รศ.ดร.มนตรา พงษ์นิล คืออาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เขาเป็นนักวิชาการหัวก้าวหน้า ถูกดำเนินคดีเพราะการร่วมชุมนุมทางการเมืองอันเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งภายหลังศาลพิพากษายกฟ้อง เขาคือบุคคลหนึ่งซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อที่รัฐกำลังจับตามอง ด้วยแนวคิดก้าวหน้าด้านประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ทำงานวิจัยการเคลื่อนไหวประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดพะเยา ปัจจุบันเขากำลังสร้างพื้นที่ทดลองในชมรมนิสิตนักศึกษาเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย รศ.ดร.มนตรา พงษ์นิล ยังมีความหวังว่า วันหนึ่ง รัฐบาลไทยจะรับฟังความคิดเห็น ปรับท่าทีอันมีต่อประชาชน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองการปกครองของไทยโดยไม่มีการใช้ความรุนแรง
ลูกชายที่เติบโตในค่ายทหาร
พ่อผมเป็นคนจังหวัดอุดรธานี แม่ผมคนอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช พ่อแม่ของผมรับราชการ พ่อรับราชการทหาร แม่รับราชการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผมจึงเติบโตที่ บ้านพักในค่ายทหาร แถวสามเสน หลังจากนั้น ผมย้ายติดตามพ่อไปอยู่ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่น ผมรู้สึกขัดแย้งที่ต้องอยู่ในระเบียบวินัยที่เข้มงวดแบบลูกทหาร เมื่อเป็นวัยรุ่น ผมกลายเป็นคนเกเร นักเลง ตามประสาคนวัยหนุ่ม ครอบครัวของผมจึงคิดว่า ถ้าผมอยู่ในค่ายทหารต่อไปคงไม่เหมาะสม จึงส่งผมมาเรียนที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร
โรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร สอนให้ผมรู้ว่า สิ่งสำคัญของการเป็นวัยรุ่นคือการเอาตัวรอด ต้องกำหนดจังหวะชีวิตให้ได้ เมื่อจบมัธยมปลาย ผมสอบแข่งขันเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยุคสมัยนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือแหล่งรวมของกลุ่มคนหัวก้าวหน้า ส่วนพ่อของผมคือนายทหารผ่านศึกสงครามเวียดนาม ท่านคงคิดว่าผมจะต่อต้านสังคม ต่อต้านประเทศไทย ช่วงเวลาเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 ผมเข้าร่วมการชุมนุม ผมรู้สึกสนุก มองเห็นความเคลื่อนไหวภาคประชาชน ทำความเข้าใจ เรื่องการชุมนุมว่า เกิดจากเงื่อนไขใด อย่างไร มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยอย่างไร แต่ขณะที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง แกนนำการชุมนุมจะถูกควบคุมตัว พ่อผมซึ่งทำงานเกี่ยวกับความมั่นคงในช่วงเวลานั้น เรียกให้ผมกลับบ้าน ตอนนั้น ผมเสียใจมากที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมให้ถึงที่สุด
โลกของวัยรุ่นยุคก่อนกับวัยรุ่นยุคปัจจุบัน
วัยรุ่นยุคปัจจุบัน มีอิสระมากกว่าคนยุคสมัยก่อน พวกเขาทันโลกมากกว่าวัยรุ่นยุคก่อน โลกเปิดกว้างมากกว่าวัยรุ่นยุคก่อน ผมมองวัยรุ่น มองเห็นวิธีคิด มองเห็นความกล้า เช่น มุมมองด้านการเมืองของวัยรุ่นและนักศึกษา เขามีความคิดเป็นสากลพ้นจากความเป็นประเทศไทย วัยรุ่นมองตนเองว่าเขาเป็นมนุษย์ เป็นพลเมืองของโลก มีวิธีคิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่งผลต่อวิธีคิดทางการเมือง พวกเขามองว่า ระบอบการปกครองของประเทศไทยเป็นระบบการปกครองเก่าๆ
ระบบสังคมของเราไม่ดี ระบบการเมืองการปกครองของเราไม่ดีแต่พวกเรายังถูกทำให้เชื่อว่า การอยู่ประเทศไทยดีที่สุด คนไทยมีความสุขที่สุด สิ่งที่วัยรุ่นรับรู้เป็นเรื่องราวนอกเหนือจากตำราเรียน นอกเหนือจากความรู้ที่ครูสอน รัฐพยายามควบคุมผู้คนให้อยู่ในระเบียบ อยู่ภายใต้อำนาจผมรู้สึกเป็นห่วงยุทธวิธีหรือแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของวัยรุ่น พวกเขาไม่กลัวอันตราย ผมเป็นห่วงอันตรายที่จะเกิดกับพวกเขา ตอนนี้เยาวชนนิสิตนักศึกษาถูกจับกุมด้วยอำนาจกฎหมาย ผมนับถือหัวใจของพวกเขา แต่ก็รู้สึกเป็นห่วง
รัฐต้องเปลี่ยนระบอบการปกครอง โลกมันเปลี่ยน เราห้ามการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่จะเปลี่ยนช้าหรือเร็ว พวกเราหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง รัฐหรือชนชั้นนำ ควรจะรับฟังและพยายามปรับท่าที ปรับตัวให้อยู่ในโลกสมัยใหม่ให้ได้ ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่เขายอมรับ แต่ชนชั้นนำก็ต้องอยู่ในสถานะที่ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เปิดพื้นที่สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งจะทำให้เกิดการตรวจสอบ สำหรับการกระทำของแกนนำการชุมนุม เช่น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผมคิดว่า การกระทำของพวกเขาไม่มีอะไรเกินเลย เพียงแต่รัฐบาลรู้สึกว่าพวกเขาล้ำเส้น แต่เส้นนั้นถูกขีดขึ้นหรือกำหนดขึ้นโดยรัฐ ถ้าเส้นนั้นเป็นเส้นที่ประชาสังคม หรือประชาชนทุกคนตกลงร่วมกัน ทุกคนจะเคารพเส้นนั้น แต่เส้นนั้นมันไม่ได้เกิดมาจากทุกคน หรือเป็นเส้นที่ประชาชนตกลงกัน
เครือข่ายและภาคีประชาสังคม จังหวัดพะเยา
ผมพบกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ร่วมกันทำวิจัยเรื่องชาวประมงกว๊านพะเยา หนองเล็งทราย ทำงานวิจัยภูมิปัญญา วัฒนธรรมชุมชน พลเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ ผมศึกษาผลงานของคุณครูมุกดา อินต๊ะสาร อ่านเรื่องราวกองทุนธนาคารหมู่บ้าน ผมจึงร่วมมือกับคุณครูมุกดาทำงานวิจัยเรื่อง นวัตกรรมการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมของเครือข่ายธนาคารหมู่บ้าน 4 ตำบล นั่นทำให้ผมมีพื้นฐานความรู้ด้านการพัฒนา หลังจากนั้น ผมร่วมกับกลุ่มนักพัฒนาเอกชนสร้างการทำงานแบบภาคีเครือข่าย ชื่อ “ขบวนองค์กรชุมชนคนฮักเมืองพะเยา” ผมเริ่มเรียนรู้เครือข่ายกลุ่มต่างๆ ผมรู้สึกดีใจที่มองเห็นผู้คนรวมกลุ่มพยายามช่วยเหลือกัน
เมื่อเรียนรู้นานวันก็พบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะโครงสร้างสังคมไม่เป็นธรรม ถ้าโครงสร้างทางสังคมยุติธรรม มีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน ชาวบ้านคงไม่ต้องออกมาช่วยเหลือกันเอง ถ้ามีรัฐสวัสดิการ ชาวบ้านคงไม่จำเป็นต้องสมทบเงินเพื่อช่วยเหลือกันเอง ถ้าโครงสร้างของรัฐมีความเป็นธรรม คนในชุมชนย่อมสามารถบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของเขาได้
ผมได้เรียนรู้ว่า ยุคคุณทักษิน ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลสามารถช่วยเหลือประชาชนได้เยอะมาก นโยบายของรัฐทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น นโยบาย กองทุนหมู่บ้าน โอทอป เอสเอ็มอี ช่วงนั้น เราพบข้อมูลว่า ประชาชนสามารถขยับฐานะทางสังคม จาก ชนชั้นล่างเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ที่มีลักษณะผู้ประกอบการรายย่อย นั่นเป็นผลสำเร็จเชิงนโยบาย ผมสนับสนุนคุณทักษิณ แต่ผมก็วิพากษ์วิจารณ์คุณทักษิณ
กฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากว๊านพะเยา
สำหรับ ประเด็นการพัฒนากว๊านพะเยา ตอนแรกผมมองว่าเราไม่ควรทำอะไรกับกว๊านพะเยาอีกแล้ว ผมคิดว่าเป็นวิธีคิดที่ถูกต้องที่สุด แต่สุดท้าย ผมก็พบว่าสิ่งที่ผมคิดไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะคนพะเยาต้องการให้กว๊านพะเยาทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การสร้างวัดติโลกอารามอาจสะท้อนความหวังของคนพะเยา เขาอยากมีชีวิตที่ดี ด้วยการก่อสร้างหลายสิ่งหลายอย่าง หรือทำกิจกรรมต่างๆ แต่กฎหมายกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากว๊านพะเยา
เราจะเห็นว่า มีเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการสร้างวัดติโลกอาราม ภาพรวมอาจทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ทุกคนมีส่วนร่วมหรือไม่ มีเพียงคนบางกลุ่มที่เชื่อมโยงกับผู้บริหารระดับสูงจึงจะได้ประโยชน์ ผมคิดว่าเราไม่ควรปฏิเสธให้ใครก็ตามที่เสนอแนวคิดการพัฒนากว๊านพะเยา แต่ต้องทำให้เกิดความคิดเห็นร่วมกัน มีการเยียวยาระบบนิเวศน์ที่จะสูญเสียไป หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโต
บางครั้ง ผมก็รู้สึกว่า พวกเราเป็นนักนิเวศน์วิทยานิยมมากเกินไป แทนที่พวกเราจะเป็นนักพัฒนา เรากลับเป็นนักขัดขวางการพัฒนา เราจะกักขังให้ผู้คนอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับภูมิปัญญาไม่ได้นอกจากนั้น ต้องเผื่อแผ่ผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด สิ่งสำคัญคือต้องเอากฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาออกไปจากกว๊าน สร้างธรรมนูญกว๊านพะเยา ซึ่งพวกเราพยายามผลักดันแต่ก็ยังไม่สำเร็จ
สังคมพะเยาควรเปิดกว้างสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์
ผมนำผลงานของ พระธรรมวิมลโมลี (ปวง) หลวงพ่อใหญ่ ขึ้นมาอ่านและตีความใหม่เพื่อสะท้อนให้คนอ่านมองเห็นว่า พระธรรมวิมลโมลีมองเมืองพะเยาเป็นอย่างไร ผมคิดว่าน่าจะวิพากษ์วิจารณ์ผลงานได้ เพราะเป็นการตีความใหม่ และในอีกด้านหนึ่งคือมองพระธรรมวิมลโมลีผ่านประวัติศาสตร์เมืองพะเยา เพื่อทำให้เห็นว่า พระธรรมวิมลโมลี มีชีวิตอยู่ในประวัติศาสตร์เมืองพะเยาอย่างไร ชีวิตพระธรรมวิมลโมลีสะท้อนมุมมองการพัฒนาเมืองพะเยาอย่างไร ผมตั้งชื่อผลงานเขียนว่า “พะเยาลิขิตอุบาลีนิพนธ์ ประวัติศาสตร์ในปวง ปวงประวัติศาสตร์” อันเป็นผลงานต่อเนื่องจากมุมมองของผลงาน “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่” ซึ่งเขียนโดยพระธรรมวิมลโมลี
การเขียนผลงานวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของพระธรรมวิมลโมลี ทำให้ผมถูกด่า ผมรู้สึกว่า คนพะเยาไม่เปิดพื้นที่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ หลายคนถามผมว่า ทำไมต้องวิพากษ์วิจารณ์พระธรรมวิมลโมลีด้วย ผมอยากจะเรียกร้องให้คนพะเยาเปิดใจกว้างสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ ผมคิดว่า ถ้าพระธรรมวิมลโมลียังมีชีวิตอยู่ ผมว่าท่านชอบ อย่างน้อยที่สุด กลุ่มคนที่เคยทำงานกับพระธรรมวิมลโมลีควรเปิดพื้นที่สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์
สร้างพื้นที่ ทดลองความสัมพันธ์แบบใหม่ เพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์
ผมเป็นที่ปรึกษาชมรมนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยาเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ชมรมเป็นพื้นที่เรียนรู้ ทำให้นิสิตเกิดการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างประชาธิปไตย ทำให้เกิดพื้นที่ของการวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งนโยบายของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับนิสิตนักศึกษา การทำงานรัฐบาล การเมืองระดับชาติ มีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อฝึกทักษะ ฝึกกระบวนการคิด ตอนนี้ เราคุยเรื่องความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานของตัวสมาชิกชมรม
เราจะปรับความสัมพันธ์ให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เราจะสร้างวัฒนธรรมใหม่โดยพื้นฐานความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน ทุกคนเรียกตนเองว่า “เรา” และเรียกเพื่อนสมาชิกว่า “เกลอ” สมาชิกชมรมก็ไม่เรียกผมว่าอาจารย์ พี่ หรือน้อง แต่จะเรียกว่า “เกลอ” ส่วนผมก็จะเรียกตนเองว่า “เรา” ก่อให้เกิดท่าทีและอารมณ์ใหม่มากขึ้น ทำให้นิสิตกล้าแสดงออกด้วยการพูดแสดงความคิดเห็น กล้าแลกเปลี่ยนความคิดที่แตกต่างกันมากขึ้น
ผมคิดว่าสังคมประชาธิปไตยควรเริ่มต้นบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน นิสิตนักศึกษาเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพดี ผมต้องการให้เขาเรียนรู้เรื่องการมองโลก การมองสังคม การตั้งคำถาม สังคมไทยมีอะไรที่เราตั้งคำถามได้มากกว่านี้อีกหรือไม่ ปัจจุบัน การศึกษาเรื่องสังคมศาสตร์และมุนษยศาสตร์ก้าวหน้ามาก ปัจจุบันมีการพูดถึง โพสต์ฮิวแมน (สภาวะหลังมนุษย์) ความเป็นอมนุษย์ ไกลถึงขนาดมนุษย์ที่ไม่ได้เป็นมนุษย์ หรือเอไอกับมนุษย์
กระแสอารมณ์ของคนรวดเร็วมาก เกิดการปะทะกันมากขึ้นทางสื่อโซเชียล สำหรับคนที่ไม่ได้เกิดในยุคเทคโนโลยี อย่างเช่นคนรุ่นผมหรือคนที่มีอายุมากกว่าผม ถือว่าน่าเป็นห่วง เป็นห่วงว่าเราจะปรับอารมณ์ไม่ทันในโลกยุคนี้ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่า มันมีวิธีการจัดการ เราอาจต้องปรับความสัมพันธ์บางอย่าง หลายปัญหาที่เกิดขึ้น เรายอมรับมันได้มากขึ้น มีวิธีการแบบคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น
สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)