ศักดิ์สิริ มีสมสืบ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2559 มีผลงานด้านจิตรกรรม ผลงานด้านการประพันธ์เพลง บทกวีนิพนธ์ ชีวิตวัยเยาว์เติบโตในเสิ่งแวดล้อมอันเอื้อต่อการเป็นศิลปิน เกิดในหมู่บ้านอันอุดมสมบูรณ์ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ลุง ป้า น้า อา ญาติพี่น้อง เล่นดนตรีวงปี่พาทย์ แตรวง สตริงคอมโบ้ น้าชายเป็นช่างปั้นพระพุทธรูป แกะสลัก วาดภาพ เมื่อย้ายถิ่นฐานสู่ดินแดนแห้งแล้ง จิตใจศักดิ์สิริ วัยเยาว์โหยหาศิลปะ เขาวาดภาพ อ่านหนังสือ เลือกเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง ฝากตนเป็นศิษย์ จ่าง แซ่ตั้ง เดินทางสู่เส้นทางแห่งความเป็นศิลปินและสามารถสอบบรรจุเข้ารับราชการครูโรงเรียนชุมแสงเจริญวิทย์ กระทั่งบทกวีนิพนธ์ “มือนั้นสีขาว” ได้รับรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2535 เขาจึงเป็นศิลปินอิสระ
สิ่งแวดล้อมอันเอื้อต่อการเป็นศิลปิน
ผมเป็นลูกเจ้าพระยา พ่อแม่อยู่กับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นลูกแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่กำเนิด แต่เกิดที่จังหวัดชัยนาท อำเภอสรรพยา ตำบลพระยา แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นมหานทีของประเทศไทย ตั้งแต่ภาคเหนือลงสู่อ่าวไทย แต่ช่วงที่แม่น้ำผ่านบ้านพ่อบ้านแม่ เขาได้สร้างหาดทรายยาวประมาณ 1 กิโลเมตร กว้าง 200-300 เมตร เป็นหาดทรายขาวสะอาดเนื้อละเอียด ทรายเนียน เมื่อนั่งหาดทรายมองไปฝั่งตรงข้ามจะมองเห็นป่าสูงเป็นแนว พอหันไปมองฝั่งที่ตนเองก็จะมีบ้านเรือนอยู่ปลายแม่น้ำ ต้นยางเป็นหมือนภูเขา ขึ้นหนาแน่น สูงเหมือนทิวเขา ต้นยางนาใหญ่ๆ เป็นภาพความทรงจำที่ไม่เคยลืมเลือน มิเพียงภาพ แต่ยังมีเสียง มีวัด วัดจะเปร่งเสียงงานบุญ งานบาป งานมงคล งานศพ ทำให้เรารู้สึกว่า แม่น้ำที่ไหลผ่านมีชีวิตชีวามากๆ
เมื่อเติบโตขึ้นผมก็ย้ายครอบครัวมาอยู่จังหวัดนครสวรรค์ แต่ภาพความทรงจำในวัยเยาว์ทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องกลับไปบ้านเกิดอยู่เสมอ เมื่อเติบโตก็มาปลูกบ้านที่นครสวรรค์ริมแม่น้ำยม เหมือนภาพความทรงจำในวัยเยาว์ มีแม่น้ำอยู่หน้าบ้าน มีหาดทราย มีต้นยาง เราไม่รู้ตัวว่าเราโหยหาบ้านเกิด บ้านปัจจุบันก็จำลองมาจากบ้านเกิด เรารู้สึกหมือนอยู่ที่บ้านเกิด เป็นความมหัศจรรย์ของความรู้สึกที่ฝังมาในวัยเยาว์
บ้านตาบ้านยาย บ้านพ่อแม่ที่จังหวัดชัยนาทเป็นครอบครัวใหญ่ ครอบครัวศิลปิน ลุงมีวงปี่พาทย์ น้ามีวงปี่พาทย์ มีแตรวง น้าอีกคนก็มีวงดนตรีสตริงคอมโบ เล่นทั้งดนตรีไทย ดนตรีสากล วัยเยาว์เราได้นอนเปลญวนอยู่ใต้ถุนบ้านที่วงดนตรีปีพาทย์กำลังตีระนาด ส่วนบ้านลุงที่อยู่ตรงข้ามก็ตีระนาด เสียงเหล่านี้บ่มเพาะเรากระทั่งอยู่ในจิตวิญญาน เป็นความประทับใจที่เอื้อมากๆ ทำให้เราเติบโตมีชีวิตเกี่ยวข้องกับศิลปะ น้าชายปั้นพระ ทำว่าวสวยๆ แกะสลัก วาดรูป วาดภาพในโบสต์ ปั้นพระองค์ใหญ่ เรามองเห็นภาพเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก เราเกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นศิลปิน
เมื่อย้ายมาอยู่นครสวรรค์ บ้านดอน กันดารมาก หน้าแล้งต้องขุดดินลงไปหลายเมตรเพื่อหาน้ำ แล้วต้องเอาเชือกผูกกระป๋องหย่อนลงไปตักน้ำ กว่าจะได้น้ำขึ้นมาใช้ ภาพมันตัด (Contrast) ตรงข้ามกันเลยกับบ้านเกิด ความอุดมสมบูรณ์ ความชุ่มชื้น เจอความกันดาร แต่ความแห้งแล้งทำให้เราโหยหาบ้านเกิด บ้านเกิดมีดนตรี มีวัดวาอาราม มีเรือนแพ มีเรือยนต์ มีเสียงปี่พาทย์ราษฎร์ตะโกน มีภาพปั้น มีว่าวสวยๆ มีเพลงพื้นบ้านซึ่งยายก็เป็นแม่เพลง เมื่ออยู่ในที่ขาดแคลนอะไร จิตใจเรายิ่งโหยหาบ้านซึ่งหมายถึงบ้านของศิลปะ เป็นบ้านของความสวยงาน บ้านของความอบอุ่น ทำให้เรามีหัวใจที่รักศิลปะมากขึ้น เพราะเรากำลังอยู่ในสถานที่ไม่มีสิ่งเหล่านั้นอีกแล้ว แม้แต่ใบโปสเตอร์หนัง เมื่ออายุ 12 ปี โรงหนังเอาโปสเตอร์หนังมาติดโฆษณา เราจะรีบลอกโปสเตอร์ตอนแป้งเปียกยังไม่แห้ง เพราะเราจะเอารูปโปสเตอร์มาวาด วาดรูปดารานักแสดง สมบัติ เมทะนี, มิตรชัย บัญชา, เพชรรา เชาวราช เพราะเราโหยหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ เสียงเพลง การปั้น การวาด ทำให้เราต้องเข้าไปหา
ยุคสมัยก่อนที่อำเภอไพศาลี มีวิกหรือโรงหนัง มีช่างวาดภาพโปสเตอร์ เราก็จะขลุกอยู่กับช่างวาดภาพ เรียนรู้การวาดภาพ เมื่อคิดถึงบ้านเกิดเราก็โหยหาเสียงระนาด บางสิ่งบางอย่างมันขาดหายทำให้เราสนใจ การอ่าน การเขียน การวาด การปั้น ศิลปะทุกแขนง แต่ที่นั่นไม่มีอะไรเลย ส่วนที่บ้านเพื่อนมีหนังสือการ์ตูน ราช เลอสรวง สิงห์ดำ, พ.บางพลี อัศวินสายฟ้า ,เบบี้ หนูจ๋า อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นหนังสือการ์ตูน บางทีอาจจะต้องเดินถึง 3 กิโลเมตร เพื่อไปอ่านการ์ตูน เดินไปวัดเพื่อไปดูภาพชาดกหรือภาพทศชาติ ไปดูลายปูนปั้นที่โบสต์ซุ้มประตู เราโหยหาอย่างนั้น
เราเติบโตจากหนังสือบางเล่ม ซึ่งยังจำได้ว่า หนังสือปกหลังวาดด้วยฝีมือ เหม เวชกร เป็นภาพประกอบวรรณคดี ต่อมาก็มีจักรพันธุ์ โปษยกฤต ที่วาดอิเหนาในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน ท่านวาดผู้หญิงได้งามมากๆ แม้แต่วาดผู้ชาย ผุ้ชายก็งามมากๆ วาดภาพ จินตะหรา บุษบา นางพิมพิลาไลย เราอยากเป็นอิเหนา เราเติบโตจากนิตยสาร จากโบสต์ จากวัด ใครร้องรำทำเพลง เราก็จะไปดู สมัยก่อนเขามีรำโทน เมื่อได้ยินเสียงกลองไกลๆ ห่างหลายกิโลเมตร สมัยก่อนไม่มีไฟฟ้า เราก็จะไปดูลิเก เวลาเขาแห่นาค แตรวง วันสงกรานต์ เราก็อดไม่ได้ที่จะไปชม ศิลปะหลายแขนงอยู่ในความสนใจของเรา ครอบครัวของเรามีศิลปะครบทุกแขนง แม่กับน้าชายเล่นหุ่นกระบอกสร้างโรงเชิดหุ่นกระบอกสูงหลายเมตร น้าทำหุ่นกระบอก น้าเชิดหุ่นกระบอก แม่พากษ์เสียงหุ่นกระบอก บางทีเราก็ขึ้นไปนั่งอยู่ข้างบนโรงละครกับน้ากับแม่ เราเกิดมาเป็นแบบนี้โดยไม่ต้องมีพรสวรรค์ ไม่ต้องมีแรงบันดาลใจ นี่คือวัยเยาว์
วัยเยาวห์วัยแห่งการโหยหาศิลปะ
ตอนย้ายมาอยู่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ 67 ปีก่อน พ่อกับแม่นั่งเรือผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เดินทางด้วยเรือมาที่ปากน้ำโพ จากนครสวรรค์นั่งรถลากซุงลากไม้ถึงอำเภอท่าตะกั่ว พ่อแม่พานั่งช้างเข้าไปที่อำเภอไพศาลี เมื่ออยู่ที่นครสวรรค์ พ่อแม่ก็สร้างโรงเรียนเอกชน เป็นเจ้าของกิจการโรงเรียน แต่อย่านึกถึงโรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่ ให้คิดถึง หนุ่มสาวคู่หนึ่งมีลูกเล็ก บุกเบิกป่าอาศัยวัดสร้างโรงเรียนหลังคามุงแฝก ไปตัดไม้กันเองในป่า ชักลากมาสร้างอาคารเพื่อให้ชุมชนมีโรงเรียน ใช้เวลา 20-30 ปี ถึงเป็นรูปอาคารเต็มรูปแบบ เริ่มแรกก็จดจำได้ว่า เราเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีแม้แต่ข้างฝา พื้นห้องเรียนเป็นพื้นดินอัดแน่น เราเรียนชั้นประถมศึกษาของพ่อแม่ตนเอง ตอนเรียนชั้นมัธยมยังจำได้ว่าเราต้องเรียนหนังสือบนโรงลิเก
เรื่อง เพลง บทกวี ศิลปะ เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรานั่งในโรงลิเกตั้งแต่เด็ก กลอนลิเกเราก็ได้ยินตั้งแต่เด็ก อยู่บนบ้านเขาก็อ่านหนังสือ ป้าเราก็ท่องรจนา ป้าท่องรจนาได้เป็นเล่ม เดียวน้าก็เอาซออู้มาสี ลุงก็ซ้อมระนาด หลวงลุงก็เป็นเจ้าอาวาส มีเทศน์มหาชาติอะไรเราก็ได้ยินโครงกลอนอยู่ตลอดเวลา เวลาอาบน้ำแม่ก็จะร้องเพลง แม่ชอบร้องเพลงเวลาอาบน้ำ แต่อย่าไปนึกถึงห้องน้ำที่มีฝักบัว แต่นึกถึงห้องน้ำที่มีโอ่งเวลาอาบก็เอาถังตักน้ำจากโอ่งขึ้นมาอาบ
โครงกลอน วรรณคดี อยู่ในชีวิตประจำวันเพราะพ่อแม่เป็นครู ที่โรงเรียนพ่อแม่ก็มีวรรณคดีสำคัญของประเทศทุกเล่มอยู่ในตู้ สำนักพิมพ์ต่างก็มาขายหนังสือที่โรงเรียน วรรณคดีเก่าๆ มีครบหมด อ่านรู้เรื่อง อ่านไม่รู้เรื่อง แต่เรารู้จักหมด เราอ่านหนังสือไม่ได้น้าชายก็ท่องให้ฟัง ป้าก็ท่องให้ฟัง เมื่อเราเติบโตเราก็ชอบภาษาไทย ชอบท่องอาขยาน ผมอายุ 67 ปี แต่ยังสามารถท่องอาขยานชั้น ป.4 ได้ถึงทุกวันนี้โดยไม่เคยลืมเลือน มันไม่ใช่เรื่องพรสวรรค์แต่เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องศีล เป็นเรื่องของชีวิต จับปากกาก็รู้สึกว่า แต่งกลอนมันง่ายไปหมด เพราะเราฟังกลอนลิเกมาตั้งแต่เด็ก
น้าชายมีวงสตริงคอมโบ้ ร้องเพลงลูกทุ่งมาตั้งแต่เด็ก เพลงลูกทุ่งเป็นที่รวมของฉันทลักษณ์ ลองฟังเพลงสมัยก่อนว่ามันสละสลวยขนาดไหน ฉะนั้นไม่ต้องอาศัยพรสวรรค์หรือพรแสวง เราจะเป็นแบบนั้นเอง มันเป็นทฤษฎีสิ่งแวดล้อม เหมือนลูกลิงขึ้นต้นไม้ ลูกไก่คุ้ยเขี่ย ดังนั้น สิ่งแวดล้อมที่ดีช่วยเรา ดังนั้น เราควรทำตัวเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีของกันและกัน ก็จะเกื้อกูลกัน
นักแต่งกลอนของเพื่อนร่วมชั้น
เมื่อเรียนชั้นมัธยมก็เป็นหนุ่ม เราวาดรูปเป็นการใหญ่ แต่งกลอนเป็นการใหญ่ คนเราบอกว่า “เมื่อคนมีความรักจะเป็นกวี” ฝีมือที่ฝึกฝนวาดภาพจากโปสเตอ์หนังเริ่มใช้งานมากขึ้นเพราะเริ่มชอบสาวๆ ยุคสมัยนั้น ไม่มีรูปถ่าย เรามองแล้วก็จำ จำ แล้วก็วาด ยุคสมัยนั้น เราวาดภาพเป็นร้อยๆ แต่งกลอน แต่งเพลง ให้ผู้หญิง ตอนเรียนชั้นมัธยมครูให้แต่งกลอนประกวด เพื่อนแต่งกลอนไม่ได้ เขาก็จ้างเราแต่ง เลี้ยงข้าว ให้สตังค์ ให้ขนม เราแต่งกลอนให้เพื่อนร่วมชั้นเกือบครึ่งห้อง เมื่อผลการประกวดออกมา ผลงานของเราได้อันดับที่ 4 ที่ 5 ส่วนของเพื่อนที่เราแต่งให้ได้อันดับที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 แต่ด้วยความรู้สึกว่า ตนเองเป็นคนแต่งแต่ไมได้รับชื่อเสียง ก็เลยพยายามพูดแดกดันให้รู้ว่าเราเป็นคนแต่ง
ต่อมา ครูเรียกมาตักเตือน เราโดนครูดุแต่ก็สะใจ ครูยินดีแล้วก็ชม แต่ก็ถามว่า กลอนบทนี้ดีเกินไปเราไปลอกใครมาหรือเปล่า เขาก็เห็นว่า เราชอบอ่านนิตยสารชัยพฤกษ์ อ่านวรรณคดี กระทั่งไม่มีใครเชื่อว่าเราเป็นคนแต่ง เหมือนกับว่า เราเก่งเกินไป แต่เราก็สะใจที่ไม่มีใครเชื่อว่าเราเป็นคนแต่ง ปลึ้มใจ เพราะเป็นบทกลอนที่ออกมาเกินเด็ก เกินวัย เพราะเราอ่านหนังสือเกินวัย ชีวิตเราเป็นแบบนั้น ตอนนั้นเป่าขลุ่ย จับกลุ่ยมาเป่าเป็นเพลง ผู้ใหญ่เขามองเห็นเป็นปกติ แต่เขาก็ไม่ได้มองว่าเป็นอัจฉริยะ เราเกิดมาแบบนี้ เหมือนโมทซาร์ท 6 ขวบ เดินสายเล่นดนตรี พ่อเป็นนักดนตรี ถ้าโมทซาร์ทเกิดที่อื่นเขาก็อาจสีไวลินไม่ได้ ฉะนั้น การที่เด็กคนหนึ่งแต่งกลอนกระทั่งใครไม่เชื่อว่า แต่งเอง ไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์แต่อย่างใด
“โอ้นวลคลางนางครวญกำสรวญเศร้า ได้ยินเจ้าครวญครางไม่สร่างเสียง สะอึกโศกสะอื้นซ้ำ ..” แค่วรรคแรกเขาก็ไม่เชื่อแล้วว่าเด็กอายุ 11-12 ปี เป็นคนแต่ง อีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งยังจดจำก็คือเมื่อตอนอายุ 60 ปี เจอเพื่อนเก่าสมัยเรียนหนังสือซึ่งเราเคยแต่งกลอนให้เขา เขาเดินตามแล้วก็ถามว่า “ไวท์หรือเปล่า” แล้วก็บอกว่าจำเรา “ประทีป” ได้มั้ย เพื่อนเก่าสมัยเรียน แล้วเพื่อนก็บอกว่า จำได้มั้ยว่าเธอแต่กลอนว่าเรา “ขนรักแร้ยาวกว่า 15 โยชน์ ใส่ท้องนาง10 โกฐ กระโดดโหยง แหบหัวเราะจนก้องท้องพระโรง ขี้มูกโป่งเปื้อนเปรอะเลอะเต็มรู” พอพูดจนเราก็กอดกัน เป็นความประทับใจที่ได้เจอเพื่อนเก่า กลอนบทนั้นยังอยู่ในตัวเรา อยู่ในความทรงจำของเขา
ชีวิตนักเรียนศิลปะโรงเรียนเพาะช่าง
ผมเรียนจบมัธยมต้นก่อนคนอื่น 2 ปี เพราะเรียนในโรงเรียนของพ่อกับแม่ ตอนอายุ 14 ปี ผมเรียนเพาะช่าง ผมไม่เคยคิดจะเรียนที่อื่น รู้จักเพาะช่างจากหนังสือนิตยสาร เพราะอาจารย์ เฉลิม นาคีรัตน์ ท่านเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ผมเรียนโรงเรียนเพาะช่างอาศัยอยู่วัดมหาธาตุที่ท่าพระจันทร์ เป็นเด็กวัด 5 ปี ตอนแรกเรียนรวม ปี 4-5 เรียนจิตรกรรมสากล คือเรียนวาดรูป เรียนศิลปะร่วมสมัย ระหว่างเป็นหนุ่ม ก็เป็นเด็กวัด ไม่มีความรัก ไม่มีอะไร วาดรูปอย่างเดียว มีเงินก็จะใช้เงินเพื่อการซื้ออุปกรณ์วาดภาพ ไม่มีโอกาสพาสาวไปดูหนัง เวลาจะกินก็ไม่อยากกินเพราะต้องการเอาเงินไปซื้ออุปกรณ์วาดรูป กินข้าวมื้อหนึ่งช่วงเช้า กลางวันเพื่อนเลี้ยง บางทีแม่เพื่อนขายกล้วยแขกก็เอากล้วยแขกมาฝาก เราก็กินกล้วยแขก กินมันทอด หมกมุ่นอยู่กับการวาดภาพ
โชคชัย ตัดโพธิ์ รุ่นพี่แนะนำให้อ่านหนังสือดีๆ เราก็เข้าไปในโลกของหนังสือ โลกวรรณกรรม เรานึกถึงเพียงเท่านั้น ติดตรึงตรากลายป็นความรักอยู่ข้างใน เมื่ออยู่เพาะช่างเริ่มมีตัวตน เริ่มแข่งขันกัน เราก็ตั้งกลุ่ม แลกเปลี่ยนการวาดรูป มีนิทรรศการแสดงงานศิลปะ มีการอภิปลายก็ไปฟังกัน เรารู้จักกันมากขึ้น มีโอกาสไปพบศิลปิน เช่น ประเทือง เอมเจริญ ,ถวัลย์ ดัชนี ,จ่าง แซ่ตั้ง เราหมกมุ่นกับศิลปะ วาดรูปกันทั้งวัน เจอกันตามคลองหลอด หัวลำโพง ปากคลองตลาด บางทีก็เดินทางไปกันตั้งแต่ตีสี่เพื่อสเก็ตภาพ ส่วนเรื่องความรักอยู่ข้างใน อยู่ในใจ จะรักใครก็ได้แต่แอบรักเพราะไม่ตังค์พาเขาไปเที่ยวไดมารู ( Thai Daimaru : ห้างสรรพสินค้าระดับตำนานของประเทศไทย หนุ่มสาวแห่งยุคสมัยมักชวยกันไปเดินห้างสรรพสินค้าเพื่อพลอดรัก เปิดให้บริการ ระหว่าง พ.ศ.2507 ถึง พ.ศ. 2543 )
ข้อดีของโรงเรียนเพาะช่าง คือ มีเสาหกต้น มีห้องสมุดที่แคบ แต่มีหนังสือเกี่ยวกับศิลปะทั่วทั้งโลก ผมใช้เวลาทั้งวันหมกมุ่นอยู่ในห้องสมุด เปิดดูงานศิลปะทั้งโลก มันเป็นการสอนตนเองโดยไม่ต้องมีคำอธิบาย เราดูดื่มด่ำเข้าไปในชีวิต ทีนี้เมื่อดื่มดำมันก็ออกมาทางทักษะ เราก็วาดรูปภาพเก่งเหมือนฝรั่ง เมื่อเก่งขึ้น ก็ส่งภาพประกวด เมื่อคนไหนเก่งก็จะได้รางวัล เมื่อได้รางวัลก็เป็นอัตตา เป็นปมเขื่อง เมื่อเริ่มมีผลงาน มีรางวัลมากขึ้น ก็หลงตัวเองว่าเก่ง มีอยู่วันหนึ่งรุ่นพี่ก็พาไปหา จ่าง แซ่ตั้ง เพื่อนก็หอบรูปไปอวดกันเพราะท่านจะได้เห็นว่าเราเก่ง จะได้รับเราเป็นศิษย์ เราก็เอารูปไปโชว์
เรียนรู้วิถีศิลปินแบบ จ่าง แซ่ตั้ง
เมื่อนำรูปภาพไปอวด จ่าง แซ่ตั้ง ก็มองหน้า แล้วก็ใช้มือปัดภาพ แล้วก็บอกว่า “งานขี้ข้าทั้งนั้น!” ผมช็อคเลย ผู้รู้สึกเหมือนคนโดนตบหน้า จ่าง บอกว่า “งานอันนี้มันแวนโก๊ะ ไม่ใช่ตัวเอ็ง ไม่ใช่ความรู้ของเอ็ง เป็นความรู้ของคนอื่น” สมัยก่อนผมคลั่งไคล้แวนโก๊ะมาก รูปภาพก็จะออกเหลือง ลักษณะการตวัดแปลงก็เหมือน แต่หลังจากหายหน้าชาแล้ว เราแทบจะกราบจ่าง แซ่ตั้ง เป็นอาจารย์ เขาคงเห็นท่าทีของเรา แววตา น้ำเสียงของจ่าง จริงใจ จริงจัง ไม่ใช่การเหยียดหยามแต่เป็นการสอน แกบอกว่า “นี่มันงานขี้ข้า ไม่ใช่ความรู้ของเอ็ง มันเป็นความรู้ของคนอื่น แต่เอ็งต้องกลับไปหาตนเอง ว่าตนเองรู้อะไร ไม่รู้อะไร มองเห็นความงามด้วยตนเอง แสดงออกมาจากตนเอง” ตั้งแต่วันนั้น ผมอยู่กับอาจารย์จ่าง เทียวไปเทียวมาอยู่ 4-5 ปี เรียกว่าเป็นลูกศิษย์เต็มตัว
ผมเรียนโรงเรียนเพาะช่างไม่จบสนิท เพาะช่างเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี ผมสอบติดระดับปริญญาตรีแต่ค่าเทอมสูงมาก ตอนนั้นผมทำงานส่งตัวเองเรียน เมื่อมาหาอาจารย์จ่าง ผมก็บ่นว่าเรียนปริญญาตรีไม่ได้เขียนรูปเหมือนตอนปี 4-5 อาจารย์จ่างก็บอกว่า “โลกเป็นมหาวิทยาลัยที่กว้างกว่า” ประโยตเดียวทำให้ผมเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า เอาสำเนาบัตรประชาชน เสื้อผ้าเท่าที่มี ตังค์ 600 บาท มุ่งหน้าไปดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นรถไฟตอนหัวค่ำ สว่างที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ หลังจากนั้นก็เดินไปเรื่อยๆ มุ่งหน้าไปดอยสุเทพ พอฟ้าสรางมองเห็นพระก็เดินตามพระ กระทั่งพระไปหยุดอยู่บ้านหลังหนึ่งซึ่งเป็นบ้านยายแก่ๆ แกก็นึกว่าเราเป็นลูกศิษย์พระ ก็เอาของอะไรให้เราถือ พระก็บอกว่าไม่ใช่ลูกศิษย์ ผมก็เล่าให้ฟังว่าไม่ได้มาด้วยกัน ผมมาเรียนแล้วก็เดินทางมา ยายก็ถามว่า อยู่กับยายมั้ยเล่า ผมก็เลยอยู่บ้านยาย
ช่วงอยู่เชียงใหม่เรียกว่ากระเจิดกระเจิง “โลกมันเป็นมหาวิทยาลัยที่กว้างใหญ่” เราศรัทธาอาจารย์จ่าง เมื่อท่านพูดก็เหมือนชี้โพรงให้กระรอก พอพูดเราก็นึกขึ้นว่า แล้วเราจะเรียนทำไม เราต้องเผชิญโลก เดินทางมาที่รถไฟหัวลำโพงก็มองจะไปไหนดีสายเหนือนสายใต้ เราก็เลือกเชียงใหม่ ตีตั๋วรถไฟ เมื่อถึงเชียงใหม่ก็นั่งอยู่สถานีรถไฟพักนึง แล้วก็เดินตามพระ
เมื่ออยู่กับยายก็เงินหมด ยายไม่มีใครเลี้ยงดู ก็รู้สึกว่าเด็กคนนี้เป็นภาระ เมื่อพระบิณฑบาตอีกครั้ง ยายก็เลยฝากให้เราไปอยู่วัดป่าแดง เราเป็นคนช่างฝัน ไม่ประสีประสาอะไร ไปไหนก็ไป จึงอยู่วัดป่าแดง แต่เราเป็นคนมีการศึกษาจบเพาะช่าง พระก็เอ็นดู เอาเราไปอยู่กุฎิช่วยเขียนแบบกุฏิ เดินไปตามน้ำตกห้วยแก้วไปแต่งกลอน กลับมาก็ความลับแตก เมื่อพระส่งจดหมายไปหาพ่อกับแม่ แล้วก็เขียนว่าจะเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรมจะส่งเสียเลี้ยงดูให้เรียนต่อ เราก็เลยหนีไปหลบอยู่ที่โรงพยาบาลสวนดอก แต่ไปเจอคนที่เคยพาแม่มารักษา คุยกันไปมาก็ชวนกันไปอยู่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง หลังจากนั้น ก็กลับบ้านมาเป็นครูอยู่โรงเรียนชุมแสงเจริญวิทย์ แต่ชีวิตเราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นครู
ครูสอนศิลปะโรงเรียนชุมแสงเจริญวิทย์
เมื่อเป็นครู เราจะมีความทุกข์ในแง่ของระเบียบวินัย ต้องตื่นเช้ามาแต่งตัวชุดข้าราชการ ชุดสีกากี ใสบ่า ต้องมีรองเท้าหุ้มส้น ต้องมีชุดขาวงานราชพิธี เราไม่สนุก เราไม่ชอบเลย เหตุผลที่เป็นครูเพราะเราต้องการเป็นครูให้แม่ ถ้าไม่เป็นครู แม่อาจจะขาดใจตายได้ อยากให้ลูกมีหน้าที่การงาน แต่ขณะที่เป็นครูเราไม่ถูกระเบียบ ไม่ชอบระเบียบ ไม่ชอบวินัย แต่เราก็มีความสุขกับเด็กๆ เสาร์อาทิตย์ก็พาเด็กๆ ไปวาดรูป ตามตลาด ตามทุ่งนา ครูกับเด็กกลายเป็นแก๊งวาดรูป เราเป็นครูหนุ่มเอากีตาร์มาเล่นอัดเสียงลงเทปคาสเซ็ทไปเปิดเสียงตามสายในโรงเรียน ชื่อวง “หลังคามุงจาก” มีหลายชุด ทุกวันนี้เพลงที่ผมแต่ง 40 กว่าเพลงยังเปิดอยู่ในโรงเรียน เราตั้งแก๊งจักรยานสือหมอบ ผู้ปกครองบางคนอิดหนาระอาใจที่มีครูแบบนี้ เพราะบทสนทนาระหว่างครูกับศิษย์ก็จะพูดเรื่องหนังสือ ซึ่งลูกศิษย์ก็จะมีอุดมคติจนปวดใจ กระทั่งพ่อแม่ขอร้องว่า อย่ายุ่งกับลูกของเขาได้หรือไม่ เพราะเขาอยากให้ลูกเรียนวิศวกรรมศาสตร์ เรียนหมอ พอมาเรียนกับเราก็วาดรูปแล้วก็เริ่มตั้งคำถามอะไรต่างๆ เราก็กลายเป็นครูประหลาดๆ แต่เราเป็นครูที่มีบุคคลิกภาพไม่ก้าวร้าวก็เลยไม่มีใครรังเกียจเดียจฉันท์ มีแต่อิดหนาระอาใจที่พาเด็กๆไปขี่จักรยาน วาดรูป ร้องเพลง
ตอนที่ตัดสินใจลาออกจากราชการ ก็ไม่มีการวางแผนเพราะผมคิดจะลาออกอยู่ตลอด เราเป็นคนมีความฝัน มีจินตนาการ ส่วนผู้บริหารก็ใช้เราในเรื่องที่ไม่ควร เช่น เขียนป้าย แกะเทียนพรรษา ทำพวงมาลา ทำพวงมาลัย ประดิษฐ์อะไรต่างๆ เราก็รู้สึกอึดอัด รู้สึกอยู่เสมอว่าไม่ใช่เรา เพราะเราทำอะไรได้แตกต่าง เราคิดจะลาออกตั้งแต่ปีแรกที่บรรจุเข้ารับราชการ แต่เราเป็นครูที่ดี เราได้ความดีความชอบ (ขึ้นเงินเดือน) บ่อยด้วย เพราะเราเป็นคนขยัน ทำอันนั้นอันนี้ แต่ใจไม่ได้มีความสุข ที่ยังอยู่เป็นครูก็เพราะอยู่ให้แม่ ไม่อย่างนั้นแม่ก็เครียด
เรามีข้ออ้างเรื่องการลาออกเพราะเราได้รางวัลซีไรต์ เมื่อได้รางวัลก็บอกกับแม่ว่า ผมได้รางวัลซีไรต์แล้วรับรองว่ามีรายได้มากกว่าเงินเดือนครูหลายเท่า คือเราหลอกแม่หาทางจะลาออก แม่ก็นึกว่าจริง พอดีช่วงนั้น เพื่อนชวนไปแต่งเพลงในรายการทุ่งแสงตะวัน ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์ สมัยก่อนโทรทัศน์เป็นเหมือนสิ่งสักดิ์สิทธิ์ ใครได้มีชื่อออกโทรทัศน์ก็เท่ส์มาก แม่บอกลูกชายออกโทรทัศน์มีชื่อลูกชายด้วย แล้วก็แต่งเพลงให้นักร้อง แม่ก็เลยตายใจคิดว่าลูกมีรายได้มากกว่าเป็นครูหลายเท่า ตอนนั้นซีไรต์ยังขลัง ขายหนังสือ 45,000 เล่ม ได้ภายในครั้งเดียว ได้ตังค์เยอะ ก็เลยเอามาอวดแม่ แม่ก็ตาลุกวาว พอจะลาออกแม่ก็บอก ดีแล้วลูก ดีแล้ว ก้าวหน้า พอลาออกเสร็จ ความลับแตกแม่ก็เลย เซ็ง
ความจริงการเป็นกวี การพิมพ์หนังสือบทกวี 3 เล่ม ขาดทุนทุกเล่ม ที่เหลือก็กองอยู่เต็มบ้าน แต่ตอนนั้นผมยังมีเงินเดือนครู แต่เมื่อลาออกจากราชการรายได้วูบทันตา อดหยากปากแห้ง แต่ไม่เป็นความทุกข์ เรียกว่า ชอบบำเพ็ญทุกข์กริยา แต่พ่อแม่ก็เป็นห่วง ซึ่งหลังจากนั้น เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เราสามารถเขียนหนังสือได้อย่างเต็มที่ เขียนคอลัมน์ เป็นคอลัมนิสต์ให้กับสำนักพิมพ์ เมื่อเป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์สำนักพิม์ก็ให้ค่าตอบแทนสูงกว่านักเขียนทั่วไป มากพอที่จะทำให้เราอยู่ได้อย่างสบาย หลังลาออกจากการรับราชการ ผมแต่งเพลงเยอะมาก ทำเพลงของตัวเองได้ 5 อัลบั้ม ได้ขี่จักรยานเยอะมาก สนุกมาก
ศิลปะอันเชื่อมโยงกับผู้คนและสังคม
สำหรับการเขียนภาพ เราเป็นคนวาดภาพ วาดทิ้ง วาดขว้าง เป็นคนไม่เก็บงาน ไม่รวบรวมผลงาน ปล่อยปละละเลย จนกระทั่งมีคนที่คาดหวังหรืออยากเห็นเราก้าวไปในงานจิตรกรรมบอกกับเราว่า อย่าพูดคำว่าวาดรูปเล่นๆ ได้มั้ย แต่เราวาดรูปเล่นๆ จริงๆ บางทีวาดรูปสวยๆ ลบแล้ววาดทับ ภาพที่ถูกวาดทับก็มีคนขอซื้อ ให้ราคาตั้งหลายหมื่น เราเหมือนเป็นคนไม่รับผิดชอบผลงานตัวเอง ถ้าเราทำงานหลายชิ้นควรต้องมีหอศิลป์ แต่ปัจจุบัน ก็ยังไม่มีหอศิลป์ เหมือนบทกวีเราเขียนทุกวัน แต่ตีพิมพ์เพียงไม่กี่เล่ม ไม่เคยเก็บต้นฉบับ บางทีก็คิดว่า เราจะเป็นอมตะได้ได้อย่างไรใครจะเชื่อว่าเรามีผลงาน แต่จะเป็นอมตะทำไม สุดท้ายเราก็นิสัยเหมือนเดิม คือ ไม่เก็บรักษา ปล่อยวาง
การแสดงผลงานภาพวาดในตรอก มันง่าย เพราะถ้าเราไปแสดงรูปในแกลเลอรี่ ต้องติดต่อประสานงาน ต้องเดินทาง แต่ถ้าเราติดในตรอก สถานีรถไฟ บางทีฝนสาด ถามว่าเสียดายหมั้ย เราก็บอกว่าเสียดาย ทำไมไม่เก็บ เราก็บอกว่าขี้เกียจ บางทีมีคนมาขอซื้อ รูปที่ติดมันก็เปียกฝนผุพัง รูปที่เราอยากจะขายก็ไม่มีคนอยากจะซื้อ บางทีเราก็อยากได้ตังค์มาซื้อทุเรียนกินบ้าง บางคนก็บอกศิลปินระดับนี้แล้วทำไมมาติดภาพในตรอก เราก็ไม่รู้ว่าเราศิลปินระดับไหน เราได้ศิลปินระดับไหนก็บอกว่า ระดับชาติ คือชาตินี้ ถ้าได้ศิลปินระดับโลก โลกไหน ก็โลกนี้ สุดท้ายเราก็เป็นศิลปินระดับตรอก ถามว่าตรอกไหนก็มาดู
บางทีก็มองเห็นรูปของเรา หลุด เปียกฝน ลอยอยู่ในแม่น้ำ ซึ่งมันก็สลดหดหู่ แล้วก็ถามว่าทำไมไม่เก็บ ก็ขี้เกียจ ไม่ยี่หระ และมักง่าย บางคนก็ถามว่า ทำไมไม่เก็บงานเข้าหอศิลป์ เราก็ถามว่าสร้างหอศิลป์แล้วจะเอาตังค์ที่ไหนมาสร้าง ความจริงมีกิเลสอยากมีหอศิลป์ขอบตนเอง แต่พอคิดแล้วมันยาก แต่ก่อนตายคิดว่าจะวาดภาพเยอะมาก ตั้งเป้าหมาย 100 รูป ก่อนสิ้นปี ส่วนหอศิลป์รินคมซึ่งเป็นลูกชายผมก็เช่าห้องเล็กๆ ให้ลูกชาย รินคม เด็กควรจะเก็บงานให้เขา ถ้าเขาอายุ 30-40 เขายังมีร่องรอยเก่าๆ เราเช่าห้องแถวเพื่อเก็บงาน รูปไหนสวยก็เก็บใส่กรอบเพื่อแสดง เป็นสถานที่ให้เด็กวาดรูป เสาร์อาทิตย์มาวาดภาพกัน เอารูปไปติดตามตรอก จัดกิจกรรมตามมีตามเกิด
ผมไม่เชื่อเรื่องการสอน แต่เชื่อเรื่องของการเรียน ผมไม่รับสมัคร ไม่ประกาศรับสมัคร แต่คนจะมาเขาจะมาเอง มาตอนไหนก็ได้ ถ้าเราอยู่เราก็สอน ถ้ารินคมอยู่รินคมก็สอน แฟนผมก็สอน วาดรูปไปกับเด็กๆ อย่างน้อยเด็กหลายคนก็รู้ว่า อย่างน้อยเขาก็มีที่อยู่ เป็นสถานที่สำหรับวาดรูป มีอาจารย์สอน มีครูสอน เด็กบางคนมาด้วยตนเอง พ่อแม่ให้มา แต่เราไม่มีเจตนาสอน มีคนเรียนก็สอน ผมมีเพื่อน 2-3 คน ที่ตระเวนสอนศิลปะเด็กประถมตามที่ต่างๆ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เราก็จะสอนเด็กพวกนี้โดยไม่ต้องเชิญ เด็กๆ ก็จะดีใจ มีคนแปลกหน้ามาเยี่ยม มาแจกสี แจกอะไร ผู้อำนวนการโรงเรียนไม่ต้องเลี้ยงข้าว เลี้ยงน้ำอย่างเดียวก็พอ เราทำกิจกรรมมาหลายปี แต่ละปีเราสอน 10 โรงเรียน
ถามว่าสอนทำไม เราก็ไม่รู้ แต่เรารู้สึกว่า การที่เราได้พบกับใครสักคนในวัยเยาว์ มันเป็นเรื่องดีสำหรับเรา เพราะตอนเป็นเด็กเราไม่เคยมีครู เรารู้จักเปี๊ยกโปสเตอร์ผ่านโปสเตอร์ ไม่เคยเจออาจารย์เฉลิมชัย ไม่เคยเจอจักรพันธ์ ไม่เคยเจอเหม เวชกร เรายังเติบโตได้ขนาดนี้ เมื่อเจอใครสักคนเราตื่นเต้นมากเลย เจอนักเขียนครั้งแรก ฟัง ส.ศิวลักษณ์พูด เราตื่นเต้นมาก เราเจอประเทือง เอมเจริญ เรามีความสุขมาก เด็กสักคนมีคนชวนวาดรูป ได้วาดรูปด้วยกัน เด็กบางคนไม่ลืม แล้วก็จะงอกงาม เหมือนเด็กบางคนที่รักดนตรีแล้วเจอชายเมืองสิงห์ร้องเพลง โอ้โห! ดังนั้น เวลาเราไปหาเด็กๆ เราก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กบางคน มันจะอยู่ในตัวเขาตลอดชีวิต มันจะสนุก
มรดกคำสอนของ จ่าง แซ่ตั้ง
มีประโยคหนึ่งที่จ่างสอนเรา คือ “เราต้องทำด้วยความรู้ของเรา ไม่ได้ทำด้วยความรู้ของคนอื่น” คือถ้าเราทำด้วยความรู้ของคนอื่นเหมือนเรากินอาหารแล้วไม่ได้ย่อยไม่ได้ดูดซึม เหมือนรับมรดกแล้วใช้ ไม่ได้เอาเงินไปงอกเงย พออาจารย์ปัดภาพ เราก็ตั้งคำถามขึ้นมาเลยว่า “แล้วเราจะพบตัวตนได้ยังไง” ยิ่งแสวงหาก็ยิ่งไม่เจอ ยิ่งค้นพบ ก็ยิ่งไม่เจอ ทุกวันนี้ผมก็ไม่รู้ว่า เจอตัวตนหรือยัง แต่ทุกคนเมื่อเห็นลายเส้นก็จะรู้ว่าเป็นลายเส้นของศักดิ์สิริ มีสมสืบ
ถ้าอ่านกลอน ก็จะรู้ว่า กลอนบทนี้ ศักดิ์สิริ เป็นคนแต่ง มันก็ออกมาจากสิ่งที่เราเป็น เราก็เป็นของเราแบบนี้ เราตรงต่อความรู้สึกตัวเอง อีกอย่างที่ประทับใจคือ อาจารย์จ่าง พาเราเดิน การเดินก็เหมือนการเดินธุดงค์ ท่านพาเดินตั้งแต่ซอยวัฒนาถึงสุขุมวิทย์เพื่อจะไปร้านหนังสือเอเชียบุ๊ค แต่แทนที่จะขึ้นรถเมล์หรือขึ้นเรือที่ท่าน้ำ กลับพาเราเดิน ผ่านทางรถไฟ กระทั่งถึงเอเชียบุ๊ค เวลาจะไปไหนพาไปดูนิทรรศการอะไรก็พาเดิน คุยกันไป เราก็เลยติดเดิน มันเป็นสัญลักษณ์ของความุ่งมั่น ไม่เร่งรีบ มองเห็นอย่างละเอียด เราจึงประทับใจ
เราทำสิ่งใดไม่ได้เกิดจากความอยากจะเป็น หรืออยากจะทำ มันจะเป็นไปเอง เราไม่รู้ตัวว่าเขียนกลอนได้อย่างไร แต่ถ้านึกย้อนกลับไปตอนเรียนประถมศึกษา ครูให้วาดมังคุด วาดมะม่วง นึกได้แค่นั้น ถ้าจะนึกก็เพราะเราคัดลอกรูปจากโปสเตอร์หนัง วาดการ์ตูน วาดสิงห์ดำ วาดอัสวินสายฟ้า วาดการร์ตูนหนังสือการณ์ตูน วาดผู้หญิงที่เรารัก วาดผู้หญิงที่เราคิดถึง แต่งกลอน แต่งเพลง เราร้องเพลงโดยธรรมชาติ ครอบครัวเล่นดนตรี น้าชายเป่าแซ็กโซโฟน แม่ร้องเพลง รวงทอง ลั่นทม
สิ่งที่เราเป็น ทำให้เราเหมือนอยู่ในโลกที่เป็นการแสดง เหมือนเป็นเรื่องกึ่งความจริงกึ่งความฝัน แม้แต่ความทุกข์ก็เหมือนไม่ทุกข์ แม้จะเจ็บปวดก็เหมือนเรื่องไม่จริง ในเรื่องที่เป็นความสุขมันก็เหมือนเรื่องไม่จริง ความทุกข์จริงๆ ก็คงเป็นเรื่องปวดฟัน การถูกคนว่า ถูกคนนินทา เศร้าสร้อย ซึมเศร้า เป็นเหมือนเรื่องไม่จริง ความสำเร็จเป็นเรื่องไม่จริง เช่น การได้รางวัล การได้เงิน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่จริง เงินทองหายไปหมด ชื่อเสียงก็เหมือนกับการให้รางวัลหลอกเด็ก รางวัลก็ยึดถืออะไรไม่ได้
เรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะเราทำเสร็จตลอด วาดภาพเสร็จตลอด อันไหนดีก็เก็บไว้ อันไหนดีอยู่แล้วก็ยังวาดทับ แล้วเราก็จะไปวาดรูปเล่นๆ อยู่ในพื้นที่สวยๆ ชายทะเล พอวาดเสร็จ แล้วเราก็เอาภาพวาดพิงต้นไม้ไว้ วางไว้โขดหิน หรือแขวนไว้ที่ศาลา แล้วก็เขียนจดหมายบอก ใครพบภาพนี้แล้วชอบ เก็บไว้ดูแลรักษาด้วยนะ แล้วก็ถ่ายภาพแล้วก็โพสต์ Facebook ล่าสุดไปวาดภาพที่จังหวัดแพร่ วาดเสร็จก็เหน็บไว้ที่ต้นเฟื่องฟ้าหน้าโรงแรม แล้วก็เขียนจดหมายว่า ใครชอบก็เอาไปได้เลย ถามว่าเสียดายมั้ย คือถ้ารูปอยู่กับคนที่เขาชอบก็น่าจะดี
ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)
ผลงานศิลปะอันจากจิตอันบริสุทธิ์
ความบริสุทธิ์ใจในการทำงาน ถ้าศิลปินเข้าถึงความบริสุทธิ์ใจ ศิลปะอันดีเยี่ยมจึงจะออกมา แต่ถ้าวาดรูปเอาใจคนอื่นเพื่อคนอื่นมองเห็นงาน ชื่นชมว่าเก่ง วาดรูปเพื่อจะได้รางวัล ความบริสุทธิ์ใจก็ยังลึกไม่พอ ถ้าจะเข้าถึงความวิเศษสุดต้องบริสุทธิ์ใจกับมัน จิตใจต้องสูงส่งบรรลุเป็นอรหันต์ ซึ่งการทำงานเป็นภาวะหนึ่งซึ่งเราต้องดิ่งลงไปหาจุดที่นิ่ง สงบ ปราศจากแรงจูงใจในเชิงกิเลศ ความบริสุทธิ์ใจเราถึงที่สุด งานก็น่าจะออกมาได้งดงามมากที่สุด เราหยั่งถึงคนที่สร้างพระพุทธชินราช คือเขาจะต้องหลุดพ้นจริงๆ ถึงจะสร้างพระพุทธชินนราชได้งามขนาดนั้น ซึ่งภาวะของศิลปินก็น่าจะเป็นอรหันต์ ซึ่งในภาวะแบบนี้น่าจะยากพอๆ กับการบรรลุอรหันต์
ถ้าจะบรรลุในงานของเรา มนุษย์ก็ต้องหยั่งถึงตรงนั้น ไม่ใช่เราก็อาจจะเป็นใคร เราจึงมีนักดนตรีที่เล่นไวโอลินจนไม่น่าเชื่อว่าคุณเอาเสียงแบบนี้ออกมาได้อย่างไร คือเขาเลิศเลอ วิเศษมาก ถ้ามีกิเลส มีอะไรไม่บริสิทธิ์ใจ เสียงที่ไพเราะขนาดนั้นไม่มีทางจะออกมาได้ แม้แต่งานวรรณกรรม บทกวี คุณต้องไม่มีกิเลศ ไม่มีมลพิษ แม้กระทั่งพ้นความรู้ แม้กระทั่งพ้นทักษะของคุณไปเลย คุณจะดึงเอาความหมายที่งดงามออกมาได้จริงขนาดนั้นออกมา อันนี้มันเป็นอุดมคติ ผมไม่ได้คาดหวงังจากตนเองด้วยซ้ำ เพียงแต่เราก็ทำของเราไป
ส่วนบทเพลง บางทีเราก็ถอนตัวเองออกมา ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผมก็ลองแต่งเพลงลูกทุ่งเพื่อให้ดัง ลดความเป็นกวี ใช้ภาษาเรียบง่าย แต่ก็ทำยาก บางอย่างก็ฝืนทำ ตัวอย่างบทเพลงลูกทุ่งอันเป็นที่นิยม ถามว่าจะแต่งได้บ่อยมั้ย แต่งได้แต่ไม่ชอบ แต่งพอรู้ว่าทำได้ก็เพียงพอ เมื่อเราผ่านไปแล้วเราก็รู้ว่ายาก เหมือนเราจะทำตัวให้ไร้เดียงสามันทำยากมาก วาดรูปให้เหมือนเด็กไร้เดียงสามันยากมาก มีศิลปินท่านหนึ่งเขาบอกว่า ถ้าวาดรูปให้ได้อย่างราฟาเอลต้องใช้เวลา 2 ปี แต่เขาต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อเรียนรู้การวาดภาพให้เหมือนเด็ก คือเขาบอกว่า ศิลปะเป็นเป็นเรื่องของการหลุดพ้น กรอบทักษะไม่ติด กรอบอุดมคติไม่ติด รูปของเด็กจึงสวยทุกรูป บริสุทธิ์ทุกรูป ศิลปะอาจเหมือนกับการกลับบ้านเก่า กลับบ้านเกิด เหมือนผมโหยหาบ้านเกิด ผมอยู่ที่แม่น้ำยม ผมก็รู้สึกว่าผมได้กลับบ้านเกิด
เราเป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน ฉะนั้น ทำให้มันดี เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีของกันและกัน ไม่ว่าจะพูด จะคิด จะทำอะไร แม้จะแตกต่างก็ต้องแตกต่างให้สวยงาม แม้แต่เราจะโกรธก็ให้สมควร ให้สวยงาม ความโกรธก็งดงามได้ ความเกลียดก็งดงามได้ ถ้าคุณเกลียดจริงๆ ไม่ได้เกลียดตามสัญชาตญาณฝูง แม้แต่ความรู้ก็ไม่ใช่โดยสารความรู้ของเขา อ้างปรัชญาใครก็จะต้องเข้าใจถ้อยความที่เอ่ยอ้าง ไม่ใช่พูดเป็นปมเขื่อง อวดฉลาด อวดเก่ง หรือรู้สึกเป็นอย่างนั้นด้วยตัวคุณเอง แม้จะเป็นอุดมคติ อุดมการณ์ การเมือง อะไรก็แล้วแต่ในเชิงอุดมคติ คุณต้องเข้าถึงมันด้วยชีวิต ไม่ใช่เข้าถึงในเชิงรวมฝูง แม้แต่ความเชื่อ ความศรัทธา ก็ต้องเป็นอิสระ เหมือนการพัฒนาเป็นการเรียนรู้ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เลื่อนชาติภพไปเรื่อยๆ
สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)