ใครๆ ต่างปรารถนาชีวิตอันสมบูรณ์ผาสุก ฉันจึงอยากถามคำถามชวนให้หาคำตอบ คำถามที่ฉันมักถามตัวเองบ่อยๆ ว่า… ความผาสุกคืออะไร ? ความสุขนั้นมั่นคงถาวรตลอดไปหรือไม่ ? และจะสร้างความสมบูรณ์ผาสุกในชีวิตได้อย่างไร ?

เพื่อค้นหาความผาสุกของชีวิต ค้นพบวิธีในการเดินทางไปสู่ชีวิตอันสมบูรณ์ผาสุกที่แท้จริง ฉันจึงเริ่มเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจ สัมผัสถึงคุณค่าและความหมายของความผาสุกอันเป็นนิรันดร์ จะลองใช้วิธีสร้างสรรค์ความผาสุกแบบฉันดู ก็ได้นะ แต่อย่าพึ่งเชื่อ จนกว่าคุณจะได้ลองพิสูจน์ด้วยตัวเอง ว่าใช้ได้ผลจริงๆ กับคุณ  แล้วชีวิตอันผาสุกนี้ เป็นเช่นไรกัน? คนที่อยากพบความผาสุกในชีวิต เขามีวิธีแบบเดียวกันไหม?

สำหรับฉันแล้ว ช่วงเวลาที่จิตใจเบาสบาย ไร้กังวล นิ่ง สงบ มองโลกตามความเป็นจริงอย่างเข้าใจ ขณะเดียวกันก็ใช้ชีวิตอย่างมีชีวา มีความกระปรี้กระเปร่า มีความเบิกบาน ยินดีเวลาที่ได้ทำสิ่งดีๆ ได้นึกถึงเรื่องดีๆ ได้ช่วยใครสักคนให้ยิ้มและหัวเราะอย่างมีความสุข คลายความทุกข์ใจ  หรือกระทั่งเวลาที่ได้เห็นใครสักคนมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น ในใจนั้นก็พลอยรู้สึกปลื้มใจ ซาบซึ้งใจ และรู้สึกขอบคุณไปกับเขาด้วย นั่นแหละ “ความผาสุก” ของฉัน

ในหนังสือดีๆ หลายเล่มที่ฉันเคยอ่าน ล้วนบอกฉันว่า “การมองโลกในแง่ดี มีพลังดึงดูดให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นในชีวิต” และฉันก็เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ฉันเชื่อในคำสอนพระพุทธเจ้า ที่ว่า “ทำเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น” “ปลูกถั่วได้ถั่ว ปลูกแตงได้แตง” ฉันจึงเชื่อมั่นว่า “ทำดี ย่อมได้ดี” “ทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว” หากว่าฉัน “คิดดี ชีวิตย่อมมีความสุข” หากฉัน “คิดลบ ชีวิตย่อมเป็นทุกข์” อย่างแน่นอน

เช่นเดียวกันกับคำสอนของพระเยซูคริสต์ พระองค์สอนให้ “รักเพื่อนมนุษย์ ดุจรักตนเอง” “ให้อภัยศัตรูดั่งให้อภัยตนเอง” แล้วคนเช่นไรล่ะ? ที่จะทำได้เช่นนี้ ก็เห็นจะมีแต่คนที่คิดดี คิดแง่บวก ใจกว้าง จึงสามารถเปิดใจยอมรับได้ทุกเรื่องราวทุกเหตุการณ์ ให้อภัยได้ง่ายๆ ประดุจไม่เคยมีเรื่องแคลงใจกัน ไม่ติดใจ ไม่ถือสา ที่ผ่านไปแล้วก็แล้วกันไป ถึงกระนั้น คนที่คิดดี คิดแง่บวก ก็มักจะเรียนรู้อยู่เสมอ จากบทเรียนก่อนหน้านี้ และช่วยให้คนทำผิด รู้ตัว เพื่อเขาจะได้ไม่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่จึงเรียกว่า “คนมองโลกในแง่ดี” ที่ดีจริง

การทำให้ตนเองมีความสุขไม่ใช่เรื่องยาก การรักษาความผาสุกในชีวิตในจิตใจให้คงอยู่เสมอๆ นั่นต่างหาก ที่ทำได้ยากกว่า พระอาจารย์ที่คอยอบรมชี้แนะฉันอยู่เสมอ สอนให้ฉันรู้ว่า… วิถีแห่งความผาสุกนั้น มีอยู่และทำได้จริง

เมื่อฉันรู้สึกถึงความสำนึกคุณ ความรู้สึกขอบคุณ ความตื้นตันใจ ขณะนั้นฉันกำลังพบกับความผาสุก ดังนั้นฉันจึงฝึก “มีจิตสำนึกคุณอยู่เสมอ”

เมื่อฉันรู้สึกถึงความกังวล ขุ่นเคือง ฟุ้งซ่าน ฉันจะไม่พบความผาสุก พระอาจารย์จึงสอนให้ฉันฝึก “ประคองความคิดตน” ให้อยู่กับปัจจุบันขณะ ด้วยการปฏิบัติภาวนา

ฉันเชื่อว่า “ความผาสุกมีอยู่แล้วในตัวเรา” เพียงเพราะเราปล่อยให้อารมณ์ต่างๆ เข้ามาครอบงำ ทำให้จิตใจมัวหมอง เราจึงไม่พบความผาสุกในชีวิต

ท่านเหล่าจื่อ ศาสดาแห่งศาสนาเต๋า กล่าวว่า ธรรมะก่อเกิดสรรพสิ่ง สรรพสิ่งเกิดจากความว่าง ซึ่งเป็นสภาวะเดียวกับ “จิตเดิมแท้” ของเราทุกคน เรียกอีกชื่อว่า “พุทธจิตธรรมญาณ” หรือ “พุทธภาวะ” มีอานุภาพเช่นเดียวกับ พระพุทธเจ้า ทุกพระองค์ ดังนั้นเราจึงมีสิทธิ์ที่จะพ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง และพบความผาสุกอันเป็นนิรันดร์ได้ทุกคน

ศาสนาคริสต์เชื่อว่าพระเจ้าคือผู้ให้กำเนิดจักรวาลและสรรพสิ่งทั้งหลาย พระองค์เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับจิตวิญญาณของเราทุกคน พลานุภาพศักยภาพของพระองค์มีอยู่ในตัวเรา

หากฉันปลูกฝังสิ่งดีๆ ลงในจิตใจ เมล็ดพันธุ์แห่งความดีงาม จะค่อยๆ เติบโตขึ้นภายในตัวฉัน และเปล่งประกายออกมา เป็นผู้มีเจตนาอันดีงาม เป็นผู้มีการกระทำอันงดงามประกอบด้วยเมตตาและคุณธรรม เป็นผู้มีคำพูดอันไพเราะและจรรโลงใจ ฉันฝึก “ใช้จิตใจอันดีงามตีความทุกสรรพสิ่ง” สรรพสิ่งจึงดีกับฉัน นี่คือกฎการสะท้อนกลับ ที่ฉันได้เรียนรู้

เมื่อฉัน “ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขอยู่เสมอ” แคล้วคลาดรอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง เป็นอิสระจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเศร้าโศกเสียใจ ความยึดติด ความทุกข์กังวลทั้งหลายทั้งปวง ฉันจึงพบความผาสุกเช่นเดียวกันนั้น ในตัวฉันเอง

ฉันรู้สึกขอบคุณทุกๆ สิ่งด้วยความสำนึกคุณ ตั้งแต่ฉันเกิดและค่อยๆ เติบโตขึ้นจนถึงวันนี้ ฉันได้รับความรัก ได้รับความช่วยเหลือ และได้รับความห่วงใยชี้แนะมากมาย ทั้งหมดนั้นทำให้ฉันเติบโตขึ้น แข็งแรงขึ้นและอ่อนโยนขึ้นพร้อมๆ กัน

ขอให้ฉันได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดีในใจผู้คนทั้งหลาย เช่นเดียวกับที่ฉันได้ถูกหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามในใจตนเองทุกๆ วัน ขอให้ผู้คนทั้งหลายเป็นผู้มีความสุขกายสุขใจ เช่นเดียวกับที่ฉันปรารถนาให้ความผาสุกเกิดขึ้นกับตัวฉันเอง หากว่าใครสักคนกำลังพบกับความทุกข์ ฉันขอให้เขามีพลังในการ “แปรเปลี่ยนการพบทุกข์นั้น ให้เป็นการพบธรรมในตนเอง” มองทะลุความทุกข์ให้เห็นธรรมะที่ซ่อนอยู่ในนั้น และเมื่อนั้นเขาจะได้ “กำไรจากความทุกข์”

11/5/2566 สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย-ดอนเมือง