“ผีบ้า พระคงฤาษี” คือศิลปินนักร้อง นักแต่งเพลง นอกกระแส แม้เขาจะมีผลงานเพลงเพียง 5 บทเพลง แต่กลับได้รับความสนใจจากนักฟังเพลงชาวต่างชาติจำนวนมาก อาจเพราะความแตกต่างทางดนตรี ภาษาที่ใช้ในการร้อง รวมถึงวิธีการขับร้องที่มีความแปลก ในช่วงที่ผ่านมา “ผีบ้า พระคงฤาษี” จึงเป็นศิลปินท้องถิ่นที่ถูกจับตามองมากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ศุภชัย ปัญญา ศิลปินที่ใช้ชื่อว่า ผีบ้า พระคงฤาษี เล่าว่า บทเพลงส่วนใหญ่ถูกแต่งขึ้นในช่วงที่เขาต้องดูแลลูก เขาเขียนเพลงในยามที่ลูกสาวนอนหลับ เขาจะขับร้องบทเพลงในยามที่เธอตื่น บทเพลงส่วนใหญ่ที่แต่งขึ้นจึงได้รับแรงบันดาลใจจากลูกสาว ส่วนชื่อเรียก “ผีบ้า” เป็นชื่อที่แม่ของเขาชอบเรียกตั้งแต่เด็ก

ที่มาของบทเพลง “ผีบ้า พระคงฤาษี”

ผีบ้า พระคงฤาษี  เกิดขึ้นเมื่อผมเริ่มทำเพลง ผมคิดว่า ผมควรตั้งชื่ออะไรให้ผู้คนจดจำผมได้  ผมนึกถึง “พระคงฤาษี”  ชื่อของหมู่บ้านที่ผมเกิด เป็นชื่อที่แปลก ส่วนแม่ก็เรียกผมว่า “ผีบ้า”  ผมจึงตั้งชื่อของตนเองว่า “ผีบ้า พระคงฤาษี” ตั้งแต่แต่ผมเป็นเด็ก ผมคิดอะไรไม่เหมือนคนอื่น เป็นเด็กที่คิดอะไรแปลกๆ คุณแม่จึงเรียกผมว่า “ผีบ้า” หลังจากเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ผมเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพื่อนของผมหลายคนเลือกเรียนศิลปะ ผมสังเกตเห็นว่า เกิดความเปลี่ยนแปลงกับเพื่อนๆ ผมอยู่กับเพื่อน ฟังเพลงของเพื่อน บางครั้ง เพื่อนเอาเพลงมาให้ฟัง ผมเจอเพื่อนที่ชอบฟังดนตรีเหมือนกัน ผมทำทรงผมเดทร็อค Dreadlock ทรงผมรุงรัง ชอบฟังดนตรีเร็กเก้ ชอบฟังเพลงศิลปิน บ็อบ มาร์เลย์  

ชีวิตวัยเรียน ผมใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ บางครั้งผมจำวันเวลาไม่ได้ ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมรู้สีกเหมือนไม่ได้เรียนหนังสือ เหมือนเราเดินทางไปเจอเพื่อน บางครั้งเพื่อนชวนเล่นดนตรีแต่วงดนตรีของเขาก็มีตำแหน่งครบ ทั้งนักกีตาร์ เบส กลอง ผมจึงเลือกที่จะเป็นนักร้องนำ เวลาซ้อมดนตรีก็เล่นกันสนุกๆ ช่วงนั้นเราเล่นดนตรีแนวนฮาร์ทคอร์  Korn , Limp Bizkit  ผมร้องเพลง ผมสนุก แต่สุดท้ายเราก็กลับมาเล่น Bob Marley ผมใช้ภาษาอังกฤษได้พอสมควรแต่ส่วนใหญ่เวลาร้องเพลงผมจะเน้นท่าทางการร้อง

พ.ศ.2542 ผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ส่วนเพื่อนของผมสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ทุกคน ผมจึงต้องเลือกเรียนภาคค่ำเพราะไม่ต้องสอบเข้า ผมเรียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตอนนั้นผมชอบ Bob Marley อยากเป็นเหมือน Bob Marley ผมเรียนจบแต่ไม่รับปริญญา พ่อของผมไม่เชื่อว่าลูกชายจะเรียนจบปริญาตรี ผมต้องติดต่อมหาวิทยาเพื่อขอใบปริญญาเพื่อนำมามอบให้กับคุณพ่อ หลังจากที่คุณพ่อได้รับใบปริญญา ท่านก็ไม่ยุ่งกับชีวิตของผมอีกเพราะถือว่าผมเป็นผู้ใหญ่ แต่บางครั้งผมก็ยังสงสัยว่า คุณพ่อต้องการเพียงเท่านี้จริงหรือ?

อิทธิพลทางความคิดที่รับจากเชียงใหม่

หลังเรียนจบผมใช้ชีวิตในเชียงใหม่ เล่นดนตรีกระทั่งมีคนจ้างผมเล่น เขาอาจชอบความแปลกของเรา ทั้งที่ไม่เคยเรียนดนตรี ผมเดินทางไปเกือบทุกแห่งเพื่อเล่นดนตรี เดินทางไปเล่นที่ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชาวต่างชาติก็ชอบฟัง แต่บางครั้ง เราก็แปลกใจว่าทำไมคนฟังถึงมีจำนวนมาก เมื่อเราเล่นดนตรี ทำให้เขาสนุก เราก็สนุก หลังจากนั้น มีคนชม มีคนด่า แต่ผมไม่สนใจเพราะเราคิดว่าเป็นการเรียนรู้ เมื่อทำไปเรื่อยๆ ผมก็พบว่า ผมชอบดนตรี เพื่อนแนะนำให้เราเรียนดนตรี แต่การเรียนดนตรีกับการเล่นดนตรีไม่เหมือนกัน การเรียนดนตรีอาจารย์จะมอบการบ้านหรือแบบฝึกหัดให้เราเล่น อาจารย์สอนให้ผมร้องเพลงผมก็ร้องไม่ได้ ผมก็คิดว่า คงเรียนไม่จบ เราอาจเป็นคนดื้อ ยิ่งอาจารย์สอน เรายิ่งไม่ชอบ ไม่อยากให้ใครมาสั่งให้ทำนั่นทำนี่

ผมเปิดร้านอาหารชื่อร้านกอดซิปบาร์ เริ่มจากการร่วมหุ้น แล้วก็ทำร้านอาหารเป็นของตนเอง เมื่อผมมีลูก ผมไม่มีเวลาทำร้าน ผมลดเวลาเปิดเพียงเดือนละครั้ง พวกเราทำอาหาร เล่นดนตรี แต่มีเรื่องแปลกคือ เวลาที่เราเปิดร้านทุกวันคนจะไม่ค่อยมี แต่เมื่อเปิดเพียงวันเดียวกลับมีคนจำนวนมากมาที่ร้าน เพื่อนๆ ที่เข้ามาเที่ยวกลายเป็นคนช่วยงาน มีชาวต่างชาติเข้ามาฟังดนตรีจำนวนมาก แต่การทำงานกลางคืนทำให้ผมทำงานในอีกวันไม่ได้ ผมก็เริ่มคิด แล้วก็มาเปิดร้านในเวลากลางวัน แต่เมื่อทำอีเว้นท์จะมีคนจำนวนมาก ผมมองอนาคตไปที่การเลี้ยงลูก วางแผนเรื่องลูก ช่วงเวลาที่เลี้ยงลูกผมเริ่มกลับมาเล่นกีตาร์อีกครั้ง เมื่อไม่ได้เล่นกีตาร์มานาน เมื่อมาเล่น ก็สนุกมาก เพลิน  แต่ก็เจ็บนิ้วมาก

พอเริ่มเล่นกีตาร์อีกครั้ง เราก็คิดว่า เราจะแต่งเพลงได้หรือเปล่า เพราะตอนนี้เราไม่ได้ทำวงดนตรีกับเพื่อนเหมือนยุคสมัยก่อน สมัยก่อนผมทำวงดนตรี เชียงใหม่บลาเธอร์ , เชียงใหม่ก้า แต่ตอนนี้เราไม่มีสมาชิก ผมดีดกีตาร์คนเดียว ร้องเพลงคนเดียว เล่นดนตรีคนเดียว แต่งเพลงด้วยกีตาร์โดยไม่มีพื้นฐานทางดนตรี ไม่มีพื้นฐานด้านการแต่งเพลง ผมชอบเพลงของคนผิวสี jazz , blues , reggae , soul  แต่เวลาจะแต่งเพลงเราไม่ใช่คนผิวสี เราเป็นคนเมือง (คนภาคเหนือของประเทศไทย) ต้องเป็นตัวตนของเรา ถ้าเล่นดนตรีหลายคนจะมีคนช่วยให้ดนตรีดีขึ้นได้ ตอนนี้เราเล่นดนตรีคนเดียว เราจะเล่นอย่างไร ผมลองเขียนเพลงในช่วงเวลาในช่วงที่ลูกสาวนอนหลับ หยิบกีตาร์มาดีด จดบันทึกอะไรไปเรื่อยๆ กีตาร์ทำให้เราผ่อนคลายความรู้สึกเครียดจากการเลี้ยงลูก ผมจดบันทึกถ้อยความลงกระดาษ  บันทึกเสียงเป็นเมโลดี้ แต่งเพลงใช้คอร์ดเพียง 2 – 3 คอร์ด

แรงบันดาลใจจากลูกสาว

เพลงที่ผมแต่งเพลงเป็นเพลงเกี่ยวกับตนเอง ตอนแรกผมคิดว่า เวลาแต่งเพลงด้วยตนเองจะแต่งได้จำนวนมากหรือไม่ ผมเขียนเพลงไปเรื่อยๆ แล้วก็เล่นเพลงให้ลูกสาวฟัง ลูกสาวชอบ เด็กเป็นวัยที่บริสุทธิ์ ไม่ได้พบเจออะไร การที่ลูกสาวผมชอบก็แสดงว่า ผมเดินทางมาถูกทาง  เด็ก มีความบริสุทธิ์ของเขา บางครั้งเขาร้องอะไรขึ้นมาไม่รู้แต่มันไพเราะ เขาสามารถทำให้เราเป็นตัวเราได้ โดยเราเรียนรู้ เขาเป็นอีกคนที่สอนเรา เป็นคนเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไป ผมเน้นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากกว่า บางครั้งเด็กวาดภาพ มันถูกทฤษฎีหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่ เช่นเดียวกับดนตรี การเล่นดนตรีของเราต้องเหมือนกับที่เขาเล่นหรือไม่ ผมคิดว่ามันอิสระ ไม่ต้องมาแคร์ว่ามันจะถูกต้องตามทฤษฎีหรือไม่ บางครั้งดนตรีน่าจะเป็นอิสระมากขึ้น เมื่อเราเน้นการเล่นตามทฤษฎี อารมณ์ก็จะหายไป บางคนเก่งมาก แต่อารมณ์เพลงของเขาไม่มี ผมคิดว่า ผมชอบอารมณ์ในการเล่นดนตรีมากกว่ายิ่งถ้าซาวด์ดนตรีที่เล่นมันสนุกมีอะไรใหม่ๆ  ส่วนอารมณ์ก็ออกมาโดยไม่ต้องเค้น

ผมเจอคนญี่ปุ่น เขาชอบเล่นคาลิมบลา คนญี่ปุ่นถามว่า ผมเล่นอะไร เราก็บอกว่า เราเล่นเพลงคำเมือง แต่ดีดกีตาร์เป็นดนตรีเรกเก้ เป็นการผสมผสาน เพลงคำเมืองของภาคเหนือ คือจรัล มโนเพ็ชร เป็นแบบอย่างของดนตรีโฟร์คภาคเหนือ ผมเริ่มแต่งเพลงคำเมือง (เพลงที่ร้องโดยภาษาคนภาคเหนือ) เราก็ต้องหาตัวอย่าง จรัล มโนเพ็ชร คนจะรู้จัก นักร้องนักดนตรี เป็นรูปแบบนั้นทั้งหมด นั่นเป็นเพราะเขาไม่มีแนวทางเป็นของตนเอง เหมือนเรายุคสมัยก่อน เหมือนเราหลุดออกมาจากการก๊อปปี้ ผมคิดอะไรที่แตกต่างออกไป ทำดนตรีเร็กเก้แต่ร้องด้วยภาษาเมือง แต่กว่าจะแต่งออกมาเป็นเพลง เกือบจะไม่ได้เรื่อง เพราะผมแต่งเพลงโดยไม่ใช้ทฤษฎีดนตรี แต่แต่งด้วยความอยากเป็นนักดนตรี

บทเพลงของผมส่วนใหญ่ ชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติจะชอบ เวลาผมร้องเพลง หลายคนเริ่มสงสัย เริ่มถามว่า คุณกำลังเร้องเพลงอะไร หลังจากนั้นก็จะเริ่มถามผมว่า แต่งเพลงขายมั้ย ผมก็บอกว่ายังไม่เสร็จ ทุกวันนี้งานเพลงของผมก็ยังไม่เสร็จ หลายคนมองว่า เราแต่งเพลงออกมาได้คงต้องเก่งมากๆ ทำงานดนตรีได้ขนาดนี้ ต้องเก่งมาก แต่เราก็บอกตามความจริงว่า เราทำมั่วๆ ไม่เคยถูกฝึกให้แต่งเพลง แต่ผลงานเพลงที่ทำออกมาได้ มันก็เป็นทางของเรา

ศิลปินนักร้องนักดนตรีที่เชียงใหม่

สำหรับผม จังหวัดเชียงใหม่ยอดเยี่ยมที่สุด (Cool) คือ มีชาวต่างชาติ ศิลปะ ดนตรี พวกเขายอมรับว่าผมเป็นผลงานศิลปะชิ้นหนึ่ง การโชว์คือ การแสดง (Performance) การนำเสนอในการแสดงอาจเป็นเรื่องคำพูด อารมณ์ การแสดงออก ดนตรีที่ผมชอบคือเร็กเก้ ดนตรีทำให้ผ่อนคลาย ผมเล่นตามทำนองของเร็กเก้ อาจเป็นสิ่งอยู่ในหัวของเรา แต่ตอนแต่งเพลงผมก็ไม่ฟังเพลง เพราะเวลาที่เราแต่งเพลง ถ้าเราฟังเพลงของใครสักคน เราจะรับอิทธิพลจากของมาเยอะ แต่เวลาผมเขียนเพลงผมจะพยายามเค้นออกมาให้ได้ เราสร้างตัวผมขึ้นมา เราผสมผสานเป็นแนวดนตรี มาจากรากฐานของภาษาเหนือ หรือ Root Mueang ผมสร้างสไตล์ของตนเอง เพลงที่ผมใช้มีเพียงสองคอร์ด ถ้าคนอื่นเข้ามาช่วยเล่น ก็อาจะทำให้ภาพของดนตรีมันชัดเจนขึ้น สิ่งที่ผมคิดไว้ก็คงจะเอาเครื่องดนตรีชิ้นอื่นมาผสมเพื่อให้เป็น Root Mueang

ผมเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่เราก็นำแนวคิดมาออกแบบชีวิตของเรา แต่บางครั้ง เมื่อเรานำทุกสิ่งทุกอย่างมารวมกันแล้วมันจะดี ไม่มากไม่น้อย ทำให้เกิดความพอดี อย่างเราต้องการเพลงที่มีคนฟังมากๆ เรานำคนสิบคนมาแต่งเพลง มันอาจเป็นไปไม่ได้ บางครั้งผมก็ทำเพลงคนเดียว เล่นดนตรีคนเดียว ดนตรีก็จะสะอาด ถ้าเราไม่ชอบเมโลดี้แบบนี้เราก็ไม่เล่นก็ได้ ถ้าเล่นแบบคนอื่นเขาจะคิดมาแล้ว บางครั้งตัวโน๊ตไม่มาก โน๊ตจำนวนมากอาจทำให้เพลงรก เราไม่สามารถนำทุกอย่างไปใส่ในบทเพลงแล้วเพลงมันสมบูรณ์แบบ เราก็ค่อยๆ ทำ ผมคิดว่าผมเป็นคนบุกเบิก ผมแตกต่างออกมาได้

เวลาเผยแพร่ผลงานเพลง บางทีก็มีคอมเม้นท์ในโซเชียลทั้งทางบวกและทางลบ เรามองว่า การแสดงความเห็นเป็นการมองเห็นคุณค่า ถึงแม้เป็นคำวิจารณ์ที่ไม่ดี แต่ก็ทำให้คนสนใจเรา เราแค่ต้องการรู้ว่า คนฟังรู้สึกอย่างไร แต่การที่คนให้คอมเม้นท์ทางโซเชียล เกิดจากการส่งสารหรือเนื้อหาเพลงเพียงบางส่วน ทำให้คนฟังเกิดแง่มุมในทางลบ แต่เราต้องขอบคุณเขานะ เพราะต้องมีบางอย่างในผลงานเพลงที่กระทบความรู้สึกของเขา ทำให้เขาต้องแสดงความรู้สึกหรือความเห็นออกมา คอมเม้นท์ไม่ทำให้เราท้อ เพราะบางคนเมื่อเจอคำวิจารณ์เขาจะเสียกำลังใจ บางครั้งคำพูดที่ไม่ดีก็ทำร้ายใครหลายคน  

การเล่นดนตรี เราเล่นไปเรื่อยๆ เล่นหลายๆ แบบ แต่ละครั้งเล่นไม่เหมือนกัน เป็นการเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับมัน เช่น ถ้ามีความรู้ ทฤษฎี เราก็พร้อมจะรับฟัง ผมอาจเป็นเด็กคนหนึ่งเหมือนลูกของผม ลูกจะสอนผมเยอะมาก เด็กจะทำอะไรโดยไม่รู้สึกผิดถูก ลูกก็เป็นต้นแบบของผม เวลาจะทำอะไรเขาทำในตอนนั้น สิ่งที่ผมขาดหายคือความเป็นเด็ก ผมจึงรับแรงบันดาลใจจากลูก อย่างเพลง ผีบ้า จึ๋ง สกิด สะป๊ะคน แต่งโดยได้รับแรงบันดาลใจจากลูก

สัมภาษณ์ ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)