KHT firearms เป็นบริษัทเอกชนทำงานวิจัยและออกแบบโมเดลปืนร่วมกับหน่วยงานของรัฐด้านความมั่นคง เช่น สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศและกองทัพบก มีอาวุธปืนต้นแบบ DTI-7 ปืนขนาด 5.56 สามารถทดแทนปืนประจำการในกองทัพ เช่น M-16 หรือ M-4 โดย อภิมุข ถิรธรรมนุภาพ ประธานกรรมการบริษัท เคเอชที ไฟร์อาร์มส์ จำกัด (KHT Firearms) กล่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าอาวุธปืนจากต่างประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 200,000 กระบอก เสียดุลการค้าให้กับต่างชาติไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาทต่อปี หากประเทศไทยสามารถผลิตปืนทันสมัยใช้เองจะลดการเสียดุลทางการค้าและสร้างรายได้ให้คนไทย
นักวิจัยและออกแบบอาวุธปืน
ผมและครอบครัว ทำธุรกิจเกี่ยวกับจิวเวลรี่และธุรกิจโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ แต่ด้วยความนิยมชมชอบปืนเป็นการส่วนตัว มีความสนใจเรียนรู้เรื่องปืนมาตั้งแต่ยังเด็ก มีความมั่นใจว่าตนเองมีความรู้ มีความเข้าใจ และประสบการณ์ รวมถึงทักษะเกี่ยวกับปืนมากพอสมควร จึงร่วมมือกับหุ้นส่วนก่อตั้งบริษัทวิจัยและพัฒนาอาวุธปืน พวกเราออกแบบโมเดลปืนและจดสิทธิบัตร มีปืนต้นแบบ 25 โมเดล จดสิทธิบัตรแล้วจำนวน 10 สิทธิบัตร ผมมองเห็นความสามารถของคนไทยและศักยภาพประเทศไทยที่มีไม่น้อยกว่าชาติใดในโลก จึงมองไม่เห็นความจำเป็นของประเทศไทยที่จะต้องซื้อสิทธิบัตรอาวุธปืนหรือนำเข้าอาวุธปืนจากต่างประเทศ
สำหรับโรงงานผลิตปืนในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นโรงงานประกอบปืน มีการสั่งซื้ออะไหล่ปืนจากต่างชาติเพื่อนำมาประกอบในประเทศไทย เหมือนกับโรงงานผลิตรถยนต์ที่ซื้ออะไหล่มาประกอบในโรงงานของประเทศไทย เพื่อมุ่งหวังประโยชน์ด้านภาษีอากร หรือเพียงเพื่อต้องการส่วนแบ่งภายในประเทศ แต่สำหรับ KHT Firearms เรามุ่งหวังว่าจะผลิตปืนสัญชาติไทย ที่ผลิตชิ้นส่วนทุกชิ้นเองในประเทศไทย และประกอบเป็นปืนสำเร็จรูปมีมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับและสามารถนำออกไปขายยังต่างประเทศ
ผมกับหุ้นส่วน เริ่มออกแบบปืนหลายโมเดลแต่ติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย พวกเราไม่สามารถผลิตอาวุธปืนเองได้ถึงแม้ว่าเราจะออกแบบปืนไว้หลายโมเดล ดังนั้นเพื่อให้การผลิดปืนเกิดขึ้นในเมืองไทยได้จริง เราจึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐเพื่อช่วยให้เกิดงานวิจัยขึ้น ตอนแรกไม่มีใครเชื่อว่าคนไทยสามารถผลิตปืนได้ทุกชิ้นส่วนของการผลิต พวกเราพยายามทุกวิถีทางเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า KHT firearms เป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาอาวุธปืน สามารถผลิตปืนตรงกับความต้องการของผู้ใช้ซึ่งก็คือหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ
ร่วมมือกับภาครัฐผลิตอาวุธปืนสัญชาติไทย
ปัจจุบันผมร่วมงานกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ เราต้องพยายามอธิบายถึงลักษณะงานที่เรากำลังทำ รวมถึงขีดความสามารถของบริษัท สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศมองเห็นขีดความสามารถ เข้าใจถึงความสำคัญและมองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการเกิดอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธปืนภายในประเทศ จึงให้โอกาสโดยทำข้อตกลง (MOU) กับทางบริษัท อนุญาตให้ใช้โรงงานผลิตจรวดของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ที่จังหวัดลพบุรี เป็นสถานที่ผลิตปืนต้นแบบตัวแรก นั่นก็คือ DTI-7 และต้นแบบปืนอีกหลายโมเดล เราใช้เวลาสร้างปืนต้นแบบประมาณ 1 เดือน พบอุปสรรคที่แท้จริงของการผลิตปืนในประเทศคือ “ความสามารถของคน” คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าตนเองชำนาญในการผลิตอาวุธปืน หรือคิดว่า “การผลิตอาวุธปืนใครก็ทำได้” ทุกคนคิดแต่เพียงว่า ซื้อชิ้นส่วนประกอบจากต่างประเทศหรือซื้อสิทธิบัตรต่างชาติ แต่สำหรับโจทย์ของบริษัท KHT firearms จำกัด คือ ต้องผลิตอาวุธปืนทุกชิ้นส่วนด้วยตนเอง
การทำงานของพวกเราเริ่มต้นจากการศึกษาและรวบรวมความต้องการของผู้ใช้ เพื่อเป็นข้อมูลในการสร้างปืนให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้ใช้งานให้มากที่สุด จากนั้นจึงเริ่มสร้างโมเดลปืน ผ่านกระบวนการปรับปรุงและทดสอบ เพื่อให้ได้อาวุธปืนต้นแบบอันเป็นไปตามข้อกำหนด (requirements) พวกเราเปรียบเสมือนร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ลูกค้าต้องการตัดชุดสูท เราต้องตัดสูทให้เหมาะสมกับสัดส่วนของผู้สวมใส่
ตัวอย่างเช่น พวกเราออกแบบโมเดลปืนต่อต้านก่อการร้ายบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน มีข้อกำหนดสำคัญคือ อาวุธปืนต้องยิงบนพื้นที่มีความเข้มข้นของก๊าชสูงมาก สามารถจุดประกายระเบิดได้ง่าย อาวุธปืนต้องสามารถยิ่งในน้ำหรือขึ้นมาจากน้ำ มีความทนทาน ทนน้ำ ทนกรด และมีขนาดเหมาะสมกับคนไทย หลังจากได้ปืนต้นแบบเราทดสอบยิงปืนในห้องที่มีความหนาแน่นของก๊าชธรรมชาติ เหนี่ยวไกลั่นกระสุนปืนแต่ก็ไม่เกิดการจุดตัวของประกายไฟ โดยในเร็ววันจะได้เห็นผลงานการผลิตโมเดลปืนอันเกิดขึ้นจากความร่วมมือของกองทัพบกและ KHT firearms
ลดการนำเข้าปืนหรือสิทธิบัตรปืนจากต่างชาติ
KHT firearms เป็นบริษัทวิจัยและพัฒนา ออกแบบอาวุธตามความต้องการของหน่วยงานรัฐหรือผู้ใช้ ได้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน เช่น กองทัพบก สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และกำลังเกิดความร่วมมืออีกหลายหน่วยงาน ปัจจุบันเราอยู่ในขั้นตอนการร่วมทุนกับรัฐบาล อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้บริหารระดับสูง (อนุซุปเปอร์บอร์ด) หากการร่วมทุนเกิดขึ้นจะมีปืนต้นแบบอีกหลายโมเดล สำหรับผมทรัพย์สินคือสิทธิบัตร หาก KHT firearms ร่วมงานกับหน่วยงานรัฐจะเกิดสิทธิบัตรร่วม อนาคตหากต่างชาติต้องการซื้อสิทธิบัตรปืน หน่วยงานรัฐที่ถือสิทธิบัตรร่วมกับ KHT firearms ก็มีส่วนแบ่งรายได้จากการขายสิทธิบัตร
ปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติแถบยุโรปและเอเชียจำนวน 2 บริษัท ให้ความสนใจแบบปืนและยังอยู่ในขั้นตอนเจรจาเบื้องต้น นอกจากนั้นสำนักข่าวจากประเทศจีน (CGTN) มีผู้ติดตามหลายล้านคนในประเทศจีนให้ความสนใจขอเข้าทดสอบและถ่ายทำคลิปวีดีโอทดสอบปืน DTI-7 มีผู้ติดตามชมคลิปวีดีโอการทดสอบจำนวนมาก
ปัญหาการผลิตปืนภายในประเทศไทยคือเรื่องข้อกฎหมาย การเริ่มต้นผลิตปืน ต้องผลิตให้กับหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ หลังจากนั้นจึงจะสามารถขายสินค้าให้กับต่างประเทศแล้วจึงจะสามารถผลิตปืนจำหน่ายให้กับคนไทย ห้วงเวลาที่ผ่านมา บริษัท KHT firearms จำกัด มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานรัฐบ่อยครั้ง พวกเราทำวิจัยและพัฒนาอาวุธปืน สร้างโมเดลอาวุธปืนเพื่อขอสิทธิบัตรให้มากที่สุด อนาคตคาดว่าบริษัท KHT firearms จำกัด จะสามารถผลิตอาวุธปืนขายให้กับคนไทยได้
ปัจจุบัน ประเทศไทยนำเข้าอาวุธปืนจากต่างชาติปีละไม่ต่ำกว่า 200,000 กระบอก คิดเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาท หลังจากนั้นถูกวางจำหน่ายในร้านขายอาวุธปืนจำนวน 502 ร้าน แต่ละปีมีเม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดปืนพานิชย์มากกว่า 10,000 ล้านบาท หาก KHT firearm สามารถผลิตอาวุธปืนจำหน่ายให้คนไทยจะสามารถลดการนำเข้าอาวุธปืนจากต่างชาติ อาวุธปืนภายใต้แบรนด์ของบริษัท เคเอชที ไฟร์อาร์มส์ จำกัด (KHT Firearms) จะเป็นอาวุธปืนสัญชาติไทยอันเป็นการประกาศให้โลกได้รู้ว่าคนไทยสามารถผลิตอาวุธปืนเองได้ ซึ่งในเวลานั้น KHT firearms จะเป็นบริษัทผลิตอาวุธเอกชนรายแรกของไทยอย่างเต็มตัว
สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)