ทรงเดช ทิพย์ทอง คือศิลปินที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย เขาประสบความสำเร็จตั้งแต่วัยหนุ่ม มีชื่อเสียงจากการได้รับรางวัลประกวดแข่งขันผลงานศิลปะหลายรายการ เขาได้รับรางวัลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ.2533 จนถึง พ.ศ.2541 รางวัลสุดท้ายที่ได้รับคือ รางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง ประเภทจิตรกรรมแบบประเพณี ครั้งที่ 22 เขาส่งผลงานเข้าประกวดเพื่อจะได้เงินรางวัลสำหรับเป็นทุนการศึกษา ปัจจุบัน เขาจบปริญญาโทสาขาศิลปไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ประกอบอาชีพศิลปินอิสระ ทำงานเป็นอาจารย์และเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ต้นกำเนิดแห่งแรงบัลดาลใจในพุทธศิลป์

ผมเกิดที่บ้านแม่คำสบเปิน ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย นับแต่จำความได้ ผมก็อยู่กับยายมาตั้งแต่เด็ก นั่นทำให้ผมมีโอกาสฟังธรรมที่วัดอยู่เสมอ ยุคสมัยนั้น คนไทยภาคเหนือนิยมส่งบุตรหลานบรรพชาเป็นสามเณร ผมชอบบรรยากาศของวัด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล “ตานก๋วยสลาก” ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญทางพุทธศาสนา ชาวบ้านจะสานชะลอมใส่สิ่งของเพื่อถวายพระ เช่น สมุด ดินสอ ผมคิดว่าในวัยเด็ก ผมคงชอบสมุดดินสอ ชอบวาดภาพ ผมจึงอาศัยอยู่วัดเป็นเวลานานถึง 6 เดือน ก่อนจะเข้าเรียนที่โรงเรียนแม่จันวิทยาคม

ผมเรียนหนังสือไม่เก่ง ผลการเรียนไม่ดี ผมจึงตัดสินใจย้ายจากห้องเรียนสายสามัญมาเรียนห้องเรียนสายศิลปะ เมื่อย้ายห้องเรียน อาจารย์ วิจิตร นามเมืองรักษ์ ท่านตบไหล่ชมเชยแล้วสอนผมว่า “เราปีนต้นมะพร้าวเก่ง เราจะปีนต้นลำไยหรือปีนต้นลิ้นจี่แข่งกับคนอื่นไม่ได้หรอก เราต้องทำในสิ่งที่เราถนัด” ผมมุ่งมั่นเรียนศิลปะเป็นตัวแทนนักเรียนเข้าประกวดวาดภาพ ผมจำได้ในยามเช้าขณะที่เพื่อนนักเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติ อาจารย์ก็ประกาศด้วยเครื่องขยายเสียงว่า นักเรียนโรงเรียนแม่จันวิทยาคมได้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนด้วยการชนะรางวัลประกวดวาดภาพจากกรมพลศึกษา ผมฟังแล้วรู้สึกตกใจ ผมคิดว่าต้องเป็นผม ผมรู้สึกเขินอายเมื่ออาจารย์ประกาศชื่อของผมและให้ผมรับใบประกาศที่หน้าเสาธง ผมอยู่ท้ายแถว มองออกไปยังหน้าเสาธง รู้สึกว่าระยะทางช่างไกลเหลือเกิน แต่เมื่อผมรับรางวัล ผมรู้สึกขึ้นมาว่า ศิลปะคือสิ่งวิเศษ

จุดประกายความคิดสู่ศิลปินอาชีพ

หลังเรียนจบมัธยมต้นโรงเรียนแม่จันวิทยาคม ผมเลือกเรียนสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพเชียงใหม่ ผมเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบ เรียนโดยไม่รู้สึกว่าตนเองกำลังเรียน แล้ววันหนึ่งผมก็พบจุดเปลี่ยนทางความคิดเมื่ออาจารย์สุรสิทธิ์ เสาว์คง ได้เชิญอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เดินทางมาบรรยายเรื่องอาชีพศิลปินที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล อาจารย์เฉลิมชัย จุดประกายความคิด สร้างแรงบัลดาลใจในการเป็นศิลปินให้กับผม หลังจบการบรรยาย ผมบอกกับตนเองว่า ผมจะเป็นศิลปิน ผมเริ่มค้นหาแนวทางการเป็นศิลปิน ผมศึกษาแนวทางศิลปะใหม่ๆ จากการดูหนังสือ อ่านคอลัมน์ศิลปะ และจัดทำข้อมูลเก็บไว้ในแฟ้ม ผมมุ่งมั่นทำงานศิลปะส่งเข้าประกวด พยายามค้นหาคำตอบให้ได้ว่า ศิลปินเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร มีแนวทางเป็นของตนเองได้อย่างไร

หลังเรียนจบสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ผมตัดสินใจสมัครสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนเพาะช่าง หรือคณะศิลปกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลปทุมธานี ผู้เข้าสอบแข่งขันมีจำนวนเยอะมาก เมื่อเข้าเรียนที่คณะศิลปกรรมสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลปทุมธานี เนื้อหาการเรียนเป็นการต่อยอดการทำงานศิลปะที่เคยศึกษา ผมยังคงสร้างผลงานศิลปะเพื่อส่งประกวดอย่างต่อเนื่อง เพราะยุคสมัยก่อน การจะเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงมี 2 ทาง 1. การส่งผลงานประกวดให้ได้รับรางวัล 2. การแสดงผลงานศิลปะให้เป็นที่รู้จัก ผมเลือกเส้นทางสายตรงสู่การเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง ด้วยการส่งผลงานศิลปะเข้าประกวด ผมพบคำตอบอยู่เสมอว่า เหตุใดผลงานของผมจึงไม่ได้รับรางวัล เมื่อกลับมาวิเคราะห์จะทำให้ผมพัฒนา แต่ก็มีหลายสิ่งที่ผมยังไม่เข้าใจ นั่นเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ผมอยากศึกษาต่อในชั้นปริญญาโทมหาวิทยาลัยศิลปากร

รูปแบบแห่งความงามสู่ศิลปะแห่งความรู้สึก

หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะศิลปกรรมสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลปทุมธานี ได้มีการรวมตัวกับเพื่อนที่จบรุ่นเดียวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มศิลปินชื่อ “แป้นเกล็ด” ผมขายผลงานศิลปนิพนธ์ชั้นปริญญาตรี และรับงานวาดภาพอีก 2 ชิ้น หลังจากนั้น ย้ายกลับมาทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ชีวิตศิลปินไม่ได้สวยงามอย่างที่วาดฝัน ช่วงเวลานั้น ไม่มีนักสะสมผลงานศิลปะ ไม่มีแบบอย่าง ไม่รู้เลยว่าใครจะซื้อรูป แต่ผมยังมุ่งมั่นสร้างผลงานศิลปะส่งประกวดเพื่อให้ได้รับรางวัล ผมได้รับรางวัลที่ 3 เหรียญทองแดงบัวหลวง ครั้งที่ 18 ประเภทจิตรกรรมแบบประเพณี โดยธนาคารกรุงเทพ และได้รับรางวัลชมเชยศิลปกรรมเทิดหล้า กาญจนาภิเษกสมโภช โดยธนาคารไทยพาณิชย์

หลังจากรับเงินรางวัล ผมสมัครเรียนปริญญาโทมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง อาจารย์สอนวิชาภาษาไทย สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพเชียงใหม่ แนะนำว่า “ถ้าจะสอบแข่งขันเข้าเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร คุณต้องทำให้เขาไม่สามารถปฏิเสธคุณได้ ถ้าทำเหมือนคนอื่นคุณสอบไม่ได้หรอก คุณต้องทำให้แตกต่างจากคนอื่น” ผมตัดสินใจทำแฟ้มสะสมผลงาน ( Portfolio ) จำนวน 10 เล่ม มอบให้อาจารย์ในวันสอบ ผมรวบรวมผลงานเก่าและเขียนผลงานใหม่ลงในแฟ้ม หลังจากนั้น ผมนำผลงานชิ้นใหม่ส่งเข้าประกวด ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 3 จิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค

การเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แตกต่างจากการเรียนศิลปะที่ผมเคยเรียน มหาวิทยาลัยศิลปากรไม่สอนเรื่องรูปแบบแต่พูดถึงความรู้สึก ผมพบอุปสรรคด้านการเรียนเยอะมาก อาจารย์ไม่สอนทฤษฎีศิลปะแต่สอนให้ผมรู้สึก ศิลปะจึงเป็นเรื่องนามธรรม เป็นสิ่งที่ไม่เคยสัมผัส ผลงานของผมถูกรื้อ ผมล้มจนไม่เป็นท่า

ผมทำงานศิลปะส่งประกวดเพื่อรับรางวัลสำหรับใช้เป็นทุนการศึกษา แต่เทอมแรกของการเรียนผมไม่ได้ส่งผลงานเข้าประกวดเลย ผมไม่มีเงินสำหรับเลี้ยงชีพ ไม่มีทุนการศึกษา การเรียนศิลปะก็มีปัญหา ผมอยู่ในภาวะความเครียด อาจารย์ท่านแนะนำว่า “เราเปรียบดังเจ้าผู้ครองเมืองเล็กๆ มีบริวาร ถ้าอยากเป็นมหาจักรพรรคดิ์ก็ต้องยอมลำบาก ไม่ควรเสียดายเมืองของตน ถ้าอยากยิ่งใหญ่ต้องสละเมือง” ผมอยากเปลี่ยนแปลง อยากพัฒนาการทำงานศิลปะของตนเอง แต่ผมยังติดอยู่กับทักษะ รูปแบบ และความงาม

ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ท่านแนะนำให้ผมลองวาดภาพด้วยมือซ้าย ผมถนัดมือซ้าย เมื่อวาดภาพด้วยมือซ้าย ก็ทำให้ผลงานสวยกว่าเดิม เมื่อศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ตรวจงานท่านก็โกรธและออกคำสั่งห้ามไม่ให้ผมวาดภาพแต่ต้องทำงานศิลปะมาส่งอาจารย์ ผมเดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อซื้อกระดาษสาปั้นเป็นรูปศิลปะนูนต่ำติดกระจก ผลงานยิ่งงดงามกว่าเดิม ศาสตราจารย์ชลูด บอกว่า “ฉันจะทำอย่างไรกับเขาดี”

ใกล้ปิดเทอม คณะอาจารย์บางท่านให้ผมสอบตก อาจารย์บางท่านให้ผมสอบผ่าน คณะอาจารย์บอกว่า “หากจะให้เขาสอบตกก็จะใจร้ายเพราะเขาขยันเหลือเกิน แต่หากจะให้สอบผ่านก็เกรงจะหลงทิศหลงทาง หลงผิดคิดว่าผลงานศิลปะของตนนั้นดีแล้ว” บทสรุปคณะกรรมการสอบให้ผมสอบผ่าน แต่ก็ให้คำแนะนำกับผมว่า “การที่ผลสอบประกาศออกมาว่าสอบผ่าน ไม่ใช่เพราะผลงานศิลปะดี แต่ถือเป็นการให้โอกาส เทอมหน้าผลงานศิลปะอาจจะดีขึ้น” หลังจากนั้น ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ มองเห็นว่าผมทำงานศิลปะติดอยู่กับรูปแบบ ติดอยู่กับความงาม ท่านจึงห้ามมิให้ผมเขียนรูปวัด เขียนรูปพระสงฆ์ เขียนพระพุทธรูป ผมพยายามห้ามจิตใจตนเองแต่ผมก็เขียนต้นศรีมหาโพธิ์ เมื่อนำผลงานส่ง ท่านศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ก็กล่าวชมเชยว่า ผลงานศิลปะของผมมีอะไรบางอย่าง

การหลุดพ้นจากเรื่องราวสู่ความรู้สึกปิติ

ผมรู้สึกและค้นพบบางอย่างเมื่อวาดภาพโดยไม่มีรูปแบบ ผมไม่ยึดติด ผมวาดภาพจากความรู้สึก จิตใจของผมมีเพียงต้นศรีมหาโพธิ์และสิ่งที่เรามองเห็น หลายครั้งเรื่องราวบดบังความรู้สึก ผมค้นพบแล้วว่าผลงานศิลปะที่มีความรู้สึกนั้นเป็นอย่างไร เมื่อวาดภาพผลงานชิ้นต่อมา ผมนำบาสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากภาพวาด ผมบอกเล่าความรู้สึกปิติผ่านภาพวาด ผมวาดความปิติ หลังจากนั้น ผมส่งผลงานประกวดได้รับรางวัลที่ 2 เหรียญเงินบัวหลวง ครั้งที่ 20 ประเภทจิตรกรรมแนวประเพณี ผมวาดภาพด้วยความสนุกมากขึ้น ผลงานได้รับรางวัลดีเด่นจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 3 และรางวัลที่ 2 เหรียญเงินสิงห์ จิตรกรรมมองสิงห์ผ่านศิลป์ประเภท จิตรกรรมไทยประเพณี โดยบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่

แต่เมื่อทำวิจัยชั้นปริญญาโท จิตใจของผมฟุ้งซ่าน หลงทาง ผมกำลังจะวาดภาพวัฒนธรรมภาคเหนือ หรือ ล้านนา แต่ผลงานศิลปะของผมไม่มีความสงบ ไม่นิ่ง ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ท่านแนะนำให้ผมดูวัดไหล่หิน จังหวัดลำปาง ผมหยุดเรียนและเดินทางไปดูวัด สเก็ตภาพนำเสนอคณะอาจารย์ ผลงานศิลปนิพนธ์ของผมมีความสมถะ เรียบง่าย หลังจากนั้น ผมวาดภาพ วัดไหล่หิน, วัดภูมินทร์, วัดป่าสัก ส่งผลงานเข้าประกวดได้รับรางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง ครั้งที่ 22 ประเภทจิตรกรรมแบบประเพณี

เมื่อจบปริญญาโทมหาวิทยาลัยศิลปากร ผมกลับบ้านที่จังหวัดเชียงราย วันหนึ่ง อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เดินทางมาหาที่บ้านของผม ท่านสอบถามถึงความเป็นอยู่และให้ข้อคิดสำคัญสำหรับชีวิตศิลปิน ท่านมอบเงินจำนวน 20,000 บาท เป็นทุนสำหรับการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดแม่คำสบเปินให้แล้วเสร็จ ต่อมาเป็นยุคทองการเข้าสู่อาชีพศิลปิน ผมเป็นที่รู้จักในวงการนักสะสม ราคาผลงานของผมไม่แพง สุรพลแกลเลอรี่ เดินทางมาถึงบ้านเพื่อขอซื้อภาพและเชิญผมไปแสดงผลงานที่หอศิลป์ นั่นเป็นครั้งแรกกับการทำงานแบบศิลปินมืออาชีพ

ศิลปะแห่งการตลาดเพื่อศิลปิน

หลายปีที่ผ่านมา ผมประกอบอาชีพศิลปินอิสระ มีรายได้หลักจากการวาดภาพ สำหรับตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นการทำงานเพื่อสังคม ผมได้รับโอกาสทำงาน ร่วมออกแบบหลักสูตร สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำหรับผู้สนใจศึกษาพุทธศิลปกรรม เนื้อหาหลักสูตรแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 พุทธศิลป์พื้นฐาน ระดับที่ 2 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ ระดับที่ 3 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ขั้นสูง

หลักสูตรพุทธศิลปกรรม สร้างจากการเรียนรู้ปัญหาของศิลปิน เริ่มต้นจากพื้นฐานศิลปะ การสร้างสรรค์ศิลปะ ศิลปะของการตลาด ยุคสมัยก่อนการตลาดคือสิ่งต้องห้าม ศิลปินมองว่าการตลาดทำให้ศิลปะไม่บริสุทธิ์ ซึ่งแท้จริงแล้ว ศิลปินต้องเลี้ยงชีพด้วยการขายรูป ศิลปินต้องทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเองและครอบครัว หากศิลปินยากจนขัดสน ต้องเปลี่ยนไปทำงานอาชีพอื่น ถือเป็นเรื่องเลวร้ายกว่าศิลปินทำการตลาดมาก การตลาดไม่ทำให้คุณค่าของผลงานศิลปะลดลง ศิลปินยุคก่อนก็มีการวางแผนงานด้านการตลาด แต่เป็นการตลาดที่แยบยล ใช้กลยุทธ์ มีรูปแบบการบริหารจัดการ แต่ศิลปินรุ่นก่อนไม่ได้บอกเล่า

 สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)