Categories: GuitaristMUSIC

STORY OF MUSIC : อัตตาและตัวตนที่เลือนหายในดนตรีอันทรงเสน่ห์ของ นรเทพ มาแสง

นรเทพ มาแสง (Norathep Masaeng) คือมือเบสที่มีประสบการณ์มากที่สุดคนหนึ่งในวงการดนตรีไทย เขาเติบโตจากการเรียนดนตรีคลาสสิคจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรียนเอก วิโอล่า (Viola) และดับเบิลเบส (Double bass) เขาเล่นดนตรีหลายประเภท ทั้งเครื่องดนตรีไทย เครื่องดนตรีสากล เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการดนตรีเพราะการประกวด ประสบความสำเร็จอย่างสูงในฐานะมือเบสของวง “พอส” กับค่ายเพลงเบอเกอรี่มิวสิค สไตล์การเล่นเบสของนรเทพ มาแสง มีอัตตาและตัวตนสูงมากในวัยหนุ่ม แต่เมื่อเขาทำงานอยู่ในวงการดนตรีไทย 35 ปี อัตตาและตัวตนทางดนตรีของเขาเลือนหาย แต่กลับทำให้ผู้ที่กำลังเล่นดนตรีร่วมกับเขา โดดเด่นและมีชื่อเสียง

“ร็อคสตาร์” กับความฝันอันเลือนลางในวัยเด็ก

ผมเกิดโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ ย้ายครอบครัวมาอยู่บ้านของคุณยายซึ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษาในตัวเมืองจังหวัดนนทบุรี ผมเล่นดนตรีกับเด็กนักเรียน ทั้งเป่าขลุ่ย อังกะลุง เมื่อเรียนมัธยมก็อยากเป็นศิลปิน เมื่อมีคนถามว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร? คำถามก็มักผุดขึ้นในสมอง ผมไม่รู้สึกว่าตนเองอยากประกอบอาชีพอื่นนอกจากการเล่นดนตรี ในหัวสมองของผมมีเพียงภาพของศิลปิน เช่น เล็กคาราบาว หรือ หรั่งร็อคเคสตร้า ผมอยากเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบนั้น อยากเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไว้ผมยาว ถือกีตาร์ไฟฟ้า ไม่อยากเป็นผู้ใหญ่ที่สวมเครื่องแบบข้าราชการ เครื่องแบบตำรวจ เครื่องแบบหมอ หรือพนักงานดับเพลิง

ผมหัดเล่นกีตาร์ตอนเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เริ่มทำวงดนตรีกับพื่อน ตอนเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ช่วงมัธยมปลาย ผมอยากเรียนดนตรีแต่มีทางเลือกไม่มากนัก ผมกังวลเรื่องการสอบ ผมเรียนพิเศษเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย เรียนดนตรีคลาสสิค เรียนทฤษฎีดนตรี ผมรู้สึกว่า ถ้าผมสอบเข้าเรียนดนตรีในมหาวิทยาลัยไม่ได้ ผมต้องเรียนคณะอื่น ต้องประกอบอาชีพอื่น กระทั่งมีข่าวการรับสมัครบุคคลดีเด่นด้านดนตรีเพื่อเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย เป็นการสอบที่มีคู่แข่งขันน้อยกว่า ผมก็ทำกิจกรรมหลายอย่างจนสามารถเข้าเรียนดนตรีในระดับมหาวิทยาลัย 

ผมเรียนดนตรีคลาสสิค เล่นวิโอล่า (Viola) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร การเรียนดนตรีคลาสสิคเหมือนเราเปิดโลก รุ่นพี่หลายคนในมหาวิทยาลัยคือแรงบัลดาลใจ เช่น ธีรภัค มณีโชติ (เต็น) สไมล์บัฟฟาโล่ , ฆ้อง มงคล วงโยคีเพลย์บอย มหาวิทยาลัยมีคนเล่นดนตรีเก่งหลายคน ผมเรียนรู้ดนตรี Jazz ดนตรีคลาสสิค ทำกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัย สอบเข้าวง Thai Youth Orchestra : TYO  มุ่งมั่นกับการเล่นดนตรีคลาสสิค ขณะนั้น ผมมองเห็นรุ่นพี่เล่นดับเบิลเบส (Double bass) เขาเล่นดนตรีอยู่ในโรงแรม ผมรู้สึกว่าดับเบิลเบสเป็นสิ่งแปลกใหม่ ผมจึงเปลี่ยนจากการเรียนเอวิโอล่า (Viola) เป็นเรียนดับเบิลเบส (Double Bass) ตอนนั้น ความฝันเรื่องการเป็นศิลปินออกเทปเริ่มเลือนลาง ผมมองโลกแห่งความเป็นจริงแล้วพบว่า มีทางเลือกมากมายในสายอาชีพดนตรี ความฝันเรื่องการเป็นร็อคสตาร์กลายเป็นความฝันแบบเด็กๆ กระทั่งทำวง “พอส” ก็เกิดเป็นความหึกเหิมอีกครั้ง

“พอส” จุดประกายความฝันสู่การเป็นศิลปิน

วง “พอส” มีจุดเริ่มต้นจากการประกวดดนตรี ผมทำวงดนตรีประกวดเข้ารอบ การประกวดมีกิจกรรมเข้าแคมป์ที่จังหวัดกาญจนบุรี เอ (พลกฤษณ์ วิริยานุภาพ มือกีตาร์) กับผม เราเข้ารอบการประกวด ทำให้รู้จักกับ โจ้ (อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ นักร้องนำ) หลังจากนั้น ช่วงที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยปีที่ 4 ผมต้องทำโปรเจ็กงานดนตรีส่งอาจารย์ ผมจึงขอให้ บอส (นิรุจ เดชบุญ มือกลอง) ช่วยตีกลอง ตอนนั้น พวกเรารู้จักกันแต่ยังไม่ได้รวมตัวกันเป็นวง”พอส” เมื่อนิตยสารบันเทิงคดีของพี่มาโนช พุฒตาล ชวนเราไปทำกิจกรรมที่หอประชุมธรรมศาสตร์  ผมก็ชวนเพื่อนทำเพลงเพื่อแสดงบนเวที ระหว่างการแสดง สุกี้ (กมล สุโกศล แคลปป์ ผู้บริหารค่ายเพลงเบเกอรี่มิวสิก) ดูพวกเราเล่นดนตรีและชวนพวกเราออกเทป

ผมเกือบลืมความฝันการเป็นศิลปินเมื่อทำวง “พอส” ความหึกเหิมก็กลับคืนมา พวกเราเพิ่งเรียนจบดนตรี มีประสบการณ์จากการเล่นดนตรีแจ๊ส มีประสบการกับการเล่นดนตรีกับนักดนตรีซึ่งมีความสามารถหลายคน ทำให้สไตล์การเล่นดนตรีแปลกต่าง ในยุคดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ ผมก็ใช้เทคนิคการเล่นเบสหลายอย่างเพื่อได้เสียงที่แปลกหู งานดนตรีของผมมีหลากหลายมาก ผมเล่นดนตรีกับวงพอส เล่นดนตรีแจ๊สกับรุ่นพี่ รับงานเล่นดนตรีตามโรงแรม โปรดวเซอร์ดนตรีก็เรียกผมเข้าห้องอัดเพื่อบันทึกเสียงเบส ยุคสมัยก่อน คนเรียนจบดนตรีมีน้อยมาก วิชาความรู้ด้านดนตรีคือสิ่งหายาก ผมเพิ่งเรียบจบดนตรี เล่นดนตรีได้หลากหลายแนวดนตรี สามารถบันทึกเสียงได้อย่างรวดเร็ว ผมจึงถูกหลายคนเรียกใช้บ่อยๆ

Evo. & Nova ซึ่งเป็นอัลบั้มชุดที่ 2 ของวงพอส  ขาดทุน ค่ายเพลงเบเกอรี่มิวสิคจ้างผมเป็นเทรนเนอร์ศิลปิน ทำ Project H, Nadia, มาเรียม B5 เมื่อ Project H จะทำอัลบั้ม นักดนตรี นักแต่งเพลง ก็รวมตัวกัน เช่น บอย (ตรัย ภูมิรัตน), โตน (จักรธร ขจรไชยกูล) โซฟาร์ , pop ,สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ฯลฯ ช่วงเย็นผมกับโจ้ก็จะทบทวนงานโดยนำเพลงมาทำไลน์ประสานเสียงร้อง ตรวจสอบเนื้อร้องและทำนอง เบเกอร์รี่มวสิคมีวัฒนธรรมรวมอัลบั้ม เช่น เบเกอรี่เลิฟ นำเพลงที่ประสบความสำเร็จของศิลปินในค่ายมาขับร้องและทำดนตรีใหม่หรือเรียกว่า Orange ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ขายดี ผมกับโจ้อยากทำอัลบั้มเหมือนเบเกอรี่เลิฟ คุยกับหลายคนในค่ายเพลง กระทั่งได้  ธีร์ ไชยเดช เป็นโปรดิวเซอร์ การทำอัลบั้มเบเกอรี่เลิฟเป็นการทำงานอีกรูปแบบที่ไม่ใช่แบบวงดนตรี เป็นการทำงานโปรดิวซ์ ( PRODUCE ) แต่ผลงานลงตัวมาก ผู้คนชอบเสียงร้อง ชอบรูปแบบการร้องเพลงของโจ้

โจ้ (อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์) เป็นคนเก่งได้รับรางวัลหลายเวทีประกวด ในวงการดนตรีมีนักร้องที่มีความสามารถหลายคนที่มีชื่อเสียงและยังไม่มีชื่อเสียง สำหรับผมโจ้ทำให้วงพอสอยู่ในจุดสูงสุด โจ้ เป็นตำนานในวงการดนตรีไทย ยากมากหากจะมีใครพยายามทำเหมือนโจ้ เมื่อเขาจากโลกนี้ไปแล้ว ใครจะทำต่อ? ก็คือคนที่ร้องเพลงให้กับวงพอส นักร้องที่ร้องเพลงไม่บิดเบือนจากอารมณ์ของเพลงมากเกินไป นำพาวงพอสไปในทิศทางเดิม ไม่เป็นเร็กเก้หรือสกา แต่วง “พอส” จะเป็น “พอส” แบบดั่งเดิมไม่ได้หรอก แม้แต่ตัวผมเอง ณ เวลานั้นกับเวลานี้ ก็ไม่เหมือนเดิม การเล่นดนตรี มุมมอง ความคิด เติบโตเป็นคนละคน

นักดนตรีที่ดีเริ่มจากการเป็นนักฟังเพลงที่ดี

ผมชอบ Nathan Harrell East เขาเล่นดนตรีได้หลากหลาย เล่นดนตรีกับ Joe Satriani  , eric clapton  , Fourplay ผมอยากทำแบบ Nathan Harrell East  เพื่อพิสูจน์ตัวเอง ผมเล่นดนตรีเบสอคูสติกให้กับ “ธีร์ ไชยเดช” ผมเล่นดนตรีเร็กเก้ให้กับวง “ทีโบน” ผมเล่นดนตรีบลูส์ให้ “ชัย บลูส์”  ผมเล่นดนตรีฮิปฮอปให้กับ “โจอี้บอย” ตอนนี้เล่นดนตรีให้ YAMIN ผมรู้สึกว่า ผมได้เล่นดนตรีกับนักดนตรีซึ่งเป็นที่สุดของแต่ละแนวดนตรี ผมภูมิใจที่สามารถยืนอยู่กับพวกเขาได้ ถ้าเราเล่นดนตรีถูกใจนักดนตรีคนหนึ่ง เรามีโอกาสทำงานกับเขา มีโอกาสจะถูกทาบทามให้เล่นดนตรีกับนักดนตรีคนอื่น สิ่งสำคัญคือระเบียบวินัย ผมมีวินัยในการทำงานค่อนข้างดี ผมพยายามรักษาเวลา ไม่ไปสาย รักษามาตรฐานการเล่น

ผมเล่นดนตรีเยอะมาก เล่นผิดบ่อยมาก (เล่นผิดทฤษฎีดนตรีซึ่งผู้ฟังดนตรีไม่รู้สึกถึง) เมื่ออายุมากขึ้น อุปสรรคอย่างหนึ่งของผมคือ “ลืม” แต่ผมยังคงเล่นดนตรีได้เพราะการเล่นดนตรีไม่มีอะไรพิสดาร ไม่ใช่เรื่องยากในการตีความบทเพลงที่เรากำลังเล่น การเล่นดนตรีที่ดีก็คือการเป็นผู้ฟังที่ดีผมเล่นเพลงบลูส์กับคุณยามิน ผมไม่รู้หรอกว่าบลูส์คืออะไร? ผมเพียงรู้สึกว่า ผมต้องเล่นดนตรีให้ยามินเขาเล่นดนตรีได้ง่าย ผมพยายามทำให้การเล่นดนตรีของผมเป็นสิ่งที่เขาอยากได้ยิน เพื่อให้ยามินเล่นดนตรีในแบบของเขา เราควรเข้าใจบทบาทการเล่นดนตรีของตนเองว่า ควรเล่นอะไร เวลาไหน บางครั้งเราก็ต้องเดาใจว่า เขาอยากให้เราทำอะไร การเล่นดนตรีไม่ใช่เรื่องยากไม่ได้ยากเพราะทฤษฎีดนตรี เรื่องที่ยากสำหรับนักดนตรี คือการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของแต่ละแนวดนตรี เราควรศึกษาวัฒนธรรมดนตรี

สำหรับการตีความดนตรี ผมไม่แน่ใจว่าเมื่อผมอธิบายแล้วคุณจะเข้าใจหรือเปล่า แต่มันไม่ยากเกินไปกับการเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นผู้ฟังที่ดีแล้วเราจึงเปลี่ยนเป็นคนเล่นดนตรี แค่นั้นเอง อย่าคิดมาก ดนตรีเป็นเรื่องของความเหมาะสม ลองนึกถึงเสียงเบส ถามว่าเสียงเบสต้องคมชัดทุกตัวโน๊ตในบทเพลงหรือเปล่า บางครั้งเสียงเบสไม่มีความจำเป็น เสียงเบสเป็นเพียงเสียงต่ำซึ่งรองรับเสียงของเครื่องดนตรีชนิดอื่น การเล่นดนตรีจะได้เสียงที่มีคุณภาพหรือไม่ มีองค์ประกอบหลายอย่าง ความเป็นกรู๊ฟแบรนด์ การรักษาไดนามิก การประสานเสียงสั้นเสียงยาว การหยุดเล่นเพื่อทำให้เพลงไพเราะ

เล่นดนตรีเพื่อค้นพบตนเอง?

ทำไมเราต้องค้นพบตัวเอง? ทำไมต้องคิดว่าการค้นพบตัวเองเป็นสิ่งที่ดี ผมทำดนตรีเรื่อยๆ แต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการค้นพบตัวเองคืออะไร แต่เวลาทำงานบางครั้งต้องตั้งคำถาม การทำงานบางครั้งไม่ต้องมีอัตตาหรือความเป็นตัวตน ตัวตนของผมคืออะไร ผมไม่รู้และไม่สนใจ คุณอยากฟังเพลงแบบไหนเดียวผมทำให้ฟัง ผมไม่ใช่เร็กเก้แต่ผมก็เล่นดนตรีกับวงทีโบนซึ่งเป็นวงเร็กเก้ ผมไม่ใช่บลูส์ แต่ผมก็เล่นดนตรีกับยามินซึ่งเป็นนักดนตรีบลูส์ ผมไม่รู้หรอว่าบลูส์คืออะไร? ผมเกิดไม่ทันยุคของเพลงบลูส์ ผมเล่นดนตรีในสิ่งที่ผมเรียนมา เล่นดนตรีให้ไพเราะตามรสนิยมที่เราต้องการ ลูกศิษย์หลายคนของผมอัดเบสเพลงลูกทุ่ง นั่นคือตัวตนหรือตัวจริงของเขา? สำหรับผม ดนตรีคือการทำมาหากิน สร้างความสุขให้คนฟัง ผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวตน

ผมขยันทำงานไม่เคยหยุด สิ่งที่ผมทำ 90 เปอร์เซ็นคือความล้มเหลว ความสำเร็จมีเพียง 10 เปอร์เซ็นในสิ่งที่ผมทำ Crescendo,พอส และอีกหลายวง ผมทำเพลงแล้วขาดทุน แต่ผมรู้ตัวดีว่า สิ่งใดผมทำได้ สิ่งใดที่ผมทำไม่ได้ บางครั้งความสำเร็จจะมาจากเสียงกระซิบแผ่วๆ มาจากความคิดที่เล็กมากๆ ขณะผมเล่นดนตรีกับวงทีโบน ผมก็รู้สึกว่า ผมเป็นผู้อาศัยเพราะวงทีโบนคือวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว ผมคิดว่า กลับไปทำวงดนตรีใหม่ดีกว่า เกิดความคิดแล้วก็คุยกับเพื่อนคุยกับน้อง ชวนเขามาทำวงดนตรี

ชีวิตของผมไม่ได้มีดีเพียงเรื่องดนตรีเพียงอย่างเดียว ผมมีความสามารถด้านอื่น ผมทำโปรดักชั่น เพลงประกอบภาพยนต์  เพลงประกอบโฆษณา ปั้นศิลปิน เขียนหนังสือ ผมพยายามเขียนหนังสือเพราะคิดว่า “พอส” ควรมีบางสิ่งบางอย่างเพื่อบอกเล่าเรื่องราวให้ผู้คนจดจำ ผมรับแรงบัลดาลใจจากภาพยนต์เรื่อง เต่าทองตัวที่ห้า : Backbeat (1994) หนังสารคดีวง The Beatles ผมประทับใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ดนตรี ผมคิดว่าเรื่องราวของ “พอส” อาจทำเป็นภาพยนต์ ผมเริ่มคุยกับหลายคน คุยกับผู้กำกับภาพยนต์ ผมจดบันทึกเรื่องราว ทำประวัติ “พอส” ผมใช้ตนเองเป็นคนเล่าเรื่อง หาช่องทางตีพิมพ์หนังสือ กระทั่งถึงวันครบรอบการเสียชีวิตของโจ้ ผมนำภาพถ่ายร่วมกับโจ้ลงโซเชียล เขียนบทความบอกเล่าเรื่องราวซึ่งมีการแชร์และแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก มันจุดประกายความฝันของผม แฟนเพลงหลายคนชอบอ่านเรื่องราวที่ผมเขียน

เปิดมุมมองทางดนตรีให้กว้างกว่าการมองเครื่องดนตรี

ผมเคยตั้งคำถามกับตนเองว่า ทำไมคนที่มีความสามารถ มีประสบการณ์ จึงมีอุปกรณ์ดนตรีน้อยมาก ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ผมเล่นดนตรีกับทีโบนที่ Glastonbury Festival มีวงดนตรีเล่นต่อจากวงทีโบน ชื่อ Tokyo Ska Paradise หลังจากนั้นคือ สกากูบาโน่ เป็นวงดนตรีคนแก่ผิวสี เสียงดนตรีจากการเล่นเหมือนเปิดจากแผ่นเสียง ผมคิดว่า สิ่งสำคัญของดนตรีอยู่ที่คนเล่น อยู่ที่น้ำหนักการเล่น อยู่ที่ Groove หรือคุณภาพของหน่วยจังหวะ ดนตรีที่ดี ไม่ได้อยู่ที่ชนิดของสายของเครื่องดนตรี หย่อง คอขาวหรือคอดำ อุปกรณ์ไม่ใช่สิ่งที่เราควรกังวล ยิ่งสถานที่ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการเล่นดนตรี ยิ่งมีความชัดเจนที่สุด

ผมเคยนั่งอยู่ในบังกโล เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ได้ยินเสียงเพลงจากสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งไกลออกไป ผมคิดว่าเป็นเสียงเพลงจากแผ่นเสียง ผมเดินตามเสียงไปดูพบว่า มีนักดนตรีกำลังเล่นดนตรี เสียงดนตรีเเหมือนเสียงบันทึกจากห้องอัด ผมลองขึ้นไปบนเวทีเพื่อดูอุปกรณ์ พบว่าอุปกรณ์ดนตรีคุณภาพแย่มาก ตอนนั้นผมอยู่กับทีโบน อยู่กับพี่เล็ก (อริญชย์ ปานพุ่ม) ผมรู้ว่าการเล่นดนตรีไม่ใช่เรื่องอุปกรณ์ พี่เล็กเป็นคนมหัศจรรย์ เป็นนักฟัง ถ้าเสียงเบสเบาพี่เล็กจะเล่นเบา เพื่อให้คนฟังได้ยินเสียงเบส พี่เล็กเล่นดนตรีแบ็กอัพให้กับ ธีร์ ไชยเดช ตอนที่ผมจะเล่นแบ็กอัพให้กับ ธีร์ ไชยเดช พี่เล็กให้แนวทางการเล่นเบสว่า “เล่นเบสอย่างไรไม่ให้ล้ำหน้า” ผมพยายามไม่ให้ไลน์การเล่นเบสล้ำหน้า แล้วผมก็เล่นกับพี่เล็กในเพลงของธีร์ ไชยเดช ผมคิดว่าการเล่นดนตรีเป็นเรื่องน้ำหนัก ไดนามิก อยู่ที่ตัวคนเล่น

คุยกันเรื่องเบส ถ้าผมใช้เบสเกิน 4 สาย ความคล่องตัวในการเล่นของผมจะลดลง ถ้ามี 5 สาย จะรู้สึกว่ามีอะไรเกินมา ถามว่าผมเล่นเบส 5 สาย ได้หรือไม่ ผมก็เล่นได้แต่เล่นได้ไม่คล่องตัวเหมือน 4 สาย ผมคิดว่า ทำไมเราต้องเอาเบสสายที่ 5 มาทำให้ตนเองเล่นได้ไม่ถนัดด้วย คอขาวหรือคอดำผมก็ฟังไม่ออก คอไม่โก่ง อินโทเนชั่นไม่เพี้ยน สะพายเบสแล้วไม่หนักไหล่ บอดี้ไม่เล็กจนไม่มีที่วางแขน เสียงไม่แหลมเกิน หรือไม่ทุ้มต่ำเกิน ผมเล่นได้ ยุคสมัยนี้มีเทคโนโลยีช่วยหลายอย่าง เทคโนโลยีเริ่มเปลี่ยน ตอนนี้นักดนตรีใช้แอมป์ซิม เราก็ต้องเรียนรู้ แต่ผมอยู่ในตำแหน่งที่มีคนคอยดูแลจึงไม่พบปัญหาเหมือนน้องนักดนตรีหลายคน ผมเป็นวง “พอส” เวลาเล่นที่ไหนก็จะมีคนคอยช่วยเหลือเราอยู่เสมอ

การเล่นเบส เมื่อก่อนผมเรียกร้องความสนใจ เหมือนคนหัดเล่นดนตรี อยากนำเสนอดนตรีที่ฝึกมาหรือที่เตรียมมา แต่เมื่อย้อนกลับไปพบตัวเองว่าเราทำไม่ถูกแต่เราก็ทำไปแล้ว ตอนนั้นผมคิดอยู่เสมอว่า ผมเล่นยังไงก็ได้ให้คนจดจำเราได้ ไม่คิดว่าในบทเพลงเราควรเล่นให้เหมาะสมอย่างไร นั่นเป็นกลโกงในการเล่นเบสภายใต้สภาวะความเหมาะสม ณ ขณะนั้น โดยไม่ม่มีความผิดเพี้ยนในทางทฤษฎีดนตรี เราเล่นดนตรี pop แต่ก็พยายามนำเสนอสิ่งที่เราได้รับแรงบัลดาลใจ แต่ปัจจุบันหลายสิ่งเปลี่ยนแปลง เมื่อผมทำดนตรี บางทีลืมไปเลยว่าตนเองต้องเล่นเบส ผมเล่นเบสเป็นคนสุดท้าย เวลาผมทำเพลง ผมไม่ให้น้ำหนักกับการทำไลน์เบส แต่จะมองภาพรวมของดนตรี ให้ความสำคัญกับการตีความทางดนตรี  “เบส” มีหน้าที่หลักคือการเล่นสนับสนุน (Support) หน้าที่หลักของเบสคือการเล่นเสียงเสียงต่ำ

วิถียืนหยัดอยู่ในวงการเพลงของไทย

ผมไม่มีพรสวรรค์หรือความเป็นอัจฉริยะ แต่ผมมีความสามารถด้านอื่นทดแทน ขอให้มีระเบียบวินัย อยู่ในจังหวะและเวลาที่เหมาะสม ผมโชคดีที่มีเพื่อน มีค่ายเพลงผลักดันให้มีผลงานเพลง ผมโชคดีหลายอย่าง แต่เรื่องราวหลังจากนั้น เกิดจากความพยายาม ผมรับรางวัลหลายครั้งมาก เคยรับรางวัลกับตูนบอดี้สแลม ผมรู้ว่าทำไมผมยืนข้างตูนบอดี้สแลมบนเวทีรับรางวัลได้

ผมคิดว่า ศิลปินมีบางอย่างในตัวตนมากกว่าความพยายามในการฝึกซ้อม แล้วผมควรจะทำอย่างไร สู้ด้วยอะไรเพื่อจะยืนข้างพวกเขา ผมต้องพยายาม 200 เปอร์เซ็น ผมซ้อมดนตรี เรียนดนตรีเยอะมาก ผมรู้ว่าความแม่นยำในการเล่นคือการทำซ้ำ ทักษะคือความคล่องตัว คือ Memory Master ผมจะเล่นแบบนี้ได้ผมต้องซ้อมเป็นพันครั้งเพื่อให้นิ้วจดจำการเล่น รุ่นพี่อาจซ้อมดนตรี 100 ครั้ง แต่สำหรับผมต้องซ้อม 500 ครั้ง ถึงจะเล่นกับเขาได้ นักดนตรีหลายคนฟังเสียงดนตรีออกว่าเป็นโน๊ตตัวใด ผมฟังไม่ออก ผมจึงต้องมีทักษะบางอย่างทดแทน

อยากรู้ทฤษฎีทางดนตรีให้เรียน แต่ถ้าจะเล่นดนตรีต้องใช้วินัยมากกว่าคนที่เกิดมามีพรสวรรค์ ที่สำคัญคือการตรงต่อเวลา มีระเบียบวินัย กราฟชีวิตนักดนตรีของผมไม่เคยสูงที่สุด แต่ก็ไม่เคยย่ำแย่ กราฟชีวิตนักดนตรีของผมยาวนาน ผมเข้าวงการก่อนบอดี้สแลม ทุกวันนี้ผมก็ยังอยู่ในวงการดนตรี ขายผลงานดนตรี สิ่งที่ผมทำอยู่ตลอดคือ เรียนรู้จากรุ่นพี่ แบ่งปันกับคนรุ่นเดียวกัน ช่วยเหลือรุ่นน้อง ไม่ตำหนิใคร เพราะดนตรีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนทำดนตรีเพื่ออาชีพ ทำเพื่อตนเอง ทำเพื่อค่าเทอมลูก เราตำหนิใครไม่ได้ เมื่อเราไม่ชอบฟังดนตรีแบบนี้ก็ไม่ต้องฟัง แต่ในอนาคตเราอาจจะชอบฟังก็ได้

ดนตรีคืออะไร สำหรับผม ดนตรีสำหรับผมคือภาษาหนึ่งที่คนฟัง เราเล่นเพลงให้คนฟังดนตรีมีความสุข ชีวิตผมคือดนตรีหรือไม่? ตอบว่าไม่ใช่ แต่ดนตรีในชีวิตของผมคือสิ่งที่ผมชำนาญ ใช้ดนตรีทำมาหากิน ใช้ดนตรีตามหาความฝัน ดนตรีทำให้ผมยืนหยัดอยู่ในสังคม ดนตรีทำให้ผมมีเงินทอง ดนตรีเป็นสิ่งที่ผมทำได้ดีที่สุดในชีวิต  

 สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)

admin