พ.ต.ท.ดร.ภัทรวุฒิ อัครภัทร ดำรงตำแหน่ง รองผู้กับการป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรบ้านธิ จังหวัดลำพูน เป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พะเยา, อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยนอร์ท เชียงใหม่ ,อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สาขาแม่ฮ่องสอน, อาจารย์พิเศษวิทยาลัยชุมชนแพร่ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย มีความรู้ความเข้าใจพิษภัยจากโลกออนไลน์ ทัศนะของ พ.ต.ท.ดร.ภัทรวุฒิ อัครภัทร อันมีต่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่น่าสนใจในประเด็นว่า อาชญากรทางเทคโนโลยีสามารถเป็นใครก็ได้เพราะในปัจจุบัน มีคลิ๊ปวีดีโอสอนการแฮกข้อมูล มีเครื่องมืออันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้เจาะข้อมูล มีแหล่งรับซื้อข้อมูลรูปภาพคลิ๊บวีดีโอผิดกฎหมายในราคาสูง การปราบปรามจึงเป็นเรื่องยาก แต่สุดท้ายแล้วการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ดีที่สุดก็คือการสอนเรื่อง คุณงามความดี บาปบุญ คุณโทษ
อาชญากรรมทางเทคโนโลยีรุนแรงมากขึ้น
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาชญากรรมเทคโนโลยี (Cybercrime) เป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้ปกครองเด็กและเยาวชน จำเป็นต้องเรียนรู้พิษภัยเพราะปัญหาอาชาญากรรมทางเทคโนโลยีที่มีความรุนแรงมากขึ้น ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาเราพบว่า มีการใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ปัญหาเริ่มจาก การที่เด็กเล่นเกมส์ ติดเกมส์ ติดพนันออนไลน์ เริ่มกู้เงินออนไลน์ สุดท้ายเด็กกลายเป็นเครื่องมือในการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
ปัญหาเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตก็เปรียบเสมือนเปัญหาเรื่องเพศ เราไม่สามารถปิดกั้นการรับรู้เรื่องเพศของเด็กในโลกโซเชียลได้ จำเป็นที่เราต้องศึกษาทำความเข้าใจเพื่ออธิบายให้กับเด็ก ให้ความรู้เรื่องการใช้สื่อโซเชียลอย่างถูกต้องแก่เด็ก เหมือนกับการสอนวิชาเพศศึกษา หรือปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เราต้องหาวิธีป้องกันแม้ว่าปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นปัญหาที่ป้องกันได้ยาก สิ่งที่ผู้ปกครองต้องเรียนรู้ให้เท่าทัน เริ่มตั้งแต่การถูกหลอกขายสินค้า ผู้ปกครองควรเริ่มทำความเข้าใจกับรูปแบบการฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ต รูปแบบของการหลอกลวง วิธีป้องกันมีหลายอย่าง เช่น การศึกษาโปรไฟล์ของผู้ขายสินค้า ดูไทม์ไลน์ (Time Line ) หรือลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางสื่อโซเชียล โดยก่อนตัดสินใจทำนิติกรรมทางอิเล็กทรอนิคใด เราหยุดคิด หรือ คิดก่อนคลิ๊ก นอกจากนั้น เราควรให้ความสนใจกับคดีความเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น การฉ้อโกง การหลอกลวง การหลอกลงทุน คดีความรุนแรงประเภทต่างๆ หรือคดีที่มีลักษณะแปลกๆ ประชาชนสามารถศึกษาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ที่ Facbook “เรารู้นะ”
ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นผลกระทบสืบเนื่องกัน เริ่มจากเกมส์ออนไลน์ พนันออนไลน์ กู้เงินออนไลน์ สู่การหาเงินโดยผิดกฎหมายด้วยการหลอกขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต การเข้าสู่เครือข่ายยาเสพติด การกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น กรณีหญิงนักศึกษาถูกหลอกให้ถ่ายคลิ๊ปโป๊แต่กลับถูกนำภาพดังกล่าวเผยแพร่สู่สาธารณชน
อุทธาหรณ์สังคมออนไลน์ประเทศไทย
ปัจจุบันบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือโลกโซเชียลมีแอพพลิเคชั่นหรือซอฟแวร์ที่สามารถใช้ในการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีคลิ๊ปวีดีโอสอนการเจาะระบบ (Hack) และมีตลาดรับซื้อข้อมูลซึ่งแฮกเกอร์ (Hacker) หรือผู้กระทำผิดสามารถนำไปเสนอขายได้ในตลาดมืดซึ่งรู้จักกันในนามว่า Dark web ข้อมูลที่สามารถนำไปขายได้เช่น ภาพโป๊เปลือย คลื๊ปวีดีโอการมีเพศสัมพันธ์ รหัสบัญชีธนาคาร ยูสเซอร์และรหัสผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะฉะนั้น อาชญากรทางเทคโนโลยีหรือผู้กระทำผิดสามารถเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีการศึกษา ผู้ชำนาญการ หรือเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์เหรือเทคโนโลยี
อุทธาหรณ์ซึ่งเกิดในสังคมบ้านเรา เช่น กรณีของเด็กนักศึกษามหาวิทยาลัยนำโทรศัพท์ส่งซ่อมร้านซ่อมโทรศัพท์แต่กลับถูกลักลอบลงโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นซ่อนไว้ หลังจากซ่อมโทรศัพท์เสร็จก็มีคนเข้าควบคุมโทรศัพท์และดึงข้อมูลซึ่งเป็นภาพโป๊เปลือย คลิ๊ปลับการมีเพศสัมพันธ์ และนำภาพเหล่านั้นส่งขายให้กับเว็บไซต์ที่รับซื้อในราคาสูง กรณีแบบนี้เห็นได้ว่า ผู้กระทำความผิดอาจเป็นใครก็ได้ พนักงานซ่อมมือถือ คนใกล้ชิด คนในครอบครัว หรือเพื่อน
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องค่านิยมของสังคมวัยรุ่นซึ่งเปลี่ยนแปลงจากเดิม วัยรุ่นมองหาอาชีพที่มีรายได้สูง เช่น Sex Creator หรือ การสร้างเนื้อหา (Content) ความบันเทิงทางเพศถ่ายทอดสดให้กับกลุ่มสมาชิกทางเว็บไซต์หรืออินเทอร์เน็ต ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนในสังคมไทยก็คือน้องไข่เน่าหรือตะวัน ที่เปิดห้องถ่ายทอดสดแสดงการมีเพศสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ https://onlyfans.com/ ซึ่งผู้เข้าชมต้องสมัครเสียค่าสมาชิก ล่าสุดพบแอพพลิเคชั่นซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นคือ Vibie Live และ tiktok.com ซึ่งมันกลายเป็นปัญหาเรื่องเพศเพราะค่านิยมเด็กเปลี่ยนแปลง เด็กไม่อาย เพราะได้รับการถ่ายทอดความคิดว่าการกระทำดังกล่าวสามารถสร้างรายได้จำนวนมาก มันกลายเป็นเรื่องปกติเพราะเราไม่สามารถปิดกั้นเด็กได้ ยิ่งเราปิดกั้น เด็กยิ่งอยากรู้ สิ่งที่สามารถป้องกันได้คือการสร้างความเข้าใจให้กับเด็ก
อาชญากรรมทางเทคโนโลยีใกล้ตัวเรามาก ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่น มีสปายแวร์ (spyware) หรือ ซอฟต์แวร์ที่ออกแบบเพื่อสังเกตการณ์หรือดักจับข้อมูล หรือควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยที่ผู้ใช้งานไม่ทราบว่าได้ติดตั้งโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นเอาไว้ หรือการทำฟิชชิง (PHISHING) โดยการส่งข้อความบางอย่างให้เป้าหมายคลิ๊ก หากเหยื่อเผลอกดคลิ๊ก ซอฟต์แวร์จะเข้าทำการสำรวจข้อมูลภายในโทรศัพท์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ จากนั้นรายงานข้อมูลไปยังผู้ทำฟิชชิ่ง
ข้อมูลที่ส่งมาฟิชชิ่งก็เหมือนเหยื่อสำหรับตกปลา ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่รับผ่านมาทาง Email , SMS , Messenger , line เมื่อเป้าหมายคลิ๊กโปรแกรมจะเข้าสำรวจข้อมูลภายในโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ของผู้คลิ๊ก หลังจากนั้นรายงานข้อมูลไปยังอีเมลของผู้ทำฟิชชิ่ง ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปแกะรหัสและสืบหาข้อมูลเพิ่มจนสามารถได้ข้อมูลที่นำไปใช้ในการเจาะระบบและเข้าควบคุมโทรศัพท์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ของเป้าหมาย บางครั้งแฮกเกอร์สามารถทำธุรกรรมทางการเงินโอนเงินในบัญชีของเป้าหมายทางแอพพลิเคชั่นโดยที่เจ้าของโทรศัพท์ไม่รู้ตัว แต่โดยส่วนใหญ่กรณีการแฮกเงินในบัญชี จะเกิดขึ้นกับบุคคลซึ่งมีเงินในบัญชีธนาคารจำนวนมากและบัญชีธนาคารดังกล่าวผูกไว้กับโซเชียลมีเดี่ย โดยรูปแบบของอาชญกรรมทางเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจำเป็นที่เราจะต้องศึกษานวัตกรรมเพื่อเท่าทันพิษภัยอันจะเกิดขึ้น
การสอนถึงคุณงามความดี บาปบุญ คุณโทษเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
การปราบปรามและแก้ไขอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นเรื่องยาก เราสังเกตไม่ออกว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลฟิชชิ่ง บางครั้งตัวเราเองยังเป็นผู้ยินยอมสมัครใจกรอกข้อมูลให้กับกลุ่มมิจฉาชีพ เช่น กรณีของการกู้เงินออนไลน์ เหยื่อเป็นผู้กรอกข้อมูล กรอกอีเมล กรอกหมายเลขโทรศัพท์ และส่งสำเนาทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชน บัญชีธนาคาร ให้กับมิจฉาชีพเอง หลังจากสิ้นสัญญาเงินกู้ข้อมูลเหล่านั้นถูกขายต่อกลุ่มมิจฉาชีพ เพื่อใช้เป็นบัญชีโอนผ่านเงินผิดกฎหมาย เช่น เงินซึ่งได้จากการจำหน่ายยาเสพติดหรือการกระทำผิดกฎหมายประเภทอื่น
อาชญากรทางเทคโนโลยี หรือผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ผู้กระทำความผิดสามารถเป็นใครก็ได้ ไม่จำต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ เด็กอายุน้อยก็สามารถเป็นอาชญากรทางเทคโนโลยีได้หากเขาเรียนรู้การเจาะระบบคอมพิวเตอร์ ปัจจุบัน มีคลิ๊ปวีดีโอสอนการเจาะระบบ มีแอพพลิเคชั่นผิดกฎหมายให้ดาวน์โหลด มีแหล่งรับซื้อข้อมูลที่ได้จากการเจาะระบบในราคาสูง ประชาชนป้องกันได้ยากมาก ประชาชนทุกคนควรระลึกระวังเสมอว่า ทุกอย่างรอบตัวอาจเป็นการหลอกลวงซึ่งการระมัดระวังอย่างมีสติจะทำให้เราพบความผิดปกติ ซึ่งหากสงสัยว่าโทรศัพท์ของเราถูกแฮกสามารถเข้าพบผู้เชี่ยวชาญตามศูนย์บริการแต่ละเครือข่ายโทรศัพท์ หรือสามารถพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)
ผมรับราชการตำรวจตำแหน่ง รองผู้กำกับป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรบ้านธิ จังหวัดลำพูน ทำงานเป็นอาจารย์สอนพิเศษ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พะเยา , อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยนอร์ท เชียงใหม่ , อาจารย์พิเศษวิทยาลัยชุมชนแพร่ , อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ บรรยายกฎหมายและพิษภัยของอินเทอร์เน็ต ห้วงเวลาหลายปีที่ผมพบว่าอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นโดยที่เราไม่สามารถป้องกันได้แต่เราต้องรู้เท่าทัน สุดท้ายแล้วปัญหาเรื่องอาชญกรรมทางเทคโนโลยีมีวิธีป้องกันก็คือการปลูกฝังเรื่องคุณงามความดี สอนเรื่องบาปบุญคุณโทษ ให้กับเด็กและเยาวชน
สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)