สมพงษ์ สารทรัพย์ คือศิลปินยุคบุกเบิกวงการศิลปะของเชียงราย ประเทศไทย ประสบความสำเร็จในวงการศิลปะตั้งแต่วัยหนุ่ม พ.ศ.2532 รับรางวัลเหรียญทองแดงจิตกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 13 พ.ศ.2533 รับรางวัลเหรียญเงินจิตกรรมบัวหลวงครั้งที่ 14 พ.ศ.2534 รางวัลเหรียญทองแดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 37 เมื่อเยาว์วัยสมพงษ์ สารทรัพย์ คือนักเรียนวิทยาศาสตร์ผู้สับสน เฝ้ามองตัวตนและค้นความหมายของศิลปะ วันหนึ่งขณะเป็นนักศึกษาคณะศิลปะกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เขาก็ค้นพบตัวตน (Identity) และความหมายของศิลปะ
ศิลปะของ สมพงษ์ สารทรัพย์ คืออะไร ?
ผมเป็นคนเชียงราย เกิดที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย หลังเรียนจบโรงเรียนสามัคคีก็เรียนต่อที่โรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร ต้องเดินทางเข้ากรุงถึงทุ่งพญาไท ใช้เวลาวางแผนการเดินทางนับแรมเดือน ผมเป็นนักเรียนสายวิทยศาสตร์ สถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่รับเด็กสายวิทย์เข้าเรียนศิลปะ คือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ตอนนั้นผมสับสน ขาดคนแนะนำ ขาดพื้นฐานความรู้ทางศิลปะ พึ่งเข้าใจว่าศิลปะคืออะไรก็เมื่อตอนเรียนมหาวิทยาลัย
ศิลปะคืออะไร คือประเด็นใหญ่เพราะหากเข้าใจผิดก็กลายเป็นเรื่องเพี้ยน ศิลปินหลายคนคิดถึงการค้าเป็นที่ตั้งอยากร่ำอยากรวยด้วยอาชีพศิลปิน ความจริงศิลปะคือวิชาสุนทรียศาสตร์ ว่าด้วยการมองเห็นความงามและการถ่ายทอดความงาม ใช่มองเห็นเงินแล้วค่อยเริ่มทำงาน หลายคนเข้าใจผิดเพราะมองเห็นภาพความสำเร็จของศิลปิน เช่น อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี หรือ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ความจริงบนโลกนี้ มีศิลปินเพียงไม่กี่คนที่ขายผลงานได้ดี ศิลปินร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีมีน้อยมาก
ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมย้อนคิดถึงความหลังในวัยเด็ก ผมใช้สีย้อมผ้าซองเล็กมาย้อมสีแล้วแต้มลงบนกระดาษ ผมมีความสุขมาก ผมชอบวาดรูปโดยไม่รู้ว่ามันคืออะไรหรือเพราะสาเหตุใด เติบโตเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยจึงเข้าใจว่าศิลปะก็คือความสุข ผมอยากบอกเด็กเยาวชนทุกคนว่าค้นหาตนเองให้เจอ ทำงานอะไรก็ได้แล้วลองสังเกตตนเอง ถ้าเจอสิ่งที่เราอยู่กับมันได้อย่างมีความสุขโดยไม่ขัดขืน เมื่อค้นพบแล้วเราจะเข้าใจและใฝ่รู้ เกิดความพยายาม จากคนธรรมดาจะกลายเป็นคนขยันหมั่นเพียร
ผมค้นพบตนเอง มั่นใจว่าเมื่อเรียนจบจะทำงานศิลปะ ผมเริ่มทำผลงานส่งประกวดแข่งขัน พ.ศ.2532 รับรางวัลเหรียญทองแดงจิตกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 13 พ.ศ.2533 รับรางวัลเหรียญเงินจิตกรรมบัวหลวงครั้งที่ 14 พ.ศ.2534 รางวัลเหรียญทองแดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 37 ผมเป็นศิษย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒคนแรกที่รับรางวัลระดับชาติ
ผมเดินทางกลับเชียงรายบ้านเกิด เริ่มรู้จักกับศิลปิน อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี และ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ร่วมแสดงงานศิลปะครั้งแรกของเชียงรายในนาม “9 สล่าเชียงราย” ประกอบด้วยถวัลย์ ดัชนี, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, จำรัส พรหมมินทร์, สมพงษ์ สารทรัพย์, สมพล ยารังษี, สุเทพ นวลนุช, ฉลอง พินิจสุวรรณ, ยอดชาย ฉลองกิจสกุล ,เรวัตร ดีแก้ว รายได้จากการขายผลงานศิลปะนำมาสร้างหอศิลป์ที่มหาวิทยาลัยาชภัฏเชียงราย มันคือยุคสมัยแห่งการเริ่มต้นเชียงรายเมืองศิลปะ แม้แต่งานหัตถกรรมเชิงช่างก็ถูกพัฒนาเป็นงานศิลป์ ยอดชาย ฉลองกิจโกศล ศิลปินเชียงราย เปิดร้านไม้มวงเงินชักชวนช่างหัตถกรรมมาทำงานศิลปะ มีการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม
30 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงศิลปะเชียงราย
หลังยุค “9 สล่าเชียงราย” วงการศิลปะเติบโต เด็กเยาวชนเกิดความเชื่อมั่นที่จะเจริญรอยตาม ผมทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง ถูกเชิญไปร่วมแสดงผลงานในเมืองอัมสเตอร์ดัมประเทศเนเธอร์แลนด์ และเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา เมื่อเดินทางกลับก็เปิดแกเลอรี่ชื่อ 9 Art Gallery เป็นประตูสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ในการแสดงผลงาน ปัจจุบันศิลปินเชียงรายมีเกือบ 300 คน ศิลปินมีหลากหลายวัย ตั้งแต่ศิลปินเด็ก ศิลปินอาวุโส ศิลปินชนเผ่า เชียงรายเมืองศิลปะจึงมิใช่เพียงคำพูดอุปโลกแต่มันคือความจริง
ยุคสมัยก่อน เหล่าศิลปินรวมตัวกันก่อตั้งสมาคมเพื่อยืนยันตัวตนของศิลปิน เรามีเป้าหมายเพื่อสร้างหอศิลป์เชียงราย พวกเราศึกษาดูงานต่างประเทศ มีเป้าหมายศึกษาศิลปะ ดูงานเพื่อก่อสร้างหอศิลป์เชียงราย ศิลปินนับร้อยคน เดินทางจากเชียงรายเพื่อแสดงผลงานทางศิลปะที่หอศิลป์กรุงเทพฯ แต่การเมืองอันซับซ้อนส่งผลให้โครงการก่อสร้างหอศิลป์เชียงรายถูกล้มเลิก ศิลปินเชียงรายอันเคยเป็นกลุ่มก้อนเริ่มแตกกลุ่ม ผมในฐานะนายกสมาคมศิลปินเชียงรายตัดสินใจประกาศยุบสมาคม อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ มอบเงินงบประมาณ 500,000 บาทและมีการระดมทุนเพิ่มเพื่อสร้าง “ขัวศิลปะ” จากสมาคมศิลปินเชียงรายก็กลายเป็นสมาคมขัวศิลป์เชียงราย กิจกรรมทางศิลปะถูกขับเคลื่อนอย่างสมบูรณ์แบบโดยขัวศิลป์
ปัจจุบัน นอกจากทำงานศิลปะ ผมเป็นอาจารย์พิเศษให้กับสถาบันการศึกษา ในชั่วโมงเรียน ผมสอนนักเรียนศิลปะให้สำรวจตนเองอยู่เสมอ ตรวจสอบตนเองว่าสิ่งที่ตนรักชอบสนใจคืออะไร นักเรียนศิลปะจำเป็นต้องปิดหู ปิดตา ปิดปาก เพื่อค้นหาตนเอง นักเรียนศิลปะเมื่อมองเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จก็มักจะทำตาม เราปฏิเสธการรับอิทธิพลจากคนอื่นไม่ได้ แต่เราต้องขยัน อดทน ทำงานให้มาก อย่าท้อหรืออหังการว่าตนเก่ง เพราะทุกอาชีพสาขามีเงื่อนเวลามาเกี่ยวข้อง เวลาคือเครื่องยืนยันความรักจึงจะเห็นดอกผล ต้องสืบสวนตนเอง ทำงานศิลปะอย่างน้อย 10 รูป ทำเสร็จแล้วต้องนำมากองเรียงกัน หาผู้รู้หรือครูอาจารย์ช่วยวิพากษ์วิจารณ์ จะเกิดผลการเรียนรู้ศิลปะอย่างรวดเร็ว แต่เราต้องมีหัวใจกว้างพอจะรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ ผลงาน 10 รูป เมื่อสังเกตลงลึกในเนื้องานเราจะพบตัวตน (Identity) เช่น ลายทีแปลงอันมีลักษณะเฉพาะ หรือ ลวดลายความชอบเฉพาะสี นั่นคืออัตลักษณ์ข้างใน เหมือนลายเซ็นซึ่งเราสามารถนำมาสร้างสรรค์หรือพัฒนาต่อไปได้
การเติบโตของคนในวงการศิลปะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ช่วงแรกต้องทำงานไปเรื่อยๆ ทบทวนตนเองไปเรื่อยๆ เมื่อผ่านเข้าปีที่ 3 จะเริ่มมองเห็นความสำเร็จ มองเห็นรูปแบบของงาน ช่วงแรกเราอาจรับอิทธิพลจากคนอื่นซึ่งถือเป็นการเรียนรู้เพราะทุกคนต้องฝึกฝน หลังจากนั้นจึงนำผลงานออกสู่สาธารณะชนเพราะงานศิลปะเป็นงานสังคม เขียนภาพเสร็จแล้วไม่ควรกอดไว้ดูคนเดียว ต้องให้คนอื่นดูถึงจะเกิดประโยชน์ ดีหรือไม่ช่างมัน ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวช่างมัน มันจะเกิดพัฒนาการ เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ ชอบหรือไม่ชอบ เราจะได้ความรู้เรื่องการตลาด หลังจากนั้น เราต้องมีองค์ประกอบศิลปิน มีความขยัน ฉลาด อ่านหนังสือ มองโลก มองศิลปะของคนอื่น ไม่ปิดตัวเองอยู่แต่ภายในห้อง
ศิลปินรุ่นใหม่จะประสบผลสำเร็จได้อย่างไร?… ลืมไปว่าแท้จริงแล้วการไช้ชีวิตเป็นศิลปินนั้นยากยิ่งกว่า เพราะการเป็นศิลปินนั้นต้องรับผิดชอบตัวเองมากกว่าคนในอาชีพอื่น ต้องเป็นนายตัวเองและเป็นผู้รับไช้ตัวเองในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากและเหน็ดเหนื่อยมาก ต้องมีกฏระเบียบที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน หลายคนจึงพ่ายแพ้ ศิลปินที่มีความสามารถหลายคนจึงทนอยู่ได้ไม่นาน คนรุ่นใหม่ที่เจะเข้าสู่วงการศิลปะ อย่าตั้งเป้าเรื่องเงินหรือการยอมรับจากสังคม เพราะถือเป็นเรื่องภายนอก ศิลปินหรืองานศิลปะคือการทำงานจากข้างใน แต่เมื่อเราเอาเรื่องภายนอกมากลบเราจะไปไม่ถึงความเป็นศิลปิน เป็นได้เพียงคนทำมาหากิน
จิตวิญญาณแห่งศิลปิน ( Spirit of Art )
การขายผลงานศิลปะ ก็เหมือนกับการทำผลงานศิลปะส่งประกวด เราจะรู้สาระหรือแก่นสาร (Theme) ของมัน เวทีการประกวดนี้เป้าหมายเขาต้องการอะไร เราก็ทำให้ถูกเป้าหมาย ลึกลงในรายละเอียดกรรมการเป็นใครแล้วก็สร้างผลงานให้ตรงกับจริตของกรรมการ ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะทำงานขาย ผู้คนสนใจงานแบบไหนก็ทำให้ถูกจริตกับสังคมที่เขานิยม แต่ผลงานเป็นการสร้างสรรค์หรือไม่ เราจะเดินไปข้างหน้าหรือตามหลัง อย่าลืมว่ายุคสมัยเปลี่ยนแปลง เมื่อค่านิยมเปลี่ยนงานของเราก็ต้องเปลี่ยนตาม เหมือนงานแฟชั่นไม่รู้จักจบสิ้น สุดท้ายเราก็กลับมาตั้งคำถามเดิมว่า คุณเป็นศิลปินจริงหรือเปล่า ศิลปินเขานับถือกันตรงการแสดงจิตวิญญาณ (Spirit)
ศิลปินที่ดีต้องทบทวนตนเองเป็นประจำ โลกมีหลายสิ่งเข้ามาหาเรา เราหลงทางได้ง่ายมาก การทบทวนตนเองอยู่เสมอจะทำให้เราไม่หลงทาง ศิลปินต้องชัดเจนแน่วแน่ในแนวทางของตนเอง ทำงานอะไรก็ได้ที่ทำแล้วอยู่กับมันได้นาน ทำงานอย่างมีความสุข มีความรัก ถ้าเป็นศิลปินจริง ผลงานเป็นภาพสะท้อนตัวตน ยิ่งทำยิ่งแกร่งและชัดเจน ต่อให้โลกหมุนวนรวดเร็วอย่างไร มีสิ่งล่อลวงอย่างไรก็ไม่เปลี่ยน การจดบันทึกเป็นการทบทวนตนเองที่ดี เมื่อมีเหตุการณ์เกิดยามจดบันทึกเราจะพบคำตอบของปัญหา เราจะหลีกเลี่ยงหรือแก้ไข หลังจากนั้นเมื่อเราพบเจอเหตุการณ์เดิมเราก็จะไม่ทุกข์ เมื่อไม่มีความทุกข์ความคิดสร้างสรรค์เราก็จะเกิด
กระบวนการทำงานศิลปะของเอเชียต่างกับตะวันตก ศิลปินเอเชียทำงานโดยขาดสติสัมปชัญญะไม่ได้ เปรียบเหมือนงานดนตรีจะมีสุนทรียรมณ์ เช่น งานประติมากรรมพระพุทธรูปร่วมสมัยของอาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะ ศิลปินแห่งชาติสาขาประติมากรรม พ.ศ.2546 เริ่มแรกปั้นพระพุทธรูปภายหลังพระพุทธรูปกลายเป็นก้อนหินเพราะศิลปะเข้าข้างในจนแบบฟอร์มเลือนหาย แต่หากเป็นศิลปะตะวันตกรูปแบบปฏิมากรรมจะมีความกระด้าง ศิลปินตะวันตกจะสำแดงพลังทางอารมณ์ (expression) มีการสุมพลัง ถ่ายเทพลัง เพราะพื้นฐานชีวิตคนตะวันตก มีลักษณะของนักผจญภัย เดินทางออกจากตนเอง ส่วนศิลปินตะวันออก ศิลปะเป็นการนำเข้า (input) งานเขียนภาพจะมีความลึกซึ้งด้านใน เช่น งานเขีนภาพวิถีเซ็นของจีนหรือญี่ปุ่น
ศิลปินควรชมงานศิลปะ มีนิทรรศการที่ไหนต้องไปดู การชมนิทรรศการศิลปะจะทำให้เราประสบความสำเร็จได้เร็ว ได้พบสังคม พบศิลปะใหม่ พบเจอความคิด ศิลปินโดยสามัญสำนึกจะวิเคราะห์งานศิลปะว่าทำอย่างไร ใช้สีแบบไหน ขึ้นรูปประติมากรรมได้อย่างไร เมื่ออยู่ในกลุ่มศิลปินจะเกิดการถกเถียง แตกยอดความคิด
ปัจจุบันผมกลับมาอยู่เชียงราย ทำงานศิลปะในบ้านเกิดเปิดหอศิลป์ของตนเองอีกแห่งชื่อว่า 183 Malao Art Space ผมรอลุ้นให้นิทรรศการศิลปะ ไทยแลนด์ทอาร์ตเบียนาเล่ (Thailand Art Biennale) เกิดขึ้นที่เชียงราย อยากให้คนเชียงรายและคนใกล้เคียงมีส่วนร่วม มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกันโดยเฉพาะศิลปินยุคใหม่ ถ้าเชียงรายเป็นเมืองศิลปะอย่างแท้จริง เราก็จะไม่อดตาย เราจะมีอนาคต มีทุกอย่างรองรับ อาชีพศิลปินจะแตกแขนงเป็นภัณฑารักษ์ (Curator) ผู้ขายงานศิลปะ (Dealer) นักประชาสัมพันธ์ (PR ) มันจะเติบโตเป็นลูกโซ่
คนรุ่นใหม่ต้องหาช่องทางของตัวเองซึ่งจะต้องใช้สื่อที่แตกต่างออกไป เช่น ผลงานกราฟฟิตี้ (graffiti) สมัยก่อนมันคืองานขยะข้างถนน แต่ตอนหลังกลายเป็น street art มีคนติดตามซื้องาน จากคนมือบอนพัฒนาสู่สไตล์ศิลปะที่คนชื่นชอบ ศิลปินข้างถนนกลายเป็นศิลปินดัง ทำให้เห็นว่า การทำอะไรจากใจมันจะเกิดดอกเกิดผลเอง โดยไม่ต้องเอาภาพของศิลปินมีชื่อเสียงมาเป็นตัวอย่าง มันอาจถูกหรืออาจผิด แต่สิ่งสำคัญคือต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง ทำแล้วมีความสุข อยากทำอยู่ตลอด นั่นคือหัวใจ
สัมภาษณ์ / ภาพถ่าย ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)