สายฝนโปรยลงสู่ผืนป่าต้นน้ำอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ภาคเหนือของประเทศไทย ไหลรินสู่ลำห้วย “ป่ากล้วย” สายน้ำที่หล่อเลี้ยงผืนดินทำกินของเกษตรกรมานานกว่า 50 ปี โดยก่อนนั้น พ่ออุ้ยจันทร์ ภาชนนท์ นำต้นลิ้นจี่จำนวน 12 ต้น ทดลองปลูกบนพื้นที่ลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ผลลิ้นจี่คุณภาพเป็นที่พึงใจ เกษตรกรหลายครอบครัวจึงเริ่มหันมาปลูกลิ้นจี่ป้อนสู่ตลาดจนเป็นที่เลื่องลือ นายยอดชัย มะโนใจ หรือ MR. YOTCHAI MANOCHAI ประธานกลุ่มอนุรักษ์ผลิตลิ้นจี่คุณภาพห้วยป่ากล้วย เล่าว่า ลิ้นจี่ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยป่ากล้วยมีเรื่องราวเล่าขานมากมาย โดยช่วงเดือนเมษายนของทุกปีจะเป็นวันครบกำหนดเก็บเกี่ยว ผลลิ้นจี่ปลอดสารเคมีจะเติบโตเต็มที่และจะถูกเก็บเกี่ยวเพื่อจัดส่งให้กับผู้บริโภคทั่วประเทศไทย
กำเนิดลิ้นจี่คุณภาพของแม่ใจ ประเทศไทย
“กลุ่มอนุรักษ์ลิ้นจี่ห้วยป่ากล้วย” คือกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ที่มีเรื่องราวมาอย่างยาวนาน เริ่มจากพื้นที่ปลูกลิ้นจี่บริเวณห้วยป่ากล้วย พื้นที่ปลูกลิ้นจี่แห่งแรกของอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ตอนนั้นเริ่มปลูกลิ้นจี่จำนวน 12 ต้น ปัจจุบันเหลืออยู่ 11 ต้น เริ่มปลูกเมื่อ พ.ศ.2512 -2513 โดยการนำของพ่ออุ้ยจันทร์ ภาชนนท์ คณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านป่าข่า ท่านมีแนวความคิดว่า โรงเรียนบ้านป่าข่าปลูกลิ้นจี่ 22 ต้น มีผลผลิตดีจึงทดลองนำมาปลูกในสวนของตนเอง บริเวณห้วยป่ากล้วย หมู่ 8 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ประเทศไทย ผลผลิตลิ้นจี่เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภคอย่างมาก ทั้งรูปรสกลิ่นสี เกษตรกรจึงขยายพื้นที่เพาะปลูก เปลี่ยนจากอาชีพอื่นหันมาปลูกลิ้นจี่กันทั่วอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
ช่วงแรกของการปลูก ลิ้นจี่ราคาดีมาก แต่เมื่อมีการแข่งขัน ราคาลิ้นจี่ก็เริ่มลดลง พ.ศ.2530 ลิ้นจี่ราคาตกต่ำ โดยสมัยก่อนระบบการซื้อขายลิ้นจี่เป็นแบบ “หยง” หรือพ่อค้ารับซื้อผลผลิตบริเวณหน้าสวนลิ้นจี่ เกษตรกรไม่มีปัญหาด้านการขาย มีกลุ่มนักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ ส่งเสริมทำลิ้นจี่คุณภาพ เช่น การห่อลิ้นจี่ด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ผลออกมาสีสดสวยกลิ่นหอม ลิ้นจี่ต้นใดพร้อมเก็บเกี่ยวเวลาเดินผ่านใต้ต้นลิ้นจี่จะมีกลิ่นหอม เราจะรู้ได้ทันทีว่า ลิ้นจี่ต้นใดพร้อมเก็บเกี่ยว
ต่อมาระบบการซื้อขายเปลี่ยนแปลง พ่อค้ารับซื้อลิ้นจี่ผลสดโดยไม่ต้องห่อ เกษตรกรเห็นว่ามีความสะดวกรวดเร็ว เป็นการทำการเกษตรที่ลดต้นทุน ทุกคนเห็นชอบรูปแบบการทำการเกษตรแบบนี้ ผลผลิตลิ้นจี่จึงถูกกดราคา ลิ้นจี่จำหน่ายในตลาดราคากิโลกรัม 50 บาท พ่อค้ารับซื้อเพียง 30 บาท เมื่อราคาลิ้นจี่เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ได้รับความเดือดร้อน ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเกษตรกรกดดันภาครัฐ ด้วยการประท้วงปิดถนนด้วยลิ้นจี่ โดยนำลิ้นจี่เททิ้งบริเวณสามแยกมะพร้าวเผา อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ยื่นข้อเสนอประท้วงรัฐบาล
เดินทางสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย
ผมกลับมาปรึกษาสมาชิกกลุ่มว่า น่าจะตั้งกลุ่มทำลิ้นจี่คุณภาพโดยการห่อ จึงรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ก่อตั้ง “กลุ่มอนุรักษ์ลิ้นจี่ห้วยป่ากล้วย” ผลผลิตลิ้นจี่บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยป่ากล้วย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สังเกตเวลาแกะเปลือก ผลลิ้นจี่จะพบเนื้อลิ้นจี่มีเนื้อสีขาวขุ่น เมื่อนำใส่ปากลองเคี้ยวจะรู้สึกได้ถึงเนื้อลิ้นจี่ที่มีความกรอบ เนื้อลิ้นจี่ไม่มีความฉ่ำน้ำมากเกินไป เมื่อลองดมจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว พวกเราจึงตั้งคำขวัญลิ้นจี่ว่า “ไหล่ยก อกตั้ง หนามหด ก้นป้าน” เมื่อเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ก็มีกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยพะเยาลงพื้นที่เก็บข้อมูลโดยมี ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ และคณะนักวิจัย ได้พิจารณาดำเนินการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรกลุ่มอนุรักษ์ลิ้นจี่ห้วยป่ากล้วย เริ่มตั้งแต่กระบวนการทำวิจัย ทำการตลาด ทำลิ้นจี่คุณภาพ 100 เปอร์เซ็น หลังจากนั้น พื้นที่เพาะปลูกลิ้นจี่บริเวณลุ่มน้ำห้วยป่ากล้วยกลายจึงเป็นสถานที่ทำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยพะเยา
งานวิจัยโดยกลุ่มอนุรักษ์ลิ้นจี่ห้วยป่ากล้วยมีหลากหลายงานวิจัย เช่น งานวิจัยไฟล่อแมลง, งานวิจัยแผ่นกาวดักแมลง, งานวิจัยถุงตาข่ายห่อผลลิ้นจี่, เราใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมควบคู่กับการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ นวัตกรรมล่อแมลงเป็นการกำจัดแมลงตัวเต็มวัย ก่อนการผสมพันธุ์ของแมลงที่จะวางไข่ในผลลิ้นจี่ โคมไฟดักแมลงดักผีเสื้อกลางคืนที่จะดักแมลงที่จะมาวางไข่ แผ่นกาวดักแมลงวัน ขวดล่อแมลงวันทอง ล้วนเป็นการกำจัดแมลงก่อนมีการวางไข่ หากไม่มีแมลงวางไข่หรือแมลงเจาะขั้ว ก็ไม่ความจำเป็นสำหรับในการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ผมทำงานวิจัยมาเป็นเวลา 3 ปี พบว่าลิ้นจี่คุณภาพต้องประกอบด้วย กระบวนการ ต้นน้ำ, กลางน้ำ, ปลายน้ำ, มีความสม่ำเสมอ ผมทดลองนวัตกรรมการกางมุ้งให้ต้นลิ้นจี่ พบว่าถ้ากางมุ้งให้ลิ้นจี่ตั้งแต่ลิ้นจี่เป็นลูกเล็กๆ แมลงไม่สามารถเข้าไปในมุ้ง ลิ้นจี่จะปลอดภัย, เกษตรกรปลอดภัย, ผู้บริโภคปลอดภัย
จะมีการประเมินอยู่ทุกปีว่า ภูมิปัญญาและนวัตกรรมส่วนใดใช้ได้ผล มีการจดบันทึกอย่างเป็นระบบ มีการประเมินผลว่าใช้วัสดุชนิดใดแล้วได้ผลอย่างไร เช่น ใช้ถุงสีดำห่อลิ้นจี่ ผลลิ้นจี่จะเกิดผลขาวอมแดง, ใช้ถุงสีแดงห่อลิ้นจี่ ผลลิ้นจี่จะเป็นขาวอมชมพู, ใช้กระดาษสีขาวขุ่นห่อลิ้นจี่ ผลลิ้นจี่จะเป็นสีแดงอมชมพู, การทำลิ้นจี่ต้องลดต้นทุนสารเคมี แต่มีการใช้วัตถุดิบอย่างอื่นทดแทน สมาชิกในกลุ่มทุกคนต้องทำเหมือนกัน เช่น ใช้ปุ๋ยหมักทดแทนปุ๋ยเคมี, การลดสารเคมีโดยใช้ไฟล่อแมลง, ตั้งกาวดักแมลง, ตั้งไฟล่อแมลงหรือขวดล่อแมลง ซึ่งงานวิจัยในแต่ละชิ้นเป็นงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา
ลิ้นจี่ปลอดสารพิษสู่ผู้บริโภคสมัยใหม่
การทำลิ้นจี่คุณภาพ เราสามารถกำหนดราคาเองได้ แต่ต้องทบทวนอยู่เสมอว่า ลิ้นจี่มีคุณภาพตามราคาที่กำหนดหรือไม่ ตัวอย่างเช่น เกษตรกรกำหนดราคาขายไว้กิโลกรัมละ 80 บาท ผลผลิตต้องมีคุณภาพ รสชาติต้องมีความหวานตามเกณฑ์กำหนด กลิ่นต้องหอม สีของเปลือกอมชมพู สัมผัสผิวดีไม่มีหนามคมตำมือตอนแกะเนื้อ ถ้าผลผลิตเป็นไปตามมาตรฐาน เกษตรกรสามารถกำหนดราคาจำหน่ายได้เอง สำหรับกลุ่มอนุรักษ์ลิ้นจี่ห้วยป่ากล้วย สามารถกำหนดราคาขายบริเวณหน้าสวนเพราะเราตั้งใจทำลิ้นจี่คุณภาพ เราได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ ซึ่งสินค้าเป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานการรับรอง
ด้านการจำหน่าย สินค้าของกลุ่มอนุรักษ์ลิ้นจี่ห้วยป่ากล้วย วางจำหน่ายที่เลม่อนฟาร์ม, เดอะมอล์, ตลาดของภาครัฐ, ตลาดองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) และการตลาดแบบออนไลน์ ลิ้นจี่ของกลุ่มอนุรักษ์ลิ้นจี่ห้วยป่ากล้วยเป็นที่รู้จักในตลาดมากขึ้น มีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องมีการบริหารจัดการสินค้าเพื่อสินค้าส่งถึงมือผู้บริโภคด้วยความสด หอม หวานอร่อย ถูกใจลูกค้า มีการเตรียมความพร้อมเพื่อจัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคตั้งแต่เดือน เมษายน – พฤษภาคม ของทุกปี
เรื่อง /ภาพ ร.ต.อ.ทรงวฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)