดไปใกล้อยู่บ้าง หากไม่ใช้ทางเรือก็เดินเท้าเข้าไป จึงจะถึงฝั่งเวยจี
กะเรนนีและเวยจี จึงเป็นชื่อชวนฉงนอย่างยิ่ง
เอ่ยถึงอย่างไม่อ้อมค้อม เวยจีก็เหมือนแห่งหนตำบลอื่นๆ ชื่อเป็นเครื่องหมาย บอกลักษณะกายภาพ อันข้องเกี่ยวกับปรากฏการณ์ รูปพรรณสัณฐาน หรือวิถีชีวิตคนถิ่นนั้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
เรือลำที่ผมนั่งเข้าไปนั้น แล่นทวนน้ำสาละวินกำลังไหลแรง ผ่านคุ้งน้ำใหญ่อันได้ชื่อว่าอันตรายมากๆ แม่น้ำสาละวินทั้งสายบิดเกลียวไหลลึกไหลแรง มีขอนไม้ใหญ่ติดอยู่ตามเกาะแก่งหิน บอกระดับความสูงของน้ำเมื่อปีก่อน กว่าจะถึงตำแหน่งที่เรียกว่าเวยจี เสียงเรือคำรามกัมปนาทสุดเสียง หางใบพัดเรือคุ้ยน้ำแตกกระจายสุดกำลัง
ที่แท้เป็นรางหินยักษ์ เต็มไปก้อนหินเป็นผนังแม่น้ำ ล้อมรอบด้วยป่าแล้งแห้ง กลายเป็นกำแพงฝั่งน้ำสาละวิน ลำน้ำใหญ่ไหลบิดเกรียวอย่างน่าเกรงขาม
เวยจี ก็เป็นได้แค่ร่องรางหินยาวเหยียด อธิบายด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ตัวเลขเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก็คงไม่อาจนับเป็นจำนวนตัวเลข แต่ในโลกของความรู้สึก ช่างเป็นดินแดนที่ล้ำค่ายิ่งนัก แม่น้ำใหญ่เดินทางไกล เพื่อจะแหวกฝ่าดงหินออกไปสู่มหาสมุทร เงาแม่น้ำ เงากำแพงหินที่ทอดขนานเป็นเงาตามแม่น้ำ นั่งดูนานแค่ไหนก็ไม่เบื่อ
เรือเข้าจอดริมฝั่ง ปล่อยให้เราเดินเล่นชมธรรมชาติของเวยจี แบ่งฟากฝั่งประเทศไทยกับรัฐกะเรนนี
สัตว์ป่ายังอพยพข้ามแดนหากินระหว่างฝั่งพม่ากับฝั่งไทย
เลยลงไปจากเวยจี ไม่ไกลมากนักก็เป็นท่าตาฝั่ง จุดขึ้นวัวควายที่สำคัญในอดีต
ไม้สักเป็นจำนวนมาก แน่นหนาอยู่ในบริเวณโดยรอบ ความสัมพันธ์อันซับซ้อน เกี่ยวกันระหว่างคน พืช สัตว์ ยังเป็นไปด้วยพึ่งพาอาศัยกัน ทางผ่านของวัวควายมุ่งสู่ที่ราบลุ่มเจ้าพระยา
เวยจีในแง่ความสัมพันธ์เชิงชีวิต มีมาอย่างยาวนาน
เวยจีกลับมีราคามูลค่ามหาศาลขึ้นมาชั่วข้ามคืน หลังโดนกากบาทคาดทับลงไปว่า เขื่อนกั้นน้ำปั่นไฟฟ้าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
สาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติ ไหลมาจากธิเบต ผ่านจีน พม่า ไทย ด้วยความยาว 2,800 กิโลเมตร แต่ผ่านชายแดนไทย-พม่าแค่ 120 กิโลเมตรเท่านั้น แต่เป็นร้อยยี่สิบกิโลเมตรอันแร้นแค้นและยากลำบาก แผ่นดินอยู่ในสงครามสู้รบกันมายาวนาน
แผ่นดินบาปที่ต้องระบุไว้เป็นแดนอเวจี
เหนือเวยจีขึ้นไป เป็นดินแดนรัฐกะเรนนี กะเหรี่ยงแดง หรือยางแดง อยู่ติดพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีกองกำลังติดอาวุธ และคนกะเรนนีหนีการสู้รบมาอยู่ในศูนย์อพยพเป็นจำนวนนับหมื่นคน
รัฐกะเรนนี หรืออีกชื่อว่ารัฐกะยาห์ เหมือนรัฐในนิทาน
บรรดารัฐต่างๆในพม่า ที่เรียกร้องต่อสู้เพื่อปกครองตัวเอง รัฐกะเรนนีเป็นรัฐเล็กที่สุด มีพื้นที่ 11,731.5 ตารางกิโลเมตร น้ำสาละวินไหลผ่านกลาง มีประชากรประมาณสองแสนกว่าคน ประกอบด้วยคนหลายเผ่า เช่น กะยาห์ ปะกู กะยอ กะยาน กางงาน ปะด่อง เป็นต้น
เมืองหลวงชื่อ ลอยก่อ เมืองสำคัญอื่นๆเช่น เดมอโซ , พรูโซ ,ปาซอง ,บอลาเค ,มเห์เซท์ ชาดอว์ ..
เมืองหลวงอยู่ห่างจากพรมแดนไทย 180 กิโลเมตร
ผืนธงชาติรัฐกะเรนนีมีสีแดง กับสีขาว ปลา และกลองกบ สีแดงแทนความเข้มแข็งที่จะต่อสู้ สีขาวคือความบริสุทธิ์สดใส กลองกบแทนความหมายรักสันติภาพ และปลาแทนความอุดมสมบูรณ์
นี่คือ ความหมายเพลงชาติรัฐกะเรนนี
“ประเทศของข้า เป็นแผ่นดินเสรี
เป็นแผ่นดินปู่ย่าตายายสร้างมา
เป็นแผ่นดินที่ข้าเกิดมา
เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติล้ำค่า
มีภูเขา ป่าไม้ มีแม่น้ำไหลผ่าน
มีค่าสูงล้ำสำหรับข้า
ข้ารักประเทศนี้
แผ่นดินของข้าเป็นเสรี
แผ่นดินข้ามีวัฒนธรรมประเพณีงดงาม
ข้ารัก ข้าเคารพแผ่นดินของข้า”
กะเรนนีมีกองกำลังเคลื่อนไหวสู่รบอยู่ตามป่าเขา
ชะตากรรมรัฐกะเรนนี และการต่อสู้ หรือประชาชนหนีการสู้รบอันยาวนาน อาจต้องลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมอันใหญ่หลวง เมื่อข่าวการสร้างเขื่อนเวยจีแพร่สะพัด ครึ่งค่อนรัฐต้องกลายเป็นอ่างน้ำขนาดใหญ่ หลังการปิดกั้นน้ำสร้างเขื่อนสาละวิน กากบาทเขื่อนลงไปบนลำน้ำสาละวินตรงเวยจี ขีดฆ่าลงบนความตายคนกะเรนนีอย่างไม่ต้องสงสัย
เวยจี เป็นภาษาพม่า อันที่จริงออกเสียงว่า เวยี ความหมาย เว คือน้ำวน
ยีคือใหญ่ แปลได้ความว่า น้ำวนใหญ่ บอกถึงเครื่องหมายกายภาพได้อย่างแจ่มชัด
ชาวบ้านแถบนี้เล่าว่า พอถึงช่วงหน้าฝน เวยจีจะเปลี่ยนไปเป็นอีกอย่าง แม่น้ำสาละวินทั้งสายดูราวกับสายน้ำไหลผ่านคอขวด ลงสู่แอ่งน้ำวนขนาดใหญ่ น้ำวนหมุนหนุนน้ำยกตัวสูงขึ้น พัดพาทุกอย่างลงสู่ก้นแม่น้ำ แรงกระแทกของน้ำวน ฟาดหินก้อนใหญ่ให้แหลกเป็นก้อนเล็กก้อนน้อยได้ง่ายดาย
เรือไม่กล้าแล่นข้ามผ่านช่วงหน้าฝนน้ำไหลแรง กลัวจะถูกสูบลงก้นแม่น้ำ ต้องรอให้น้ำลด หรือไม่ก็นายท้ายเรือต้องมีความชำนาญอ่านน้ำวนได้ดีที่สุด จึงจะแล่นข้ามผ่านไปได้อย่างปลอดภัย
นั่น เป็นที่มาของคำเวยจี หรือเวยีในภาษาพม่า
เพราะเป็นช่วงหน้าหน้าหนาว แม่น้ำสาละวินลดระดับลงจนกลายเป็นลำน้ำใหญ่ที่ไหลมาบนรางหิน แต่ก็ยังเห็นร่องรอยระดับน้ำ และความกว้างใหญ่ของคุ้งน้ำเวยจี แสดงให้เห็นพื้นที่น้ำวนอันน่าเกรงขาม
ชาวบ้านละแวกนั้นเล่าอีกว่า เมื่อก่อนศพลอยตามน้ำมาบ่อยๆ ไม่รู้เป็นศพใคร พอศพลอยมาถึงเวยจี ศพจะหายไป 2-3 วัน กว่าศพจะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำอีกครั้ง
เล่ากันปากต่อปาก ว่าชายหญิงคู่หนึ่ง ปลูกข้าวริมฝั่งน้ำสาละวิน ปลูกข้าวไม่แล้วเสร็จเสียที ข้าวไม่งอก เพราะมัวแต่ตื่นตาตื่นใจกับแม่น้ำสาละวิน
อาจพูดได้ว่า เวยจี ไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่า ก้อนหินผาหินที่ตากแดดลมอยู่ริมแม่น้ำใหญ่ไหลจากดินแดนหลังคาโลก โลกใบเล็กอันจำกัดของคนหนีภัยสงคราม หมู่บ้านชื่อแปลกๆที่ไม่มีใครรู้จัก คนนิรนามไร้สัญชาติ เส้นทางเดินของไม้สักที่กระโดดลงน้ำสาละวินมาหลายสิบปี
เหมือนไม่มีใครรู้เห็น ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเงียบๆ มีลับลมคมใน
วัวควายจากประเทศเพื่อนบ้านและข้ามผ่านรัฐกะเรนนี ข้ามน้ำข้ามภูเขาเดินทางไกลไปยังเมืองใหญ่วันละหลายร้อยตัว ไล่ต้อนด้วยคนงานพลัดถิ่น ก็ไม่เคยลดน้อยลงจากวันวาน การค้าขายอันเงียบเชียบดูราวกับกิจเคลื่อนไหวใต้ดินบนเส้นพรมแดน
ในอนาคตเวยจี ยังไม่อาจถูกยกเว้นจากสายตานักค้ากำไรเขื่อนกั้นน้ำ ใครจะเป็น ใครจะตาย ใครจะรอด ใครจะโดนกำจัด ไม่ได้มีความสำคัญเท่าการลงทุนสร้างเขื่อน
หากเวยจีโดนลบหาย โดนฆ่าตาย รางน้ำใหญ่สาละวินไหลสิ้นมนต์ขลัง จุดแคบที่สุดจมหายลงใต้น้ำ ภูเขาสองลูกตั้งตระหง่านแนบสองฟากฝั่ง กินอาณาบริเวณสองประเทศ เป็นตำแหน่งเหมาะสมที่สุดสำหรับการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำไปเป็นเครื่องปั่นไฟระหว่างรัฐ
ผมยืนมองสองฝั่งเวยจี รับรู้ด้วยสายตามองเห็นว่าเป็นช่วงหนึ่งของน้ำสาละวินที่มีความสวยงามมาก เป็นงานสร้างจากน้ำมือแม่น้ำโดยแท้ เสมือนคำจำกัดความถึงแม่น้ำที่ไหลมาบนหิน ผนังแม่น้ำเป็นหินถูกกัดเซาะฉีกขาดจนงามวิจิตร
แค่ปล่อยให้มันคงสภาพอยู่อย่างนั้น ก็เป็นบุญตาแก่ผู้พบเห็น เสมือนหนึ่งมรดกของแผ่นดินที่สมควรจารึกชื่อไว้เป็นสมบัติตกทอดถึงลูกหลาน
ความสวยงามแม้ไม่ทำให้ท้องอิ่ม ไม่เพิ่มรายได้ เพ้อฝันและดูไร้ประโยชน์ เทียบไม่ได้กับเครื่องปั่นไฟยักษ์ ทะเลสาบบนภูเขาอันโอฬาร อาจต่อโยงไปถึงที่พักตากอากาศในอนาคต ล้วนเป็นแนวความคิดกอบโกยขูดรีดเอาจากธรรมชาติ ทำร้ายทำลายชีวิตคนเผ่า รัฐหนึ่งอีกดินแดนหนึ่งอีกมากมายเท่าไหร่
ต่างรู้อยู่เต็มอกว่า การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน นำมาซึ่งความวิบัติของชนกลุ่มน้อยที่กำลังต่อสู้อยู่กับรัฐบาลเมียนมา ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ของนักสร้างเขื่อน ผลประโยชน์ดอกผลกำไรมาก่อนเรื่องใด
สาละวินมีชื่อเป็นภาษาจีนว่า นู่เจียง อันหมายถึงแม่น้ำแห่งความโกรธแค้น เวยจียิ่งขยายความชัดเจนของแม่น้ำสายนี้ ไหลหมุนวนถั่งโถมไปบนชีวิตจิตใจคนที่เต็มไปด้วยความอาดูรสูญสิ้นเสมอมา
แม่น้ำสาละวินมีปลาอยู่อย่างน้อย 190 ชนิด ปลา 30 ชนิดไม่มีในแหล่งน้ำอื่น คงไม่อาจเป็นเหตุผลค้ำยันนักสร้างเขื่อนได้ว่า แม่น้ำสายนี้มีความสำคัญอย่างไร สองฝั่งสาละวินยังมีป่าไม้สักอีกจำนวนมหาศาล ก็ไม่เป็นเหตุผลยืนยันถึงคุณค่าป่าผืนนี้ ที่โยงใยข้ามแดนระหว่างรัฐต่อรัฐ
เวยจีเป็นดินแดนแล้งๆแห้งๆ เงียบสงบ ดูเหมือนไร้ประโยชน์ แต่วันใดเวยจีกลายเป็นเขื่อน วันนั้นพ่อพลัดลูก ลูกพรากแม่จะเพิ่มจำนวนมากที่สุด พื้นที่ของคนทุกข์เข็ญไร้สัญชาติจะขยายออกกว้างขวาง เซ่นสังเวยการกดขี่เอาเปรียบที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก
เวยจี น้ำวนใหญ่ ก็จะเป็นแค่เรื่องเล่าที่คนรุ่นหลังไม่อยากฟัง เพราะสิ่งที่ได้มานั้นเป็นเขื่อนยักษ์ ล้วนตั้งวางอยู่ได้ด้วยการย่ำยีบดทับลงไปบนซากกองกระดูกเหล่าคนสิ้นไร้ไม้ตอก ที่หลบๆซ่อนๆหนีตายอยู่ตามป่าเขาบนพรมแดน.
………………………………………………
ช่องทางการสนับสนุนนักเขียน : ขอบคุณที่ร่วมสนับสนุนเรา
ผู้อ่านสามารถโอนเงิน ผ่านธนาคารกรุงเทพ ชื่อบัญชี สุวิชานนท์ รัตนภิมล 5040121906 ออมทรัพย์