บัณรส บัวคลี่ เป็นเด็กจากถิ่นปักษ์ใต้ เริ่มทำงานหนังสือในมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เติบใหญ่ในสายวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์เริ่มต้นจาก การทำงานเป็นผู้สื่อข่าวภูมิภาคหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สลับเปลี่ยนหมุนเวียนทำงานในบริษัทในเครือผู้จัดการเป็นเวลา 25 ปี พ.ศ.2558 หลังมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาผันตัวจากนักหนังสือพิมพ์เป็นนักเขียน ได้รับรางวัลประกวดงานเขียน มีเงินทุนในการใช้ชีวิต แต่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศซบเซา หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ถูกแทนที่ด้วยสื่อโซเชียลและแอพพลิเคชั่นบนมือถือ เขาจึงเปลี่ยนรูปแบบการทำงานสู่การเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม ทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งสภาลมหายใจ มูลนิธิลมหายใจเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ใช้ชีวิตกระทั่งวันหนึ่งจึงพบว่า ชีวิตบนหลังอานจักรยานที่ปั่นเดินทางในต่างประเทศ เป็นชีวิตที่เขามีความสุข

นักหนังสือพิมพ์จากถิ่นปักษ์ใต้

ตอนเด็ก ผมเป็นเด็กเรียนเก่งมาก พ่อแม่รับราชการครู คุณพ่อทำงานตำแหน่งศึกษานิเทศ หลังจากนั้น ทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ตอนเด็กผมสอบได้อันดับหนึ่งของห้องเรียน ได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียน เป็นเด็กเรียบร้อย เข้าเรียนชั้นมัธยมต้นในโรงเรียนประจำจังหวัด เป็นนักเรียนในห้องเรียนเด็กเรียนดี ได้เกรดเฉลี่ยสามกว่า แต่ผมชอบเรียนภาษา ชอบอ่าน ชอบเขียน ตอนเรียนมัธยมปลายจึงเลือกเรียนห้องศิลป์ภาษา แต่ยุคนั้น เด็กนักเรียนห้องศิลป์ภาษาส่วนใหญ่เป็นเด็กเกเร แต่เรายังเป็นเด็กเรียนดี แม้จะสูบบุรี่ หรือไม่ยอมเข้าห้องเรียนในบางวิชา

ด้วยความที่เป็นเด็กเรียนเก่ง ผมสอบโควตาเข้าเรียนที่ มหาวิทยลัยหาดใหญ่ เลือกเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เพิ่งเปิดใหม่ ตอนนั้นรัฐประศาสนศาสตร์มีให้เลือกเรียนอยู่ 2 แห่ง คือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และมหาวิทยลัยหาดใหญ่ ช่วงที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ก็มีโอกาสรู้จักกับเพื่อนซึ่งต่อมาพวกเขากลายเป็นศิลปินใหญ่ เช่น กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ,พืช สะพาน เราอยู่ในก๊กเดียวกัน กินเหล้า สูบกัญชา ออกค่ายอาสาพัฒนา เขียนป้ายโปสเตอร์ ทำหนังสือ เขียนหนังสือ แจกหนังสือ

ช่วงเป็นนักศึกษาปี 4 ประเทศไทยกำลังพัฒนา เศรษฐกิจเติบโต ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เศรษฐกิจเฟื่องฟูมาก สำนักพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งทำหนังสือรายเดือน หนังสือรายสัปดาห์ มีแผนจะทำหนังสือพิมพ์รายวัน แต่ตอนนั้น ผมคิดจะสมัครงานกับพิศณุ นิลกลัด ทำงานเป็นผู้ประกาศข่าว เป็นนักพากษ์มวย นักพากษ์กีฬา แต่เมื่อสำนักพิมพ์ผู้จัดการ (Recruit) บอกว่า กำลังจะออกหนังสือพิมพ์รายวัน พวกเราก็เอาหนังสือที่ทำอยู่ขณะที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยให้ดู แล้วบอกกับเขาว่า นี่คือสิ่งที่พวกเรากำลังทำกัน เขาก็รับพวกเราเข้าทำงาน ทั้งที่ยังเรียนไม่จบ สำนักพิมพ์ผู้จัดการให้เงินเดือน 5,500 บาท ถือว่าเยอะมากในยุคสมัยนั้น

เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ มีผู้คนนับร้อยคน เขาก็ถามเราว่า อยากทำงานโต๊ะข่าวอะไร แล้วก็ให้เราเลือก โต๊ะการเงิน โต๊ะการเมือง ผมอยากอยู่โต๊ะข่าวภูมิภาคเพราะอยากอยู่ต่างจังหวัด ตอนนั้นสำนักพิมพ์ผู้จัดการยังไม่มีศูนย์ข่าวภูมิภาค พวกเรากระจายกำลังคนตามโต๊ะข่าวที่ตนเองเลือก พ.ศ.2533 ผมทำงานกับศูนย์ข่าวภูมิภาคแห่งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ สำนักพิมพ์ส่งผมมาเรียนรู้ 2-3 เดือน หลังจากนั้น ก็ตั้งศูนย์ข่าวภูมิภาคที่จังหวัดสุราษฎ์ธานี ผมก็เช่าบ้านพัก พิมพ์ดีด ส่งแฟกซ์ มีหัวหน้าข่าวจากกรุงเทพฯ 1 คน หลังจากนั้นก็ตั้งศูนย์ข่าวที่ภูเก็ต ผมก็เช่าอาพาร์ทเม้นท์ มีนักข่าวท้องถิ่นเป็นพี่เลี้ยง ผมขับรถมอร์ไซค์สัมภาษณ์แหล่งข่าว ไม่ค่อยเข้าใจอะไร แต่มีโอกาสได้เที่ยว พบปะผู้คน ในเชิงความรู้ความสามารถไม่ได้อะไรมาก แต่ได้ประสบการณ์เมื่อได้พบเจอกับสังคม

ยุคบุกเบิกของสำนักพิมพ์ผู้จัดการ

พ.ศ.2534 สำนักพิมพ์ผู้จัดการ ทำหนังสือพิมพ์รายวัน ตอนนั้น พวกเรามีข้อสงสัยเพราะหน้าตาหนังสือพิมพ์ไม่เหมือนกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหรือเดลินิวส์ มันจะขายออกหรือ? แต่เมื่อเปิดตัวเป็นหนังสือผู้จัดการรายวันก็เริ่มเติบโต ช่วงนั้น เป็นช่วงที่พวกเราทำอะไรก็ดีงาม สำนักพิมพ์ผู้จัดการเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ เงินทุนมีเยอะ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล คิดพิสดาร จะทำหนังสือท้องถิ่น ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ทำเป็น (Section) หรือเป็นอีกส่วนหนึ่งของเนื้อหาแทรกอยู่ในหนังสือพิมพ์รายวัน ยุคสมัยก่อน หนังสือพิมพ์รายวันมีจำนวนหน้ากระดาษหนาและมีเนื้อหาเยอะมาก ตอนนั้น เขาเริ่มทำที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เขาก็บอกว่า ให้ใช้คนจากศูนย์ข่าวมาทำ ส่วนที่เหลือก็ให้นักข่าวท้องถิ่นทำ ผมจึงมีโอกาสเปลี่ยนสายงานมาทำงานด้านการผลิตเป็นครั้งแรก

พ.ศ.2534 คอมพิวเตอร์แมคอินทอช (Macintosh) ยังไม่มี นักข่าวใช้เครื่องพิมพ์ดีด เมื่อนักข่าวพิมพ์ดีดบนกระดาษ มีคนทำหน้าที่คีย์ข้อมูลลงคอมพิวเตอร์แมคอินทอช (Macintosh) แล้วก็ปริ้นออกมา เป็นแถวคอลัม คนตีตารางก็ตีตาราง แล้วก็ตัดกระดาษแปะ พ.ศ.2535 สำนักพิมพ์มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ออกแบบหน้าหนังสือพิมพ์ ส่วนนักข่าวพิมพ์งานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ผมเติบโตอยู่ในรอยต่อของเทคโนโลยี ระหว่างกระบวนการผลิตหนังสือพิมพ์แบบเก่าและกระบวนการผลิตหนังสือพิมพ์แบบใหม่

ผมทำหนังสือพิมพ์ที่หาดใหญ่ได้ไม่นาน ก็ตั้งศูนย์ข่าวที่จังหวัดเชียงใหม่ ตอนนั้นอยู่ตรงข้ามโรงแรมภูคำ เพราะ บรรณาธิการข่าวศูนย์ข่าวภาคใต้ต้องย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ ภารกิจก็คือต้องออกหนังสือพิมพ์ภาคเหนือให้ได้ เมื่อย้ายมาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ ต้นปี พ.ศ.2535 เกิดเหตุทางการเมือง เดือน กุมภาพันธ์เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติ เดือนพฤษภาคมเกิดเหตุพฤษภาทมิฬ กลุ่มอาจารย์ประชุมที่สำนักงานผู้จัดการ อาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ เพราะ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการต่อต้าน รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) พวกเราผ่านเหตุการณ์นั้น อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ คุ้นเคยกับจังหวัดเชียงใหม่ นั่งดูแม่น้ำปิง ล่องแก่ง ล่องเรือ ล่องซุง

พ.ศ.2536 สำนักพิมพ์ผู้จัดการย้ายผมจากศูนย์ข่าวเชียงใหม่ไปทำหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ที่กรุงเทพฯ แต่ผมไม่ชอบ ไม่ชอบใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ผมเช่าห้องพักอยู่ฝั่งธน (แขวงธนบุรี กรุงเทพฯ อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามกับถนนพระอาทิตย์ สำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ) ตอนเช้านรถติด การจราจรคับคั่ง กว่าจะเดินทางออกจากซอย ข้ามสะพาน มาทำงานที่สำนักงานได้ ใช้ชีวิตลำบากมาก ทั้งที่สำนักงานและที่พักใกล้กันนิดเดียว ผมจึงขอย้ายมาทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.2539 ผมทำงานเป็นหัวหน้าศูนย์ข่าวศรีราชา จังหวัดชลบุรี ก่อนจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ มีคนสมัครใจลาออก แต่ผมรู้อยู่แล้วว่า จะได้ทำงานต่อที่สำนักพิมพ์ผู้จัดการ ผมถือจังหวะย้ายกลับมาอยู่เชียงใหม่ ผมซื้อบ้าน วางแผนแต่งงาน ตอนนั้น ตำแหน่งงานผมอยู่ที่ศรีชารา แต่ซื้อบ้านอยู่เชียงใหม่ หลังจากนั้น เป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ สำนักพิมพ์ผู้จัดการเลิกจ้าง (Layoff) ตัดส่วนเกิดออก ส่วนที่เหลือยังทำงานต่อไป การทำธุรกิจสื่อยังพอไปได้ เพียงแต่ธุรกิจสื่อไม่เติบโตเหมือนเดิม ผมผ่านเรื่องราวที่เชียงใหม่อย่างจริงจัง พ.ศ. 2540 – 2544 ทำงานข่าวพื้นที่ภาคเหนือ พิมพ์ข่าวรายวันส่งสำนักพิมพ์ แล้วก็เล็กลงเรื่อยๆ วิธีการทำงานรวบรัดมากกว่าเดิม เมื่อมีอินเทอร์เน็ต นักข่าวก็สามารถทำงานข่าวที่บ้านได้ นักข่าวหลายคนไม่ค่อยเข้าสำนักงาน  

กระทั่ง ช่วงการชุมนุมประท้วง ทักษิณ ชินวัตร พ.ศ.2548 ผมเริ่มเขียนคอลัม ทำงานข่าว กระทั่งถึง พ.ศ.2558 ผมก็ลาออก ตอนนั้น ผมอยากเขียนนิยาย ผมเขียนนิยายประกวดได้รางวัลที่ 3 ตีพิมพ์ลงนิตยสารสกุลไทย ได้เงินจากการตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์สกุลไทย มีคนติดต่อให้เขียนคอลัม ช่วงแรกที่ลาออกได้เงินมากกว่าเดิมเยอะ แต่อยู่ได้เพียงไม่นาน นิตยสารสกุลไทยก็ปิดตัว สื่อมีพื้นที่ให้เขียนน้อยลง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจชวนเขียนเป็นคอลัมนิสต์ ทำงานอยู่หลายปีปัจจุบันก็ยังทำอยู่ ถึงไม่ได้ค่าตอบแทนมากมายก็ยังเขียนอยู่  

ผมสนใจในเรื่องสังคม ผมไม่ได้เป็นคนสนใจสิ่งแวดล้อม เมื่อก่อนเป็นคนกินหล้าสูบบุหรี่ด้วยซ้ำ ไม่ได้เป็นคนรักธรรมชาติ แต่แสดงบทบาทในการประท้วงเรื่อง “ป่าแหว่ง” เพราะเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผมไม่รักธรรมชาติแบบยั่งยืน ผมก็แค่อึดอัดที่ไม่ได้ออกไปเที่ยว ไม่ได้ออกไปปั่นจักรยาน แต่เมื่อเคลื่อนไหวมันก็เติบโตขึ้น ตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่ขึ้น เอาคนแต่ละสายงานมาทำงานร่วมกัน คนที่ทำงานได้ดีที่สุดคือ NGO เพราะคนอื่นเขามีงานประจำ หลังจากนั้นก็ขยายงานเป็นมูลนิธิสภาลมหายใจ เหมือนเราขี่หลังที่เสือตัวใหญ่ขึ้นทุกที

ยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการพิมพ์

เทคโนโลยีการพิมพ์ทำให้เกิดสื่อ เพราะยุคนั้น ไม่มีเสียงอะไรกระจายในวงกว้างได้เท่ากับการพิมพ์ ฐานันดรสิ่งพิมพ์เกิดขึ้นในยุคกลาง เมื่อมีวิทยุ วิทยุก็มีอิทธิพลขึ้นมา กระทั่งมีทีวี เม็ดเงินส่วนใหญ่จึงอยู่กับทีวีเพราะทีวีที่นำเสนอได้ทั้งภาพและเสียง สามารถส่งสัญญาณไปได้ไกล กระนั้น สื่อทั้งหมดก็เป็นคนละตลาด ธุรกิจสื่อเติบโตถึงจุดสูงสุดเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว หลังจากนั้น สื่อรูปแบบเดิมก็ตายไป ปัจจุบัน คนธรรมดาก็สามารถทำสื่อเองได้ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า มันปรับโฉม เป็นยูทูปเบอร์ ดาวติ๊กตอก  เกิดเป็นการรวบอำนาจ ควบคุมประตูการสื่อสารเอง เช่น เฟสบุ๊ค ถ้าจ่ายเงินให้เฟสบุ๊คแล้วแจ้งว่าเราขายกาแฟ เดียวโฆษณาก็ขึ้นหน้าจอของคนระแวกใกล้เคียง นี่คือการรวบอำนาจ จากที่ไม่เคยได้อะไรขนาดนี้มาก่อน มันพัฒนา สื่อไม่ได้ล้มหายแต่ปรับรูปโฉม เพราะมนุษย์ยังต้องการ “การสื่อสาร” มันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ที่มีความ อยากรู้ สอดรู้ แส่รู้ เรื่องราวในสังคม

ก่อน พ.ศ. 2530 ยุคแรกก็เป็นยุคตลาดบูม เป็นเรื่องเทคนิคการหาเงิน ไม่ใช่เรื่องพัฒนาการของสื่อ แต่สื่อมีพัฒนาการสูงสุด เมื่อ พ.ศ.2543 เดอะนิวยอร์คไทมส์และสำนักข่าวอื่นๆ สร้างขนบธรรมเนียมวิธีการ (Pattern) สร้างสำนักการสื่อสาร วิชานิเทศศาสตร์กลายเป็นวิชาที่จะต้องมีรายละเอียดว่า สื่อต้องเป็นอย่างไร เป็นยุคการสร้างกรอบ แบบแผน ตอนนี้มันไม่มีอีกแล้ว มันพังทะลายไปแล้ว จรรยาบรรณการสื่อสารลืมไปเลยเพราะมันเป็นศัพท์เก่าที่มาพร้อมกับโครงสร้างแบบแผนเดิม มันเป็นจริยธรรมแบบเดิม แต่ยุคสมัยนี้มันก็มีความน่าเชื่อถือใหม่ขึ้นมา เพราะจริยธรรมแบบเดิมก็คือการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับฉัน ให้กับวงการของฉัน ใครเข้ามาอยู่ในองค์กร ก็ต้องเดินทางตามแบบแผนนี้ เพราะองค์กนี้เชื่อถือได้ ซื้อใจคนได้ มีความน่าเชื่อ เมื่อวิธีการแบบเดิมทำไม่ได้ ก็ต้องทำแบบใหม่ ทำให้คนเชื่อถือว่า แบบนี้มันน่าเชื่อ เพราะที่สุดแล้ว คนจะซื้อ หรือคนจะเอา โดยวิธีอื่นหรือกลวิธีอื่น

เจ้าของกิจการก็ยินดีที่มีกฎระเบียบของสำนัก เพื่อให้โลโก้ สินค้าสื่อ เป็นที่ยอมรับนับถือ ตอนนี้ ก็อ้างว่าเข้าถึงความจริง แต่ความจริงก็ไม่ใช่ความจริง แต่เป็นการขาย การตอบสนองต่อจริต แล้วแต่จะขาย แต่ถามว่า สำนักที่น่าเชื่อถือมีหรือไม่ ก็ไม่ค่อยมี และเราก็ไม่ได้จ่ายเงินเพื่อซื้อความน่าเชื่อถือ จริงหรือ? ความจริง เราก็แสวงหาสิ่งที่เราเห็นว่า มันน่าเชื่อ เรารู้วิธีการแสวงหาคนอื่น คนอื่นไม่แยแสว่าน่าเชื่อ เรื่องราวในยุคสมัยก่อนก็ไม่ใช่ความจริงร้อยเปอร์เซ็น ไม่ใช่ความจริงที่สมบูรณ์ นักข่าวก็ได้ความจริงเพียงเสี้ยวเดียว ยุคนี้ เป็นยุคที่ผู้คนระดมถล่มให้ความรู้ อาจจะได้ความจริงลึกซึ้งกว่าสื่อหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอเรื่องเดียวกัน 10 วันต่อเนื่องก็ได้

ตอนนั้น สำนักข่าวแต่ละสำนักต่างแข่งขันกัน (Branding) สร้างสำนักของตนเอง สำนักข่าวเนชั่น กรุงเทพธุรกิจ ก็เข้มงวด เวลานักข่าวไปไหนมาไหนต้องไม่รับเงินรับทอง ไม่เอาค่าน้ำมัน ไม่อยู่ในอาณัติของใคร แต่พวกเราก็ถือมาก่อน เราแตกต่างจากนักข่าวท้องถิ่น ต่างจากนักข่าวต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ ก็เหมือนกัน ขิงกัน แข่งกัน ของใครที่เคร่งครัดกว่ากัน การไม่รับเงินคือการไม่เป็นพวก มีความเป็นอิสระมากกว่า แต่การจะทำให้ข่าวเกิดความลึกในการนำเสนอข่าวจริงๆ เป็นเรื่องของทรัพยากร นโยบายให้คนทำ อย่างวันนี้เรายังไม่ได้ทำงานเลย เราก็ศึกษาวิจัย เขาก็บอกเอาข้อมูลมาอีก ค้นคว้าเพิ่มได้หรือไม่ ทำให้มีลักษณะเป็นข่าวสารใหม่ มุมใหม่ ประเด็นใหม่ๆ เพราะเมื่อก่อน การนำเสนอข่าวต่างจังหวัด มีเพียงข่าวอาชญากรรม ข่าวผู้ว่าราชการจังหวัดเปิดงาน ส่วนการนำเสนอข่าวในกรุงเทพฯ ก็เปิดมุมมองทางเศรษฐกิจขึ้นมา เปิดมุมมองใหม่ มันก็เลยฮือฮา เมื่อศึกษาเพิ่มขึ้น ก็มีความรอบรู้มากกว่า เป็นมิติที่เพิ่มขึ้นใน Period เป็น ความรอบรู้ นอกจากความรับรู้

ฝุ่นควันและสังคมชนชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

พ.ศ.2558 หลังลาออกจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ผมเอนเอียงกับการทำงานสังคม เราไม่รีรอที่จะออกมาส่งเสียง ออกมาสู้ บังเอิญเราเป็นสื่อจึงไม่เกรงใจราชการ ดูมีบทบาท มีเอ็กชั่น สำหรับเรื่อง “ฝุ่น” ต้องใช้ทักษะรูปแบบที่หลากหลายครอบคลุม (Multi Skills) บังเอิญ ฐานความรู้เราเป็นแบบนี้ ปัญหาเรื่องฝุ่นในเชียงใหม่เป็นเรื่องใหญ่มาก หลายคนที่ออกมามีบทบาทก็ไม่เข้าใจ มันใหญ่ มันเยอะ มันลึก ต้องอาศัยความรู้หลายแบบ เรื่องพวกนี้จึงต้องมาเรียนรู้กัน

ช่วงแรกที่รวมตัวกัน ฝ่ายเอกชนไม่ค่อยมาร่วมเพราะเขาเพียงต้องการส่งเสียงให้รัฐบาล ส่วนฝ่าย NGO ก็อยากหาทุนทำงาน เมื่ออยู่ร่วมกันไป จริตของแต่ละฝ่าย วิธีคิด วิธีมองว่าปัญหาว่าอยู่ตรงไหน ปัญหาคืออะไร ก็แตกต่างกัน ยิ่งร่วมกันมากเท่าไหร่ ความหลากหลายก็ยิ่งเยอะ ทางที่หนึ่งคือ เยอะดี ทางที่สองคือ จะเอายังไงกันแน่ จะบอกกว่า ไม่ได้สำคัญอะไร แต่ในฐานะส่วนตัวเขาก็เชื่อถือเรา อย่างน้อยเขาก็ให้ไปเป็นกรรมการ ให้ออกกฎหมาย ร่างกฎหมาย เขาให้น้ำหนักในฐานะประชาชนที่รู้เรื่องนี้ เมื่อก่อน 3-4 ปี ตอนที่พวกเรารวมตัวผลักดัน พวกเราต้องการเข้าถึง Policy Maker เพื่อให้เขารู้ว่า สิ่งที่เราคิดเป็นอย่างไร สิ่งที่เขาทำไม่ถูกเป็นอย่างไร

เราดิ้นรนทำสถานีฝุ่น ทำหลายสิ่งหลายอย่าง เพื่อส่งเสียง กดดัน แต่ตอนนี้เป็นวาระที่ Policy Maker เปิดประตูให้เรานั่งเอง แล้วเราต้องทำแบบเดิมอีกหรือ? ต้องกดดัน ต้องยืนหนังสือ เรียกร้องอยู่ตลอดเวลา ผมเบื่อจริงเรื่องการยื่นหนังสือ เพราะเมื่อก่อนเราอยู่ห่างไกลจาก Policy Maker เมื่อเขามาก็ยื่นหนังสือ เมื่อเปิดโอกาสให้นั่งก็ไม่พูดอะไร พอมานั่งก็ยื่นหนังสืออีก เป็นเหมือนธรรมเนียม สำหรับเรื่อง “ป่าแหว่ง” ตอนนั้นข้อมูลค่อยๆ ไหลมา แต่จังหวะมันไม่เหมาะกับการเจรจา ความจริงแล้ว เรื่องนี้มีคนผิดแน่นอน แต่ตอนนั้น เขาห้ามเข้า อ้างว่า มันเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของความไม่เหมาะสม แต่ความจริงราชการผิดแน่นอน

สำหรับเรื่องการเมือง เมื่อก่อนผมทำงานกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการผมก็เป็นกลุ่มมวลชน (Mob) เสื้อเหลืองหรือพันธมิตร แต่ตอนนั้น ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรียุคสมัยนั้นก็ทำไม่ถูก ทหารงงเพราะ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเลือกพี่ชายของตนเองเป็น ผบ.ทบ. (ผู้บัญชาการทหารบก) ผิดโผ ผิดธรรมเนียม เมื่อ สนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาประท้วง ตอนนั้นยังไม่มีการตั้งกลุ่มมวลชน (Mob)พันธมิตร พวกทหารบุกตบเท้าถึงสำนักงาน ตำรวจก็แจ้งความ ฐานความผิดมาตรา 112 ตอนนั้น เป็นอำนาจที่รวมเบ็ดเสร็จทั้งทหารทั้งตำรวจ เมื่ออยู่ไปอีกฝ่ายก็เข้ามาขับไล่ เกิดการสถาปนาอำนาจใหม่ อนุรักษ์นิยม เหตุการณ์รุนแรงกว่าเดิม เกิดเป็นความไม่เข้าท่า (Misalignment) แบบใหม่ ประเทศไทยเป็นแบบนี้เสมอมา ทุกยุคทุกสมัย บทสรุปคือ เมื่อพวกเราดิ้นรนเป็นชนชั้นนำมีอำนาจหรือมีเงิน เราก็ได้เปรียบไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ความเลวร้ายของระบบราชการก็ไม่ดีกว่าการเมือง คือสังคมยุคสมัยนี้ ใครมีอำนาจก็ได้เปรียบ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยไหน ไม่ว่ายุคประชาธิปไตยหรือยุคของทหาร

สำหรับเรื่องราวต่างประเทศ ประเทศอื่นเขาก้าวหน้ารวดเร็ว ประเทศไทยก้าวหน้าเชื่องช้าลงเรื่อยๆ ดู GDP ดูความเติบโตทางเศรษฐกิจ ดูพื้นที่ตัวอำเภอ เช่น อำเภอเทิง อำเภอแม่ใจ อำเภองาว อำเภอเด่นชัย อำเภอแม่ริม เมื่อ 30 ปีก่อนเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ไม่แปลกตา แต่ถ้าเราไปเวียดนามเมื่อ 10 ปีก่อน ออกจากเมืองจะมองเห็นความแตกต่างในการพัฒนา ประเทศจีนเมื่อเดินทางไปก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลง ภายในหนึ่งชั่วอายุคน เขาแปลงร่างจากคนขี้โรคเหลวไหลกลายเป็นซุปเปอร์แมนมีพลังขึ้นมาก

ผมเดินทางไปคุนหมิง เมื่อ พ.ศ.2536 เมืองมีศูนย์กลางตรงวงเวียน มีชาวเขาเอา เขี้ยวเสือ เล็บเสือ ดีหมี มีของป่าวางขาย แต่คุนหมิงตอนนี้ใหญ่เท่ากับกรุงเทพ ขณะที่สิบสองปันนาเมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขง มีโต๊ะสนุ๊กเกอร์ เป็นเมืองเล็กๆ ตอนนี้สองปันนาเป็นเมืองใหญ่กว่าเชียงใหม่ เมืองไทยก็มีความเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่เมื่อเทียบความเร็วในการเติบโต ประเทศไทยสู้ประเทศอื่นไม่ได้ สู้เวียดนามไม่ได้ เราปั่นจักรยานออกนอกเมืองฮานอย อยู่ในอำเภอ อยู่ในตำบล เด็กนักเรียนตัวเล็กๆ พยายามเข้ามาทักทาย พยายามจะพูดภาษาอังกฤษกับเรา เยาวชนคนรุ่นใหม่เยอะ และเขาเป็นชาติที่เอาจริงเอาจังกับการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ พัฒนาตนเอง

ชุมชนสังคมใหม่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ เช่น ชุมชนชาวจีน เรามองสังคมใหม่ที่เกิดขึ้น เหมือนคนไทยไปตั้งรกรากอยู่สหรัฐอเมริกา เราก็มองว่า ไปเป็นโรบินฮู้ด มีประสบการณ์ ญาติเราไปเราอยากไปสักครั้ง แต่ความจริงคนพวกนั้นก็หลบหนีเข้าเมือง หรือในช่วงสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทย คนหนุ่มสาว เดินทางไปทำงานที่ออสเตรเลีย เราก็ชื่นชมว่า ญาติพี่น้องของเราไปทำงานแล้วตั้งหลักได้ แต่ความจริงเป็นเรื่องเดียวกันกับการที่คนต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ “สังคมบ้านเรารับหรือไม่รับ” แต่อยู่ที่ระบบราชการ ระบบกฎหมาย ที่จะจัดการกับเรื่องนี้ให้เกิดความก้าวหน้า ให้เกิดเป็นประโยชน์ ใช้พลังของเขาเป็นประโยชน์กับเราให้ได้ แล้วรายได้ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็เป็นของเราด้วย เก็บภาษีให้เราด้วย ถ้าไม่มีแรงงานพม่างานก่อสร้างในเชียงใหม่ก็ไม่เดินเพราะไม่มีคนไทยทำ โลกของเราเป็นแบบนี้ มีการย้ายถิ่น แต่ระบบสังคมของประเทศต้องไม่ทำให้ประเทศของตนเองเสียเปรียบ หรือประเทศได้ประโยชน์จากสิ่งที่เขาเข้ามาในประเทศได้มากแค่ไหน แบบไหน แล้วเหตุใดหรือทำไมเราอ่อนแอแต่เขากลับเข้มแข็ง

ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)