มุมมองทางความคิดของมนุษย์ล้วนมีความแตกต่างอยู่ในตัวตน แม้เป็นเรื่องราวเดียวกันหรือวัตถุชิ้นเดียวกัน ก็มองเห็นและคิดกันคนละอย่าง ต้นตอทางความคิดก็มาจากพื้นฐานซึ่งมนุษย์ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เยาว์วัย (sign) มุมมองและการให้ความหมายในวัตถุบางสิ่งของมนุษย์จึงมิเคยเหมือนกัน

…. คืออะไร ? ความรักคืออะไร ? ภาษาคืออะไร ? ดนตรีคืออะไร ?  

มนุษย์เรากลั่นกรองความคิดจากสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เยาว์วัยเพื่อตอบคำถามเหล่านี้  คำตอบถูกต้องที่สุดไม่มีอยู่จริง มีเพียงคำตอบที่ตรงกับความคิดของผู้ตั้งคำถาม มนุษย์จึงต้องปล่อยวางคำตอบที่ถูกต้องเพื่อให้ความสำคัญกับความคิดอันแปลกต่าง หรือ ความคิดสร้างสรรค์ นั่นเป็นหตุผลว่า ทำไมความคิดของเด็กจึงกว้างและสร้างสรรค์กว่าความคิดของผู้ใหญ่

เมื่อเรามองข้ามความรัก หลงเหลือเพียง ภาษาและดนตรี ในมุมมองของนักดนตรีหลายท่านก็เชื่อว่า ดนตรี ก็คือหนึ่งในภาษาของมนุษย์ที่ใช้สื่อสารในกลุ่มของนักดนตรี แต่มีความแตกต่างกันเพราะภาษาพูดหรือภาษาเขียนเป็นภาษาแบบพรรณา (descriptive) หรือการบรรยายเพื่อให้เห็นภาพลักษณ์ของเรื่องราว ส่วนภาษาดนตรีคือภาษาสัญลักษณ์ซึ่งมีรากฐานจากการไขว้ข้อมูล (cross tabulation) นั่นทำให้รูปแบบการเขียนมีลักษณะเป็นบันทัด 5 เส้น ซึ่งเป็นการไขว้ข้อมูล 2 อย่างคือ จังหวะ และ บันไดเสียง เมื่อ 2 สิ่งรวมกันจึงกลายเป็นทำนองหรือ “เมโลดี้” และเมื่อบทเพลงภาษาดนตรีถูกร้อยเรียงผสมผสานกับภาษาพูดหรือภาษาเขียนจึงได้ภาษาใหม่ที่เรียกว่า “ภาษาของการขับร้อง”

นักร้อง นักดนตรีและโปรดิวเซอร์ ซึ่งเป็นตัวอย่างการสร้างสรรค์คือ “หนู มิเตอร์”  เขาใช้ภาษาถิ่นของคนภาคใต้สร้างภาษาขับร้องในบทเพลง หลายบทเพลงสร้างศิลปินภาคใต้ให้กลายเป็นที่นิยม ก่อนหน้านั้น ก็มีนักประพันธ์เพลงอีกหลายท่านที่ใช้ภาษาไทยสร้างภาษาการขับร้องในดนตรีสากลจนประสบความสำเร็จ แต่การสร้างบทเพลงให้กลายเป็นที่นิยมของคนทั้งประเทศ ก็เหมือนกับการตอบคำถามในเชิงปรัชญาว่า ความรักคืออะไร ? คำตอบถูกต้องที่สุด ไม่มีอยู่จริง มีเพียงคำตอบที่ตรงกับใจของผู้ฟังมากที่สุด

หากเรามองดนตรีด้วยมุมมองทางศิลปะ ศิลปินตะวันออกคือ ศิลปะเป็นการนำเข้า (input) หรือการนำอารมณ์ภายนอกเข้าสู่ภายใน ผลงานเพลงจึงมีความลึกซึ้งจับใจทั้งท่วงทำนองดนตรีและความหมายของบทเพลง สำหรับศิลปินตะวันตก จะสำแดงพลังทางอารมณ์ (expression) มีการสุมพลัง ถ่ายเทพลังออกจากตนเอง  เช่น อัลเทอร์เนทีฟ เฮฟวีเมทัล ร็อก ฉะนั้น อารมณ์ทางดนตรี (emotional) จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของศิลปะและดนตรี

ศิลปินบางคน ไม่ต้องการชื่อเสียง เกียรติยศ ความร่ำรวย เขาต้องการเพียงคนที่เข้าใจและมองเห็นคุณค่าในงานศิลปะ แต่ในทางกลับกัน ศิลปินต้องต่อสู้กับความยากจนเพื่อให้ศิลปะในตัวตนอยู่รอดในโลกอันแร้นแค้น พวกเราจึงมองเห็นศิลปินในรูปของทนายความ นักการเมือง นักร้อง นักแสดง อาจารย์ ฯลฯ ศิลปินน้อยคนนักจะอยู่รอดใช้ชีวิตโดยขาดการสนับสนุนจากสังคม

ผมชอบเรื่องราวศิลปินของ พยัต ภูวิชัย ศิลปินนักแต่งเพลงเล่าว่า เขานั่งเขียนเพลงให้กับวงดนตรี แก้ไขงานเขียนเพลงหลายวัน เขียนตลอดทั้งคืน ชีวิตของเขาในยามนั้น มีเพียงบทเพลงกวีที่ฟังยาก บทเพลงชาวร็อคที่ไร้ชื่อเสียง ทำงานเขียนเพลง 3 เดือน มีรายได้เพียง 3,000 บาท เขานั่งเขียนเพลงอยู่ในห้อง ส่วนภรรยากลับจากการทำงานนอนบนโซฟาด้วยเสื้อผ้าชุ่มเหงื่อโทรมๆ เขาหันมองภรรยาแล้วก็คิดว่า เขาจะเลี้ยงเธอได้อย่างไร เขาจึงตัดสินใจเลิกเขียนเพลงให้กับวงดนตรี แล้วเขียนบทเพลงมอบให้กับภรรยา

หลายครั้งที่ชีวิตเจอกับปัญหา ทำให้ใจเธออ่อนล้าลงบ้างไหม ฉันถามด้วยความรัก ถามด้วยความห่วงใย ไม่ได้ดูถูกเธอ… หลังจากแต่งเพลงนี้ เขาปลุกภรรยาขึ้นมาฟัง ภรรยาของเขาห้ามไม่ให้ขายเพลงนี้กับใคร แต่เมื่อผ่านเวลาประมาณหนึ่งปี ครอบครัวของเขาก็อดทนกับความจนไม่ไหว เขาจึงบอกกับภรรยาว่า เขามอบบทเพลงนี้ให้กับศิลปิน พลพล

ผมมองกีตาร์ตัวหนึ่งที่ พยัต ภูวิชัย ชอบหยิบไปเล่น ตอนนี้มันวางอยู่บนเก้าอี้เอนหลังของผม มันสะท้อนถึงเรื่องราวชีวิตของผมเอง บางสิ่งบางอย่างเราจะมองเห็นคุณค่าในตอนที่เราไม่มีสิ่งนั้นอยู่แล้ว เรามองเห็นคุณค่าของความรักเมื่อความรักจากไป เรามองเห็นคุณค่าของความหมายต่อเมื่อสิ่งนั้นสูญสิ้นหรือไร้ซึ่งความหมาย

กระจอกชัย