ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ คืออาจารย์ประจำ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา เขาได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นด้านการวิจัยที่สร้างประโยชน์ให้ชุมชน ทำงานศึกษาวิจัยและมีส่วนพัฒนาการผลิตเนื้อโคขุนดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ทำให้เกษตกรสามารถลดต้นทุนการผลิตและพัฒนาคุณภาพของเนื้อโคขุนให้มีคุณภาพดีกว่าเนื้อโคต่างประเทศ ปัจจุบันเขากำลังส่งเสริมกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เริ่มจากการทำวิจัยสู่การพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ มีใบรับรองคุณภาพมาตรฐานอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม ทำให้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรมีคุณภาพ จัดหาพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าให้กับกลุ่มผู้บริโภค สินค้าหลายชนิด สินค้าผักสลัดหกชนิด, สินค้าข้าวอินทรีย์, ข้าวฮางงอกอินทรีย์, และลิ้นจี่อำเภอแม่ใจ ประสบความสำเร็จด้านการตลาด คุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคชาวไทยและชาวต่างประเทศ

เริ่มต้นจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

พ.ศ.2552 ผมเริ่มทำงานเป็นอาจารย์สอน สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา จำได้ตอนนั้นโครงสร้างฟาร์มปศุสัตว์สำหรับการสอนนิสิตสัตวศาสตร์ไม่มีอะไรสักอย่างเลย ต้องทำเรื่องขอพื้นที่สร้างโรงเรือน หาไก่ แพะ โค เพื่อให้นักศึกษาฝึกเรียนในภาคปฏิบัติ หลังจากนั้นผมเริ่มทำงานวิจัย ทำงานบริหารวิชาการ จากการศึกษาข้อมูลของจังหวัดพะเยาเราพบว่า พะเยาเป็นเมืองเล็กเหมาะสำหรับการเลี้ยงโคมาก ครอบครัวของผมก็มีอาชีพเกษตรกร ทำนา เลี้ยงโค ผมคิดว่า น่าจะผลักดันการเลี้ยงโค เมื่อค้นข้อมูลพบว่า อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ประเทศไทย มีศักยภาพ มีเกษตรกรเลี้ยงโคขุนลูกผสมพันธุ์ชาร์โรเล่ส์ จำหน่ายให้กับสหกรณ์โคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร

ช่วงนั้นเป็นช่วงหมอกควัน มีการเผาป่าและวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรซึ่งก่อให้เกิดมลพิษ จังหวัดพะเยาเป็นจังหวัดที่ทำการเกษตรเป็นหลัก มีผลผลิตเหลือจากการทำการเกษตร เช่น ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด เพื่อลดการเผา ผมจึงได้ทำการทดลองหมักกับเชื้อจุลินทรีย์ที่หาได้ง่ายในพื้นที่ คือหมักข้าวแป้ง หรือแป้งเหล้า พยายามหาวัตถุดิบที่ชาวบ้านหาได้ หลังจากนั้นทดลองผสมกับกากน้ำตาล ผสมรำข้าว ผลวิเคราะห์พบว่า มีโปรตีนในอาหารสัตว์มากขึ้น สมัยก่อนต้นทุนอาหารโคขุนค่อนข้างแพงเฉลี่ยวันละ 90 บาทต่อตัว อาหารหลักคือกากเบียร์ซึ่งต้องสั่งจากจังหวัดราชบุรี สระบุรี เพื่อเลียนแบบการเลี้ยง วัวแบบญี่ปุ่น ทาจิมะ (Tajima)  สายพันธุ์วากิล (Wagyu) เมื่อเราหมักอาหารด้วยแป้งเหล้า โคก็จะกินอาหารที่มีระดับแอลกอฮอล์เล็กน้อย ทำให้โคขุนผ่อนคลาย กินอาหารได้เยอะ พักผ่อนมาก ทำให้โคขุนโตไวและได้เนื้อคุณภาพที่มีไขมันแทรกเยอะ เราสามารถลดต้นทุนอาหารเลี้ยงสัตว์จากวันละ 90 บาทเหลือเพียง 50 บาทต่อวัน

พฤติกรรมการรับประทานเนื้อโคแบ่งออกเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือ “เนื้ออุ่น” คือเนื้อโคทั่วไปที่รับประทานในประเทศไทย เช่น เมนูลาบ เมนูแกง ส่วนเนื้ออีกประเภทคือ “เนื้อเย็น” หลังเข้าโรงเชือดต้องเอาเข้าห้องเย็นอีก 10-14 วัน เพื่อบ่มเนื้อ ทำให้เนื้อมีจุลินทรีย์ช่วยย่อยทำให้เนื้อนุ่ม มันเป็นวัฒนธรรมการรับประทานในประเทศแถบยุโรปและญี่ปุ่น เนื้อโคขุนจึงราคาแพงมากกว่าเนื้อทั่วไปเพราะกระบวนการผลิต เนื้อโคสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่า พ่อแม่พันธุ์คือตัวไหน ผสมพันธุ์เมื่อใด เลี้ยงอย่างไร

ศักยภาพเนื้อโคเนื้อประทศไทยเทียบกับต่างประเทศ

เนื้อโคขุนดอกคำใต้ จังหวัดพะเยามีศักยภาพมาก สามารถผลิตเนื้อไขมันแทรกได้ถึงเกรด 5 อันเป็นเกรดสูงสุดในเนื้อโคขุนพันธุ์ทาจิมะสายพันธุ์วากิว เปรียบเทียบกับสิบปีก่อน เราผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพเฉลี่ยเกรด 2 ตอนนี้เราผลิตเนื้อโคขุนเฉลี่ยเกรด 3.5 ถึง 4 สมัยก่อนมีปัญหาต้นทุนการผลิตเรื่องโรงเชือด ต้องส่งโคขุนไปเชือดที่จังหวัดสกลนคร โคขุนเมื่อถูกขนส่งเดินทางน้ำหนักลดลงตัวละ 60-70 กิโลกรัม เมื่อเข้าโรงเชือดเราได้แต่เนื้อ ส่วน เครื่องใน หัว เท้า หาง หนัง โรงเชือดเก็บไว้เพื่อคิดเป็นค่าบริหารจัดการโรงเชือด หรือคิดเป็นเงินประมาณ 8,000 – 10,000 บาทต่อตัว เราจึงของบประมาณจาก กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอบบน 2 ผ่านสำนักงานปศุสัตว์พะเยา เพื่อสร้างโรงเชือด ที่อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา หลังการก่อสร้างเราสามารถลดต้นทุนการบริหารจัดการได้อีกจำนวนหนึ่ง

ผู้บริโภคชาวไทยมีทัศนคติที่ผิดที่คิดว่าเนื้อโคจากต่างประเทศมีคุณภาพดีกว่าประเทศไทย เนื้อโคต่างประเทศเขาเลี้ยงปล่อยตามทุ่งหญ้า แต่บ้านเราโคขุนในคอก การเลี้ยงดูโคขุนมีความประณีตละเอียดอ่อนกว่า คุณภาพเนื้อโคต่างประเทศสู้ประเทศไทยไม่ได้ หลายคนสั่งเนื้อโคจากต่างประเทศมาทำลูกชิ้นก็มี แต่ถ้าเป็นเนื้อโคเกรดพรีเมี่ยมจากต่างประเทศตามภัตตาคารก็เป็นเนื้อพรีเมี่ยมอีกเกรด ปัจจุบันต่างเทศประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ส่งคนเข้ามาศึกษาดูงานเลี้ยงโคขุนเพื่อสร้างฐานการผลิต ส่วนพ่อค้าชาวจังหวัดพะเยาก็จำหน่ายโคเนื้อมีชีวิตให้กับชาวต่างประเทศจำนวนมาก จำหน่ายให้กับประเทศจีนเฉลี่ยเดือนละ 1,000 ตัว จำหน่ายให้กับมาเลเซียเดือนละ 600-700 ตัว

ทิศทางการพัฒนาโคขุนพะเยา คือการสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิต เชื่อมกับการตลาดโคเนื้อแปรรูปและโคมีชีวิต มีการจัดกระบวนการและแบ่งปันส่วนแบ่งกำไรอย่างเหมาะสม ตลาดโคเนื้อน่าจะเติบโตได้อีก แต่เราต้องมีการแปรรูปสินค้า เรามีโคสายพันธุ์ดี มีโรงเชือดที่มีคุณภาพ มีเนื้อคุณภาพดี พะเยาน่าจะมีสินค้าอันเป็นอัตลักษณ์ เป็นสินค้าของฝากหรือเป็นร้านอาหารเมนูสเต็ก โคขุนมีเนื้อหลายส่วนหลายราคา เนื้อบางส่วนที่มีคุณภาพดีแต่ราคาไม่แพง  

ปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรกรไทยสู่เส้นทางเกษตรอินทรีย์

พ.ศ. 2562 ผมได้โครงการวิจัยและบริการวิชาการ ซึ่งจากการได้พูดคุยกับห้างสรรพสินค้าเลมอนฟาร์ม พบว่าความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์มีแนวโน้มสูงขึ้น ผมต้องพัฒนาลิ้นจี่กลุ่มอนุรักษ์ผลิตลิ้นจี่คุณภาพห้วยป่ากล้วย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ให้มีคุณภาพสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ผมอยากจะพัฒนาปศุสัตว์อินทรีย์ ไข่ไก่อินทรีย์เพื่อส่งจำหน่ายห้างสรรพสินค้าเลมอนฟาร์ม ผมจึงได้ศึกษามาตรฐานเกษตรอินทรีย์พบว่ามาตรฐานที่รับรองเกษตรอินทรีย์มีหลายค่าย เช่น ออร์แกนิคไทยแลนด์ โดย กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว หรือ PGS ของพัฒนาที่ดิน

ส่วนราชการมีข้อจำกัดเรื่องเวลาและงบประมาณ เกษตรกรชาวบ้านเข้าถึงมาตรฐานยาก แต่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS มีกลไกลสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน มีชาวบ้านหรือเกษตรกรเป็นจุดศูนย์กลางเป็นผู้เริ่มต้น โดยใช้พื้นที่เป็นที่ตั้ง และสมาพันธุ์ถูกตั้งขึ้นในแต่ละจังหวัด มีการอบรมพัฒนาผู้ตรวจแปลง มีการใช้เทคโนโลยี มีการสลับกันตรวจแปลงอินทรีย์ซึ่งทำให้ประหยัดงบประมาณ ตอนนี้ผมรับเป็นประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดพะเยา การดำเนินงานในปีแรกมีงบประมาณการจัดอบรมจากงบบริการวิชาการที่ตนเองได้รับ แต่เมื่องบประมาณหมดลงก็เลยเชิญส่วนงานอื่นเข้ามาร่วมสนับสนุน

ข้อจำกัดของการออกใบรับรองโดยส่วนราชการคือต้องอยู่ในรอบงบประมาณ ไม่มีความยืดหยุ่น กลุ่มเกษตรกรจึงอาสาขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ สร้างมาตรฐานในการยอมรับร่วมกัน ตอนนี้เกษตรกรหลายคนได้รับใบรับรอง สามารถตรวจสอบการปลูกพืชอินทรีย์ สินค้าหลายตัวเมื่อมีใบรับรองก็มียอดขายเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น มีช่องทางการตลาดได้กว้างขึ้น พวกเราเริ่มต้นจากศูนย์สร้างเป็นเครือข่าย สร้างระบบการตรวจสอบแปลง ระบบการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ว่าสินค้าปลอดภัย

มหาวิทยาลัยพะเยาสนับสนุนเครื่องมือการตรวจวิเคราะห์สารตกค้าง,ด้านการตลาดขณะนี้สมาพันธ์กำลังสร้างจุดจำหน่ายสินค้าบริเวณข้างโรงพยาบาลพะเยา เราไม่มีงบประมาณแต่มีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานเพื่อของบประมาณสนับสนุน ตอนนี้ผมได้รับงบประมาณการงานวิจัยด้านชุมชนนวัตกรรม เรื่องการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดพะเยาสู่การสร้างชุมชนนวัตกรรม เพื่อให้ตัวเกษตรกรที่เป็นนักวิจัยร่วม สร้างเกษตรกรให้เป็นนวัตกรชุมชน หรือนักวิจัยชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นองค์ความรู้ที่เกษตรกรได้เรียนรู้ ได้พัฒนาการแก้ปัญหาการผลิต เช่น การจัดการแมลงศัตรูพืช การลดต้นทุน การเพิ่มมูลค่าผลผลิต ให้พวกเขาถ่ายทอดให้กับบุคคลที่สนใจ

สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่กำลังเติบโตมี กลุ่มผักสลัดหกชนิด กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ ลิ้นจี่แม่ใจที่เชื่อมตลาดห้างเลมอนฟาร์มมา 3 ปี เป็นลิ้นจี่พรีเมี่ยมสามารถขายได้ราคาสูงกว่าท้องตลาดหลายเท่าตัว อนาคตสินค้าเกษตรอินทรีย์เติบโตแน่นอน เพราะกลุ่มผู้บริโภคมีการศึกษามากขึ้น มีรายได้มากขึ้น เลือกซื้อสินค้าที่ดีปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่เกษตรกรต้องมีความซื่อสัตย์ในการทำเกษตรอินทรีย์ ทำกินในครัวเรือน ผลิตเองในแปลง เหลือก็แจกแล้วค่อยขาย หากเราใช้ยาฆ่าแมลง ใช้สารเคมีแล้วบอกไม่ใช้ ความซื่อสัตย์มันไม่มีตั้งแต่แรก การทำงานเราพยายามรบกวนชาวบ้านให้น้อยที่สุด เพราะคนทำการเกษตรส่วนใหญ่ไม่ใช่คนร่ำรวย ตอนแรกเราคิดจะเก็บใบรับรองใบละ 300 บาท เพื่อนำมาจัดอบรม การตรวจแปลงอินทรีย์ แต่เมื่อมีหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.), ห้างสรรพสินค้าท็อปพลาซ่าพะเยา, สนับสนุนอาหารกลางวัน อาหารว่าง ในการอบรบ ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอันใดในการขอใบรับรอง

สัมภาษณ์/ภาพ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)