รศ.ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ คือนักดนตรีแจ๊สผู้บุกเบิกการสอนดนตรีแจ๊สในประเทศไทย เริ่มเรียนดนตรีที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการ เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ไทย – สหรัฐอเมริกา จบไฮสกูลที่ Interlake High School จบปริญญาตรีที่วิทยาลัยศิลปะคอร์นิช (Cornish College of the Arts) จบปริญญาโทมหาวิทยาลัยนอร์ทเท็กซัส ( University of North Texas ) จบปริญญาเอกสาขาการประพันธ์เพลงและการสอนดนตรีแจ๊ส จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เป็นศิลปินที่เชี่ยวชาญการเล่นเปียโน มีผลงานเรียบเรียงและบรรเลงเปียโนกับค่ายแกรมมี่ 2 อัลบั้ม ได้รับรางวัล ศิลปาธร สาขาดนตรี พ.ศ.2552 ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต มีประสบการณ์ด้านการเล่น การเรียบเรียง การประพันธ์ ดนตรีแจ๊ส ทัศนะและมุมมองด้านการศึกษา ที่มีต่อดนตรีแจ๊สในประเทศไทยจึงน่าสนใจอย่างยิ่ง
วิทยุสารพัดประโยชน์ของครอบครัว
ตอนเด็ก คุณพ่อซื้อคีย์บอร์ดเครื่องเล็ก ความจริงแล้วคีย์บอร์ดเครื่องนั้นคือเครื่องฟังวิทยุที่สามารถเล่นเป็นคีย์บอร์ด เล่นเทปคาสเซ็ท และมีไมโครโฟน ผมชอบกดเล่น คุณพ่อก็สังเกตเห็นจึงส่งผมไปเรียนดนตรีที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการ ตอนนั้นผมอายุประมาณสิบกว่าขวบ แต่สิ่งที่ทำให้ผมชอบเรียนดนตรีก็คงเป็นเพราะชอบฟังเพลง คุณแม่ก็ชอบซื้อเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียง ตอนนั้นผมฟังเพลงแต่ก็ไม่เข้าใจว่าดนตรีคืออะไร ยังไง ผมเรียนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เล่นดนตรีวงโยธวาทิต เวลามีประชุมที่โรงเรียนก็จะต้องมีคนเล่นเปียโน ออร์แกน อาจารย์ก็จะให้โอกาสผมเล่น และให้นักเรียนร้องเพลงเหมือนอยู่ในโบสถ์ ช่วงมัธยมก็จะมีการประกวดดนตรี พวกเราก็ทำวงป๊อบร็อคเพื่อร่วมประกวด ช่วงเวลานั้นเรามีความสุขมาก
ในช่วงที่ผมเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 คุณพ่อแนะนำให้ผมสมัครเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ผมเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน เรียนที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเรียนไฮสกูล (high school) Interlake High School เป็นโรงเรียนที่มีโปรแกรมดนตรีที่ดีมาก มีวงออเคสตร้า มีซิมโฟนิคแบนด์ แจ๊สแบนด์ คณะนักร้องประสานเสียง ซึ่งที่นั่นเป็นเหมือนโรงเรียนของรัฐ ผมเพิ่งรู้ทีหลังว่า เป็นเรื่องที่พิเศษมากที่ผมได้เรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ ที่สหรัฐอเมริกาทุกโรงเรียนก็ไม่เป็นแบบนี้ ผมได้ครูที่ดี สนับสนุนให้ผมเล่นดนตรี สอนให้ผมทำหลายอย่าง เนื่องจากผมเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ผมจึงไม่สนใจเรื่องวิชาการมากเท่าใด แต่ที่นั่น เรียนดนตรีก็ได้หน่วยกิตเป็นวิชาเรียน
หลังเรียนจบหนึ่งปี ผมกลับมาที่ไทย สมัยก่อนเป็นระบบเอ็นทรานซ์ ผมกลับประเทศมาเข้าระบบเอ็นทรานซ์เพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของประเทศไทยไม่ทัน ผมจึงขอกลับไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา แต่เนื่องจากผมยังไม่ได้ใบประกาศนียบัตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (High School Diploma) ผมก็ต้องเรียนซ้ำชั้นอีกหนึ่งปีเพื่อให้จบหลักสูตรมัธยมของสหรัฐอเมริกา และตั้งใจว่าจะเรียนดนตรี ผมอยากเรียน Jazz เพราะในยุคสมัยนั้นในประเทศไทยไม่มีที่ไหนสอนสาขาเกี่ยวกับ Jazz ผมขอเรียนต่อที่วิทยาลัยศิลปะคอร์นิช (Cornish College of the Arts) เป็นโรงเรียนสอนศิลปะ มีดนตรี การแสดง มีการเต้น การออกแบบ การวาดรูป ผมรู้สึกชอบวิทยาลัยแบบนี้มาก
เมื่อเรียนมหาวิทยาลัย เราก็ต้องเรียนวิชาการ วิชาศึกษาทั่วไป คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เหมือมหาวิทยาลัยทั่วไป เพียงแต่เขาเน้นการเรียนการสอนเรื่องศิลปะ ผมรู้จักเพื่อนที่เรียนคณะอื่นๆ เนื่องจากเป็นวิทยาลัยขนาดเล็ก คนน้อย เราก็ต้องทำทุกอย่าง ช่วงที่เรียเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง ผมต้องแสดงละคร เต้น ร้องเพลง นักเปียโนก็มีน้อย ผมก็ต้องไปช่วยเล่นเปียโน เหมือนตอนเรียนไฮสคูลที่ผมต้องเล่นให้ทุกวง แต่นั่นทำให้เราถูกพัฒนาโดยไม่รู้ตัว บางอย่างเราก็ทำได้ไม่ดี แต่ก็จำเป็นที่จะต้องเล่น ตามที่เพื่อนขอให้ช่วยเล่น ทำให้เราโตขึ้น เรียนรู้เพลงมากขึ้น พัฒนาทักษะการอ่านโน้ต สามารถการเปลี่ยนคีย์ได้ทันที ทำให้เรามีทักษะหลายอย่างเพิ่มขึ้น
Jam session ทำให้นักดนตรีพัฒนาได้รวดเร็ว
ในระหว่างเรียนก็มีเพื่อนชวนเล่นดนตรีในคลับขนาดเล็ก สิ่งที่ทำให้เรียนรู้ได้จริงๆ คือ Jam session ได้เจอนักดนตรีเก่งๆ จำนวนมาก ทำให้เราพบว่า โลกกว้างใหญ่ไพศาลมาก ตอนอยู่โรงเรียนคิดว่าเจ๋งแล้ว พอเรียนจบปริญญาตรี ก็กลับมาเมืองไทย เป็นยุคเศรษฐกิจดี ผับเปิดให้บริการถึงตี 4 ผมก็ถามคุณอา ว่าควรจะเริ่มยังไงดี แล้วอาก็โทรหาพี่ต๋อง เทวัญ ทรัพย์แสนยากร แล้วพี่ต๋องก็ชวนผมเล่นดนตรีในงานการกุศล เป็นงานแรกของผมในเมืองไทย
เมื่อผมรู้จักนักดนตรีมากขึ้นก็เริ่มไป jam session แล้วมันก็สุดยอดมาก นักดนตรีเก่งมาก พวกเขาแจมกันอย่างสนุกสนาน ผมมองเห็นพี่โรเบิร์ตเล่นเปียโน มองเห็นพี่น้องตระกูล “ปานพุ่ม” เล่นดนตรี ผมชอบการตีกลองของพี่เล็ก (อริญญ์ ปานพุ่ม หรือ เล็ก ทีโบน) เขาตีกลองได้ละเอียดมาก ผมรู้สึกทึ่งมากเพราะเขาไม่ได้ไปต่างประเทศแต่เขาทำได้อย่างไร คือ เด็กสมัยนี้อาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ยุคสมัยนั้นมันยากจริงๆ เพราะยุคสมัยก่อนไม่มีสื่ออะไร ไม่มีแผ่นซีดี หรือโน้ตเพลง ซึ่งนักดนตรีเหล่านี้ขนขวาย เขาขยันฝึกซ้อมเองจนเก่งขนาดนี้ พอขึ้นไปแจม ก็มีคนรู้จักมากขึ้น นักดนตรีรุ่นพี่เริ่มชวนไปเล่น ที่เล่นด้วยกันนานที่สุด คือ พี่เล็ก พี่ซาร์ แมว เราก็เลยสนิทกัน เป็นเพื่อนกันจนถึงวันนี้
ผมทำงานเมืองไทยประมาณ 3 ปี มีคนชวนผมไปสอนดนตรี มีอาจารย์ประทักษ์ ใฝ่ศุภการ และอาจารย์สุกรี เจริญสุข เมื่อเริ่มสอนก็คิดว่า ถ้าผมจะเอาดีด้านการสอนผมควรจะเรียนต่อ ผมสอนอยู่ประมาณ 1 ปี ก็กลับไปเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยนอร์ทเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ( University of North Texas ) ความจริงผมอยากไปเรียนตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี เพราะเราได้ยินว่า ถ้าอยากเรียนแจ๊สต้องเรียนที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเท็กซัส แต่ที่นั่น มีคนเรียนเยอะมาก ทุกคนเก่ง ตัวเลือกเยอะมาก การแข่งขันสูงมาก มีวงบิ๊กแบนด์ 9 วง ต้องออดิชั่นเข้าวงดนตรี ซึ่งตำแหน่งนักเล่นเปียโนรับเพียง 1-2 คนเท่านั้น นักเปียโน 30 คน ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเล่นในวงดนตรีได้ ซึ่งการอยู่ในวงก็เป็นเกณฑ์ของหลักสูตร ฉะนั้น การจะเรียนจบต้องออดิชั่นเข้าวงดนตรีให้ได้ ทุกคนต้องซ้อมหนักมาก ต้องแย่งกันจองห้องซ้อม
ปริญญาเอกดนตรีแจ๊สคนแรกของไทย
ตอนแรกผมคิดว่า เราเรียนดนตรีอย่างเดียว เรียนไปเรื่อยๆ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ การเรียนมหาวิทยาลัย เรายังคงต้องเรียนหนังสือวิชาประวัติศาสตร์ วิชาวิเคราะห์ วิชาวิจัย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเขียนหนังสือ ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจ เนื่องจากเราต้องวิเคราะห์ อธิบาย ทำรายงาน ต่อมาจึงเข้าใจว่า การเขียนหนังสือมีประโยชน์มากๆ ในวันที่เราอยากเป็นครู อยากทำงานด้านการศึกษา อยากเติบโตในงานด้านการศึกษา
เมื่อมีคนเยอะ ก็มีกิจกรรมเยอะ มีคอนเสิร์ตตลอด ผมดูวง ออร์เคสตรา (orchestra) ซิมโฟนิคแบนด์ (Symphonic Band) แจ๊ส (jazz) ดนตรีทดลอง วงดนตรีอื่นๆ เต็มไปหมดเลย ทำให้เราเปิดโลกทัศน์ดนตรี หลังเรียนจบ ผมทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้น ผมเรียนต่อปริญญาเอก มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นโคโลราโดสหรัฐอเมริกา (University of Northern Colorado)เราทำการค้นหามหาวิทยาลัยที่ชำนาญสาขาวิชาการสอนดนตรีแจ๊ส ผมเรียนกับ ศ.ดร.จีน เอทคิน ( Dr.Gene Aitken) ท่านเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากในการสอนดนตรีแจ๊ส ตอนเรียนปริญญาเอก ผมก็รู้ว่าต้องเขียนหนังสือเยอะมากแน่ๆ
การเรียนที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นโคโลราโด อาจารย์สามารถดูแลเราได้ดี นอกเหนือจากเรียนแล้ว ผมเป็น TA หรือผู้ช่วยอาจารย์ซึ่งต้องทำงานอื่นๆ ด้วย เช่น ต้องดูแลห้องสมุดดนตรี ช่วยสอนวิชารวมวง ช่วยสอนทฤษฎีดนตรี ช่วยสอนเล่นเปียโน ช่วยทำเทศกาลดนตรีแจ๊ส (Jazz Festival ) ที่นี่เขามีเทศกาลดนตรีที่มีชื่อเสียงซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปี การจัดเทศกาลดนตรีเป็นงานที่หนักมากเพราะต้อง Setup เวทีการแสดง ยกลำโพง จัดเวที ดูแลจัดการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เหนื่อยมาก แต่ที่สุดแล้วเป็นสิ่งที่ดีมากเพราะมันเป็นการฝึกให้เราต้องทำอะไรหลายอย่าง ทำให้เรารู้ว่า การทำเทศกาลดนตรีใหญ่เราต้องการอะไรบ้าง เราได้ประสบการณ์เยอะมาก เรียน ทำงาน สอนนักศึกษา เป็นประโยชน์กับชีวิตผมมาก ผมสอนดนตรีที่นั้น 3 ปี สอนวงดนตรีบิ๊กแบนด์ สอนวงแจ๊สวงเล็ก เล่นเปียโนให้นักร้อง สอนเปียโน สอนทฤษฎี ประสบการณ์ด้านการสอนพัฒนาแนวคิดเรื่องการสอน หลังเรียนจบผมทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นเวลา 20 ปีแล้ว
การแข่งขันในวงการนักศึกษาดนตรีแจ๊ส
ตอนเรียนนอร์ทเท็กซัส ผมมีการเตรียมตัวเพราะรู้ว่าที่นั่นมีการแข่งขันสูง แต่ก็ไม่คิดว่าการแข่งขันจะสูงมากขนาดนั้น ผมซ้อมดนตรีอย่างหนัก ซ้อมทุกวันเป็นปกติ ซ้อมวันละ 6-7 ชั่วโมง ผมเตือนนักศึกษาดนตรีอยู่เสมอว่า ตอนเป็นนักศึกษาถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการที่คุณจะได้ฝึกซ้อมดนตรียอย่างเต็มที่ หลังเรียนจบก็จะไม่มีเวลาซ้อมอีกแล้ว ผมเรียนจบปริญญาตรี เมื่อตัดสินใจเรียนต่อ ผมก็ซ้อมดนตรีอย่างหนักอีกครั้ง นอกจากนั้นก็ยังต้องอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบหลายวิชา เช่น ทฤษฎีดนตรี ประวัติศาสตร์ดนตรี เปียโน โสตทักษะ (Ear Training) การออดิชั่น จะเน้นการอ่านโน้ต (Sight reading) การอ่านโน้ต ชาวยุโรปตะวันออก คนเกาหลี จะอ่านโน้ตกันเก่งมาก เมื่อวางโน้ตเขาจะอ่านได้ทันที
ตั้งแต่อยู่มัธยม ผมโชคดีมากที่ได้อาจารย์ที่ดี เขาพยายามฝึกเรา ตั้งแต่การอ่านโน้ต แจม การฟัง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก อาจารย์ดนตรี มิสเตอร์ ลีโอ ดอดด์ (Leo Dodd) เขามีตารางและบันทึกชื่อของพวกเรา แล้วเขาก็จะให้เราเขียนลงไปว่า เราฟังเพลงอะไรไปบ้าง แล้วเราก็ต้องเขียนลงบนกระดาน ถ้าไม่มีแผ่นเสียงก็สามารถยืมได้ แล้วผมก็มักจะถามอาจารย์ว่า ผมควรจะฟังใครดี อาจารย์เขาก็จะแนะนำ เอโร การ์ดเนอร์ (Erroll Garner) ซึ่งเป็นการเปิดโลกดนตรีอีกแบบ หรือฟังผลงานเพลงของ ออสก้า ปีเตอร์สัน (Oscar Peterson) ซึ่งเราเริ่มต้นจากตรงนี้ เรื่องของการฟัง เขาก็จะให้เล่นดนตรีหรือแจมในวงเล็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากนอกหลักสูตร คือเขาให้นักเรียนวงใหญ่นัดซ้อมเป็นวงเล็ก เราก็เล่นแบบไม่รู้เรื่อง อาจารย์ก็บอกให้เล่นไปโดยไม่ต้องสนใจอะไรมาก ซึ่งมันดีมากกับอีโก้ มันทำให้เราไม่กลัวที่จะเล่นผิด อาจารย์ให้เราอิมโพรไวส์ (Improvise) ทำให้เรามีความกล้าขึ้น
การแกะเพลง (Transcribe) เป็นวิธีที่ดีในการเรียนรู้แจ๊ส
ตอนเรียนปริญญาตรีมีการ แจม เซสชั่น (Jam session) เยอะมาก ตอนนั้นเราอาจเล่นได้ไม่ดี แต่ผมคิดว่า แนวคิดแบบนี้ทำให้เรากล้า ไม่กลัว เมื่อเรียนดนตรีเราก็จะเข้าใจเองว่าเป็นอย่างไร หรือเมื่อมีประสบการณ์ด้านการฟังเพลงมากขึ้นก็จะเข้าใจมากขึ้น ซึ่งในช่วงนั้นเราก็แกะเพลง ผมต้องโซโล่เพลงหนึ่งของ เคาท์ เบซี (Count Basie) ก็ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร อาจารย์เลยให้แกะเพลงจากแผ่นเสียง และมาทราบที่หลังว่า การแกะเพลง (Transcribe) เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้เข้าใจเพลงมากขึ้น การแกะเพลงแล้วเลียนแบบ การเล่นตาม ช่วยได้มากๆ การฟังแล้วเล่นตามยังไงก็พัฒนา เพราะหูเราดีขึ้น เมื่อฟังแล้วเราก็เดาได้ว่า โน้ตน่าจะอยู่ประมาณนี้ สิ่งที่ตามมาคือเทคนิคการเล่นจะดีขึ้น
การแกะเพลงแล้วเล่นตาม เป็นการเรียนรู้เทคนิคของคนอื่น เช่น ชิค คอเรีย (Chick Corea) เมื่อเราแกะเพลงแล้วเล่นตามเราก็จะได้เทคนิคของ ชิค คอเรีย สำหรับการเล่นดนตรีแจ๊ส ผมคิดว่า การแกะเพลงสำคัญมากๆ เพราะไม่อย่างนั้นเราจะจำกัดตนเองตามเท่าที่มือเราสามารถทำได้ ต่อให้เราได้ยินอะไรที่เจ๋ง (Cool) หรือพิสดารขนาดไหน ถ้ากล้ามเนื้อเราไม่พร้อม มันก็ไม่สามารถถ่ายทอดลงที่มือได้ เราต้องมีวินัยในการฝึกซ้อมมากๆ ค่อยๆ ฝึกเล่นตามช้าๆ แล้วค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ
นักดนตรีมีส่วนคล้ายกับนักกีฬา เราต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม ก่อนจะวิ่งเร็วก็ต้องวิ่งช้าให้ได้ ว่ายน้ำต้องควบคุมระบบการหายใจ ทุกอย่างอยู่ที่การฝึกฝน การที่นักกีฬามีโค้ช เขาจะมองเราจากมุมมองด้านนอก ซึ่งทำให้มองเห็นว่าเราควรจะแก้ส่วนไหน หรือพัฒนาส่วนไหน โค้ช ก็คืออาจารย์ ที่จะมองเห็นเราว่า ควรจะปรับปรุงอย่างไร และบอกกับเราว่า เล่นช้าๆ ซ้อมให้ถูกต้อง เด็กๆ มักจะใจร้อน ตอนผมเป็นเด็กผมก็ใจร้อนอยากเล่นเร็วๆ เนื่องจากเทคนิคไม่ดีเราก็จะเล่นกันผิดๆ โน้ตไม่แม่นยำ มันก็จะผิดอยู่จุดเดิม เพราะเรายังไม่พร้อม ผมบอกนักศึกษาว่า ถ้าอยากจะเล่นเร็ว ให้ฝึกฝนเล่นช้าให้ถูกต้อง เดี๋ยวมันก็จะพัฒนาให้เร็วขึ้นเอง เหมือนนักกีฬา ต้องพัฒนากล้ามเนื้อ ต้องใจเย็นๆ
ผมคิดว่า เราต้องรู้ตนเองว่าเรามีกำลังใจในการเล่นขนาดไหน บางครั้ง การเล่นดนตรีไม่รุนแรงเท่ากับเล่นกีฬา แต่ก็เปรียบเทียบได้กับการเล่นเครื่องเป่าหรือมือกลอง อาจารย์เคยสอนว่า ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องรีบปล่อยของ ค่อยๆ เล่าเรื่องราว มีเรื่องอะไรบ้าง แล้วเราไปจุดพีคของเพลง ไม่อย่างนั้น ถ้าเราปล่อยของตั้งแต่ตอนต้น มันไม่มีที่ไป คือเราเป่าแรงตั้งแต่ต้น พอเป่าได้ 20 ห้อง เราได้แค่นี้ เพราะสภาพปากของเราเป่าได้แค่นั้น ซึ่งเหนื่อยมาก พอหมดแรงมีเพียงทางเดียวคือต้องลง กราฟของเพลงอาจจะไม่สวยงามมากนัก เครื่องเป่าต้องตัดสินใจดีๆ แต่จุดที่จะให้เราจะแสดง หรือ solo ไม่เยอะมาก ผมว่าอันนั้นต้องลุย เช่นมีที่ให้เราแสดง หรือโซโล เพียง 12 ห้อง อันนั้นคงต้องโชว์แลย อย่างไรก็ตาม การเล่นควรอยู่ในบริบทที่เหมาะสมของเพลง
การควบคุมวงดนตรีแจ๊ส
สำหรับการควบคุมวง ต้องอาศัยประสบการณ์ค่อนข้างเยอะ ยิ่งทำเยอะเท่าไรยิ่งดี ผมโชคดีตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม ผมมีโอกาสได้ควบคุมวง แม้เป็นวงดนตรีไม่ใหญ่มาก ตอนนั้นมีละครเพลงที่วงดนตรีจะต้องไปเล่น เนื่องจากเป็นวงเล็ก อาจารย์จึงมอบหน้าที่ควบคุมวงให้กับผมเพราะผมทำหน้าที่เล่นเปียโนรู้จักเพลงดีอยู่แล้ว ผมก็เริ่มจากวงเล็ก ซึ่งความจริงไม่มีอะไรมาก เพียงแค่ขึ้นตรงไหน หรือจบตรงไหน แค่นั้น หลังจากนั้น ที่โบสถ์ต้องการเพลงคริสต์มาสซึ่งมีผมเรียนดนตรีเพียงคนเดียว เขาก็บอกให้ผมช่วยทำนักร้องประสานเสียงให้ ผมเริ่มจากตรงนั้น เมื่อเรียนปริญญาโท ผมเรียนคอนดักติ้ง (Conducting) อย่างจริงจริง พอเรียนปริญญาเอก ผมได้ควบคุมวงใหญ่ ตลอดระยะเวลาที่เรียน ผมค่อยๆ พัฒนาขึ้น เริ่มเข้าใจพื้นฐานการควบคุมวงดนตรีว่าต้องทำอย่างไร ท่าทางชัดเจนไหม อาจารย์ที่สอนจะบอกว่า วงดนตรีต้องการความชัดเจน ต้องเข้าตรงไหน หยุดตรงไหน วลีเพลงควรจะดังขึ้นหรือเบาลง
ส่วนการคุมนักร้องประสานเสียงก็เป็นการควบคุมอีกแบบหนึ่ง ต้องควบคุมแทบทุกคำ ทำให้ผมละเอียดมากขึ้น ต้องทำท่าทางเยอะหน่อย สิ่งที่นักร้องประสานเสียงและวงดนตรีต้องการคือ เขาต้องการความชัดเจนในการแสดง การตีความ เขาอยากรู้ว่า เขาต้องทำอะไร ยังไง เราเองก็ต้องทำการบ้าน คือในโน้ตเพลงมีอะไรหลายอย่างที่ไม่ชัดเจน โน้ตสั้น แต่สั้นขนาดไหน? ยาว ยาวขนาดไหน? ช้า ช้ามาก หรือ ช้าปานกลาง แล้วยิ่งถ้าเป็นโน้ตดนตรีแจ๊ส ยิ่งต้องดูอย่างละเอียด
การเล่นดนตรี เราควรต้องทำการบ้านมาก่อน โดยเฉพาะมือกลอง โน้ตไม่ละเอียดเลย เพลงสไตล์ไหน กลองต้องตีแบบไหน โน้ตกลองบางอัน มีแต่ แสลส (/) ไม่บอกข้อมูลอะไรเลย มือกลองต้องทำการบ้าน ต้องฟังเยอะมาก ต้องมีสติ ดูแต่โน้ตเพียงอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องฟังเครื่องบราส เครื่องเป่า (brass instrument) กำลังทำอะไรอยู่ ทรอมโบน แซ็กโซโฟน กำลังทำอะไร มันเป็นเรื่องยากสำหรับมือกลองเพราะเครื่องดนตรีของเขาเป็นเครื่องที่ดัง แล้วยังต้องดูโน้ต ต้องฟังเครื่องดนตรีอื่นอีก การเป็นมือกลองในวงดนตรีแจ๊สต้องเตรียมตัวหนักมาก ต้องศึกษาโน้ตและฟังเพลงมาก่อน
อีกอย่างคือเวลาในการซ้อมมีจำกัด คือ ถ้าเรานัด 4 โมงเย็น (PM) เราจะเล่น 4 โมงเย็น (PM) ต้องตรงเวลา ฉะนั้น ต้องมาก่อน ถ้าบอกว่าเลิกซ้อมดนตรี 6 โมงเย็นก็จะเลิก 6 โมงเย็นจริงๆ คนควบคุมวงดนตรีต้องวางแผนให้ดี เพราะเราไม่สามารถคาดคะเนได้ อาจเกิดปัญหาหลายอย่างได้ ต้องมีเวลาให้วงพักด้วย ต้องวางแผนการเล่นดนตรี มีวอร์มอัพในตอนต้น เมื่อวงคุ้นเคยกันมากขึ้น ก็จะเริ่มฟังมากขึ้น ฟังเซกชั่นลีดเดอร์ (Section Leader) ฟังทรัมเป็ต ฟังแซกโซโฟน แต่ถ้าเป็นวงนักศึกษา พอจบปีก็เปลี่ยนคน เราเทรนด์เขามา 4 ปี เราก็ต้องเริ่มใหม่ แต่มันก็ดีเพราะทำให้เรากระตือรือร้นตลอดเวลา ซึ่งบางครั้ง มือทรัมเป็ตในวงดนตรีซึ่งเป็นนักศึกษาเรียนจบปริญญาตรีพร้อมกัน 3-4 คน แย่เลย
เทศกาลดนตรีแจ๊สในประเทศไทย
เป็นความโชคดีที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นโคโลราโดมีการจัดเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ เป็นการจัดเทศกาลดนตรีเพื่อเน้นการศึกษาเป็นเวลา 3 วัน ในช่วงกลางของเทศกาลก็จะมีมาสเตอร์คลาส (Master Class) มีเวิร์กช๊อป (Workshop) เต็มไปหมดเลย มีหลายตึก วงเล็ก วงใหญ่ มีหลายระดับ (Lavel) ตั้งแต่เด็กระดับเบื้องต้นถึงระดับสูง ทุกเย็นก็จะมีคอนเสิร์ต โดยมีวงดนตรีนักศึกษาเล่นเปิดให้ก่อน แล้วก็จะเป็นวงอาชีพ (Professional)
หลังจบเทศกาลดนตรีเราก็จะเตรียมตัวสำหรับงานเทศกาลดนตรีของปีต่อไป มีการวางแผนเตรียมการล่วงหน้าเป็นปี มีการจองศิลปินที่มีเชื่อเสียง มีการวางแผนว่าในแต่ละเดือนต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งไม่มีอะไรยากเพราะเรามีรูปแบบอยู่แล้วว่า เราต้องทำอะไรตอนไหน อย่างไร ก่อนจะเริ่มเทศกาลดนตรีเราก็จะมีการเปิดรับสมัครวงดนตรีนักเรียนนักศึกษา จะมีเด็กประถมถึงมหาวิทยาลัย เพื่อเขาจะได้แสดงดนตรีและย้ายไปอีกห้องหนึ่งเพื่อรับคอมเม้นท์จากกรรมการ ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที นั่นเป็นการทำงานเพื่อการศึกษา ไม่ใช่การแข่งขัน
เมื่อปิดรับสมัครเราจะคัดแยกวง ซึ่งเป็นการให้เกรดวงดนตรีเพื่อกำหนดว่าวงดนตรีต้องอยู่ตรงไหน รวมถึงขนาดวงดนตรีควรอยู่ตึกไหนห้องไหน นอกจากนั้นก็จะมีอาจารย์ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน ก็จะมีอีกส่วนที่เขาดูแล เมื่อใกล้เทศกาลต้องติดต่อกรรมการ เราต้องติดต่อกรรมการเยอะมากเพราะมีอยู่หลายห้อง เขาจะให้เราติดต่อ ใช้ศิษย์เก่าเข้ามาช่วยด้วย ต้องติดต่อโรงแรม ต้องมีคนดูแลศิลปิน ก่อนวันงานก็จะต้องทำงานหนัก ทำงานให้เสร็จ บางคนต้องถ่ายวีดีโอ บางคนต้องดูแลกรรมการ บางคนต้องดูแลวงนักเรียน ซึ่งมีหลายหน้าที่แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี ซึ่งทำให้ผมรู้ว่า การจัดการเรื่องเหล่านี้มันไม่ง่ายเลย
ตอนนั้น กลับเมืองไทย เราเริ่มจัดงานเล็กๆ แล้วค่อยๆ โตขึ้น ผมว่าเป็นเรื่องดีมากที่งานค่อยๆ โต เพราะช่วงแรกๆ ผมยังขาดประสบการณ์ในการจัดการ และมีเจ้าหน้าที่เพียง 2 คน อาจารย์มีไม่ถึง 10 คน แต่ทุกคนช่วยงานกันอย่างเต็มที่ ประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นโคโลราโด ช่วยทำให้เรามีทักษะด้านการบริหารจัดการอยู่บ้าง แต่หลายสิ่งหลายอย่างต้องเรียนรู้ใหม่ โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านการทำงานที่เมืองไทยจะเป็นอีกแบบ ชาวต่างชาติอาจจะไม่เข้าใจ ผมไม่ได้บอกว่าอะไรดีหรือไม่ดี เพียงแค่เราบอกว่า มันเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
ฝึกหัดเล่นคีย์บอร์ดสู่การเป็นนักเปียโนแจ๊ส
ผมเริ่มเรียนอิเล็กโทนที่สยามกลการ มือซ้ายเล่นคอร์ด มือขวาเมโลดี้ เท้าเล่นเบส ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเป็นเปียโนแจ๊สได้ไม่ยาก ผมว่าเป็นทักษะที่ดีที่ได้จากอิเล็กโทน อาจารย์จะชอบเอาเพลงฟิวชั่นของญี่ปุ่นให้เล่น ผมก็ชอบมากเล่นไปโดยไม่ค่อยรูว่ามันคืออะไรในตอนนั้น หลังจากนั้น ตอนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่นั่นมีเพียงเปียโน ผมก็ออดิชั่นเข้าวงแจ๊ส เล่นเปียโนตั้งแต่ตอนนั้น หลังจากนั้นก็เล่นเปียโนมาตลอด
ผมได้ทำงานโปรเจ็กซ์เฉพาะให้กับแกรมมี่ ตอนผมได้เจอกับพี่อู๋ แมคอินทอช (อรรถพล ประเสริฐยิ่ง) พี่อู๋ชวนผมทำเพลงบรรเลง บอกว่า “เด่น เอาเพลงแกรมมี่ทำเป็นเพลงแจ๊ส อยากทำอะไรทำเลย” ผมก็ถามว่า จริงเหรอพี่! คิดกันอยู่นานว่าจะเป็นคอนเซ็ปอะไร ในที่สุดก็ได้เพลง อัศนี-วสันต์ มาทำเป็นเพลงบรรเลง หลังจากนั้นก็ได้รางวัล คมชัดลึกอะวอร์ด สาขาเพลงบรรเลงยอดเยี่ยม
ช่วงนั้น แกรมมี่ซื้อลิขสิทธิ์ของ วอเนอร์ แชปเบอร์ (Warner Chappell) มีบทเพลงแจ๊สสแตนดาร์ดเยอะพอสมควรในการทำเพลง พี่อู๋ ให้คุยกับพี่อ้อม ชุมพล ศุปัญโญ ให้เลือกเพลงมาทำ ทำชุดสแตนดาร์ด และเรียบเรียงให้กับเครื่องอื่นๆ บ้าง ซึ่งเป็นโปรเจ๊กซ์ใหญ่ นอกจากนั้น ก็จะมีโปรเจ๊กซ์ เล็ก ๆ เช่นงานเรียนเรียง เล่นเปียโน หลังจากนั้นก็มีคนเสนอชื่อ ให้ผมได้รับรางวัลศิลปาธร พี่จิ จิรพรรณ อังศวานนท์ เป็นคนขอผลงานและเสนอชื่อ ผมส่งงาน อัศนี-วสันต์ และมีบทเพลงที่เขียนให้กับวงใหญ่ ออเคสตรา บิ๊กแบนด์ ส่วนใหญ่เป็นงานสร้างสรรค์ ผมคิดว่าคนทำงานศิลปะ ส่วนใหญ่ไม่ได้หวังรางวัล แต่เมื่อมีคนเห็นคุณค่างานของเราก็จะดีใจ เป็นแรงผลักดันให้เราทำงานต่อไป
เปรียบเทียบดนตรีกับอาหาร
ถามว่าอะไรอร่อยกว่ากัน เราก็ไม่สามารถตอบได้ คือวันนี้เราอยากกินแฮมเบอร์เกอร์ อีกวันเรากินกระเพราะไก่ก็อร่อย จะบอกว่าอะไรดีกว่ากัน เราก็บอกไม่ได้ แต่จะให้เรากินแฮมเบอร์เกอร์ทุกวันก็ไม่ได้ กินกระเพราะไก่ทุกวันก็ไม่ได้ ในเชิงศิลปะ เราสนใจที่จะเสพงานใหม่ งานที่หลากหลายอยู่แล้วโดยธรรมชาติของพวกเรา ดนตรีมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมพอสมควร มันน่าสนใจดีว่า ไม่ว่าจะเป็นเป็นดนตรี ป๊อป คลาสสิก แจ๊ส ก็มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอยู่ตลอดเวลา ผมว่าตรงจุดนี้น่าสนใจ เราจะนึกถึงอาจารย์บรูซ แกสตัน (Bruce Gaston) เป็นหนุ่มอเมริกันมาอยู่เมืองไทย สนใจดนตรีไทย กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยมากที่สุดคนหนึ่ง อาจารย์ซึมซับดนตรีไทยแต่ก็ไม่ได้ทิ้งตัวตนความเป็นอเมริกัน เป็นนักแต่งเพลง นักเปียโน พยายามผสมผสานอะไรต่างๆ เป็นเรื่องสนุกมากที่เห็นอะไรแบบนี้
สมัยก่อน เราจะนึกถึงชาวโปรตุเกสเข้ามาประเทศไทย มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทั้งเรื่องอาหาร ศาสนา ฯลฯ ดนตรีก็เช่นกัน เราแต่งเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อนบ้านของเรา เพลงลาวดวงเดือน เพลงพม่ารำขวาน เขมรไทรโยก นักแต่งเพลงคลาสสิก เช่น โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) เป็นชาวเยอรมันก็แต่งเพลงอิตาเลี่ยนคอนแชร์โต เรายืมวัฒนธรรมกัน อย่างบาค สนใจผลงานของ อันโตนีโอ ลูซีโอ วีวัลดี (Antonio Lucio Vivaldi) มาก และเรียบเรียงเพลงของวีวัลดีหลายบท การเห็นศิลปินแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันเป็นเรื่องที่สนุกมาก ในเคสของดนตรีไทยก็เหมือนกัน เราก็ชอบทำแบบนี้ มันมีพื้นที่ให้โตอีกเยอะแยะ ศิลปะหยุดนิ่งไม่ได้
สำหรับงานดนตรีทดลอง อาจสามารถเปรียบเทียบคล้ายๆ งานศิลปะนามธรรม (Abstract) ซึ่งเปิดพื้นที่ให้เราตีความได้เยอะ ทั้งดนตรีดั้งเดิม และดนตรีทดลอง มีความดีงามความสวยงามของตนเอง จริงๆ แล้วดนตรีก็เป็นงานศิลปะที่ชอบทดลองมาตั้งแต่ต้นแล้ว แจ๊สก็อาจถือว่าเป็นงานทดลองเช่นกัน เป็นการทดลองเอา อเมริกัน แอฟริกัน มิวสิค บลูส์ โยธวาทิด มาผสมผสานกัน ยุคสมัยนี้ มีการทดลองเรื่องดนตรีมาก มีดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถเล่นกับเสียง ที่ฟังดูแล้วอาจไม่รู้ว่าเป็นคอร์ดอะไร มีงานที่ไปไกล และงานที่ยังอิงแบบแผนดั้งเดิม มันก็มีที่ของมันอยู่ อาจจะไม่ได้รับความนิยมกว้างขวางนัก แต่ก็เป็นงานที่น่าสนใจและน่าศึกษา
ความไพเราะคืออะไรในทรรศนะของ รศ.ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ
สมัยก่อนเราฟังดนตรีอย่างผิวเผิน ไพเราะดี สนุกดี ฟังตามที่มีอยู่ในสมัยนั้น เท่าที่เราได้ยินในวิทยุ มีเงินซื้อแผ่นเสียง ก็อาจจะไม่ได้กว้างมาก แต่ก็โชคดีที่มีวิทยุ ทำให้เรารู้จักเพลงมากขึ้น การฟังในยุคแรก ไม่ได้ฟังละเอียด ฟังเพื่อความเพลิดเพลิน จะตั้งใจฟังจริงๆ คือตอนที่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกา อาจารย์ให้ฟังเพลง แกะเพลง ต้องตั้งใจฟังจริงๆ เราต้องแกะให้เหมือน เล่นให้เหมือน ตอนนั้นไม่ได้เรียนรู้เรื่องทฤษฎีดนตรีอะไร ใช้วิธีจำเอา เดาได้บ้างว่า โน้ตนี้ เป็นคอร์ดนี้ เมื่อเรียนดนตรี เรียนการเรียบเรียงเสียงประสาน เอียเทรนนิ่ง ทำให้เราต้องฟังเพลงละเอียดขึ้น แต่มันก็เทรนให้เราต้องฟังอย่างละเอียดมากขึ้น
ตอนเรียนปริญญาตรี อาจารย์ให้แกะเพลง เพลงเริ่มยาก เริ่มซับซ้อน แต่ฝึกฝนให้หูเราดีขึ้น เมื่อทำบ่อย ก็ทำเร็วขึ้นเอง ตอนแรกที่แกะก็จำเอา แต่พอเขียนโน้ตเป็นก็ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น ถ้าฟังเพลงเดียวกัน ตอนนี้กับตอนเด็ก ความรู้สึกคงไม่เหมือนกัน เหมือนตอนเด็กเราฟังเพลง จอห์น โคลเทรน ฟังแล้วก็รู้ว่ามันเจ๋งดี แต่ก็รู้แค่่นั้น พอโตขึ้น ฟังใหม่ก็ทำให้รู้ว่ามีอะไรอยู่ในนั้นเยอะเลย ผมว่าแม้กระทั่งคนที่ไม่ใช่นักดนตรี เวลาฟังเพลงตอนเด็กแล้วมาฟังใหม่ตอนโต เราก็จะได้ยินอะไรที่แตกต่างกันออกไป
การเขียนสู่การเป็นนักวิเคราะห์ดนตรี
สำหรับวารสารดนตรีรังสิต ศ.ดร.วิบูลย์ ตระกูลฮุ้น ท่านก็ชวนทำวารสารตั้งแต่ยุคแรกที่วิทยาลัยดนตรี ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นการจัดความสมดุลระหว่างกิจกรรมการแสดงดนตรีและงานวิชาการ เราก็อยากผลักดันให้อาจารย์ของเราได้ทำงานวิชาการ ทำงานเขียนมากขึ้น ปัจจุบันวารสารดนตรีรังสิตอยู่ในฐาน TCI 1
นักดนตรีทั่วไปไม่ชอบเขียนหนังสือ ช่วงแรกที่ผมเริ่มเขียน ไม่ได้เขียนงานวิชาการ พี่ที่ทำงานนิตยสารชวนให้เราเขียนบทความสั้นๆ ก็สนุกดี แต่เมื่อต้องเขียนงานวิชาการ มันมีระบบระเบียบซึ่งเราต้องทำตาม จึงค่อยๆ พัฒนา ในช่วงแรกก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง แต่ผมชอบอ่านหนังสือ ชอบซื้อหนังสือ แต่บางเล่มซื้อมาไม่ได้อ่านเป็นปีก็มี ศ.ดร.ณัชชา พันธ์ุเจริญ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักวิชาการดนตรีอีกหลายคน ตำราเป็นสิ่งที่จะต้องทำ เพื่อจะส่งต่อความรู้ให้กับคนรุ่นต่อไป คีย์เวิร์ดคือ “การส่งต่อ” ในที่สุดแล้วยุคเราก็จะหมดไป หน้าที่ของเราก็คือการส่งต่อ
การเรียนดนตรีเป็นงานหนัก เราจะต้องซ้อมดนตรี แต่งเพลง ต้องอ่านหนังสือ เข้าห้องสมุด เขียนงานส่งอาจารย์ พอจบแล้วทำงานเป็นนักดนตรี เป็นศิลปิน การเป็นนักดนตรีหรือศิลปินไม่ง่ายเลย ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง จะประสบความสำเร็จสายศิลปินต้องขยันอย่างมาก และต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วยอีก สำหรับผม ตอนจบปริญญาตรี ก็อยากเป็นนักดนตรี แต่เมื่อได้สอนดนตรี ได้สอนในมหาวิทยาลัย ก็เริ่มนึกถึงตอนเรียน ตอนนั้นเราก็เคยคิดจะเป็นอาจารย์จึงเริ่มคิดถึงการเรียนต่อ เมื่อเราตั้งใจจะทำอะไร มันจะเป็นแรงผลักดันอยู่ข้างในว่า เราต้องทำให้ได้ เราจะขนขวายเพื่อจะทำให้ถึงเป้าหมาย มันจะต้องอาศัยความอดทนพอสมควร ถ้าเป้าหมายตอนเรียนจบเราชัด เราจะพยายาม ไม่ท้อง่ายๆ ซึ่งมันไม่มีสูตรสำเร็จ
บางคนตั้งใจทำอย่างหนึ่งแต่ประสบความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งก็มี ผมมีเพื่อนที่หยุดเรียนปริญญาเอกสองคน ปัจจุบันทั้งสองก็ประสบความสำเร็จในทางของเขา คนแรกทำงานเป็นมือเบสมีทัวส์คอนเสิร์ตรอบโลก มีงานเยอะมาก อีกคนทำงานเป็นอาจารย์สอนดนตรีโรงเรียนอินเตอร์ในหลายประเทศ พวกเขาก็ประสบความสำเร็จในชีวิต ช่วงที่ผมเรียนปริญญาตรี เพื่อนของผมคนหนึ่งทำงานเป็นมือกลองบนเรือสำราญ เล่นดนตรีบนเรือสำราญช่วงฤดูร้อน กลับมาเรียนได้ไม่นาน ก็มีคนโทรมาชวนให้เป็นหัวหน้าวงดนตรีบนเรือสำราญ เขาตัดสินใจทิ้งการเรียนแต่ก็ประสบความสำเร็จอีกแบบหนึ่ง โอกาสของแต่ละคนต่างกัน แต่การมีเป้าหมายที่ชัดเจนใจระดับหนึ่ง ช่วยทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้ง่าย โดยต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงด้วย
สัมภาษณ์ ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)