มนุษย์เราเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (Online) เป็นเวลามากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน ใช้ชีวิตอยู่ในระบบนิเวศดิจิทัลหรือสภาพแวดล้อมอันเอื้ออำนวยต่อการใช้อินเทอร์เน็ต มิว่าจะเป็นที่บ้าน ร้านกาแฟ ที่ทำงาน หรือสถานประกอบการ ชีวิตมนุษย์จึงหลอมรวมอยู่กับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจนโทรศัพท์มือถือมีความสำคัญมากกว่าอวัยวะบางส่วนในร่างกาย ด้วยทุกสรรพสิ่งถูกเชื่อมโยงด้วยอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) ธุรกิจออนไลน์จึงถูกขับเคลื่อนจนมนุษย์ไม่สามารถปิดตัวเองจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Offline)

ระบบนิเวศธุรกิจดิจิทัล

การหลอมรวมระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมของโลกออนไลน์และออฟไลน์ (Convergence of Online and Offline Activities) เป็นเส้นทางของธุรกิจ SME อันเป็นนโยบายของรัฐบาล ประกาศตามราชกิจจานุเบกษา เรื่อง นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

หลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจขนาดเล็กเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์และเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของสำนักพัฒนาธุรกิจกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยข้อมูลการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต หรือ E-Commerce ปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 3,150,232.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึงร้อยละ 14.04 ซึ่งมีจำนวน 2,762,503.22 ล้านบาท อนาคตคาดว่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้นเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง

ยุคปัจจุบันผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ส่วนรัฐบาลลงทุนสร้างระบบนิเวศสำหรับธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Ecosystem) หรือการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อให้ธุรกิจดิจิทัลเติบโต โดยเพิ่มโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุม ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับภาคธุรกิจ สังคม และภาครัฐ ตัวอย่างเช่น การไม่คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินทางโทรศัพท์มือถือ หรือสร้างระบบความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต      

กลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กจำนวนมากจึงเลือกทำการตลาดทาง Facbook เพราะสะดวกรวดเร็ว ผู้ประกอบการสามารถรับยอดสั่งสินค้าแล้วจัดส่งผ่านระบบขนส่งสมัยใหม่ (Kerry) ส่วนผู้บริโภคสามารถเลือกดูสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือขณะอยู่ที่บ้าน สั่งซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ขายสินค้าซึ่งนับวันยิ่งเติบโตขึ้น ตัวอย่างเช่น Kaidee ,Lazada, Shopee, PantipMarket, Facbook Marketplace

อาชญากรรมทางเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์

ธุรกิจออนไลน์เติบโตสวนทางกับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศที่ย่ำแย่ ธุรกิจ SME ต่างจังหวัดมียอดการสั่งซื้อสินค้าจากต่างถิ่น เช่น สิงคโปร์ อังกฤษ ญี่ปุ่น แม้ยอดการสั่งซื้อสินค้าจะมีไม่มากนัก แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่า การตลาดบนโลกออนไลน์เป็นเหมือนประตูสู่มิตรภาพทางการค้าที่เรายังมองไม่เห็น 

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองเห็นความสำคัญในการทำการตลาดแบบออนไลน์แต่พวกเขายังคงลังเล ขาดความเชื่อมั่นเพราะในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เกิดอาชญากรรมทางเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์ที่กระทบความมั่นใจของผู้บริโภคบ่อยครั้ง แต่ละครั้งมูลค่าความเสียหายเพิ่มมากขึ้น เช่น ความผิดฐาน “ฉ้อโกง” ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดฐาน “นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ” ตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 อันเป็นบทกฎหมายสำคัญในการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจซึ่งทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน กระทบต่อนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

เปรียบเทียบแล้ว อาชญากรรมทางเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์มิต่างจากการก่อการร้ายบนโลกแห่งความเป็นจริง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์ลดลง ผู้ประกอบการหลายรายจึงพยายามอย่างมากในการขายสินค้า (Hard sell ) ทั้งการอัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม การลงโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียในทุกรูปแบบ แต่การโหมทำการตลาดอย่างหนักหน่วงก็รบกวนผู้รักสงบบนโลกออนไลน์ที่เริ่มปิดตนเองจากโฆษณา ธุรกิจอุตสาหกรรมหลายแห่งจึงเลือกใช้กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจและบริการ แทนการลดราคาขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต

อุตสาหกรรมการเกษตรปรับตัวสู่โลกออนไลน์

หน่วยงานภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจ ห้วงเวลาที่ผ่านมาธุรกิจ SME ปรับตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) จากฟาร์มเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าขนาดเล็ก เปลี่ยนแปลงบทบาทการเป็นผู้ผลิตสู่การเป็นผู้ให้บริการแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ปรับมุมมองลึกลงในรายละเอียดเขตพื้นที่จังหวัดพะเยา ห้วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาจังหวัดพะเยาเกิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรหลายแห่ง แต่ละแห่งล้วนสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Branding) สร้างภาพลักษณ์ตั้งแต่กระบวนการผลิต แปรรูปสินค้าแบรนด์สินค้าและบริการ ฟาร์มเพาะปลูกและโรงงานแปรรูปขนาดเล็กถูกผสมผสานกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สำคัญของภาคเหนือ ส่วนผู้ประกอบการพยายามนำเสนอแนวคิดการเกษตรสมัยใหม่และการใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับการเพาะปลูก (Smart Farm)

ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการเริ่มต้นจากความพยายามหลอมรวมกิจกรรมทางการตลาดของโลกความจริงและโลกออนไลน์เข้าไว้ด้วยกัน เช่น การทำกิจกรรมทางการตลาดเพื่อสังคมถูกบันทึกเป็นเนื้อหา (Content) เผยแพร่และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านเครือข่ายโซเชียลมีเดีย ภาพลักษณ์ธุรกิจสินค้าและบริการจึงกลายเป็นที่รู้จักในสังคมจนกลายเป็นที่คุ้นเคย นั่นทำให้ความรู้สึกของสังคมออนไลน์ใกล้ชิดกับผู้ประกอบการและแบรนด์สินค้าที่พวกเขากำลังสร้าง  

มนุษย์ออนไลน์ล้วนมองโลกธุรกิจเป็นความสวยงาม หาทราบไม่ว่า ความงดงามของภาพถ่ายในโลกออนไลน์เป็นความพยายามดิ้นรนให้รอดพ้นจากพายุเศรษฐกิจของประเทศที่ถาโถม ห้วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา พวกเรามองเห็นการดิ้นรนของเกษตรกรชาวนาออกจากกับดักทางเศรษฐกิจ ตามนโยบายประกันราคาและรับจำนำข้าวของรัฐบาล กลุ่มเกษตรกรชาวจังหวัดพะเยาพัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการ สร้างทางเลือกสินค้า เปลี่ยนสายพันธุ์ข้าวเพาะปลูกในไร่นา เช่น ข้าวหอมนิล ข้าวเหนียวดำ ข้าวกล้อง ข้าวมันปู แล้วบรรจุภัณฑ์เป็นสินค้าจัดส่งไปยังต่างประเทศ

นอกจากนั้น กลุ่มเกษตรกรยังพยายามสร้างพื้นที่เกษตรอินทรีย์โดยรวมกลุ่มจัดหาผืนนาสำหรับทำการเกษตรที่ใช้สารเคมีน้อยเพื่อเพาะปลูกพันธุ์ข้าวสายพันธุ์คุณภาพ ตัวอย่างเช่น ข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ดีบนผืนนาของจังหวัดพะเยา ยามต้นข้าวใกล้จะออกรวง กลุ่มเกษตรกรเริ่มหาตลาดรับซื้อผลผลิต แต่กระนั้น เกษตรกรชาวนาก็ยังอยู่บนความเสี่ยงทางธุรกิจและยังคงต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ มิใช่เพียงนโยบายการประกันราคาข้าวหรือรับจำนำข้าวแต่พวกเขาต้องการโอกาส

เทคโนโลยีการแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย เครื่องหมายการค้าและตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ อันมีกระบวนการรับรองที่ไม่ยุ่งยากมีค่าใช้จ่ายไม่มากจึงมีความจำเป็น หากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสามารถส่งเสริมสนับสนุน อุตสาหกรรมยุค 4.0 (Industry 4.0) คงเกิดขึ้นบนผืนนาของจังหวัดพะเยา

บทความ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย) ภาพ ฉัตรระวี วิรัตน์เกษม