ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ ( ANURUG RUANGROB ) คือ อนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน, อนุกรรมการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบมีส่วนร่วมแบบครบห่วงโซ่ของกระทรวงพาณิชย์, รองประธานคณะกรรมการบริหารสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอสแห่งประเทศไทย, นายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย (TSATA) จบการศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาเอกบริหารธุรกิจ (DBA) Asian Institute of Technology – AIT ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เขามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการเกษตร ทำให้เกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยใช้แนวคิดการสร้างเครือข่ายของศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี ขณะทำงานร่วมกันที่ “มูลนิธิสัมมาชีพ” โดย ดร.อนุรักษ์ ใช้พื้นที่ระดับตำบลเป็นตัวตั้ง สร้างเครือข่าย PGS หรือเกษตรกรรมแบบมีส่วนร่วม 8,000 ตำบล สร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์มีวางจำหน่ายทุกพื้นที่ในประเทศไทย และในอนาคตเขากำลังผลักดันให้เกิด Organic Hub หรือ ศูนย์กลางการค้าขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ทุกภาคทั่วประเทศไทย

สงครามโลกครั้งที่ 2 การเริ่มต้นใช้สารเคมีในการเกษตรประเทศไทย

สารเคมีทางการเกษตรเข้าประเทศไทยพร้อมกับการปฏิวัติเขียว หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สารเคมีถูกแนะนำให้นำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรมากกว่า 50 ปี ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีจึงกำหนดเป้าหมายให้ประเทศของเขาจะต้องมีอาหารปลอดภัย ปลอดสารเคมี มีอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบอินทรีย์รับประทานทั่วประเทศ โดยสหภาพยุโรปเริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่กระบวนการเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง หลังจากรณรงค์มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี สำหรับประเทศไทยเพิ่งตระหนักรู้ถึงพิษภัยสารเคมีอย่างจริงจัง เริ่มสนใจเกษตรอินทรีย์ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนผู้บริโภคเริ่มใส่ใจในสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา

ยุคสมัยก่อน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา การบริโภค การค้าขายสินค้าเกษตรไม่ต้องมีมาตรฐานรับรอง แต่เมื่อมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ ทำให้เกิดกระบวนการสร้างกำแพงทางการค้า สหรัฐอเมริกาสร้าง USDA (U.S. Department of Agriculture) หรือตรารับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นกำแพงให้การนำเข้าอาหารจากต่างประเทศได้ยากขึ้น กระบวนการตรวจสอบก็เข้มข้น ประเทศแคนาดาสร้างตรารับรองมตราฐาน COR (Canada Organic Regime) ญี่ปุ่นสร้างตรารับรอง JAS (Japan. Agricultural Standards) ระดับโลก สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติสร้างมาตรฐานรับรอง IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) แต่เบื้องหลังพบว่า ประเทศผู้จำหน่ายสารเคมีให้กับประเทศไทยคือประเทศที่กีดกันสินค้าจากประเทศไทย โดยอ้างว่าสินค้าเกษตรของประเทศไทยมีสารเคมีปนเปื้อน

เมื่อมีกำแพงสกัดกั้นการนำเข้าสินค้า การจะส่งออกสินค้าให้สหรัฐอเมริกาต้องได้รับการรับรอง USDA ต้องมีหน่วยงานรับรอง ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลเพื่อจะได้รับตรารับรอง เมื่อแต่ละประเทศตั้งกำแพงทางการค้า ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์จึงเดือดร้อนเพราะต้องเสียงบประมาณจำนวนมาก เพื่อเข้าสู่ระบบการรับรองและสามารถนำสินค้าเข้าตลาดต่างประเทศได้ แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ตลาดต่างประเทศเป็นตลาดใหญ่มีแรงดึงดูดในเชิงมูลค่า มูลค่าการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์สหรัฐอเมริกา 24.8 พันล้านเหรียญ เติบโตปีละ 15.8 % ครัวเรือนอเมริกันเมื่อออกนอกบ้านสามารถหาผลผลิตเกษตรอินทรีย์ได้ถึง 82 % สินค้ามีการปนเปื้อนน้อยมาก

ความตระหนักรู้เรื่องการบริโภคของพลเมืองอเมริกันและสหภาพยุโรปมีมาก ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรประเทศไทยยอมจ่ายเพื่อเข้าสู่กระบวนการรับรองเกษตรอินทรีย์ของแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะรับรองแปลง USDA ราคาไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี แปลงใหญ่ๆอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 300,000 บาท ถ้าเป็นโรงงานผลิตอาหารแปรรูปอาจต้องเสียค่าใช้จ่าย 300,000 ถึง 500,000 บาท ถึงจะได้รับการรับรอง

โครงสร้างสังคมเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย

ประเทศไทยใช้สารเคมีในการเพาะปลูกจำนวนมาก สาเหตุเกิดจากการส่งเสริมการใช้เคมีเกษตรโดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน การโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ใช้สารเคมีโดยมีแนวความคิด สร้างการรับรู้ว่า (perception) สารเคมีไม่มีอันตรายร้ายแรง หรือใช้สารเคมีแล้วปลอดภัย ซึ่งความจริง สารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ในการเกษตรจำนวนมากสามารถตกค้างในดินอย่างน้อย 3 ปี เมื่อใช้สารเคมีในการปลูกผัก สารเคมีจะปนเปื้อนในระบบอาหาร เมื่อเรารับประทานทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ แต่การสร้างการรับรู้เรื่อง “การใช้สารเคมีปลอดภัย” ทำให้ประเทศไทยอยู่ในวัฒนธรรมการใช้สารเคมีเกษตรอย่างเข้มข้น ความนิยมในการใช้สารเคมีของเกษตรกรมีมากขึ้นเรื่อยๆ

คนไทยเพิ่งผู้ตระหนักรู้เรื่องพิษภัยของสารเคมี เมื่อ 10 ปีก่อน จึงมีการรวมกลุ่มรณณงค์เรื่องเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันเกษตรอินทรีย์กลายเป็นเทรนด์หรือกระแสที่แรงมาก ความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ผู้บริโภคสามารถหาสินค้าเกษตรอินทรีย์ในห้างสรรพสินค้า เช่น (Tops Market) ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต (Makro) แม็คโคร (Lotus) โลตัส เกษตรอินทรีย์เชิงอุตสาหกรรมในประเทศไทยเริ่มก่อรูปร่าง เราพบสินค้าเกษตรอินทรีย์แปรรูป เช่น น้ำตาลออร์แกนิค ข้าวแปรรูปออร์แกนิค ยางพาราออร์แกนิคเพื่อผลิตของเล่นเด็ก ฯลฯ กำลังเป็นที่สนใจ หากเราจะทำความเข้าใจโครงสร้างการผลิตเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย สามารถแบ่ง Segment เป็น 4 กลุ่ม

กลุ่ม 1. เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง มีลักษณะคือ มีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนน้อย ผลผลิตมีจำนวนน้อย การบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ทำยากมาก มีผลผลิตผักผลไม้อินทรีย์ปริมาณน้อยวางขาย หรือแลกเปลี่ยนในตลาดจริงใจ ตลาดชุมชน ห้างสรรพสินค้า ทำให้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์เติบโต

กลุ่ม 2. กลุ่มเกษตรเชิงพาณิชย์ มีลักษณะคือ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรุ่นหนุ่มสาว (Young Smart Farmer) คนรุ่นใหม่ลาออกจากงานในเมืองหลวงมาทำการเกษตร มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีการจัดทำฐานข้อมูล ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการผลิต มีการบริการจัดการสินค้าสู่ตลาดผู้บริโภคอย่างเป็นระบบ กระบวนการนี้จำเป็นต้องใช้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพราะการวางสินค้าจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล หน่วนงานของรัฐ จำเป็นต้องมีใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

กลุ่ม 3. ผู้ผลิตเพื่อการส่งออก มีลักษณะคือ ถ้าจะส่งสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ต้องมีใบรับรองเกษตรอินทรีย์ของแต่ละประเทศ ผู้ผลิตเพื่อส่งออกจึงจำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานให้เป็นสากล

กลุ่ม 4. อุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์ มีลักษณะคือ เป็นผู้ประกอบธุรกิจส่งออก ประเทศไทยส่งออกข้าว ส่งออกแป้ง น้ำตาล เป็นสินค้าวัตถุดิบ ปัญหาคือ ตลาดต่างประเทศใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์กีดกันการนำเข้าสินค้า มีการพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน การปลดปล่อยก๊าซ กดดันภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกให้ต้องปรับตัว อุตสาหกรรมประเทศไทยถ้าไม่ปรับตัวจะมีปัญหาด้านการแข่งขันในตลาดโลก

ใบรับรองเกษตรอินทรีย์ สัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลงเกษตรกรรมไทย

เกษตรกรประเทศไทย ไม่มีความจำเป็นต้องทำข้อตกลงกับต่างประเทศ หากเป็นการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อการค้าขายภายในประเทศ IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) ซึ่งเป็นสหพันธ์นานาชาติว่าด้วยการขับเคลื่อนเกษตรเกษตรอินทรีย์ระดับโลก บอกว่า การค้าขายสินค้าเกษตรภายในประเทศ ไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองเกษตรอินทรีย์สากล เพราะกระบวนการเพื่อให้ได้รับการรับรองมีค่าใช้จ่ายสูง แต่สามารถใช้กระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม เรียกว่า PGS (Participatory Guarantee System) โดย IFOAM เป็นผู้ออกแบบและถูกนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนสู่เกษตรอินทรีย์ จำนวนกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ผมเชื่อว่าในอนาคตการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างเครือข่าย PGS ระดับประเทศจะเกิดขึ้นได้ง่ายมาก เพราะเราใช้หลักการเดียวกันในกระบวนการผลิต

สำหรับใบรับรอง ออร์แกนิคไทยแลนด์ (Organic Thailand) ช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีจุดอ่อน ประเทศไทยถูกโจมตีเพราะหน่วยงานรัฐบาลรับรองมาตรฐานแบบไม่เคร่งครัด ทำให้ขาดการยอมรับจากต่างประเทศ แต่ในปี 2563 เราประสบความสำเร็จในการยกระดับออแกนิกไทยแลนด์ให้เป็นที่รับรู้ในระดับโลก ตอนนี้ผู้มีใบรับรองมาตรฐานออร์แกนิคไทยแลนด์สามารถส่งสินค้าสู่เอเชียและอเมริกา แต่ก็มีความท้าทายเรื่องการสร้างการรับรู้ เพราะวัฒนธรรมการบริโภคของชาวต่างชาติมีความเชื่อมั่นในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในประเทศของตัวเอง มากกว่ามาตรฐานจากประเทศคู่ค้า

จุดอ่อน อีกประการคือออร์แกนิคไทยแลนด์คือ เป็นกลไกของรัฐบาล ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ หน่วยงานรัฐไม่สามารถรับรองให้ได้ ประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรที่มีเอกสารสิทธิ์ 58 % ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 42 % เพราะฉะนั้น นโยบาย กฎหมาย ความช่วยเหลือของรัฐ ช่วยเกษตรกรได้เพียงครึ่งหนึ่งของประเทศ งบประมาณสนับสนุนกระบวนการรับรองออร์แกนิคไทยแลนด์ก็มีจำกัด ฉะนั้น กระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม หรือ PGS คือกระบวนการที่ชุมชนรวมกลุ่มกันแล้วเกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกษตรกรสามารถทำหน้าที่เสมือนเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของบริษัท สามารถตรวจและรับรองแปลงได้ กระบวนการของ PGS ซึ่งประเทศไทยนำมาใช้มีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรอินทรีย์ประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว

ก่อนที่ผมจะทำงานในฐานะ รองประธานสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอสแห่งประเทศไทย ผมทำงานกับมูลนิธิสัมมาชีพ คำว่า “สัมมาชีพ” เป็นคำของศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี ท่านบอกว่า เราควรจะต้องสร้างชุมชนสัมมาชีพให้เกิดขึ้นทั้ง 8,000 ตำบล ทั่วประเทศ การประกอบการคือ “อาชีวะ” เป็นอาชีพที่มีสัมมา หรืออาชีพที่ถูกต้องสุจริต ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีรายได้มากกว่ารายจ่าย เพราะฉะนั้น เราต้องปรับเปลี่ยนจากการทำมาหากินเพียงอย่างเดียว ต้องทำมาค้าขายด้วย มูลนิธิได้ดำเนินโครงการ “หนึ่งตำบลหนึ่งบริษัทสัมมาชีพ” ช่วงเวลานั้น ผมลงพื้นที่ร่วมกับบริษัทเอกชน เช่น บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทียูเอฟ , กลุ่มธุรกิจมิตรผล ผมพบปะเกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์จำนวนมาก และพบว่าพวกเขาไม่มีตลาดรองรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ ไม่มีมาตรฐาน ไม่รู้ว่าใครจะซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ของพวกเขา

พัฒนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ PGS ประเทศไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด

ห่วงโซ่อุปทาน ( Supply Chain) หรือกระบวนการจัดการการผลิตเพื่อทำให้เกิดสินค้าหรือบริการของสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยบอบบางมาก ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรสารเคมีเข้มแข็งมาก พวกเราเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ แต่ไม่มีใครจัดการกับห่วงโซ่อุปทาน ผมเริ่มตรงนี้ ผมพยายามสร้างความร่วมมือกับกลุ่มเกษตรกรภาคการผลิต รวมกลุ่มกันสร้างมาตรฐานสินค้า สร้างฐานข้อมูล สร้างกลไกในการรับรอง สร้างกลไกในการจัดจำหน่าย สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ประเทศไทยนำแนวคิดการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS มาใช้ หลังจากประเมินแล้วว่า การรับรองโดยรัฐบาล การรับรองโดยบุคคลที่ 3 ตลอดจนการรับรองแบบมีส่วนร่วมที่มีการดำเนินการอยู่ก็ยังไม่ตอบโจทย์การจัดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด

ผมเริ่มผลักดันเกษตรอินทรีย์ ตั้งเป้าหมาย 8,000 ตำบล เป็นพื้นฐานการพัฒนาระบบ ตามแนวทางของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ผมไม่มีงบประมาณสนับสนุนเกษตรกร และยังไม่มีศักยภาพพอในการเริ่มต้นพัฒนาระดับตำบล ผมจึงใช้พื้นที่ระดับจังหวัดเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาเกษตรกร แล้วขยายสู่ระดับอำเภอ และระดับตำบล โดยพัฒนาเกษตรกรเข้าสู่กระบวนการอบรมเพื่อเป็นผู้ตรวจแปลง กระบวนการกลั่นกรองแปลง และเข้าสู่กระบวนการรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์ SDGsPGS โดยมีสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนระดับจังหวัดเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ผมตัดสินใจเขียนหนังสือ และออกแบบการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจแปลง ปัจจุบันหนังสือมีชื่อว่า คู่มือพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS เป็นตำราอบรมเกษตรกรให้สามารถตรวจแปลง และดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ผมขอบคุณ คุณเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ที่ช่วยพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และจัดทำฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ให้กับประเทศไทย

ผมสอนเกษตรกรไทยให้รู้ว่า SDGsPGS คืออะไร อบรมการตรวจแปลง อบรมผู้ตรวจแปลง กระบวนการรับรองเป็นอย่างไร มีการจัดทำข้อมูลให้สมบูรณ์ มีกระบวนการจัดการประชุมรับรองระดับจังหวัด มีการประชุมรับรองแล้วออกหนังสือรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์ให้ทันที มีการเชื่อมโยงกับตลาด มีกลไกทางการตลาด เป็นกลไกวิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น จังหวัดพะเยามีการจดทะเบียนบริษัทออร์แกนิกพะเยาวิสาหกิจเพื่อสังคม มีเป้าหมายในการทำธุรกิจเกษตรอินทรีย์กับสมาชิก SDGsPGS สร้างกำไร แล้วนำกำไรไม่น้อยกว่า 70% มาพัฒนาต่อ ส่วนอีก 30% เป็นเงินปันผล ปัจจุบันเกิดกระบวนการตรวจแปลง รับรองแปลง มีผู้ตรวจแปลงที่ผ่านการอบรมจำนวนกว่า 6,500 คน มีแปลงเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 2,400 แปลง แปลงระยะปรับเปลี่ยนประมาณ 9,000 แปลง แปลงที่รอการรับรองประมาณ 3,000 แปลง และกำลังขยายตัวในแต่ละจังหวัดอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันประเเทศไทยมีห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่มาก

Organic Hub ศูนย์กลางสินค้าเกษตรอินทรีย์แห่งแรกของเอเชีย

ปัจจุบัน มีการตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ตั้งคณะอนุกรรมขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนโดยมีท่านอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และมีผม ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ เป็นคณะอนุกรรมการ มีการวางกรอบการทำงานโดยแบ่งเกษตรกรรมยั่งยืนเป็น 5 กลุ่ม กลุ่ม 1. เกษตรอินทรีย์, กลุ่ม 2.เกษตรผสมผสาน, กลุ่ม 3.เกษตรทฤษฎีใหม่, กลุ่ม 4. วนเกษตร, กลุ่ม 5.เกษตรธรรมชาติ ท่านอลงกรณ์ พลบุตร มีแนวคิดว่า ควรนำ PGS ซึ่งมีอยู่หลากหลายค่ายในประเทศไทยมาจัดกลุ่มเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งเกษตรอินทรีย์

ส่วนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์เครือข่าย SDGsPGS กำหนดไว้ 6 ประเด็น คือ 1. การขยายพื้นที่การรับรองเกษตรอินทรีย์ , 2. การจัดการผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ , 3. การพัฒนาผู้ตรวจแปลง, 4. การถอดบทเรียน และการวิจัยพัฒนา, 5. การบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ,6. การสื่อสารสร้างการรับรู้สู่สาธารณะ

พ.ศ.2564 เราตั้งสภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส แห่งประเทศไทย รวมเครือข่าย PGS หลายเครือข่าย ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ผลักดันให้ PGS เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา ผม ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ ดำรงตำแหน่งเป็นรองประะธานสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอสแห่งประเทศไทย โดยเป้าหมายสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สื่อสารสร้างการรับรู้เรื่อง PGS ทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ เพื่อให้สังคมรับรู้ความสำคัญของ PGS และเป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปเกษตรอินทรีย์ประเทศไทย

กระทรวงเกษตร โดยท่านอลงกรณ์ พลบุตร พยายามผลักดันให้เกิดกลไกคณะกรรมการบริหารเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล 7,255 ตำบล โดยมอบโจทย์การทำงานสำหรับสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอสแห่งประเทศไทย คือ ทำอย่างไรที่จะนำ PGS ไปช่วยรับรองเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ได้ครบทุกตำบล ถ้าทำงานร่วมกัน มีการจัดเก็บข้อมูล มีการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ตั้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ก็จะช่วยขยายพื้นที่และมีการรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์ได้ทั่วประเทศ และศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ (Organic Hub ) ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2566 ที่ตลาดโรงเกลือท้ายเกาะ บนพื้นที่จำนวน 13 ไร่ จะกลายเป็นตลาดค้าปลีก ค้าส่ง สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นแห่งแรกของเอเชีย โดยเปิดโอกาสให้กับสมาชิกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย ได้สิทธิพิเศษไม่ต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่คูหาในตลาด 2 ปี ผมคิดว่า เวลา 2 ปี มากพอสำหรับการพิสูจน์ตนเองของพี่น้องเครือข่ายเกษตรอินทรีย์

สำหรับการตรวจสอบสินค้าในตลาดเกษตรอินทรีย์ สินค้าที่จะวางขายต้องเป็นสินค้าจากแปลงเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐาน สินค้าต้องมีการตรวจสอบ สินค้าต้องได้รับการรับรอง แต่ก็ต้องยอมรับว่า สินค้ามีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีได้ในกระบวนการผลิตและการจัดการ โดยเราจะมีกระบวนการสุ่มตรวจและพัฒนาต่อไป ซึ่งกว่าเราจะพัฒนาเกษตรอินทรีย์มาถึงจุดนี้ใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งปี 2566 เป็นห้วงเวลาสำคัญของการขับเคลื่อน สร้างความเปลี่ยนแปลง ยกระดับเกษตรอินทรีย์เชิงพานิชย์ เกษตรอินทรีย์เชิงอุตสาหกรรม แปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่า เรากำลังผลักดันให้เกิดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แปรรูป

สำหรับการขนส่งสินค้า หรือ โลจิสติกส์ ต้องเหมาะสมกับสินค้าเกษตรอินทรีย์ เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น การสร้างห้องเย็นเพื่อเก็บสินค้า ใช้เวลาเดินทางขนส่งข้ามคืนเพื่อมิให้สินค้าเสียหายจากอากาศร้อน นอกจากนั้น เรายังมีแผนขยายตลาดสู่ภูมิภาคเพราะการซื้อขายสินค้าต้องมีการแลกเปลี่ยน อย่างเช่น เกษตรกรเดินทางมาส่งสินค้าที่ตลาดเกษตรอินทรีย์ปทุมธานี ตอนเดินทางกลับก็รับสินค้าอาหารทะเลไปส่งยังตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ภูมิภาค กระบวนการนี้จะก่อให้เกิดการค้าขายภายในกลุ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างมหาศาล

ข้อคิดสุดท้าย การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ต้องทำทันที เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของคนไทย การเกษตรที่ใช้สารเคมีควรมีการควบคุม ควรลดพื้นที่การเพาะปลูกโดยใช้สารเคมีลงเรื่อยๆ ตอนนี้สารเคมีราคาแพงมาก เกษตรกรควรปรับตัวเพราะผู้บริโภคสนใจในอาหารที่ปลอดภัย นอกจากนั้น ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์มีเยอะมาก เกษตรกรที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์สามารถหาความรู้ สามารถเข้าร่วมเครือข่าย PGS เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง เปลี่ยนแปลงจากเกษตรสารเคมีสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ได้ทันที

สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)