หนึ่งในปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพคือความเครียด ควรรู้วิธีบริหารจัดการไว้บ้าง เช้านี้ ผมดูคลิปการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่ง ท่านบริหารความเครียดโดยการออกกำลังกายร่วมกับการสวดมนต์ทำสมาธิ ผมบริหารความเครียดด้วยวิธีใกล้เคียงกันโดยใช้การละหมาด (Salat) ซึ่งถือเป็นการฝึกฝนสมาธิทางจิตวิญญาณพร้อมกับการเคลื่อนไหวร่างกาย (Evolving meditative practice) มีการกำหนดสมาธิและจดจำคำสวดมนต์ มีงานวิจัยให้ข้อสรุปว่าช่วยลดความเครียดและเพิ่มสมาธิได้ดี ในช่วงเช้าตื่นนอนทำละหมาดสองรอกะอัต โดยรอกะอัตประกอบด้วยท่ายืนตรง โค้งตัว หมอบหน้าผากจรดพื้น และนั่ง ซึ่งช่วงเที่ยงและก่อนเย็น ละหมาดสี่รอกะอัต ช่วงเย็นสามรอกะอัต ช่วงค่ำอีกสี่รอกะอัต จะทำมากกว่านี้ก็ดี ผมขอนำเรื่องละหมาดมาแชร์ในที่นี้สักหน่อย

มีงานวิจัยเรื่องผลของการละหมาดที่น่าสนใจสองเรื่อง เรื่องแรกทีมวิจัยจาก Baqiyatallah University of Medical Sciences เตหะราน ประเทศอิหร่าน ทำวิจัยในชายหญิง 83 คน โดยศึกษาผลของการละหมาดต่อระดับฮอร์โมนเครียด Cortisal, Alpha-Amylase และต่อระดับการทำงานของยีนสองตัวคือ Brain-derived neurotrophic factor (BDNF) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมสมาธิ การเรียนรู้ ความจำ และยีน Interleukin 6 (IL6) ที่เกี่ยวข้องกับภาวะอักเสบและป่วยไข้ ผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร J Med Life เดือนเมษายน 2022 ได้ข้อสรุปว่าการละหมาดช่วยลดความเครียด ฟื้นฟูสมาธิพร้อมเยียวยาอาการป่วยไข้ได้

เรื่องที่สองเคยเขียนถึงมาแล้ว โดยทีมวิจัยอีกทีมหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเดียวกันคือ Baqiyatallah University of Medical Sciences ร่วมงานกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา แคนาดา ศึกษาผลของการสุญูดหรือหมอบหน้าผากจรดพื้นในการละหมาดต่อการตอบสนองของสมองส่วน Prefrontal lobe บริเวณหน้าผากหรือบริเวณ“นาซียะฮฺ” (نَّاصِيَةِۙ‏ Forelock) นำผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร Basic Clin Neurosci เดือนพฤษภา-มิถุนา ค.ศ.2019 เป็นการศึกษาในชายหญิงจำนวน 5 คน ทำการวัดคลื่นสมองโดยเครื่อง EEG ก่อนและหลังการสุญูด ได้ผลว่าขณะสุญูดหน้าผากจรดพื้นนาน 10 วินาทีในแต่ละครั้ง คลื่นอัลฟ่า แกมม่า ธีต้า ที่ตรวจวัดได้โดย EEG ทางหน้าผากจุด Prefrontal lobe มีความถี่ที่เพิ่มขึ้นแสดงว่าการสุญูดเพิ่มสมาธิได้มากขึ้น ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ดีขึ้น ฝ่ายหญิงได้ผลดีขึ้นเมื่อลืมตาและกำหนดสมาธิในเวลาสุญูดที่ไม่น้อยกว่า 10 วินาที

เขียนมาไม่ได้ต้องการแนะนำให้ผู้บริหารที่ไม่ใช่มุสลิมท่านไหนละหมาด เพียงอยากให้ข้อมูลว่าปัญหาความเครียดจากการทำงานและชีวิตประจำวัน ในอิสลามบริหารจัดการได้ด้วยการละหมาด ผมละหมาดมาเนิ่นนานหลายสิบปี เวลานี้เพิ่งเข้าใจมากขึ้นว่าเหตุใดจึงต้องละหมาดห้าเวลา ใช้วิทยาศาสตร์ในการอธิบายอิสลามมันก็ให้ผลดีไปอีกแบบอย่างนี้แหละ

Dr.Winai Dahlan