เอก แบล็กเฮด หรือ อภิสิทธิ์ พงศ์ชัยสิริกุล ก้าวสู่ความเป็นมือกีตาร์ระดับตำนาน เป็นมือกีตาร์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักดนตรีรุ่นหลัง เขาได้รับรางวัลจากการประกวดแข่งขันดนตรีมากมายในวัยเด็ก เติบโตในห้องซ้อมดนตรีสู่เวทีการแสดงของเดอะร็อคผับด้วยอายุวัยเพียง 17 ปี เป็นนักดนตรีที่ผู้คนรู้จักในนาม “เอก แบล็กเฮดมือมีกีตาร์ของวง “แบล็กเฮด” วงดนตรียุคแรกที่เริ่มแต่งเพลงไทยในแนวดนตรีร็อคและเฮฟวี่เมทัล เสียงและสำเนียงกีตาร์อันดุดันของ เอก- แบล็กเฮด ถูกหล่อหลอมและก่อกำเนิดในห้องซ้อมดนตรี ทำงานในระบบการบึกทึกเสียงแบบ Analog ทำให้มือกีตาร์สามารถถ่ายทอดอารมณ์ทางดนตรีออกมาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นผลงานเพลง จำนวน 8 อัลบั้ม ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

นักดนตรีที่เติบโตจากห้องซ้อมของเดอะร็อคผับ

ผมเล่นกีตาร์โปร่งตั้งแต่ 11 ขวบ ประกวดดนตรีโฟล์คซองได้รับรางวัลที่ 1 ตอนเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กับเพื่อนชื่อ ประดิษฐ์ วรสุทธิพิศิษฎ์ นักร้องนำวง “สไมล์บัฟฟาโล่” หลังจากนั้นผมก็เริ่มเล่นกีตาร์ไฟฟ้า หัดเล่นเพลงของ ไมโคร, ดิ อินโนเซ้นท์ ,อัสนี-วสันต์ แล้วเข้าประกวดแข่งขันดนตรีตามเวทีต่างๆ เช่น ประกวดดนตรีศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ,ประกวดดนตรีสยามยามาฮ่า ผมเข้าประกวดดนตรีอย่างสม่ำเสมอ ได้รับรางวัลที่ 1 รางวัลที่ 2 จากการประกวดแข่งขันในแต่ละครั้ง

ผมฟังเพลงของ อัสนี-วสันต์  โชติกุล และ ชาตรี คงสุวรรณ  ดิ อินโนเซ้นท์  ผมแกะเพลง ฟังเพลงเยอะมาก ฟังเพลง แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ , คีรีบูน ฟังเพลงสากล เช่น อิงเว โยฮาน มาล์มสทีน (Yngwie Johann Malmsteen) , ลาวด์เนสส์ Loudness  , กันส์แอนด์โรสเซส Guns N’ Roses  , เมทัลลิกา Metallica

ตอนเรียนมัธยมปลาย เพื่อนที่เคยประกวดดนตรีด้วยกันแยกวงเพราะพวกเราเรียนกันคนละโรงเรียน แต่ช่วงนั้น ผมซ้อมดนตรีหนักมาก ผมซ้อมดนตรีที่ห้องซ้อมดนตรีเดอะร็อคผับ ห้องซ้อมดนตรีจะมีหนังสือ วีดีโอ หลังจากซ้อมดนตรีในห้องซ้อม ผมจะกลับมาฝึกซ้อมกีตาร์ตามแบบฝึกหัดที่บ้าน ฝีมือของผมพัฒนา กระทั่งมีคนเห็นผมเล่นดนตรีในห้องซ้อม เขาชวนผมเล่นดนตรีที่เดอะร็อคผับ ตอนนั้นผมเรียนหนังสือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ทรงผมนักเรียนสั้นเกรียน พวกเราเล่นดนตรีในชื่อวง สโนไวท์ Snow White

หลังเล่นดนตรีกับวงสโนไวท์ Snow White ผมย้ายไปเล่นกับวง “บิ๊กกัน” ค่ายเอสพีศุภมิตร เมื่อค่ายเพลงประสบปัญหาขาดทุน ผมตัดสินใจเดินทางไปเล่นดนตรีที่พัทยากับ ปู อานนท์ สายแสงจันทร์ นักร้องนำวง ยูเรเนียม (Uranium)  พวกเราเล่นดนตรีที่พัทยา 1 ปี ก็นำเพลงมารวมกันแล้วเสนอค่ายเพลงต่างๆ หลังจากนั้น ผมอยู่ในสังกัดค่ายเพลงเอ็มสแควร์โดยมี ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เป็นโปรดิวเซอร์ ตอนนั้น เนื้อเพลงของพวกเรายังไม่ดีพอ ผมยังเขียนเนื้อเพลงไม่เป็น ผมลองเขียนเพลง ยืนยัน ทน ไอ้เข้ ความทรงจำ  หลังจากนั้นออกอัลบั้ม Black List ตามมาด้วย  Blackbonus และ Full Flavor

อัลบั้ม ฟูลเฟลเวอร์ เป็นอัลบั้มที่แปลกต่าง พวกเราเดินทางบันทึกเสียงที่ ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ทำงานแบบครบวงจร กระทั่งได้ผลงานมาสเตอร์เทป ยุคสมัยก่อน เทคโนโลยีการบันทึกเสียงของไทยกับต่างประเทศไม่ต่างกัน สิ่งที่แตกต่างคือฝีมือ ยุคสมัยก่อนเป็นแบบอนาล็อค เครื่องบันทึกเสียงยังเป็นม้วนเทป คนอเมริกันใช้เครื่องมือคุ้มค่ามาก รสนิยมทางดนตรีของเขาสูง จะสังเกตเห็นว่า อัลบั้มฟูลเฟลเวอร์ มีความแตกต่างและทำให้เรามีโอกาสทำงาน กับ ป้อม อัสนี-วสันต์ โชติกุล ค่ายเพลง มอมิวสิค เราทำงานเพลงอีกจำนวน 5 อัลบั้ม เซ็นสัญญากับค่ายมอมิวสิค 6 ปี 

เอกลักษณ์แห่งการสร้างเสียงและสำเนียงกีตาร์

การสร้างสำเนียงการเล่นดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ต้องลองทำเพลงของตนเอง ถึงจะมีความป็นตนเองอย่างชัดเจน คนที่มีศักยภาพจะมีเพลงของตนเอง เมื่อมีเพลงของตนเอง เขาก็จะสามารถใส่อะไรที่เป็นตัวตนของเขาลงไปในบทเพลงได้ แต่ถ้าเราแกะเพลงของคนอื่น เล่นเพลงของคนอื่น มันไม่มีทางเป็นตัวของตัวเอง เราควรหาคอร์ง่ายๆ ทำเป็นทำนอง ทำให้เรามีช่องว่างให้ได้โซโล่กีตาร์ ทำให้เราได้ใส่เสียงกีตาร์ลงไป เราก็จะมีเพลงของตนเอง การจะมีสำเนียงกีตาร์ของตนเองต้องหาทางคอร์ดใหม่ นำตัวโน๊ต เมโลดี้ มาต่อกันทีละท่อนจนจบเพลง ปัจจุบัน เครื่องบันทึกเสียงแบบดิจิตอลสามารถทำงานได้ง่าย สามารถบันทึกเสียงที่บ้าน เมื่อมีผลงานเผยแพร่ก็จะทำให้เรามีเสียงกีตาร์ของตนเอง

การทำเพลงมีวิธีหลากหลาย ผมทำดนตรีและทำเนื้อร้อง ผมสามารถเริ่มต้นจากอะไรก่อนก็ได้ ทำดนตรีก่อนก็ได้ ตีคอร์ดก็ได้ ดนตรีเริ่มจากคอร์ด กลอง เบส แล้วใส่เมโลดี้ แต่ควรฮัมทำนองให้เราสามารถร้องได้เป็นเมโลดี้ต่อเนื่องกัน โน๊ตแต่ละท่อนควรเชื่อมต่อกัน อยู่ใกล้กัน สามารถไล่ไปถึงกันได้ หลังจากนั้นก็ใส่เนื้อร้อง บางบทเพลงที่ผมแต่งเริ่มจากเนื้อร้อง เช่นเพลง “ยอมรับ” เราแต่งเพลงจากท่อนฮุก ไม่จำเป็นต้องแต่งเพลงตั้งแต่ต้นจนจบเพลง คิดตรงไหนได้ก็ทำตรงนั้น การแต่งเพลงมีหลายวิธีคิด

เมื่อเข้าสู่กระบวนการบันทึกเสียง ห้องบันทึกเสียงยุคแรกคือระบบอนาล็อก (Analog) เป็นเทปใหญ่ มี 24 แทรค ไม่สามารถเล่นกีตาร์เจาะหรือเก็บรายละเอียดได้ทีละแทรค การบันทึกเสียงต้องบันทึกไปเรื่อยๆ ไม่มีปลั๊กอิน การเข้าห้องอัดในยุคสมัยก่อน การเล่นดนตรีต้องมีความสมบูรณ์มาก ต้องฝึกซ้อมกันเยอะมาก เพื่อความต่อเนื่องทางอารมณ์ดนตรี เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิตอล เราสามารถเก็บรายละเอียดได้เร็วมาก มีอุปกรณ์เสริมหลากหลาย เอฟเฟค อุปกรณ์เครื่องช่วยเสียง สามารถทำงานด้วยคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว มันง่ายมาก มีทางเลือกเยอะมาก แล้วพวกเราก็เลือกกัน เสียเวลากับการเลือก เสียเวลาการเล่น ไม่มีเวลาเล่น เมื่อถึงเวลาจะต้องเล่น อารมณ์ทางดนตรีก็หาย บางทีเราก็ลืมว่าจะเล่นอะไร

ความอิ่มของเสียง ความสมบูรณ์ของการเล่นกีตาร์มาจากอารมณ์ความต่อเนื่อง โลกดิจิตอลมีทางเลือกเยอะเกินไป ผมอยู่ในระบบดิจิตอลแต่ทำงานแบบอนาล็อก ผมไม่เสียเวลากับการเลือก ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมาก ผมเสียบกีต้าร์กับแอมป์แล้วใส่เอฟเฟค ปัจจุบันผมใช้กีตาร์กับแอป์ใช้เสียงแตกนิดหน่อยก็ได้เสียงที่เต็มอารมณ์ ไม่ต้องเสียเวลากับการปรับแต่ง

การเล่นกีตาร์ด้วยอารมณ์เพลงในระบบ Analog

ผมทำผลงานเพลงอัลบั้มแรกตอนอยู่ “บิ๊กกัน” ทีมงานช่วยทำเพลงคือทีมของ หรั่ง ร็อคเคสตร้า , หมู คาไลโดสโคป ผมบันทึกเสียงกีตาร์ 2 เพลง เมื่อเริ่มทำเพลงด้วยตนเองตอนอยู่วง “แบล็คเฮด” เราทำเดโมโดยใช้เครื่องบันทึกเสียง 4 แทรค ใช้เทปธรรมดาบันทึกเสียง ทำเสียงกลอง เสียงเบส กีตาร์ แล้วเอาเทปที่บันทึกไว้เปิดให้ค่ายเพลงฟัง ส่งไปให้บริษัทต่างๆ หลังจากนั้น เราถึงส่งเดโมเพลงให้กับนักเขียนเพลง เขียนเนื้อร้องแล้วเข้าห้องบันทึกเสียง “แบล็คเฮด” ยุคแรกบันทึกเสียง 2 รอบ เราทดลองบันทึกเสียงด้วยตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากเดอะร็อคผับ แต่ห้องบันทึกเสียงจะว่างในช่วงหลังเที่ยงคืน พวกเราต้องบันทึกเสียงในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนถึงช่วงเช้า แต่ผลงานก็ไม่ผ่าน จึงต้องบันทึกเสียงกันใหม่อีกครั้ง

เดอะร็อคผับเป็นสถานที่รวมตัวของร็อครุ่นแรกของเมืองไทย แหลม มอริสัน , กิตติ กาญจนสถิตย์ , ช อ้น ณ บางช้าง  ผมดูการแสดงคอนดนตรีตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  ผมชื่นชมและอยากเล่นดนตรีมาก ผมซ้อมดนตรีที่ห้องซ้อมเดอะร็อคผับ เขาเห็นฝีมือในห้องซ้อมก็ชวนผมไปเล่นที่เดอะร็อคผับ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่พวกเราแต่งเพลงไทยเป็นเฮฟวี่เมทัล เพราะยุคสมัยก่อนเพลงเมทัลยังไม่มีเพลงไทย ไฮร็อคและคาไลโดสโคป เริ่มออกเป็นเพลงไทย ผมออกเป็นแบล็กเฮด

ยุคสมัยก่อนเป็นยุคเทปคาสเซ็ท ฟังดนตรีกันอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันเราฟังเพลงเป็นซิงเกิล เปลี่ยนเพลง เปลี่ยนศิลปิน เปลี่ยนวงดนตรี อารมณ์ความต่อเนื่องทางดนตรีที่ต้องการนำเสนอจึงขาดหาย กลายเป็นยุคมืดของวงการดนตรีเพราะเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ช่วงหลังศิลปินมีรายได้จากยูทูป ระบบการเก็บเงินสร้างรายได้ให้ศิลปิน แต่บทเพลงก็ต้องได้รับความนิยมพอสมควร

“เสียงกีตาร์ที่ดี” โดย เอก-แบล็กเฮด

ผมเล่น Ibanez JEM 7 สีชมพู ตั้งแต่เด็ก เป็นกีตาร์สร้างชื่อเสียง ผู้คนจดจำภาพของผมได้เพราะ Ibanez ต่อมาผมใช้ Gibson Les Paul  ใช้ทำเพลงในอัลบั้ม “ยืนยัน” หลังจากนั้น ใช้ FENDER RICHIE  ต่อมาก็ใช้ Fender Telecaster  , WASHBURN N4 , Nash ช่วงหลังผมใช้กีตาร์ Soloking ผมออกแบบกีตาร์ Soloking Signature เป็นกีต้าร์ราคาถูกแต่ใช้งานได้ดี เครื่องดนตรียุคปัจจุบัน แตกต่างจากเครื่องดนตรียุคสมัยก่อน ยุคสมัยก่อนคุณภาพต่างกันมาก ทั้งคุณภาพเสียงและคุณภาพชิ้นงาน แต่ปัจจุบัน กีตาร์มีคุณภาพใกล้เคียงกัน

กีตาร์เสียงดี เริ่มต้นจากมาตรฐานของเฟรตกีตาร์ เสียงไม่เพี้ยน ตั้งสายแล้วได้ค่าตัวโน๊ตที่ตรง ความทุ้มแหลมมีบาลานซ์ มีความสมดุลของเสียง ย่านเสียงกลางจะมีความดีดออกมา ต่อมาคือการเล่นกีตาร์เพื่อให้ได้เสียงที่ดี ต้องอาศัยการฝึกเพื่อให้ได้โน๊ตที่ไม่ผิดเพี้ยน กดสายให้มันตรง ดันสายให้มันตรง ถึงแม้เรากดสายผิดตัวโน๊ตก็ต้องตรง บางครั้งเราดันสายเกินไปก็จะเพี้ยน คุณภาพของเสียงกีตาร์จึงอยู่ที่นิ้วมือที่กดลงบนสายกีตาร์กับการดีดที่มีความสัมพันธ์กัน ดีดออกมาให้มีคุณภาพเสียงที่ดี เล่นกีตาร์แล้วต้องฟังให้ดี ควรต้องฝึกพื้นฐานของจังหวะให้ดีก่อนศึกษาเรื่องโน๊ต สเกล ฝึกจังหวะให้ตรงตามค่าจังหวะต่างๆ ไม่ต้องเข้าใจโน๊ตจำนวนมาก แต่ควรข้าใจสัดส่วนของเสียง บางครั้งเราดีดกีตาร์เสียงบอดๆ แต่ถ้ามีจังหวะการเล่นดี เสียงก็ออกมาดี

การเล่นดนตรีอยู่บนเวที เราไม่จำเป็นต้องมองคนดู กำหนดความสนใจไปที่กีตาร์ของเรา ถ้าเรามองดูผู้ชมบางครั้งจะทำให้เสียสมาธิ มองกีตาร์ มองตัวเราเอง ให้คนอื่นเขามองเรา ส่วนเราให้ความสนใจไปกับเพลงที่เราเล่น การเล่นคอนเสิร์ตควรโฟกัสที่เวที ยิ่งเป็นคอนเสิร์ตใหญ่มีผู้ชมจำนวนมาก บนเวทีจะมีเครื่องเสียง อุปกรณ์จะมีหลายอย่าง คอนเสิร์ตใหญ่เสียงดังมาก เราจะไม่ได้ยินเสียงอื่นเลย เราได้ยินเสียงกลองจากมอนิเตอร์ ฉะนั้น เราต้องสามารถเรียกร้องได้ว่าอยากได้ยินเสียงอะไร ให้เขาปรับเสียงให้เรา อย่าเกรงใจ ถ้าเกรงใจเราจะไม่ได้ยิน

บนเวทีการแสดงมิกเซอร์สำคัญมาก ซาวด์เอนจีเนีย (SOUND ENGINEER) เป็นผู้ควบคุม บางทีเราซ้อมกีตาร์อย่างหนักแต่เมื่อเล่นคอนเสิร์ตเสียงกีตาร์ไม่ดัง ผมเคยไปเล่นคอนเสิร์ตต่างประเทศ แต่ซาวด์เอ็นจีเนียฝีมือไม่ดี ไมค์หอน นั่นเป็นคอนเสิร์ตที่น่าเสียดายมาก คนฟังไม่รู้เรื่อง นักดนตรีควรมีซาวด์เอ็นจีเนีย เราควรพาซาวด์เอนจีเนียไปในการแสดงคอนเสิร์ตด้วย เพราะคอนเสิร์ตจะดีหรือไม่ดีก็เพราะซาวด์เอ็นจีเนีย

ใช้ชีวิตอยู่อย่างสมดุล  

การใช้ชีวิตของผมย่ำแย่มากในวัยหนุ่ม ชีวิตของผมดีขึ้นในช่วงหลังเพราะแผ่นซีดีเริ่มขายไม่ได้ ผมใช้ชีวิตแบบคนปกติ ย้ายที่พักมาอาศัยอยู่บ้านภรรยา เมื่อมีเวลาอยู่กับตนเองก็สามารถควบคุมตนเอง ผมตื่นเช้า เริ่มมีกิจกรรมอย่างอื่น ตอนนี้ผมเป็นนักวิ่ง วิ่งออกกำลังในเช้าและกลางวัน ส่วนเวลากลางคืนเป็นเวลานอน หลายสิ่งหลายอย่างผ่านพ้นจากชีวิตของเรา ผมมีชีวิตแบบมนุษย์ปกติ ทำงานน้อยลง ใช้ชีวิตกับการสอนดนตรี ทำงานเพลงน้อยลงเพราะศิลปินรุ่นใหม่เติบโตขึ้น ผมสอนดนตรีที่กรุงเทพฯ สอนออนไลน์ นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กเริ่มหัดเล่นดนตรี สอนง่าย คนเล่นกีตาร์เป็นแต่เรียนมาผิดๆ ต้องมาแก้ไขเป็นเรื่องยาก ผมอยากสอนดนตรีให้กับคนเล่นกีตาร์ไม่เป็นกีตาร์เลย ผมไม่เคยคิดว่ากำลังสอนกีตาร์ คิดอยู่เสมอว่า เรามาเล่นกีตาร์ด้วยกัน ผมผ่านจุดสูงสุดของการเป็นศิลปิน แต่ผมยังไม่ตาย ชีวิตยังดำเนินต่อ ตอนนี้ผมมีแผนทำเพลง เล่นคอนเสิร์ต บันทึกเสียงกับศิลปินท่านอื่น

การอยู่วงการดนตรีต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอด เราต้องฝึกซ้อมเล่นกีตาร์ หาความรู้ใหม่อยู่เสมอ ศิลปินรุ่นใหม่เกิดขึ้นเร็วมาก พวกเขามีความรู้เพราะมีสื่อหลากหลาย มียูทูป มีสถาบันสอนดนตรีโดยตรง เราต้องหาโอกาสให้กับตนเอง เมื่อได้รับโอกาส ควรพร้อมรับโอกาส  เมื่อมีโอกาสแล้วต้องกล้าทำ มีโอกาสแล้วต้องทำให้ได้ ถ้าทำไม่ได้จะสูญเสียโอกาส ทำให้ไม่สามารถก้าวต่อไปในวงการดนตรี ส่วนคอนเน็คชั่นก็สำคัญ เพราะการที่เขาจะให้โอกาสเรา จะเรียกเราทำงาน เขาก็ต้องรู้จักกับเราก่อน ไปคอนเสิร์ตเล่นด้วยกัน ไปดูดนตรีเจอเพื่อนๆ สร้างคอนเนคชั่น รู้จักคนใหม่ ส่วนวินัยการทำงาน การฝึกซ้อม ก็ต้องมีมาก ฝึกซ้อมมากๆ มีความรับผิดชอบในการทำงาน

สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)