อาจารย์แก้ว จันทิมา (KAEW JANTIMA) ชายอายุ 72 ปี อดีตอาจารย์สอนวิชาเกษตร โรงเรียนบ้านสักทุ่ง ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ประเทศไทย คือลูกชาวนาที่ต้องเดินเท้าผ่านทุ่งลอเพื่อไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนปิยมิตร อำเภอเชียงคำ ในวัยเด็ก เขาเดินทางด้วยเท้าระยะทางกว่า 25 กิโลเมตร เมื่อเติบโตเขามองเห็นความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นทำการเกษตรบนทุ่งลอ phayaobiz.com สัมภาษณ์เพื่อรื้อฟื้นความทรงจำแห่งการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วัยเด็กของอาจารย์แก้ว เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2495 ยุคบุกเบิกป่าเป็นทุ่งนาโดยใช้แรงงานคน, พ.ศ.2500 ยุคเครื่องจักรบุกเบิกของกำนันเชียรชัย วงศ์ใหญ่, พ.ศ.2510 ยุค “อพอลโล่” ยุคแห่งเทคโนโลยีและเครื่องจักรการเกษตร, พ.ศ.2540 ยุคปลูกข้าวส่งออกต่างประเทศ, พ.ศ.2546- ปัจจุบัน ยุคสารเคมีและยากำจัดศัตรูพืช, ช่วงชีวิตของอาจารย์แก้ว จันทิมา ทำให้เราจินตนาการถึง จุดกำเนิด เติบโต ทิศทางอนาคตของการเกษตรยุคสมัยใหม่ที่จะเกิดใน “ทุ่งลอ” ซึ่งเป็นผืนนาปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตจำนวนมากที่สุดในภาคเหนือของประเทศไทย

ทุ่งลอ พ.ศ.2495- 2507 ยุคบุกเบิกของชาวนา

ทุ่งลอซึ่งเป็นผืนนาปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตจำนวนมากที่สุดของภาคเหนือ ในอดีตเมื่อ พ.ศ.2495 คือป่าละเมาะ มีผืนนาปลูกข้าวเพียงไม่กี่ร้อยไร่ มองออกไปยังภูเขาทางทิศตะวันตก มีการเพาะปลูกข้าวไร่หรือพื้นที่ปลูกข้าวบนภูเขาเนื้อที่ไม่กี่แปลง ลักษณะการทำข้าวไร่ก็เหมือนกับการปลูกข้าวโพด คือขุดหลุมนำเมล็ดข้าวหยอดแล้วใช้ดินกลบ หลังจากนั้นรอฝนตก ส่วนการทำนาบนพื้นราบก็การปล่อยน้ำเข้าแปลงนาลักษณะเหมือนการทำนาในปัจจุบัน แต่สมัยก่อนใช้ควายไถปงหรือไถโคลนแล้วหว่านเมล็ดข้าว ส่วนผืนนาที่เพิ่งบุกเบิกจะใช้วิธีไถผงหรือการไถนาโดยไม่มีน้ำแล้วหว่านเมล็ดไถกลบแล้วรอฝน การบุกเบิกไร่นายุคสมัยก่อนเขาใช้เครื่องจักร รถแทรกเตอร์ถูกสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ยี่ห้อ Ford ยี่ห้อ Ferguson ส่วนพื้นที่ป่าที่ไม่รกชัฏจะบุกเบิกด้วยจอบเสียมหรือจ้างคนงานบุกเบิกคิดค่าแรงไร่ละ 100 บาท

สมัยก่อน คนทำนาได้ข้าวเอาไว้กิน เมื่อ พ.ศ.2500 ประเทศไทยกำลังพัฒนา ถนนหนทางไม่มี การเดินนทางต้องเดินด้วยเท้า ถ้าโชคดีก็ได้นั่งเกวียน บ้านเกิดของผมอยู่บ้านสักทุ่ง ตำบลลอ อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย (ในปัจจุบันคือ บ้านสักทุ่ง ตำบลหสงศ์หิน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา) ผมไปเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนปิยมิตร เดินผ่านทุ่งลอสู่ทิศตะวันออกถึงอำเภอเชียงคำ ยุคสมัยก่อนทุ่งลอคือป่าละเมาะ ต้นไม้ใหญ่ถูกตัดโค่นเหลือเพียงตอไม้ เมื่อเดินเท้าถึงแม่น้ำอิง ในฤดูแล้งจะใช้วิธีเดินข้ามน้ำ ส่วนฤดูฝนก็จะนั่งเรือ ผมมักจะแวะหมู่บ้านชาวลื้อซึ่งอยู่ใกล้กับน้ำอิง (บริเวณหมู่บ้านปางมดแดงในปัจจุบัน) ตอนนั้นเริ่มมีการบุกเบิกป่าโดยใช้รถแทรกเตอร์ กำนันเชียรชัย วงศ์ใหญ่ บุกเบิกที่นาจำนวนมากที่สุดเพราะเขามีเครื่องจักร เวลาเดินทางเราจะมองเห็นเครื่องจักรของกำนันเชียรชัย วงศ์ใหญ่ ทำงานบุกเบิกพื้นที่อยู่เสมอ  

พ.ศ.2507 คนภาคอีสานของประเทศไทยย้ายถิ่นมาอยู่บริเวณหมู่บ้านปางมดแดงเพราะอพยพหนีภัยแล้ง ส่วนคนชาวลื้อก็ย้ายถิ่นมาอยู่บริเวณบ้านสันป่าเหียง หรือบริเวณบ้านสักทอง ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา จนถึงปัจจุบัน การย้ายถิ่นของคนภาคอีสานนำมาซึ่งการขยายตัวทางเศรษกิจ มีการตั้งโรงเรียน ตชด.5 มีการค้าขาย คนภาคเหนือเริ่มคุ้นเคยกับวัฒนธรรมคนอีสาน เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟและการแสดงดนตรีหมอลำที่สนุกสนาน นั่นคือความทรงจำของผมสมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนปิยมิตร

สายพันธุ์คนและสายพันธ์ุข้าว “ทุ่งลอ”

คนทุ่งลอยุคสมัยก่อนปลูกข้าวเพียงไม่กี่สายพันธุ์ เริ่มจากข้าวนวลจันทร์ ,ข้าวกำผาย ,ข้าวเหนียวหอมพม่า ยุคสมัยก่อนข้าวเหนียวเม็ดใหญ่เมื่อนึ่งเสร็จนำมารับประทานจะเหนียวติดมือ ต่อมาชาวนาก็เปลี่ยนมาปลูกข้าวเหนียวหอมพม่า ข้าวเหนียวหอมพม่ามีเม็ดเล็กแต่มีกลิ่นหอมมาก เมื่อนึ่งข้าวจนสุกเราจะได้กลิ่นข้าวเหนียวสุกหอมฟุ้งในห้องครัว คนสมัยก่อนทำนาเก็บข้าวไว้กิน ทุกครอบครัวจะเก็บรักษาเมล็ดข้าวไว้ในยุ้งฉางหรือ “เล้าข้าว” พ.ศ.2500 เริ่มมีการซื้อขายข้าว มีพ่อค้าขี่เกวียนเดินทางเข้าหมู่บ้านเพื่อซื้อข้าวเหนียว เมื่อถนนสร้างเสร็จจึงมีกลุ่มพ่อค้าจาก อำเภอพาน อำเภอเทิง เข้ามารับซื้อข้าวเปลือก พวกเขามีรถบันทุกหกล้อ,รถสิบล้อ สำหรับขนส่งข้าวเปลือก ตอนนั้นชาวนาเริ่มปลูกข้าวหอมมะลิขายให้กับพ่อค้า

วัฒนธรรมการทำนา ยังคงมีลักษณะของการช่วยเหลือกันทำงานเรียกว่า “ลงแขก” หรือ “เอามือ” ชาวนาสมัยก่อนทำนาเพียงครึ่งวัน ทำงานช่วงเช้าถึงเที่ยงวัน เมื่อรับประทานอาหารเสร็จก็กลับบ้าน ส่วนลูกจ้างต้องทำงานทั้งวันโดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นผลผลิตข้าว แรงงานผู้ชายข้าว 200 ถังต่อฤดูกาล ส่วนแรงงานหญิงค่าจ้างข้าว 150 ถังต่อฤดดูกาล ค่าเช่าควายคิดเป็นข้าว 100 ถังต่อฤดูกาล หรืออาจจ่ายเป็นเงินจำนวน 300 บาทต่อฤดูกาล ลูกจ้างทำนาสมัยก่อนทำงานดีมาก ตอนเด็กผมจะตื่นแต่เช้ามืดเพื่ออ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ ยามเช้ามืดของฤดูเพาะปลูก เราจะได้ยินเสียงย่ำเท้าของลูกจ้างเดินทางออกไปทำงาน ในฤดูเก็บเกี่ยวยามค่ำคืนเมื่อมองออกไปยังทุ่งนายังคงสว่างไสว กองไฟถูกจุด ชาวนาจะนวดต้นข้าวด้วยแรงงานคน (บุบข้าว) แล้วโยนฟางที่เหลือจากการนวดข้าวลงกองไฟเป็นเชื้อเพลิงให้แสงสว่าง ท้องฟ้ายังไม่ยอมมืดลง

เทคโนโลยีการเกษตรบนทุ่งลอ

การทำนายุคสมัยก่อนเราใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว ฤดูกาลเที่ยงตรง ฝนตกต้องตามฤดูกาล พื้นที่ทุ่งนามีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เช่น สระน้ำ, อ่างกักเก็บน้ำโรงเรียนบ้านสักทุ่ง, อ่างกักเก็บน้ำบ้านสักลอ, เขื่อนห้วยป่าเมี่ยง, บ่อน้ำสำหรับทำการเกษตรเพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วงหลัง การสร้างบ่อน้ำเหมือนกับการเจาะบ่อบาดาลแต่มีความลึกประมาณ 20 เมตร ช่วงแรกพวกเราจ้างผู้ชำนาญมาเจาะบ่อน้ำบาดาล หลังจากนั้นเราก็เริ่มเรียนรู้และเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อใช้ในการเกษตรด้วยตนเอง สำหรับการใช้น้ำ เราจะใช้เครื่องยนต์รถไถเพื่อการเกษตร (อีต๊อก) ขนาด 8-10 แรงม้า ปั่นเครื่องสูบน้ำ สูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมาบนดินเพื่อใช้ในการเพาะปลูก เราใช้เวลาสูบน้ำประมาณ 3 วัน จึงจะมีปริมาณน้ำเต็มผืนนาเนื้อที่ 10 ไร่

การตอกน้ำบ่อคือยุคอพอลโล่ (2510) ยุคที่มนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ การเกษตรผู้ปลูกข้าวเริ่มใช้เครื่องจักรรถไถเดินตามยี่ห้อคูโบต้าหรือยันมาร์  7-10 แรงม้า ทดแทนแรงงานสัตว์วัวควาย เริ่มใช้เครื่องจักร รถไถสีล้อเล็กแบบนั่งขับ 20-30 แรงม้า เพื่อทำการเกษตร เทคโนโลยีการเกษตรเข้าสู่ทุ่งลอพร้อมกับรถจักรยานยนต์ 50 ซีซี จากประเทศญี่ปุ่น

บ่อน้ำคือสิ่งอำนวยความสะดวก ชาวนาไม่ต้องรอฝน เพราะฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวนาสูบน้ำแล้วไถหว่านจนต้นข้าวเติบโต เมื่อใส่ปุ๋ยข้าวจะงามเติบโตอย่างรวดเร็ว ยุคนั้นชาวนาใช้ปุ๋ย 16-20-0 และปุ๋ยน้ำตาลและแอมโมเนียซันเฟต จนเมื่อมีผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้บอกว่า ดินทุ่งลอเป็นดินระหว่างภูเขา ปุ๋ยที่เหมาะสมคือปุ๋ยสูตร 15-15-15 พวกเราถึงเริ่มใข้ปุ๋ยสูตรอื่น แต่ชาวนาก็ไม่เคยใช้ยาฆ่าแมลงในแปลงนาข้าว พ.ศ.2540 เป็นยุคทองของการทำนา พื้นที่ป่าทั้งหมดถูกบุกเบิกกลายเป็นทุ่งนาทำการเกษตร ชาวนาได้ผลผลิตข้าวจ้าวเหลืองปริมาณมากถึง 50-60 ถังต่อไร่

การเกษตรยุคสมัยก่อนไม่ค่อยมีโรค ไม่ค่อยมีศัตรูพืช แต่ภายหลัง พ.ศ.2546 ทั้งโรคและศัตรูพืชมีมากขึ้น ชาวนาเริ่มใช้ยาฆ่าแมลงกำจัดศัตรูพืช สมัยก่อนบ้านเรามีปูจำนวนมาก ช่วงฤดูฝนชาวบ้านมักจะเก็บปูจากไร่นามาทำผลิตภัณฑ์ประกอบอาหารเรียกว่า “น้ำปู” เดียวนี้ปูเริ่มหายากขึ้นเพราะเราใช้ยาฆ่าแมลง สังเกตเวลาใช้ยาฆ่าแมลงวันต่อมาสัตว์ชนิดอื่นจะตายตาม ทั้งปลาดุก, ปลาไหล, ปลาช่อน, สัตว์เล็กสัตว์น้อย, ส่วนคนก็สะสมสารพิษสู่ร่างกาย

เปลี่ยนจากการใช้สารเคมีสู่เกษตรอินทรีย์

ดร.มิซาบุโร ทานิกุจิ ย้ายมาอยู่ทุ่งลอ พ.ศ.2534 เขาสร้างฟาร์มทำการเกษตร ให้ทุนการศึกษากับนักเรียน ให้ทุนปลูกต้นไม้ดูแลต้นไม้ จัดซื้อกล้าต้นสักมาให้นักเรียนปลูกแล้วให้งบประมาณดูแล เขาเป็นคนที่มีจิตใจดีมาก เรามองเขาเป็นคนช่วยเหลือ ชาวบ้านทุกคนรู้ว่าเขามาในนามมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ยามเมื่อเขาเสียชีวิต ที่ดินก็เป็นมรดกให้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผมคิดว่านั่นเป็นยุคเริ่มต้นของเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรหลายคนค้นหาพันธุ์ข้าวทางเลือกตามกระแสรักสุขภาพ แต่เมื่อปลูกข้าวทางเลือกเกษตรกรก็พบว่า ตลาดรับซื้อยังไม่โต ปลูกข้าวไรส์เบอรี่และพันธุ์ข้าวชนิดอื่นแม้จะได้ผลผลิตดีแต่ขายสินค้าไม่ได้

ก่อนหน้านี้เราขายข้าวให้กับพ่อค้าภาคกลาง พวกเขารับซื้อและขายต่อให้กับพ่อค้ารายใหญ่เพื่อส่งออกต่างประเทศ สมัยก่อนมีระบบรับจำนำข้าวโดยรัฐบาล, ระบบประกันราคาข้าวโดยรัฐบาล, แต่ปัจจุบันตลาดต่างประเทศถูกปิด เราจำหน่ายข้าวให้กับพ่อค้าเพื่อนำข้าวเข้าโรงสีบรรจุใส่ถุงแล้วส่งกลับมาขายยังบ้านเรา คนภาคเหนือซื้อข้าวจากคนภาคกลาง ถ้าเรายังทำแบบเดิมคงมีสภาพย่ำแย่กว่าเดิมแน่นอน ยุคสมัยเปลี่ยนแปลง สมัยก่อนเราเป็นประเทศส่งออกข้าว มีระบบรับจำนำ ระบบประกันราคาข้าว เดี๋ยวนี้ไม่มีเพราะเราส่งออกข้าวไม่ได้ ข้าวที่เหลือก็คืออาหารสัตว์เพราะต่างประเทศอย่างเวียดนามเขาครองตลาดผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนประเทศเพื่อบ้าน เช่น  ลาว พม่า เขมร ซึ่งเรามองว่าเขาล้าหลังประเทศไทย 20-30 ปี แต่ผลผลิตการเกษตรของเขาเป็นระบบเกษตรอินทรีย์จริงๆ ไม่มีสารพิษตกค้าง เมล็ดข้าวของเขามีคุณภาพ

ปัจจุบัน ชาวนาปลูกข้าวสองแบบ แบบแรกคือปลูกข้าวเพื่อจำหน่าย แบบที่สองคือปลูกข้าวเพื่อรับประทาน การปลูกข้าวเพื่อรับประทานแม้จะมีการใช้ปุ๋ยเคมีบ้างแต่ก็ใช้ในปริมาณน้อย ยาฆ่าแมลงแทบไม่มี เราทานข้าวทุ่งลอก็ถือว่าปลอดภัยกว่าซื้อข้าวจากที่อื่นมารับประทาน เพราะเราไม่รู้ว่าเกษตรกรที่อื่นเขาใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงหรือไม่ หากเราอยากปลอดภัย หรืออยากให้ข้าวทุ่งลอเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ เราต้องพัฒนาอย่างช้าๆ เปลี่ยนแปลงคน, เปลี่ยนแปลงแนวคิด, รวมกลุ่มเป็นเกษตรกร

อายุเฉลี่ยชาวนาคือ 60 ปี เด็กรุ่นใหม่ทำนาหรือทำการเกษตรแบบอื่นมีรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน คนประสบความสำเร็จคือคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศมีโอกาสได้เรียนรู้การเกษตรจากญี่ปุ่น ได้เรียนรู้วิธีทำการเกษตรของต่างประเทศ ความคิดของคนรุ่นใหม่จึงเปลี่ยนแปลงไป ผมมองเห็นคนรุ่นใหม่ เลี้ยงวัว, เลี้ยงแพะ, ทำสวนเกษตรผสมผสาน, ทำงานหลายอย่าง พวกเขาถึงประสบความสำเร็จ

สัมภาษณ์ / ภาพถ่าย  ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)