สมลักษณ์ ปันติบุญ คือ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานปั้นเซรามิกและภาพจิตรกรรมอันเกิดจากดินและสีผสม เขานำเสนอผลงานศิลปะอันเป็นนามธรรม โดยได้รับอิทธิพลทางความคิดและการทำงานจากศาสนาพุทธนิกายเซน (Zen) เขามีประสบการณ์ทำงานให้กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ร่วมงานกับพระนิกายเซน ทำหน้าที่สอนศิลปะให้กับผู้ลี้ภัยสงครามสัญชาติลาวและเขมรที่ค่ายอพยพลี้ภัยในเมืองไทย ต่อมาเขาเดินทางเพื่อศึกษาศิลปะการทำเครื่องปั้นดินเผาที่ประเทศญี่ปุ่น โดย พ.ศ.2540 สมลักษณ์ ปันติบุญ ได้รับรางวัลที่สอง Asian ART &Crafts Exhibition ,พ.ศ.2543 ได้รับรางวัลที่สอง Asian ART &Crafts Exhibition ,พ.ศ.2541 ได้รับรางวัล Award of Merit ประเทศนิวซีแลนด์ หลังจากนั้นสมลักษณ์ ปันติบุญเดินทางกลับประเทศไทยก่อตั้งโรงปั้นดินเผา “ดอยดินแดง” จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย เขาสร้างเครือข่ายศิลปินเชียงรายเพื่อทำกิจกรรมทางศิลปะ ถูกรับเลือกเป็นนายกสมาคมคนแรกของขัวศิลปะเชียงราย (Art Bridge Chiang Rai)

พุทธวิถีเซนในโรงปั้นเซรามิก

ผมเป็นคนเชียงราย เรียนจบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ยุคสมัยก่อนไม่มีสถาบันสอนวิชาศิลปะโดยตรง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดคณะวิจิตรศิลป์ หลังจากผมเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี ตอนผมใช้ชีวิตที่จังหวัดเชียงใหม่ ผมทำงานในโรงปั้นดินเผาเพื่อหาเงินเป็นทุนการศึกษา ช่วงแรกผมไม่ชอบงานปั้นดินเผาเลย แต่เมื่อได้สัมผัสงานปั้นอยู่นานวันก็เกิดเป็นความหลงใหล งานปั้นคืองานศิลปะแขนงหนึ่งเมื่อได้ศึกษาลึกลงในรายละเอียดฃ ได้เดินทางศึกษาท่องเที่ยวชมสถานที่ประวัติศาสตร์งานปั้นดินเผา เช่น เจดีย์เวียงกาหลง ,เตาเผาเครื่องเคลือบดินเผาพาน (โป่งแดง) ก็เกิดเป็นความชอบ ความรัก ความผูกพัน

ผมทำงานโรงปั้นดินเผาที่เชียงใหม่เป็นเวลา 9 ปี ใช้ชีวิตในกรุงเทพเป็นปีกว่าก็ได้รับจดหมายจากอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ท่านเชิญผมให้เข้าร่วมโครงการของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees) หรือ UNHCR ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ หรือ UN เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยพระนิกายเซนชาวญี่ปุ่น (Sotoshu) ผมตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ทำหน้าที่สอนศิลปะ สอนวาดภาพ สอนงานปั้นดินเผา ให้กับผู้ลี้ภัยสัญชาติลาวและเขมรที่ค่ายอพยพลี้ภัยเขาอีด่าง อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ประเทศไทย เขาทำงานกับ UNHCR เป็นเวลา 6 ปี จึงตัดสินใจเรียนศิลปะการทำเครื่องปั้นเซรามิกที่ประเทศญี่ปุ่นตามคำแนะนำของพระเซน

ผมเรียนรู้การทำเครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่นคือตลาดวิชา คนทั่วโลกเดินทางไปเรียนที่นั่น เครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่นมีอิทธิพลต่อโลก ร้านอาหารญี่ปุ่นมีอยู่ทุกหนแห่ง กระแสนิยมวัฒนธรรมญี่ปุ่นผลักดันเศรษฐกิจให้เกิดเป็นค่านิยม สำหรับผมไม่มีความแตกต่างกันระหว่างเครื่องปั้นดินเผาแบบญี่ปุ่นกับเครื่องปั้นดินเผาแบบไทย สิ่งที่ทำให้รู้สึกแตกต่างคือการใช้สอยเครื่องปั้นดินเผา คนญี่ปุ่นเป็นคนขยัน มีความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบมาก ผลิตสินค้าจำนวนมาก ร้านอาหารญี่ปุ่นใช้สอยเครื่องปั้นดินเผาเยอะมาก ชาวญี่ปุ่นนิยมสินค้าญี่ปุ่น นิยมวัฒนธรรมญี่ปุ่น วัฒนธรรมญี่ปุ่นก็เติบโตอันเป็นผลผลิตจากความสร้างสรรค์

สำหรับศาสนาพุทธวิถีเซนคือการเคารพนับถือธรรมชาติ สิ่งใดที่โน้มเอนสู่ธรรมชาติก็คือธรรมมะ เมื่อจิตใจเกิดความนับถือก็จะเกิดความรัก หัวใจของเราจะลงลึก การปั้นเป็นงานที่มีอิสระทางความคิด มีความสร้างสรรค์ มีธรรมชาติเกี่ยวข้อง ศิลปะการทำเครื่องปั้นดินเผาจึงเปิดกว้างและเป็นที่ยอมรับ ผมใช้ชีวิตอยู่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 5 ปี ก็เดินทางกลับประเทศไทย ผมสร้างโรงปั้นดินเผาของตนเองชื่อว่า “ดอยดินแดง” ตั้งอยู่ที่ตำบลนางแล อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย ผมเริ่มทำงานปั้น ตอนนั้นพวกเราสมคบกับศิลปินเชียงรายเพื่อผลักดันกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะ เช่น ขัวศิลปะ ศิลปะสมัยใหม่เติบโตขยับขยายสู่หลายพื้นที่ เติบโตอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ผมซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุดจึงถูกเลือกเป็นผู้นำเฉพาะกิจ ถูกรับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย ( Art Bridge Chiangrai )

วิวัฒนาการศิลปะสมัยใหม่ของเชียงราย

การส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม ไม่ต้องสร้างหอศิลป์ทุกแห่งทั่วประเทศไทย แต่เลือกพื้นที่สร้างหอศิลป์ที่เหมาะสม รัฐบาลต่างประเทศมองเห็นความสำคัญของศิลปะ เขาก็สร้างหอศิลป์ สร้างสนามกีฬา สร้างสวนสาธารณะ คนเมืองน่าจะเข้าใจว่าเมื่องที่ดีควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง บางคนบอกว่า ศิลปะกินไม่ได้ แต่ศิลปะคือวัฒนธรรมของชนชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะเป็นเรื่องศักยภาพภายในของมนุษย์ เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องมี มนุษย์กินข้าวเพื่อยู่รอดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จิตใจมนุษย์ก็ต้องอิ่ม มนุษย์มีหลายส่วนที่ต้องสร้างให้สมดุลและสัมพันธ์กัน

เชียงรายมีความโดดเด่นเรื่องศิลปะและจำนวนศิลปินที่มีมาก แต่การผลักดันส่งเสริมงานด้านศิลปะยังมีน้อย การส่งเสริมกิจกรรมบางอย่าง เราต้องส่งเสริมโดยไม่คิดมูลค่าที่จะตอบสนองกลับมา การจัดกิจกรรมแสดงผลงานศิลปะ ถ้าเรามีระบบบริหารจัดการที่ดี มีศิลปินจำนวนมาก ต้นทุนการแสดงศิลปะมีสูง งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการก็ไม่มาก แต่ผลงานศิลปะจะถูกต่างประเทศซื้อไป ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์อยากเป็นศูนย์กลางศิปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาก็ซื้อผลงานของศิลปินไทยเก็บรวบรวมไว้

ศิลปะเชียงรายมีประวัติความเป็นมา มีการรวมวัฒนธรรม มีการส่งต่อวัฒนธรรมจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ตั้งแต่ศิลปะยุคชนเผ่า ยุคพ่อขุนเม็งราย สู่ยุคศิลปะสมัยใหม่ ตั้งแต่ศิลปินยุคแรก สล่าขิน หรือ จำรัส พรหมมินทร์ ,ถวัลย์ ดัชนี , เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินที่มีบทบาทต่อศิลปะวัฒนธรรมเชียงรายมากที่สุดก็คือ ถวัลย์ ดัชนี เขาเป็นผู้รวบรวมศิลปิน รวบรวมงานศิลปะหลายแขนง ทั้งช่างฝีมือ นักดนตรี รวมกันเป็นกลุ่ม “9 สล่า”

ศิลปะสมัยใหม่เติบโตแตกกิ่งก้านสาขาเพราะโลกกว้างขึ้น รวดเร็วขึ้น การรับรู้มีมากขึ้น แต่สิ่งที่รวดเร็วก็ขาดการยับยั้งชั่งใจ ขาดการตรึกตรอง ความหลากหลายก็เป็นเรื่องราวอันชั่ววูบ มีทั้งดีและเลวเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลง ศิลปินยุคสมัยก่อนมีสมาธิสูงมาก ผลงานศิลปะขายยากมาก แต่ปัจจุบันมีช่องทางขายผลงานศิลปะมากมาย ผลงานศิลปะมีค่าเพราะไม่ได้ทำไว้เพื่อขาย ยุคหลังเมื่อศิลปินต่างประเทศขายผลงาน ศิลปินไทยจึงเริ่มขายผลงาน เมื่อศิลปินมีงบประมาณ เขาก็สร้างระบบบริหารจัดการ มีผู้จัดการ ภัณฑารักษ์ ดีลเลอร์ แนวคิดศิลปะร่วมสมัยก็มาจากต่างประเทศ เมื่อประเทศไทยรับแนวคิดต่างประเทศก็ต้องสร้างหอศิลป์  

แนวโน้มและความเปลี่ยนแปลงในมุมมองศิลปิน

วัฒนธรรมการซื้อขายผลงานศิลปะเปลี่ยนแปลง ผลงานศิลปะคือไฟล์ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ ผลงานศิลปะอาจเหมือนผลงานดนตรี เหมือนยุคของ แผ่นเสียง ตลับเทป แผ่นซีดี แต่เมื่อมนุษย์ชมชอบสิ่งใดอย่างจริงจัง สิ่งนั้นก็ไม่มีวันหายไป มันอาจเป็นการผสมผสาน หรือเติบโตไปในสถานที่อื่น

ศิลปะไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน แต่เป็นเรื่องของยุคสมัย ยุคปัจจุบันศิลปินต้องมีแนวคิดมีการแสดงออก รากฐานศิลปะแบบเดิมมีอยู่แล้ว แต่ที่ไม่เหมือนเดิมเพราะการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ยุคสมัยเป็นเรื่องที่คัดง้างยาก กำหนดได้ยาก เราไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์อะไรได้เพราะแนวโน้มศิลปะมาจากหลายกระแส นั่นหมายรวมถึงกระแสการบริโภคด้วย การผลิตสินค้าทำตามสถานการณ์ของผู้บริโภค แต่เราต้องเข้าใจกระบวนการการผลิต วัตถุดิบและวัฒนธรรมที่รวมเข้าด้วยกัน บางสิ่งบางอย่างเราต้องกำหนดว่าเราในฐานะศิลปินจะอยู่อย่างไร จะแสดงออกอย่างไร เช่น การใช้วัตถุดิบ เราต้องใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น เพราะมันเป็นสมดุลที่ทำให้เราพึ่งตนเองได้ วัตถุดิบ ผู้คน ผู้บริโภค เกี่ยวข้องกันจนแยกออกจากกันไม่ได้

ภาพรวมของการทำงานศิลปะก็คือการรับใช้ชุมชน การเขียนรูปก็คือการรับใช้ชุมชน การแขวนรูป การตกแต่งประดับประดา การออกแบบตึกราบ้านช่องก็คือการใช้สอย มันเป็นการสนองความต้องการของผู้คนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจเป็นเรื่องของการเก็งราคา การสะสม ถ้าผู้คนในสังคมนิยมใช้สอยและชอบศิลปะมากขึ้น คุณภาพชีวิตศิลปินก็จะดีขึ้น วงการศิลปะจะเชื่อมโยงกัน

ศิลปินต้องเข้าใจจิตใจของตนเองก่อนว่า เรามีความชอบอย่างไร ถนัดทำงานแบบไหน แล้วทำงานศิลปะอย่างจริงจังเต็มกำลังความสามารถ ไม่อย่างนั้นเราจะเสียเวลาของชีวิตไปโดยไม่รู้ว่าเราชอบอะไรจริงๆ  ถ้าเราทำงานอย่างจริงจัง ผลดีของการทำงานก็จะตามมา ศิลปินต้องตั้งคำถามอยู่เสมอว่า เราจะทำอย่างไรให้ผลงานของเราออกมาดี ทำอย่างไรให้วิธีคิดของเราออกมาดี คำว่าดีนั้นมิได้หมายความว่าต้องดีเหมือนคนอื่น แต่หมายถึงดีอันมีลักษณะเฉพาะ เป็นปัจเจก

เราต้องศึกษาวิถีการทำงานของตนเองให้ดี ตั้งคำถามอยู่เสมอว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราจะทำให้การงานเติบโตก้าวหน้าได้อย่างไร เพราะงานศิลปะมันคือการตั้งโจทย์คำถาม เราต้องตอบโจทย์ให้ได้ก่อนว่า เราออกแบบให้ใคร เจ้าของบ้านเป็นใคร ต้องการแบบไหน มีสิ่งแวดล้อมอย่างไร แล้วเราก็ต้องตอบสนองความเป็นตัวตนศิลปิน ผลงานศิลปะถึงจะมีความหลากหลาย การทำงานศิลปะไม่จำเป็นต้องตามกระแส ผลงานที่ดีมีคนเข้าใจอยู่ งานตลาด (Mass) คืองานอันเป็นการสร้างผลพลอยได้ที่ดี การตลาดเป็นกระบวนการหลังสุดของการทำงาน เราต้องสร้างผลงานให้สำเร็จเป็นที่ยอมรับ การตลาดจึงตามหลังกระบวนการทั้งหมด

31 ปี ในวิถีศิลปินเชียงราย ณ ดอยดินแดง   

ผมเปิดร้านเครื่องปั้นเซรามิกดอยดินแดงมานาน 31 ปี ตอนเริ่มต้น ผมไม่คิดว่าดอยดินแดงจะเติบโต ผมมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวว่า ชีวิตผมน่าจะใช้ชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่งกับสิ่งที่ตนเองชอบ ทำงานให้พอใช้ชีวิตอยู่ได้ หากทำงานอย่างจริงจัง เราจะไม่มีความคิดอันโดดเดี่ยว ผู้คนที่คิดคล้ายกันก็จะเกิด แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ศิลปินไม่จำเป็นต้องร่ำรวย มีฐานะพออยู่พอกิน

ศิลปะมีระเบียบแต่เป็นระเบียบที่ไม่เหมือนคนอื่น ศิลปินไม่มีระเบียบวินัยก็อยู่ไม่ได้ เพราะสิ่งที่เขาทำอาจเป็นเพียงอารมณ์ การทำงานศิลปะต้องประกอบด้วยอารมณ์และระเบียบ มีวินัยการทำงาน วินัยการครองตน ถ้าเรามีหัวหน้าช่างหรือ “สล่าเก้า” หัวหน้าก็จะสอนวิธีการทำงานให้กับลูกน้องจนกลายเป็นจารีต

ชีวิตของผมไม่มีแผนการอันใดอีกแล้ว ผมอยู่มานาน ทำงานศิลปะมาอย่างเต็มกำลัง สำหรับ Thailand Biennale 2023 รัฐบาลคงเห็นแล้วว่า ศิลปินจะนำงบประมาณไปใช้ในส่วนใด ผลที่จะได้ตอบรับกลับคืนมาอย่างน้อยที่สุดคือ ศิลปินเชียงรายจะได้แสดงออกให้ทุกคนเห็นว่าศิลปินเชียงรายมีจริง แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อศิลปินจัดงาน Thailand Biennale 2023 จะมีอะไรหลงเหลือไว้บ้าง เพราะเราใช้งบประมาณมากพอสมควร

 สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)