จรัส สุทธิกุลบุตร เป็นคนไทยเชื้อสายจีนในยุคเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสมัยใหม่ อายุ 28 ปี ดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีเติบโตทำงานเป็นเลขาหอการค้า ประธานหอการค้า ประธานหอการค้าภาคเหนือเขต 2 กรรมการหอการค้าไทย กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานและผู้บริหาร บริษัทประชารัฐรักสามัคคีพะเยา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด มีบทบาทในการทำการตลาด สร้างแบรนด์สินค้า จรัส สุทธิกุลบุตร เข้าใจธุรกิจ มองเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดพะเยามาตั้งแต่ยุคเริ่มแรก

เติบโตในสังคมยุคการเปลี่ยนผ่าน

ผมเกิดเป็นคนไทยเชื้อสายจีนในยุคการเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนจากสังคมคนรุ่นเก่าสู่สังคมคนรุ่นใหม่ สัมผัสผู้หลักผู้ใหญ่ในช่วงบุกเบิกธุรกิจ การค้าขายยุคสมัยนั้น การเจรจาตกลงคุยกันจบภายในสมาคมพะเยา (สมาคมศาลเจ้าพะเยา) ยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลง การจัดกิจกรรม การทำธุรกิจ มีหลายองค์กรเข้ามาเกี่ยวข้อง มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม

ผมโชคดีที่มีคนสนับสนุน ผมเรียนโรงเรียนประชาบำรุง เรียนต่อที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เรียนปริญญาตรีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนปริญญาโทมหาวิทยาลัยนเรศวร การเรียนช่วยเปิดโลกทัศน์เพราะโลกยุคสมัยก่อนไม่มีอุปกรณ์สื่อสารเหมือนปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สอนให้ผมทำงานหลายรูปแบบ ไม่มีอะไรตายตัว เราเป็นนักกิจกรรมที่เข้าใจบริบทต่างๆ ได้ง่าย คนรุ่นผมที่เป็นเด็กต่างจังหวัดเมื่อจบการศึกษาไม่ค่อยกลับมาทำงานที่บ้านเกิด แต่ผมเลือกกลับมาทำงานขณะที่พะเยากำลังพัฒนา ผมมองเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจพะเยาตั้งแต่ยุคแรกถึงปัจจุบัน

อายุ 28 ปี ผมทำงานด้านการบริหาร ตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพะเยา เรียนรู้เรื่องงานบริหารราชการท้องถิ่น เรียนรู้การเป็นผู้บริหาร การเป็นผู้นำ ตลอดจนการนำเสนอข้อมูลในที่ประชุมระดับประเทศ เช่น การประชุมสันนิบาตชาติ งานด้านนิติบัญญัติ ผมสัมผัสงานรัฐสภา สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาเทศบาล งานด้านตุลาการ ผมทำงานเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นผู้ประนีประนอมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาล  สัมผัสงานอำนาจอธิปไตย คือ งานด้านการบริหาร งานด้านนิติบัญญัติ และงานด้านตุลาการ ครบถ้วน

งานภาคเอกชน ผมมีโอกาสทำงานเป็นเลขาหอการค้า ประธานหอการค้า ประธานหอการค้าภาคเหนือตอนบนเขต 2  กรรมการหอการค้าไทย กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีโอกาสทำงานระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ ทำให้มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเศรษฐกิจมหาภาคและจุลภาค โดยเฉพาะการค้าชายแดน การวางตำแหน่งทางเศรษฐกิจของพะเยาและของประเทศไทยในเวทีโลก งานด้านสังคมผมได้ทำงานผ่านองค์กรโรตารี่ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนระดับสากล การทำงานภาคประชาสังคมทำให้เจอผู้คนหลากหลาย เป็นประโยชน์ในการประสานเชื่อมโยงให้การทำงานเพื่อสังคมประสบผลสำเร็จ

ผมให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา ผมมองว่าการศึกษาคือโอกาสในการพัฒนา เริ่มต้นจากพัฒนาคน พัฒนาสังคมพัฒนาเศรษฐกิจ ผมทำงานเป็นคณะกรรมการโรงเรียน เช่น โรงเรียนพะเยาพิทยาคม โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนฟากกว๊าน เคยทำงานเป็นผู้บริหารรับใบอนุญาตโรงเรียนประชาบำรุงในยุคฟื้นฟู ต้องบริหารงานโรงเรียนให้เติบโตเพิ่มมูลค่าทำให้สินทรัพย์ นักเรียน ครูอาจารย์ บุคลากร เกิดมูลค่าเพิ่ม ตอบสนองรับใช้สังคม โดยมีการใช้อาคารประชาคมเพื่อประโยชน์การเรียนการสอน ให้บริการสังคมในการจัดกิจกรรม ผมดำเนินการติดต่อประสานงานเพื่อให้มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงรายใช้สถานที่ของโรงเรียนประชาบำรุง เป็นสถานที่ทำการสอนระดับปริญญาตรีและปริญญาโท เพราะเรามีแนวความคิดให้พะเยาเป็นเมืองแห่งการศึกษา

เศรษฐกิจเข้มแข็ง มีฐานรากที่เข้มแข็ง จึงมีความยั่งยืน พ.ศ.2534 ยุคทำงานเป็นผู้บริหารเทศบาลเมืองพะเยา เราจัดระเบียบการค้าขายตามแนวชายกว๊านพะเยาซึ่งขณะนั้นเป็นการค้าขายแบบหาบเร่แผงลอย เราพัฒนาให้การค้าขายมีลักษณะเป็นหลักแหล่งทันสมัย รองรับนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการจากต่างจังหวัด สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อให้เกิดย่านเศรษฐกิจการค้า พ.ศ. 2544 เราจัดกิจกรรมตลาดนัดกลางคืนหอการค้าแฟร์ เปิดโอกาสให้คนทำกิจการค้าขาย กระตุ้นเศรษฐกิจจากผลพวงเศรษฐกิจยุคต้มยำกุ้งซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ตลาดนัดกลางคืนหอการค้าแฟร์คือตันแบบถนนคนเดินในปัจจุบัน พ.ศ. 2554 ภาคเอกชนผลักดันเรื่องการยกระดับด่านชั่วคราวบ้านฮวกเป็นด่านถาวรบ้านฮวก เพื่อเป็นประตูเศรษฐกิจของพะเยาสู่สากล (AEC ,GMS) พ.ศ.2555 คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการ พ.ศ.2561 เปิดเป็นด่านถาวร

สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและบริษัทประชารัฐฯ

ยุค คสช. ผมเป็นตัวแทนของจังหวัดพะเยาเข้าเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตอนนั้นเกิดคำว่า “เศรษฐกิจฐานราก” คือทำเศรษฐกิจจากระดับล่าง ผมบุกเบิกเรื่องประชารัฐซึ่งรัฐบาลกำหนดให้แต่ละจังหวัดจัดตั้งบริษัทไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อทำการตลาดให้กับเศรษฐกิจฐานราก ผมมองว่าเหมือนยุคสมัยของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ริเริ่มก่อตั้งหอการค้า ผมเคยทำงานหอการค้ามาแล้วเลยมีแนวทางและมีประสบการณ์ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีพะเยา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ผมทำงานสองตำแหน่งคือ ประธานและผู้บริหาร หลักการบริหารคือไม่เอาข้อบังคับเรื่องนโยบายเป็นหลักแต่เน้นบริบทของสังคม เราสามารถเจรจากับภาครัฐหรือเอกชน ได้รับรางวัลระดับประเทศหลายรางวัล

หลักการของเศรษฐกิจฐานราก ข้อแรกคือต้องเป็นความต้องการอย่างแท้จริง ข้อสองมีคนทำงานต่อเนื่องหรือมีคนขับเคลื่อน ข้อสามต้องเป็นบริบทของคนในพื้นที่ไม่มีความแปลกแยก ตัวอย่างคนอยากอบรมเรื่องการทำกล้วยฉาบ เขาต้องการหารายได้แต่มองเห็นว่าเราเคยเปิดอบรมการทำกล้วยฉาบจึงอยากอบรม ผมถามเขาว่าต้องการขายสินค้าให้ใคร ขายที่ไหน ราคาเท่าไหร่ เหมาะสมหรือไม่ เพราะตอนนี้กล้วยฉาบมีขายอยู่เต็มไปหมด กลับมาดูพื้นที่การผลิตก็ไม่มีการปลูกต้นกล้วย ต้องสั่งซื้อกล้วยจากพื้นที่อื่นทำให้ต้นทุนสูง ผมเสนอความคิดว่าเราควรพัฒนาอาชีพจากต้นทุนในพื้นที่ก่อน    

บริษัทประชารัฐฯ ทำงานมา 5 ปี บางคนบอกว่าทำงานเหมือนกับพัฒนาชุมชน ความจริงแล้วแตกต่างเพราะเรามองถึงโอกาสทางการตลาดก่อน เราฝึกชุมชนให้ยืนด้วยขาของตัวเอง ทำงานบนฐานความเป็นจริง เรามองสินค้า 9 อำเภอของจังหวัดพะเยา มีสินค้าอีกหลายตัวที่พัฒนาได้ เช่น การทอผ้าการตัดเย็บเพื่อเจาะกลุ่มสินค้าหัตกรรมผ่านวิถีชุมชน เราสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มออกแบบให้โดนใจผู้บริโภค มีช่องทางการนำเสนอ เติมเต็มความต้องการ อีกตัวอย่างคืองานจักสานไม้ไผ่และงานจักสานผักตบชวา ถ้านำงานจักสานไม้ไผ่และผักตบชวามาร่วมกันออกแบบ จะได้สินค้าใหม่สร้างมูลค่าเพิ่มได้   

ส่วนเรื่องข้าว ผลผลิตข้าวบ้านเรามีหลากหลายแต่กำไรมีไม่มากส่งผลต่อแรงจูงใจในการผลิต บริษัทประชารัฐฯ ช่วยเหลือด้วยการรีแบรนด์สร้างภาพลักษณ์สินค้าใหม่ให้กับเกษตรกร พยายามแทรกแทรงตลาดข้าวเพื่อให้สินค้ามียอดขายเพิ่มขึ้น ตัวอย่างการสร้างแบรนด์เช่นข้าวในพื้นที่อำเภอจุนและเภอเชียงคำ เรานำเสนอเรื่องแม่น้ำอิง สายน้ำหล่อเลี้ยงอู่ข้าวอู่น้ำเพื่อสร้างแบรนด์ ผลคือข้าวพะเยาขายได้ง่ายกว่าเดิม ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการทำการตลาดมากขึ้น

ผมบอกกับผู้ประกอบการตลอดว่า หากเป็นไปได้ให้บริหารจัดการข้าวโดยแบ่งผลผลิตข้าวออกเป็นสามกอง กองแรกขายตอนเก็บเกี่ยวเพราะต้องนำเงินไปลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ กองที่สองขายเป็นข้าวเปลือกในเวลาต่อมาซึ่งจะขายข้าวได้ราคาเพิ่มขึ้น กองที่สามสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวโดยมีแบรนด์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ หากขายสินค้ามีแบรนด์คู่กับการท่องเที่ยวจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ส่วนการใช้นวัตกรรมแปรรูปข้าวเพื่อทำเป็นสินค้าก็เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเช่นกัน

ทุกอย่างมีเบื้องหลังทางเศรษฐกิจ

ผมพยายามเปลี่ยนวิธีคิดการทำสินค้าให้กับกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก คิดออกนอกกรอบแล้วเข้ามาสู่ในกรอบ ใครจะนึกว่าสินค้าข้าวมันไก่ป้าแก้ว ป้าคำ ราคาจานละ 30 บาท เมื่ออยู่ในระบบลอจิสติกส์เดลิเวอรี่สามารถขายได้ในราคา 50 บาท ใครจะนึกว่าคนเขียนแอพพลิเคชั่นร้านกาแฟสามารถขายกาแฟได้ทั้งที่ไม่มีหน้าร้าน กาแฟพะเยามีการส่งเสริมการปลูกอย่างเงีบบๆ กาแฟพะเยารสชาติดีส่งขายดอยช้างเชียงราย ตอนนี้คนดื่มกาแฟร้อยละ 30 รู้ว่าพะเยามีกาแฟดี เหมือนลิ้นจี่ผู้บริโภคส่วนใหญ่คิดว่าลิ้นจี่ต้องจังหวัดเชียงราย ความจริงพื้นที่ปลูกลิ้นคือพะเยาซึ่งในอดีตเป็นอำเภอเมืองเชียงราย

ทุกเรื่องในสังคมมีเหตุผลด้านเศรษฐกิจอยู่ในนั้น คนทำความสะอาดถนนทำให้เกิดความสะอาด เมื่อสะอาดก็มีคนมาเที่ยวทำให้เกิดการจับจ่าย ทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลกันเสมอ การแก้ปัญหาทุกอย่างต้องมีมุมมองทางเศรษฐกิจ เราต้องสร้างความยั่งยืนให้กับคนในชุมชน แบ่งปันกันอย่างไรให้เกิดความยุติธรรม การแบ่งผลประโยชน์ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจแต่เป็นการสร้างความยั่งยืน สินค้าถ้ามีความแตกต่างมีเรื่องราวก็ขายได้ แต่เราต้องยอมรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ถ้าเรายอมรับได้ ก็ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองพัฒนาเติบโต

คนไทยเชื้อสายจีนกับเศรษฐกิจพะเยา

คนไทยเชื้อสายจีนมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่รัชสมัยรัชการที่ 7 กลุ่มแรกคือชาวจีนอพยพมาจากทางทิศใต้ด้วยเรือและเดินทางต่อด้วยรถไฟถึงเมืองไทยก็บุกเบิกทำธุรกิจ อีกกลุ่มคือชาวจีนเดินทางมาจากทางทิศเหนือจากยูนานผ่านสิบสองปันนามาค้าขายแถบชายแดนแม่สาย จังหวัดเชียงราย คนไทยเชื้อสายจีนกลุ่มบุกเบิกพะเยาส่วนใหญ่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ คนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่แถบถนนพหลโยธินคือย่านชาวจีนไหหนำ ประกอบอาชีพทำโรงสีข้าวเปลือกเลี้ยงหมู ส่วนคนไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ย่านศาลหลักเมืองคือชาวจีนแต้จิ๋วและจีนแคะ ประกอบอาชีพค้าขาย ช่างซ่อม ร้านอาหาร ร้านกาแฟโบราณ ร้านก๋วยเตี๋ยว

พะเยาคืออำเภอเมืองเชียงราย เป็นอู่ข้าวอู่น้ำมีธุรกิจการค้าขายหลายอย่าง เช่น โรงบ่มใบยา โรงเลื่อย คนอังกฤษรับสัมปทานไม้ใช้แรงงานชาวไทยใหญ่ ส่วนคนจีนดูแลผลประโยชน์ พ.ศ.2475 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เปลี่ยนระบอบการปกครอง ชาวจีนที่ถนัดค้าขายได้รับการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ตามความสามารถ อำเภอเมืองเชียงราย ยุคนั้นการค้าขายดีมาก พ.ศ.2520 อำเภอเมืองเลื่อนฐานะเป็นจังหวัดพะเยา การแข่งขันทางการค้าเพิ่มมากขึ้น คู่แข่งทางธุรกิจมีมากขึ้น เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว

การค้าขายถูกขับเคลื่อนโดยสมาคมพะเยา (ศาลเจ้าพะเยา) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2516 คนไทยเชื้อสายจีนหลายตระกูลร่วมกันพูดคุยตกลงทางการค้าหรือจัดกิจกรรม การประชุมทุกเรื่องคุยกันจบที่สมาคมพะเยา พ.ศ.2520 หน่วยงานราชการมีบทบาทมากขึ้น กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เรื่องการค้าขายมากขึ้น ถึงยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีการจัดตั้งหอการค้า นักธุรกิจรุ่นใหม่เติบโต การค้าขายเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โรงสีข้าวเปลือก โรงเลื่อย โรงน้ำแข็ง เอเย่นต์เหล้าเบียร์ ธุรกิจค้าปลีกเติบโตอย่างรวดเร็ว พ.ศ.2530 มีแนวคิดผลักดันเมืองพะเยาเป็นเมืองการศึกษา มีการประสานงานเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดพะเยา เริ่มจากประสานงานขอมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยนเรศวร

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจพะเยาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 3 ครั้ง ครั้งแรกคือการเลื่อนฐานะจากอำเภอเมืองเชียงรายเป็นจังหวัดพะเยา นักธุรกิจต้องลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทำให้เศรษฐกิจเติบโต การค้าขายทันสมัยกลายเป็นโมเดิร์นเทรด การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งที่สองคือ การสร้างมหาวิทยาลัยนเรศวร (มหาวิทยาลัยพะเยา) เป็นการสร้างเมืองใหญ่ การเติบโตช่วงแรกคืออสังหาริมทรัพย์ ต่อมาเป็นการเติบโตเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภคซึ่งเป็นนักศึกษา ส่งผลต่อการเพิ่มงบประมาณภาครัฐที่นำมาลงทุน การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งที่ 3 คือการเปิดด่านการค้าชายแดนบ้านฮวก

ด่านการค้าชายแดนคือประตูสู่เวียดนาม ลาว จีน ทิศทางการพัฒนาของพะเยาคือการเป็นศูนย์กลางด้านลอจิสติกส์ แนวคิดนักธุรกิจคือการดึงเงินจากนอกประเทศ ส่วนตัวนักธุรกิจต้องออกนอกประเทศเพื่อค้าขายเอาเงินเข้าประเทศ ผมผลักดันโดยเดินทางสู่ส่วนกลางเพื่อนำเสนอเรื่องการเปิดด่าน ส่วนกลางบอกให้เรามองด่านบ้านฮวกเป็นเหมือนประตูทะลุไปสู่ประตูบานอื่น ด่านการค้าชายแดนบ้านฮวกเป็นประตูเดินทางสู่ที่ไหนต้องมีวิสัยทัศน์ ผมบอกพะเยาต้องการเปิดประตูดูหลวงพระบางเพราะเป็นมรดกโลก ระหว่างทางสู่หลวงพระบาง มีผลผลิตการเกษตร เมืองคอบมีสินค้าเกษตรหลายประเภท เช่น ข้าวโพด ลูกเดือย ส่งขายเมืองจีน อนาคตสินค้าเกษตรจะเข้ามาขายจังหวัดพะเยาหรือพะเยาเป็นทางผ่าน

การค้าขายต้องปรับตัวอย่ากลัวการเปิดด่านเพราะเราเป็นเจ้าถิ่น เมื่อสิบปีก่อนตัวเลขการค้าขายชายแดนบ้านฮวกมี 2 ล้านบาทต่อปี เมื่อลงพื้นที่สำรวจจริงพบว่าตัวเลขการค้าขายสูงถึง 10 ล้านบาท ปัจจุบันตัวเลขการค้าขายชายแดนบ้านฮวกมี 100 ล้านบาทต่อปี หากเปิดด่านการค้าชายแดนจะเติบโตเป็น 500 ล้านบาทต่อปี สินค้าประเภทปูนซิเมนต์ กระจกอลูมิเนียม เติบโตแน่นอน พ่อค้าเมืองคอบ แขวงไชยะบุลี ซื้อก๊าชหุงต้มและสินค้าอื่นผ่านชายแดนภูชี้ฟ้า เมื่อเปิดด่านพ่อค้าเดินทางผ่านชายแดนบ้านฮวกมาซื้อสินค้าพะเยาแน่นอน

สัมภาษณ์ /ถ่ายภาพ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)