อรุณ ศรีสวัสดิ์ หรือ ฮวก – อรุณรุ่ง สัตย์สวี คือศิลปินเชียงใหม่ เติบโตจากถิ่นอีสาน สืบเชื้อสายไทย ลาว เวียดนาม ในบรรยากาศของวัฒนธรรมที่ผสมผสาน หลังเรียนจบศิลปะที่วิทยาลัยครู เขียนเพลง เขียนกวี ทำงานศิลปะ เข้ากรุงฯ เป็นนักดนตรี 2 ปี แล้วนั่งรถไฟมาเที่ยวเชียงใหม่ ก่อนตัดสินใจตั้งรกรากทำงานศิลปะ ทำร้านอาหาร “สุดสะแนน” กระทั่งกลายเป็นศูนย์รวมของกลุ่มนักคิด นักเขียน ศิลปิน ผลงานบทกวี “เบี้ย” โดย อรุณรุ่ง สัตย์สวี ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากเวทีพานแว่นฟ้าปี 2556 ส่วนผลงานดนตรีเป็นที่รู้จักและยอมรับจากคนทั่วไป
ไทย ลาว เวียดนาม วัฒนธรรมที่ผสมผสาน
ผมเกิดและเติบโตที่ภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี (อำนาจเจริญ) พ่อเกิดเมืองไทย ลูกครึ่งลาวเวียดนาม ส่วนแม่เกิดที่ลาวข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ที่จังหวัดอำนาจเจริญ ผมจึงมีเชื้อสายเวียดนาม เขาเรียกว่า “เวียดเกียว” หรือ เวียดนามพลัดถิ่น ปู่เปิดร้านขายลาบ พ่อเป็นนักดนตรี สอนดนตรี สอนภาษาเวียดนามให้คนไทย สอนภาษาไทยให้เด็กเวียดนาม คนในครอบครัวเล่นดนตรีทุกคน พี่สาวเล่นดนตรีไทย พี่ชายเล่นกีตาร์ เบส บ้านเราจะเป็นศูนย์รวมของนักดนตรีวัยชรา มีวงดนตรีแตรวง ชุมนุมกันที่บ้าน เราผูกพันกับดนตรีมาตั้งแต่เด็ก
พ.ศ.2520 ตอนเรียนประถม กำลังจะเรียนภาษาเวียดนาม พี่สาวเลิกเรียนพิเศษ เรียนภาษาเวียดนาม ช่วงที่ผมกำลังจะเรียนภาษาเวียดนาม ผมกลับถูกห้าม เป็นยุคที่รัฐบาลไทยต่อต้านคอมมิวนิสต์ ภาษาเวียดนาม ตำราเวียดนาม ถูกเผาทำลาย โรงเรียนสอนภาษาเวียดนามถูกยกเลิก ถูกห้าม เป็นช่วงการเมืองแรง เราอยู่ในโรงเรียนก็จะถูกล้อ (Bully) เขาจะล้อเราว่าเป็น “ลูกแกว” เราไม่รู้สึกอะไร แต่เสียดายโอกาสที่ไม่ได้เรียนภาษาเวียดนาม เพราะเป็นเรื่องการเมือง เรื่องลัทธิ จำได้ว่า พ่อเอาตำรามาเผาหลังบ้าน ในยุคนั้นเราถูกแอนตี้ มีผลกระทบแต่ไม่มาก อำนาจเจริญถือว่าคนเวียดนามถือว่าไม่เยอะ ที่นครพนม มุกดาหาร ไม่ค่อยมีปัญหา คนเชื้อสายลาวก็หัดพูดเวียดนาม แต่อำนาจเจริญมีปัญหาแต่ก็ผ่านมาได้
ครอบครัวมีวิถีชีวิตเป็นแบบเวียดนาม ทานอาหารเวียดนาม ผสมกับวัฒนธรรมลาว บนโต๊ะก็จะมีอาหารเวียดนาม อาหารลาว มีแจ่ว มีป่นปลา มีลาบ มีข้าวเกรียบปากหม้อ มีก๋วยจั๊บญวณ เป็นการผสมผสานวัฒนธรรม อาหารบางอย่างก็ไม่รู้ว่าเป็นอาหารไทย ลาว หรือเวียดนาม
ดนตรีในชุมชนเวียดนาม เราเล่นเพลงภาษาเวียดนาม เพลงยุคสมัยนั้น ก็จะเป็นเพลงปฏิวัติ เพลงเชิดชูลุงโฮ เพลงกล่อมลูกก็เป็นเพลงปฏิวัติเวียดนาม เพลงเชิดชูลุงโฮจิมินห์ ร้องเป็นภาษาเวียดนาม อย่างเราก็ร้องเพลงเวียดนาม บทกวีหลายชิ้นเราก็เขียนออกมาในบรรยากาศเวียดนาม เป็นเหมือนสัญลักษณ์ในงานเขียน เรื่องความอดทน เรื่องการต่อสู้ เพื่ออิสรภาพ ซึ่งบ้านเราในยุคสมัยนั้นก็ยังไม่มี บรรยากาศแบบเวียดนามก็ใช้ได้ งานบทกวีเราเขียนแบบเวียดนาม เราก็มีบรรยากาศบางอย่างที่เขาไม่มี เราได้สัมผัสกับบ้านที่มีอีกวัฒนธรรมหนึ่ง

เชียงใหม่ เมืองแจ้งเกิดศิลปิน อรุณรุ่ง สัตย์สวี
เมื่อเติบโต เรียนจบมัธยมก็เรียนต่อวิทยาลัยครู เอกศิลปะ ไม่ทิ้งการเล่นดนตรี มีเวลาเขียนหยังสืออย่างจริงจังช่วงเรียนปริญญาตรี ตอนนั้นพบกับพี่ชวด ก็ชวนกันทำเพลง ทำเทปใต้ดิน เขียนบทกวีทำมือขาย เริ่มเข้าไปช่วยเพื่อนที่กำลังเคลื่อนไหวทางสังคม มีม๊อบเกษตร เดินขบวนยุทธศการลำตะคอง เดินเท้าจากลำตะคองโคราช เข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องสินค้าการเกษตรราคาตกต่ำ คัดค้านการสร้างเขื่อน เราอยู่กับเขาเป็นเดือนๆ ตัวดำ เวทีการแสดงว่างก็ขึ้นไปเล่นดนตรี ได้ประสบการณ์ เก็บเรื่องราวเป็นบทกวี เรื่องสั้น เริ่มส่งงานเขียนสู่สำนักพิมพ์ เมื่ออยู่เชียงใหม่ก็จริงจังมากขึ้น เราถึงบอกว่า ถ้าคนทำงานศิลปะน่าจะมาอยู่เชียงใหม่เพราะมีสังคมคนทำงานศิลปะ ทำให้เราฮึกเหิม อย่างอ้ายแสงดาว ตัวดี เป็นคนยุยงส่งเสริม
หลังเรียนจบผมเข้ากรุงเทพฯ ทำวงดนตรี เล่นดนตรี 2 ปี ใช้ชีวิตอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ อยู่ด้วยกัน 4 คน เล่นดนตรีเสร็จก็กินเหล้า วันไหนซ้อมดนตรีก็ไปแบบแฮงค์ๆ อากาศร้อนนั่งเบียดกันในแท็กซี่ ซ้อมดนตรีเสร็จก็กลับไปเล่นดนตรีกลางคืน เล่นดนตรีเสร็จก็กินเหล้ากลับห้องมาแบบเมาๆ เป็นวงรอบ (Loop) เป็นวังวนอยู่แบบนี้ 2 ปี เขียนเพลงไว้หลายเพลงแต่ไม่มีโอกาสได้เล่นเพลงของตนเอง ไม่มีโอกาสได้ทำเพลงของตนเอง มันไม่มีแรงบันดาลใจ
ช่วงนั้น นั่งรถไฟมาเที่ยวเชียงใหม่ มาหาเพื่อน เขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาอยู่ได้สองสัปดาห์ก็ติดใจ อยู่ต่อ เริ่มหางานทำ เล่นดนตรี ทำดนตรี เขียนบทกวี เขียนเรื่องสั้น ส่งตามนิตยสาร เป็นช่วงเวลาค้นหาชีวิต ค้นหาช่องทางการนำเสนอผลงานแต่ละประเภท ช่วงหลังผมเริ่มเป็นที่รู้จัก งานเขียนส่วนใหญ่ได้ลงตีพิมพ์เผยแพร่โดยใช้นามปากกา “อรุณรุ่ง สัตย์สวี”
ช่วงเริ่มต้นชีวิตในเชียงใหม่ เราโชคดีที่รู้จักกับ อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ท่านมีที่ดินอยู่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนั้น กลุ่มศิลปินทำชุมชนศิลปะดนตรี ชื่อแทปรู้ต โซไซตี้ (Taproot society) ชุมชนสำหรับคนทำงานศิลปะ ทำงานดนตรี สร้างบ้านอยู่พื้นที่เดียวกัน อาจารย์เทพฯ ท่านมีที่ดิน มีไม้แผ่น มีโครงสร้างบ้าน เราโชคดีที่ไม่ต้องเช่าบ้าน เราเอาไม้แผ่นตีเป็นพื้น ผนัง สร้างเป็นบ้าน เอาตัวรอดด้วยการเล่นดนตรีกลางคืน แล้วเราก็เจอปัญหา
ลงหลักปักฐานทำธุรกิจร้านอาหารที่เชียงใหม่
ความจริงเชียงใหม่น่าอยู่ เป็นเมืองที่มีทุกอย่าง มีธรรมชาติ เดินทางสะดวก ค่าครองชีพต่ำ แต่เราก็เจอปัญหาที่ทุกคนต้องเจอ คือ รายได้ต่ำ งานดนตรีไม่ค่อยมี เล่นดนตรีอาทิตย์ละ 2-3 วัน เล่นเพลง คาราบาว คาราวาน คนด่านเกวียน เล่นตามผับ บทเพลงของตนเองแทบจะไม่ได้เล่น ช่วงเวลากลางวันว่างๆ ก็หางานทำ เปิดร้านก๋วยจั๊บญวน เมื่อทำร้านก๋วยจั๊บเพื่อนก็สนับสนุนให้ทำเป็นร้านเหล้า จากร้านก๋วยจั๊บก็กลายเป็นร้านอาหาร ร้านเหล้า เล่นดนตรี กลายเป็นเวทีให้เราได้แสดงผลงาน สมัยก่อน ไม่มีที่ให้เราเล่นเพลงของตนเอง หลังจากนั้น สุดสะแนน ก็เติบโตเลี้ยงปากท้อง เป็นหม้อข้าว
ตอนเราทำงานเพลงชุดแรก ต้องรอกระทั่งร้านปิด หลังเที่ยงคืนจึงเข้าห้องบันทึกเสียง ทำเพลงครั้งละ 2 เพลง เงินหมดก็รอขายของได้แล้วก็เข้าห้องอัดใหม่ ยุคสมัยนั้น เชียงใหม่คล้ายกับกรุงเทพฯ แต่เชียงใหม่มีขนาดเล็กกว่า เชียงใหม่มีคนต่างชาติ วัฒนธรรมมากับคนต่างชาติ มาพร้อมกับศาสนา มาพร้อมกับดนตรี นักท่องเที่ยวที่มาเชียงใหม่ จะต่างจากนักท่องเที่ยวภาคใต้ที่ชอบเที่ยวทะเล เที่ยวเกาะ บรรยากาศคึกคัก ปาร์ตี้ ส่วนเชียงใหม่จะชอบความเงียบสงบ ชอบธรรมชาติ ชอบดนตรี ทำให้คนเชียงใหม่คุ้นชินกับอะไรที่ใหม่ จังหวัดอื่นนานทีเขาจะเจอนักท่องเที่ยว เขาจะรู้สึกแปลกๆ ไม่คุ้นเคย ส่วนเชียงใหม่จะเป็นเรื่องปกติ บางทีนักท่องเที่ยวเปิดเพลงให้ฟัง เราก็ฟัง ซาว์ดดนตรีแปลกดี คือถ้าเมื่อ 20 ปีก่อน ถ้าเป็นที่อื่น ยากมากที่จะทำงานศิลปะ ส่วนที่เชียงใหม่ทำได้ ทำได้ง่ายมาก และเป็นเรื่องพิเศษ
การทำดนตรี อาจเป็นช่วงวัยที่ต้องการนำเสนอสิ่งที่ตนเองคิด อะไรก็ได้ที่ทำได้ดีที่สุด แต่แนวคิดคือ ทำให้ง่ายที่สุด ทำให้เป็นจริง เรามีเครื่องดนตรี 3 ชิ้น ทำงานในสตูดิโอ เล่นจริงให้เหมือนตอนทำงานในสตูดิโอ เสร็จงานสตูดิโอต้องเล่นได้ ยิ่งมีเทคโนโลยียิ่งทำง่าย งานเพลง ชุดแรก ชุดสอง มีเครื่องดนตรีเพียง 3 ชิ้น บางเพลงมีกีตาร์ตัวเดียว เราอยากจะใส่อะไรเยอะกว่านั้นก็ได้ แต่เราคิดถึงความเป็นจริง เราลดลงให้เหลือน้อย ให้ง่าย เวลาเล่นก็สมจริง น่าฟัง งานเพลงมีเนื้อเพลง บทเพลงก็เป็นบทกวีชนิดหนึ่งที่มีท่วงทำนอง เวลาทำเพลงก็ไม่ต่างกัน ไม่ต่างจากทำบทกวี บางทีขัดเกลาบทกวีเป็นปี เหมือนกับเนื้อเพลง เพียงแต่รูปแบบที่นำเสนอไม่เหมือนกัน บทเพลงบางเพลงก็ทำมาจากบทกวี เหมือนบทกวีของ ถนอม ไชยวงแก้ว เราได้อ่านประทับใจ เจอตัว ก็ขอนำมาใส่ทำนอง หลายเพลงที่เป็นบทกวีเรานำมาใส่ทำนองแต่บทเพลงบางเพลงก็คือบทกวี สมัยก่อนก็จะมีโอกาสพบปะกับไพฑูรย์ พรหมวิจิตร , แสงดาว ศรัทธามั่น ซึ่งส่งเสริมให้ทำร้านก๋วยจั๊บเป็นร้าน “สุดสะแนน”

“สุดสะแนน” พื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดและอุดมการณ์
ตั้งแต่สมัยเรียน เรามีแนวคิดเรื่องการเมืองและมนุษยชน งานเขียนงานมีเรื่องราวเหล่านี้มาตั้งแต่แรก เพื่อนเราหลายคนทำงานเป็น NGO แต่เราอยู่หลายแวดวง เราอยู่ในแวดวงนักดนตรี คนทำงานศิลปะ เขียนหนังสือ NGO แต่พวกเราไม่มีพื้นที่ให้แลกเปลี่ยน ซึ่งในช่วงเวลานั้น เป็นจังหวะที่ลงตัว ส่วนใหญ่ก็จะรวมตัวกันที่ “สุดสะแนน” ถือว่าเป็นความโชคดี กิจกรรมก็จะมีเยอะ ใครมีความคิดอะไรก็จะเสนอแล้วก็ทำกิจกรรม
จังหวัดเชียงใหม่มีเสน่ห์ เหมาะกับพื้นที่ทำงานศิลปะ แต่งานศิลปะเป็นงานที่ไม่สร้างรายได้ในทันที ปัญหาใหญ่คือเรื่อง เศรษฐกิจ เมื่อมาอยู่เชียงใหม่แล้วจะรอดได้หรือเปล่า เป็นเมืองอุดมคติ เมื่อใช้ชีวิตจริงๆ มันมีเรื่องเศรษฐกิจ หลายคนต้องกลับบ้าน แต่ก็มีความได้เปรียบหลายอย่าง หลากหลาย มีธรรมชาติ ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างพอเพียงก็อยู่ได้ สร้างงาน สร้างเครือข่าย อย่างน้อยอยู่เชียงใหม่เราก็ไม่โดดเดี่ยว แต่ถ้าเราทำอะไรสักอย่างที่จังหวัดอื่นๆ มองภาพแล้วลำบาก แต่ถ้าคนที่มีชื่อเสียง มีพื้นที่อยู่แล้ว เขาทำที่ไหนก็ได้ แต่สำหรับคนเริ่มต้น เชียงใหม่เป็นพื้นที่เหมาะมาก
สำหรับร้านอาหาร “สุดสะแนน” เป็นวิถีชีวิต เป็นสิ่งที่ต้องทำ เป็นงานประจำ เราเป็นนายตนเอง การทำร้านอาหารบังคับเรา ทำให้เรามีวินัย มีกิจวัตรที่ต้องทำ เวลาก่อนหน้านั้นจะเป็นเรื่องส่วนตัว ตื่นนอนต้องคิดลูกจะกินอะไรดี ถ้าลูกไปโรงเรียนเราก็ทำงาน เขียนเพลง เขียนบทกวี เขียนเรื่องสั้น ดูหนัง ส่วนใหญ่การทำงานศิลปะ จะทำตอนกลางคืน ตอนลูกหลับ
เราใช้เวลาครึ่งชีวิต หรือ 26 ปี ทำร้านอาหาร ประสบการณ์ทำงาน การแก้ปัญหา ตอนเปิดร้านเราไม่คิดเรื่องธุรกิจ เป็นเพียงร้านอาหารที่อยากเล่นเพลงตนเอง อยากให้เป็นอาชีพเลี้ยงปากท้อง เป็นหม้อข้าว เมื่อเติบโตขึ้นมา ทำให้เราต้องทำธุรกิจ อย่างเรามีน้ำชาให้กินฟรี แล้วมีคนบอก เอาน้ำชามาให้กินฟรีไม่ได้ เพราะเราขายมิกเซอร์ไม่ได้ ทำให้เราฉุกคิด จะทำอย่างไรดี? เราจะทำตามธุรกิจ ถ้าเราเลิกน้ำชาฟรี ก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง ถ้าเขามากินน้ำชาฟรี มันก็ลดค่าใช้จ่ายของเขา เปิดร้าน 26 ปี บางเรื่องเพิ่งคิดได้ ประสบการณ์เท่านั้นที่จะทำให้เราทำแบบนี้ได้ สุดสะแนนสถานที่ใหม่มีปัญหาเรื่องเสียง มันเป็นชุมชน เกิดเสียงรบกวนเพื่อนบ้าน เราจึงตัดวงดนตรีแบนด์ เหลือโฟร์ค เวลาจัดงานอีเวนท์ ก็ขออนุญาต เครื่องเล่นก็จะเป็นไวโอลิน กีตาร์ เชลโล่ อารมณ์ของการเล่นประจำร้าน กับเล่นอีเว้นท์ ส่วนใหญ่ก็จะเล่นเพลงของตนเอง นำเสนองานของตนเอง ทำเพลงโคฟเวอร์ (Cover)

“เบี้ย” บทกวีรับรางวัลยอดเยี่ยมจากเวทีพานแว่นฟ้าปี 2556
ใครบางคนเปรียบว่าข้าคือเบี้ย ต่ำเตี้ยสุดบนกระดานการเมืองถ่อย
เป็นไพร่พาลด่านหน้าค่าเพียงน้อย จักกี่ร้อยกี่พันไม่ทันกล
เบี้ยยอมพลีชีพเพื่อผู้เหนือกว่า สัจธรรมธรรมดาอย่าสับสน
เป็นลูกไล่ปลุกปั่นเป็นกันชน หนีไม่พ้นถูกหลอกออกไปตาย
เรื่องมันเศร้าพิกลคนที่รัก นอกกระดานนั้นเหนื่อยนักนะสหาย
การเมือง โลก ปรัชญาสาธยาย ชีวิตเป็นเบี้ยหงายสบายดี
เอาตัวออกนอกกระดานได้อย่างไร ? เปิดตำราเล่มไหนกันครับท่านพี่ ?
ศพคนตายกองสูงขึ้นทุกที ศพเบี้ยที่ไร้ค่าสายตาคุณ
บนกระดานการต่อสู้สู่สิ่งใหม่ เส้นทางเดินยาวไกลแรงใจหนุน
แนวรบร่วมแนวรับปรับสมดุล เบี้ยยุคใหม่ไล่ขุนกลางกระดาน
ยังเหลือแต่ผู้รู้อยู่ภายนอก ภายในยังติดคอกหลอกลูกหลาน
หลอกกระทั่งความคิดจิตวิญญาณ ว่าตนอยู่นอกกระดานการเมืองทราม
ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์กันทั้งหมด นั่นคือกฎธรรมชาติมิอาจห้าม
ขยับปีกผีเสื้อเชื้อไฟลาม ใครยิ้มหยามบนภูดูเดือนดาว
คลับคล้ายนิ่งความจริงคุณขยับ ดั่งแนวรบเหลื่อมทับดำกลับขาว
ผีในอกดื้อรั้นปั้นเรื่องราว พาคุณก้าวไม่พ้นตัวตนเอง
ไม่ศรัทธาประชาธิปไตยมีใครว่า แต่ทำตีฝีปากกล้าวาจาเก่ง
เดินตามกติกาประสานักเลง ใช่แพ้แล้วพาลเบ่งโคลงเคลงเรือ
แค่เสียโคนเสียม้าแข้งขาสั่น คว่ำกระดานอีกแล้วท่านมุขมันเฝือ
เบี้ยกระจัดกระจายตายเป็นเบือ เลือกตั้งจนคนเบื่อกันทั้งบาง
คุณก็หมากตัวหนึ่งในกระดาน จำใส่หัวกบาลเอาไว้บ้าง
เห็นม้าเม็ดโคนเรือเมื่อฝุ่นจาง เบี้ยไล่ขุนเปิดทางให้ได้คิด
วาทกรรมอำซ่อนนอนตาหลับ เบี้ยที่ไม่ขยับคือผลผลิต
ฟูมฟักไข่เผด็จการทั้งชีวิต สำคัญผิดคิดว่าออกนอกกระดาน
คุณก็เปรียบเบี้ยหมากอีกฟากฝ่าย ม้าเรือโคนโค่นได้ไม่คัดค้าน
เออตีแผ่ออกมาใครสามานย์ เว้นขุนเหนือกระดานไว้ทำไม?
เชื่อชีวิตเทียมเท่าเราจึงสู้ ตั้งกระดานเดินสู่วันฟ้าใหม่
บนครรลองประชาธิปไตย ล้มแล้วลุกเดินใหม่ไม่คว่ำกระดาน
บนครรลองประชาธิปไตย ต้องมิยอมให้ใคร คว่ำกระดาน
สมดุลของ ธุรกิจ ศิลปะ และ การเมือง
สุดสะแนน เราอยู่ในแบล็คลิส สมัยก่อนตำรวจสันติบาลอยู่เต็มร้าน งานกิจกรรมเปิดตัวบทกวี “สยามห้องเย็น” เป็นบทกวีการเมือง ถูกสั่งห้ามไม่ให้จัด เป็นที่รู้กันว่ามีสถานที่ไหนที่เป็นสถานที่ซึ่งเป็นที่จับตาของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เราก็คิดว่า การเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ทำบางอย่างได้ เราก็ต้องทำ หลายคนทำยิ่งกว่าเรา เราจะกลัวมากก็ไม่ได้ เราจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อส่งสัญญาณว่าเราคิดแบบนี้ แต่เราเป็นเจ้าของธุรกิจ เราจะทำอะไรมากเกินไปก็ไม่ได้ สมมุติว่าร้านถูกสั่งปิด มันเป็นปากท้อง อู่ข้าวอู่น้ำ การจะทำอะไรบางอย่างต้องระมัดระวัง
แม้การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อีกฝ่ายจะไม่มาร้าน เมื่อลูกค้าไม่มาก็มีผลทันที คนน้อยลง ลูกค้าหายไป 40 เปอร์เซ็น แต่เราทนไม่ไหว เราก็ต้องแสดงออกไปบ้าง มันก็เกิดผลกระทบ แต่เราก็ทำใจ เพราะเรารู้ว่า ถ้าแสดงความคิดเห็นแบบนี้หรือทำกิจกรรมแบบนี้ อีกฝ่ายต้องไม่พอใจ สุดสะแนน ยังมีกิจกรรมทางการเมือง แล้วมันก็ชัดเจน แต่ไม่ลงไปทำกิจกรรมทั้งหมด ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ กิจกรรมอะไรที่หนัก เราก็เลี่ยง หรือ ทำให้เบา ทำให้อยู่ในสังคมและเอาตัวรอดได้
สำหรับการทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นงานแขนงใด ดนตรี วรรณกรรม งานศิลปะ ถ้าเราชอบแล้วตั้งใจจริงจัง อย่างแรก งานเหล่านี้จะมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง เรื่องการเอาชีวิตรอด เพราะศิลปินเป็นอาชีพที่รายได้ไม่แน่นอน ไม่มั่นคง สิ่งที่ต้องมี คือ ความอดทน ทนหิว ต้องทำทุกวัน ทำสิ่งที่ตนเองชอบ ถ้ามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เราก็สามารถทำอย่างอื่นควบคู่กันไปด้วย เขียนหนังสืออย่างเดียวรายได้ไม่พอก็ต้องทำอย่างอื่น เราสามารถขายขนมจีน ขณะที่เราไม่มีรายได้จากเพลงที่เราร้อง ทำอย่างอื่นเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้
สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)