สืบสกุล กิจนุกร หรือ MR.SUEBSAKUN KIDNUKORN หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และนักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เขากำลังศึกษาวิจัยเรื่องการปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติ เขามีความรู้มีความเข้าใจปัญหาแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เขาเชี่ยวชาญงานด้านสิทธิมนุษชนโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย วิสัยทัศน์ของสืบสกุล กิจนุกร น่าสนใจเป็นอย่างมาก ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังจะเปิดด่านการค้าชายแดนอีกครั้ง

แรงงานข้ามชาติคือการย้ายถิ่นของมนุษย์

ปัญหาแรงงานข้ามชาติเดินทางเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย ต้องทำความเข้าใจว่า แรงงานข้ามชาติคือการย้ายถิ่น หรือ Migration อันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เราสามารถเล่าย้อนถึงเรื่องการย้ายถิ่นของมนษย์ตั้งแต่ยุคโบราณ ยุควิวัฒนาการของมนุษย์เริ่มจากลิงเป็นมนุษย์ พัฒนาเป็นสังคมเกิดเป็นอาณาจักร ประวัติศาสตร์ไทยก็มีบทบันทึกเรื่องการย้ายถิ่น ศึกสงครามสมัยโบราณก็เป็นการรบเพื่อกวาดต้อนผู้คน  

คำว่า “แรงงานข้ามชาติ”  เริ่มต้นในยุครัฐชาติ มีการแบ่งเส้นเขตแดน การย้ายถิ่นของคนมีความยากลำบาก การเดินทางข้ามเขตแดนต้องมีเอกสารกำกับตัวบุคคล ต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) ส่วนการย้ายถิ่นของแรงงานภายในประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อประเทศไทยบริหารประเทศแบบรวมศูนย์ มีกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลาง คนชนบทเดินทางไปทำงานกรุงเทพมหานคร คนไทยชนบทเริ่มเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ประเทศที่คนไทยนิยมเดินทางไปทำงานคือซาอุดิอาระเบีย

ยุคโลกาภิวัฒน์ เมื่อโลกไร้พรมแดน ทุน สังคม บริการ ผู้คน กลายเป็นกระแสของโลก เมื่อประเทศไทยอยู่ในประชาคมอาเซี่ยน การเดินทางข้ามประเทศของพลเมืองสมาชิกเป็นเรื่องง่าย แต่ก็เกิดปัญหาเพราะเราแบ่งแรงงานข้ามชาติออกเป็น 2. ประเภท ประเภทแรก.กลุ่มคนแรงงานข้ามชาติอันเป็นที่ต้อนรับของประเทศไทย เช่น นักท่องเที่ยว นักศึกษา นักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ คนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ประเภทสอง. กลุ่มแรงงานข้ามชาติอันไม่เป็นที่ต้อนรับของคนไทย แต่ประเทศไทยก็ขาดพวกเขาไม่ได้ เช่น แรงงานข้ามชาติ ลาว กัมพูชา เมียนมาร์

แรงงานข้ามชาติขาดไม่ได้แต่รัฐถือว่าเป็นภัยคุกคาม

ประเทศไทยขาดแรงงานข้ามชาติไม่ได้ ตั้งแต่ พ.ศ.2530 ยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าทำให้ประเทศไทยต้องการแรงงานจำนวนมาก จึงเริ่มเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย

หากกล่าวตามหลักวิชาการ สาเหตุของการย้ายถิ่นฐาน คือความไม่เท่าเทียมกันของการพัฒนาเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ปัจจัยการพัฒนามาจาก ทุน ทรัพยากร แรงงาน ประเทศไทยมีความต้องการแรงงานในธุรกิจหลายประเภท เช่น ลูกจ้างทั่วไป คนล้างรถ เด็กปั้มน้ำมัน คนงานก่อสร้าง นั่นก่อให้เกิดการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ เช่นเดียวกับคนไทยชนบทที่เดินทางเข้ามาทำงานในเมืองหลวง

แรงงานข้ามชาติเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย แต่รัฐมองว่า แรงงานข้ามชาติเป็นภัยคุกคาม ภัยคุกคามเรื่องที่ 1. คือการคุกคามทางเศรษฐกิจภายในประเทศ คนไทยส่วนหนึ่งมองว่า แรงงานข้ามชาติกำลังแย่งอาชีพของตน ภัยคุกคามเรื่องที่ 2. คือภัยคุกคามเรื่องสุขภาพ เราจะพบว่ามีการแพร่ระบาดของโรคซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมานานหลายสิบปี เช่น วัณโรค โรคเท้าช่าง อหิวาตกโรค ภัยคุกคามเรื่องที่ 3. คือภัยคุกคามทางการเมืองระหว่างประเทศ การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสะท้อนให้เห็นปัญหาการเมือง รัฐบาลไทยพยายามโยนปัญหาแรงงานข้ามชาติ โดยการสร้างโรงงานใกล้กับพรมแดนประเทศ บริเวณพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และพื้นที่ จังหวัดเชียงราย ภาคเหนือของประเทศไทย

รัฐบาลไทยยังคงมองว่า แรงงานข้ามชาติเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ โดยดูตัวเลขการก่ออาชญากรรม แต่การเมืองเมียนมาร์ก็ก่อให้เกิดสงครามระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย ทำให้มีผู้ลี้ภัยสงครามพักอาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก ประเทศไทยมีศูนย์อพยพลี้ภัยสงครามหลายแห่ง ผู้อพยพลี้ภัยสงครามส่วนหนึ่งถูกพัฒนาเป็นแรงงานข้ามชาติ เราต้องยอมรับแล้วว่า ประเทศไทยไม่สามารถขาดแรงงานข้ามชาติได้ เพราะเราใช้แรงงานข้ามชาติมานานกว่า 30 ปี ลองศึกษาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเราจะพบว่า แรงงานข้ามชาติทำให้ GDP ของประเทศเติบโตขึ้นมากเท่าใดในช่วงที่ผ่านมา 

ค่าใช้จ่ายเดินเข้าประเทศไทยคือเรื่องปกติ  

“ค่าใช้จ่าย” ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกต้องตามกฎหมายและค่าใช้จ่ายที่ผิดกฎหมายถือเป็นเรื่องปกติ คนไทยที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานแต่ละประเทศก็มีราคาไม่เท่ากัน สำหรับนายจ้าง ขั้นตอนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลานาน แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะทำข้อตกลงระหว่างประเทศ (MOU) กับ ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ แต่กระบวนการและการดำเนินการด้านเอกสารยังล่าช้า แรงงานข้ามชาติไม่รู้ว่าเขาจะต้องทำงานที่ไหน อย่างไร ต่างกับแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศ เขารู้ว่าตนเองจะต้องทำงานที่ไหน อย่างไร ไม่มีขั้นตอนการดำเนินการข้ามประเทศที่ยุ่งยาก ไม่ผ่านขึ้นตอนการตรวจสอบแต่ผิดกฎหมาย

ตอนนี้แรงงานข้ามชาติถูกมองว่าเป็นพาหะโรคระบาด เราจะกล่าวหากลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดไม่ได้ เพราะที่พักคนงานชั่วคราวถูกสร้างขึ้นอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบาด เช่น ที่พักคนงานมีห้องพักรวมกัน มีห้องน้ำรวม มีพื้นที่แออัด

การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใกล้ตัว

ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใกล้ตัว ปัญหาที่ 1. คือนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างแรงงานให้กับแรงงานข้ามชาติตามค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำตามกฎหมายไทย นายจ้างจ่ายค่าจ้างแรงงานเพศหญิงต่ำกว่าเพศชาย ปัญหาที่ 2. คือ ที่พักอาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่เหมาะกับการพักอาศัย ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้โดยง่าย ปัญหาที่ 3. คือ การยึดเอกสารบัตรประจำตัวของแรงงานข้ามชาติ ก่อให้เกิดข้อร้องเรียนระดับสากล ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีขบวนการค้ามนุษย์กลุ่มเทียร์ 3 (Tier) ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย

ปัญหาแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมือง แก้ไขปัญหาได้ด้วยการเปิดประเทศอย่างสมบูรณ์ สร้างช่องทางการทำงานของแรงงานข้ามชาติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ลดขั้นตอนการขออนุญาตเข้าทำงานในประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีระบบการบริหารจัดการแรงงาน ประเทศไทยต้องจัดระบบการเข้าทำงานของแรงงานข้ามชาติระดับชุมชน เพราะพื้นที่ซึ่งมีความต้องการแรงงานข้ามชาติเปลี่ยนแปลงไป ตอนนี้คนไทยเดินทางข้ามประเทศสู่เขตแดนพิเศษของ ลาว เพื่อทำงานให้บริการต้อนรับนักท่องเที่ยว

สัมภาษณ์  ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)