หลังประกาศราชกิจจานุเบกษา แบนสารเคมีอันตราย 2 ประเภท มีผลนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ให้สารเคมี พาราควอต – คลอร์ไพริฟอส เป็นสารพิษต้องห้าม ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษ จำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท เป็นบทหนักของการลงโทษ โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการส่งคืนสารเคมีเพื่อทำลาย ผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งสารเคมีต้องส่งคืนร้านค้าตามกรอบเวลาภายใน 90 วัน หรือไม่เกินวันที่ 29 สิงหาคม 2563 ส่วนร้านค้าผู้จัดจำหน่ายต้องส่งคืนผู้ผลิตหรือนำเข้าและแจ้งปริมาณต่อเจ้าพนักงานภายใน 120 วัน หรือไม่เกินวันที่ 28 กันยายน 2563 ผลของการแก้ไขกฎหมายคือประเทศไทยจะไม่มีสารเคมี พาราควอต – คลอร์ไพริฟอส แต่เมื่อทำการสำรวจกลับพบว่า เกษตรกรจำนวนมากซึ่งทำการเกษตรในพื้นที่กว้างมีความต้องการสารเคมีซึ่งใช้กำจัดศัตรูพืชและวัชพืชเช่นเดียวกับ พาราควอต – คลอร์ไพริฟอส จำนวนมาก

ดร.คีตวุฒิ นับแสง ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการบริหารการจัดการสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงราย วิเคราะห์ปรากฎการณ์ออกเป็น 3 ประเด็น

1.สารเคมีทดแทน

นับจากวันนี้ในประเทศไทยไม่มีสารเคมี “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” อันเป็นสารเคมีอันตรายใช้กำจัดวัชพืชและศัตรูพืช ประเด็นสำคัญคือ เกษตรกรประเทศไทยจะนำสารเคมีประเภทใดมาใช้ทดแทน เพราะความต้องการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชมีปริมาณมาก สำหรับเกษตรกรทำการเกษตรในพื้นที่จำนวนน้อยคงไม่มีปัญหาเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้สารเคมีในปริมาณไม่มาก บางพื้นที่แทบไม่ใช้สารเคมี แต่สำหรับเกษตรกรที่ใช้พื้นที่ทำการเกษตรจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนเพราะรูปแบบการทำการเกษตรพื้นที่กว้างแตกต่างออกไป เกษตรกรทำการเกษตรพื้นที่กว้างต้องใช้สารเคมีช่วยกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช นั่นหมายความว่า เกษตรกรบ้านเรายังต้องการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชอีกจำนวนมาก

2.การทุจริตเชิงนโยบาย

เมื่อความต้องการใช้สารเคมีของเกษตรกรมีอยู่จำนวนมาก ย่อมส่งผลต่อกลุ่มผู้ผลิต นำเข้า ซึ่งต้องการสารเคมีมาทดแทนเคมีอันตรายอย่าง พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส เพื่อจำหน่าย โดยสารเคมีอันมีอยู่ในโลกนี้มีอยู่หลายประเภทและหลายบริษัทผู้ผลิต สารเคมีส่วนใหญ่ที่มีแนวโน้มขอนำเข้าหรือผลิตในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีควบคุมที่ต้องได้รับอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี เริ่มต้นกระบวนการอนุญาตต้องผ่านกรมวิชาการ ผ่านกระทรวง ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี กระบวนการนี้ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ประเด็นนี้น่าจับตามองว่า กระบวนการขออนุญาต ควรโปร่งใส และตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนควรช่วยกันตรวจสอบ เพื่อไม่ให้กระแสสังคม มองว่าจะเกิดการทุจริตเชิงนโยบาย มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ อย่างไร นั่นคือ ต้องตอบสังคมให้ได้

3.กลับสู่การเกษตรเชิงกล

เกษตรกรที่ทำการเกษตรในพื้นที่จำนวนหลายไร่ใช้สารเคมีจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการแก้ไขกฎหมาย สารเคมีอันตรายที่หลงเหลือหลังการเกษตรจะต้องถูกส่งคืนร้านค้าเพื่อรวบรวมส่งต่อไปยังผู้ผลิต ผู้นำเข้า เพื่อทำลาย นั่นหมายความว่า ประเทศไทยต้องไม่มีสารเคมี พาราควอต – คลอร์ไพริฟอส ซึ่งหากพบว่าใครมีสารเคมีต้องห้ามไว้ในครอบครองต้องรับโทษบทหนักคือจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท ทางออกของการแก้ปัญหาคงเป็นเรื่องของการปรับฐานการเรียนรู้ด้านการเกษตร กลับไปใช้รูปแบบการเกษตรเชิง “กล” ลดการใช้สารเคมี ใช้แรงงานมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีการเกษตรมากขึ้น หรือปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อลดวัชพืช

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/117/T_0056.PDF