วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ในวัยเยาว์อายุ 15 ปี ก้าวเดินออกจากโรงเรียน เลือกใช้ชีวิตเกษตรกร ทำสวนยาง ทำไร่กาแฟ จนวันหนึ่งเขามีโอกาสได้พบกับ “มหาวิทยาลัยชีวิต” หนังสือเล่มแดงที่ทำให้วีระศักดิ์ ค้นพบโลกใหม่ เรื่องราวในหนังสือกลายเป็นแรงบันดาลใจให้วีระศักดิ์วัยหนุ่ม ตัดสินใจกลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง หลังจากนั้น เขาเรียนต่อมหาวิทยาลัย ทำกิจกรรมชมรมวรรณศิลป์และออกค่ายอาสาพัฒนา ทำงานเขียนหนังสือและเติบโตในกองบรรณาธิการนิตยสาร “สารคดี” ตามรอยรุ่นพี่ เช่น วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ , อรสม สุทธิสาคร, สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ แตกฉาน ตกผลึกความคิด มุมมองหรือทัศนะอันมีต่อสารคดีในมิติการนำเสนอบนแพลตฟอร์มจึงลุ่มลึก น่าสนใจ น่าเชื่อถือ เช่น การใช้เอไอในการสร้างสารคดี การนำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงในรูปแบบ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) หรือ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ตามหลักการของสารคดี
“มหาวิทยาลัยชีวิต” หนังสือเปลี่ยนความคิด
บ้านเกิดผมอยู่จังหวัดกระบี่ อำเภอคลองท่อม หมู่บ้านอยู่ไกลมาก เป็นหมู่บ้านติดกับป่า เพื่อย้ำให้เข้าใจว่า ผมไม่รู้จักหนังสือหรือนักเขียน ผมรู้จักแต่คนในหมู่บ้าน ไม่เคยเดินทางไปไหนเพราะหมู่บ้านเราเป็นบ้านป่า ผมไม่อยากเรียนหนังสือ รู้สึกว่า การเรียนไม่มีประโยชน์ เราอยู่บ้านป่า ทำสวนยาง ผมรู้สึกว่า การเรียนหนังสือเป็นเรื่องทุกข์ทรมานมาก มีแต่ความไม่สุขและความทรงจำที่ไม่ดีกับโรงเรียน ผมเดินเท้าไปโรงเรียนระยะทางไกล 3 กิโลเมตร เพื่อเดินทางไปโรงเรียนประถมศึกษา เมื่อเรียนในโรงเรียนมัธยมต้องปั่นจักยานระยะทาง 5 กิโลเมตรเพื่อไปนั่งรถสองแถวแล้วเดินทางต่ออีก 14 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ต้องตื่นนอนตี 5 กลับบ้าน 5 โมงเย็น ผมใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนอยู่กับความไม่สุข ทั้งที่ผมสามารถสมัครเป็นนักเรียนทุนคุรุทายาท แต่ผมไม่เอา ผมรังเกียจโรงเรียนและรังเกียจความเป็นครู เพราะภาวะไม่สุขและความกดดันในชั้นเรียน
เพื่อนนักเรียนชั้นประถมศึกษา ห้องเรียนเดียวกันกับผม 20 คน เลือกเรียนต่อชั้นมัธยม 3 คน ส่วนที่เหลืออีก 17 คน เลือกที่จะไม่เรียนต่อ ผมอยากเป็นเหมือนเพื่อนอีก 17 คน เข้าสู่วิถีเกษตร เมื่อเรียนชั้นมัธยม 3 ผมสบายใจและเลือกที่จะไม่เรียนต่อ แต่พ่อและญาติผู้ใหญ่ทุกข์ใจมาก เพราะเขาคาดหวังให้ลูกมีการศึกษา ส่วนญาติฝ่ายแม่ก็รับราชการ ตระหนักเรื่องการศึกษา พวกเขาผลักดันผมให้เรียนหนังสือ แต่ใจผมไม่เอา เมื่อเลิกเรียน ผมรู้สึกโล่ง เลือกใช้ชีวิต อยากทำอะไรก็ได้ทำ อยากเที่ยวก็เที่ยว อยากนั่งวงเหล้าก็ไป แต่ผมเป็นคนขยัน มีธาตุในการเอาการเอางาน ผมกรีดยางทุกวัน ทำสวนกาแฟ หักล้างถางโพงโค่นต้นไม้ด้วยขวาน เผาไร่ เก็บกิ่งไม้สุมไฟทำให้ฟืน
พ.ศ.2530 น้าของผมรับราชการครู ตอนเลิกเรียน น้าบอกว่า “อยู่เฉยๆ ช่วยซื้ออุปกรณ์การศึกษาให้น้าหน่อย น้าจะทำสื่อสอนเด็กนักเรียน” จังหวัดกระบี่บ้านเกิดของผมยังไม่เจริญ เราเดินทางไปจังหวัดตรัง ตัวเมืองตรังมีศูนย์กลางอยู่ที่หอนาฬิกา ตั้งอยู่บริเวณปลายถนนด้านหนึ่ง ส่วนปลายถนนอีกด้านหนึ่ง คือ สถานีรถไฟ ใกล้กับสถานีรถไฟมีร้านเครื่องเขียน ผมเดินเท้าตามถนนนสายนี้ จากหอนาฬิกาถึงสถานีรถไฟ ระหว่างทางเดินมีร้านหนังสือโชว์ปกหนังสือผ่านตู้กระจก หนังสือเล่มหนึ่งมีพื้นปกสีแดง มีเงาคนสีดำทาบอยู่บนปก เขียนข้างบนด้วยตัวอักษรว่า “มหาวิทยาลัยชีวิต” ภาพปกสีแดงและเงาคนสีดำที่มันเท่ส์มาก ยามค่ำคืน ผมนอนฟังวิทยุคลื่นเพลงเพื่อชีวิต อ่านหนังสือ ทั้งหมู่บ้านมีคนอ่านเพียงคนเดียว มันเกิดขึ้นอย่างบังเอิญ เพราะหนังสือเล่มนั้น หลังจากนั้น ชีวิตของผมดีขึ้นเพราะเรายอมรับโรงเรียน นั่นเป็นผลมาจากการอ่าน “มหาวิทยาลัยชีวิต” ทำให้ผมรู้จักหนังสือและความบันดาลใจแรกที่อยากเป็น ตอนนั้น ผมไม่สนใจคนเขียน ตอนหลังถึงรู้ว่า คนเขียนคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เมื่ออ่านหนังสือ มันรู้สึกแรงมาก ไม่รู้เพราะอะไร เราคิดว่า หนังสือเล่มนี้จะสอนบทเรียนชีวิตให้กับเราซึ่งกำลังแสวงหา เนื้อหาหนังสือเล่มนี้มันตรง มองเห็นความยิ่งใหญ่ในเรื่องเล่า
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เล่าว่า เขาเป็นเด็กบ้านนอกจากแปดริ้ว ฉะเชิงเทรา ปากแม่น้ำบางประกง เป็นลูกคนจน ชีวิตกว้างไกลได้พบเห็น ได้เป็นปัญญาชน เนื่องจากเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชีวิตอันยากลำบากเพราะพ่อเป็นตังเกเรือประมงตกงาน แม่และน้อง 6 คน อยู่อย่างยากจน แม่เป็นแม่ค้าขายผลไม้ เขาเกิดเป็นลูกคนโต ชีวิตเสกสรรค์เปลี่ยนเพราะเรียนหนังสือ เมื่อเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม่บอกไม่มีเงินส่งเรียน แต่เสกสรรค์ดิ้นรนจนได้มาเรียน แล้วเสกสรรค์ก็กล่าวถึงคำพูดของพ่อประโยคหนึ่งว่า “ถ้ากูได้เรียนหนังสือชีวิตก็คงไม่ต้องลำบากแบบนี้” ซึ่งต่อมา เขากลายเป็นผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ตุลา เสกสรรค์กลายเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องหนีเข้าป่า เสกสรรค์พูดตอนท้ายว่า “วันหนึ่งผมอาจจะบ่นให้ลูกของผมฟังว่า ถ้าพ่อไม่เรียนหนังสือ ชีวิตอาจไม่ยุ่งเหยิงแบบนี้” สองประโยคเร่งเร้ารุนแรงมาก โดยเฉพาะประโยคหลัง ตอนนั้นผมคิดว่า ชีวิคคนจะยิ่งใหญ่กว่าคนในหมู่บ้านได้ ต้องเรียนหนังสือ
บทเรียนการเขียนในมหาวิทยาลัย
เรื่องราวในหนังสือ “มหาวิทยาลัยชีวิต” บันดาลใจให้ผมว่า “การเรียนสำคัญกว่าสิ่งที่เราเรียนรู้” ผมได้ต้นแบบชีวิต ผมจึงตัดสินใจกลับไปเรียนหนังสือ รู้สึกว่า เราอยากเป็นแบบนั้น แต่เพื่อนรุ่นเดียวกันเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผมเพิ่งเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ผมมีเพื่อน 2 รุ่น ช่วงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย เรารู้จักการอ่านหนังสือ มีหนังสือแปล คือ วรรณกรรม เราอ่านมหาลัยชีวิต เนื้อหาในหนังสือบอกเราว่า หนังสือแบบนี้ยังมีอีกเยอะมาก มีคนเขียนอีกหลายคน เช่น ธีรยุทธ บุญมี , สุรชัย จันทิมาธร ,ศิลา โคมฉาย เรารู้จักวรรณกรรมมากขึ้น ความใฝ่ฝันเริ่มมากขึ้น เรารู้จักคำว่า “เพื่อชีวิต” รู้จักคำว่า “กิจกรรมเพื่อสังคม”
เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผมเอ็นทร้านเข้าธรรมศาสตร์ แต่สอบติดมหาวิทยาลัยสงขลานคริรทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมมอบตัวเข้าเรียน แต่ผมรู้สึกว่าเพื่อนมีน้อย ไม่มีรุ่นพี่ รุ่นพี่ส่วนใหญ่เลือกเรียนรามคำแหง จากการอ่าหนังสือ ผมรู้ว่า ที่รามคำแหงมีชมรมวรรณศิลป์ มีวิสา คันทัพ, ศิลาโคมฉาย ผมเลือกเรียนรามฯ เข้าชมรมวรรณศิลป์ แต่ก็มาทราบทีหลังว่าชมรมก็หายไปตอนที่ วัฒน์ วรรลยางกูร หนีเข้าป่า (6 ตุลา) ชมรมวรรณศิลป์ที่ผมรู้จัก เริ่มต้นใหม่ใน พ.ศ.2520 ผมทำกิจกรรมกับชมรมวรรณศิลป์และชมรมใหม่ชื่อว่า ชมรมศิลปะวรรณกรรม ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง นอกจากทำกิจกรรมวรรณศิลป์ล ผมยังทำกิจกรรมกับกลุ่มค่ายอาสาพัฒนา เพื่อนกลุ่มนี้พาผมไปสัมผัสกับอีสาน เหนือ ได้เห็นโลกใหม่
พ.ศ.2538 เวลานั้น มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นพื้นที่แห่งการแสวงหา มีนักเขียน ศิลปิน มีฟรีคอนเสิร์ตเกือบทุกเดือน แอ๊ด คาราบาว ,หงา คาราวาน ,ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เปิดเวทีการแสดง ผมดูคอนเสิร์ตโดยไม่ต้องซื้อบัตรสักครั้งเดียว อันนี้ก็เป็นการแสวงหาแบบหนึ่ง รวมทั้ง ทอดด์ ทองดี นักดนตรีใต้ดิน หรือ ศิลปิน วสันต์ สิทธิเขต ก็บรรยายในพื้นที่สาธารณะให้เราฟัง เพื่อนชมรมค่ายอาสาพัฒนาพาผมไปรู้จักกับชนบทภาคอีสาน ภาคเหนือ ผมนำเรื่องราวมาเป็นวัตถุดิบในการเขียน ผมศึกษามาจากมหาลัยชีวิต เราเรียกกว่าสิ่งนี้ว่า เรื่องเล่า เรื่องสั้น เพราะผมอ่านงานของนักเขียนรุ่นพี่ เขาเรียกงานของเขาว่า เรื่องสั้น ผมก็คิดว่า เรื่องที่ผมเขียนยาว 3-5 หน้าประดาษ เป็นเรื่องสั้นๆ ผมหัดเขียนแบบนั้น เมื่อเขียนเสร็จก็นำงานเขียนให้เพื่อนอ่าน เพื่อนบอกว่า มันคือสารคดี ไม่ใช่ Shot story มันเป็น Non-Fiction ผมเข้าใจทฤษฎีการเขียนในช่วงนั้น รุ่นพี่อ่านแล้วก็สอน แล้วเขาก็เสนอในการเขียนเรื่องสั้นว่า ควรมีการสร้างพล็อต ผมก็บอกเขาว่า ผมไม่พยายามปั้นเรื่องสั้น แต่จะเขียนเป็นสารคดี จากนั้นถึงเริ่มเข้าสู่เส้นทางสารคดี ใช้เวลาเรียนรู้อยู่ประมาณ 1 ปี
ผมมีเพื่อนที่ไกลห่าง เหตุผลที่ห่างกันก็เพราะเขาเพื่อชีวิตมากกว่าผม เขาทิ้งห้องเรียนเพื่อใช้ชีวิตอยู่บนดอย วันหนึ่ง ผมแบกเป้เดินทางไปหาเขา เพราะรู้ว่า เขาอยู่บนดอยบ้านน้ำบ่อใหม่ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ผมรู้เท่านั้น ผมแบกเป้เดินทางใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง เมื่อเดินทางถึงอำเภอเวียงแหง ชาวบ้านบอกกับผมว่า ครูสองคนนี้เดินทางเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ แต่พวกเขามีเพื่อนเป็นครูดอยชื่อ องอาจ เดชา อาศัยอยู่ที่ตัวอำเภอเวียงแหง ชาวบ้านบอกว่า ถ้าคุณไม่มีที่พึ่งผมจะพาไปหาเพื่อนครูคนนี้ เขาก็คือ องอาจ เดชา หรือ ภู เชียงดาว เมื่อเจอกันครั้งแรกผมก็แนะนำและอ้างตัวว่า เป็นเพื่อนครูเสือ ครูเคน เขาตอนรับอย่างดี เขารู้ว่าผมเป็นนักเขียนฝึกหัด ภู เชียงดาว บอกผมว่า เขากำลังหัดเขียนบทกวีแล้วก็เอาสมุดบันทึกให้ผมดู ผมแนะนำให้เขาส่งบทกวีให้กับสำนักพิมพ์ เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ ผมก็ตัดบทกวีที่ลงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เก็บไว้ให้ ภู เชียงดาว บางทีบทความของผมลงตีพิมพ์สารคดี ภู เชียงดาว ลงตีพิมพ์บทกวีเล่มเดียวกัน ผมก็รวบรวมบทความตัดเก็บและส่งไปรษณีย์ให้เขา
ยุคสมัยนั้นเป็นยุคของสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่มีโลกออนไลน์ เวลาเราเขียนงานชิ้นหนึ่ง เป้าหมายการเผยแพร่ ต้องส่งให้กับบรรณาธิการหนังสือ ซึ่งในยุคใหม่ มีอินฟูเรนเซอร์ เขาไม่รู้จักบรรณาธิการ งานเขียนไม่ต้องผ่านบรรณาธิการ แต่ยุคสมัยก่อน ผลงานของเราต้องผ่านบรรณาธิการ เราก็เล็งว่า สนามไหนมีพื้นที่สำหรับงานสารคดี ซึ่งมีหนังสือพิมพ์รายวันที่มีเซ็กชั่น (Section) เสาร์อาทิตย์ หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์รายปักษ์ หนังสือพิมพ์รายเดือน ผมเริ่มส่งผลงานให้กับกองบรรณาธิการหนังสือฉบับต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ผมเรียนจบมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2540 เรียน 3 ปี เกรดเฉลี่ย 3 กว่า ผมคิดว่าจะทำงานเขียนอย่างจริงจัง ผลงานของผมลงในนิตยสารขวัญเรือน สยามรัฐรายวัน เพราะมีสิ่งที่เรียกว่าเซคชั่นชาวกรุง เนชั่นสุดสัปดาห์ สยามรัฐสุดสัปดาห์และนิตยสารรายปักษ์อีกหลายเล่ม ขณะนั้น พ.ศ.2539 ลมหายใจหรือความใฝ่ฝันของผมอยู่ที่การเขียน ไม่ว่าจะทำอะไร มันคิดถึงแต่เรื่องของการหาข้อมูล แม้แต่ตอนทำงานเป็น NGO ก็คิดว่ามันคือการหาข้อมูลเขียนหนังสือ
สารคดี สร้างคน สร้างความคิด
หลังจากเริ่มทำงานเขียนหนังสือ รายได้ก็ไม่พอสำหรับการดำรงชีพเพราะผลงานไม่ได้รับการตีพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ ผมหางานทำ เริ่มทำงาน NGO ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ลงพื้นที่กับองค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อเก็บข้อมูล นำข้อมูลมาทำเป็นงานเขียน เช่น การรณรงค์กู้เก็บระเบิดตามแนวชายแดน หรือการลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ กระเหรี่ยง ปกากญอ ทางภาคเหนือ ผมเขียนหนังสือ ผลงานได้รับการตีพิมพ์ เติบโตตามวันเวลา ผมคิดว่า ผมเหมาะกับสารคดี พ.ศ.2546 ผมส่งผลงานให้กับกองบรรณาธิการ ผลงานได้รับความสนใจจากบรรณาธิการ เขาชวนผมมาทำงานเป็นนักเขียนประจำกองบรรณาธิการ ก่อนทำงานในกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี ผมมีผลงานตีพิมพ์นับร้อยชิ้น มีความมั่นใจ
นิตยสารสารคดี เป็นนิตยสารที่ใหญ่มากในยุคที่สื่อยังมีอิทธิพล เป็นสนามสำคัญซึ่งรวมชุมนุมจอมยุทธด้านการเขียน ผมเรียนรู้จากกองบรรณาธิการและบรรณาธิการบริหาร วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขาไม่สอนแบบครูสอนนักเรียน แต่สอนด้วยการลงมือทำ หรือพากันทำงาน (Skill) เวลามีคนส่งต้นฉบับ บรรณาธิการจะให้ความเห็น เราก็จะเรียนรู้ว่า ผลงานชิ้นนี้ดี หรือไม่ดี ผมเรียนรู้ตามธรรมชาติ เรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพ การทำงานที่กองบรรณาธิการนิตยสารคดี การทำงานกับการเขียนหนังสือกลายเป็นสิ่งเดียวกัน เราคุยกันว่า อยากจะทำเรื่องอะไรแล้วก็ลงพื้นที่กันจริงๆ ตอนอยู่กองบรรณาธิการ เรามั่นใจ แต่บางทีความมั่นใจก็ทำให้เกิดอัตตา อีโก้ หรือ กบในกะลา เพราะการที่เราเก่งเล็กๆ น้อยๆ แล้วทำงาน เราก็คิดว่าเราเก่งเยอะ ตอนเข้าไปทำงานกองบรรณาธิการ เรารู้จักโครงสร้างหรืองานทั้งหมด มันเป็นเรื่องการคิดประเด็น ลงพื้นที่ และทำงานเขียน แล้วก็ระดมความคิดร่วมกัน ซึ่งในด้านอุดมคติ เราได้ทำตรงกับสิ่งที่ชอบ
กองบรรณาธิการนิตยสารสารคดีเข้าใจเด็กหนุ่ม ไม่ได้เบรก กดดัน ประทะ แม้กระทั่ง บรรณาธิการ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการก็แนะนำว่า “ให้รู้จักแยกหลัก แยกรอง” บางที่เรามองย้อนดู เราก็คิดว่า เราโอหังเกินไปในเวลานั้น เรารู้สึกละอายตนเอง ถ้าถามว่า การทำงานในกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดีกดดันหรือไม่ ตอบว่าไม่กดดัน แต่ถามว่า มาตรฐานการทำงานสูงมั้ย ตอบว่า มาตรฐานการทำงานของนิตยสารคดีสูงมาก แล้วเราก็รู้ตนเองด้วยว่า สิ่งที่เราทำมันเล็กมาก เราอาจมีงานตีพิมพ์นับร้อยชิ้น แต่มันเป็นงานขนาดเล็กมาก ส่วนงานเขียนในนิตยสารสารคดีเป็นเรื่องใหญ่ตีพิมพ์หลายสิบหน้า บางสิ่งที่เราเรียนรู้มันเป็นเพียงแค่ชั้นประถมหรืออนุบาล ความจริงโลกของสารคดีกว้างใหญ่ เราค่อยๆ เรียนรู้
ผมเติบโตมาจากการทำงานเป็น NGO การลงพื้นทำให้เราโน้มเอียงข้างชาวบ้าน เรารู้สึกว่า มันอยุติธรรม แต่งานสารคดี เราจะร้องทุกข์หรือช่วยคนอื่นไม่ได้ เข้าข้างชาวบ้านไม่ได้ สิ่งที่ทำคือบทความที่ชวนคนอ่านมาตระหนักรู้ในปัญหา สารคดีเป็นการเล่าข้อมูลให้ฟัง ส่วนคนอ่านจะตระหนักปัญหาชาวบ้านหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ของคนเขียนสารคดี นี่คือสิ่งที่ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการ สอน เพราะตอนเริ่มทำงานในกองบรรณาธิการ เราเอียงเข้าข้างเหมือนกระบอกเสียงชาวบ้าน ความจริงทำได้ แต่งานที่เผยแพร่ ต้องเป็นการเล่าข้อมูล ไม่ใช่เชิญชวน ถ้าชวนก็จะเป็นบทความ นี่คือหลักการ
ผลงานที่ลงตัวและเป็นที่รู้จัก เกิดขึ้นใน พ.ศ.2547 เรื่อง คนฟังเสียงปลา ภูมิปัญญาพรานทะเลแห่งจะนะ เป็นเรื่องชาวประมง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงงานแยกก๊าช ซึ่งความจริงเป็นการสร้างท่อก๊าชมาเลเซีย เมื่อผมลงพื้นที่ก็มีคนแนะนำให้รู้จักชาวบประมงพื้นบ้านชาวมุสลิม เขาใช้หูฟังเสียงปลา เรียกว่า “ดูหลำ” แปลว่า คนฟังเสียงปลา ทำหน้าที่แทนเรด้าหรือโซนิค ผมติดตามชีวิตของเขาและเล่าเรื่องนี้ แล้วก็บอกคนอ่านว่า ชาวประมงกลุ่มนี้อยู่ที่จะนะ สถานที่ซึ่งกำลังจะมีโครงการก่อสร้างท่อก๊าช ถ้ามีท่อก๊าช อาชีพนี้ยังจะอยู่หรือเปล่า แล้วฟันธงว่า จะมีปลาให้จับไม่มีวันหมดถ้าไม่มีโรงแยกก๊าช เมื่อผลงานถูกเผยแพร่ก็ถูกใจคนอ่าน ผลงานทำให้ผมเป็นที่รู้จักและกลายเป็นผลงานพ๊อคเก็ตบุ๊คเล่มแรก
ครูสารคดีมหาวิทยาลัยและค่ายสารคดี
นอกจากการเขียนสารคดี ผมยังเรียนรู้เรื่องการสอน มหาวิทยาลัยเชิญผู้ปฏิบัติจริงมาบรรยายให้ความรู้กับนักศึกษา เป็นอาจารย์พิเศษ หรือบรรยายพิเศษ บรรณาธิการส่งผมไปบรรยายเหมือนถีบผมลงน้ำ ผมก็เล่าว่า สารคดีทำอย่างไร เวทีแรก ผมบรรยายที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมพูดตามที่ผมรู้สึก แต่ผมคิดว่านักศึกษาบางส่วนเข้าใจ เพราะในช่วงหลัง นักศึกษาตามมาขอสัมภาษณ์ หลังจากนั้น นิตยสารสารคดีก็ทำค่ายสารคดี
ช่วงหลังอาจารย์เชิญไปคุยที่คณะ ผมเหมือนเป็นอาจารย์ประจำ อาจารย์ประจำวิชาถามถึงสไลน์สื่อการสอน ถามถึงเอกสารประกอบการสอนรายวิชา ผมเริ่มเขียนเป็นข้อๆ ต้องคิดประเด็น เขียน ลงพื้นที่ การคุย สัมภาษณ์ สะสมเรื่อยๆ พ.ศ. 2560 ก็มีนับร้อยข้อ จัดเป็นเหมวดใหญ่ เมื่อรวมกันไว้เยอะก็ทำเป็นหนังมือชื่อ “วิชาสารคดี” เป็นพื้นฐานของสารคดี หลักใหญ่คือ คิด เก็บ เขียน คิดก็คือ การลงพื้นที่เก็บข้อมูล ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ข้อมูลจากการดู ข้อมูลจากการค้นคว้า หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการเขียน เป็นการออกแบบวิธีการเล่า เหมือนภาพยนตร์ที่ออกแบบการเล่า เป็นวเลา 2 ชั่วโมง
สารคดีแบ่งภาค อย่างไร ตัดเรื่องอย่างไร ตัดสลับ เล่าจากหน้าไปหลังหรือหลังไปหน้า ระหว่างที่เขียนข้อมูลหรือเรื่องราวอะไรที่ไม่ชัดเจน เราต้องคิดใหม่ บางทีก็ต้องกลับไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวใหม่ จากนั้น เราต้องแบ่งเป็นข้อมูล แบ่งเป็นเทคนิคการนำเสนอ ผมคิดว่า โลกของสารคดีมี 9 ห้อง เหมือเราเข้าไปในคอนโด เราเข้าไปในห้อง ก็จะมีห้องย่อย พอเข้าไปในห้อง ก็จะมีตู้ ลิ้นชัก นี่เป็นสิ่งที่ผมตกผลึก หรือร้อยเรียงมาจากประสบการณ์การสอน วิชาสารคดีเป็นวิชาที่ผมสอนมาเป็นเวลา 25 ปี หนังสือ “วิชาสารคดี” อ่านเล่มนี้แล้วรู้แน่
ค่ายสารคดี มันเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2547 ผมไปค่ายในฐานะพนักงานใหม่ของออพฟิต ผมสังเกตการณ์ในครั้งแรก รุ่นพี่ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ , อรสม สุทธิสาคร, สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ ผมอยู่หลังห้อง ผมจำได้ว่า พี่สุวัฒน์พูดถึงเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นเรื่องที่ผมอ่านมาแล้ว เป็นการนำงานของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล มาชำแหละ ผมก็เลยเข้าใจความคิด พี่สุวัฒน์นำภาพสารคคดีมาให้ดู ภาพบรรยากาศตอนเที่ยงวัน พูดถึงเทคนิคการถ่ายภาพด้วยการปิดรูรับแสงให้ภาพที่ได้ออกมามืดดูหม่นหมอง เพื่อสื่อถึงความล้มของเศรษฐกิจ หรือสื่อถึงเรื่องราวของสังคมชุมชน ชาวบ้าน ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการพัฒนา บางทีก็ทำให้ฉากหน้าสว่างแต่ฉากหลังมืด เราเห็นรอยเท้าไดโนเสาร์ที่พี่สุวัฒน์เทน้ำลงไปบนรอยเท้า มันไม่เกินจริง ไม่ใช่เป็นการสร้างภาพ แต่ทำให้เกิดมิติ แล้วก็เล่นในเงาแดดของไดโนเสาร์ เพื่อเชื่อมโยงกับกาลเวลาหลายร้อยบล้านปี มันเป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้
พ.ศ.2549 วันชัย บรรณาธิการ พาไปเล่าเรื่องประสบการณ์การเขียนซึ่งวัยของผมไล่เลี่ยกับคนเรียน ในปีเดียวกันอาจารย์ไพฑูรย์ ธัญญา ท่านทำค่ายวรรณกรรมสัญจร ซึ่งเป็นค่ายที่อายุเยอะสุดในเมืองไทย ผมไปเพราะท่านบอกว่าไปพูดเลย ไม่ต้องสอน มันทำให้ผมมั่นใจ ผมจำได้ว่า ผมมาโชว์ตัว ผมไม่ได้มาสอน ผมมาบอกว่า ผมเป็นนักเขียนจริง เหมือนดารา เรามาโชว์ตัวว่านักเขียนมีตัวตนจริงๆ เป็นแบบนี้ มันได้ผล มีนักศึกษาที่สนใจการเขียนสารคดีมาคุยด้วย
การสอน การเรียนรู้ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เหมือนหลวงปู่ชาสอนธรรมมะให้ชาวต่างชาติ แล้วก็มีคนถามว่า ท่านพูดอย่างไรให้เขารู้เรื่อง ทั้งที่ใช้ภาษาอังกฤษไม่เป็น ท่านก็ตอบแบบขำๆ การที่โยมพูดกันหมาที่บ้าน โยมพูดกับมันได้หรือ? เหมือนคำว่า “ทำให้รู้ ดูให้เห็น” ท่านพุทธทาส ท่านก็สอนแบบนั้น สารคดีก็เช่นกัน การใช้ชีวิตร่วมกัน พบปะพูดคุยทำให้เราเกิดความมั่นใจ ตอนหลังก็สอนได้ เราทำมานานและเริ่มบอกนักเขียนใหม่ได้ว่า หลักการเขียนสารคดีเป็นแบบนี้ สามารถพูดให้ฟังได้ แต่ถ้าจะทำก็ต้องฝึกทำ ฝึกคิดประเด็น จะลงพื้นที่ก็ทำด้วยกัน การสัมภาษณ์ไม่ต้องพูดเก่ง เป็นการพูดคุย เป็นคนธรรมดา เพราะเราไม่ได้บันทึกเทปการสนทนา ไม่ได้ออกรายการโทรศัพท์ โง่เราก็ถามโง่ ไม่ต้องเหมือนกันคนสัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ ไม่เข้าใจก็ถามซ้ำๆ แต่เราต้องการสาระของเรื่องราว บางทีเราก็ร่วมวงเหล้าไปกับเขา บางทีเขาก็ข่มเราบ้างตามประสาขี้เมา แต่เรื่องเล่าของคุณจะเป็นเรื่องเล่า อันนี้เป็นการ “เก็บ”

ทัศนะและคำถามถึงอนาคตของสารคดี
สำหรับงานสารคดี ในแง่มุมองของผม พัฒนาการด้านการเล่าเรื่องของประเทศเพื่อนบ้านอาจไม่เท่ากับเรา ความซับซ้อนในการเล่าเรื่องน้อยกว่า ผลงานระดับสากลที่ผ่านการแปล เช่น งานของอินโดนีเซีย มีงานสารคคีที่ไปได้ไกลกว่างานในประเทศของเรา โดยเฉพาะงานสารดดีของยุโรปหรืองานตะวันตก งานเหล่านี้เป็นงานที่กรองแล้ว งานของเขาอาจมีงานขั้นพื้นฐานที่ไม่ต่างจากงานของประเทศไทย แต่งานที่คัดมาแปล ต้องยอมรับว่า เขาไปได้ไกลในเรื่องประเด็นและกลวิธีการเล่าเรื่อง ประเด็นลึกและไกล แต่ก็อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องของต้นทุนการผลิต
เป้าหมายการเขียนแตกต่างกันอย่างไร ?
เป้าหมายของ สารคดี (Non-Fiction) กับ บทกวี เรื่องสั้น หรือ นิยาย (Fiction) เราต้องแยกออกเป็นหัวข้อ หัวข้อหนึ่งซึ่งผมพูดได้ก็คือ เป้าหมายที่แตกต่างกันในงานแต่ละประเภท งานกวี อาจารย์ชมัยภร บางคมบาง (แสงกระจ่าง) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2557 บอกว่า มันเป็นภาพ คำ เสียง และความรู้สึก งานสารคดีอาจต้องมีภาพ ความรู้สึก คำที่จำกัด หากเป็นเรื่องสัญลักษณ์เสียงต้องดี ความรื่นรสของกวีจะต้องผ่าน ส่วนบันเทิงคดี ร้อยแก้ว หรือ Fiction เป้าหมายของมัน คือ ความบันเทิงที่แฝงข้อคิด ถ้าเป็นนิทานจะสอนตรงๆ ส่วนวรรณกรรมต้องซึมลึกเข้าไปในจิตสำนึก คืออ่านแล้วต้องประทับใจ เช่น เราอ่านแลไปข้างหน้าทำให้เราอยากเรียนหนังสือเพื่อรับใช้คนอื่น หรือ สิทธารถะ ของ แฮร์มัน เฮสเซ เวลาอ่านเราอยากให้เราลงลึกในทางพุทธธรรม คืออ่านแล้วไม่สั่งไม่สอน แต่เราอ่านแล้วเรารู้สึกจริง อันนี้คือ Fiction ส่วนสารคดี เป็นข้อมูลความรู้ อ่านสารคดีเรื่องนี้เพื่อจะรู้เรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ความรู้แบบวิชาการแต่เป็นความรู้ที่อ่านรื่นรมย์
เมื่อเป้าหมายต่างกัน จึงเปรียบเทียบกันยาก เมื่อสารคดีเป็นสาระความรู้ จึงไม่สามารถสร้างให้เป็นบันเทิงเหมือนเรื่องแต่ง (Fiction) เพราะตัวสารไม่เอื้อเพราะหลักการมันบังคับ ถ้าเราแต่งเติมข้อเท็จจริงเรื่องราวก็จะกลายเป็นเรื่องแต่ง (Fiction) บางครั้งสารคดีน่าเบื่อเราก็ต้องยอมรับ เราจะแข่งเรื่องความสนุก ความรื่นเริงทางภาษาอาจจะไม่ได้ นอกจากนั้น หากเราแต่งเรื่องในสารคดี ความน่าเชื่อถือจากคนอ่านจะลดลง เราสร้างภาษาด้วยเป้าหมายและขนบที่ต่างกัน อยู่ที่ว่า เราแข่งขันจากเกณฑ์อะไร ถ้าทำเพื่อความรื่นรมย์ก็สู้ Fiction ไม่ได้ แต่หากอ่านเพื่อความรู้ คนอ่านต้องอ่านสาคดี เพราะจะอ่านความรู้จาก Fiction ไม่ได้ เพราะคนแต่งไม่ได้อิงกับข้อเท็จจริง 100 เปอร์เซ็น ถ้าเรามองจากยอดขาย ความนิยมในสารคดีก็ยังมีมากกว่างาน Fiction ปัจจุบัน ยอดขายบทกวีมีเพียง 100-300 เล่ม มีคนอ่านบทกวีเท่านี้ แต่สารคดีสามารถพิมพ์ได้ครั้งละ 2,000-3,000 เล่ม
มีเส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริง (Non-Fiction) กับเรื่องแต่ง (Fiction) ?
คนในวงการเขียนหนังสือจำนวนหนึ่งกำลังพยายามจะบอกว่าเรื่องแต่ง (Fiction) หรือ เรื่องจริง (Non–Fiction) ก็คือเรื่องแต่งเหมือนกับสารคดี เส้นแบ่งมันเลือนจนกลืนกลายและยากที่จะแยก มีผู้คนจำนวนหนึ่งให้ทัศนะ กลืนกลายจนเป็นเนื้อเดียวแยกไม่ได้ ก็เป็นทัศนของเขา แต่ผมเห็นตรงข้ามโดยสิ้นเชิง ผมคิดว่า เส้นแบ่งของงานประเภทนี้ยังแจ่มชัดและยังคงต้องยังอยู่ จะทำให้เกิดความไม่ชัดเจนไม่ได้ เพราะมันเป็นงานคนละประเภท
ข้อมูล ข้อเท็จจริง เป็นความจริงทั้งหมด ?
เราต้องแบ่งเรื่องราวออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ข้อมูล 2.กลวิธีการเล่าเรื่อง ข้อมูลต้องเป็นเรื่องจริง 100 เปอร์เซ็น แต่วีธีการเล่าเรื่อง เราสามารถสร้างสรรค์ได้ ไม่ต่างจากจาก Fiction เขาสร้างสรรค์อย่างไร เราก็สามารถสร้างสรรค์ได้เหมือนเขา เพราะในการเล่าเรื่องไม่ถูกบังคับว่าห้ามสร้างสรรค์ แต่ตัวสารต้องจริง 100 เปอร์เซ็น เส้นแบ่งก็อยู่ตรงนี้ คือ ตัวสารต้องจริงหมด ถ้าเมื่อไหร่ที่เจือปนสิ่งที่ผู้เขียนแต่งเพิ่ม มันก็กลายเป็น Fiction ไม่ใช่ Non – Fiction ถ้าเราแต่งเพียงนิดเดียวมันก็กลายเป็นเรื่องแต่ง เราต้องแยกข้อมูลกับวิธีการเล่าเรื่อง
การเล่าเรื่องแบบนิทาน เล่าเรื่องแบบเรียงความ เป็นเบสิกหรือพื้นฐาน แต่ถ้าจะเล่าเรื่องแบบสารคดี เราก็ต้องออกแบบการเล่า เหมือนเราดูหนัง ละครทีวี หรือ ภาพยนตร์ บางทีก็มาจากเรื่องจริง มีตัวละครสนทนากัน มีฉากสวยๆ การเขียนก็เป็นแบบนั้น ในส่วนของการบรรยายเราก็ต้องบรรยายให้สวย ให้สลด ให้เศร้า มันมีหลายระดับ เขียนออกมาก่อน เขียนความคิดออกมาเป็นตัวหนังสือ อันนี้เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด ถ้าฝันอยากบันทึกควรเริ่มแบบนี้ ครูจับมือเขียนไม่ได้ บังคับไม่ได้ ไม่เหมือนกับการเข้าแถว แต่การเขียนไม่เป็นแบบนั้น คุณเอาสิ่งที่มีอยู่ออกมาเป็นเรื่องเล่าก่อน
เมื่อเราเขียน เราก็ต้องขัดเกลา เพราะเรื่องเล่า เป็นงานเขียน ไม่ใช่จดหมายเหตุ เราเล่าแต่จุดสำคัญ จุดไม่สำคัญเราตัดทิ้งได้ อย่างเราเล่าเรื่อง การออกไปเที่ยวกับเพื่อน เราไม่ต้องเล่าว่า เราตั้งนาฬิกาปลุก 6 โมง เราเริ่มไปถึงแล้วเพื่อนด่าว่าเรามาสายก็ได้ หรือเริ่มเรื่องตอนสิ่งสำคัญในการเที่ยววันนี้ มีลำดับขั้น เบื้องต้นเราต้องแปลงสิ่งที่เราคิดออกมาเป็นตัวหนังสือก่อน เรื่องร้อยบท บางอย่างต้องคุยเรื่องรายละเอียด ซึ่งในบางครั้ง เราต้องให้ตัวละครออกมาสนทนากันเองบ้าง นักเขียนอย่าเล่าเองหมด เป็นเทคนิคหนึ่งเหมือนการสร้างหนัง สำหรับเรื่องเล่าของต่างประเทศ เราก็จะมีฉบับแปล ยุคสมัยที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ มีงานแปลเยอะมาก ทั้งต่วย’ตูน NG หรือ นิตยสาร National Geographic Thailand เราได้มองเห็นโลกกว้างในเรื่องสารคดี
สารคดีต้องประเมินโดยคนอ่าน ?
การประเมินจากผู้อ่าน คือการที่จะบอกว่า เรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง ผู้อ่านก็มีส่วนในการประเมินครึ่งหนึ่ง ถ้าเมื่อไหร่ ผู้เขียน สร้างสรรค์วิธีการเล่า หรือไม่ได้สร้างสรรค์ จนคนอ่านรู้สึกว่า เรื่องนี้มันไม่จริง ทั้งที่เป็นเรื่องจริง นั่นแสดงว่า คุณเล่าไม่สำเร็จทั้งที่เรื่องที่เล่ามาเป็นเรื่องจริง และไม่ได้จงใจแต่งเรื่อง เพราะเราไม่ได้เล่าอย่างมีเหตุมีผล ไม่ได้เล่าข้อมูลไม่หมด จนเรื่องเล่ากลายเป็นเรื่องไม่จริง อันนี้ยังเป็น Non – Fiction แต่เป็นเรื่องเล่าที่ไม่สำเร็จ หรือคนอ่านไม่เชื่อ ซึ่งจะโยงกันไม่กี่ประเด็น 1.เส้นแบ่งมันแจ่มชัด 2.คนเขียนต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง สารที่เล่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมด พยายามสร้างสรรค์การเล่าให้สนุก ให้ดี ไม่ต่างจาก Fiction 3. เรื่องสุดท้ายก็คือผู้อ่าน ถ้าคนอ่านไม่เชื่อว่าเป็น Non – Fiction ก็มีปัญหาด้านการเล่าเรื่องไม่สำเร็จ บางทีคนเขียนแต่งเรื่องเพิ่ม เรื่องราวไม่บริสุทธิ์จากคนเขียน
เอไอสร้างผลงานถือเป็นสารคดีหรือไม่ ?
สำหรับเอไอ ผมและเพื่อนๆ ยังไม่รู้จักเอไออย่างถ่องแท้ แต่ผมคิดว่า เอไอสามารถทำงานได้ มันอยู่ในสิ่งที่เป็นคำสั่ง (Prompt) คำสั่งละเอียดชัดเจนเท่าใด เอไอก็สามารถทำได้ เวลาเราคีย์ข้อมูล คำสั่งชัดเจน เอไอสามารถบอกทางเราได้ถูกต้อง สารคดีก็คงเป็นแบบนั้น ถ้าเราป้อนข้อมูลว่า ผมอยากเขียนสารคดี และให้ข้อมูลอย่างละเอียด แล้วสั่งให้เอไอเล่าให้สนุก ผมว่า เอไอสามารถเขียนสารคดีได้ ผิดถูกอยู่ที่ข้อมูลที่เราป้อน เพราะเอไอไม่ได้ประมวลข้อมูลที่เราป้อนเพียงอย่างเดียว แต่มันดึงข้อมูลมาด้วย ถ้าเราคิดอยากจะเป็นนักเขียน ก็อย่าไปนึกถึงเอไอ เพราะนักเขียนผู้ทำงานศิลปะ มีความอิ่มสุข พึงใจ พอใจ ว่าเป็นงานของเรา ถ้าเราให้เอไอเขียน เอไอก็เอาความอิ่มสุข ความพึงพอใจไป ผมอยากบอกเพื่อนว่า อย่าไปยุ่งกับเอไอ ทำเองดีกว่า เหมือนตอนเที่เราอิ่มสุข มีความสุข เหมือนตอนที่เรานั่งกินดื่ม
การเติบโต พัฒนา การกลายพันธุ์ของสารคดี?
30 ปี ในวงการเขียนสารคดี ผมมองเห็นรุ่นพี่ที่ก้าวเดินไป ผมก็อยากเดินตาม ผมเห็นแล้วอยากเป็นอย่างนั้น ผมว่า เท่ส์มาก ผมอยากเป็นแบบนั้น เหมือนพี่อรสม ได้รับการยอมรับจากคนที่เป็น ดร. ครูบาอาจารย์เขายอมรับ เราอยากทำงานดีๆ แบบนั้น เราอยากเข้าไปรับรางวัล ถ้าไปรับรางวัลอย่างอื่นเราก็ไม่อยากไป ไม่รู้สึกภูมิใจ ตอนหลังเราเห็นเพื่อนๆ เรามองเห็นรุ่นหลัง บางทีงานสารคดีมันไม่เหมือนกล้วยที่เกิดผลออกมา นักเขียนใหม่ได้เกิดขึ้นทุกปี แม่ว่าเราทำค่ายสารคดีทุกปี แต่ว่า มันเกิดการกลายพันธุ์ ที่ไม่ใช่การสูญพันธุ์ ซึ่งบางคนมาเรียนสารคดีแต่ไม่ได้เป็นนักเขียนสารคดีโดยตรง แต่เขายังทำงานที่คาบเกี่ยวกับงานเขียนสารคดี แล้วมีนักเรียนจำนวนมาก เขาได้เอาสิ่งที่เรียนไปใช้ในการงาน ทั้งที่ไม่ใช่งานที่เป็นสารคดี นักสารคดี แต่คาบเกี่ยวกับสารคดี
หลักสำคัญในการทำงานสารคดีในรูปแบบอื่น (platform) แพลตฟอร์มอื่น คือ มุมมองของความเป็นมนุษย์ เพราะนักเล่าเรื่องสารคดีเป็นนักเล่าเรื่องจริง เมื่อเก็บเรื่องเอามาเล่าย่อมมีการประทะกับคน ซึ่งเป็นจุดแรก คือ เราจะต้องมองเขาอย่างเคารพมากๆ ในการเอาเรื่องของเขามาเล่า ต้องคำนึงมากๆ ถึงความไม่เสียหายต่อเขา ความเป็นมนุษย์ในตัวคุณเองที่จะเล่าเรื่องอย่างไม่บิดเบือน มันส่งผลถึงอนาคต เพราะโลกตระหนักว่าเป็นเรื่องจริง เขาจึงยึด อย่างจริง หลักสำคัญคือหลักการข้อนี้ โลกอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) เป็นออนไลน์ ความเป็นมนุษย์ต่ำมาก ความเป็นเอไอสูง เรามองไม่เห็นสีหน้าอารมณ์ความเหนื่อยชัดเจน เวลาผมเขียนสารคดี ผมไม่ชอบออนไลน์ แต่ผมจะไปถึงตัว ซึ่งบางทีเวลาไปเล่าออนไลน์ชื่อของผู้เขียนบางทีก็ไม่ปรากฏ การมีชื่อผู้เขียนนั้น มีทั้งความรับผิด ความชอบ ผมก็เลยเรียกร้องความเป็นมนุษย์หรือจิตสำนึกของคนทำสื่อแต่ละแพลตฟอร์ม
ความรักในงานเขียนสารคดีทิ้งมันไปไม่ได้ เพราะมันยาก เขียนสารคดีตอนแรกๆ ผมคิดจะเลิกหลายครั้ง เพราะมันเจ็บปวดเกินไป เขียนไม่ออก แต่เราเลิกไปไหนไม่ได้ ปัจจัยข้อต่อมา ไม่รู้ว่า เป็น ฉันทะ วิริยะ วินัย หรือความจริงใจ ซึ่งผมคิดว่า ผมมีธาตุในตัว ผมกัดไม่ปล่อย หรือไม่ปล่อยมันไป มันมีวิริยะในการฝึกฝน มีความพอใจ เราทำได้แค่นั้น เราก็ทำแค่นั้น ความทะเยอทะยานมันก้ำกึ่ง ความทะเยอทะยานในการรับรางวัล ความทะเยอทะยานที่จะร่ำรวยเป็นใหญ่เป็นโตไม่มี ผมคิดว่า ผมรวยไม่เป็นและคงทำตัวไม่ถูก ผมไม่ใช้อะไรมากกว่านี้ ไม่อยากได้รถหรูหรือบ้านหลังใหญ่ ความจริงเงินเดือนนิตยสารสารคดีไม่ได้สูง ผมคิดว่า เงินเดือนของผมต่ำกว่าเพื่อนที่ทำงานด้วยกันที่ทำงานสาขาอื่น เงินเดือนผมน้อยกว่าคนมีอาชีพครูประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ว่าอยู่ได้ด้วยสิ่งอื่น
ผมรักชอบสิ่งนี้และผมอยู่กับสิ่งนี้ อยู่กับมันตั้งแต่ตื่นนอน อยู่กับการอ่านการเขียน ตัวอักษร เป็นดีเอ็นเอของมนุษย์ เราสื่อสารตัวอักษร ประดิษฐ์ตัวอักษร แม้จะมีจอโทรศัพท์มาแย่ง มีอะไรมาแย่ง มันก็จะมีตัวอักษรเป็นส่วนหนึ่งตามธรรมชาติ สิ่งที่ค่ายสารคดีทำ เราคิด เราหวังอะไรมากกว่านั้น ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา กระดาษหายไปเรื่อยๆ คำว่า “นักเขียน” หายไป มีคำว่า คอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) แต่ตัวสารคือการบันทึกแล้วก็เล่าเรื่อง เราไม่พูดคำว่าสารคดี แต่ขอให้คุณเล่าเรื่องตามจริง พยายามสร้างสรรค์กลวิธีการเล่าเรื่อง จะเล่าแบบคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ก็แล้วแต่คุณ แต่นี่คือสิ่งที่ผมคิด ฝันและเป็นอยู่ ผมพอใจกับคำว่า บันทึกด้วยวรรณศิลป์ คือ การบันทึกอย่างสวยด้วยภาษา วรรณศิลป์ก็คือความงาม และด้วยหัวใจที่รักความงามของมนุษย์