แดนอรัญ แสงทอง หรือ เสน่ห์ สังข์สุข คือ นักเขียนและนักแปล มีชื่อเสียงระดับสากล วัยเยาว์เขาได้รับการอุปการะของพระอาจารย์อิน อินฺทโชโต เขาสำเร็จการศึกษาด้านวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ทำงานเป็นล่ามให้กับองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USAID (United States Agency for International Development) ได้รับรางวัลซีไรต์จากผลงานรวมเรื่องสั้นชุด “อสรพิษและเรื่องอื่นๆ” พ.ศ.2561 ได้รับการเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรรณศิลป์ สำหรับผม ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย) การสัมภาษณ์แดนอรัญ แสงทอง คือบทสัมภาษณ์อันประณีต ยาวนาน ทุกคำตอบเย้ายวนให้ตั้งคำถาม ผมมิอาจรั้งรอที่จะเผยแพร่บทสัมภาษณ์อันเงียบสงบของแดนอรัญโดยที่ยังมิรู้ว่าเรื่องราวของแดนอรัญ จะจบลงเช่นไร
คำถาม ประเด็นการนำเสนอคือตัวบุคคล ความน่าสนใจของบุคคล ซึ่งต้องกล่าวย้อนถึงเรื่องในวัยเด็ก สู่กระบวนการคิด การเขียน และการเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจไม่ใช่ความรุ่มรวย แต่คือการบรรลุถึงความเป็นศิลปินในสาขาวรรณศิลป์ครับ การที่เด็กบ้านนอกเติบโตสู่การเป็นนักเขียนระดับสากล เป็นเรื่องราวที่พิเศษมากสำหรับวงการวรรณกรรม คำถามของผมสำหรับพี่มีมากมายครับ แต่ที่ผมจะพลาดถามพี่ไม่ได้เลยคือ เหตุใดเด็กธรรมดาที่เติบโตในชนบทจึงสามารถเป็นนักเขียนระดับสากล ซึ่งน้อยคนที่จะทำแบบนี้ได้ ?
คำตอบ 28 มกราคม 2566 เวลา 11:11 น. ตอบคำถามคุณนะครับ
ผมต้องเรียนรู้อย่างยากลำบาก ที่จะเขียนอย่างซื่อตรงรู้สึกอย่างซื่อตรงต่อผู้คนและเหตุการณ์ต่างๆรายรอบตัว ผมได้รับการศึกษาอบรมมาให้เป็นคนสุภาพ เป็นเด็กวัดอยู่หลายปี เพราะความจำเป็น ที่วัดนั้นมีตำราเก่าๆอยู่หลากหลายประเภทและมีวรรณกรรมร่วมสมัยของยุคนั้นตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร(พระท่านซื้อมาอ่าน)ที่เมืองเพชรมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับสมเด็จเจ้าแตงโม เล่ากันว่าเมื่อตอนที่ท่านเป็นเด็กพเนจรเข้ามาที่วัดใหญ่สุวรรณาราม คืนนั้นเจ้าอาวาสฝันว่ามีช้างเผือกเข้ามาทลายหอไตร ถ้าเราจะตีความความฝันนี้ก็หมายความว่าเราจะต้องอ่านหนังสือให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ผมก็จึงค่อนข้างจะเป็นหนอนหนังสือมากกว่าเด็กคนอื่นๆ นั่นหมายถึงตอนเป็นเด็กวัยรุ่นนะครับ
แต่การเขียนอย่างซื่อตรงเป็นสิ่งที่ผมต้องเรียนรู้ และแม้แต่ในขณะนี้ก็ยังต้องเรียนรู้อยู่ ผมต้องการเขียนอย่างซื่อตรงและสุภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การเป็นเด็กบ้านนอก การต้องเป็นเด็กวัด การต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากไม่ใช่ปมด้อยของผมนะครับ ผมเขียนเรื่องชีวิตวัยเด็กไว้ชุดหนึ่งชื่อ”แพรกหนามแดง” ฉากของเรื่องก็คือชนบทเมืองเพชรซึ่งมีต้นตาลนับแสนๆต้น มีทุ่งนา ป่าละเมาะ พงหญ้าสูงๆ มีฝูงวัวกระจัดกระจาย ฝูงใหญ่บ้างเล็กบ้าง เป็นเท็กซัสแบบหนึ่ง มีนักเลงมีคนดุ มีผู้ร้ายฆ่าคน เพชรบุรีเป็นเมืองเก่าแก่โบร่ำโบราณ เลยเขตตัวเมืองสมัยใหม่ออกไปยังเป็นบ้านนอกแท้ๆ ผมใช้มันเป็นฉากในนิยายเรื่อง ”เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” ในเรื่องสั้น”อสรพิษ”และในเรื่องสั้น”แม่กับลูก” และผมสามารถจินตนาการถึงมันได้อย่างสบายๆว่าเมื่อในอดีตนั้นบ้านเมืองและผู้คนมีสภาพอย่างไร ผมก็จึงเอามาใช้เป็นฉากใน”เจ้าการะเกด”เสียเลย
นี่ผมพยายามตอบอย่างซื่อตรงและสุภาพอย่างที่สุดแล้วนะครับ
ผมไม่ได้มีชีวิตที่ร่ำรวยและสุขสบายนัก เรื่องนี้ก็มีคนดูถูกอยู่บ่อยๆ คือว่าผมจะกินอะไรดีๆ หรือไปเที่ยวที่ไหนหรูๆ ผมไม่โพสต์ลงในเฟสบุ๊คน่ะครับ และทัศนะทางการเมืองของผมมันก็ยังไม่ค่อยทันสมัยเสียอีกด้วย ขอบคุณครับ ถามมาอีกนะครับจะพยายามตอบ
คำถาม การเติบโตของนักเขียนเริ่มจากแรงบัลดาลใจจากวัด จากความฝันและเรื่องเล่าของเจ้าอาวาส แสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนามีอิทธิพลกับพี่มากในช่วงวัยเด็ก
คำตอบ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 12:37 น.
โรงเรียนประชาบาลที่ผมเรียนชั้นประถมต้นเป็นโรงเรียนวัด ตัวอาคารเรียนและสนามก็อยู่ในเขตวัด เสียงกระดิ่งกรุ๋งกริ๋งจากช่อฟ้าโบสถ์ เสียงระฆัง เสียงตีกลองเพล เสียงสวดมนต์ของพระเณรและญาติโยม เป็นเสียงที่ผมคุ้นเคย และในบางซอกบางมุมของวัดบ้านนอกแห่งนั้น ผมสำเหนียกได้ถึงเสียงแห่งความเงียบและความวังเวง เป็นวัดที่ไม่มีฌาปนสถานทันสมัย การเผาศพแต่ละครั้งเป็นเรื่องน่ากลัวมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งศพที่ยังสด แต่ส่วนมากแล้วเขามักจะเผาศพแห้งกันมากกว่า และมักจะเผากันในฤดูร้อน ทั้งหมดนี้ แม้ว่าเราจะเป็นเด็ก เราก็คงจะคิดอะไรได้บ้าง เราเห็นอนิจจังของชีวิตมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก
ประสบการณ์ทางศาสนาผ่านมาทางสิ่งสุนทรีย์ คือผ่านมาทางเพลงแหล่อันหลากหลายของพรภิรมย์อย่างเพลงดาวลูกไก่และเพลงวังแม่ลูกอ่อน ผ่านมาทางเรื่องเล่า คือ ชาดกต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทศชาติชาดก นี่เราฟังเอาจากสถานีวิทยุเอเอ็ม แถวบ้านผมสมัยโน้น เทศน์มหาชาติแต่ละทียังถือเป็นเรื่องใหญ่
หนังสือหาอ่านยาก หนังสือจะได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ที่บ้านผมมีหนังสือธรรมะอยู่หลายเล่ม บางเล่มอ่านไม่รู้เรื่องเลย เช่น ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น บางเล่มของท่านพุทธทาส เราเป็นเด็ก เราไม่เข้าใจ มีหนังสือเก่าหายากหลงอยู่เล่มหนึ่งด้วย ชื่อ “สามเณรบุนนาคเที่ยวธุดงค์” เป็นหนังสือแปลกและชวนสะดุดใจ แต่ที่จำได้ติดตาก็คือเรื่องภูริทัตตะชาดกในนิตยสารฉบับหนึ่ง เขาทยอยลงตีพิมพ์ไปทีละตอน แต่ละตอนมีภาพประกอบ ผู้เขียนภาพคือ เหม เวชกร
สรุปก็คือผมคงได้เคยเกิดเป็นชาวพุทธมาแล้วหลายร้อยหลายพันชาติ
ช่วงแตกหนุ่มอยู่ในกรุงเทพฯไม่สนใจธรรมะเลย สนุกกับการทำบาป ทะนงตนว่าตนเป็นคนทันสมัย เรียนหนังสือกับฝรั่ง อ่านหนังสือฝรั่ง (พออ่านได้) พูดฝรั่ง (พอพูดได้) ร้องเพลงฝรั่ง (พอร้องได้) เชื่อฝรั่ง เห็นดีเห็นงามตามฝรั่งไปหมด เป็นช่วงเวลาที่น่าเศร้า ผมแตกเนื้อหนุ่มอยู่ในกรุงเทพฯ และกรุงเทพฯ มันเป็นเมืองบาป มีข่าวแย่ๆ เกี่ยวกับพระนิกรและหลังจากนั้นไม่นานก็มีข่าวแย่ๆ เกี่ยวกับพระยันตระ ยิ่งทำให้ผมแทบจะเกียจชังพระเอาเลยทีเดียว
เพิ่งกลับมาสนใจพระพุทธศาสนาอีกครั้งก็ตอนที่อายุมากขึ้นและกลับมาอยู่ต่างจังหวัด ใช้ชีวิตเงียบๆ มองดูสิ่งต่างๆ อย่างพินิจพิเคราะห์มากขึ้น ประกอบกับไม่ค่อยมีหนังสืออ่าน สถานการณ์มันบังคับให้ผมต้องอ่านหนังสือธรรมะน่ะครับ แล้วผมก็พบว่ามีความสนุก คือสนุกอย่างบันเทิงธรรมน่ะครับ และมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัยและวุฒิภาวะด้วยเช่นกัน
ข้อมความถึงผู้อ่านจาก แดนอรัญ แสงทอง
๒๐ เมษายน ๒๕๖๖ ผมแดนอรัญ แสงทอง มีเรื่องจะมาแจ้งให้แฟนคลับและทุกๆคนทราบครับ เนื่องด้วยปัญหาด้านสุขภาพของผม ผมจึงต้องยุติการทำ ช่อง YouTube และ เพจ: ท่องไปในโลกหนักสือกับแดนอรัญ แสงทอง ผู้บริโภคความเงียบ รายใหญ่ที่สุดของโลก. มื่อวันนึงมาถึงเราคงได้พบกัน.