ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสายน้ำ รัฐยังคงมีนโยบายให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก จนมองข้ามระบบนิเวศน์ธรรมชาติ ฝูงปลา สัตว์น้ำ และวัฒนธรรมชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ. นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา หรือ Mr.Somkiat Khuanchiangsa ชายวัย 53 ปี เติบโตจากเด็กชายในหมู่บ้านแถบลุ่มน้ำอิงของประเทศไทย เป็นนักอนุรักษ์พื้นที่ป่าลุ่มน้ำ เขามองเห็นระบบนิเวศน์ธรรมชาติถูกทำลาย ผกผันกับการพัฒนาของภาครัฐ พ.ศ.2549 สมเกียรติฯ ศึกษาวิจัยนำเสนอข้อมูลได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคลด้านการอนุรักษ์ในลุ่มน้ำโขงเหนือ ปัจจุบันเขายังคงศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอ ผลักดันผืนป่าชุมแสงและพื้นที่ป่าลุ่มน้ำอิงจำนวน 26 แปลง ให้มีฐานะเป็น wetland หรือพื้นที่หนองน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) พร้อมทั้งนำเสนอทางออกให้รัฐบาลเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการแก้ไขกฎหมาย เปลี่ยนพื้นที่ป่าลุ่มน้ำอิงเป็นพื้นที่ “ป่าชุมชน”  

คุณครูแห่งภูเขาแม่สลอง ประเทศไทย

ผมเป็นเด็กไทยที่เติบโตในชนบท เกิดที่หมู่บ้านห้วยไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย หมู่บ้านเล็กๆ ลุ่มน้ำอิง ชีวิตวัยเด็กผูกพันกับแม่น้ำและลำห้วย มองเห็นวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ คนหาปลา ใช้วิถีชีวิตแบบคนชนบท ทำมาหากินอยู่กับแม่น้ำ ตอนเด็กผมติดตามคุณพ่อไปหาปลาในน้ำอิง พวกเราจะเอาเรือบรรทุกล้อเกวียนเดินทางผ่านทุ่งนาไปแม่น้ำอิง ช่วงชีวิตของผมห่างจากแม่น้ำตอนเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครู ผมเรียนคณะโสตทัศนศึกษา ทำกิจกรรมออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทบนดอย ผมชอบอ่านหนังสือ ชอบอ่าน “คนเผาถ่าน” ของนิมิตร พรหมถาวร ชอบฟังเพลงหงาคาราวาน เมื่อเรียนจบก็มีแรงบรรดาลใจอยากเป็นครูดอย เริ่มต้นอาชีพครูด้วยการเป็นครูสอนดนตรีถึง พ.ศ.2536 มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขาเชียงรายเปิดรับสมัครครูดอย ผมจึงตัดสินใจสมัครเข้าทำงานกับมูลนิธิ

มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขาฯ บุกเบิกหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ผมทำงานเป็นครูดอยรุ่นที่ 3 บุกเบิกโรงเรียนชนบทพื้นที่ดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ขณะนั้นไม่มีโรงเรียนตามชายแดนของประเทศ ผมเป็นครูเพียงคนเดียวของโรงเรียน ใช้ชีวิตกลางป่าเขา กลางวันผมสอนเด็กเล็กจนถึงเด็กอายุสิบกว่าขวบ ส่วนเวลากลางคืนผมสอนผู้ใหญ่ สอนพ่อสอนแม่ของเด็กนักเรียน วิชาที่สอนคือวิชาภาษาไทยและวิชาคณิตศาสตร์ คนบนดอยแม่สลองขณะนั้นยังพูดภาษาไทยไม่ชัด ผมใช้ชีวิตเป็นครูอยู่บนดอย อาศัยอยู่ในเพิงพักสองหลังที่เป็นทั้งบ้านพักครูและโรงเรียน 

พ.ศ.2538 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มีบทบาทมากขึ้น มีโรงเรียนเปิดสอนจำนวนมากขึ้น ผมย้ายพื้นที่ทำงานไปยังหมู่บ้านที่ยังไม่มีครู เมื่อมีโรงเรียนเต็มพื้นที่ผมก็ผันตนเองมาทำงานด้านการเก็บข้อมูล ศึกษาป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน ศึกษาการทำการเกษตรบนพื้นที่สูงหรือเกษตรยั่งยืน แต่ยังคงทำงานกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา สำหรับผมถือเป็นการเรียนรู้งานด้านการอนุรักษ์ เช่น การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำต้องทำอย่างไร? วิถีชีวิตชาวบ้านคนชนเผ่าเป็นอย่างไร? เมื่อมีการผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน ผมก็อยากให้ชุมชนมีสิทธิดูแลรักษาป่า แต่ผมก็มองเห็นชาวบ้านทำการเกษตบุกรุกเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำหลายแห่ง มีการขยายเขตการเพาะปลูกบนพื้นที่สูง บางครั้งเราก็ต้องสงวนพื้นที่ป่าต้นน้ำโดยอาศัยหลักจารีตและระบบการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน ยุคสมัยก่อนบนภูเขาปลูกฝิ่น ต่อมาเปลี่ยนเป็นพืชเศรษฐกิจซึ่งขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ปัจจุบันเราพยายามเปลี่ยนแนวคิดการปลูกพืชเศรษฐกิจสู่การปลูกพืชชนิดอื่น

พ.ศ.2540 องค์กรเอกชนหลายองค์กรเข้าร่วมกับโครงการอนุรักษ์ งานส่วนใหญ่ของผมเป็นการวิจัย เช่น การวิจัยเรื่อง ความหลากหลายของป่า เรื่องต้นไม้ พันธุ์พืช พื้นที่เก็บข้อมูลก็คือต้นน้ำจัน ป่าแม่สลอง ต่อมาเกิดโครงการผันน้ำ กก อิง น่าน อันมีคำถามต่อมาว่า การผันน้ำจะมีผลกระทบอย่างไร เป็นจุดเปลี่ยนทำให้ผมเปลี่ยนทิศทางการทำงาน กลับสู่พื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อทำงานภาคสนาม ทำการศึกษา เก็บข้อมูล ทำวิจัย รณรงค์ให้สาธารณะรับรู้ว่า แม่น้ำไม่ได้ไหลโดยเปล่าประโยชน์ จากต้นน้ำ ปลายน้ำ สู่แม่น้ำโขง มีวิถีวัฒนธรรม มีระบบนิเวศน์อุดมสมบูรณ์

อีกด้านของการพัฒนาคือการทำลาย

ผมทำโครงการสำรวจแม่น้ำและชุมชน ทำงานอย่างจริงจังกับแม่น้ำอิง เช่น พาชาวบ้านศึกษาดูงานพื้นที่หนองน้ำ (wetland) หรือพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ภายหลังจากรัฐบาลล้มเลิกโครงการ กก,อิง,น่าน ผมผันตัวมาทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำอิงตอนล่าง พ.ศ.2543 ผมเริ่มต้นทำโครงการ 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านน้ำแพร่ บ้านงามเมือง บ้านหนองชุม บ้านปากอิง ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการแต่ก็มีอุปสรรคเรื่องความไม่เข้าใจ แต่เมื่อเวลาผ่านผลสำเร็จติดตามมา

กล่าวย้อนกลับไปใน พ.ศ.2540 มีสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาท้องถิ่น ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้กับระบบนิเวศน์พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำโขงตอนบนเริ่มก่อสร้างเขื่อน จำนวนปลาในแม่น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ผมทำการศึกษา เก็บข้อมูล ทำโครงการ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า การจัดทำโครงการเขตอนุรักษ์ทำให้พันธุ์ปลากลับคืนมา จากการสำรวจ พ.ศ.2540 พบพันธุ์ปลา 90 ชนิด จำนวนปลามีน้อย ขนาดปลาตัวเล็ก ชาวประมงหาปลาน้ำหนัก 10 กิโลกรัมได้ยากมาก เมื่อทำโครงการเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาทำให้พันธุ์ปลาคืนมาเป็น 112 ชนิด จำนวนปลามีมากขึ้น ขนาดของปลาใหญ่ขึ้น

เราต้องเข้าใจเรื่องการพัฒนา การขุดลอกหนองน้ำ การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ ตามโครงการของภาครัฐ ทำให้ที่อยู่อาศัยของปลาหายไป เรามองตัวเลขปริมาณน้ำเป็นเป้าหมายความสำเร็จจนลืมเรื่องการอนุรักษ์ หลังโครงการพัฒนาเราต้องฟื้นฟูที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำ พ.ศ.2543 กลุ่มรักษ์เชียงของเริ่มศึกษาระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงเมื่อมีการระเบิดเกาะแก่งเพื่อนำเรือล่องน้ำลงมาส่งสินค้า เราศึกษาและเรียนรู้อย่างจริงจังโดยโยงแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ทั้งการทำข้อมูล การวิจัย การอนุรักษ์ เราไม่พบว่าแม่น้ำโขงมีร่องรอยของปลาใหญ่ มันทำให้เรามุ่งมั่นที่จะทำให้แม่น้ำสายใหญ่อันเคยอุดมสมบูรณ์มีพันธุ์ปลากลับคืนมา ปัจจุบันนี้ปลาแม่น้ำโขงเป็นปลาเลี้ยงในกระชัง ปลาขนาดใหญ่ที่เติบโตโดยธรรมชาติไม่เหลือแล้ว

ผมเกิดในชนบทยุคดั้งเดิมที่ต้องเดินทางด้วยล้อด้วยเกวียน ปัจจุบันเราอยู่ในยุคดิจิตอล เวลาหวนอดีตคิดถึงเราจะเห็นภาพแม่น้ำสวยใส ตอนนี้เหลือเพียงเศษสวะซึ่งถูกขุดลอก เราอยากให้คนเห็นความสำคัญของระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ สมัยก่อนแม่น้ำอิงสองฟากฝั่งเต็มไปด้วยผืนป่าชุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ เดียวนี้พื้นที่ป่าถูกบริษัทเอกชนกว้านซื้อไว้หมด สมัยก่อนผืนป่าตอนล่างเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงจำนวนกว่า 300,000 ไร่ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตร เป็นผืนไร่ผืนนาและพื้นที่อยู่อาศัย เหลือพื้นที่ป่าลุ่มน้ำเพียง 8,530 ไร่ พื้นที่จำนวนมากที่สุดคือ บ้านบุญเรือง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เรารักษาพื้นที่ไว้ไม่ได้ทั้งหมด แต่เราอยากหลงเหลือพื้นที่เหล่านี้เอาไว้   

ป่าลุ่มน้ำอิงคือ wetland ในอนุสัญญาแรมซาร์

ผมพยามอนุรักษ์ป่าที่เหลืออยู่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชุมชนและหน่วยงานรัฐที่จะเข้าไปดูแล สภาพพื้นที่ป่าลุ่มน้ำดีขึ้นเพราะสมัยก่อนเราทำงานเดี่ยวแบบ NGO เมื่อทำงานอนุรักษ์พื้นที่หนองน้ำ (wetland) ผมก็มีโอกาสประสานกับภาครัฐหลายหน่วยงาน หน่วยงานหลักที่ทำการสำรวจคือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ การเป็นสมาชิกภาคีแตกต่างกับการอนุรักษ์แบบการประกาศเขตอุทยาน การทำงานกับภาคีจะมีรูปแบบสากล มีจิตสำนึก ประชาชนสามารถเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ได้ แต่การทำงานก็มีช่องว่างของความเข้าใจระหว่างความเป็นสากลและชาวบ้าน เราต้องเชื่อมต่อทำให้ชาวบ้านมองเห็นคุณค่าของน้ำอิงมากขึ้น

พื้นที่ลุ่มน้ำอิงถูกเสนอเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการเพื่อเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ลุ่มน้ำอิงมีองค์ประกอบครบหลักเกณฑ์ มีอัตลักษณ์ที่สำคัญหนึ่งเดียวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือป่า “ชุมแสง”

อุปสรรคสำคัญของการทำงานในช่วงชีวิตของผมคือ “ความเข้าใจ” ทุกชุมชนมีความเข้าใจแต่คือความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เช่น กรณีของการประกาศเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา จะมีชาวบ้านสองกลุ่ม คือกลุ่มผู้สนับสนุน และกลุ่มต่อต้านคัดค้านซึ่งมองว่า การประกาศเขตอนุรักษ์เป็นการปิดช่องทางการทำมาหากิน ชาวบ้านมองว่าการประกาศเป็นเหมือนกับการบังคับใช้กฎหมายประมงซึ่งมีผลรุนแรง จุดเปลี่ยนของการทำงานคือการพิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นว่า การกำหนดเขตพื้นที่ห้ามหาปลาจากชายฝั่ง 300 -500 เมตร เมื่อผ่านเวลา ผ่านฤดูกาล จำนวนพันธุ์ปลามีมากขึ้น ปริมาณปลามีมากขึ้น ขนาดของปลามีขนาดใหญ่ขึ้น ชุมชนที่เคยคัดค้านก็กลายเป็นผู้สนับสนุน ผมเริ่มต้นทำโครงการเพียง 4 หมู่บ้าน ตอนนี้มีชุมชนร่วมโครงการ 64 หมู่บ้าน

อย่ามองข้าม ป่าชุมแสง ป่าข่อย ป่าแขม บริเวณเขตลุ่มน้ำอันมีหนังสือสำคัญพื้นที่หลวงประเภทพื้นที่สาธารณะ (น.ส.ล.) หากภาครัฐแก้ไขนิยามพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นพื้นที่ป่า แต่เป็นป่าที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกับป่าชุมชน ภาครัฐก็สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าให้มีจำนวนร้อยละ 40 ตามนโยบายรัฐบาลได้ สมัยก่อนผมทำงานแบบ NGO ทำงานฝ่ายเดียวใช้อารมณ์เป็นหลัก แต่หลังจากทำงานอนุรักษ์ ผมศึกษาเก็บข้อมูล ทำงานวิจัย ทำงานกับภาครัฐและเอกชน ความขัดแย้งในการทำงานของผมลดลง มองเห็นเป้าหมายในการบรรลุผลสำเร็จของงานอนุรักษ์มากขึ้น เมื่อใช้ข้อมูลมากขึ้น ความสำเร็จก็เพิ่มมากขึ้น แต่ผมก็อยากเห็นงานอนุรักษ์อยู่ในจิตสำนึกของผู้คน ไม่ถูกแบ่งเป็นขอบเขตรัฐชาติ ผมว่ามันคือหน้าที่ของพลเมืองโลก เมื่อเราใด้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเราก็ต้องร่วมกันดูแลรักษา นั่นคือความเคารพ ความเกื้อกูล ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

สัมภาษณ์ / ภาพถ่าย  ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย) อ่านบทบันทึก นักเขียนรางวัลลูกโลกสีเขียว สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา “สายน้ำ ตำนาน ความรัก” ได้ที่นี่ https://www.mymekong.org/articles/ingriver