ผมชอบดนตรี หมกมุ่นอยู่กับกีตาร์ กระทั่งอยากจะทำกีตาร์ที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของตนเอง (Signature) ผมก็คิดเหมือนคนเล่นดนตรีทั่วไปครับ คิดง่าย ทำง่าย ศึกษาข้อมูลจากเอกสารงานวิจัยหลายชิ้นของต่างประเทศ สั่งอะไหล่จากจีนมาประกอบเพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยากเกิดความสามารถตนเอง เมื่อได้อะไหล่ครบถ้วนผมเริ่มประกอบสิ่งที่มีอยู่ให้กลายเป็นกีตาร์ครับ ผลที่ได้คือการประกอบกีตาร์ไม่เหมือนกับการประกอบจิ๊กซอว์นะครับ มันไม่พอดีกัน ทำให้เราต้องปรับแต่งหลายสิ่งหลายอย่างโดยเฉพาะรอยต่อของไม้แต่ละชิ้น ปรับแต่งด้วยอปุกรณ์ช่างไม้ ปัดกระดาษทราย ให้รอยต่อพอดีกัน กีตาร์ไฟฟ้าทรงคล้ายกับ Telecaster ก็เป็นรูปเป็นร่าง คอกับบอดี้กีตาร์เชื่อมต่อพอดีด้วยแผ่นเพลท ขันน็อตเสร็จติด Saddie กับ Bridge หลังจากนั้นขึงสายแล้ว Setup ได้กีตาร์ 1 ตัว พูดเหมือนง่ายนะครับ กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาเกือบ 3 เดือน เพราะการเรียนรู้ด้วยตนเองยากมาก เรียกว่า “ผิดเป็นครู” เรียนรู้จากความผิดพลาด แต่ผมมีข้อคิดที่ดีสำหรับคนที่อยากทำกีตาร์เป็นของตนเองครับ

ประการแรก คือ Scale แปลว่าหน่วยวัดในอัตราส่วนนะครับ เช่น ขนาดของคอกีตาร์กับซอกคอบนบอดี้ที่จะต่อกันต้องมีการวัดขนาดที่ตรงกัน องศาซอกคอบอดี้ควรตรงตามขนาดและทิศทาง มิฉะนั้นก็เป็นกีตาร์คอเบี้ยวละครับ การทำกีตาร์เป็นเรื่องของความละเอียดแม่นยำของแต่ละสัดส่วนของกีตาร์  ฝีมือของคนทำกีตาร์จึงเป็นสิ่งแรกที่เราควรคำนึงถึงครับ ช่างทำกีตาร์เมืองไทย หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Guitarmaker ปัจจุบันจึงมีจำนวนมาก สามารถทำกีตาร์ที่มีคุณภาพสูง สำหรับกีตาร์โปร่งตอนนี้ประเทศไทยสามารถผลิตกีตาร์มีมาตรฐานแนวหน้าของเอเชียนะครับ เน้นหนักเรื่องฝีมือและความมีตัวตน เช่น วิรุฬห์ ทรงบรรดิษฐ์ เป็นช่างทำกีตาร์โปร่งอันดับหนึ่งของประเทศไทย ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ทำกิจกรรมออกบูธแสดงผลงานในต่างประเทศหลายครั้ง มีความสัมพันธ์อันดีกับช่างทำกีตาร์ต่างประเทศ ได้รับการถ่ายทอดฝีมือและประสบการณ์จากช่างกีตาร์ระดับแนวหน้าของโลก

สำหรับกีตาร์ไฟฟ้าประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการทำกีตาร์ในรูปแบบอุตสาหกรรมหรือการสร้างแบรนด์ ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราจะเห็นกีตาร์แบรนด์ไทยซึ่งมีคุณภาพวางขายในบ้านเรา เช่น Thai Thumb , Rangka Guitars อีกส่วนหนึ่งก็เป็นกีตาร์แบรนด์ไทยแต่สั่งผลิตจากต่างประเทศ เช่น Soloking มีกีตาร์ Signature มือกีตาร์ศิลปินไทยอย่างพี่เอก แบล็กเฮด ทางเลือกของคนเล่นกีตาร์มีมากมาย ปัจจุบันคนที่ชื่นชอบกีตาร์จึงมีกีตาร์ไว้ในครอบครองจำนวนหลายตัว ฉะนั้นแล้ว หากใครคิดจะมีกีตาร์ไว้ในครอบครอง ผมคิดว่า สิ่งที่ควรทำคือเดินทางไปร้านขายกีตาร์แล้วลองเล่นครับ เลือกตัวที่เราชอบแล้วซื้อตามกำลังทรัพย์ที่เรามี ถ้าไม่มีก็ซื้อผ่อนครับ

ประการที่สอง คือ คุณภาพและมาตรฐาน เหตุผลที่ต้องเลือกซื้อกีตาร์ตามท้องตลาดก่อน เหตุผลก็เพราะเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของกีตาร์ครับ ผมมีอุทธาหรณ์ที่จะเล่าไว้เป็นข้อคิด คือก่อนหน้านี้ผมประกอบกีตาร์ด้วยตนเอง เมื่อกีตาร์เสร็จ Setup เรียบร้อยแล้วทดลองเล่น สุ้มเสียงกีตาร์ดีมาก เป็นช่วงเวลาที่ประทับใจมากๆ เมื่อติด Pickup เชื่อมต่อระบบภาคไฟฟ้า เราจะรู้สึกถึงเสียงที่มีคุณลักษณะเฉพาะเป็นสียงกีตาร์ที่เราต้องการ ผมจำได้ตอนทำกีตาร์ตัวแรกเสร็จและทดสอบภาคไฟฟ้า เสียงดีมาก ไม่มีเสียงจี่แม้แต่เพียงเล็กน้อย นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมหมกมุ่นเล่นกีตาร์อยู่เกือบ 2 สัปดาห์ ด้วยความที่เป็นกีตาร์ของตนเอง ไม่พึงใจตรงไหนก็แก้ไข ปัด ปาด สร้างรูปทรงใหม่ ขันคอ หมุนน๊อต สิ่งเหล่านี้ทำให้กีตารเสียงดีและเสียงไม่ดี แต่นั่นก็ทำให้ผมเจ็บปวดเพราะคอกีตาร์ผมพังครับ ก้านเหล็กยึดกีตาร์ (truss rod ) ปีนเกลียว คอกีตาร์ที่สั่งนำเข้าจากต่างประเทศบอบบางมาก

ผมจึงเริ่มศึกษาคุณภาพของอุปกรณ์ที่ประกอบเป็นกีตาร์ เริ่มจากไม้ ความจริงไม้ไทยหรือไม้จากเอเชียมีคุณภาพสูงมาก โดยเฉพาะไม้ตระกูล Rosewood เช่น ประดู่ ชิงชัน ไม้แดง มีคุณภาพสูงและแข็งแรง หากนำมาทำบอดี้หรือประกอบบอดี้รับประกันความทนทาน ทำกีตาร์หล่นแทบไม่มีร่องรอยความเสียหาย ต่างจากไม้ต่างประเทศที่บอบบาง ตกกระทบนิดหน่อยก็เป็นรอย  แต่ไม้ไทยมีข้อเสียเรื่องน้ำหนัก เนื้อไม้แน่น น้ำหนักมาก เวลาเล่นอารมณ์คล้ายสะพายปืนกลออกรบในสงคราม

สำหรับส่วนประกอบอันเป็นหัวใจหลักซึ่งแสดงถึงคุณลักษณะของการเล่นและบ่งบอกถึงเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ คือ คอกีตาร์ เริ่มจากขนาดและรูปทรงของคอกีตาร์ (Shape) ซึ่งจะมีผลต่อการสั่นของสาย (Resonance) รวมถึง Radius หรือความโค้งของ Frets ซึ่งมีผลต่อการเล่นโดยเฉพาะการดันสาย คอกีตาร์คุณภาพสูงในท้องตลาดเมืองไทยไม่มีครับ แม้จะให้ช่างคนไทยทำก็ไม่สามารถผลิตคอกีตาร์คุณภาพสูงเทียบกับต่างประเทศได้ คอกีตาร์คุณภาพสูงเราจะพบในกีตาร์ เช่น  PRS , Fender , Gibson กีตาร์เหล่านี้เราสามารถ Setup ให้สายมีความสูงหรือต่ำแทบจะติดกับเฟรตแต่ให้เสียงที่ดี มีคุณภาพสูง มีสัมผัสที่ดีในขณะที่เราเล่น

ประการสุดท้าย คือ มือของนักดนตรีไม่เหมาะกับการทำกีตาร์ คนที่สามารถสร้างกีตาร์ได้ดี คือ “ช่างไม้” เพราะเขามีความชำนาญ มีทักษะในการทำงานไม้ สามารถสร้างกีตาร์ให้มีขนาด หรือ Scale ตามรูปแบบ สำหรับพวกเรานักดนตรี มือของพวกเราอาจไม่เหมาะกับฆ้อน สิ่ว หรืออุปกรณ์ทำงานไม้ หากอยากจะทำกีตาร์เป็นของตนเอง ด้วยฝีมือของตนเอง ผมคิดว่า ควรสมัครเข้าโรงเรียนสอนทำกีตาร์เพราะเขามีเครื่องมือ มีผู้ชำนาญการ และมีแหล่งอุปกรณ์คุณภาพให้เลือกสรร

ปล. บันทึกไว้เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2567 วันที่ยังไม่มีคนไทยสร้างคือกีตาร์ไฟฟ้าคุณภาพสูงเทียบกับต่างประเทศได้