ปัญหาด้านสุขภาพในปัจจุบันมักมาจากพฤติกรรม พบบ่อยคือกินไม่ถูกต้อง ขาดสมดุลของสารอาหาร ร่างกายขาดการเคลื่อนไหวหรือขาดการออกกำลังกาย ความรู้สะสมเมื่อมีมากขึ้น คำแนะนำด้านสุขภาพย่อมเป็นไปอย่างถูกต้องมากขึ้น โภชนาการเพื่อลดโรคอ้วนคือตัวอย่างที่ดี แต่ก่อนแนะนำให้ลดไขมันมากกว่าลดคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล เนื่องจากไขมันให้พลังงานมากกว่าน้ำตาลถึงสองเท่า ทว่าภายหลังพบว่าคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยและดูดซึมง่ายรวมทั้งน้ำตาลนี่แหละตัวดีก่อให้เกิดโรคอ้วน พบด้วยว่าน้ำตาลฟรุคโตสปริมาณมากก่อปัญหาเซลล์ดื้อต่อฮอร์โมนอินสุลินและเล็พติน นำไปสู่โรคอ้วน เบาหวานและสารพัดโรค เมื่อนักโภชนาการและแพทย์เข้าใจกลไกของสารอาหารและฮอร์โมนมากขึ้น คำแนะนำด้านโภชนาการย่อมพัฒนาดีขึ้นตามไปด้วย

งานวิจัยจากการศึกษาในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ที่เรียกว่า DONALD (Dortmund Nutritional and Anthropometric Longitudinally Designed) โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอนน์ เยอรมนี ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Nutrition สิงหาคม ค.ศ.2024 เนื้อหาน่าสนใจโดยพบว่าปัจจุบันเด็กวัยรุ่นเยอรมันบริโภคน้ำตาลน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต เป็นผลจากคำแนะนำด้านโภชนาการจากองค์การอนามัยโลกที่มีมากขึ้นในระยะหลัง งานวิจัยพบอีกว่าปัญหาจากคาร์โบไฮเดรตที่มีต่อสุขภาพพบมากในกลุ่มน้ำตาลอิสระหรือ free sugar ที่มีทั้งกลูโคสและฟรุคโตสในอาหารหลายชนิด น้ำตาลเหล่านี้พบบ่อยในน้ำตาลที่ผสมลงในอาหารทางอุตสาหกรรม ในแป้งขัดสีสูงหรือ ultra refined starch น้ำตาลและแป้งกลุ่มนี้ย่อยง่าย ดูดซึมเร็ว ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงรวดเร็ว ก่อปัญหาต่อสุขภาพสารพัด นำไปสู่โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และสารพัดโรค

ทีมวิจัยทำการประเมินอาหารจาก 4,218 มื้อของวัยรุ่นและเด็กจำนวน 751 คนตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ ค.ศ.2010 ถึง ค.ศ.2023 พบว่าสัดส่วนการบริโภคคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลของคนกลุ่มนี้ค่อย ๆ ลดลงทว่ายังคงสูงกว่าปริมาณที่ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำไว้นั่นคือไม่เกินร้อยละ 15 ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน เมื่อการบริโภคน้ำตาลอิสระที่มาจากน้ำตาลที่เป็นปัญหา เช่น น้ำตาลทรายหรือไซรัปฟรุคโตสยังคงมีมากอยู่ ปัญหาสุขภาพของเด็กและวัยรุ่นกลุ่มนี้ย่อมยังไม่หนีหายไปไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอ้วนหรือเบาหวานประเภทที่สองเมื่อเด็กและวัยรุ่นกลุ่มนี้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ สิ่งที่วงการแพทย์และโภชนาการเยอรมนีคาดหวังคือภายใน ค.ศ.2025 สัดส่วนการบริโภคพลังงานจากอาหารของประชากรที่มาจากน้ำตาลต้องไม่เกินร้อยละ 15 หากทำได้อย่างนั้น อุบัติการณ์ของโรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรควรลดลงได้ตามที่หวัง นั่นคืองานวิจัยจากเยอรมนี เอามาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยก็ย่อมได้ ปัญหาไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่หรอก

Dr.Winai Dahlan