“ชัยพร วงศ์สถาพรชัย” อดีตประธานชมรมพ่อค้าอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ปัจจุบันตำแหน่งที่ปรึกษาชมรมพ่อค้า ประกอบธุรกิจค้าขายในตัวเมืองเชียงคำชื่อร้าน “ชัย เซ็นเตอร์” ทำธุรกิจในตัวเมืองเชียงคำมานาน 40 ปี เริ่มจากเช่าแผงลอยขายเสื้อผ้าในตลาดจนเปิดร้านจำหน่ายเสื้อผ้าแบรนด์เนม แง่มุมการค้าขายและการต่อสู้แข่งขันทางธุรกิจของ “ชัยพร วงศ์สถาพรชัย” กับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เป็นที่ประจักษ์ของคนเชียงคำ สายตาอันเฝ้ามองธุรกิจเมืองเชียงคำมองเห็นอะไรในความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
ย้อนรอยความทรงจำพ่อค้าเชียงคำ
พื้นเพผมเป็นคนสุโขทัยประกอบอาชีพรับขนส่งทางเรือ ขนส่งสินค้าจากนครสวรรค์ตามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงกรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อการคมนาคมขนส่งสินค้าพัฒนาขึ้น การขนส่งสินค้าเกษตรด้วยเรือขนส่งสินค้าก็ไม่เป็นที่นิยมเพราะใช้เวลาขนส่งนานอย่างน้อย 7 วัน
ผมตัดสินใจย้ายมาอยู่จังหวัดพะเยา มาตายเอาดาบหน้า เดินทางมาอยู่กับพี่ชายที่อำเภอจุน จังหวัดพะเยา พ.ศ.2517 หาลู่ทางทำกินด้วยการเช่าแผงลอยขายเสื้อผ้าในตลาดเชียงคำ พ.ศ.2522 เปิดร้าน “ชัย เซ็นเตอร์” ขายเสื้อผ้าแบรนด์เนม สมัยก่อนการค้าขายในตลาดอำเภอเชียงคำดีมาก พ่อค้าแม่ขายช่วยเหลือกัน ไม่ค่อยแก่งแย่งชิงดีกันเหมือนปัจจุบัน
ผมยังจำได้ว่าสมัยก่อนนั้น ถนนจากอำเภอเมือง ผ่านอำเภอจุน ถึงอำเภอเชียงคำ เป็นทางลูกรัง แต่เพราะการคมนาคมที่ไม่สะดวก กลายเป็นสิ่งเอื้อประโยชน์ให้กับพ่อค้าแม่ค้าสมัยก่อน คนต้องการสินค้าต้องเดินทางไกลมานอนพักอยู่ในตัวเมืองเชียงคำอย่างน้อย 1 คืน เมื่อได้สินค้าก็เดินทางกลับในวันรุ่งขึ้น เหตุการณ์ที่ผมจำได้เสมอคือเหตุการณ์ก่อนวันเกณฑ์ทหาร ก่อนวันเกณฑ์ทหารคนจำนวนมากมานอนพักอยู่ในเมืองเชียงคำ สินค้าไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าของกินของใช้ขายดีมาก มีคนมาพักในตัวเมืองเชียงคำเป็นกองพัน
สมัยก่อนการขายสินค้าไม่ค่อยมีปัญหา ตลาดเชียงคำมีสินค้าครบทุกประเภท ยกเว้นแต่สินค้าประเภทยาและเวชภัณฑ์เพราะเป็นสินค้าที่ต้องควบคุม อำเภอเชียงคำในสมัยนั้นยังเป็นพื้นที่สีแดงเกิดการสู้รบอยู่เนืองๆ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงเชียงคำพื้นที่สีแดงก็กลายเป็นสีชมพู การคมนาคมที่เคยลำบากก็ดีขึ้น ห้างสรรพสินค้าเริ่มขยายสาขามาเปิดในเชียงคำ
การปกป้องผลประโยชน์ของพ่อค้าเชียงคำ
โดยส่วนตัวผมไม่ได้เกลียดห้างสรรพสินค้า ค้าปลีกขนาดใหญ่ แต่ผมอยู่ในฐานะประธานชมรมพ่อค้าอำเภอเชียงคำ มันเป็นการแข่งขันทางการค้าของพ่อค้าแม่ค้าชาวเชียงคำกับห้างสรรพสินค้าค้าปลีกขนาดใหญ่ ผมต้องปกป้องผลประโยชน์ของพ่อค้าแม่ค้าคนเชียงคำ สำหรับธุรกิจของผมไม่ได้รับผลกระทบ
สินค้าในร้านชัยเซ็นเตอร์ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์เนม ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า เมื่อเปรียบเทียบราคาสินค้าหลายชิ้นมีราคาถูกกว่าห้างสรรพสินค้าค้าปลีกขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่นรองเท้านักเรียนนันยาง ห้างสรรพสินค้าขายคู่ละ 305 บาท ร้านชัยเซ็นเตอร์ขายเพียงคู่ละ 280 บาท สินค้าหลายชิ้นหากลูกค้าไม่พอใจการกำหนดราคาขายก็สามารถต่อรองให้ถูกลงได้ เมื่อซื้อกลับบ้านแล้วสวมใส่ไม่ได้ก็สามารถนำกลับมาเปลี่ยนคืนเป็นเงินหรือสินค้าตัวอื่น เรียกว่าสินค้าคุณภาพราคาย่อมเยาดีกว่า
การขยายสาขาของห้างสรรพสินค้าค้าปลีกขนาดใหญ่ต้องยอมรับว่าเกิดผลกระทบ โดยเฉาะพ่อค้าแม่ค้าที่วางจำหน่ายสินค้าคล้ายกับห้างสรรพสินค้า ค้าปลีกขนาดใหญ่ สำหรับธุรกิจของผมไม่กระทบเพราะสินค้าของผมส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์เนม ประการสำคัญสินค้าที่วางขายในร้านส่วนใหญ่แตกต่างจากห้างสรรพสินค้า ค้าปลีกขนาดใหญ่ แต่หากเป็นห้างสรรพสินค้าอย่างเช่น บิ๊กซี โรบินสัน เมื่อขยายสาขาที่เชียงคำมีผลกระทบกับผมแน่
อย่าคาดหวังกับการเปิดด่านบ้านฮวก
ต้องยอมรับว่าคนพะเยาคาดหวังกับการเปิดด่านบ้านฮวกมากเกินไป หากเป็นการเปิดด่านแม่สายซึ่งเป็นการเปิดด่านการค้าแบบเมืองชนกับเมืองถือว่าดีมาก แต่การเปิดด่านบ้านฮวกเป็นการเปิดด่านแบบเมืองชนป่าเพราะระยะทาง 20 กิโลเมตรจากด่านบ้านฮวกเข้าตัวเมืองไชยบุรี สปป.ลาว เป็นเขตพื้นที่ป่า สำหรับผมการคาดหวังว่าคนลาวจะเข้ามาท่องเที่ยวในอำเภอเชียงคำเป็นความเพ้อฝัน
ประเทศไทยมีตัวอย่างชัดเจนเช่น สะพานมิตรภาพไทย-ลาว จังหวัดเชียงราย สมัยก่อนตัวเมืองเชียงของเต็มไปด้วยผู้คนหลั่งไหลซื้อสินค้า ก่อนออกเดินทางข้ามฝั่งท่องเที่ยว สปป.ลาว เมื่อสร้างสะพานมิตรภาพไทยลาวตัวเมืองเชียงของนักท่องเที่ยวหาย ผู้คนที่เคยจับจ่ายซื้อสินค้าในตัวเมืองเดินทางข้ามฝั่งแทนที่จะรอซื้อสินค้าอยู่ในตัวเมืองก่อนออกเดินทาง
อำเภอเชียงคำลูกค้าชาวลาวมาซื้อสินค้าในตัวเมืองจำนวนไม่น้อย ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง การจำหน่ายสินค้าการใช้บริการคนลาวก็เหมือนกับคนไทย ใช้ภาษาไทย สินค้าราคาเดียวกับคนไทย ข้อคิดควรระวังคืออย่าคาดหวังกับการเปิดด่านบ้านฮวกมากนักว่า ด่านบ้านฮวกจะทำให้เศรษฐกิจการค้าขายในเมืองเชียงคำดีขึ้น ธุรกิจที่จะได้รับผลดีโดยตรงคือกลุ่มธุรกิจก่อสร้างและเครื่องจักรเพราะเส้นทางจากด่านบ้านฮวกไปตัวเมืองไชยบุรีระยะทาง 20 กิโลเมตร ลักษณะเป็นป่า เหมือนเมืองไทยเมื่อประมาณ 40-50 ปีก่อน