พิบูลศักดิ์ ลครพล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2560 อายุวัย 70 ปี บนเส้นทางชีวิตศิลปินได้รับอิทธิพลจากงานวรรณกรรมมาแต่ครั้งเยาว์วัย ยามเติบโตความคิดทางศิลปะแสดงออกผ่านศิลปะหลายแขนง งานอักษรเขียนหนังสือนิยาย เรื่องสั้น บทกวี งานดนตรีมีผลงานบทประพันธ์เพลงให้ศิลปินขับร้อง งานโฆษณาหลายชิ้นยังเป็นที่จดจำ ปัจจุบัน ภาพวาดห้วงชีวิตยามอาทิตย์อัสดงยังคงงดงาม ปลายพู่กันสีน้ำของศิลปินแห่งชาติยังเคลื่อนไหว กระแสความคิดศิลปินยังคงทรงพลัง

วัยเยาว์ศิลปินแห่งชาติของประเทศไทย

ผมมีความผูกพันกับเมืองพะเยาเพราะเมื่อครั้งยังเด็กเคยเดินทางมากับคุณยาย มาไหว้สาพระเจ้าตนหลวงตามประเพณี ตอนนั้นนอนที่วัดพระเจ้าตนหลวงมองเห็นกว๊านพะเยายังสวย มีรถเล็กเพียงไม่กี่คันที่เดินทางจากแม่ใจมาเมืองพะเยา คุณยายผมเล่าว่า คุณยายเป็นคนเชื้อสายไทยลื้อชาวลำพูน อพยพย้ายถิ่นฐานมาเพราะเจ้าหลวงเมืองลำพูนส่งคนมาสอดส่องดูสาวงามเพื่อเอาไปเป็นเมีย คุณยายต้องหลบอยู่ในป่าเพราะลูกผู้พี่ถูกทหารพาไปเป็นเมียเจ้าหลวงลำพูน ต่อมา คุณยายก็พบรักกับคุณตาซึ่งเป็นพ่อค้าวัวต่างจากรัฐฉานประเทศพม่า เมื่อแต่งงานก็ขายวัวควายซื้อที่ดินตั้งรกรากอยู่แม่ใจ

ผมชอบอ่านหนังสือชอบวาดภาพมาตั้งแต่ยังเด็ก ครั้งแรกที่เริ่มจับพู่กันวาดสีน้ำเพราะเพื่อนชวนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานไปวาดภาพทิวทัศน์ป่าเขา ผมก็ยังไม่รู้ว่าสีน้ำคืออะไร ไม่มีสมุดวาดภาพเป็นของตนเอง ไม่มีพู่กัน เมื่อเดินทางถึงจุดชมวิว ผมมองเพื่อนวาดภาพ ผมขอยืมพู่กันจิ้มจุ่มสีน้ำวาดเทลงบนกระดาษ นั่นเป็นครั้งแรก ต่อมาเมื่อเรียนหนังสืออยู่โรงเรียนศิริมาตย์เทวี อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ในชั่วโมงศิลปะคุณครูสอนแกะสลักไม้เพื่อทำภาพพิมพ์ ผมทำงานด้วยความตั้งใจ เมื่อหมดชั่วโมงผมนำผลงานส่งครู คุณครูท่านถามผมว่า เธอทำงานศิลปะอะไรมาให้ครู ครูมอบงานแกะสลักภาพพิมพ์หมู่บ้าน แต่ผมแกะสลักภาพหญิงสาวหันหลังเปลือยกายพิมพ์เป็นภาพส่งคุณครู

ผมรักงานศิลปะและวรรณกรรมจึงเลือกเรียนต่อที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอาชีวศิลป์ เรียนอยู่ชั้นปี 1 คุณยายของผมก็เสียชีวิต ผมบรรพชาเป็นสามเณร ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ลาสิกขา เพราะคิดว่าชีวิตของผมไม่เหลือใครอีกแล้ว แต่วันหนึ่งก็มีเพื่อนนำนิตยสารชัยพฤกษ์มาให้ผมอ่าน เรื่องสั้นชื่อ “น้ำใจ” ผลงานเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิตของผมได้รับการตีพิมพ์ เป็นแรงผลักดันให้ผมกลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง

วัยหนุ่มห้วงวัยแห่งการแสวงหา

หลังกลับไปเรียนวิทยาลัยอาชีวศึกษาอาชีวศิลป์ ผมรู้จักกับ“ชาญ ฮวดสวัสดิ์” วันหนึ่งขณะอยู่ในห้องเรียนเขานุ่งขาวห่มขาวเดินเข้ามาในห้องเรียน เขาเข้ามากุมมือของผมเพื่อถ่ายเทพลังแล้วบอก “ไปอยู่กับผมเถอะ” ชาญ อาศรมสาธนา รับอิทธิพลจากงานวรรณกรรมและใช้ชีวิตตามหนังสือของรพินทรนาถ ฐากุร สร้างอาศรมของตนเองด้วยไม้โกงกางอาศัยอยู่บนเกาะเสม็ด ยุคสมัยนั้นเป็นยุคสงครามเวียดนาม วัยรุ่นยุคฮิปปี้ชอบอ่านหนังสือมีรสนิยมการอ่านที่ดี วรรณกรรมของรพินทรนาถ ฐากุร, คาลิล ยิบราน เป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยม ผมกับเพื่อนนิยมในตัวของชาญจึงตัดสินใจเดินทางติดตามไปยังเกาะเสม็ดตามคำเชิญ

สมัยก่อนการเดินทางไปเกาะเสม็ดใช้เวลายาวนานเพราะเรือเดินทางมีเพียงลำเดียว เรือเดินทะเลลำเล็กบรรทุกสินค้าเต็มลำเรือ ผู้โดยสารต้องทำหน้าที่ลูกเรือช่วยไต้ก๋งเรือขนข้าวสาร ขนถ่าน ขนมันสัมปะหลัง กว่าจะมีที่นั่งให้หย่อนก้นก็เป็นที่เหน็ดเหนื่อย ยามเรือเดินทะเลเทียบท่าถึงเกาะเสม็ด เราเดินเท้าผ่านหาดทรายเป็นระยะทางไกลเพราะอาศรมสาธนาตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมของเกาะ ผมยังจำเสียงย่ำเท้าที่เหยียบลงบนผืนหาดทรายแก้วเกาะเสม็ด ทรายเม็ดละเอียดเวลาเดินจะได้ยินเสียง ยามหันหลังมองออกไปยังผืนทรายจะมองเห็นรอยเท้าที่ย่ำเดินผ่านมา ที่นั่นคือสวรรค์ ผมไม่คิดจะกลับไปเรียนหนังสืออีก เมื่อก้าวย่างบนหาดทรายถึงจุดหมายจะพบอาศรมสาธนา ถัดต่อจากนั้นรู้สึกว่ามีศิลปินหลายท่านจับจองพื้นที่พักอาศัย เช่น อาจารย์พิชัย นิรันดร์ , อาจารย์อนันต์ ปาณินท์, อาจารย์ประเทือง เอมเจริญ ผมเรียนรู้งานศิลปะ อ่านหนังสือ อ่านปรัชญา อาศัยอาศรมสาธนาเป็นโรงเรียนชีวิต

หลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอาชีวศิลป์ ผมเรียนต่อวิทยาลัยครูเชียงใหม่ เชียงใหม่ยุคสมัยนั้นเป็นแหล่งรวมศิลปวิทยา ผมกับเพื่อนถนอม ไชยวงษ์แก้ว พวกเราตั้ง “ซาลอง” หรือคำเรียกชมรมนักเขียนฝรั่งเศสที่ซอยวัดนันทาราม งานเขียนหนังสือของผมหลายชิ้นได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารหลายฉบับ ผมทำงานหลายอย่าง ตอนกลางวันผมฝึกสอนหนังสือที่โรงเรียนพุทธิโสภณ ตอนกลางคืนเป็นคนเขียนภาพโปสเตอร์โรงหนัง ยุคสมัยนั้นเชียงใหม่รุ่งเรืองมาก มีโรงหนังอันเป็นแหล่งวรรณกรรมหลายแห่ง การดูภาพยนต์ตะวันตกคือการสะสมวัฒนธรรมอย่างหนึ่งซึ่งช่วงเวลานั้น ผมเริ่มรู้จักอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ท่านเพิ่งเรียนจบจากเนเธอร์แลนด์

คุณครูนักเขียนของนักเรียนแม่ฮ่องสอน  

เมื่อเรียนจบจากวิทยาลัยครูเชียงใหม่ ผมได้รับการบรรจุเข้ารับราชการครูที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผมสอนโรงเรียนบ้านป่าลาน ส่วนแฟนของผมสอนที่โรงเรียนแม่ลาน้อย ผมเป็นครูสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 เป็นครูหนุ่มสอนหนังสือและแต่งเพลงให้เด็กร้อง พานักเรียนไปเรียนที่น้ำแม่จ๋าเก็บก้อนหินนับเลข ผมเริ่มมองเห็นแล้วว่าระบบการศึกษาของไทยมีปัญหาจึงมุ่งเป้าหมายว่า เด็กนักเรียนต้องอ่านหนังสือได้ ผมบันทึกเรื่องราวผ่านวรรณกรรม “ทุ่งหญ้าสีน้ำเงิน” หนังสือได้รับรางวัลสัปดาห์หนังสือ ส่วนห้องสมุดได้รับรางวัลห้องสมุดดีเด่นของจังหวัด คุณครูทั่วจังหวัดแม่ฮ่องสอนเดินทางข้ามน้ำ 13 ท่า เหมารถเดินทางมาศึกษาดูงาน มันเป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับที่นั่น สอนไม่ตรงตามหลักสูตรแต่เด็กทุกคนอ่านออกเขียนได้

ผมบอกนักเรียนของผมว่า ถ้าเดินผ่านหน้าบ้านของใครแล้วไม่ได้ยินเสียงอ่านหนังสือระวังให้ดี ทุกเย็นผมจะเดินอยู่หน้าบ้านของนักเรียน เมื่อเดินผ่านหน้าบ้านเด็กนักเรียนคนใดก็จะได้ยินเสียงอ่านหนังสือ เมื่อเยี่ยมเยือนบ้านหลังใดก็จะได้กินน้ำชา สมัยก่อนชาวไทยใหญ่จะคั่วใบชาใส่กาน้ำร้อนเพื่อต้อนรับแขก เวลากินก็ใส่เกลือนิดหน่อย เขาเรียกว่า “น้ำเมี่ยง” แม่ฮ่องสอนคือฉากวรรณกรรมหลายชิ้นงานของผม เห็นได้ชัดว่าศิลปวรรณกรรมไม่ได้เห็นผลในเร็ววัน แต่ผลพวงแห่งความดีงามจะเห็นผลเมื่อวันเวลาผ่านไปนับสิบปี ลูกศิษย์ของผมหลายคนเติบโตเป็นนักอ่าน

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี แนวคิดการกระจายเศรษฐกิจสู่ชนบทมีเงินผันเข้าหมู่บ้าน ครู ผู้ใหญ่บ้าน พระสงฆ์ มีเกียรติและศักดิ์ศรีมากขึ้น หมู่บ้านเริ่มมีรถขนของป่าไปขายในเมือง กระทรวงศึกษาธิการย้ายมาอยู่กับกระทรวงมหาดไทย คุณครูมีขีดขั้นบนบ่าเครื่องแบบข้าราชการ มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ถือเป็นความอ่อนแอของระบบการศึกษา ผมถูกยืมตัวไปสร้างห้องสมุดให้กับโรงเรียนชุมชนบ้านปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

โรงเรียนแห่งใหม่เป็นชุมนุมของคุณหญิงคุณนาย ภรรยานายด่านศุลกากร ภรรยานายตำรวจ เศรษฐกิจค่อนข้างดีเพราะเป็นเส้นทางผ่านของหยกจากรัฐฉาน ประเทศพม่า ตอนเย็นจะมองเห็นพ่อค้าขนส่งหยกด้วยม้าหรือลาผ่านหมู่บ้าน มองเห็นปะหล่องหรือกระเหรี่ยงคอยาวเดินทางผ่านหรือพักค้างแรมในหมู่บ้านเป็นเรื่องปกติ ข้าราชการหลายคนมีช่องทางทำกิน จนเมื่อ พ.ศ.2519 เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลามหาวิปโยค เพื่อนของผมหลายคนหลบหนีเข้าป่า ส่วนผมพร้อมครอบครัวอพยพมาอยู่ในเมืองหลวง  

การแข่งขันของคลีเอทีฟบริษัทโฆษณา

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมออกจากระบบราชการ ทำงานเป็นนักเขียนอาชีพแต่ก็พบว่า การเขียหนังสือเพียงอย่างเดียวเป็นหลักพึ่งพิงของครอบครัวไม่ได้ แต่พื้นฐานงานวรรณกรรมทำให้ผมได้งานบริษัทโฆษณา ผมทำงานตำแหน่งก็อปปี้ไรส์เตอร์เพียง 1 ปี ก็เลื่อนตำแหน่งทำงานโฆษณาทีวีซึ่งถือว่าเร็วมาก งานโฆษณาธนาคารทหารไทยซึ่งถ่ายทำที่จังหวัดน่านทำให้วัดภูมินทร์เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย แต่งานโฆษณาก็มีข้อเสียเรื่องการแข่งขัน การแข่งขันทำให้ชีวิตขาดความสุข เวลาเข้าห้องน้ำสมองจะนึกถึงเรื่องการแข่งขัน ต้องรับข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก ต้องอ่านพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ทุกเล่ม

ยามทุกข์ใจ ผมจะปรึกษาอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ตอนท่านแสดงผลงานที่หอศิลป์เจ้าฟ้าผมก็เดินทางชมผลงานศิลปะของท่าน ท่านก็แนะนำว่า “ฟ้าอยู่ใต้แก่นต๋าเฮานี้ คิงบ่ดีกึ๊ดนัก” หมายความว่า ถ้าคิดมากเกินไปเราจะมองไม่เห็นตัวปัญหา ตอนนั้นผมทำงานหนัก มีปัญหาเกี่ยวกับการเขียนหนังสือวัยฝันวันเยาว์ลงนิตยสารดิฉัน รู้สึกว่าตนเองเขียนหนังสือได้ไม่ดีเท่าที่ควร ท่านแนะนำว่า “คิงทำงานหนัก ลองเขียนเรื่องกางเกงยีนส์ตกน้ำ” ผมฟังแล้วสะดุ้งเพราะไม่คิดว่าท่านจะติดตามอ่านงานของผม ผมได้รับคำแนะนำและครุ่นคิด จึงตัดสินใจลาออกจากบริษัทโฆษณา เริ่มเขียนหนังสือบ้านดวงใจอย่างจริงจัง แต่ก็ไม่วายมีบริษัทเอเยนซี่โฆษณาติดต่อให้ทำหน้าที่เจรจาตกลงกับธนาคารทหารไทยเพื่อทำหนังโฆษณา ผมยื่นข้อเสนอเงินเดือนเป็นสองเท่า ภายหลังทำงานโฆษณาธนาคารทหารไทยสำเร็จผมก็ลาออกเพราะรู้ว่าไม่ใช่เส้นทางชีวิตของผม ช่วงหลัง ผมหันเหชีวิตมาทำงานวาดภาพ อาจารย์ถวัลย์ท่านก็ตำหนิผมในงานแสดงศิลปะว่าไม่ตั้งใจทำงานเท่าที่ควร ท่านคอยติดตามดูแลชี้แนะผมอยู่ตลอด 

สู่ฝันมาชารีดนตรีกวีสัญจร

หลังลาออกจากบริษัทโฆษณาผมก่อตั้งสำนักพิมพ์ “สู่ฝัน” ทำนิตยสารบทกวีรายเดือน “สู่ฝัน” มียอดขายหนังสือของสำนักพิมพ์สูงกว่า 20,000 เล่ม ส่วน “ขอความรักบ้างได้ไหม” ยังเป็นนวนิยายที่ขายได้และถูกนำมาแต่งเป็นบทเพลงเสนอสังกัดค่ายเพลงไนท์สปอตโปรดักชั่นแต่ก็ตัดสินใจถอนตัวมาก่อน “ขอความรักบ้างได้ไหม” เป็นบทเพลง บทกวี เป็นความฝันวัยเยาว์ซึ่งต้องเล่าย้อนกลับไปถึงค่ำคืนหนึ่งของฤดูหนาวในงานเหมันต์รำลึก ผมขึ้นเวทีประกวดร้องเพลงของสุกี้ยากี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มน้อยผมเดินทางเข้ากรุงขึ้นเวทีประกวดร้องเพลงรายการโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรม การเป็นนักร้องคือความฝันวัยเยาว์ซึ่งแม้ไม่ประสบความสำเร็จทางการตลาด แต่ผมก็พบกับข้อสรุปแห่งชีวิตว่า เราคือคนเขียนเพลง เขียนบทกวี เดินทางมาถึงจุดนี้ได้ด้วยแรงแห่งวรรณกรรม ทำเพลงด้วยหัวใจโดยไม่มีพื้นฐานทางดนตรี อ่านตัวโน๊ตไม่ได้ แต่หลายปีต่อมานวนิยาย “ขอความรักบ้างได้ไหม” ก็กลายเป็นบทภาพยนต์ที่ออกฉายในโรงหนังทั่วประเทศ

สำหรับ “มาชารี” ต้องกล่าวย้อนถึงยุคสมัยเรียนหนังสืออยู่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ผมกับเพื่อนทำกิจกรรม นักเขียน ดนตรี กวีสัญจร มุ่งสู่ชนบทส่งเสริมการอ่านการเขียน ครั้งแรกทำกิจกรรมร่วมกับชมรมวรรณศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อหาเงินซื้อหนังสือเข้าชมรมร่วมกับกลุ่มด้ายสีขาว พวกเรามอบบทกวี ดนตรี เสียงเพลง เป็น “มาชารี” สัญลักษณ์ที่ดาลใจจากมายเชรีแปลว่า “ที่รักของฉัน” พ.ศ.2529 พวกเราทำโครงการโดยใช้ดนตรี บทกวี บทเพลงเป็นสื่อกิจกรรมตามสถานศึกษา เริ่มต้นจากภาคเหนือแล้วกระจายทั่วประเทศ มีผู้ใหญ่คนสำคัญคือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ร่วมทำจัดกิจกรรม ผมทำหน้าที่ประสานงานกับคุณครูห้องสมุดพานักเขียนร่วมทำกิจกรรม “มาชารี” แจ้งเกิด นักเขียน กวี นักดนตรีหน้าใหม่จำนวนหลายคน บทกวีหลายบทของผมได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ส่วนงานดนตรีก็มีผลงานประพันธ์เพลงให้ศิลปินนักร้อง เช่น กุ้ง กิตติคุณ , ครูซัน สมพงษ์ ,ศุ บุญเลี้ยง , ศักดิ์สิริ มีสมสืบ, ชัยบลูส์

ชีวิตผมประสบความสำเร็จได้ด้วยการอ่าน ผมชอบหนังสือมาตั้งแต่ยังเด็ก ซื้อหนังสือเรื่องสั้นเป็นของตนเองชื่อ “แก้งคร้อ” รวมเรื่องสั้นชุด ปกรณ์ ปิ่นเฉลี่ยว เล่มละ 5 บาท ผมมุ่งมั่นเขียนเรื่องสั้นจนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “น้ำใจ” ได้รับตีพิมพ์ในนิตยสารชัยพฤษ์ การอ่านการเขียนสำหรับผมคือเสรีภาพของมนุษย์ ทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง สามารถจินตนการภาพใบหน้าตัวละครอย่างแตกต่าง นั่นคือเสรีภาพ แต่ปัจจุบันเสรีภาพของผู้คนเปลี่ยนแปลงตามสังคมซึ่งสื่อมีอิทธิพลมากขึ้น

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำลายวัฒนธรรมการอ่าน

ยุคสมัยก่อน โทรศัพท์เป็นแบบหยอดเหรียญ เวลาจะโทรติดต่อใครต้องยืนคอยคิวอยู่หน้าตู้โทรศัพท์สาธารณะ พอองค์การโทรศัพท์เริ่มเดินสายติดโทรศัพท์บ้านก็ดีอกดีใจเพราะไม่ต้องรอคิวโทรศัพท์ เดียวนี้โลกเปลี่ยนแปลงตู้โทรศัพท์สาธารณะถูกรื้อเก็บ โทรศัพท์มือถือเชื่อมกับโลกผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่สังคมกลับแยกชิ้นกระจายเป็นสังคมเฉพาะกลุ่ม คนชอบตั้งกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ พอตั้งกลุ่มก็แยกย่อยจนขาดเอกภาพ ผู้คนบนโลกโซเชี่ยลสนใจเรื่องใดก็จะอยู่กลุ่มนั้น กลุ่มสังคมสนใจเรื่องใดก็จะอ่านเฉพาะเรื่องที่ตนเองสนใจ

เปิดดูข่าวโทรทัศน์ปัจจุบัน สังคมเปิดเผยมากขึ้น เนื้อหาทางทีวีมีการย้อนกลับเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่เพราะความขาดแคลน เรื่องราวของสังคมจึงคับแคบแต่สังคมของเรากว้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อถึงกันเพียงแค่กดปุ่ม จิตใจและความคิดของมนุษย์บนโลกยิ่งคับแคบ มนุษย์เดินทางถึงดวงจันทร์แต่สามัญสำนึกลับตกต่ำลง ผู้คนเย็นชาอยู่อย่างตัวใครตัวมัน เราแปลกแยก โดดเดี่ยว มีสังคมอันเป็นปัจเจกเพราะโลกอยู่ในมือถือของเรา ความซับซ้อนของวรรณกรรมเปรียบให้เห็นถึงสังคม การสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายต้องศึกษาให้ดีว่าพวกเขาเป็นอย่างไร ก่อกำเนิดมาจากที่ไหน เลือกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน

วัฒนธรรมการอ่านของเราอ่อนแอลง วัฒนธรรมการดูและการฟังเข้มแข็งขึ้นเพราะมันสะดวกง่ายดาย อยากรู้อะไรถามอาจารย์กู๋ (Google) พิมพ์คำเดียวรู้เรื่อง รู้รอบ แต่ไม่รู้ลึก เพราะเด็กเยาวชนยังขาดประสบการณ์ตรง เด็กอยากเขียนอะไรก็ค้นหาในกูเกิลเมื่อเจอบทความถูกใจก็ดัดแปลง เมื่อนำข้อมูลผิดเพี้ยนมาดัดแปลงก็จะผิดเพี้ยนกันต่อเนื่อง พวกเราจะโทษเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ แม้แต่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงยังใช้ประโยคเดิม “ฟ้าสีทองผ่องอำไพประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” นั่นแสดงถึงคลังความรู้ แสดงถึงความอ่อนแอทางวัฒนธรรมการอ่าน เด็กเยาวชนเพิ่งรำลึกความหลังถึงประวัติศาสตร์อันขาดหาย เมื่อดูหนัง 6 ตุลา เริ่มรู้สึกทึ่งและก่อความรู้สึกเกลียดชังเผด็จการขึ้นมาทันทีทันใด อันความจริงแล้วพวกเขาไม่เข้าใจเรื่องราวลึกซึ้งหรอกว่า เมื่อมีเผด็จการแล้วยังมีเผด็จที่ซ่อนแฝงอยู่ในนั้นอีก ภาพสะท้อนสังคมแสดงอยู่ในเนื้อหาวรรณกรรม ช่วงหลังยอดขายวรรณกรรมลดลงแม้กระทั่งเรื่องที่รับรางวัลซีไรต์ โดยเฉพาะนิยายที่มีกลวิธีการเล่าเรื่องซับซ้อน มีการเมืองแฝง

ทัศนะของศิลปินแห่งชาติต่อวรรณกรรมไทย

ยุคสมัยก่อนสังคมไทยคุ้นเคยกับมุขปาฐะหรือเรื่องเล่า เช่น วรรณคดี ขุนช้างขุนแผน , พระอภัยมณี , รามเกียรติ์ เรื่องราวไม่ซับซ้อนมีวิธีเล่าเป็นลำดับ ต่อมาคือยุคของเรื่องสั้นหักมุม เช่น งานเขียนของ อาจินต์ ปัญจพรรค์, ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว รูปแบบการเล่าเรื่องแบบหักมุมจบส่งผลต่อนักเขียนรุ่นหลังคือ ยุคของ นิมิตร ภูมิถาวร งานเขียนมีลักษณะเฉพาะตามความถนัดของนักเขียน เช่น ครูคำหมาน คนไค เขียนนิยายเรื่อง “ครูบ้านนอกคำพูน บุญทวี เขียนนิยาย “ลูกอีสาน” ส่วนงานเขียนยุคปัจจุบัน ซับซ้อน กลวิธีการเขียนเปลี่ยนแปลงไป

ตัวบทวรรณกรรมอาจเหมือนเดิม มีเนื้อหาเรื่อง รัก โลภ โกรธ หลง ขึ้นอยู่กับนักเขียนจะนำเสนอออกมาอย่างไรส่วนวิธีคิดงานวรรกรรมก็เหมือนกับงานศิลปะ ต้องตั้งคำถามว่า ใช้ศิลปะการเขียนแล้วจะได้อะไร? นักเขียนรุ่นเก่าอย่างพวกเรามีสูตรการเขียน ส่วนนักเขียนรุ่นใหม่เขียนหนังสือได้ดีเพราะระบบการพิมพ์ล่มสลาย นักเขียนในโลกออนไลน์เกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะไม่มีพื้นที่สื่อหนังสือให้ลงตีพิมพ์ หนังสือวรรณกรรมโดยตรงของไทยไม่มีแล้ว ไม่เหมือนยุคสมัยก่อน มีพื้นที่สำหรับงานวรรณกรรมจำนวนมาก แต่หนังสือยังมีพลังมหาศาล นิยาย “ร้อยป่า” ของคุณสมพันธุ์ ปานะถึก (วิเทศวรกิจ) ทำให้ผมอยากสอบเข้าโรงเรียนป่าไม้ ผมอ่านหนังสือของ แสงเพชร เสนีย์บดินทร์ นักเขียนลำปาง ได้รับแรงบันดาลใจให้เดินข้ามภูเขาไปลำปางเพราะอยากเห็นฉากของเรื่อง

นักเขียนรุ่นใหม่ต้องการแรงบันดาลใจ ผมบอกกับพวกเขาว่า ผมไม่มีอะไรจะแนะนำ ขอให้คุณเขียนในสิ่งที่อยากเขียน เขียนในสิ่งที่คุณเป็น แล้วเขียนให้ดีที่สุด แต่ต้องจริงใจกับสิ่งที่ตนเองเขียน นักเขียนรุ่นใหม่เก่งกาจในศิลปะการเขียน ศิลปะการคิดจัดเจนเชิงสัญลักษณ์ แดกดันด่าว่ามนุษย์ เมื่อหลายสิ่งไม่สามารถกล่าวเป็นคำพูดได้ต้องอาศัยสัญลักษณ์

งานเขียนหนังสือยุคปัจจุบันมีสัญลักษณ์เยอะมาก ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ลองนึกถึงสัญลักษณ์แทนคำพูดในแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) เมสเซ็นเจอร์ (Messenger) เราส่งรูปสัญลักษณ์การยิ้มให้กับเพื่อนหรือในกลุ่ม แท้จริงเป็นการยิ้มเยาะหรือเปล่า เราส่งสัญลักษณ์การปรบมือ แท้จริงเป็นการปรบมือจากใจหรือไม่ เรากดไลค์ทางเฟสบุ๊ค แท้จริงชื่นชอบหรือเพียงรับทราบข้อมูล เรามองเห็นสัญลักษณ์แต่มองไม่เห็นภาษาอักษร มองไม่เห็นภาษากาย ผมทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัลใหญ่หลายรางวัล คณะกรรมการตัดสินทำงานเหนื่อยมากเพราะต้องอ่านหนังสือทุกเล่มอย่างละเอียด ผมชอบเป็นกรรมการตัดสินรางวัลบทกวีมากกว่า เพราะบทกวีเป็นการเขียนหนังสือใช้ถ้อยความน้อยแต่กินความหมายกว้าง กินความทั้งโลกและจักรวาล

 สัมภาษณ์ / ภาพถ่าย ร.ต.อ.ทรงวุฒิ  จันธิมา (กระจอกชัย)