คชภัค ผลธนโชติ (CHODCHAPAK PHOLTHANACHOD) หรือ พล Clash คือบุคคลที่น่าสนใจในแง่มุมของการใช้ชีวิต เขาประสบความสำเร็จจากกการทำงานในวงการดนตรี เริ่มจากการเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัดค่ายอัพจี เครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ทำงานพิธีกรรายการดนตรี เติบโตในสายงานการผลิตดนตรี Music Producer , Executive Producer และผู้บริหารค่ายเพลง Boxx Music  และ ZIRCLE MUZIK ช่วงวัยรุ่น เขาเคยได้รับรางวัลจากการประกวดวงโยธวาทิต รางวัลถ้วย ก ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชการที่ 9 กับ วงโยธวาทิตโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ได้รับรางวัลประกวดวงดนตรีสากล ฮอตเวฟมิวสิคอวอร์ด และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเป็นศิลปินในวงการดนตรีไทยจนถึงปัจจุบัน

วัยเด็กในวงโยธวาทิตโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว

ผมเติบโตจากครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน  ครอบครัวของผมเป็นครอบครัวชนชั้นกลางมีฐานะครอบครัวไม่ร่ำรวย มีของเล่นแต่มีไม่มากเหมือนเด็กคนอื่น ผมปั่นจักรยาน ดีดลูกแก้ว เล่นหุ่นยางนักมวยปล้ำ เริ่มเรียนดนตรีเมื่อชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนอโศกวิทย์อ่อนนุช เริ่มเล่นดนตรีในวงดุริยางค์ของโรงเรียน ดีกลองตุ้ม (กลองใหญ่) กลองแต๊ก ช่วงเช้า พวกเราจะเล่นเพลงชาติหน้าเสาธง ส่วนช่วงเย็นพวกเราจะเล่นเครื่องดนตรีไทย ผมทำหน้าที่ตีฉิ่งซึ่งผมเพิ่งทราบว่า “ฉิ่ง” คือเครื่องดนตรีที่สำคัญมาก วงดนตรีไทยจะเริ่มเล่นได้จะต้องเริ่มจากการตีฉิ่ง จับฉิ่งตีแล้วเล่นควบคุมจังหวะช้าหรือเร็ว แต่ตอนเด็กผมก็มองว่า ฉิ่ง เป็นเครื่องดนตรีขนาดเล็ก เล่นแล้วดูไม่เท่ส์

พ่อกับแม่แต่งงานเมื่ออายุประมาณยี่สิบกว่าปี บทเพลงวัยของพ่อกับแม่ เช่น วงดนตรีนกแล พี่เบิร์ด หาดทรายสายลมสองเรา คริสตินน่า ไมโคร ส่วนเพลงสากลก็จะมี  Beegee ,Scorpion ผมเล่นกีตาร์คลาสสิคตอนเรียนชั้นประถมศึกษา คุณแม่เห็นว่าผมชอบเล่นดนตรีจึงให้สมัครสอบที่โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ผมเป็นนักเรียนพิเศษที่เล่นดนตรีได้ ยุคสมัยก่อนมีห้องสำหรับนักเรียนดนตรี เป็นนักเรียนนักดนตรีไทยและนักเรียนดนตรีสากล ผมเป็นนักเรียนดนตรีสากล 

ผมเล่นดนตรีคลาสสิคอย่างจริงจริง เล่นเครื่องเป่า ซิมโฟนิคแบนด์ (Symphonic Band) เครื่องลมทองเหลือง (Brass Instruments) เรียนรู้การเล่นดนตรีคลาสสิค เรียนรู้ทฤษฎีดนตรี เรียนรู้การอ่านโน๊ต ฝึกเคาะจังหวะ ฝึกการอยู่ร่วมเป็นหมู่คณะ มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่ วงโยธวาทิตโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว กำลังจะแข่งขันชิงรางวัลถ้วย ก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชการที่ 9 ซึ่งเป็นถ้วยรางวัลใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีนักดนตรีในวงโยธวาทิตประมาณ 80 คน พวกเราซ้อมดนตรีหนักมาก ผมต้องซ้อมดนตรีทุกวัน จันทร์ – ศุกร์ ซ้อมดนตรีหลังเลิกเรียน เสาร์ -อาทิตย์ ก็ต้องซ้อมดนตรีที่โรงเรียน ช่วงปิดเทอมก็ต้องซ้อมดนตรี เวลาสำหรับการเรียนมีน้อยมาก ช่วงชีวิตวัยรุ่นหมดไปกับการซ้อมดนตรี

ชีวิตผมไม่สนุกกับวิชาการ ผลการเรียนของผมย่ำแย่ ช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 5 – 6 ผมไม่เรียนหนังสือ นอนหลับในห้องเรียน ผมติด มส. (ไม่มีสิทธิสอบ) หลายวิชา ผลการเรียนของผมย่ำแย่ที่สุดในช่วงของการแข่งขันวงโยธวาทิต ฉะนั้น ความสำเร็จเพียงอย่างเดียวในชีวิตของผมคือการเล่นดนตรี ผมตั้งใจและทุ่มเทกับการแข่งขันวงโยธวาทิต เพราะถ้าผมแพ้ หมายความว่า ชีวิตช่วงวัยเรียน ผมจะเป็นผู้แพ้ตลอด แพ้อย่างไม่มีวันชนะ ผมทุ่มเทกับการแข่งขัน กระทั่งวงโยธวาทิตโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ได้รับรางวัล ผมดีใจมาก ร้องไห้ น้ำตาไหล เรื่องเลวร้ายหลายอย่างคลี่คลาย อาจารย์ฝ่ายวิชาการหลายท่านช่วยให้ผมสอบผ่าน

นอกจากได้รับรางวัลกับวงโยธวาทิต ผมได้รับรางวัลจากการประกวดแข่งขันวงดนตรี ฮอตเวฟมิวสิคอวอร์ดส์ (Hotwave Music Awards) สมาชิกในตอนนั้นก็คือสมาชิกวง Clash ประกอบด้วย คชภัค ผลธนโชติ (พล) ปรีติ บารมีอนันต์ (แบงค์) ฐาปนา ณ บางช้าง (แฮ็คส์)  สุกฤษณ์ ศรีเปารยะ (สุ่ม)  อนันต์ ดาบเพ็ชรธิกรณ์ (ยักษ์) พวกเราได้รับรางวัลที่ 2 เซ็นสัญญาเป็นศิลปินกับค่ายอัพจี เครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ผมตัดสินใจเอาดีกับการเล่นดนตรี เลือกเรียนดนตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ช่วงชีวิตอันสับสนสู่ชีวิตศิลปินนักดนตรี

ผมรอแกรมมี่เรียกตัวหลายปี วันหนึ่งหลังเตะฟุตบอล รุ่นพี่คนหนึ่งถามผมว่า เรียนดนตรีแล้วทำอะไรได้ ผมตอบว่า “เป็นครู แต่ผมก็อยากเป็นศิลปิน” ตอนนั้นผมไม่รู้ว่ามันจะเป็นไปได้หรือไม่ ผมมีเพียงความอยาก มีเพียงความฝันที่อยู่ในหัวสมอง รุ่นพี่บอกว่า เคยคิดหรือไม่ว่า “ถ้ามีครอบครัว ลูกของเรามาขอตังค์แล้วเราไม่มีให้เขา จะทำยังไง” ผมเริ่มคิด ถ้าเราเล่นดนตรีไปเรื่อยๆ แล้วเราจะหาเงินจากการเล่นดนตรีได้หรือไม่ ผมเริ่มตั้งคำถามกับชีวิตแล้วตัดสินใจ ลาออกจากการเรียนดนตรี

ผมสมัครเรียนธุรกิจคอมพิวเตอร์ ( Bussiness com ) เริ่มเปลี่ยนวิธีคิด อยากทำงาน อยากทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว ดูแลลูก ภรรยา ผมตั้งใจเรียนและตั้งใจอ่านหนังสือ ซึ่งนั่นเป็นการพิสูจน์ความจริงในชีวิตที่ผมคิดและเข้าใจผิดมาตลอดว่า “ผมโง่” หลังจากตั้งในเรียน การเรียนของผมดีขึ้นอย่างไม่เคยเป็น ผมได้เกรดเฉลี่ย 3.7 ผมรู้สึกดีใจและบอกกับตนเองว่า “ผมไม่ได้โง่” เพียงแต่ผมไม่ตั้งใจ ความฝันที่จะเป็นศิลปิน ความฝันเรื่องการเล่นดนตรี เลือนหาย ผมกลายเป็นเด็กเรียนและเล่นกีฬาแบตมินตันอย่างจริงจัง ผมอยู่กับเพื่อนซึ่งเป็นนักแบตมินตันทีมชาติ อยู่กับสังคมของนักกีฬาแบตมินตัน

วันหนึ่ง แฮ็คส์ (ฐาปนา ณ บางช้าง) โทรศัพท์บอกผมว่า แกรมมี่ชวนพวกเราไปเป็นศิลปินออกเทป ความรู้สึกในตอนนั้น ผมรู้สึกว่า ผมไม่ได้ช่วยเพื่อนทำงานดนตรีนานเป็นปี แล้วผมก็เปลี่ยนวิธีคิดมาเรียนคอมฯ วันหนึ่งเมื่อเพื่อนมาชวนเราเซ็นสัญญา ผมก็รู้สึกเขิน ประหม่า เกิดเป็นความรู้สึกเพราะผมไม่ได้ช่วยเพื่อน แต่เมื่อพวกเขาทำสำเร็จผมก็จะไปกับเขา ผมจึงตัดสินใจบอกกับเพื่อนว่า “กูไม่ได้อยู่ช่วยพวกมึงเลย พวกมึงทำกันไปเลย” หลังจากนั้น ยักษ์ (อนันต์ ดาบเพ็ชรธิกรณ์) บอกผมว่า “เพลงกอดเป็นบทเพลงที่เราทำมาด้วยกัน” ผมลังเล ไม่แน่ แล้วเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนสนิทฟัง เพื่อนผมบอกว่า “มึงก็ทำในสิ่งที่มึงรัก” 

ช่วงบ่ายหลังเลิกเรียน ผมขึ้นรถเมล์กลับบ้าน สะพายกีตาร์ที่ไม่ได้เล่นมาแรมปีเดินทางไปตึกแกรมมี่เพื่อ Audition ผมยังไม่ได้ให้คำตอบกับเพื่อนว่าจะร่วมวงอีกครั้งหรือไม่ แต่เมื่อเดินทางถึงตึกตึกซีมิค แกรมมี่ เพื่อนสมาชิกวง Clash ทุกคนรอผมและบอกว่า “มึงมาแล้ว” นับตั้งแต่นั้น ชีวิตของผมก็เปลี่ยนแปลงสู่เส้นทางนักดนตรีและไม่เคยเปลี่ยนแปลงวิถีนักดนตรีจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 22 ปี

การมองโลกในแง่ดีสู่ทัศนทางดนตรีที่ดี

ผมไม่ซีเรียส ไม่เครียดกับการเล่นดนตรี ผมรู้สึกว่า ดนตรีคือความบันเทิง คือการสร้างความบันเทิงให้ตนเอง เราเล่นดนตรีเรามีความสุข เล่นให้ผู้อื่นฟังผู้อื่นก็มีความสุข ผมมองโลกในแง่ดีในเรื่องดนตรีมาก ผมบอกกับน้องที่เป็นศิลปินในค่ายของผม น้องบางคนเล่นดนตรีไม่ประสบความสำเร็จ ผมจะบอกว่า ใจเย็นๆ ความสำเร็จเรื่องดนตรีของแต่ละคนมาถึงไม่เท่ากัน วันนี้คนนี้สำเร็จ ก่อน อีกสิบปีเขาอาจจะสำเร็จ 

ปีหน้าเขาอาจประสบความสำเร็จ ไม่มีใครรู้เลย แต่ต้องตอบคำถามตนเองให้ได้ก่อนว่า  ข้อแรก คุณยังมีความสุขอยู่หรือไม่กับการเล่นกีตาร์หรือเครื่องดนตรี ตีกลอง ร้องเพลง ถ้ามีสุข ก็เป็นสารตั้งต้นหรือจุดเริ่มต้นที่ดี  ข้อสอง ดนตรีไม่เคยทำร้ายใคร เสียงเพลงสร้างความสุข ถึงแม้ไม่สำเร็จทางธุรกิจผมก็ไม่เครียด เพราะชีวิตล้มเหลวมากกว่าประสบสำเร็จอยู่แล้ว ผมไม่เคร่งเครียดกับการฝึกซ้อมจนเกินไป เราฝึกซ้อมแล้วเราพอใจ มีความสุข วันนี้เล่นไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ต้องได้  ผมจะคิดแบบนี้เสมอ

การทำเพลงให้ประสบความสำเร็จมีหลายปัจจัย 1.สารตั้งต้นของเพลงต้องดี ถ้ามองในเชิงการตลาด เราต้องมีเป้าหมาย หากไม่มีเป้าหมายเราสามารถเผยแพร่ต่อสาธารณะชนได้เลย  แล้วไม่ต้องเครียดว่า จะมีคนฟังหรือไม่มีคนฟัง แต่หากปีเป้าหมาย เช่นทำเพลงเพื่อจัดคอนเสิร์ต เป้าหมายคือการทำเพลงเพื่อให้มีคนมาดู ทำเพลงให้มีคนมาฟัง แล้วต้องมีคนฟังเพลงมากจำนวนเท่าใด เพราะการทำคอนเสิร์ตต้องมีคนจำนวนมาก ซึ่งรายละเอียดค่อนข้างลึกขึ้น

การเปิดตัวศิลปินหรือปล่อยผลงานเพลงสู่ตลาดผู้ฟัง ขึ้นอยู่กับความพร้อมของศิลปินซึ่งมีรายละเอียดหลายอย่าง เช่น บทเพลงมีความพร้อม มี Directions หรือเป้าหมายเป็นของตนเอง มีความเป็นตัวตน มีการฝึกซ้อมมาอย่างดี ตลาดเพลงจะอยู่ตรงไหนของตลาดนักฟังเพลง เพราะปัจจุบันการเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จยากกว่ายุคสมัยก่อน คู่แข่งมีจำนวนมาก โลกโซเชียลมีเดี่ยเปิด เป็นเรื่องยากการที่เราจะผุดออกจากตลาดดนตรีอันโกลาหล ศิลปินต้องชัดเจน มี Content ที่โดดเด่นกว่าผู้อื่น

นอกจากเล่นดนตรี ผมทำงานเป็นพิธีกรรายการทีวี รายการแมลงมัน คู่กับเอ๋ อีโบล่า (กิตติศักดิ์ บัวพันธุ์) , ทำงานพิธีกรรายการทีวี จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ช่องดิจิตอล และพี่นอ นรเทพ มาแสง สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นพิธีกร คือ มุมมองการพูดคุย แต่ก็ไม่ยากเพราะเป็นมุมมองทางดนตรี อยู่ในความสามารถหรือความรู้ที่มี  ศิลปินมีแนวคิด จุดยืนอย่างไร เมื่อได้คำตอบที่ตรงกับผม ผมจะเก็บมาใช้ ข้อไหนเป็นคำตอบที่มีแนวคิดที่ดี เก็บเอาใส่ความทรงจำ ไว้ แล้วนำมาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต แนวทางการทำงาน

งานพิธีกรคือการทำงานเป็นทีม เราทำงานกับ พิธีกรคู่ แม่บ้าน คนขับรถตู้ มีทีมไฟ กล้อง โปรดิวเซอร์  มีคนเขียนสคลิป ทั้งหมดเราเขียนออกมาเพื่อให้เราเป็นเคนพรีเซ็นท์ออกไป นั่นหมายความว่า หน้าที่ของเราคือการนำเสนอทุกอย่างให้ดี สิ่งที่ผมเรียนรู้ คือการอยู่ร่วมกับผู้อื่นแล้วเห็นอกเห็นใจ สิ่งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ตั้งใจทำในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย ผมไม่เลือกงาน ถ้ามีโอกาส ผมจะทำ ผมจะลองศึกษาเรียนรู้ การที่เขาเลือกเราให้ทำงานบางอย่าง เขาก็คงเห็นอะไรในตัวเราผมอาจมองไม่เห็นศักยภาพของตนเอง แต่คนอื่นเขามองเห็น ผมเรียนรู้แบบนี้ จึงสามารถประกอบอาชีพพิธีกรได้

วิกฤตบนเส้นทางชีวิตดนตรี

สำหรับวง Clash คงหยุดการทำวงดนตรีสักพักเพราะพวกเราอยู่ด้วยกันมานาน เราควรออกจาก Safe Zone เพราะผมไม่ชอบชีวิตที่วนเวียนซ้ำเดิมทำให้เราหยุดการพัฒนา พวกเรารู้สึกเบื่อหน่าย ผมต้องการความรู้ ต้องการบางสิ่งบางอย่างเพื่อกระตุ้นการทำงาน ผมมีประสบการณ์การทำค่ายเพลง การสร้างศิลปิน Clash สำหรับผมคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ ผมไม่เคยลืมบุญคุณของคำว่า Clash การที่ผมสามารถทำงานตำแหน่ง Music Producer ,executive producer และผู้บริหารค่ายเพลง ก็เพราะมีพื้นฐานจากคำว่า Clash

ชีวิตการทำงานในวงการดนตรีของผมเคยพบความล้มเหลว (FAIL) พบกับความรู้สึกแย่เพราะยอดขายเทปไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ก็ขายได้ถึง 500,000 ตลับ แต่ความรู้สึกล้มเหลวจนแทบอยากจะออกจากวงการเพลงก็คือการทำงาน Producer ผลงานของผมไม่ผ่าน ผมใช้เวลาทำงาน 1 ปี มีผลงานเพลงจำนวน 10 เพลง แต่ พี่ตี่ กริซ ทอมมัส ซีอีโอของแกรมมี่ บอกว่าผลงานของผมยังดีไม่พอ จิตใจของผมสับสน โลกที่เคยสดในมืดมน การทำงานนับแรมปีถูกตัดสินเพียงไม่กี่นาที ผมซึมเศร้าอยู่หลายวันในสมองคิดเพียงว่า ผมคงไม่เหมาะกับการทำงานในตำแหน่ง  Music Producer หลายคนให้กำลังใจและบอกว่า “มึงอย่าเลิก คนอย่างมึงหาได้ไม่กี่คน” ผมใช้เวลาอยู่กับความล้มเหลว 1 สัปดาห์ แล้วจึงตัดสินใจพบกับพี่ตี่ (กริซ ทอมมัส) อีกครั้ง

ผมพยายามพิสูจน์ให้ผู้บริหารค่ายเพลงมองเห็น กระทั่งวงดนตรี เก็ตสึโนวา (Getsunova) วงดนตรีที่ผม Produce ประสบความสำเร็จ หลังจากนั้น พี่ตี่ (กริซ ทอมมัส) ไม่เคยแตะผลงานของผมอีกเลย ผมเหมือนสอบผ่าน แข็งแกร่ง เมื่อน้องหลายคนพบเจอกับความล้มเหลว ผมบอกเสมอว่า ผ่านมันไปให้ได้ เหมือนเราต้องฝึกจิตใจตนเอง ชีวิตของคนเราล้มเหลวอยู่เสมอ แต่ความล้มเหลวนั้นควรเกิดจากความตั้งใจในการทำงานแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าผลงานไม่ดีลองฝึกทำใหม่ ทำซ้ำ อย่าโทษ อย่าบอกว่า “เขาไม่เข้าใจเรา” เพราะเมื่อศิลปินถูกนำเสนอต่อสาธารณะชน ผู้คนมีสิทธิไม่เข้าใจผลงานของคุณได้ เขามีสิทธิชอบหรือไม่ชอบผลงานของคุณได้

ผมเริ่มอาชีพ Music Producer โดยพี่ตี่ (กริซ ทอมมัส) เป็นคนสอน เขาสอนเรื่องโครงสร้างการเรียบเรียงเพลง แต่ลึกถึงโครงสร้างของการทำงาน Music Producer ไม่ได้คุมแค่เพลง ต้องควบคุมคน Music Producer อาจไม่ต้องทำเพลง แต่ต้องมี Music Director ที่เก่ง หาเพลงที่นำมาร้องแแล้วดีกับศิลปิน Music Producer ไม่ใช่แค่ทำเพลง แต่เป็นผู้จัดการ บริหารบุคคลเพื่อผลิตผลงานสู่ตลาด ลักษณะเหมือนงานกลุ่ม ผมเป็นคนไม่ทำงานคนเดียว ผมจะเลือกว่า ใครสามารถทำงานของผมให้ประสบความสำเร็จ เพิ่มขึ้น แม่นยำ

สิ่งที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จคือ “ ความพยายาม” วงโยธวาทิต สอนผมเรื่อง ความอดทน ต้องอดทนกับการฝึกซ้อม เราซ้อมไม่ได้วันนี้ ต้องมีวันที่สอง ต้องอดทนซ้อมดนตรีในเมโลดี้เดิม สัดส่วนดนตรีแบบเดิมในส่วนที่เราไม่แม่นยำ ถ้ามีความพยายาม มีความอดทน เราสามารถผ่านไปได้แน่นอน ต่อมาคือเรื่องของการเปิดสมองรับข้อมูลใหม่ เปิดใจรับฟังความรู้ หาความรู้จากผู้อื่น ถ้าเราเปิดรับ จะทำให้เราได้เรียนรู้ แล้วจะเข้าใจ หรือ “อ๋อ” ถ้าเราคิดว่าวันนี้ดีที่สุดแล้ว พรุ่งนี้อาจมีวันที่ดีกว่าพุทธศาสนา มีคำสอนเรื่องการเดินทางสายกลาง ผมรู้สึกว่า ไม่ตึง ไม่หย่อน เป็นไปตามกาลเวลา เดียวมันก็ดีเอง

Gibson SG สัดส่วนที่พอดีกับ คชภัค ผลธนโชติ

ผมมีหลายตัวหลายหลายยี่ห้อ เพราะต้องการเสียงและคาเร็กเตอร์ของเสียงที่แตกต่าง เมื่อทำงาน Music Producer สิ่งที่เราต้องมีคือ Sound Library ผมมีกีตาร์สำหรับใช้ในเพลงที่เหมาะสม มี Gibson SG, Fender , Chapman  ที่ใช้สำหรับการบันทึกเสียงและเล่นเพื่อให้มีคาเร็กเตอร์ กีตาร์มีผลต่อการบันทึกเสียงมาก เวลาบันทึกเสียง ผมอาจใช้กีตาร์ 3 – 4 ตัว ลองนึกถึงสตูดิโอของต่างประเทศที่มีกีตาร์วางไว้หลายๆ ตัว  ผมบอกได้เลยว่าเขาใช้กีตาร์ครบทุกตัวในการบันทึกเสียง ทั้งการ RHYTHM ,SOLO , PICKING เพื่อให้ความถี่ขาดออกจากกัน ถ้าเรามีกีตาร์เยอะก็จะช่วยได้ ความถี่ไม่ซ้ำซ้อนกัน นั่นเป็นคำตอบว่า ทำไมพวกเราถึงมีกีตาร์หลายตัว

กีตาร์แต่ละแบรนด์มีเสียงไม่เหมือนกัน เช่น Gibson เสียงจะหนา เหมาะกับการ เล่นร็อค บลูส์ นึกถึงศิลปิน BBKING , Derek Trucks หากเป็นกีตาร์ FENDER นึกถึง ERIC CREPTONEric Johnson , John Mayer สำหรับ Music Man ก็จะนึกถึง STEVE LUKATHER  แต่ผมเพิงพบความจริงเมื่อไม่นานนี้ว่า ผมประทับกีตาร์ Gibson SG แล้วรู้สึกเข้ามือ รู้สึกพอดีตัว

ผมเป็นคนปั่นจักรยาน ฟิตติ้งร่างกายให้จักรยานเข้ากับตัวเรา เหมือนปรับไซต์ของจักรยาน เมื่อวัดร่างกาย ผมพบว่า ผมเป็นคนขายาว ลำตัวสั้น ความจริงแขนผมต้องยาวกว่านี้ ผมเคยพยายามสะพายกีตาร์ต่ำแต่แขนสั้น แต่ก็พยายามทำเพราะอยากเท่ส์ กระทั่งเห็นพี่เชษญ์ เครือวัน ใช้ Gibson SG เมื่อก่อนผมไม่ชอบ Gibson SG เพราะรูปทรงมันประหลาด ไม่สวย

พอมองเห็นพิเชษฐ์ เครือวัน เล่นบนเวทีคอนเสิร์ต ผมซื้อมาเล่น เพราะมันโครตเท่ส์ เวลาเล่นมันเข้ามือเรามากเลย ผมเพิ่งมารู้ว่า บอดี้ของ SG มันสั้น ระยะของบริจกับคอมันสั้นกว่ากีตาร์ยี่ห้ออื่น เมื่อผมวางแขนขวาลงบนกีตาร์ เวลาเล่นจะรู้สึกพอดีกับผมเลย ไม่ต้องเอื้อม นั่นทำให้เราอยู่กับมันได้นาน SG กลายเป็นกีตาร์ที่ผมคิดว่า เข้ากับผมและผมเข้ากับเขา ผมเล่นกีตาร์หลายตัว ยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ สุดท้ายเมื่อจับ SG พูดเป็นภาษาที่จริงใจก็คือ นี่ละเมียของเรา

กำหนดเป้าหมายชีวิตในวงการดนตรีถึงวัยเกษียณ

ปลายทางชีวิตของผม ตั้งใจทำงานดนตรีถึงวัยเกษียณ ถึงเวลานั้นร่างกายของเราคงแก่เฒ่าโรยรา ผมอยากทำค่ายเพลงให้ถึงอายุ 55 ปี ต่อจากนั้น ผมอาจเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานแทน ผมประเมินการทำงานของตนเองทุก 10 ปี อยู่กับที่ทำให้ได้ครั้งละ 10 ปี ตั้งใจฝึกฝน พยายาม เป็นเวลา 10 ปี เมื่อผมอายุ 50 ปี ผมคิดว่า ผมคงทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับน้องๆ วงการเพลงต้องการคนรุ่นใหม่ คนแก่ต้องเปิดมุมมองให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ มีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรรค์ ที่ร่วมสมัย ทันสมัย หรือล้ำสมัย ที่จะเข้ามาทำงานแทนเราในอนาคต

บทบาทของผมคงจะลดลงเรื่อยๆ ผมอาจจะอยากจะมีบ้านที่ปลกต้นไม้เยอะๆ เลี้ยงนก แต่จะอยู่ในวงการเพลงไปเรื่อยๆ อยู่ในตำแหน่งสนับสนุนน้องๆ  Pay It Forward ผมพยาบามส่งต่อให้กับน้องๆ เมื่อมี คนส่งเพลงมาให้ผม ผมฟังทุกเพลงนะครับ พยายามมองว่าบทเพลงของเขาสามารถอยู่ในตลาดไหนได้บ้าง เขาเหมาะกับเราหรือไม่ เขาอาจไม่เหมาะกับค่ายเพลง Boxx Music  และ ZIRCLE MUZIK แต่เขาเหมาะกับอะไร ต้องบอกเขาไป เพราะทุกคนมีวิถีทางของตนเอง ศิลปินไม่จำเป็นต้องอยู่ในค่ายเพลง ศิลปินบางคนอยู่คนเดียว (Stand Alone) 

สิ่งที่ทำให้ผมอยู่ในวงการเพลงได้นาน อยู่ในธุรกิจดนตรีได้นาน ผมคิดว่า องค์ประกอบแรกต้องเป็นคนดี ผมคิดดี คือการทำงานเพลงสักผลงานหนึ่ง หรือการมีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น เราจะต้องเป็นคนดี ดีด้วยจิตใจ เวลาเลือกคนมาร่วมงาน ผมจะพยายามสังเกตว่า เขาเป็นคนดีหรือเปล่า ธุรกิจอื่นเขาอาจหาคนเก่ง คนที่บริหารคนเก่ง แต่ผมต้องการคนดี พอคนดี อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี มีความคิดที่ดี เมื่อเขาเป็นศิลปินออกเล่นดนตรี เขาจะมีความสุข มีมุมมองที่บวก มองโลกในแง่ดี

สำหรับน้องศิลปินที่กำลังเติบโต สิ่งที่ควรมีอยู๋ในใจคือ 1.ความฝัน 2.ความพยายาม 3.มีการเรียนรู้ 4.มีความสม่ำเสมอ ฝันอยากทำอะไร ฝันแล้วพยายามไปให้ถึงฝัน เรียนรู้สิ่งที่จะเป็นองค์ประกอบความฝัน และต้องมีความสม่ำเสมอ ตั้งแต่วันแรกของการเข้าวงการดนตรีจนถึงปัจจุบัน ผมยังซ้อมดนตรี ยังใช้เมโทรนอมในการฝึกซ้อมกีตาร์ (เครื่องมือกำหนดจังหวะ) มันทำให้ผมรู้สึกว่า เรามีวินัย มีความฝัน และมีสี่ข้อนี้ไว้ จบสวยแน่นอน

  สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)