กิตติศักดิ์ ฝั้นสาย (KITTISAK FANSAI) คือศิลปิน ทำงานปฏิมากรรมคู่ขนานกับการศึกษาพุทธธรรม ตามคำสอนพุทธศาสนา เขาจบการศึกษา ปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ,ปริญญาโทมหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาศิลปะไทย, หลักสูตรพิเศษพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และได้รับรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จากการประกวดศิลปกรรม TOSHIBA นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต ซึ่งตลอดระยะเวลาแห่งการศึกษา กิตติศักดิ์ ฝั้นสาย นอกจากจะเรียนรู้ศิลปะ เขายังศึกษาพุทธธรรมเรื่องของความทุกข์อันมีอยู่ในตัวตน  เขาเฝ้ามอง เรียนรู้ ทำความเข้าใจเรื่องความไม่เที่ยง ตามคำสอนของพุทธศาสนา

วัยหนุ่ม วัยแห่งการแสวงหาความหมายของชีวิต

ตระกูลของผม สืบเชื้อสายชาวไทยใหญ่ หมู่บ้านที่ผมอาศัยอยู่มีชื่อว่า “หมู่บ้านน้ำต้น” งานเครื่องปั้นดินเผาส่วนใหญ่คือ งานปั้นน้ำต้น ผมเรียนรู้งานปั้นมาตั้งแต่เด็ก เรียนรู้การปั้นน้ำต้น ปั้นผางประทีป ผมชอบเรียนศิลปะ และรู้สึกตัวว่าชอบทำงานศิลปะตั้งแต่เรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ครูมอบการบ้านให้ผมไปวาดภาพในห้องสมุด วาดอะไรก็ได้ที่เราสนใจ ผมใช้เวลาสักพัก จนมาเจอภาพเกี่ยวกับสุภาษิตคำพังเพย ผมสนใจในความหมายที่ซ่อนอยู่ในภาษา ผมรู้สึกประทับใจมาก ตอนที่ครูเลือกผลงานของผมติดไว้ที่บอร์ดของโรงเรียน เมื่อเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ครูก็จะเขียนลงในบันทึกรายงานผู้ปกครองหรือใบเกรดว่า ผมมีพรสวรรค์ด้านศิลปะ

ผมเรียนหนังสือจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เรียนต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวช.) ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคล้านนา เชียงใหม่ หลังเรียนจบ ผมใช้ชีวิตอย่างไร้เป้าหมาย ใช้ชีวิตอย่างขาดความสุข ผมเริ่มตั้งคำถามกับชีวิตว่า “ทำไมชีวิตจึงไม่มีความสุข” ตั้งคำถามว่า “ชีวิตของเราชอบทำอะไร” ผมตัดทางเลือกของชีวิตออกทีละหนทาง ผมพบว่า สุดท้ายสิ่งเดี่ยวที่ยังเหลืออยู่คือศิลปะ จนกระทั่งมาเจอน้าของผมชื่อว่า “สล่าแดง สมทรัพย์ ศรีสุวรรณ” เขาชวนผมมาทำงานปั้นน้ำต้น ที่หมู่บ้านน้ำต้น อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ตอนทำงานปั้นแล้วออกบูธแสดงสินค้าตามสถานที่ต่างๆ ผมจะรู้สึกตื่นเต้นเพราะจะได้พบกับเรื่องราวใหม่ๆ พบกับผู้คน พบกับสล่าล้านนา

การทำงานศิลปะในช่วงแรก เป็นการทำงานเชิงอนุรักษ์ รูปร่างของงานเปลี่ยนแปลงตามความคิด มีลายดอกไม้ มีภาพนูนต่ำ นูนสูง ผมเริ่มสงสัยเกี่ยวกับศิลปะเยอะมาก อยากรู้ว่า “ศิลปะคืออะไร” กระทั่งมาพบกับ อาจารย์แปลก กิจเฟื่องฟู ศิลปินเขียนลายเส้นที่น่าอัศจรรณ์  ท่านชวนผมไปเรียนพุทธศิลป์ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เชียงใหม่ ผมจึงตัดสินใจสมัครเรียน ตั้งแต่นั้นผมก็ทำงานศิลปะอย่างจริงจัง ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของชีวิต

การเรียนศิลปะที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อาจารย์จะมอบงานให้นักศึกษาทำ เมื่อทำงานเสร็จอาจารย์ก็จะนำผลงานมาติดบนกระดานแล้ววิพากษ์วิจารณ์ ผมตั้งใจทำงานศิลปะมาก แต่ขณะวาดภาพผมจะรู้สึกอึดอัด เกิดความเครียด ผลงานศิลปะที่ออกมาก็จะรู้สึกตึงเครียด แต่เมื่อผมทำงานปั้น จิตใจของผมสงบ ทักษะการปั้นเป็นไปตามความคิด งานประติมากรรมช่วงแรกของผมจะมีลักษณะเป็นรูปทรงคล้ายเจดีย์ คลี่คลายสู่ผลงานกึ่งนามธรรม เป็นผลงาน “บัวสี่เหล่า” บอกเล่าเรื่องคนที่มีหลายระดับ เป็นการพยายามดิ้นรนพัฒนาตนเองจนสามารถรู้เรื่องธรรม ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัล พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จากการประกวด TOSHIBA นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต

แก่นแท้พุทธศาสนาคือสิ่งที่กระทบอารมณ์ผู้คน 

ตอนผมเรียนมหาวิทยาลัย ผมทำงานหลายอย่าง ทำผลงานส่งประกวด ผมรู้สึกว่า การทำงานส่งประกวดแต่ละครั้ง ทำให้ผมเติบโตทางความคิด ทักษะ ผลงานเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ผมตัดสินใจศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยศิลปากร การเรียนศิลปากร มี 2 วิชา คือ วิชาศิลปะและงานวิจัย ตอนเรียนปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร ผมทำงานหนัก ทำงานปั้นเพียงอย่างเดียว ผลงานประติมากรรมเป็นรูปทรงสิ่งมีชีวิตแรกเกิด  ในธรรมชาติ ที่มีภาวะการเสื่อมสลาย ปั้นผลงานชิ้นเล็กๆ แต่ปั้นจำนวนมากและจัดวางไว้พื้นที่สาธารณะ

ผมพยายามสื่อสารถึงแก่นแท้ของพุทธศาสตร์เรื่อง ความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอน นำเสนอโดยจัดวางประติมากรรมในพื้นที่สาธารณะ ผมเคยจัดวางประติมากรรมที่วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม เน้นนำเสนอการรู้สภาวะธรรมอันเป็นปกติของมนุษย์ เมื่อผมจัดวางผลงานไว้บริเวณหน้าพระปฐมเจดีย์ มีผู้คนเข้ามาชมผลงาน เข้ามาคุยกับเรา ผมคุยกับหลายคน แต่ละคนมีแนวคิดและความทรงจำอันแตกต่างเมื่อได้ชมผลงานของผม

พุทธศิลปกรรมกระทบอารมณ์ของผู้ชมได้ดี หากถามว่า “อะไรที่ทำให้ผลงานกระทบอารมณ์ของผู้ชม” … อาจเป็นเพราะความพิถีพิถันเพราะคนใกล้ชิดมักจะบอกกับผมว่า เวลาทำงานศิลปะให้พอได้แล้ว หยุดได้แล้ว แต่ความรู้สึกของผมยังไม่พอ ผมยังอยากทำงาน เพราะผมรู้สึกว่า ผมยังสามารถทำงานศิลปะต่อไปได้อีก ปัจจุบัน ผมใช้เวลาทำงานไม่มาก หยิบจับงานไม่กี่ครั้งก็กลายเป็นรูปทรงที่ต้องการ อาจเป็นผลจากการทำงานหนัก ผลงานของผมมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ  หลังเรียนจบปริญญาโทมหาวิทยาลัยศิลปากร ผมเรียนหลักสูตรพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง งานพุทธศิลป์เป็นสิ่งที่นักศึกษาสถาบันสอนศิลปะทุกสถาบันรู้และเข้าใจ แต่เราต้องเรียนรู้รูปแบบองค์ความรู้ที่สำเร็จรูป เพิ่มเติมความคิด และมุมมองของเราใหม่

ลดทอน ผ่อนคลาย เรียบง่าย ในประติมากรรมพุทธรูป

ปัจจุบัน ผลงานศิลปะจะถูกแสดงออกมาในผลงานที่เป็นรูปแบบฟิกเกอร์ กายวิภาค (Anatomy) แสดงออกด้วย กริยา ท่าทาง อารมณ์บนใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ผมมองผลงานศิลปะเหมือนมองสภาวะธรรมในตนเอง เราคือ ผู้รู้ ผู้ดูสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น มีการเปลี่ยนแปลง  เมื่อผมปั้นผลงาน ผมจะมองเห็นความรู้สึกในผลงาน เดียวนี้ผมรู้สึกถึงอารมณ์ในตนเอง  การทำงานศิลปะทำให้เรามองเห็นสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น สมัยก่อนผมไม่รู้เท่าทันความรู้สึกที่เกิดขึ้น แต่เมื่อผมได้ศึกษาธรรมะจากคำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช โดยเฉพาะคำสอนเรื่องความทุกข์ ความทุกข์เราไม่รู้จักมัน เราไม่รู้ว่า ทำไมเราถึงทุกข์ ความทุกข์มีตลอดเวลา จะทุกข์มากหรือทุกข์น้อย ซึ่งเป็นสามัญลักษณะ หรือเรามีความทุกข์อยู่เป็นปกติ

ปัจจุบัน ผมทำงานประติมากรรมเหมือนกำลังเล่นสนุก ผมสามารถทำงานศิลปะได้ต่อเนื่อง เมื่อทำงานเสร็จแล้วกลับไปมองผลงาน มองเห็นอารมณ์ความรู้สึกในผลงานที่กระทบตัวเรา ส่วนขั้นตอนการทำงาน ผมจะมองความคิด จินตนาการแล้วก็ปั้นมันออกมา หรือสร้างสะเก็ตช์เป็นโครงสร้าง ส่วนในรายละเอียดจะเกิดจากการผจญภัยในงาน สนุกกับการทำงาน ส่วนในเรื่องกระบวนการต้องมีความพิถีพิถัน ตั่งแต่การปั้น การเผา การทำสี การเคลื่อนย้าย และการดูแลรักษา ตัวอย่างเช่น การทำสีแบบรมควันในงานดินเผา สีที่ได้จะเกิดจากความร้อนในการเผาไหม้ เกิดร่องรอย คราบเขม่า เมื่อสอดแทรกกับรูปทรง ตัวคน กะโหลก เด็ก ทารก ทำให้เกิดอารมณ์ลึกลับ และความรู้สึกน่ากลัว

ตลอดระยะเวลาช่วงที่ผ่านมา จิตใจของผมหลงไปกับ ความรัก ความโลภ ความโกรธ เมื่อผมทำงานพุทธศิลปะซึ่งต้องศึกษาหลักพุทธธรรม ทำให้ผมเข้าใจความทุกข์ เข้าใจเหตุแห่งความทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนให้เราเป็น ผู้รู้ ผู้ดู เฝ้ามองความรู้สึกที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นั่นถือเป็นแก่นสารและข้อสรุปของชีวิตผม 

 สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)