“ฉลอง พินิจสุวรรณ” คือหนึ่งในศิลปินรุ่นบุกเบิกที่เรียกตนว่า “9 สล่าเชียงราย” เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินรุ่นพี่อย่างมากล้น แต่เมื่อชมผลงานศิลปะของฉลอง กลับมองเห็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นเป็นตัวตน เทคนิคการเขียนภาพด้วยปากกาด้ามเดียว ใช้วิธีเขียนด้วยการ จุด…จุด…จุด… เพ่งสมาธิ นิ่ง สงบ แต่ละจุดร้อยเรียงเป็นผลงานศิลปะบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ เทคนิคการเขียนภาพด้วย จุด…จุด…จุด… ยังส่งผลต่อกลวิธีการเล่าเรื่องในงานเขียนหนังสือของฉลอง ปากกาด้ามเดียวทั้งวาดรูปและเขียนหนังสือ เขาจึงได้รับฉายาว่า “นักเขียนตัวจริง”
ครูสอนศิลปะโรงเรียนมัธยม กรมสามัญศึกษา ประเทศไทย
ผมเกิดที่บ้านแม่ใจปง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย (ขณะนั้น) ยุคสมัยก่อนสิ่งแวดล้อมบ้านเมือง ไม่มีแรงบันดาลใจให้พยายามทำสิ่งใด ผมเป็นเด็กนักเรียนที่พยายามดิ้นรนเดินทาง 70 กิโลเมตรจากแม่ใจ มาเรียนหนังสือที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม เรียนหนังสือก็ไม่ค่อยเก่ง เวลาทำการบ้านไม่ได้ก็ไม่รู้จะถามใคร นั่นคือจุดอ่อนของเด็กบ้านนอกซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่าด้อยกว่าเด็กในเมือง ผมตัดสินใจเลือกเรียนแผนกวิจิตรศิลป์โรงเรียนสิริกรฯ เชียงใหม่ หลังจากนั้นเรียนต่อศิลปกรรม วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ เมื่อจบการศึกษาก็สมัครสอบครู ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูโรงเรียนพานพิทยาคม
สอนศิลปะโรงเรียนพานพิทยาคม 10 ปี ชีวิตข้าราชการครูของผมใช้ไปกับการสอนหนังสือ วาดภาพ เมื่อมีเวลาว่างผมก็เขียนบทความด้วยลายมือส่งหนังสือพิมพ์สยามรัฐตีพิมพ์ ช่วงนั้นงานเขียนหนังสือของผมได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่หลายสำนัก เช่น สยามรัฐ มติชน ศิลปวัฒนธรรม อาจเป็นเพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ สมัยก่อนตอนเรียนหนังสืออยู่จังหวัดเชียงใหม่ ผมพักอยู่กับอ้ายปอน หรือ พิบูลศักดิ์ ลครพล นักเขียนอารมณ์โรแมนติก ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2560 ผมมองเห็นอ้ายปอนอ่านหนังสือ อ่านบทกวี หลังเลิกเรียนระหว่างรอข้าวปิ่นโตซึ่งจะมีคนจะมาส่งเวลาห้าโมงเย็น บ่ายสามโมงท้องผมเริ่มร้องจึงเอาหนังสืออ้ายปอนมาอ่านแก้หิว ผมอ่านหนังสือรอข้าวปิ่นโตจนติดเป็นนิสัย กลายเป็นคนชอบอ่านหนังสือ หนังสืออันเป็นเหมือนยาขมกลายเป็นความสนุกเหมือนเราได้ท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ความคิดอ่านของเราเติบโตเพราะการอ่านหนังสือ
เมื่อโยกย้ายมาเป็นครูสอนศิลปะโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์และสามัคคีวิทยาคม ผมก็เริ่มคบหาสมาคมกับอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ตอนนั้นท่านเริ่มสร้างบ้านดำ แต่ก่อนหน้านั้นผมรู้จักอาจารย์ถวัลย์ในฐานะรุ่นพี่ ตอนเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมต้น โรงเรียนสามัคคีวิทยาคมเชิญอาจารย์ถวัลย์บรรยายถึงความสำเร็จในการเรียนศิลปะ เด็กหลายคนรับแรงบันดาลใจจากอาจารย์ถวัลย์จนเบนสายเลือกเรียนศิลปะ ผมมองอาจารย์ถวัลย์เป็นต้นแบบ เมื่อผมกลับมาเป็นครูสอนโรงเรียนสามัคคีก็ไปมาหาสู่และชักชวนกันทำงานศิลปะ “หลองเดวอ้ายพาไปเล่นขายคัว” อาจารย์ถวัลย์บอกผม หลังจากนั้น พ.ศ.2530 พวกเรารวมตัวเรียกตนเองว่า“สล่า” แต่ละคนทำงานศิลปะตามความถนัด เช่น การแกะสลักไม้ การวาดภาพเพื่อการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชน
ยุคบุกเบิกศิลปะ 9 สล่าเชียงราย
พ.ศ.2532 สล่าสิบคนร่วมกันจัดนิทรรศการศิลปะครั้งแรก ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2535 พวกเราจัดนิทรรศการศิลปะที่จังหวัดเชียงรายเป็นครั้งแรกชื่องาน “นิทรรศการศิลปะ 9 สล่าเชียงราย” ซึ่งได้จัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปิน ถวัลย์ ดัชนี, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, จำรัส พรหมมินทร์, สมพงษ์ สารทรัพย์, สมพล ยารังษี, สุเทพ นวลนุช, ฉลอง พินิจสุวรรณ, ยอดชาย ฉลองกิจสกุล และเรวัตร ดีแก้ว นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนการทำงานศิลปะในยุคบุกเบิกนำโดยอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี
นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะยุคสมัยนั้น เป็นการแสดงผลงานตามความถนัด ผมทำงานแกะสลักไม้ วาดภาพ แต่การเขียนหนังสือทำให้ผมได้เปรียบเพราะก่อนจัดนิทรรศการศิลปะแต่ละครั้ง ผมจะเขียนบทความส่งหนังสือพิมพ์เพื่อประชาสัมพันธ์ หลังจากจัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะแล้วเสร็จ ผมจะเริ่มทำงานเขียนหนังสือพ๊อคเก็ตบุ๊ค ปัจจุบันผมมีหนังสือตีพิมพ์เผยแพร่แล้วเกือบ 20 เล่ม ผมศึกษางานศิลปะแต่ละด้านด้วยตนเอง ทำงานด้วยความศรัทธา เขียนหนังสือด้วยปากกาลงบนกระดาษฟุตสแก๊ป ยามว่างก็จะอ่านหนังสือ คนยุคก่อนมีปัญญาความรู้เพราะการอ่าน อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อ่านหนังสือเยอะมาก มีรสนิยมการอ่านหนังสือดีมาก มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศหลายภาษา อาจารย์ศิลป์ พีระศรี สอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า “นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร” เพราะคนทำงานศิลปะนอกจากจะมีฝีมือแล้ว ยังต้องแสวงหาความรู้
ยุคสมัยก่อนไม่มีใครสอนงานศิลปะ ผมต้องศึกษาจากคนที่ประสบความสำเร็จ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เป็นต้นแบบบุคคที่ประสบความสำเร็จ ท่านแนะนำให้ผมอ่านหนังสือหลายเล่ม ผมหาหนังสือตามคำแนะนำมาอ่านเพราะต้องการคบคนที่เหนือชั้นในเชิงศิลป์ การทำงานด้านศิลปะของเราถึงจะพัฒนา ผมเคยศึกษาว่า อาจารย์ถวัลย์เขียนรูปเวลาใด อ่านหนังสือเวลาไหน ผมพบว่า อาจารย์ถวัลย์ทำงานหลายอย่าง ทั้งเขียนภาพ อ่านหนังสือ เขียนบทความ เขียนบทกวี แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการแสดงผลงานทางศิลปะ
ศิลปินกับการแสดงผลงานศิลปะ ก็เหมือนกับนักมวยที่ต้องขึ้นเวทีชก เริ่มขึ้นชกตั้งแต่มวยวัด สนามมวยลุมพินี สนามมวยราชดำเนิน สนามมวยนานาชาติ เราต้องพัฒนาตนเอง ลองดูสถิติการแสดงงานศิลปะของศิลปิน เคยผ่านเวทีการแสดงผลงานศิลปะมามากแค่ไหน ปัจจุบันคนทำงานศิลปะมีเยอะมาก แต่คนที่สะสมงานศิลปะนั้นมีน้อย ศิลปินต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ให้เป็นที่ยอมรับของสังคม
ภาพสะท้อนตัวตนอันในผลงานศิลปะ
คนวาดภาพอาจมีฝีมือแต่ไม่มีตัวตนเป็นคนไม่มีอัตลักษณ์ เหมือนนักดนตรีที่บรรเลงร้องเพลงของคนอื่น อัตลักษณ์ของผมคือการเขียนภาพด้วยปากกาด้ามเดียว มีวิธีเขียนด้วยการ จุด…จุด… จุด… ด้วยอารมณ์สงบนิ่ง เหมือนกับการทำสมาธิ นั่นคืออัตลักษณ์ งานศิลปะจึงมีคุณค่าเพราะตัวตน ส่วนการดำรงอยู่ในวงการศิลปะสำหรับผมศิลปินต้องมีวินัย มีการวางแผน มีการบริหารจัดการที่ดี วางแผนการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย หนึ่งวันมีสิ่งใดต้องทำ หนึ่งปีควรทำอะไรบ้าง เราต้องเอาความคิดสร้างสรรค์ในมันสมองของเราออกมาเป็นผลงานศิลปะจึงจะรู้สึกว่าประสบผลสำเร็จ เกิดความสุขสบายใจ ถ้าพูดคุยแต่ไม่ทำก็เป็นเพียงลมปาก วันเวลาของชีวิตเราเหลือน้อยลงทุกวัน ผมวาดภาพชีวิตดั่งเปลวเทียนเพื่อเตือนตนเองว่า ชีวิตคนเหมือนเทียนที่ถูกจุด วันหนึ่งก็ต้องดับมอดไม่เหลือ เมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว จึงต้องรีบทำงาน
สำหรับเด็ก การเรียนรู้ต้องปล่อยให้เติบโตตามประสบการณ์ ความคิดของเด็กยังไม่ก่อเกิด ความคิดอ่านยังไม่ตกผลึก ปล่อยให้เขาเรียนรู้แล้ววันหนึ่งเมื่อมีความคิดเขาจะทำในสิ่งที่ตนชอบ แต่ก่อนจะทำอะไรก็ต้องมีความศรัทธา มีความมุ่งมั่น มีหัวใจที่จะทำตามเป้าหมายอันชัดเจน ชีวิตคนจำเป็นต้องอาศัยเวลาเพื่อบ่มเพาะ เหมือนมะม่วงเมื่อสุกงอมจึงมีรสหอมหวานถึงเริ่มกิน ถ้าเร่งรัด บังคับขู่เข็ญ ความหอมหวานไม่มี
ตัวอย่างเช่น ผมตัดสินใจลาออกจากราชการ ผมมีการเตรียมความพร้อม มีหัวใจให้งานศิลปะเต็มร้อย ผมสร้างหอศิลป์ไตยวนเพราะมีตัวตน เมื่อทุกคนเห็นผลงานทางศิลปะจะรู้ว่าเป็นงานของฉลอง พินิจสุวรรณ เพราะมันเป็นตัวตนของผม ตัวตนบางคนค้นหาไม่เจอ บางคนทำงานศิลปะอย่างไรก็ไม่ใช่ตนเอง เหมือนนักร้องที่ขับขานเพลงของคนอื่น เพลงนั้นไม่ใช่บทเพลงที่เขาประพันธ์ ไม่มีสาระแห่งความเป็นตัวตน เหมือนเอาลมหายใจคนอื่นมาหายใจ แล้วเมื่อใดตัวตนจะปรากฎ งานศิลปะทุกอย่างมิว่าจะเป็น การวาดภาพ การเขียนหนังสือ ดนตรี ต้องมีตัวตนอันเป็นอัตลักษณ์ คนเป็นศิลปินต้องสื่อถึงอัตลักษณ์ของตนเอง ต้องทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง มีการแสดงผลงานศิลปะให้ผู้คนได้เสพ รับรู้และติดตาม ธรรมชาติเมื่อมีเมล็ดพันธุ์ก็ต้องบ่มเพาะให้เติบโตแตกกิ่งก้านสาขาผลิดอกออกผล ศิลปินก็เช่นกันต้องมีการบ่มเพาะตนเอง
การแสดงผลงานศิลปะคือภาพสะท้อนตัวตน ศิลปินต้องตรวจสอบตนเองเพราะธรรมชาติของมนุษย์จะเข้าข้างตนเอง เราจะรู้ได้ด้วยการตรวจสอบผ่านกระบวนการ เช่น งานเขียนหนังสือผ่านบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ผ่านการตรวจสอบของบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ เมื่อผ่านการตรวจสอบผลงานก็ได้รับการรับรอง เช่นเดียวกับผลงานศิลปะ ผลงานต้องผ่านคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อจัดแสดงในนิทรรศการ เมื่อผลงานศิลปะแสดงต่อสาธารณะชน ก็ถือเป็นผลงานซึ่งได้รับการตรวจสอบกลั่นกรอง ศิลปินเมื่อผ่านการตรวจสอบก็จะมีความมั่นใจในตนเอง
มรดกทางปัญญาของศิลปินถวัลย์ ดัชนี
เมื่อครั้งอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ยังมีชีวิตได้ทำผลงานไว้หลายอย่าง เมื่อตายก็นอนตายตาหลับ งานด้านศิลปะวัฒนธรรมท่านเป็นผู้ปลุกกระแสความคิดให้ผู้คนหันมานิยมวัฒนธรรมท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น พินเปี๊ยะของอุ้ยแปง โนจา ความจริงวัฒนธรรมการดีดพิณเปี๊ยะตายไปนานแล้ว แต่เมื่ออาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ได้ยินเสียงพิณเปี๊ยะที่ Opera House ประเทศเดนมาร์ก พบว่าเป็นเสียงดนตรีที่มาจากประเทศไทย
เมื่อกลับถึงเมืองไทยอาจารย์ถวัลย์ก็ติดตามหาเสียงพิณ พบว่าผู้เล่นพิณเสียชีวิตแล้ว แต่ก็ยังคงทราบข่าวว่ายังมีคนเล่นพิณเปี๊ยะอยู่ที่จังหวัดลำพูนแต่ย้ายครอบครัวมาอาศัยอยู่ บ้านท่าหล่ม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ชื่อว่า “แปง โนจา” อาจารย์ถวัลย์พบว่าลุงแปงทำงานจักสาน ส่วนพิณเปี๊ยะนั้นได้หยุดเล่นไปเมื่อ 70 ปีก่อน อาจารย์ถวัลย์พาลุงแปงมาฟื้นฟูฝีมือด้านการเล่นพิณปี๊ยะขึ้นมาใหม่โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต อาจารย์ถวัลย์พาลุงแปงแสดงฝีมือพิณเป็นที่เลื่องลือ หลังจากนั้นศิลปินล้านนาจรัล มโนเพชร ก็ได้สืบสานและพาลุงแปงบันทึกเสียงการเล่นพิณเปี๊ยะ ทำให้ศิลปะการเล่นพิณเปี๊ยะยังคงถูกสืบสานสู่คนยุคต่อมา
คุณค่าของงานศิลปะคืออะไร เพราะงานศิลปะเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่จะนำเสนอให้สังคมได้รับรู้ เช่น เรื่องการตัดไม้ทำลายป่า เราจะสะท้อนอย่างไรให้สังคมเห็นความสำคัญของปัญหา นั่นคือมุมมองของศิลปินในการวาดภาพ เพราะคุณค่าของงานศิลปะคือการสะท้อนสังคม แล้วพวกเรามองคุณค่าศิลปะกันอย่างไร เช่น ผลงานของแวนโก๊ะ ยามมีชีวิตไม่เคยขายผลงานได้เลย แต่แวนโก๊ะก็ยังวาดภาพ เมื่อแวนโก๊ะตาย การศึกษาค้นคว้าวิจัยทำให้คุณค่าของงานศิลปะเกิดขึ้น ใครมีผลงานของแวนโก๊ะในครอบครองกลายเป็นมหาเศรษฐี ฉะนั้น งานศิลปะจึงต้องอาศัยกาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
สำหรับการเขียนหนังสือ ผมเขียนหนังสือเหมือนการเขียนภาพ คือจะต้องมีการศึกษาค้นคว้า หาข้อมูล เข้าใจถ่องแท้ นำเสนอในสิ่งที่น่าสนใจ เขียนในสิ่งที่ยังไม่มีใครเคยเขียน อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เคยสอนไว้ว่า… “สิ่งไหนที่มีคนทำสำเร็จมาแล้ว เราไม่ควรทำ แต่ต้องทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำ”
สัมภาษณ์ / ภาพถ่าย ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)