“ดร.มิซาบุโร ทานิกุจิ” เป็นอาจารย์สอนเกษตรประเทศญี่ปุ่น หลังปลดเกษียณเขาได้รับเงินบำเหน็จจำนวนหนึ่งจากการเป็นอาจารย์ เดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อสร้างฟาร์มแห่งศตวรรษที่ 21 เมื่อเดินทางถึงเมืองไทยเขายังทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนการเกษตร สอนการเกษตรสมัยใหม่ให้กับชาวเขาเผ่าต่างๆ ในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา ใช้ชีวิตยู่เมืองไทย 30 ปี มีตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิศูนย์อบรมเกษตรกรรมและอาชีพ เขาเป็นผู้ริเริ่มสร้างฟาร์มระบบเกษตรอินทรีย์คนแรกของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ติดกับถนนบ้านสักลอ- บ้านพวงพะยอม ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา มีพื้นที่เรียนรู้ทดลองทำการเกษตร จำนวน 150 ไร่ ทำให้หลายคนมองเห็นความแตกต่างระหว่างการเกษตรทั่วไปกับการเกษตรอินทรีย์ ทำให้หลายคนมองเห็นมุมมองใหม่ด้านการเกษตรแบบญี่ปุ่นแบบผสมผสาน แม้ว่า “ดร.มิซาบุโร ทานิกุจิ” เสียชีวิตมานานกว่า 10 ปี แต่การทำงานของเขายังเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานคนไทยสมัยใหม่ที่เลือกทำการเกษตร

1. “ถ้าคุณอยากเห็นอนาคตการเกษตรของไทยในอีก 20 ปี ก็ให้มองการเกษตรญี่ปุ่น”

2. “ชาวนาต้องปรับตัวไม่อย่างนั้นสูญพันธุ์กันหมด”

3. “เชื่อเถอะว่าเด็กที่เรียนเกี่ยวกับการเกษตรในประเทศไทยไม่มีทางที่จะกลับมาทำการเกษตรของตนเอง พวกเขาต้องการทำการเกษตรกับบริษัท”

4. “จนถึงเดี๋ยวนี้ มีการควบคุมเมล็ดพันธุ์ข้าวไปแล้วกว่า 70% เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ บริษัทใหญ่ยึดพันธุ์ข้าวไปหมดแล้ว”

5. “ในความคิดของผม ผมเชื่อว่าเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคนไทย”

6. “ข้าวแพง…คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือกลุ่มนายหน้าพ่อค้านายทุน…มันกลายเป็นเพียงเกม ส่วนชาวนาต้องรับกรรม”

ฟาร์มแห่งศตวรรษที่ 21

F.C.21 หรือ “ฟาร์มแห่งศตวรรษที่ 21” เป็นต้นแบบแหล่งผลิตอาหารเพื่อชาวโลกในอนาคตเพราะทุกวันนี้อาหารมีไม่เพียงพอสำหรับชาวโลก อีกประการหนึ่งเหตุผลแห่งการทำประโยชน์ หากผมอยู่ประเทศญี่ปุ่น ผมกลายเป็นคนแก่ที่ไร้ประโยชน์ แต่ถ้าหากอยู่เมืองไทย ผมสามารถทำประโยชน์ได้มากกว่า

เมื่อ 25 ปีก่อน ผมทำฟาร์มที่จังหวัดเชียงราย ตอนนั้นฝึกแต่ชาวเขา หลังทำการเกษตรมาหลายปี ผมก็อยากขยายพื้นที่ อยากทำงานให้มากกว่าเดิม ก็เลยหาสถานที่ใหม่ ดังนั้นในอีก 8 ปีต่อมา ผมตัดสินใจย้ายฟาร์มาอยู่บนที่ดิน 150 ไร่ ติดกับถนนบ้านสักลอ – บ้านพวงพะยอม ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา เมื่อ 25 ปีก่อน ที่ดินบริเวณนี้กันดารมาก ถนนหนทางยังเป็นดินลูกรัง ตอนนั้นผมมีเป้าหมายทำการเกษตร ปลูกข้าว ทำสวน ทำปุ๋ยหมัก ฯลฯ

เกษตรกรญี่ปุ่นกับไทยต่างกันเพียงใด

ความต่างข้อแรก เป็นเรื่องความรู้ เมื่อ 25 ปีก่อน คนญี่ปุ่นสามารถอ่านออกเขียนได้กันแทบทุกคน พวกเขาสามารถศึกษาเรื่องเทคนิคด้านการเกษตรได้มากกว่า แต่สำหรับคนไทย ตอนนั้นเกษตรกรที่อ่านหนังสือไม่ออกมีอยู่จำนวนหลายคน และถึงมีหนังสือด้านการเกษตรพวกเขาก็ไม่ชอบอ่าน

จุดสำคัญยังมีอีกอย่างคือ ชาวญี่ปุ่น มีการเปรียบเทียบความรู้ระหว่างกัน อย่างน้อยหนึ่งวันหรือสองวันก็มีการไปเยี่ยมพื้นที่การเกษตรระหว่างกัน ส่วนคนไทยพอมีงานพอมีการพบปะกัน ก็คุยกันเรื่องอื่น ไม่มีการคุยเรื่องการเกษตร แต่คนไทยก็มีการพัฒนาด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่องเหมือนกัน

ถ้ามองในด้านเทคโนโลยีเราจะเห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผมอยู่เมืองไทย ผมจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เริ่มจากควาย เป็นรถไถ เป็นรถแทร็กเตอร์ มีเครื่องเกี่ยว เครื่องดูดข้าว และจะมีเครื่องมืออื่นอีกมากมายที่จะเข้ามาในอนาคต แต่เรื่องเทคโนโลยียังเทียบกับญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะเรามีเครื่องมือที่พร้อมกว่า เกษตรกรญี่ปุ่นสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยทำงานได้โดยเฉลี่ยคน 1 คน สามารถทำนาได้ 50 ไร่  ส่วนคนไทยยังใช้มือทำนา

ถ้าคุณอยากเห็นอนาคตการเกษตรของไทยในอีก 20 ปี ก็ให้มองการเกษตรญี่ปุ่น แต่ตอนนี้ทุกคนก็เจอปัญหาเหมือนกัน เพราะราคาน้ำมันแพง ชาวนาญี่ปุ่น ชาวนาไทย ตอนนี้เดือดร้อนเรื่องต้นทุนการผลิตเหมือนกัน

ลูกหลานชาวนาไม่ยอมทำนา

อันนี้มันเป็นปัญหาของสำคัญของโลก ประเทศไทยไม่แตกต่างจากญี่ปุ่น เรื่องคนหนุ่มสาวเลือกทำอย่างอื่น ตอนนี้อายุเฉลี่ยของชาวนาญี่ปุ่นอยู่ที่  61 ปี ตอนนี้คนไทยก็คงอยู่ประมาณ 45 ปี มันสะท้อนให้เห็นเลยว่า ชาวนาต้องปรับตัว ไม่อย่างนั้นสูญพันธุ์กันหมด เชื่อเถอะว่า เด็กที่เรียนเกี่ยวกับการเกษตรในประเทศไทย ไม่มีทางที่จะกลับมาทำการเกษตรของตนเอง พวกเขาต้องการทำการเกษตรกับบริษัท ส่วนเด็กญี่ปุ่น เดี๋ยวนี้นักศึกษาหลายคนของญี่ปุ่นสนใจทำการเกษตรมากกว่าเดิม มีหลายคนบอกว่าเมื่อทำงานจบแล้วจะกลับมาทำเกษตรกรรม

การแก้ปัญหาต้องมองไปที่เงิน รัฐต้องเข้ามาสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรโดยมองไปที่รายได้ สมมุติว่า จบปริญญาตรีได้เงินเดือน 7,300 บาท เราก็ต้องทำให้ชาวไร่ชาวนาได้เงินเท่านั้น โดยมองไปที่ราคาข้าว จากนั้น ทำให้ชาวนาได้เงินเดือนเท่านั้น เด็กไทยไม่ต้องเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม  แต่บางทีก็ต้องยอมรับว่าบ้านเราทำนาปี ทำปีละครั้งเวลาที่เหลือคือเวลาว่างงาน ถ้าทำงานทุกวันแล้วสามารถได้เงินเยอะกว่าโรงงาน รับรองว่ามีคนเข้ามาทำการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

การรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรไทย

รัฐบาลไทยความจริงมีการส่งเสริมด้านการเกษตรกรรมมาก รัฐสนับสนุนมาก แต่กลุ่มเกษตรกรไม่ไขว่คว้ามันเป็นเพียงการรวมตัวเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ไม่มีความเหนียวแน่นเลย อย่างช่วงที่ผ่านมา ที่ศูนย์มีการอบรมเรื่องสารเคมี โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เป็นคนออกค่าใช้จ่าย แต่พบว่า หลังการอบรม ไม่มีใครใช้ประโยชน์ในความรู้จากการอบรมเลย ตอนนี้ยังหาคนทำปุ๋ยหมักไม่มีเลย นี่ทำให้เห็นความหละหลวมของการรวมกลุ่มของเกษตรชาวไทย

ยิ่งถ้าพูดถึงเรื่องพันธุ์ข้าว มันกลายเป็นปัญหาใหญ่อยู่แล้วเรื่องกลุ่มทุน ไม่ต้องมองที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ แต่ไปมองที่โลกตะวันตก มองอเมริกา ผมนั่งอ่านนิตยสารของญี่ปุ่นฉบับหนึ่งชื่อว่า World Watch เขาบอกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จนถึงเดี๋ยวนี้ (พ.ศ.2550) มีการควบคุมเมล็ดพันธุ์ข้าวไปแล้วกว่า 70% บริษัทใหญ่ยึดพันธุ์ข้าวไปหมดแล้ว 

อย่าง GMOs หรือการตัดต่อพันธุกรรมพืช ถ้าหากว่ามันต้องใช้ หากใช้แล้วไม่มีผลกระทบมันก็ต้องลองดู แต่ในความคิดของผม ผมเชื่อว่าเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคนไทย แม้จะได้ข้าวน้อยกว่า แต่ประโยชน์ของข้าว ของคนที่รับประทานข้าวมีมากกว่า

ขายข้าวให้ผู้บริโภคแพงแต่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรราคาถูก

คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือ กลุ่มนายหน้าพ่อค้านายทุน ส่วนตัวผม ราคาข้าวไม่มีผลกระทบกับมูลนิธิหรอก เพราะมูลนิธิส่งผลผลิตที่ได้ขายให้กับร้านอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทย 22 ตันต่อปี ส่วนปี 51 เรารับยอดเพิ่มขึ้นเป็น 30 ตัน โดยมีการประกันราคาข้าวให้กับเกษตรกรที่ทำนาระบบอินทรีย์ราคากิโลกรัมละ 13 บาท เรื่องราคาข้าวไม่มีผลกระทบกับเราเลย

ส่วนราคาข้าวปัจจุบัน ถามว่าเกษตรกรขายตามราคาจริงหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ ชาวนาขายข้าวไปตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ธันวาคม เมือปี 2550 แล้ว ตอนนี้ราคาข้าวมันก็เหมือนกับตลาดหุ้น มีการปั่นราคา เป็นเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มพ่อค้าคนกลางรายใหญ่ ยิ่งได้รับประมูลข้าวมาก ก็ยิ่งได้มาก มันกลายเป็นเพียงเกม ส่วนชาวนาต้องรับกรรม

บทสัมภาษณ์ ทรงวุฒิ จันธิมา ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์พะเยารัฐ เผยแพร่เว็บไซต์ประชาไท พ.ศ.2550