ผมเคยสงสัย ทำไมคนไทยบริโภคเนื้อโค-กระบือ มากมายขนาดนั้น มีรถยนต์ขนส่งโค-กระบือ จำนวนมากผ่านด่านชายแดนพม่าเข้าประเทศไทย มันเชื่อมโยงกับข้อมูลสารคดีฉบับเก่าซึ่งนำเสนอว่า ชนชาวเมียนมาร์เดินทางด้วยเท้านำโคกระบือจากอินเดียถึงประเทศเมียนมาร์ จากข้อสงสับ กลายเป็นประเด็นการนำเสนอ เราเก็บข้อมูลการผ่านแดน และพบว่า ประเทศไทยเป็นเพียงทางผ่านและแหล่งพักโคกระบือ ตามเส้นทางขนส่ง โคถูกขนส่งจากอินเดีย พม่า ไทย ลาว ข้ามแดนเพื่อจำหน่ายที่ประเทศจีน

กองบรรณาธิการจึงตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าพบว่า ประเทศไทยนำเข้าโค-กระบือ จากเมียนมาร์จำนวนมาก ทั้งที่นำเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายและลักลอบนำเข้าผ่านเส้นทางธรรมชาติบริเวณตะเข็บชายแดน

กองบรรณาธิการตรวจสอบข้อมูลการส่งออกโค-กระบือ ซึ่งส่งออกให้กับประเทศมาเลเซีย ,เวียดนาม ,จีนโดยใช้เส้นทางผ่าน สปป.ลาว พบว่าประเทศไทยมีการส่งออกโค-กระบือสูงมากในช่วงก่อน พ.ศ.2562 แต่ต้องพบปัญหาโรคระบาดในสัตว์ใน พ.ศ.2563 ติดตามมาด้วย สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ประเทศคู่ค้าโค-กระบือ เช่น ประเทศจีน สร้างมาตรการควบคุมโรค นั่นทำให้ปริมาณการส่งออกโค-กระบือ สู่ต่างประเทศลดลง ส่วนโค-กระบือ ภายในประะเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังพบว่า มีการนำเข้าเนื้อโคแช่แข็งจากอินเดียซึ่งเป็นเนื้อโคราคาถูกเพื่อใช้ในโรงงานผลิตลูกชิ้น ฯลฯ

นั่นส่งผลให้ราคาโคเนื้อมีชีวิตและเนื้อโคภายในประเทศตกต่ำ

เหตุใดจึงมีการนำเข้าและส่งออกโคเนื้อจำนวนมาก เหตุใดประเทศคู่ค้า จีน เวียนนาม มาเลเซีย จึงมิสั่งซื้อโคเนื้อจากอินเดียโดยตรง คำตอบคือ ประเทศไทยคือประเทศที่มีมาตรการควบคุมโรคจากสัตว์ดีที่สุดของเอเชีย เกษตรกรผู้เลี้ยงโคชาวไทยมีความสามารถด้านการเลี้ยงขุนโค กลุ่มพ่อค้าโคคนกลางชาวไทยมีเครือข่ายสามารถจัดส่งโคตามกำหนดเวลาและจำนวนที่คู่ค้าต่างประเทศ นั่นทำให้ประเทศไทยคือศูนย์กลางการค้าส่งโค-กระบือ

เอเชียผ่านวิกฤติสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่ประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนกลับสร้างมาตรการกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าโคเนื้อจากต่างประเทศ แม้จีนจะส่งบริษัทเอกชนร่วมลงทุนกับ สปป.ลาว ในการสร้างโรงเชือดและแปรรูปโค-กระบือ บริเวณชายแดนลาว เขตหลวงน้ำทา ให้โควต้ารับซื้อโคเนื้อปลอดภาษากับ สปป.ลาว จำนวนมากถึง 500,000 ตัว แต่ก็มีการกำหนดหลักเกณฑ์หรือสเปคของโคเนื้อที่จะรับซื้อซึ่ง สปป.ลาว ไม่สามารถผลิตหรือเลี้ยงโคเนื้อให้ได้ตามมาตรฐานที่จีนต้องการ ส่วนประเทศไทยแม้จะมีโคเนื้อตามมาตรฐานครบหลักเกณฑ์ แต่การขนส่งระยะไกลจากไทยไปจีนห่างไกลหลายพันลี้ อีกทั้งยังต้องผ่านด่านตรวจ ด่านกักสัตว์ นั่นเป็นเหตุผลที่จีน ไทยและ สปป.ลาว พยายามสร้างความร่วมมือภายใต้เงื่อนไขเพื่อประโยขน์ 3 ฝ่าย

อ่านบทความเกี่ยวข้อง 1.The Beef : Ep.1 เส้นทางโคปลดระวางจากอินเดียถึงจีน , 2. เบื้องลึกธุรกิจค้าโคข้ามชาติ ไทย ลาวและจีน