ผมได้เกริ่นไปใน EP.4 แล้วว่า ผมจะนำตัวอย่างโครงสร้างเพลงแจ๊สมาตรฐานเชื่อมโยงกับแนวคิด The Sandwich Approach นำมาพูดถึงใน EP.5 นี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจากเพลงแจ๊สมาตรฐาน โดยผมนำเพลงพื้นฐานจากแนวคิดบลูส์ 12 ห้อง จำนวน 2 เพลงคือ Billie’s Bounce ประพันธ์โดย Charlie Parker และเพลง Blues by Five ประพันธ์โดย Red Garland มากล่าวถึงในช่วงแรกเพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวคิด The Sandwich Approach บริบทเพลงแจ๊สมีพื้นฐานจากแนวคิดดนตรีบลูส์แนวทำนองมีความยาวจำนวน 12 ห้อง ทั้งยังเชื่อมโยงกับตัวอย่างเพลงใน EP.4 ที่กล่าวถึงสาระไปแล้วด้วย จากนั้นผมจะนำเพลง Four ประพันธ์โดย Miles Davis และเพลง Joy Spring ประพันธ์โดย Clifford Brown ซึ่งแนวทำนองมีความยาวต่างออกไปคือมีจำนวน 32 ห้องมากล่าวถึงตามลำดับ ผมจะมุ่งเน้นสาระประเด็นโครงสร้างเพลงสอดคล้องกับแนวคิด The Sandwich Approach เป็นสำคัญ ทั้งนี้อาจสอดแทรกประเด็นอื่นเพิ่มเติม เพื่อเชื่อมโยงกับบริบทหรือสาระสำคัญเป็นกรณีไป
1. เพลง Billie’s Bounce ประพันธ์โดย Charlie Parker
เพลง Billie’s Bounce ที่ผมนำมากล่าวถึงนี้เป็นเพลงเดียวกันกับตัวอย่างใน EP.4 ที่ผ่านมาแล้ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสับสนกับสาระเนื่องจากเป็นตัวอย่างเพลงเดียวกัน ผมจึงขอสร้างความเข้าใจกับผู้อ่านเสียก่อนว่า ตัวอย่างเพลงที่ได้นำมากล่าวถึงใน Ep.4 นั้นเป็นการกล่าวถึงสาระเพื่อยกตัวอย่างให้เห็นภาพเชื่อมโยงกับแนวคิด The Sandwich Approach เท่านั้น ไม่ได้เป็นเหตุการณ์จริงที่ปรากฏขึ้นในเพลง แต่สำหรับ EP.5 ผมได้นำเพลงนี้มากล่าวถึงอีกครั้งแต่เป็นเหตุการณ์ปรากฏขึ้นจริงในเพลง รายละเอียดเป็นดังนี้
เพลง Billie’s Bounce บันทึกเสียงปี ค.ศ. 1945 สังกัดค่าย Savoy Record นักดนตรีร่วมบรรเลงประกอบด้วย Charlie Parker ตำแหน่งแซ็กโซโฟน Dizzy Gillespie นักทรัมเป็ตแจ๊สคนสำคัญอีกคนหนึ่ง แต่เพลงนี้เล่นตำแหน่งเปียโน Miles Davis ตำแหน่งทรัมเป็ต Curly Russell ตำแหน่งเบส และ Max Roach ตำแหน่งกลอง เพลงมีอัตราความเร็วโน้ตตัวดำประมาณเท่ากับ 160 แนวทำนองหลักแสดงดังตัวอย่างที่ 1 แนวทำนองรวมถึงการดำเนินคอร์ดได้รับอิทธิพลจากดนตรีบลูส์ 12 ห้องโดยผู้อ่านสามารถรับฟังเพลงได้จากด้านล่างนี้ (สามารถอ่านรายละเอียดประเด็นการดำเนินคอร์ดบลูส์พื้นฐานและการวิเคราะห์เพลง Billie’s Bounce เพิ่มเติมได้จากหนังสือโมเดิร์นแจ๊ส (Modern Jazz) ที่ผมได้จัดทำขึ้น)
ตารางที่ 1 แสดงถึงโครงสร้างเพลง Billie’s Bounce โดยนำบริบทเชิงโครงสร้างภาพรวมของเพลงมากล่าวถึง ผมแบ่งออกเป็นประเด็น “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” และ “ช่วงเวลา” ในเพลงนี้ ส่วนสีเหลืองในตารางแสดงถึงช่วงแนวทำนองหลัก ส่วนสีเขียวแสดงถึงช่วงการอิมโพรไวส์ เพลงนี้กล่าวได้ว่ามีแนวคิดจาก The Sandwich Approach พิจารณาจากช่วงเวลาในเพลงที่เกิดขึ้นคือตั้งแต่ 0.00 นาที – 0.41 นาที ซึ่งมีช่วงนำเข้าเพลงจำนวน 4 ห้อง จากนั้นจึงดำเนินเข้าสู่แนวทำนองหลักบรรเลงร่วมกันจากแซ็กโซโฟนและทรัมเป็ตปรากฏครั้งที่ 1 ช่วงต้นเพลงจำนวน 24 ห้อง และการบรรเลงแนวทำนองหลักได้ปรากฏอีกครั้งช่วงท้ายเพลงคือเวลา 2.30 นาที ช่วงแนวทำนองหลักนี้สอดคล้องกับแนวคิด The Sandwich Approach ที่กล่าวถึงไปใน EP.4
ส่วนสีเขียวตารางที่ 1 แสดงถึงช่วงการอิมโพรไวส์ของนักดนตรีปรากฏขึ้นตั้งแต่ 0.42 นาที – 1.54 นาที เป็นการอิมโพรไวส์ของแซ็กโซโฟนจำนวน 4 คอรัส (แนวคิดคอรัส สามารถย้อนกลับไปอ่านได้จาก EP.4 ที่ผ่านมา) และตามด้วยทรัมเป็ตจำนวน 2 คอรัสตามลำดับ จากนั้นจึงเข้าสู่การบรรเลงแนวทำนองหลักอีกครั้งช่วงท้ายเพลง โดยช่วงการอิมโพรไวส์เพลงนี้ไม่ได้ผสมผสานแนวคิดสลับกันบรรเลง 4 หรือ 8 ห้อง (Trading Fours or Trading Eights) ของเหล่านักดนตรีที่ร่วมกันบรรเลง ทั้งนี้แม้ไม่พบแนวคิดสลับกันบรรเลงก็ตามผมก็ได้พิจารณาว่าเป็นไปตามแนวคิดสอดคล้องกับ The Sandwich Approach เนื่องจากแนวคิดสลับกันบรรเลงนี้เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการสร้างสีสันให้กับช่วงอิมโพรไวส์ของเหล่านักดนตรี
2. เพลง Blues by Five ประพันธ์โดย Red Garland
เพลง Blues by Five เป็นเพลงแจ๊สอีกหนึ่งเพลงที่มีพื้นฐานจากแนวคิดดนตรีบลูส์ เพลงนี้อยู่ในผลงานชื่อ Cookin’ with the Miles Davis Quintet บันทึกเสียงปี ค.ศ. 1956 สังกัดค่าย Prestige นักดนตรีร่วมบรรเลงมีทั้งหมด 5 คนประกอบด้วย Red Garland ตำแหน่งเปียโน Miles Davis ตำแหน่งทรัมเป็ต John Coltrane ตำแหน่งแซ็กโซโฟน Paul Chambers ตำแหน่งเบส และ Philly Joe Jones ตำแหน่งกลอง ผลงานชิ้นนี้ถูกยกย่องว่าเป็นผลงานห้าชิ้นแรกที่ดีที่สุด (First Great Quintet) ของ Miles Davis
เพลงนี้มีอัตราความเร็วโน้ตตัวดำประมาณเท่ากับ 180 แนวทำนองหลักและการดำเนินคอร์ดอยู่บนพื้นฐานการดำเนินคอร์ดบลูส์พื้นฐานมีความยาวจำนวน 12 ห้อง การบรรเลงแนวทำนองนี้บรรเลง 2 ครั้งรวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 24 ห้อง (พิจารณาร่วมกับตัวอย่างที่ 2) ช่วงการบรรเลงแนวทำนองหลักเป็นการบรรเลงเปียโนจาก Red Garland ด้วยแนวคิดคอร์ดแบบแท่ง (Block Chord) กล่าวคือมีลักษณะบรรเลงด้วยคอร์ดทั้งมือซ้าย-ขวาติดต่อกัน โดยมีแนวเสียงบนสุดของมือขวาเป็นแนวทำนองหลัก เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้นผมได้ยกตัวอย่างการบรรเลงแนวคิดนี้เปรียบเทียบกับแนวทำนองหลักห้องที่ 1-4 ไว้ในตัวอย่างที่ 3
ตารางที่ 2 แสดงถึงโครงสร้างเพลงแนวทางสาระคล้ายกับตารางที่ 1 ที่ผ่านมา ภาพรวมมีองค์ประกอบสำคัญคือ ช่วงแนวทำนองหลักแสดงด้วยส่วนสีเหลืองโดยเป็นการบรรเลงแนวทำหลักจำนวน 24 ห้องทั้งช่วงต้นเพลงเวลา 0.00 นาที – 0.32 นาที และกลับมาบรรเลงแนวทำนองหลักอีกครั้งท้ายเพลงตั้งแต่ 9.14 นาทีกระทั่งจบเพลง ส่วนช่วงอิมโพรไวส์แสดงด้วยส่วนสีเขียว เริ่มจากทรัมเป็ตอิมโพรไวส์จำนวน 8 คอรัส (0.33 นาที – 2-43 นาที) แซ็กโซโฟนอิมโพรไวส์จำนวน 7 คอรัส (2.44 นาที – 4.36 นาที) เปียโนอิมโพรไวส์จำนวน 5 คอรัส (4.37 นาที – 5.58 นาที) และเบสอิมโพรไวส์จำนวน 5 คอรัส (5.59 นาที – 7.19 นาที) ตามลำดับ
นอกจากนี้ช่วงการอิมโพรไวส์ยังมีการสร้างสีสันด้วยเปียโนและกลอง บรรเลงสลับกันคนละ 4 ห้องจำนวน 5 คอรัส เริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาในเพลงคือ 7.20 นาที – 9.13 นาที โดยตัวอย่างที่ 4 แสดงแนวคิดการสลับกันบรรเลง 4 ห้องระหว่างผู้เล่นเปียโนและผู้เล่นกลอง บทบาทของผู้เล่นเปียโนแสดงด้วยสีน้ำเงิน ส่วนบทบาทของผู้เล่นกลองแสดงด้วยสีส้ม สังเกตได้ว่าคอรัสที่ 1, 3, 5, และ 7 ผู้เล่นเปียโนบรรเลงตรงห้องที่ 1-4 และ 9-12 ผู้เล่นกลองบรรเลงห้องที่ 5-8 ส่วนคอรัสที่ 2, 4 และ 6 ผู้เล่นกลองบรรเลงห้องที่ 1-4 และ 9-12 สลับกับผู้เล่นเปียโนบรรเลงห้องที่ 5-8 (พิจารณาร่วมกับตัวอย่างที่ 4)
หากเปรียบเทียบกับเพลง Billie’s Bounce ที่ผ่านมาพบได้ว่าส่วนการบรรเลงสลับกันไม่ได้ถูกนำมาใช้ในช่วงการอิมโพรไวส์ของเหล่านักดนตรี แต่ก็สอดคล้องกับที่ผมได้กล่วไว้ใน EP.4 ว่าแนวคิดการสลับกันบรรเลงนี้เป็นทางเลือกสำหรับการสร้างสีสันให้กับการอิมโพรไวส์ ซึ่งอาจมีหรือไม่มีก็ได้แต่อย่างไรก็ตามทั้งเพลง Billie’s Bounce และเพลง Blues by Five ก็มีทิศทางสอดคล้องกับแนวคิด The Sandwich Approach คือบรรเลงแนวทำนองหลักช่วงต้นเพลงจากนั้น จึงตามด้วยช่วงการอิมโพรไวส์และกลับมาบรรเลงแนวทำนองหลักอีกครั้งช่วงท้ายเพลง
3. เพลง Four ประพันธ์โดย Miles Davis
อีกหนึ่งผลงานของ Miles Davis ที่ผมนำมากล่าวถึงสาระ The Sandwich Approach เพลง Four อยู่ในผลงานชื่อ Workin’ with the Miles Davis Quintet บันทึกเสียงปี ค.ศ. 1956 สังกัดค่าย Prestige ผลงานนี้เป็นอีกหนึ่งผลงานถูกยกย่องว่าเป็นผลงานห้าชิ้นแรกที่ดีที่สุดของ Miles Davis นักดนตรีร่วมบรรเลงทั้งหมด 5 คนเป็นนักดนตรีชุดเดียวกับเพลง Blues by Five ที่กล่าวถึงสาระไปแล้ว เพลงนี้มีอัตราความเร็วโน้ตตัวดำประมาณเท่ากับ 210 แนวทำนองหลักเพลง Four มีความยาวจำนวน 32 ห้อง (พิจารณาร่วมกับตัวอย่างที่ 5)
โครงสร้างเพลง Four ภาพรวมประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญทั้งช่วงแนวทำนองหลัก (แสดงด้วยส่วนสีเหลืองตารางที่ 3) และช่วงการอิมโพรไวส์ (แสดงด้วยส่วนสีเขียวตารางที่ 3) โดยแนวทำนองหลักบรรเลงร่วมกันจากทรัมเป็ตและแซ็กโซโฟนจำนวน 32 ห้องช่วงต้นเพลง (0.09 นาที – 0.43 นาที) ปรากฏหลังจากช่วงนำเข้าเพลงจากการบรรเลงเดี่ยวกลองจำนวน 8 ห้อง และแนวทำนองหลักกลับมาปรากฏอีกครั้งช่วงท้ายเพลง (6.26 นาที) หลังจากเสร็จสิ้นช่วงการอิมโพรไวส์ (พิจารณาร่วมกับตารางที่ 3)
ส่วนช่วงการการอิมโพรไวส์เริ่มบรรเลงจากทรัมเป็ตจำนวน 3 คอรัส (0.44 นาที – 2.39 นาที) แซ็กโซโฟนจำนวน 3 คอรัส (2.40 นาที – 4.31 นาที) และเปียโนจำนวน 2 คอรัส (4.32 นาที – 5.48 นาที) ตามลำดับ จากนั้นเป็นการบรรเลงด้วยแนวคิดสลับกันบรรเลงคนละ 4 ห้องระหว่างทรัมเป็ตและกลองรวม 1 คอรัส (5.49 นาที – 6.25 นาที) และดำเนินเข้าสู่การบรรเลงแนวทำนองหลักช่วงท้ายเพลงต่อไป (พิจารณาร่วมกับตารางที่ 3)
การบรรเลงด้วยแนวคิดสลับกันบรรเลงคนละ 4 ห้องระหว่างทรัมเป็ตกับกลองรวม 1 คอรัส ผมนำมาแสดงบนตัวอย่างที่ 6 ส่วนสีน้ำเงินแสดงถึงการบรรเลงของผู้เล่นทรัมเป็ตจำนวน 4 ห้อง สลับกับส่วนสีส้มที่แสดงถึงการบรรเลงของผู้เล่นกลองจำนวน 8 ห้อง โดยการบรรเลงสลับกันยังคงอยู่บนวัตถุดิบจากการดำเนินคอร์ดช่วงอิมโพรไวส์ (ซึ่งวัตถุดิบการดำเนินคอร์ดช่วงอิมโพรไวส์ก็นำมาจากการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลัก)
4. เพลง Joy Spring ประพันธ์โดย Clifford Brown
เพลง Joy Spring ที่นำมากล่าวถึงอยู่ในผลงานชื่อ Clifford Brown & Max Roach เป็นผลงานการร่วมงานของนักดนตรีแจ๊สคนสำคัญคือ Clifford Brown ตำแหน่งทรัมเป็ต และ Max Roach ตำแหน่งกลอง ผลงานนี้บันทึกเสียงช่วงปี ค.ศ. 1954-1955 สังกัดค่าย EmArcy สำหรับเพลง Joy Spring นั้นบันทึกเสียงในปี ค.ศ. 1954 นอกจากนักดนตรีสำคัญข้างต้นแล้วผลงาน Clifford Brown & Max Roach ยังมีนักดนตรีร่วมบรรเลงอีก 3 คนคือ Harold Land ตำแหน่งแซ็กโซโฟน Richie Powell ตำแหน่งเปียโน และ George Morrow ตำแหน่งเบส เพลงนี้มีอัตราความเร็วโน้ตตัวดำประมาณเท่ากับ 170 แนวทำนองหลักมีจำนวน 32 ห้อง แสดงดังตัวอย่างที่ 7
เพลงนี้มีสีสันความน่าสนใจต่างไปจาก 3 เพลงแรกที่กล่าวถึงไปแล้วทั้งด้านโครงสร้างเพลง และช่วงบรรเลงแนวทำนองหลักตลอดจนช่วงอิมโพรไวส์ โดยประเด็นโครงสร้างเพลงมีองค์ประกอบของช่วงแนวทำนองหลัก (แสดงด้วยส่วนสีเหลืองตารางที่ 4) และช่วงการอิมโพรไวส์ (แสดงด้วยส่วนสีเขียวตารางที่ 4) เพลงเริ่มบรรเลงจากช่วงนำเข้าเพลงจำนวน 8 ห้อง (0.00 นาที – 0.11 นาที) และดำเนินเข้าสู่แนวทำนองหลักช่วงต้นเพลงจากทรัมเป็ตและแซ็กโซโฟนจำนวน 32 ห้อง (0.12 นาที – 0.55 นาที) ทั้งนี้แนวทำนองหลักจะกลับมาบรรเลงอีกครั้งหลังจากเสร็จสิ้นการอิมโพรไวส์ ซึ่งเริ่มจากการบรรเลงเหมือนช่วงนำเข้าเพลงอีกครั้งจำนวน 8 ห้อง (5.41 นาที – 5.51 นาที) ตามด้วยบรรเลงแนวทำนองหลักช่วงท้ายเพลง (5.52 นาที – 6.32 นาที) จากนั้นเข้าสู่ช่วงการบรรเลงวนซ้ำท้ายแนวทำนองหลัก (Tag) และจบเพลง การวนซ้ำท้ายแนวทำนองหลักนี้เป็นแนวคิดต่างออกไปจาก 3 เพลงแรกที่ผมยกตัวอย่างมา ผมแนะนำให้ผู้อ่านรับฟังเพลงประกอบด้วยเพื่อสังเกตเหตุการณ์ในเพลงได้สะดวกขึ้น (พิจารณาร่วมกับตารางที่ 4)
สีสันช่วงการอิมโพรไวส์มีความแตกต่างจาก 3 เพลงที่กล่าวมาคือ เป็นการบรรเลงสลับกันคนละ 4 ห้องระหว่างนักดนตรีจำนวน 3 คนคือ ทรัมเป็ต แซ็กโซโฟน และกลอง รวมจำนวน 1 คอรัส (4.08 นาที – 4.54 นาที) จากเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นกรณีการบรรเลงสลับกันคนละ 4 ห้องในเพลง Blues by Five และเพลง Four ที่กล่าวถึงสาระไปแล้วข้างต้นเป็นการบรรเลงสลับกันระหว่างนักดนตรีจำนวน 2 คน หลังจากเสร็จสิ้นการบรรเลงสลับกันคนละ 4 ห้องแล้ว เพลง Joy Spring จึงดำเนินเข้าสู่ช่วงการอิมโพรไวส์ของกลองต่อไป (4.55 นาที – 5.40 นาที) กระทั่งสิ้นสุดช่วงการอิมโพรไวส์ของเหล่านักดนตรีและกลับเข้าสู่ช่วงแนวทำนองหลักอีกครั้งช่วงท้ายเพลง ทั้งนี้ตัวอย่างที่ 8 แสดงถึงบทบาทการบรรเลงสลับกันคนละ 4 ห้องระหว่างนักดนตรีจำนวน 3 ส่วนสีส้มแสดงถึงบทบาทผู้เล่นทรัมเป็ต ส่วนสีนำเงินแสดงบทบาทผู้เล่นแซ็กโซโฟน และส่วนสีดำแสดงถึงบทบาทผู้เล่นกลอง (พิจารณาร่วมกับตารางที่ 4 รวมถึงตัวอย่างที่ 8 ประกอบกัน)
จากตัวอย่างเพลงที่ได้นำมากล่าวถึงทั้ง 4 เพลง สำหรับประเด็นเชื่อมโยงกับ The Sandwich Approach พบว่ามีองค์ประกอบสำคัญคือ ช่วงแนวทำนองหลัก (จากเพลงที่ผมยกตัวอย่างมานั้นแนวทำนองมีความยาวจำนวน 12 ห้อง และ 32 ห้อง) และช่วงอิมโพรไวส์ ช่วงการบรรเลงแนวทำนองหลักช่วงต้นเพลง อาจเริ่มเพลงด้วยการบรรเลงแนวทำนองหลักเลยหรือสร้างสีสันมากขึ้นด้วยช่วงนำเข้าเพลง แนวทำนองหลักกลับมาปรากฏอีกครั้งหลังจากเสร็จสิ้นช่วงอิมโพรไวส์ และเพลงจบลงหลังจากบรรเลงแนวทำนองหลักช่วงท้ายเพลงเสร็จสิ้นซึ่งสามารถสร้างสีสันด้วยการบรรเลงวนซ้ำท้ายแนวทำนองหลัก (Tag)
ช่วงการอิมโพรไวส์ อาศัยวัตถุดิบการดำเนินคอร์ดจากช่วงแนวทำนองหลักนำมาสร้างสรรค์สามารถสร้างสีสันด้วยแนวคิดสลับกันบรรเลงของเหล่านักดนตรี จากเหตุการณ์ที่ปรากฏพบว่าทั้งเพลง Blues by Five, Four และเพลง Joy Spring ช่วงการบรรเลงสลับกันคนละ 4 ห้องนั้น ตั้งข้อสังเกตได้ว่าผู้เล่นกลองมีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะเพลง Joy Spring ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการบรรเลงสลับกันคนละ 4 ห้องแล้วเพลงยังดำเนินเข้าสู่ช่วงการอิมโพรไวส์ของผู้เล่นกลองต่อไป หากพิจารณาภาพรวมการบรรเลงกลองพบว่าเพลง Billie’s Bounce กลองทำหน้าที่บรรเลงสนับสนุน ส่วนเพลง Blues by Five และเพลง Four กลองทำหน้าที่บรรเลงสนับสนุนเช่นกันแต่ได้เพิ่มบทบาทการอิมโพรไวส์ช่วงการบรรเลงสลับกันคนละ 4 ห้อง สำหรับเพลง Joy Spring บทบาทกลองทำหน้าที่ทั้งบรรเลงสนับสนุน อิมโพรไวส์ช่วงการบรรเลงสลับกันคนละ 4 ห้อง ตลอดจนบทบาทกลองอิมโพรไวส์จำนวน 1 คอรัส
องค์ประกอบสำคัญของ The Sandwich Approach ทั้งช่วงการบรรเลงแนวทำนองหลักและช่วงการอิมโพรไวส์ กล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ปรากฏในเพลงโดยเฉพาะแนวทำนองหลักต้องปรากฏสองครั้ง เพื่อแสดงถึงส่วนขนมปังของแซนด์วิชที่ประกบหัวท้าย ส่วนช่วงอิมโพรไวส์เป็นส่วนตรงกลางก็สอดคล้องกับส่วนใส้ของแซนด์วิช เพลงที่ผมได้หยิบยกมาใน EP.5 เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งด้านโครงสร้างเพลงสอดคล้องกับแนวคิด The Sandwich Approach ที่สามารถพบได้ในเพลงแจ๊สมาตรฐาน และองค์ประกอบสำคัญนี้ก็ยังปรากฏอยู่บนโลกแห่งดนตรีแจ๊สในปัจจุบันด้วยเช่นกัน สำหรับผู้อ่านที่ต้องการฟังเพลงแจ๊สมาตรฐานที่มีแนวคิดลักษณะเช่นนี้ ผมได้นำตัวอย่างเพลงอีกจำนวนหนึ่งมาเป็นตัวอย่างเพิ่มเติมในช่วงท้าย EP.5
สรุปสาระใน EP.5
1. เพลง Billie’s Bounce พื้นฐานจากแนวคิดดนตรีบลูส์ โครงสร้างเพลงประกอบด้วยแนวทำนองหลักช่วงต้นเพลง ช่วงอิมโพรไวส์ (ปราศจากแนวคิดการบรรเลงสลับกันของนักดนตรี) แนวทำนองหลักกลับมาปรากฏอีกครั้งช่วงท้ายเพลง
2. เพลง Blues by Five พื้นฐานจากแนวคิดดนตรีบลูส์เช่นเดียวกัน โครงสร้างเพลงประกอบด้วยแนวทำนองหลักช่วงต้นเพลง ส่วนช่วงอิมโพรไวส์สร้างสีสันด้วยการบรรเลงสลับกันคนละ 4 ห้องระหว่างผู้เล่นเปียโนกับผู้เล่นกลอง และแนวทำนองหลักปรากฏอีกครั้งช่วงท้ายเพลง
3. เพลง Four แนวทำนองหลักจำนวน 32 ห้อง โครงสร้างเพลงเริ่มจากช่งนำเข้าเพลงจากการบรรเลงเดี่ยวกลอง และเข้าสู่ช่วงบรรเลงแนวทำนองหลัก ช่วงอิมโพรไวส์ปรากฏการบรรเลงสลับกันระหว่างผู้เล่นทรัมเป็ตกับผู้เล่นกลอง จากนั้นจึงกลับมาบรรเลงแนวทำนองหลักอีกครั้ง
4. เพลง Joy Spring แนวทำนองหลักจำนวน 32 ห้อง โครงสร้างเพลงพบองค์ประกอบสำคัญคือ ช่วงบรรเลงแนวทำนองหลักสร้างสีสันด้วยช่วงนำเข้าเพลง ช่วงอิมโพรไวส์สร้างสีสันด้วยการบรรเลงสลับกันคนละ 4 ห้องระหว่างผู้เล่นเปียโน ผู้เล่นแซ็กโซโฟนและผู้เล่นกลอง จากนั้นแนวทำนองหลักกลับมาปรากฏอีกครั้งกระทั่งจบเพลงด้วยการบรรเลงวนซ้ำท้ายแนวทำนองหลัก
แนะนำเพลงที่มีโครงสร้างสอดคคล้องกับแนวคิด The Sandwich Approach เพิ่มเติม
เพลง Evidence ประพันธ์โดย Thelonious Monk
เพลง Blue Train ประพันธ์โดย John Coltrane
เพลง Pent Up House ประพันธ์โดย Sonny Rollins
เพลง Lady Bird ประพันธ์โดย Tadd Dameron บรรเลงโดย Chet Baker
เพลง All The Thing You Are ประพันธ์โดย Jerome Kern บรรเลงโดย Grant Green