ธวัชชัย สมคง บรรณาธิการบริหารนิตยสาร FINE ART นิตยสารนำเสนอบทความศิลปะและผลงานสร้างสรรค์  มีประสบการณ์ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ เคยทำหน้าที่ภัณฑารักษ์เวนิสเบียนนาเล่ ประเทศอิตาลี่ สร้างแกเลอรี่เป็นของตนเองชื่อว่า MATDOT ART CENTER มุมมองทางศิลปะของธวัชชัย สมคง มีความหลากหลาย ชัดเจนในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเทศกาลศิลปะนานาชาติกับเศรษฐกิจ เขามองว่า เทศกาลเชียงรายเบียนนาเล่ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น เมื่อจัดกิจกรรมคู่ขนานไปพร้อมกับการจัดเทศกาลศิลปะ

ภัณฑารักษ์ประเทศไทยในเวนิสเบียนนาเล่

ผมมีประสบการณ์ทำงานเป็นภัณฑารักษ์เทศกาลศิลปะ เคยทำงานเป็นภัณฑารักษ์เวนิสเบียนนาเล่ ประเทศอิตาลี่ ภัณฑารักษ์คือผู้ดูแลเทศกาลศิลปะ ทำหน้าที่ตีความและหาหัวข้อหรือธีม (themes) คัดสรรศิลปิน จัดสัดส่วนจำนวนศิลปิน พยายามกระจายสัดส่วนศิลปินที่เข้าร่วมเทศกาลเพื่อให้เกิดเป็นภาพของศิลปินนานาชาติ ทำให้มองเห็นผลงานศิลปะอันหลากหลาย เปิดรับความคิดที่หลากหลาย มีการตีความศิลปะอันหลากหลาย เปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ภัณฑารักษ์คือผู้กำกับภาพยนต์ หากต้องการสร้างภาพยนต์ ผู้กำกับต้องกำหนดหัวเรื่อง เนื้อหา ข้อสำคัญ เมื่อสร้างงานออกมาแล้วต้องบรรลุวัตถุประสงค์

ผมนำเสนอผลงานศิลปะเทศกาลเวนิสเบียนนาเล่ในศาลาไทย ผมคิดว่าจะตีความการนำเสนอศิลปะรูปแบบใด ผมศึกษาการทำงานของภัณฑารักษ์ที่เคยทำงานเบียนนาเล่ ศึกษาว่า เขาทำงานอย่างไร มีผลงานแบบไหน  เรื่องแรกที่ผมสนใจคือคำว่า “สิ่งใหม่” บนโลกใบนี้อาจไม่มีสิ่งใหม่ แต่สิ่งที่เราไม่เคยเห็นคือเรื่องใหม่ ผมนำเสนอศิลปะในมิติความเป็นไทย มีองค์ประกอบการทำงานศิลปะจากศิลปิน 3 ท่าน เพราะผมคิดว่า การทำงานด้วยศิลปินคนเดียว ไม่ก่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างศิลปิน ผมอยากนำเสนอเรื่องราวให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ศิลปินจำนวน 3 ท่าน คือ อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ อาจารย์สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์  ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ และ นายกฤช งามสม ศิลปินสื่อสมัยใหม่ เนื้อหาเรื่องราวสามารถเชื่อมโยงศิลปินกับแนวความคิดที่สมบูรณ์แบบ มีรสชาติความเป็นไทย เมื่อมีแนวคิด ค้นพบศิลปิน ก็ต้องทำงานศิลปะให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่จัดแสดง หลังการแสดงผลงานศิลปะเสร็จสิ้น หน้าที่ภัณฑารักษ์ก็จบสิ้นลง

เชียงรายเบียนนาเล่ ศิลปะในมิติแห่งการเรียนรู้

เบียนนาเล่ (Biennale) คือเทศกาลศิลปะอันเก่าแก่นับร้อยปี มีต้นกำเนิดที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี่ แปลเป็นภาษาไทยมีความหมายตรงตัวว่า “ทุกสองปี” เป้าหมายของเทศกาลไทยแลนด์เบียนนาเล่ที่กำหนดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อสร้างหมุดหมายทางศิลปะให้กับเมืองใหญ่ โดยมองว่า จะทำอย่างไรให้การจัดเทศกาลไทยแลนด์เบียนนาเล่เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่า ตรงตามเป้าหมายเทศกาลไทยแลนด์เบียนนาเล่ อันเป็นเทศกาลศิลปะระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ลักษณะที่เหมือนกันของเบียนนาเล่ คือ มีภัณฑารักษ์เป็นผู้คัดสรรศิลปินเข้าร่วมเทศกาล ศิลปินระดับโลกจะพักอาศัยในประเทศไทยเพื่อศึกษาต้นทุนทางวัฒนธรรม  วิถีชีวิต ผู้คน  ขนบธรรมเนียมประเพณี ทรัพยากรธรรมชาติ ภายหลังรวบรวมข้อมูลก็ประมวลเป็นแนวคิดเพื่อสร้างผลงานจากวัสดุท้องถิ่น โดยศิลปินจะใช้ช่างฝีมือ หรือใช้ทรัพยากรในประเทศไทยให้มากที่สุด

เทศกาลไทยแลนด์เบียนนาเล่มีประโยชน์ ศิลปะร่วมสมัยจะถูกตีความ ประชาชนจะรับรู้ว่าศิลปะเบียนนาเล่มีอยู่จริง นั่นคือการวางรากฐานทางศิลปะ ประโยชน์ข้อแรกคือทำให้พลเมืองตื่นรู้ถึงศิลปะร่วมสมัย ข้อสองประเทศไทยมีโอกาสจัดเทศกาลระดับโลก ข้อสามเมืองที่จัดเทศกาลจะเป็นแหล่งข้อมูลทางศิลปะ ข้อมูลศิลปิน ทำให้ศิลปะร่วมสมัยเติบโต ข้อสี่ ศิลปินท้องถิ่นและประชาชนมีโอกาสร่วมกิจกรรม แม้ว่าเทศกาลศิลปะไม่สามารถส่งเสียงไปถึงทุกคนถ้าเขาไม่เปิดใจรับ แต่สิ่งที่พวกเราสามารถทำได้คือการประชาสัมพันธ์ สื่อสารให้ผู้คนได้รับรู้ว่า พวกเรากำลังทำอะไรอยู่ 

เบียนนาเล่เป็นกิจกรรมให้ความรู้ เมืองที่จัดเทศกาลจะกลายเป็นที่รู้จัก ถ้าเมืองตื่นรู้ มีการประชุมหารือร่วมกันว่า จะทำกิจกรรมอะไรควบคู่กับศิลปินนานาชาติ หรือจะทำอะไรร่วมกับภัณฑารักษ์ เพื่อสนับสนุนให้เทศกาลเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมา เราเรียนรู้ปัญหาการจัดเทศกาลไทยแลนด์เบียนนาเล่ การทำงานเต็มไปด้วยข้อจำกัด แต่ผู้จัดเทศกาลก็มีบทเรียนและมองเห็นว่า การทำงานในส่วนใดที่สามารถต่อยอดออกไปได้บ้าง

สำหรับเชียงรายเบียนนาเล่ ต้องพัฒนาการสื่อสารเพื่อทำให้ทุกคนเห็นว่า เทศกาลไทยแลนด์เบียนนาเล่เป็นการให้ความรู้ในระดับเมือง พลเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เน้นขายผลงานศิลปะ แต่เทศกาลไทยแลนด์เบียนนาเล่เป็นกลไกของรัฐที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับศิลปิน หรือการเป็นศูนย์กลางของศิลปะในเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทยมีทรัพยากร มีกิจกรรมระดับนานาชาติรองรับ ศิลปะสามารถเติมเต็มให้เมืองมีเสน่ห์ แต่ต้องมองว่ารัฐเข้าใจศิลปะในมิติใด

เศรษฐศิลปะ การตลาด กิจกรรมคู่ขนานเทศกาลเบียนนาเล่

ศิลปะเป็นสิ่งสูงส่งมีคุณค่า แต่จะทำอย่างไรให้ศิลปะส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้กลไกทางการตลาดเกิดขึ้น ศิลปินสร้างความเปลี่ยนแปลง ศิลปะเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งต่างๆ เช่น เราซื้อขนมโมจิที่ประเทศญี่ปุ่นราคา 100 บาท เรารู้สึกว่าขนมโมจิราคาไม่แพงเพราะศิลปะที่ห่อหุ้มเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น สินค้าแบรนด์เนมล้วนแต่ใช้ศิลปะ เริ่มตั้งแต่การออกแบบ การใช้ทักษะฝีมือ ใช้ความประณีต ศิลปะเพิ่มมูลค่า แต่ทุกคนต้องเข้าใจมิติเชิงเศรษฐกิจ มิติทางการตลาด สร้างแบรนด์สินค้าอย่างไรให้เข้มแข็ง ใช้ศิลปะสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าได้อย่างไร ยกตัวอย่าง สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นการใช้ประโยชน์จากศิลปะที่ส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อสินค้าชุมชนที่มีคุณภาพเราจะนำเสนอสินค้าอย่างไร  

การจัดกิจกรรมคู่ขนานกับเทศกาลไทยแลนด์เบียนนาเล่ เป็นสิ่งที่ควรทำ เทศกาลเบียนนาเล่ทุกแห่งมีกิจกรรมคู่ขนาน เช่น กิจกรรมดนตรีพื้นเมือง เทศกาลอาหาร เทศกาลจิบชา เพื่อใช้ประโยชน์จากเทศกาลเบียนนาเล่ให้มากที่สุด การขับเคลื่อนเทศกาลศิลปะเพียงลำพังไม่ใช่เรื่องง่าย ประชาชนหลายคนไม่ได้สนใจเทศกาลศิลปะ แต่เมื่อสร้างกิจกรรมคู่ขนาน กิจกรรมจะดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวให้มาเยือน นักท่องเที่ยวจะมีทุกอย่างให้ชมในห้วงเวลาเทศกาล

จังหวัดเชียงรายสามารถสร้างเทศกาลเชียงรายเบียนาเล่ได้ดี สามารถใช้ประโยขน์จากเบียนาเล่ได้อย่างเต็มที่ นักท่องเที่ยวเมื่อเดินทางมาถึงเชียงรายก็จะได้ชมหลายกิจกรรม มันคือการใช้ประโยชน์จากศิลปะในเชิงเศรษฐกิจ แต่กิจกรรมคู่ขนานเทศกาลเบียนนาเล่มีหลายกิจกรรม ต้องมีการบริหารจัดการร่วมกัน ระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้เมืองได้รับประโยชน์มากที่สุด แต่อย่าคาดหวังว่า ไทยแลนด์เบียนนาเล่จะเหมือนเวนิสเบียนนาเล่ เพราะประเทศไทยเปรียบเหมือนเด็กที่กำลังเติบโต แต่เป็นการเติบโตบนทิศทางที่ถูกต้อง ตอนนี้เรากำลังหว่านเมล็ดพันธุ์ทางศิลปะซึ่งยังไม่ผลิดอกออกผลอย่างเต็มที่

พัฒนาระบบการทำงานของรัฐเพื่อให้ศิลปะเติบโต

การกำหนดภัณฑารักษ์เป็นคนไทยเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจะมีน้อย แต่กระนั้น เราก็ต้องเชิญศิลปินชาวต่างชาติเดินทางมาทำงานในประเทศไทย ปัญหาอุปสรรคคือเรื่องระบบการเบิกจ่ายเงินตามระเบียบการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐซึ่งมีความล่าช้า เป็นอุปสรรค ต่างจากระบบการทำงานของเอกชน รัฐควรให้ความสำคัญกับปัญหา แก้ไขปัญหาหรือลดข้อจำกัด เมื่อกระทรวงวัฒนธรรม สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย วัฒนธรรมจังหวัด ทำงานร่วมกันควรมีลักษณะการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอย่างไร นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งซึ่งเราต้องเรียนรู้ ดังนั้น การมีทัศนคติที่ดี ความพยายามทำงานภายใต้ข้อจำกัด จึงเป็นแนวทางขับเคลื่อนเทศกาลศิลปะให้ประสบความสำเร็จ

ประเทศอื่นมีการกำหนดกฎเกณฑ์การบริหารงบประมาณสำหรับเทศกาลเบียนนาเล่โดยเฉพาะ การเบิกจ่ายงบประมาณจึงมีความสะดวก แต่ประเทศไทยการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าเพราะต้องปฏิบัติตามระเบียบเงื่อนไขการเบิกจ่าย เราต้องตั้งคำถามว่า หากต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางศิลปะ กฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอน เอื้ออำนวยต่อศิลปะหรือไม่ ตัวอย่างเช่น การเสียภาษี มีการกำหนดขั้นตอนการเสียภาษีและอัตราภาษีสำหรับศิลปินที่เข้าร่วมเทศกาลไทยแลนด์เบียนนาเล่อย่างไร ศิลปินร่วมเทศกาลเบียนนาเล่หลายท่านยังไม่ได้รับค่าจ้างแต่ต้องเสียภาษีศุลกากรแล้ว หรือกรณีกำหนดอัตราภาษีสูงกว่าประเทศอื่น ไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดประมูลผลงานศิลปะในประเทศไทย  

ถ้าประเทศไทยต้องการเป็นศูนย์กลางศิลปะ ต้องแก้ไขกฎระเบียบ ลดขั้นตอนเกี่ยวกับการเสียภาษี ถ้านำผลงานศิลปะมาแสดงในประเทศ หรือนำผลงานศิลปะเข้ามาจำหน่ายในประเทศ กฎหมาย ข้อบังคับ ขั้นตอน จะต้องไม่มีความยุ่งยาก บางครั้งเราพบว่า ผลงานศิลปะตกค้างที่ท่าเรือไม่สามารถนำมาแสดงในเทศกาลได้เพราะติดปัญหาศุลกากร รัฐต้องอำนวยความสะดวกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ

ศิลปะในห้องจัดแสดงและศิลปะบนแพลตฟอร์มดิจิทัล

ผมทำงานบรรณาธิการบริหารนิตยสาร FINE ART รูปแบบการนำเสนอ เป็นการนำเสนอกิจกรรมทางศิลปะ เพราะหัวใจวิจิตรศิลป์หรือ FINE ART ให้ความสำคัญกับห้องแสดงนิทรรศการศิลปะซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงการสืบค้นข้อมูล นิตยสาร FINE ART เปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงมากที่สุดโดยไม่เน้นนำเสนอศิลปินที่มีชื่อเสียง นั่นเป็นแนวในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผมมองเห็นภาพรวมของศิลปะประเทศไทย

พื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะหรือแกเลอรี่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือหอศิลป์รัฐบาลหรือหอศิลป์กรุงเทพฯ อันเป็นการจัดแสดงผลงานศิลปะโดยไม่แสวงหากำไร ส่วนที่สอง คือหอศิลป์เอกชนซึ่งมีส่วนขับเคลื่อนศิลปะในเชิงเศรษฐกิจ แม้ว่าปัจจุบัน ศิลปินจะเลือกนำเสนอผลงานศิลปะผ่านสื่อโซเชียลมีเดี่ย แต่นิทรรศการหรือห้องแสดงผลงานศิลปะเป็นการชมผลงานผ่านความคิดของภัณฑารักษ์ เราจะมองเห็นผลงานศิลปะแต่ละชุดว่าเขานำเสนอผลงานศิลปะด้วยแนวคิดอย่างไร ผู้ชมนิทรรศการมีอารมณ์อย่างไร นั่นคือเสน่ห์ของห้องแสดงผลงานศิลปะ

สำหรับศิลปะดิจิทัล หรือ NFT ( Non- Fungible Token ) เป็นศิลปะในมิติเชิงเศรษฐกิจ แต่มีประเด็นคำถามที่ผมพยายามคิด คือการประเมินผลงานศิลปะ วิจิตรศิลป์ หรือ FINE ART ถูกประเมินโดยผู้มีความรู้จากมหาวิทยาลัย หอศิลป์ ภัณฑารักษ์ ส่วนศิลปะดิจิทัล หรือ NFT ถูกประเมินคุณค่าโดยผู้ถือเงินสกุลดิจิตอล อันไม่สอดคล้องกับศิลปะ คงต้องศึกษาต่อไปว่า เมื่อศิลปินที่มีชื่อเสียงทำผลงานศิลปะดิจิทัล ผลงานมีคุณค่ามากน้อยเพียงใดใน NFT  

ศิลปะดิจิทัล หรือ NFT ถือเป็นสิ่งดีที่เกิดขึ้น เป็นนวัตกรรมทำให้โลกเกิดสิ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องราวที่ควรศึกษา แต่ศิลปินต้องพิจารณาให้ดีว่า ตนเองหมาะสมกับศิลปะดิจิทัลหรือไม่ เพราะมีข้อสังเกตในวงการศิลปะดิจิทัลว่า ศิลปินบางท่านที่ไม่ได้รับการยอมรับในวงการศิลปะทั่วไป เมื่อทำงานศิลปะดิจิทัลกลับเป็นที่ยอมรับ เพราะผลงานถูกประเมินจากบุคคล คนละกลุ่ม แต่ในทัศนของผมมองว่า การทำงานในวงการศิลปะมีมากกว่านั้นเพราะศิลปะมิได้ประเมินกันเพียงเพราะความชอบหรือความไม่ชอบ  

 สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)