รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการประกวดรางวัลสื่อเพื่อการพัฒนาชนบท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๒ ประเภทสารคดี วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๙  “หยดน้ำที่หายไป”  สารคดีเชิงสืบสวนค้นความจริงกับปริศนาการหายไปของน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ เรื่อง/ภาพ ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย) สารคดีแบ่งเป็น ๕ บท เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๗-๒๕๖๐ บนดินแดนทิศใต้จังหวัดน่าน อันเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ บัดนี้หลายปัญหาถูกคลี่คลาย ประวัติศาสตร์บทต่อไปมอบให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้บันทึก

วิกฤติภัยแล้ง (Drought) เขื่อนสิริกิติ์น้ำแห้งเป็นปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นทุกปี ตัวเลขดัชนีบอกปริมาณน้ำในเขื่อนถูกจับจ้องอยู่เสมอในฤดูร้อน จนเมื่อละสายตาจากกรอบดัชนีวัดระดับสู่การเดินทางผ่านผืนน้ำอันกว้างใหญ่บนเขื่อนสิริกิติ์ มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือสู่ฝั่งแผ่นดินอันเป็นดินแดนต้นน้ำ เนื้อที่ประมาณ ๙๖๐ ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่จังหวัดน่านทางทิศใต้บอกนามเป็นเขตอำเภอว่า“นาหมื่น” ที่นั่นเรากำลังจะค้นความจริงเกี่ยวกับการหายไปของปริมาณน้ำฝน หลายปริศนาที่โยงใยกันกำลังจะถูกคลี่คลายทีละสาเหตุ หยดน้ำที่เหลืออยู่ในแม่น้ำน่าน กำลังจะบอกเล่าถึงวิกฤติภัยธรรมชาติที่ทวีรุนแรงขึ้นทุกปี  

หยดน้ำที่หายไป  : “ปากนาย” หมู่บ้านประมงที่สาบสูญ (๑)

“ประมงปากนาย” เป็นหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอนาหมื่น จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางตอนใต้ของจังหวัดน่าน ชาวบ้านอาศัยบนเรือนแพ ทำมาหากินกับอาชีพหาปลานับตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แต่ละปีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก หลั่งไหลเข้ามาชิมรถชาติอาหารเมนูปลาจากเขื่อนสิริกิติ์ ดื่มด่ำบรรยากาศอันเย็นฉ่ำบนเรือนแพ เฝ้ามองธรรมชาติอันเขียวชอุ่ม แสงทองของดวงตะวันกระทบผืนน้ำในยามเย็น เป็นความหมายของเงินทองที่ล่องลอยอยู่บนผืนน้ำ แต่ช่วงสามปีที่ผ่านมา ธรรมชาติที่แปรปรวนอย่างรุนแรงได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนปากนายให้ยากลำบาก   

“ฤดูแล้งปีนี้น้ำแห้งจนเดินข้ามไปฝั่งอุตรดิตถ์ได้”

นายชะลอ แถมชัยประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้านปากนาย หมู่ ๑๗ ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน กับการพบกันเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ เขากล่าวความในใจด้วยสีหน้าอันเป็นกังวล ดวงตาของนักสู้แฝงด้วยความทุกข์เพราะภัยธรรมชาติคุกคามชีวิตราษฎรในหมู่บ้าน ทั้งความแปรปรวนของอากาศ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปริมาณน้ำปากนายแห้งจนต้องโยกย้ายถิ่นทำกิน โดยช่วงเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม ของทุกปี ราษฎรหมู่บ้านประมงปากนาย จำนวนกว่า ๗๐ ครัวเรือน ต้องอพยพย้ายเรือนแพไปยังเขตอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เพราะปริมาณน้ำปากนายตื้นเขินจนไม่สามารถทำประมง ลำน้ำสีโคลนขุ่นเกินจะอาบ สกปรกเกินจะใช้ในครัวเรือน

ครั้งนั้น ภายใต้บรรยากาศอันอบอ้าวกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ข้าพเจ้าเดินทางเยี่ยมหมู่บ้านประมงปากนาย พบแม่น้ำอันแห้งขอดจนเห็นผืนดินอันแห้งกรัง เรือนแพจำนวน ๓ หลัง จอดเทียบฝั่งบนผืนน้ำสีโคลน หมู่บ้านประมงเลื่องชื่อจนเป็นคำขวัญประจำอำเภอ สาบสูญไปพร้อมกับสายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ข้าพเจ้ามองออกไปทางทิศตะวันตก คิดถึงเรือนแพหลายลำอันเคยจอดเทียบฝั่งน้ำ คิดถึงเสียงหัวเราะและเสียงเพลงบนร้านอาหารเรือนแพ คิดถึงโป๊ะปากนายบริการบรรทุกรถยนต์ข้ามฝั่งไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ แม่น้ำอันแห้งขอดกำลังคอยเม็ดฝน

 ครั้นฤดูฝนมาเยือน เม็ดฝนโปรยให้ความชุ่มฉ่ำบนเทือกเขา ผืนน้ำปากนายกลายเป็นจุดรองรับสายน้ำ ทั้งน้ำจากแม่น้ำน่านและน้ำป่าจากลำห้วยสายน้อยใหญ่ ห้วงเวลานั้นน้ำป่าไหลบ่าสู่ปากนาย

 “น้ำหลากไหลมาชนกันเป็นน้ำวน ชาวบ้านหนีขึ้นบกเอาชีวิตรอด ไม้ซุงพุ่งกระแทกเรือนแพ”

ปากนายกราดเกรี้ยว กระแสน้ำหลากมาเจอกันเป็นน้ำวนคล้ายจะกลืนทุกอย่างบนผิวน้ำ ชาวบ้านบนเรือนแพต่างตระหนก ภัยธรรมชาติแต่ละปีทวีความรุนแรงมากขึ้น หญิงชราและเด็กน้อยหลบอยู่บนผืนป่ารอคอยเวลาที่มรสุมสงบ ภายหลังท้องฟ้าปลอดโปร่งผืนน้ำปากนายสงบนิ่ง เศษสวะจากลำต้นข้าวโพดลอยเป็นแพบนผืนน้ำสีโคลน ราษฎรเดือดร้อนจนต้องร้องทุกข์ไปยังส่วนราชการ แต่ด้วยผืนดินอันมั่นคงมิใช่ของคนปากนาย คำร้องทุกข์จึงกลายเป็นประโยคบอกเล่าเพียงเพื่อการรับรู้

สมัยก่อนพื้นที่รอบบริเวณปากนายคือผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีถนนสายเล็กตัดผ่านถึงท่าน้ำ ชาวบ้านส่วนหนึ่งอาศัยบนบกและหาปลาบนเรือนแพ พ.ศ.๒๕๕๐ มีพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่บริเวณตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๐ พื้นที่ของชุมชนอันประกอบด้วย บ้านพัก โรงเรียน ป้อมยามตำรวจ กลายเป็นเขตอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ราษฎรซึ่งอาศัยอยู่บนฝั่งแผ่นดินกลายเป็นผู้บุกรุกป่าอุทยาน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐผลักดันจนต้องกลับลงมาอยู่บนเรือนแพ แต่เมื่อภัยธรรมชาติรุนแรงราษฎรเดือนร้อนหนัก จึงต้องแบกหน้าเข้าร้องทุกข์ขอที่ดินเพื่อสร้างบ้านอีกครั้ง  

ครั้งล่าสุดร้องทุกข์ไปยังนายอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านในขณะนั้น โดยขอที่ดินเพื่อสร้างบ้านอยู่อาศัย จำนวน ๖๓ ครัวเรือน เนื้อที่ไม่เกิน ๒๐ ไร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านมอบสัจจะรับรองว่าจะช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความยินยอมจากกรมอุทยานแห่งชาติ นับเดือนเลื่อนเป็นปี บัดนี้จังหวัดน่านเปลี่ยนผู้ว่าราชการคนใหม่ ภายใต้ปกครองรัฐบาลทหาร-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เน้นหนักนโยบายการ “ทวงคืนผืนป่า” ความหวังของคนปากนายจะได้พักอาศัยอยู่บนฝั่งริบหรี่ลงทุกวัน ชีวิตพวกเขาคงเหมือนปลาที่ต้องดิ้นรนทวนกระแสหาทางรอด

ห้วงเวลาผ่านมา คนปากนายปรับตัวตามกระแสธรรมชาติ ยามน้ำลดอพยพย้ายถิ่นทำกิน ยามน้ำหลากหลบภัยบนผืนป่า แต่ปัญหาน่าตกใจยิ่งกว่าคือการตื้นเขินของปากนาย ด้วยทุกครั้งที่ฝนตก กระแสน้ำซัดพาตะกอนดินจากภูเขาลงสู่ลำน้ำ ท้องน้ำปากนายที่เคยกักเก็บน้ำได้ปริมาณมากบัดนี้ตื้นเขิน

“สามสิบปีก่อนปากนายลึก ๔๐ เมตร เดียวนี้ลองดูไม่น่าจะถึง ๒ เมตร”

ปากนายตื้นเขินเพราะตะกอนดินถูกน้ำซัดพามาจากพื้นที่การเกษตร ข้าพเจ้าสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ทุกคนทราบถึงปัญหาเป็นอย่างดี ด้วยหลายพื้นที่เกิดดินโคลนถล่ม ถนนสายหลักถูกตัดขาดเพราะน้ำป่า ลำห้วยหลายสายถูกตะกอนดินทับถม ยิ่งขยายการเพาะปลูกข้าวโพดบนพื้นที่ลาดชันมากขึ้น ปัญหายิ่งทวีความรุนแรง “ปากนาย”นับเป็นกรณีศึกษาข้อเท็จจริง ถึงผลกระทบจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดน่าน  

ก่อนจากกัน นายชะลอ แถมชัยประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้านประมงปากนาย กล่าวประโยคสุดท้ายตอกย้ำคำตอบคลายปริศนาการหายไปของน้ำหยดแรกว่า  

“ดินโคลนไหลจากไร่ข้าวโพดทำให้ปากนายตื้นเขินเฉลี่ยปีละ ๑ เมตร”

หยดน้ำที่หายไป  : ในคำนึงถึงเรือนแพ (๒) 

กว่าสองปีที่เรือนแพลำนี้ลอยอยู่กลางน้ำ แพชั้นเดียวขนาดสองห้องนอนหนึ่งห้องน้ำ ลอยคว้างปราศจากผู้อาศัย พื้นไม้มีคราบฝุ่นหนา เครื่องครัวทั้งหม้อไหช้อนชามวางทิ้งไว้ไม่เป็นระเบียบ เครื่องนอนเก่าคร่ำคร่าถูกสัตว์ทำลายจนเศษนุ่นฟุ้งกระจาย ส่วนห้องสุขาท้ายเรือนแพมีลักษณะเป็นไม้เหลี่ยมคู่หนึ่งยื่นออกไปนอกลำเรือนสำหรับเหยียบนั่งปลดทุกข์ ข้าพเจ้าคิดว่าจะรื่นรมย์เพียงใดหากชมวิวริมฝั่งน้ำ ระหว่างนั่งปลดทุกข์โดยไม่มีสิ่งใดมาบดบังทัศนียภาพ ขณะเพลิดเพลินกับความคิดก็ได้ยินเสียง 

“อย่ายื่นเท้าออกไป เมื่อวานเจองูเหลือมตัวใหญ่ใต้แป”

เป็นคำเตือนสำเนียงใต้จากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ข้าพเจ้าไม่รู้จัก เสียงดังจนน่าหงุดหงิด เมื่อลองพินิจดูเป็นชายผิวเข้มร่างสันทัดตัดผมรองทรง สีผมดำกลับแต่งกายชุดเจ้าหน้าที่เข้าระเบียบ ยิ่งดูยิ่งรำคาญตา ข้าพเจ้าก้มหน้ามองท้องเรือนแพเห็นลำน้ำใสดูเย็นฉ่ำ ภายใต้ลูกบวบที่พยุงเรือนแพให้ลอยอยู่ ไม่แน่ใจนักว่ามีงูเหลือมอยู่หรือไม่ จึงตัดสินใจหดเท้าขึ้นบนเรือนเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกหลายชีวิต พวกเราไม่กลัวงูเหลือม แต่การอยู่บนเรือนแพอันเลื่อนลอยไม่มั่นคง ไม่ควรประมาท!

วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. บริเวณแม่น้ำน่านป่าห้วยน้ำลี เขตป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ บ้านน้ำลีใต้ ตำบลปิงหลวง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ข้าพเจ้าพร้อมคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ อยู่บนเรือนแพต้องสงสัยว่ามีไม้เถื่อนหรือไม้แปรรูปผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่  ตรวจสอบพบโครงสร้างเรือนแพทำจากไม้เก่าอายุประมาณสองปี ส่วนฝากั้นห้องทำจากไม้ประดู่ที่เพิ่งแปรรูป เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยืนยัน ไม้ประดู่เพิ่งตัดโค่นและแปรรูปไม่เกินสองเดือน ตะปูใหม่ไม่มีสนิม บางจุดตอกไม่สุดหัวตะปูเหมือนตั้งใจตอกไว้ชั่วคราว บริเวณประตูทางเข้ามีป้ายชื่อ นับเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่โยงถึงตัวผู้กระทำผิด ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานจะเฝ้าติดตามถึง ๓ วัน แต่ก็ไม่พบว่ามีผู้ใดเป็นผู้ครอบครองเรือนแพที่แท้จริง ป้ายชื่อเป็นเพียงหลักฐานเบี่ยงเบนประเด็นการสืบสวนเท่านั้น 

ไม้เถื่อนส่วนใหญ่เป็นไม้จากจังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เส้นทางขนส่งตามลำน้ำน่าน สามารถขนส่งได้หลายวิธี เช่น ตัดไม้ท่อนเรียงเป็นตับแล้วมัดตรึงด้วยเชือกใช้เรือลาก ไม้แปรรูปชนิดไม้เหลี่ยมและไม้แผ่นบรรทุกเรือหางยาวแล่นตามลำน้ำ จากนั้นเปลี่ยนเส้นทางจากทางน้ำเป็นทางบก หลายจุดสามารถเคลื่อนย้ายด้วยแรงงานคน เช่น บริเวณฝั่งน้ำใกล้หมู่บ้านประมงปากนาย,บริเวณปากลีเขตบ้านเขตน้ำลีใต้,บริเวณฝั่งน้ำเคิมเขตบ้านน้ำเคิม เป็นต้น 

แม้เจ้าหน้าที่ตรวจตราเข้มข้น ครั้งล่าสุดรับแจ้งข่าวจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ว่า มีการลักลอบนำไม้เถื่อนซุกซ่อนไว้บนเรือนแพซึ่งจอดเทียบฝั่งแม่น้ำน่านเขตอำเภอนาหมื่น เจ้าหน้าที่ระดมกำลังตรวจสอบเรือแพทุกลำ มีการตรวจยึดเรือนแพบนลำน้ำน่าน จำนวน ๒ ครั้ง ครั้งแรกวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ตรวจยึดเรือนแพจำนวน ๒ หลัง บริเวณป่าห้วยลึก เขตป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ หมู่ ๑๖ ตำบลนาทะนุง  อำเภอนาหมื่น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรนาหมื่นรับเป็นคดีความที่ ๖๐/๕๗ ครั้งที่ ๒ วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ ตรวจยึดเรือนแพจำนวน ๑ หลัง บริเวณป่าห้วยน้ำลี เขตป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ หมู่๘ ตำบลปิงหลวง อำเภอนาหมื่น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรนาหมื่นรับเป็นคดีความที่ ๗๐/๕๗ ตรวจยึดเรือนแพทั้งสองคดีรวมจำนวน ๓ หลัง ประกอบด้วยเสาไม้เหลี่ยม จำนวน ๔๒ ต้น ไม้ประดู่แปรรูปจำนวน  ๔๒๐ แผ่น/เหลี่ยม ซึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๘ พื้นที่อำเภอนาหมื่นมีคดีความเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด จำนวน ๓๕ คดี ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ พนักงานสอบสวนรับเป็นคดีมากที่สุด จำนวน ๑๔ คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีไม่ปรากฏตัวผู้ต้องหา 

ดวงตะวันลับขอบฟ้าเสียงเรือลากดังเป็นระยะ เรือนแพถูกเรือลากไปยัง “ปากลี” ฝั่งแผ่นดินบ้านน้ำลีใต้ หมู่ ๘ ตำบลปิงหลวง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน บรรยากาศบนเรือนแพล่องตามลำน้ำ เหมือนเราเดินทางอยู่กลางถนนแปดเลนอย่างโดดเดี่ยวด้วยความเร็ว ๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ฝั่งซ้ายเป็นเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ ฝั่งขวาเป็นเขตจังหวัดน่าน ตลอดเส้นทางสองฝั่งน้ำมีซอยเล็กๆ แต่ละซอยมีครอบครัวประมงอาศัย มีเรื่องเล่าว่าสมัยก่อนริมน้ำน่านเป็นแหล่งกบดานของ “เสือ” ผู้กระทำผิดหลบหนีการจับกุมอยู่ในพื้นที่รอยต่อสองจังหวัดซึ่งเหมาะสมแก่กับการกบดาน ส่วนการสัญจรทางน้ำที่ต้องใช้เรือยนต์เสียงดัง เป็นสัญญาณสำหรับการหลบหนี

ตำรวจตระเวนชายแดนคนหนึ่งพริ้มตาเอนกายพิงเสาเรือนแพ ส่วนมือยังถือเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม ๗๙ ไว้แน่น ข้าพเจ้ามองออกไปเห็นผืนน้ำสะท้อนแสงสว่างบนท้องฟ้า ส่วนบนชายฝั่งเป็นผืนป่าสีดำทะมึนตัดกับขอบฟ้าอย่างชัดเจน เสียงเรือลากที่ดังต่อเนื่องมาหลายชั่วโมงเงียบหาย เครื่องยนต์เรือลากทำงานหนักจนเครื่องดับ ความมืดเริ่มคืบคลานสู่เรือนแพ แสงสว่างไม่พอเพียงจะเห็นหน้าคู่สนทนาอย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่หลายคนล้มตัวลงนอนบนพื้นเพราะเหนื่อยจากการเดินทาง หลายคนทนพิษความหิวไม่ไหวจนท้องร้อง 

“เมื่อวานเจองูเหลือมตัวใหญ่อยู่ใต้แป”    

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยังส่งเสียงสำเนียงใต้ประโยคเดิม หลายคนเบือนหน้าหนี บางคนยื่นเท้าลงแช่น้ำแล้วบ่นว่าอยากกินของแปลก เรือนแพนิ่งสงบกลางลำน้ำอยู่พักใหญ่ เสียงเครื่องยนต์เรือลากดังขึ้นอีกครั้ง บรรยากาศบนเรือนแพครื้นเครง เสียงผู้คนเฮฮาดังขึ้นกลางลำน้ำ การเดินทางระยะสุดท้ายของพวกเรากำลังจะสิ้นสุด ข้าพเจ้าตื่นเต้นเมื่อมองเห็นแสงไฟอยู่ริมฝั่ง เมื่อเดินทางถึงปากลีหลายคนรีบกระโดดขึ้นบนแผ่นดิน ส่วนเจ้าหน้าที่ป่าไม้เริ่มตรวจสอบเรือนแพเป็นชิ้นส่วน ไม้เหลี่ยม ไม้แผ่น ถูกคัดแยกอย่างเป็นระเบียบ งานของพวกเขาเริ่มต้นภายใต้แสงสว่างจากไฟไม่กี่ดวง ข้าพเจ้าพร้อมคณะตัดสินใจเดินทางกลับ ภายใต้ความมืดบนเส้นทางขรุขระคดเคี้ยวอันก่อกวนจิตใจ สมองข้าพเจ้าคิดถึงหลักฐานอันถูกทิ้งไว้ บางทีผู้ครอบครองเรือนแพอาจเป็นผู้ต้องหาที่ข้าพเจ้ากำลังติดตาม 

หยดน้ำที่หายไป: ถนนยาบ้าถึงวิถีไม้เถื่อน (๓)

ปัง ปัง! ยังไม่สิ้นเสียงจากปลายกระบอกปืนนัดสุดท้าย ข้าพเจ้าก็พุ่งตัวออกจากพุ่มไม้พร้อมอาวุธปืนพกสั้นสีดำคู่กาย ส่วนคู่หูข้าพเจ้าวิ่งนำหน้า มือถือลำไม้ไผ่พุ่งออกไปขวางถนน ก่อนรถจักยานยนต์สีดำ ที่ขับด้วยความเร็วสูงจะฝ่าวงล้อมมาหยุดตรงหน้า ข้าพเจ้าใช้เท้าถีบลำตัวรถจักรยานยนต์ ความแรงทำให้รถเกือบเสียหลักล้ม ปลายกระบอกปืนคู่หูข้าพเจ้าเล็งไปยังชายผู้ขับขี่อย่างมั่นคง ก่อนมีเสียงตะโกนสั่งอย่างอันดุดันให้หยุด! 

ข้าพเจ้าเก็บปืนคู่กายไว้ในซองปืน แล้วใช้มือทั้งสองบิดล็อกข้อมือขวาคนซ้อนท้าย ลากลงมานอนคว่ำกับพื้นถนน ส่วนชายคนขับขี่ลงมานอนคู่กันโดยปราศจากการขัดขืน อิสรภาพของทั้งสองจากไปพร้อมกับเสียงฝีเท้าของคนที่วิ่งมาสมทบ ความมืดมิดยามค่ำคืนปกคลุมทุกแห่งหน แต่ดวงไฟขนาดเล็กก็ฉายส่องให้เห็นความหวาดกลัวบนใบหน้าอันซีดเผือดและดวงตาอันอิดโรยของชายที่ไร้ทางสู้ เสื้อยืดสีดำแขนยาว สวมรองเท้ายางสีดำด้าน ถุงเท้าดึงขึ้นหุ้มปลายขอบขากางเกง ทำให้ฉุกคิดถึงการแต่งกายของลูกหาบคาราวานยาเสพติดเมื่อหลายปีก่อน 

ครั้งนั้นข้าพเจ้ารับราชการตำรวจชั้นประทวน ประจำสถานีตำรวจภูธรแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ทำหน้าที่ผู้ช่วยพนักงานสอบสวน รับแจ้งว่า เกิดเหตุยิงปะทะ ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับกองคาราวานยาเสพติด บริเวณเขตป่าพื้นที่ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ใกล้เขตติดต่อประเทศพม่า เดินทางด้วยเท้าผ่านป่าเขาและลำห้วยเป็นเวลาเกือบ ๔ ชั่วโมง ใกล้จุดเกิดเหตุได้ยินเสียงอาวุธปืนยาวดังติดต่อกันเป็นระยะ รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารว่าเจ้าหน้าที่ทหาร “เคลียร์พื้นที่” เมื่อพบทหารชุดปฏิบัติการรายงานสถานการณ์ว่า ผลการประทะพบยาบ้าจำนวน ๓ กระเป๋าเป้ ลูกหาบคาราวานยาเสพติดเสียชีวิต จำนวน ๔ คน 

เหตุการณ์ผ่านมาหลายปีแต่ภาพนี้ยังติดตา ร่างชายผิวดำแดงเสียชีวิตเพราะแรงระเบิดสวมรองเท้ายางสีดำด้าน ถุงเท้าสีดำหุ้มถึงปลายขอบขากางเกงสีเขียว สวมเสื้อยืดสีดำแขนยาวเก็บชายเสื้อไว้ในกางเกง เมื่อเจ้าหน้าที่มาพร้อม ประกอบด้วยแพทย์ พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง งานของเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพเริ่มต้นภายใต้บรรยากาศอันอบอ้าวและกลิ่นคาวเลือด ข้าพเจ้าก้มมองมือทั้งสองข้างที่กำหลวม ใช้ผ้าเช็ดเศษฝุ่นจากนั้นเริ่มพิมพ์ลายนิ้วมือที่ละนิ้ว บริเวณใกล้กันพบอาวุธปืนเล็กยาวจู่โจมอาก้า (เอเค –๔๗) จำนวน ๑ กระบอก เจ้าหน้าที่ทหารปลดแมกกาซีนดึงสไลน์เอาลูกปืนออกจากรังเพลิง  ไม่ห่างกันมีกระเป๋าเป้บรรจุห่อยาบ้าจำนวนหลายมัดวางอยู่ เสร็จภารกิจพนักงานสอบสวนตรวจยึดยาบ้าจำนวนกว่า ๓๐๐,๐๐๐ เม็ด 

สำหรับคืนนี้ ในหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน บริเวณเส้นทางบ้านนาคา หมู่ ๔  ตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน – อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ผู้ต้องหาชายทั้งสองคนยังนอนคว่ำบนถนนอย่างปลอดภัย อารมณ์ของหัวหน้าชุดปฏิบัติการดีขึ้นอย่างเห็นชัด รอยยิ้มปรากฏเมื่อตรวจค้นพบยาบ้าเม็ดสีส้มซุกซ่อนในหลอดยาดมสีขาว ข้าพเจ้าผิดหวังเพราะจำนวนยาบ้าน้อยกว่าที่คาดการณ์ ชายทั้งสองถูกควบคุมตัวขึ้นรถนำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรนาหมื่น การจับกุมครั้งนี้เป็นโชคดีเพราะไม่มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บจากการปฏิบัติงานเหมือนครั้งก่อน 

เสียงสนทนายังดังอยู่บนรถ บนเส้นทางสายเปลี่ยวยามค่ำคืน ข้าพเจ้ามองเห็นศาลาบนเทือกเขาสูงชันอันปราศจากสัญญาณโทรศัพท์และแสงสว่างอันพอเพียง ที่นั่นเหมาะสมยิ่งนักสำหรับการสนทนาหาข่าว ซึ่งหลายคืนต่อมาพวกเรานัดคุยกับสายลับทราบว่า ขณะผู้ต้องหาขับรถฝ่าจุดสกัดของเจ้าหน้าที่ ผู้ต้องหาคนซ้อนท้ายอาศัยความมืดโยนยาบ้า จำนวน ๑ ห่อ ไว้บริเวณพงหญ้าข้างทาง ซึ่งขณะนี้ยาบ้าจำนวนนั้นถูกส่งให้กับผู้ลักลอบตัดไม้ในเขตป่าสงวน 

“ไม้มันคู่กับม้า”  

ประโยคติดหูถูกกล่าวซ้ำโดยสายลับ แม้เปลี่ยนชื่อเป็น “ยาบ้า” เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ แต่ “ยาม้า” ยังถูกเรียกขานคู่กับไม้เถื่อน สายลับเล่าว่า ยาบ้ากับไม้เถื่อนเป็นของคู่กัน เพราะการลักลอบตัดไม้ในเขตป่าสงวนหรือเขตป่าอุทยานนั้นมิใช่เรื่องง่าย ต้องมีกำลังคนมากพอในการร่วมขบวนการ เริ่มตั้งแต่คนเป็นต้นทาง คนตัดไม้ รวมถึงคนขนส่งไม้ด้วยรถจักรยานยนต์ไว้ตามจุดเพื่อส่งต่อให้กับรถยนต์บรรทุกเข้ามารับ โดยการตัดไม้จะเริ่มต้นเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. แสงสว่างเพียงพอทำให้คนตัดไม้สามารถจัดทิศทางการล้มของไม้แต่ละต้น เมื่อไม้ล้มบนพื้นที่อันเหมาะสม คนตัดไม้เริ่มดำเนินกระบวนการแปรรูปต้นไม้ด้วยเลื่อยโซ่ยนต์ เป็นไม้ท่อน ไม้เหลี่ยม ไม้แผ่น ตามประเภทและจำนวนที่รับสั่งมาจากพ่อค้าไม้ 

ฝีมือการใช้เลื่อยโซ่ยนต์ของคนตัดไม้นั้นหาตัวจับยาก พวกเขามีความชำนาญการใช้เลื่อยโซ่ยนต์จนสามารถแปรรูปไม้ต้นใหญ่เป็นไม้แปรรูปหลายประเภท โดยคุณภาพไม้แปรรูปใกล้เคียงกับโรงเลื่อยขนาดใหญ่ นั่นเป็นเหตุผลให้ความต้องการไม้เถื่อนจากพื้นที่อำเภอนาหมื่นมีอยู่อย่างสม่ำเสมอ คนตัดไม้หลายคนเลือกเสพยาบ้าเพื่อทำงานในช่วงเวลากลางคืน ส่วนคนวิ่งยาหรือคนลักลอบขนยาบ้าก็ส่งยาให้พวกเขามากขึ้น นั่นทำให้เส้นทางนี้เป็นถนนที่มีผู้ลักลอบขนยาบ้าสู่ป่าอุทยานและป่าสงวนอยู่เสมอ 

หยดน้ำที่หายไป: คำตอบกลางขุนเขา (๔)

ยามค่ำคืนหลับฝันเห็นฝนตกบนผืนดินจนมองเห็นเหรียญเงิน ข้าพเจ้าตื่นเต้นกับความฝันตามประสาเด็ก แม้ยามตื่นนอนจะไม่มีเหรียญที่เก็บไว้เมื่อยามฝัน แต่ฝันดีนั้นถูกจดจำมิมีเลือน รอยยิ้มของพ่อเฒ่าปรากฏเมื่อข้าพเจ้าบอกเล่าความฝัน ถึงยามเติบโตจึงเข้าใจว่า เงินทองอยู่บนผืนแผ่นดินจริง แต่ต้องพลิกต้องคลาดไถให้เม็ดฝนหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ พอถึงวัยแรงงานต้องช่วยพ่อแม่ทำไร่ เหรียญเงินในฝันกับเหรียญเงินยามเที่ยงวันช่างต่างกันนัก แดดร้อนแล้งเรียกเหงื่อ ข้าพเจ้าเดินแบกกระสอบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โยนขึ้นกระบะหลังรถ หลังของแรงงานวัยเด็กปวดเมื่อย ข้าพเจ้ารับรู้ความยากเข็ญของพ่อแม่ชาวไร่ 

เวลาทำให้เติบโตเต็มวัย ข้าพเจ้าอาศัยอยู่จังหวัดน่าน อำเภอนาหมื่นยามย่ำเย็นเมื่อสัญจรบนถนนมองเห็นไร่ข้าวโพดเรียงต่อกันเป็นผืนไกลสุดลูกหูลูกตา ข้อมูลจากเกษตรอำเภอนาหมื่นพบว่า พ.ศ.๒๕๕๗ เกษตรกรนาหมื่นปลูกข้าวโพดจำนวน ๗๓,๒๒๔.๘๖ ไร่ แต่ละปีวิถีชีวิตเกษตรกรเหมือนอยู่ท่ามกลางมรสุม ปลายปี พ.ศ.๒๕๕๖ ข้าวโพดล้นตลาดจนราคาตกต่ำเกษตรกรจำนวนกว่า ๕๐๐ คน ชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลชดเชยราคาข้าวโพดบริเวณศาลากลางจังหวัดน่าน พ.ศ.๒๕๕๗ ข้าวโพดราคาดีแต่พื้นที่ป่าถูกบุกรุกเพิ่ม ช่วงเวลา พ.ศ.๒๕๕๓ – ๒๕๕๘ มีการบุกรุกแผ้วถางป่าในอำเภอนาหมื่นจำนวนกว่า ๑๖๕ ไร่ ข้อมูลรวมทั้งจังหวัดพบว่าช่วง ๑๐ ปี จังหวัดน่านปลูกข้าวโพดบนพื้นที่ลาดชันเพิ่มขึ้นถึง ๓ เท่า จากจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ ไร่ เป็นจำนวน  ๙๐๐,๐๐๐ ไร่  

ผืนป่าถูกรุกรานมากขึ้น… 

ยามเอ่ยถึงเขาหัวโล้น ข้าพเจ้าเห็นความขัดเคืองบนใบหน้าคนน่าน ดั่งหนุ่มหล่อรุ่นกระทงเห็นเส้นผมตนเองหลุดร่วง หลายยุคสมัยรัฐบาลเร่งรัดแก้ไขการบุกรุกป่าจนบัดนี้ยังไม่คลี่คลาย ถึงยุครัฐบาลทหาร- คณะรักษาความสงบแห่งชาติดำเนินโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” เจ้าหน้าที่รัฐเร่งดำเนินการ สวนยางพาราและไร่ข้าวโพดรุกป่าถูกทำลาย ต่อเนื่องด้วยประกาศเขตป่าเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งแม้ว่ารัฐจะสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามกฎหมาย แต่การกระทำของรัฐกลับสร้างความขุ่นเคืองให้กับชาวบ้านในหลายพื้นที่ “ทวงคืนผืนป่า” อาจเป็นเพียงปรากฏการณ์แย่งชิงที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชนเท่านั้น 

แล้วเหตุใดเกษตรกรไม่ยอมเลิกปลูกข้าวโพด? ทั้งที่ทราบเป็นอย่างดีว่าการเพาะปลูกข้าวโพดก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ข้าพเจ้าใช้เวลาหลายเดือนเก็บข้อมูลทราบว่า รากเหง้าปัญหามาจากความยากจนสู่ปัญหาหนี้สิน ด้วยยุคสมัยหนึ่งการทำไร่ข้าวโพดมีความมั่นคง ฤดูเพาะปลูกมีเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ระหว่างเติบโตมีสารเคมีจัดจำหน่าย ฤดูเก็บเกี่ยวมีตลาดรองรับผลผลิตใกล้บ้าน ที่สำคัญมีสถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ทั้งในและนอกระบบ ชะตากรรมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดขึ้นอยู่กับราคารับซื้อผลผลิต 

กลางเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ ข้าพเจ้าเดินทางตามแนะนำของชาวบ้านจนถึงเส้นทางตัน จากนั้นจอดรถแล้วเดินเท้าผ่านทางแคบกลางหมู่บ้านอันร่มรื่น สู่พื้นที่กลางหุบเขาเนื้อที่ประมาณ ๖ ไร่ เป็นสำนักงานโครงการขยายผลโครงการหลวงบ้านน้ำแขว่ง ขณะเดินสู่สำนักงานอันโอบล้อมด้วยไร่ข้าวโพด ข้าพเจ้าพบหญิงวัยกลางคนผิวขาว สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สามหมวกใบกว้าง ร่างกายมอมแมม เธอกำลังนั่งทำสวนอยู่บริเวณแปลงผัก ข้าพเจ้าหันมองไปยังโรงเรือนเห็นพืชผักใบแห้งกรอบ หญิงวัยกลางคนยิ้มเหมือนกำลังรู้ว่าข้าพเจ้ากำลังคิดอะไร 

“โรงเรือนหมดอายุถึงเวลาเปลี่ยนพันธุ์พืชชนิดอื่น”   

ข้าพเจ้าสอบถามเธอชื่อ ผ่อน ชนสินธุ์ ร่วมงานกับโครงการขยายผลฯ เป็นเวลากว่า ๕ ปี เธอเล่าว่า ตัวเธอกับสามีทำไร่ข้าวโพดแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ด้วยหลายปีที่ผ่านมาเกิดปัญหา ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่หว่านปลูกไม่งอกงาม บางปีถึงยามร้ายข้าวโพดราคาตกต่ำ หนี้สินพอกพูนขึ้น จึงหันหน้าเข้าร่วมโครงการขยายผลฯ เรียนรู้เกษตรกรรมโรงเรือน 

“ทำงานแบบโครงการหลวงต้องใจเย็น อาศัยความอดทน ดูแลเอาใจใส่พืช”

เกษตรกรรมรูปแบบโครงการหลวง แม้ยังไม่ได้รับความนิยมจากชาวบ้านมากนัก ด้วยหลายคนมองว่าการร่วมโครงการฯ เป็นเรื่องยาก ต้องทำงานตามแผนงานเป็นลำดับขั้นตอน เมล็ดพันธุ์พืชเพาะปลูกมีราคาแพง ใช้ต้นทุนสูงและอาศัยความอดทนอย่างมากในการดูแล แต่โครงการขยายผลฯ เป็นเกษตรทางเลือกต่อยอดความสำเร็จของโครงการหลวง อันเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายพื้นที่

 วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ยามเช้าหมอกเหมยปกคลุมยอดดอยที่เรียงสลับซับซ้อน ข้าพเจ้าควบมอเตอร์ไซค์ฝ่าความเหน็บหนาวสู่หุบเขาอันไกลห่าง ตามรายทางเห็นพ่อเฒ่าหันหลังผิงแดด แสงทองต้องกระทบใบไม้ดูงามตา บางจุดเห็นชาวบ้านเหน็บตอกมัดข้าวเตรียมลงทุ่ง ข้าพเจ้ามาเยือนโครงการขยายผลโครงการหลวงน้ำแขว่งหมู่ ๖ ตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ครานี้พบหญิงสาวผิวคล้ำร่างสัดทัดชื่อ พัฒนา ส่องแสง เธอเป็นเจ้าหน้าที่โครงการขยายผลฯ

“คนเมืองหมื่น คนม้งห้าหมื่น” 

ประโยคย่นย่อบอกถึงจำนวนรายได้ของเกษตรกรหากจะเลิกปลูกข้าวโพด  คนพื้นเมืองหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน ชาวเขาเผ่าม้งห้าหมื่นบาทต่อเดือน เธอหัวเราะแล้วกล่าวว่า การเปลี่ยนอาชีพต้องตอบโจทย์รายได้เพราะเกษตรกรทุกคนมีภาระหนี้สิน  หากมีตลาดรองรับผลผลิต มีรายได้มั่นคงตลอดฤดูกาล เกษตรกรเปลี่ยนอาชีพแน่นอน แต่สิ่งที่ควรแก้ไขเป็นอันดับแรกคือ “ค่านิยมข้าวโพด” เพราะทุกคนในหมู่บ้านเชื่อว่าการเพาะปลูกข้าวโพดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการทำเกษตร แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่า เมื่อเกษตรกรคิดค่าแรงงานรวมเป็นต้นทุนการผลิต เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดขาดทุนเกือบทุกปี เป็นสาเหตุให้เกษตรกรยอมเสี่ยงบุกรุกป่าสงวนเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกหากำไร  

“ฉันพูดเสมอว่า เชิญรุกป่าตามสบาย แต่อย่าลืมลูกหลาน วันหน้าจะเอาน้ำเอาป่าที่ไหนมาใช้” 

ผืนป่าของฉันหมายถึงพื้นที่ของต้นไม้ซึ่งทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ หากเราส่งเสริมเกษตรกรปลูกต้นไม้ก็หมายถึงส่งเสริมการปลูกป่า ฉะนั้นแล้ว การยึดพื้นที่ทำกินของประชาชนเป็นสิ่งที่รัฐไม่ควรทำ จากนั้นเธอนำทางข้าพเจ้าสู่โรงเรือนกลางหุบเขาเนื้อที่ประมาณ ๑ ตารางกิโลเมตร ด้านในโรงเรือนร่มรื่นเย็นสบาย มีต้นพลิกหวานสามสีจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ ต้นที่กำลังเติบโต ผลผลิตมีตลาดรองรับโดยโครงการหลวงปางค่า อำเภอปง จังหวัดพะเยา โรงเรือนแห่งนี้เป็นหนึ่งใน ๑๑ โรงเรือนตามโครงการขยายผลฯ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชทดแทนการเพาะปลูกข้าวโพด

“นั่นเป็นที่ดินของเกษตรกรในโครงการฯ พวกเขาทำโรงเรือนจนไม่มีเวลาปลูกข้าวโพด” เธอชี้นิ้วให้ไปยังผืนป่าสีเขียวที่กำลังเติบโตบนเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่บนยอดเขา

หยดน้ำที่หายไป : อนาคตแห่งสายน้ำยากหยั่งถึง (๕)

ช่วงเวลาที่ผ่านมา ข้าพเจ้าเดินทางเก็บข้อมูลในพื้นที่อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ยิ่งสอบถามยิ่งพบว่า ความเข้าใจคนชนบทกับคนเมืองใหญ่บางเรื่องแตกต่างเหมือนเหรียญคนละด้าน เช่น “ข้าวโพด” คนเมืองเห็นว่าเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ แต่เกษตรกรเห็นข้าวโพดเป็น “ชีวิต” เป็นต้นทุนเลี้ยงชีพ หรือ “การตัดไม้” คนเกือบทั้งโลกเห็นว่าก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่คนที่เติบโตบนผืนป่าเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการสร้างบ้าน หรือ“เขื่อนสิริกิติ์” คนเมืองใหญ่เห็นว่าเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญของประเทศ แต่คนต้นน้ำเห็นเป็นเพียงแหล่งน้ำที่ห่างไกลเกินจะใช้ประโยชน์ 

ปัญหาน้ำนั้นยากหยั่งถึง รัฐบาลหลายยุคสมัยทุ่มงบประมาณมหาศาลแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ แต่ผลที่ได้รับเป็นเพียงการบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนเป็นการเฉพาะหน้า ซึ่งแต่ละปีปริมาณน้ำเขื่อนสิริกิติ์ถูกจับตามอง คนปลายน้ำลุ้นระทึกว่าจะมีน้ำเหลือให้ทำการเกษตรหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นปลายเหตุ เพราะเมื่อจับต้นชนปลายสาวถึงคนต้นน้ำ พบว่าแต่ละปัญหาเป็นผลต่อเนื่องเหมือนเกมส์โดมิโน่ เริ่มจากปัญหาความยากจนสู่ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ปัญหาการบุกรุกป่า ปัญหาไม้เถื่อน ฯลฯ

เดือนมิถุนายน ปัญหาภัยแล้งกำลังจะเริ่มต้นอีกครั้ง ชาวบ้านประมงปากนายเตรียมอพยพสู่แหล่งน้ำเขตจังหวัดอุตรดิตถ์  เดือนสิงหาคม ต้องเตรียมรับมือกับน้ำหลาก ความเงียบสงบบนผืนน้ำปากนายคงมีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ปริศนาการหายไปของหยดน้ำถูกคลี่คลายแต่ปัญหามิได้ถูกแก้ไข บนยอดเขาสูงชันมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้น ผืนป่าสีเขียวมีคนลักลอบตัดไม้ แต่ถึงอย่างไรข้าพเจ้าก็เชื่อว่า ในอนาคตเกษตรกรรมรูปแบบโครงการหลวงจะเป็นทางเลือกที่สำคัญของเกษตรกร เมื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ผสมผสาน ชาวบ้านน่าจะสามารถหยุดภาวะหนี้สินที่พอกพูนได้ ส่วนการปลูกต้นไม้หรือพืชชนิดอื่นบนผืนดินของตนเองเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพของตนเอง อาจเป็นการเยียวยาธรรมชาติได้ดีที่สุดในขณะนี้ 

วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ข้าพเจ้าเยือนหมู่บ้านประมงปากนายอีกครั้ง ครานี้พบสายน้ำอันงดงาม แสงตะวันยามเย็นสะท้อนผิวน้ำระยิบระยับ เรือหางยาวสัญจรผ่านลำน้ำดูงามตา ฟังน้ำเสียงเจรจาชาวประมงสองฝั่งดังไพเราะ คล้ายเสียงเพลงเห่เรือดังกล่อมลำน้ำ ขณะนิ่งงันอยู่กับการถ่ายภาพ นักเดินทางผู้หนึ่งลงจากรถเดินมาถามข้าพเจ้าว่า มีทางลัดไปจังหวัดอุตรดิตถ์หรือไม่ ข้าพเจ้าบอกเขาให้สัญจรข้ามลำน้ำด้วยโป๊ะปากนาย เขายิ้มพลางส่ายหน้าเหมือนไม่วางใจในสายน้ำ อาจเป็นเช่นเดียวกับข้าพเจ้าที่ไม่เคยไว้ใจธรรมชาติอันปรวนแปร

ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)