เชา-ชวรัตน์ หรรษคุณาฒัย มือกีตาร์วงดนตรี Cocktail อาจไม่เคยได้รับรางวัลใดในการประกวดแข่งขัน แต่เขาเป็นมือกีตาร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น อยู่กับตัวตนโดยไม่ถูกอิทธิพลทางการตลาดครอบงำ เขามองโลกดนตรีด้วยความเป็นจริง เฝ้าคอยเข็มนาฬิกาที่หมุนวนจนกระทั่งคนฟังหมุนคลื่นวิทยุมาพบเจอและเปิดหัวใจรับฟัง เชา-ชวรัตน์ หรรษคุณาฒัย ใช้เทคนิคการสร้างสรรค์เมโลดี้แบบฉับพลัน (Improvise) เสียงกีตาร์ ลุ่มลึก ชัดเจน เมโลดี้อันงดงามอยู่ในหัวใจของมือกีตาร์คนไทยหลายคน

ดนตรีและคำสัญญาของพ่อ 

ผมโชคดีที่เติบโตในครอบครัวที่มีพื้นฐานที่ดี ทำให้เราไม่ต้องกระเสือกกระสน มีเวลาทดลองสิ่งใหม่ มีเวลาใช้ชีวิต คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน เราต้องใช้โอกาสที่มีมากกว่าคนอื่น ผมเติบโตจากครอบครัวฐานะปานกลาง ชีวิตไม่ร่ำรวยแต่ก็ไม่เคยขาดแคลน มีพ่อคอยดูแลและบอกอยู่เสมอว่า ยุคสมัยก่อนพ่อเป็นเด็กขาดแคลน สิ่งใดที่พ่อขาดแคลน พ่อจะพยายามหาให้ลูก พ่ออยากให้ผมมีความสามารถหลากหลายด้าน มีความสามารถด้านอื่น มากกว่าการเรียน พ่อพยายามพาผมทำกิจกรรมหลายอย่าง แต่สุดท้ายผมก็รักดนตรี ตอนเด็กผมเริ่มเล่นเปียโน เล่นคีย์บอร์ด ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ผมทำได้ดี

ผมรู้สึกว่า ตนเองเล่นดนตรีได้ดี สอนเล่นอะไรก็สามารถเล่นได้ ผมมีญาติสนิทชื่อ แวน (อิทธิพร รักการชั่ว) เขาโตกว่าผม 4 ปี ตอนนั้นเขาเล่นกีตาร์และเริ่มตั้งวงดนตรี ผมจึงหัดเล่นกีตาร์ตามพี่ชาย เริ่มจากการหัดเล่นกีตาร์โปร่ง หลังจากนั้น ผมสมัครเรียนกีตาร์คลาสสิกกับสถาบันสยามยามาฮ่า มัธยมศึกษาปีที่ 2 ผมก็สนใจกีตาร์ไฟฟ้า คุณพ่อของผมสนับสนุนการเล่นดนตรีแต่ก็มีข้อแม้ว่า “สิ่งที่เรียนมาแล้วห้ามเลิก” ผมจึงเล่นคีย์บอร์ด เล่นกีตาร์คลาสสิก เล่นกีตาร์ไฟฟ้า ควบคู่กัน ตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับคุณพ่อ

ผมเรียนดนตรีกีตาร์คลาสสิกจนจบเกรด 5 และสอนดนตรีที่สถาบันยามาฮ่าอยู่พักใหญ่ ช่วงที่ผมฝึกเล่นกีตาร์ไฟฟ้า ผมก็ได้เล่นดนตรีกับวงดนตรีของพี่ บทเพลงแรกที่ผมเริ่มฝึกเล่นคือ Smells Like Teen Spirit  ของ Nirvana ผมเริ่มฝึกตีคอร์ดกีตาร์เพื่อให้เล่นกับเขาได้ พอเขาฟัง oasis ผมก็เล่นตาม ส่วนเพลงไทยสากลผมฟังเพลงของ แบล็กเฮด อัลบั้ม “เพียว” ผมแกะทุกเพลงในอัลบั้ม เพลงที่ชอบมากคือ “หมดใจ” เพลงนี้ทำให้ผมศึกษารูปแบบการเล่นบลูส์และกลายเป็นส่วนหนึ่งในสไตล์การเล่นของผมจนถึงปัจจุบัน เพลง “หมดใจ” ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ในวิธีการเล่นกีตาร์ของผม

ตอนเรียนมัธยมที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ผมเข้าประกวดแข่งขันวงดนตรี เพื่อนของผมหลายคนฟังเพลงสากล ผมจึงรู้จัก Guns N’ Roses , Metallica , AC/DC  รวมถึงเพลงอัลเทอร์เนทีฟ และเป็นช่วงการมาของเบเกอรรี่ มีศิลปินอย่างเช่น โยคีเพลย์บอย , POP ซึ่งก่อนหน้านั้น เรารู้จักการเล่นกีตาร์ในทางคอร์ดตรงๆ ไม่มีการใช้โน๊ตไมเนอร์ หรือ เมจอร์ 7 เบเกอรี่มีอิทธิพลหลายอย่างในการเล่นดนตรีของผม ยุคนั้นถือว่าใหม่มาก เบเกอรี่ ช่วยขยายการฟังเพลง บอย โกสิยพงษ์ ทำให้ผมเริ่มฟังเพลงลึกขึ้น ช่วยขยายคลังข้อมูลเพลงของผม ช่วงมัธยมผมจะเล่นกีตาร์ตรงๆ ทื่อๆ แบบร็อค พอฟังเพลงของค่ายเบเกอรี่มิวสิค คอร์ดมีเทนชั่นมากขึ้น มีความหลากหลาย ทำให้สำเนียงการเล่นขยาย

In the Memory of Summer Romance การเริ่มต้นของ Cocktail

ตอนผมเรียนชั้นมัธยมผมทำวงดนตรีชื่อ Cubic เพราะวง Cocktail ยุคแรกเลิกทำวงดนตรี ผมจึงชวนโอมมาเป็นนักร้องนำ แต่เราทำวงดนตรีเล่นได้เพียง 2 งานก็แยกวง เพราะทิศทางการเล่นตรีแตกต่างกัน แต่ก่อนจะแยกวง ผมคุยกับ โอม (ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำ) เราตัดสินใจทำวงดนตรีกันอีกครั้ง โอมชวนมือเบสและมือกีตาร์มาเล่น ผมชวนมือกลองซึ่งเป็นเพื่อนสมัยมัธยมมาเล่น นั่นเป็นจุดเริ่มต้น Cocktail ในอัลบั้ม In the Memory of Summer Romance

ช่วงสมัยผมเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะโบราณคดี ผมฟังเพลงเพื่อชีวิตเยอะมาก ตอนแรกผมคิดว่า เพลงเพื่อชีวิตเป็นดนตรีของคนยุคเก่า เป็นเพลงยุคสมัยของพ่อ ของลุง ผมฟังเพลงเพื่อชีวิตอย่างจริงจัง ถือเป็นการเปิดโลกดนตรี ผมได้แนวคิดจากดนตรีเพื่อชีวิตเยอะมาก ซึ่งแนวคิดอาจไม่ส่งผลต่อเทคนิคการเล่นกีตาร์ แต่ส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก มันทำให้เราลึกซึ้งในเนื้อหาของบทเพลง

เมื่อผมเรียนจบจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน แล้วเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร โลกของผมเปลี่ยน ผมมีชีวิตที่แตกต่าง นักศึกษาต้องอยู่กันอย่างนี้จริงเหรอ แต่ผมก็คิดว่า คนเราจะเป็นคนที่สมบูรณ์ได้ต้องเจอเรื่องราวเหลานี้ ชีวิตต้องมีการผจญภัย ทำให้เรารู้รสชาติชีวิต ตัวอย่างเช่น การเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อศึกษาโบราณสถาน ความบันเทิงเดียวที่มีของนักศึกษาโบราณคดีคคือการล้อมวงร้องเพลงรอบกองไฟ เราต้องเดินทางเอง นั่งรถบัส นั่งรถไฟ หลังจากนั้นก็ โบกรถ เกาะรถผลไม้เพื่อเข้าไปเรียนต่างสถานที่ นอนพักตามโรงเรียนเก่าหรือขออาศัยนอนตามหมู่บ้าน หนาวก็ก่อไฟ จิบวอดก้า ผิงกองไฟ สร้างความอบอุ่น เล่นกีตาร์สายเพี้ยน กีตาร์สายขาด ศิลปากรทำให้ผมรู้จักเพลงเพื่อชีวิตเยอะมาก

ยุคสมัยก่อนผมเล่นดนตรีโดยไม่สนใจเนื้อร้อง เพลงเป็นอย่างไรก็เล่นไปตามนั้น ไม่เคยตีโจทย์ว่า สิ่งที่เขาร้อง สิ่งที่เขาต้องการสื่อสารคืออะไร สิ่งที่สะท้อนออกมาคืออะไร การตีความสำคัญมากสำหรับนักดนตรี เพราะเสียงกีตาร์เป็นภาษาที่ไม่สามารถรับรู้เข้าใจได้ในทันที ผู้สื่อสารต้องอาศัยความพยายามหลายเท่าเพื่อให้ผู้รับสารรับรู้ได้ว่า เราต้องการสื่อถึงอะไร บทเพลงบอกถึง ความเศร้า ความเสียใจ และมันอยู่ในการเล่นกีตาร์ของเรา แล้วเราจะทำอย่างไรให้รู้สึกได้ถึงความเศร้า ความเสียใจ มันเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งซึ่งทำให้การเล่นดนตรีของเรามีความหมาย ผมไม่สามารถอธิบายให้เป็นรูปธรรมได้ว่า เราต้องดีดหรือเล่นกีตาร์อย่างไร หรือต้องใช้เทคนิคแบบไหน ถึงจะส่งผ่านความรู้สึกเศร้า แต่มันเป็นสิ่งที่ผู้เล่นกีตาร์ต้องรู้สึกและต้องถ่ายทอดออกมา

“วัย” ผลงานเบิกทางสู่การเป็นศิลปินในค่ายเพลง

Cocktail เริ่มทำอัลบั้ม In the Memory of Summer Romance ตอนผมเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ทำผลงานเสร็จและวางขายตอนเรียนมหาลัยปี 4 เมื่อเรียนจบก็คิดจะเลิกทำเพลง แต่ก่อนจะเลิก เราอยากทำผลงานเพลงอีกหนึ่งเพลง เป็นบทเพลงสุดท้าย นั่นก็คือเพลง “วัย” บทเพลงนี้ก็เป็นบทเพลงที่ทำให้เราได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินค่าย จีนี่ เรคคอร์ด (genie records)

ภายหลังเซ็นสัญญา สิ่งที่ส่งผลต่อการทำงานของ Cocktail คือการยกระดับมาตรฐานในการบันทึกเสียง แต่เดิมเราทำงาน เรียนรู้ด้วยตนเอง อาศัยการทดลอง ลองผิด ลองถูก แต่เมื่อเราทำงานกับค่ายเพลง มีโปรดิวเซอร์ ความละเอียดในงานสตูดิโอกลายเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และปรับตัว แต่เดิมเราคิดไลน์การเล่นดนตรีอย่างไรก็ได้ เราใส่มันลงไป พยายามถมทับพื้นที่ แต่ทุกอย่างกลับดูแน่น เราพยายามใส่ลงไปให้เยอะโดยไม่คิดว่าจะเหลือพื้นที่ไว้ให้หายใจหรือไม่ มีข้อคิดคือ เรายิ่งเล่น ยิ่งเพิ่ม ยิ่งเล็กลง ไม่ใช่ยิ่งใหญ่

สำหรับตัวตนหรือแนวคิดของการทำเพลงของ Cocktail ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ใครจะบังคับให้เราเปลี่ยนไม่ได้ ค่ายเพลงมองว่าเราเป็นคนแปลก ไม่เข้ากับมาตรฐานวงร็อคสมัยนั้น มีลักษณะไม่เข้าพวก เราดูเป็นคนซีเรียสจริงจัง จุกจิก แต่บางครั้งก็ทำตัวง่ายๆ กับบางเรื่องที่ควรยาก เช่น ทำไมเราแต่งตัวแบบนี้ไม่ได้ ทำไมเรายิ้มไม่ได้ ฯลฯ แต่เรื่องงานเพลง ค่ายเพลงมองว่าเราแตกต่าง เรื่องดนตรี การใช้ไวโอลิน เชลโล่ ไวโอล่า เครื่องดนตรีคลาสสิค ถือเป็นเรื่องแปลกในยุคสมัยนั้น แต่เราจะยืนยันกับค่ายเพลงว่า เราอยากทำงานแบบนี้

ช่วงแรก หลายคนมองว่า Cocktail เป็นวงดนตรีนอกกระแส ผู้บริหารค่ายเพลงเคยบอกกับเราว่า ทำงานกับ Cocktail “พี่ไม่เอาเงินแต่พี่เอาความมัน เอาความสนุก” เพราะผู้บริหารค่ายเพลงคิดว่าเราเป็นวงดนตรีที่ไม่น่าจะมีชื่อเสียง แต่เขาชอบผลงาน ชอบความแปลก เราดึงดันในแบบของเราจนมาถึงวันนี้  ใช่! โลกนี้ไม่ต้องการวงดนตรีอย่างวง “บอดี้สแลม” หรือ “บิ๊กแอ๊ด” เป็นวงที่สอง เขาต้องการวงดนตรีที่เป็นแบบของคุณเป็นวงแรก

การเติบโตทางดนตรีอันแปลกต่างของ Cocktail

ผลงานของ Cocktail มีพัฒนาการดีขึ้น มีความละเอียดละเมียดละไม นอกจากประสบการณ์ เราใช้เงินมากขึ้น เป็นคำตอบที่ตรงกับความจริงที่สุดแล้ว ยุคสมัยก่อนเราทำเพลงด้วยตนเองทั้งหมด โอม ( ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำ ) เป็นคนแต่งเพลง ผมเรียบเรียงและทำงานดนตรีหลายอย่าง บางครั้งงานก็เยอะมาก เมื่อวงดนตรีเดินทางมาถึงจุดหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับ ได้รับความเชื่อถือ คนก็กล้าที่จะลงทุนกับเรามากขึ้น เราก็มีเงินมากพอที่จะจ้างคนที่มีความสามารถและคนเก่งมาทำงานกับเรา อัลบั้มล่าสุด เราใช้คนเยอะมาก เพราะเมื่อเราทำงานมาถึงจุดหนึ่ง เราต้องการเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ ให้คนรุ่นใหม่ช่วยเรียบเรียง ช่วยคิด ช่วยหามุมมองใหม่ ทำให้ดนตรีมีชั้นเชิงที่แตกต่าง ทำให้เกิดรสชาติใหม่

สมัยก่อนดนตรีออร์เคสตรา (Orchestra) ผมเป็นคนเรียบเรียงด้วย เมื่อเรามีทุนมากขึ้น ทำให้เรามีโอกาสร่วมงานกับคนเก่งและมีความถนัดในสายงานั้น งานบางอย่างเราคิดแต่ไม่มีความชำนาญที่จะทำมันออกมา ก็ต้องอาศัยคนเก่งมาช่วยทำเพื่อให้จินตนาการของเราเป็นจริง ซึ่งบางครั้งมันก็อาจเหนือกว่าจินตนาการของเรา

สิ่งที่ทำให้คุณภาพผลงานของ Cocktail พัฒนาขึ้นเพราะเราใช้งบประมาณมากขึ้น ใช้คนมากขึ้น คนที่มีความเชี่ยวชาญจริงๆ มาช่วยเราทำงาน นั่นทำให้ผมมีเวลาโฟกัสเครื่องดนตรีหลักของผมมากขึ้น สมัยก่อนจะบันทึกเสียงกีตาร์ ผมต้องคิดเมโลดี้เปียโน ต้องใช้สมองไปกับงานอีกส่วนหนึ่ง แต่ตอนนี้ผมแค่เล่นกีตาร์ มีเวลาฝึกซ้อมฝึก มีเวลาคิดไลน์กีตาร์มากขึ้น

กีตาร์ของ เชา-ชวรัตน์ หรรษคุณาฒัย

ตั้งแต่สมัยเป็นวงดนตรีอินดี้จนถึงปัจจุบัน  ผมเล่นกีตาร์สไตล์บลูส์ (Blues) ร็อก (Rock) คันทรี่ (Country) บัลลาด (ballad)  มีความเป็น classical ผมผสมผสานและสนใจพวก sound Ambient ซึ่งเป็นดนตรีที่เน้นตัวโน๊ต เสียงและบรรยากาศ ผมเรียนกีตาร์ classic จึงมีกลิ่นอายทางดนตรีที่แปลก ส่วนโอมก็ฟังเพลงคลาสสิกเยอะ เมื่อส่วนผสมลงตัว มันก็จะเกิดความเชื่อมโยงและแตกแขนง  โอมจะมีความเป็น ASIAN มีความเป็นไทย จีน ญีปุ่น เมื่ออิทธิพลทางดนตรีผสมผสานกัน มันจึงออกมาในแบบของ Cocktail

สำหรับกีตาร์ผมไม่ยึดติดกับความเป็นวินเทจ (Vintage) ผมชอบความสมัยใหม่ ผมใช้กีตาร์ Strandberg ผมชอบกีตาร์ Abasi ซึ่งป็นกีต้าร์โมเดลแปลกๆ Gibson ผมก็ชอบ เพราะผมชอบ Zakk Wylde เพราะเขาเท่ส์ แต่เมื่อมีโอกาสใช้ผมก็พบว่า Gibson เป็นกีตาร์ที่หนักมาก ผมเปลี่ยนมาใช้ Gibson studio ซึ่งมีน้ำหนักเบา ต่อมาก็รู้สึกว่า มันไม่เพียงพอกับการเล่น ผมอยากขยายเทคนิควิธีการเล่น ผมจึงเปลี่ยนมาใช้ Kiesel ปัจจุบันผมใช้ Strandberg และ Aristides เป็นหลัก (ข้อมูลอ้างอิง )

ผมคิดไลน์การเล่นกีตาร์ 2 วิธี คือ การใช้ความรู้สึกและการทำการบ้าน การใช้ความรู้สึก คือ ผมจะเปิดเพลงไปเรื่อยๆ อิมโพรไวส์ (Improvise) ประมาณ 100-200 รอบ บันทึกเสียง 40-50 Track แล้วคัดเอางานมา ตัดต่อ ผสมผสาน เรียบเรียง ผมใช้เวลากับการอิมโพรไวส์ ส่วนรูปแบบ การทำการบ้าน คือ ผมจะตั้งโจทย์ว่า เพลงนี้ผมอยากใช้เทคนิคใด เล่นสไตล์ไหน ผมพยายาม reference อ้างอิง ค้นคว้า เหมือนเราทำรายงานส่งอาจารย์ แล้วเล่นกีตาร์ตามทิศทางตามเทคนิคที่วางไว้ แต่วิธีนี้ผมจะไม่ค่อยแนะนำ ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่มีเวลาในการบันทึกเสียงน้อย เพลงทดลอง หรือเพลงที่มี Concept  โดยส่วนตัว ผมชอบวิธีแรกมากกว่า อย่างเช่น เพลงดึงดัน มาจากการอิมโพรไวส์ (Improvise)

อยู่กับตัวตนโดยไม่ถูกอิทธิพลทางการตลาดครอบงำ

ไม่มีใครรับประกันได้หรือมีสูตรสำเร็จ สิ่งที่ผมบอกเป็นเพียงแนวทาง เราไม่มีทางรู้ว่าผลงานเพลงของเราจะได้รับความนิยม ไม่มีทางรู้เลย ถ้าใครสามารถทำแบบนั้นได้ เขาคงรวยแล้ว ฉะนั้น อย่ากังวลกับเรื่องนั้น ทำงานในรูปแบบที่เราชอบ ค้นหาตนเองให้พบ แม้ผลงานของเราจะไม่ได้รับความนิยมแต่ก็เป็นผลงานที่เราชอบ ผมบอกน้องๆ หลายคน เวลาทำเพลงอย่าเพิ่งคิดว่าเพลงจะได้รับความนิยมหรือไม่ ทำงานในสิ่งที่ตนเองชอบ ทำแล้วภูมิใจ เป็นอันดับแรกก่อน ถ้าเป็นที่นิยมก็ถือว่าโชคดี

สำหรับคำถามว่า ทำไมเราอยู่ได้ด้วยตัวตนโดยไม่ถูกอิทธิพลทางการตลาดครอบงำ คือ ถ้าเราเป็นตัวเองแล้วคนอื่นไม่ชอบ ไม่ได้หมายความว่าเราผิด แต่ช่วงเวลายังหมุนไม่ลงตัว ลองนึกถึงเวลาที่เราเปิดตู้เซฟ มันอาจจะหมุนไม่คลิ๊กกัน มันยังไม่ถึงเวลาของมัน อาจจะใช้เวลานานถึง 5 – 6 ปี ถึงจะหมุนเจอกัน เราไม่มีทางรู้ นับตั้งแต่วันแรกที่พวกเราทำเพลง ผมก็ไม่ได้ทำอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิม เพลงยังคงเป็นสไตล์เพลงที่เราชอบหรือถ้าจะเปลี่ยนก็เพราะเราอยากเปลี่ยน

ตั้งแต่เริ่มทำวงดนตรีอินดี้ กระทั่งเซ็นสัญญากับค่ายเพลง ตอนนั้นเข็มของเรากับคนฟังอาจไม่ตรงกัน วงดนตรีจึงยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่เมื่อเราทำไปเรื่อยๆ เมื่อคนฟังเขาหมุนมาเจอเรา ช่วงเวลาเมื่อคนฟังเริ่มเปิดใจรับฟังเรา มันก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่า เราจะสามารถตีเหล็กตอนร้อนได้หรือไม่ ก็ถือเป็นโชคดีที่เพลงต่อมาประสบความสำเร็จ ทำให้ Cocktail ถูกฝังไว้ในใจของผู้ฟัง

สำหรับงานโปรดิวซ์ส่วนใหญ่เป็นสไตล์ร็อค ถ้าเป็นวงดนตรีรุ่นใหม่ ตอนนี้ก็มี Hard Boy ก่อนหน้านั้นก็มี 20Hz , Commander ศิลปินยุคสมัยใหม่ต้องมีความสามารถในการโปรดิวซ์งานของตนเอง มีความสามารถในการแต่งเพลง การเรียบเรียงเพลง สิ่งสำคัญที่สุดคือศิลปินต้องรู้ว่า เขาต้องการอะไร เขาอาจมีความสามารถ แต่ยังไม่สามารถนำศักยภาพของตนเองออกมาใช้ได้เต็มร้อย เป็นหน้าที่ของโปรดิวเซอร์ ทำอย่างไรให้ผลงานเต็มศักยภาพ ศิลปินมีบางอย่างอยู่ในตัวตน ไม่อย่างนั้นค่ายเพลงคงไม่เซ็นสัญญากับเขา ผมไม่มีหน้าที่คิดงานให้กับเขา หน้าที่ของผมคือทำให้เขาเป็นตนเอง ใน Version ที่ดีที่สุด

ผมชอบทำงานกับศิลปินที่เข้าใจความต้องการของตนเอง ผมจะบริหารจัดการงานของศิลปิน โดยลำดับความสำคัญให้กับเขา การดึงเอาจุดเด่นของศิลปินออกมาเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก หรือถ้าหากศิลปินอยากได้ผลงานแบบนี้ เขาควรจะทำอย่างไรหรือหาใครมาช่วยเขาทำงาน อยากได้สำเนียงการเล่นกีตาร์แบบนี้ ควรใช้มือกีตาร์คนใดบันทึกเสียง เราใช้ประสบการณ์จัดหาให้กับศิลปิน เพื่อให้ผลงานเป็นไปในแบบที่เขาต้องการ ศิลปินเขาชอบแบบไหน ต้องให้เขาเป็นแบบนั้น

ความจริงอันโหดร้ายของการอยู่ร่วมกันในวงดนตรีคือ เราต้องจัดสรรผลประโยขน์ให้ลงตัว วงดนตรีส่วนใหญ่แตกแยกเพราะความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ถ้าเราจัดสรรผลประโยชน์ลงตัวก็สามารถรับประกันได้ในระดับหนึ่งว่าวงดนตรีจะไม่แตก นั่นคือการอธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรม ส่วนนามธรรม การรักษาน้ำใจ บริหารความรู้สึกของสมาชิกวงดนตรีก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าสมาชิกในวงเป็นเพื่อนกันมาก่อน หรือสนิทสนมกันมาก่อน นอกเหนือจากการเล่นดนตรีก็มีส่วนทำให้วงดนตรีเหนียวแน่นขึ้น ผมกับโอมเป็นเพื่อนกันมานาน คบกันตั้งแต่อายุ 17-18 ปี Cocktail จึงอยู่ได้ด้วยความเป็นเพื่อน อีกส่วนหนึ่งคือ เรายอมรับและตกลงผลประโยชน์กันอย่างชัดเจนตั้งแต่แรก

  สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)