ประสงค์ ลือเมือง คือศิลปินวาดภาพของประเทศไทย เขามีความมุ่งมั่นในการเป็นศิลปินตั้งแต่วัยหนุ่ม ถูกฝึกให้เขียนภาพตามวิถีสล่าหรือช่างศิลป์ล้านนาโบราณ เขียนภาพตามงานฤดูหนาว เขียนโปสเตอร์ เป็นตัวแทนนักเรียนเขียนภาพส่งประกวด เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในการคัดลอกภาพเขียน เรียนรู้วิธีวาดภาพจากผลงานของศิลปิน กระทั่งผลงานส่งประกวด ได้รับรางวัลรางวัลเหรียญทอง จิตรกรรมบัวหลวง กรุงเทพฯ ,รางวัลเหรียญเงินเกียรตินิยมอันดับสอง นิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาติ กรุงเทพฯ , รางวัลยอดเยี่ยม นิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัยธนาคารกสิกรไทย กรุงเทพฯ , Honorable Mention Prize The Art Exhibition by Petroleum Authority of Thailand Bangkok  ,รางวัลเหรียญทองเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาติ กรุงเทพ

เด็กชายที่เติบโตในครอบครัวของสล่าหรือช่างศิลป์

ตั้งแต่จำความได้ ผมก็มองเห็นพ่อกับแม่ซึ่งเป็นสล่าหรือช่าง ทำงานรับเหมาก่อสร้างบ้าน ทำตู้ ตั่ง เตียง ทำเฟอร์นิเจอร์ เมื่อเติบโตอายุ 7 ขวบ พ่อแม่ให้ผมอ่านหนังสือให้ฟัง พ่อสายตาสั้น ผมต้องอ่านตัวเลข อ่านแบบ อ่านพิมพ์เขียว ผมจึงเข้าใจแบบแปลนการสร้างบ้านตั้งแต่เด็ก ถูกฝึกให้เป็นช่างตั้งแต่เด็ก นอกจากนั้น สภาพแวดล้อมยังมีลูกน้องของพ่อซึ่งเป็นช่างอีกหลายคน แต่ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่า ตนเองชอบหรือไม่ชอบอะไร ตอนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 อายุประมาณ 10 ปี ผมได้รับคัดเลือกให้ไปคัดลายมือประกวดแข่งขันระดับจังหวัด ผมรู้สึกว่าชอบและฝึกฝนอย่างจริงจัง ตอนเรียนชั้น ม.ศ.1 อายุประมาณ 13 ปี เพื่อนผมเขียนรูปเก่ง ผมก็เลยคัดลอกผลงานของเพื่อน เพื่อนเขียนภาพเรื่องคาราเต้ เขียนเรื่องยูโด ผมตื่นตาตื่นใจมากๆ

ผมเรียนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เพราะมีวิชาวาดภาพ ตอนแรกผมไม่คิดว่าจะเรียนเทคโน ผมอยากเรียนศิลปะ ผมอยากเรียนวาดภาพที่โรงเรียนสิริกรศิลปวิทยา แต่แม่บอกว่า การเรียนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ค่าเทอมไม่แพงเพราะเป็นสถานศึกษาของรัฐบาล แต่เมื่อเรียนเทคโน ผมก็ต้องเขียนแบบ ออกแบบ แต่ผมชอบเขียนรูป ชอบอ่านหนังสือ ชอบอ่านนิยายจีน ชอบคัดลอกภาพประกอบในหนังสือ

เมื่ออายุ 16 ปี คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี บรรยายที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ท่านเป็นศิลปินที่แตกต่าง บ้าๆ บอๆ รุงรัง หมาเห่า ทำเสียงโหวกเหวกโวยวาย เหมือนตัวละครในนิยายกำลังภายในจีน เช่น จิวแป๊ะทง เฒ่าทารก เวลาอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี พูด จะมีวิธีการพูดแบบศิลปิน เขาเล่าว่าศิลปินทำงานอะไร อย่างไร เคยเดินทางไปประเทศ เคยอ่านหนังสือวิถีของเต๋า วิถีของเซ็น ผมมีพื้นฐานอยู่ก่อนจึงเข้าใจ หลังจากฟังบรรยายของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ผมเดินเข้าห้องสมุด ตัดสินใจไม่เรียนหนังสือ จะเอาอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เป็นแบบอย่าง ผมเปิดดูหนังสือสอนศิลปะที่วางอยู่บนชั้นหนังสือ ในหนังสือเล่มนั้น มีหนังสืออีกเล่มหนึ่งสอดอยู่ ชื่อว่า “ปรัชญาชีวิตของ คาลิน ยิบราน” เมื่ออ่านก็เข้าใจคำพูดของถวัลย์ ดัชนี ซึ่งคาลิน ยิบราน มีความสัมพันธ์เป็นลูกศิษย์ของ วิลเลียม เบลก (William Blake) เป็นต้นแบบของการเขียนภาพ ถวัลย์ ดัชนี เช่น ภาพคนมีกร้ามเนื้อ ผมรู้สึกเหมือนเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกันอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ผมเกิดความฮึกเฮิม มั่นใจ

ผมมึนๆ เบลอๆ รู้สึกว่าภายในมันแตก เหมือนเขื่อนแตก หลังจากที่ได้ฟังอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี บรรยาย ผมประกวดวาดภาพได้รางวัลศิลปินล้านนา ผมยุ่งอยู่กับการเป็นคนเก่ง เป็นคนโดดเด่นในชั้นเรียน ได้รับรางวัลติดบอร์ดโรงเรียน แต่ในช่วงหลัง ผมถูกให้ออก (retire) เพราะผมไม่เรียนหนังสือ ขลุกอยู่แต่ในห้องสมุด ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการวาดรูป แต่ผมไม่เสียใจเพราะต่อมาผมเข้าเรียนในโรงเรียนที่ผมอยากเรียน คือ สิริกรศิลปวิทยา

คัดลอก เรียนรู้ ภาพวาดของศิลปินดัง

ผมเรียนวาดภาพที่โรงเรียนสิริกรศิลปวิทยา เป็นตัวแทนโรงเรียนเขียนรูปแสดงในงานแสดงต่างๆ ผมไม่เรียนหนังสือแต่ใช้เวลาส่วนใหญ่เขียนรูป เขียนภาพในงานฤดูหนาวที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ถ้าไม่มีงานวาดภาพนอกสถานที่ ผมจะทำงานให้โรงเรียน เช่น เขียนป้ายโฆษณาโรงเรียน เขียนโปสเตอร์โรงเรียน นั่นเป็นสิ่งที่ผมถูกใจผมมากที่สุด 

หลังเรียนจบ ผมมีนิสัยแบบเดิม ไม่ทำอย่างอื่นนอกจากการวาดรูป ผมสอบเข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปากรมีข้อดีคือที่คณะศิลปะกรรม  ช่วงก่อนสอบ 2 สัปดาห์ เขาจะเปิดติวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นการติวเข้มข้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มช่างศิลป์ ผมตื่นตาตื่นใจกับการติวเข้ม การเขียนภาพ คนนั่ง คนยืน เขาให้ผมเขียนจนหลับคากระดาษ ผมสอบติดเป็นตัวสำรองอันดับหนึ่ง ผมไม่รู้ว่า ประกาศรายชื่อเมื่อไหร่อย่างไร รุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรส่งโทรเลขมาถึงบ้าน บอกให้ผมมอบตัวเพื่อเข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ผมรู้สึกว่า ผมช้ากว่าคนอื่น ทำให้ผมต้องเร่ง เร่งภายใน เร่งฝึกฝีมือ ภายในมันมีสัญชาตญาณ ภายในมันเต้น

“ผมรู้สึกอยู่เสมอว่า ผมช้ากว่าคนอื่น รู้สึกเป็นปมด้อย ผมใช้วิธีฝึกฝนแบบเดิมคือคัดลอกหนังสือในห้องสมุด นั่นเป็นความรู้ที่สะสมมาจนถึงทุกวันนี้”

การคัดลอกผลงานของศิลปินใหญ่ เราจะเข้าใจวิธีการวางองค์ประกอบ การใช้สี ผมได้ความรู้เยอะมาก เพราะยุคสมัยก่อนไม่มีสื่อโซเชียล มีแต่ดูหนังสือ เวลาเรียนในห้องเรียนดรออิ้ง ลายเส้น (Drawing) ใช้เวลาครึ่งวัน เพื่อนร่วมชั้นจะดรออิ้ง 3 แผ่น ส่วนผมจะดรออิ้ง 7-10 แผ่น

ผมชอบ จ่าง แซ่ตั้ง ,ถวัลย์ ดัชนี , ประเทือง  เอมเจริญ ผมดูงานที่ซุกซ่อนในบ้านเก่า ผมชอบแนวทางเพราะ จ่าง แซ่ตั้ง เขียนหนังสือเต๋า วิถีแห่งเต๋า นั่นก็เป็นอีกแรงบันดาลใจ หลังจากนั้น หนังสือแปลเกี่ยวกับเซ็นก็ถูกพิมพ์จัดจำหน่ายจำนวนมาก เช่น หนังสือที่แปลโดย พจนา จันทรสันติ ผมอยู่ใกล้ร้านหนังสือดอกหญ้า ผมจะอยู่กับเรื่องพวกนี้ ผมชอบคำสวยๆ ในนิยายกำลังภายในจีนที่แปลโดย ว ณ เมืองลุง ส่วนหนังสือ “วิถีแห่งเต๋า” ผมพกติดตัวอยู่เสมอ ผมจะมีกลุ่มคนที่จะคุยกันเรื่องนี้ เรื่อง คาลิน ยิบราน,เซ็น นำบทความเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคุยกัน ผมอาจไม่เข้าอะไรลึกซึ้ง แต่ผมเข้าใจเรื่องอารมณ์ในแต่ละบท มันประณีต ทำให้มองเห็นภาพ มันเหมือนการฝึกเห็นภาพ

หลังสอบ ผลคะแนนออกมา อาจารย์จะตกใจ เขาก็จะถามว่า เธอคิดอะไรแบบนี้ได้อย่างไร ผมไม่กล้าพูด ไม่กล้าบอกว่าผมไปคัดลอกแล้วนำมาปรับนิดหน่อย เพราะผมมองในทีท่าของศิลปินใหญ่ เวลาผมฟังครู ผมก็ฟังผ่านๆ เพราะตอนนั้น ผมข้ามไปไกลมาก ผมมานึก เวลาเข้าห้องเรียนผมต้องถอยกลับ เวลาอาจารย์สอน ภาพมันอยู่ในใจ อย่างอาจารย์บอกว่า คนเก่งวางองค์ประกอบอย่างไร เช่น ปิกัสโซ่ ภาพผลงานของปิกัสโซ่ก็จะออกมาจากความคิดของผม เวลาครูสอนศิลปะในห้องเรียน กับการดูหนังสือ ผมสามารถตอบโต้กับหนังสือได้ชัดเจน ยิ่งเวลามองเห็นงานศิลปินใหญ่ หัวใจมันจะเต้นตึงๆ ตังๆ มีการตอบโต้ ตอบสนอง ยิ่งเวลาชมงานนิทรรศกาลแสดงศิลปะ หัวใจมันฟู ไม่หลับไม่นอน

ตอนผมถูกให้ออก (retire) ผมรู้สึกดี รู้สึกว่าไม่ต้องเป็นนักศึกษาตอนเป็นนักศึกษาอาจารย์ให้ส่งงานสเก็ต แต่ผมส่งผลงานจริง ความรู้สึกภายในเราไม่ได้เป็นนักศึกษาอีกแล้ว เพื่อนยังเป็นนักศึกษา ยังตื่นสาย เวลาส่งสเก็ต ผมต้องปลุกให้เพื่อนตื่น เมื่อนำผลงานไปส่ง อาจารย์ที่ปรึกษาทราบแล้วว่า ผมไม่ใช่นักศึกษาแต่เป็นคนทำงานศิลปะจริงๆ นักศึกษาเมื่อเรียนจบก็เลิกเขียน เพราะไม่มีคะแนนให้ ไม่รู้จะส่งผลงานให้กับใคร แต่สำหรับผมไม่สนใจครู ครูของผมอยู่ในหนังสือ หรือผลงานของศิลปินใหญ่

ในมุมมืดของเมืองหลวง จิตใจแจ้งสว่าง มองเห็นรายละเอียดธรรมชาติชนบท

ตอนผมเรียนศิลปากรปี 5 งานของผมมีบุคลิก กระทั่งถึงวันที่คิดว่า ผมถูกให้ออก (retire) อาจารย์ฉลูด นิ่มเสมอ บอกว่า คุณไม่ต้องมาเรียน เอางานมาส่งก็พอ ผมรู้สึกว่า เรียนจบแล้ว เพราะผมไม่มีอะไรผูกพันกับห้องเรียนอีกแล้ว ผมเหมือนโดนไล่ให้ไปทำงาน ต่อมา พ.ศ. 2530 ผมได้รางวัลในลิขิตสวรรค์ บัวหลวง หลังจากนั้นผมก็ไม่ไปที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเพราะผมมีงานตลอด ตอนผมอยู่ในกรุงเทพฯ

“เวลาผมอยู่ในที่มืดตอนกลางคืน จิตใจของผมจะสว่าง ในจินตนาการผมจะมองเห็นรายละเอียดชนบท เหมือนตอนเด็กผมไม่สนใจ แต่เมื่อเติบโตผมกลับมองเห็นภาพของชนบทเป็นเรื่องราวที่ชัดเจน”

หลังจากประกวดผลงานศิลปะได้รับรางวัล ผมมีเงินเก็บที่ได้จากการประกวด ผมตัดสินใจกลับบ้าน เพราะผมไม่ชอบเมืองหลวงที่วุ่นวาย ภาพชนบทชัดเจน สว่าง กว้างขวางมหาศาล  ถ้าผมอยู่กรุงเทพมองหาชนบท ผมจะมองเห็นปลา เห็นปู ชัดเจนในรายละเอียด ในช่วงเวลาที่เรียนมหาวิทยาลัย ผมเขียนรูปจำนวนมาก เขียนรูปขนาด 2 เมตร คืองานถนัด แล้วจะมีงานแบบนี้เยอะมาก เมื่ออายุ 25 ปี ผมจัดนิทรรศกาลแสดงผลงานศิลปะของตนเองเพราะผมได้รางวัล ผมมีงานเขียนภาพร้อยชิ้น นักสะสมภาพวดมองผมเป็นศิลปิน การแสดงผลงานทำให้ผมมีทุนสำหรับทำงาน ผมจัดนิทรรศกาลแสดงผลงานศิลปะ ปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ.2531-2535 มีคนรอซื้อผลงาน มีคนติดตามผลงาน

ช่วงที่ผมได้รางวัล หลายคนห้ามไม่ให้ผมกลับบ้าน เขาบอกว่า “ประสงค์ไม่ต้องไปไม่มีใครอยู่บ้านนอกแล้วจะมีชื่อเสียง” ผมเพิ่งประกวดผลงานได้รับรางวัล ผมรู้แล้วว่า แหล่งอาหาร แหล่งจิตวิญญาณที่อุดมสมบูรณ์อยู่ที่ชนบท ผมกลับไปทำงานที่บ้าน จังหวัดลำพูน บ้านของผมเป็นบ้านไม้หลังเก่าซึ่งปล่อยทิ้งร้างมานาน ทันทีที่เดินทางถึงผมก็ปรับแต่งบ้านใหม่ เอาฝาบ้านออก ทำเป็นห้องโล่งๆ สำหรับทำงาน ตากับยายของผมก็งง เริ่มสังสัยและตั้งคำถามว่า ทำไมมีคนมาเยี่ยมบ้านบ่อยครั้ง บางคนเป็นคนมั่งมี บางคนมีตำแหน่งใหญ่โต เพื่อนบ้านเริ่มสังเกต เริ่มไม่เข้าใจ หลังจากนั้น ผมก็มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ตายายเริ่มสบายใจเพราะผมเริ่มมีเงินเก็บ ผมสร้างแกเลอรี่เพิ่มอีกหลายหลัง ยิ่งนานวัน ผลงานเขียนของผมยิ่งมีเอกลักษณ์หรือมีบุคลิก นักสะสมน้อยลง นักสะสมตัวจริงเหลือเพียง 10 คน แต่เป็นตัวจริงเหนียวแน่น ผลงานเหมือนโดนจริต ยิ่งเป็นผลงานศิลปะชิ้นใหญ่ ผลงานจะเลือกคนตามธรรมชาติ เพราะคนที่จะสะสมผลงานของผมได้ ต้องมีบ้านหรือมีหอศิลป์ มีพื้นที่สำหรับติดภาพวาด

ความเป็นศิลปินเกิดจากธรรมชาติภายใน มีการสะสม บ่มเพาะภายใน ผมคิดว่า ภายในของผมทำงาน เหมือนเวลาผมเจออาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี เราจะรู้สึกตื่นรู้ ถ้าไม่แบบนั้นผมจะไม่ตื่นเลย คนอื่นเขาอาจวาดรูปเป็น แต่ภายในยังไม่ได้รับการสั่งสม ผมไม่ใช่คนขยัน ผมมีความรู้สึกว่า มีบางอย่างที่ขาดหายภายในจิตใจของผมอยู่ตลอดเวลา แต่ความรู้สึกภายในมันแรงกว่า ยิ่งในช่วง 15 ปีหลัง ผลงานของผมยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเริ่มเขียนภาพ ให้ลืมความคิด มองจิตใจให้เห็นภาพ   

สำหรับวิถีจีน เข้ามาในความรู้สึกของผมตั้งแต่เด็ก แต่ผมถ่ายทอดไม่เป็น เมื่อเติบโตเรียนมหาวิทยาลัยตอนปี 4 ผมเริ่มเขียนพระโพธิสัตย์ มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมจีน แต่เส้นสายศิลปะมันถอดวัฒนธรรมจีนออกไป ลายเส้นเป็นแบบ ประสงค์ ลือเมือง กระทั่งปัจจุบัน แต่ผลงานยังมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมจีน ผมเริ่มแปลกใจว่า ศิลปินจีนเริ่มมาเยี่ยมเยือนที่บ้าน แต่ละครั้งกลุ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แล้วเวลาพูดคุยก็จะคุยกันรู้เรื่อง คุยกันถูกคอ ทั้งที่พูดภาษาจีนไม่ได้ แต่เราสื่อสารเรื่องผลงานศิลปะกันได้

เรื่องวิถีพุทธ ในวัยหนุ่มช่วงที่ผมได้รางวัล ผลงานของผมยังไม่มีเนื้อหาเรื่องศาสนา เมื่ออายุ  25 ปี เนื้อหาเรื่องพุทธก็ติดตามมา ผมเริ่มศึกษาธรรม พิจารณาอสุภ กระดูก ลมหายใจ ซึ่งเป็นแนวทางพุทธ เนื้อหาผลงานศิลปะก็เริ่มจากพระไตรปิฎก เริ่มพิจารณาจากคู่ตรงข้าม ขาวดำ หญิงชาย เนื้อหาเรื่องธรรมะไม่ถูกนำเสนออย่างตรงตัว แต่นำเสนอเรื่องของความรู้สึก ถ้าเขียนตรงตัวอาจเป็นภาพประกอบเล่าเรื่อง เหมือนภาพฝาผนังโบสต์วิหาร แต่ผลงานของผมเป็นเรื่องอารมณ์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อารมณ์ที่มองเห็นความคิดปรุงแต่ง เป็นการเล่าเรื่องผ่านอารมณ์ เหมือนยิ่งเขียนก็จะยิ่งเลือนหาย รสชาติทางศิลปะจะแสดงออกมามากว่า ยิ่งถามยิ่งตอบไม่ได้ เนื้อหากลายเป็นเรื่อง ชักนำ ชักจูง หรือชี้นำ

ผมทำงานศิลปะ 36 ปี ทุก 5 ปี จะเปลี่ยนรูปแบบ จากสีน้ำมัน เป็นสีน้ำ ดรออิ้ง มาเป็นหมึก ผมอยากเห็นมุมใหม่ เหมือนกินข้าวอิ่มแล้วอยากเปลี่ยนแกง ส่วนแนวคิด เปลี่ยนแปลงไม่มาก แต่ถ้าผมคิดเรื่องธรรมะ ช่วงนี้จะเขียน ดินน้ำลมไฟ อสุภ มันจะเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย มองย้อนกลับไปในอดีต ผมคิดว่า ผมชัดเจนมากตั้งแต่วัยเรียน ความรู้สึกเหมือนตราตรึงในใจ ไม่หนีไปไหน แถมยังดุเดือดกว่าเดิม

ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมา ผมไม่เคยสเก็ตภาพ เขียนงานวันต่อวัน เพื่อนก็เข้าใจยาก เพราะทุกคนถูกสอนให้สเก็ต การสเก็ตทำให้รู้สึกว่าทำงานผิดพลาด แต่ถ้าผมทำงานมันจะเป็นการตอบโต้เหมือนคำพูด ยิ่งผมปฏิบัติธรรมเจริญสติ ผลงานศิลปะจะออกมาเป็นวัน เหมือนการเขียนบันทึกประจำวัน วันละตารางฟุต  ข้อดีของการไม่มีสเก็ตคือ ผมจะมีภาพในใจ ผมสามารถเขียนภาพยาว 3 กิโลเมตรได้ ผมจะมองเป็นภาพ เช่น ถ้าผมมองภาพสีเหลี่ยม ผมจะมีเห็นตำแหน่งองค์ประกอบ แต่ถ้าสเก็ต ผมจะค่อยๆ คิด วางเป็นลำดับ 1, 2, 3 แต่ถ้าผมเห็นภาพ ผมจะเกิดจินตนาการ วันนี้มองเห็นแบบนี้ พรุ่งนี้อาจมองเห็นอีกแบบ ผมจะมองเห็นขณะที่ผมกำลังวาดภาพ

“ตั้งแต่วัยเด็กผมไม่ได้ถูกฝึกให้คิด แต่ถูกฝึกให้เห็นภาพ ลืมเรื่องสมองแต่มองเห็นภาพจากใจ ลืมความคิดซึ่งมันเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรม”

เป็นเรื่องที่อธิบายยาก หากไม่เคยฝึกปฏิบัติ ความโชคดีของการทำงานเหล่านี้คือ การทำงานหนัก พิจารณามาก การพิจารณาคือการมองอย่างถี่ถ้วนกว่าคนอื่น ในวงการเรียกกันว่า มีตาทิพย์ คือการพิจารณาลึกซึ้งกว่าคนอื่น ภาพที่ผมมองเห็นก่อนลงมือเขียน 60 เปอร์เซ็น ผมจะเห็นเบลอๆ ภาพจะชัดขึ้นตอนที่ผมเขียน หลายคนทำไม่ได้ เพราะจะติดอยู่กับการสเก็ต ทำให้เกิดความกลัว ไม่กล้า ส่วนผมไม่มีอะไรมากีดกั้น กีดขวาง ผมรู้สึกอยากเขียน รู้สึกแล้วเขียน การเขียนเปรียบเหมือนคำพูดของผม พูดแล้วก็เป็นรูป ศิลปะฟุ้งออกมาจากใจ

ผลงานเข้มข้นเกิดจากความจริงใจ ไม่ผ่านแนวคิด ไม่ผ่านรูปแบบ

มีหลายอย่างที่ช่วยค้ำจุนผม เหมือนเดินทางไปไหนบางแห่ง สายตาคนก็จะมองผม เวลาจะทำอะไรก็ต้องตั้งใจทำ ผมอยู่กับกลุ่มศิลปินได้เพราะผมเคารพงานของเขา ยิ่งคนที่มีงานดียิ่งต้องเคารพงานของเขา ศิลปินทำอะไรก็เหมือนต้องฟังเพราะเขาเหนือกว่า มิใช่เหนือกว่าเพราะอิทธิพลทางความคิด แต่เพราะผลงานที่เขาทำออกมา ผู้คนเข้ามาหาผมเพราะพวกเราคุยกันเรื่องงาน ผมรักษาความดีความงาม ผมทำงานจากกำลังภายใน คือทำงานแบบไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ

“ผลงานที่เข้มข้นเกิดจากความจริงใจ มันออกมาโดยไม่ผ่านแนวคิดใด ไม่ผ่านรูปแบบ เสียงภายนอกไม่มีอิทธิพลกับผม คนนั้นบอกว่าดี คนนี้บอกว่าไม่ดี สิ่งรอบข้างรอบตัว เสียงภายในของผมดังกว่า”

ถ้าผมปล่อยให้เสียงภายนอกดังกว่า เสียงภายในก็เลยผ่อ มันแตกต่างกัน ส่วนความรู้สึกก็จะฟุ้งออกมาโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการอันใด หลายคนอยากแสดงบุคลิก เปรียบเทียบเหมือนเวลาทำงาน เขาบอกให้ใส่สีเขียว ความจริงผมอาจชอบสีแดง แต่ผมต้องใส่สีเขียวเพราะเสียงข้างนอกดังกว่า แต่การที่ผมมองเห็นเพื่อนแล้วอยากทำงานด้วย ก็เป็นเพราะใจผมฮึกเฮิม อยากทำ มันเป็นการตอบโต้ ตัวอย่าง การที่ผมชอบ จ่าง แซ่ตั้ง,  ถวัลย์ ดัชนี ,ประเทือง เอมเจริญ เมื่อเห็นงานผมจะรู้และเข้าใจในงานของเขา ศิลปะเอเชียเป็นเรื่องนุ่มเนียน ศิลปะตะวันตก ชัดเจน เรื่องความเป็นปุถุชน แสดงออกผ่านฝีแปรง จัดจ้าน ไม่สนใจ แต่เอเชียนุ่มละมุน ประณีต บรรจง ไม่มีเสียงดังโหวกเหวก ศิลปะตะวันออกอาจมีความดิบแต่ยังมีความเป็นช่าง มีสุนทรีย์ ส่วนศิลปะตะวันตกจะชัดเจน ความมีเลือดมีเนื้อ มีความเป็นปุถุชนชัดเจนมาก

เมื่อ 20 ปีก่อน ผมเคยดูเบียนนาเล่ที่เยอรมัน เป็นงานกลางแจ้ง เป็นการแสดงความคิด แต่ผมมองในแง่มุมของคนวาดภาพ ผมไม่ถูกใจเท่าใด พอมาถึงเชียงรายเบียนนาเล่ ก็ยังเป็นประมาณนั้น เพราะว่า ผมยังอยู่กับอารมณ์แบบคนเขียนภาพ แต่เบียนนาเล่ไม่ใช่งานวาดเขียน เบียนนาเล่เป็นการแสดงออกแนวความคิด คิดใหม่ ทำใหม่ เป็นสิ่งที่ดีนะครับ เพราะคนที่ทำงานศิลปะ หรือชอบงานศิลปะ จะได้มุมมองและเกิดข้อเปรียบเทียบ

ผมตื่นเช้าขึ้นมาเขียนรูป เขียนรูปได้มากได้น้อยไม่เป็นไร แต่ทำให้เป็นนิสัยสันดาน เพราะหัวใจกับมือต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอด สองส่วนที่ควบคู่กันมาตั้งแต่ต้น ผมทำงานถ่ายทอดเป็นธรรมชาติ ผมมีความละเอียดเรื่องการพิจารณา ผมปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ ผมจึงมองเห็นหลายมุมที่ลึกซึ้งกว่าคนปกติที่ไม่เคยปฏิบัติธรรม ผมฝึกพิจารณา อยู่ในทางธรรม ธรรมะช่วยกล่อมเกลาจิตใจ

สัมภาษณ์ ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)