นายกำจัด ตาคำ หรือ MR.KAMJAD TAKAM คือ “สล่า” คำเรียกช่างศิลป์ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เขาทำงานจิตรกรรมและปฏิมากรรม นำเสนอศิลปะผ่านเรื่องราวพุทธศาสนาเป็นเวลานาน 30 ปี เขาเป็นนักศึกษาศิลปกรรมนอกสถาบัน เรียนศิลปะจากหนังสือและเรียนรู้ศิลปะด้วยการทำงานศิลปะ ใช้ชีวิตเป็นช่างศิลป์ทำงานตามวัดวาอาราม เขามีมุมมองต่อศิลปะอย่างเป็นกลาง แต่มีความคิดแตกต่างเมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมือง ด้วยการจัดกิจกรรมเสวนาเรื่องราวศิลปะเพื่อประโยชน์ทางการเมือง นายกำจัด ตาคำ มองสถานการณ์ในฐานะช่างศิลป์ที่มีความเป็นกลางอย่างไร

ศิลปะกับทัศนะทางการเมือง

ศิลปะเป็นเรื่องส่วนบุคคล ศิลปินบางคนฝักใฝ่การเมืองก็ถือเป็นสิทธิของเขา ศิลปินบางคนชอบเผด็จการ ศิลปินบางคนชอบประชาธิปไตย ศิลปินชื่นชอบฝ่ายใด เขาก็ต้องการถ่ายทอดความคิดหรือทัศนะทางการเมืองผ่านผลงานศิลปะของฝ่ายนั้น แต่บางครั้ง ศิลปินก็ควรวางเฉยต่อเรื่องการเมือง เพราะการเมืองมีผลกระทบต่อการทำงาน ศิลปะทำงานได้อย่างไม่มีขอบเขต สามารถสื่อถึงวัฒนธรรม ประเพณี อยู่ที่เราใช้ศิลปะในแนวทางใด ศิลปินทำกิจกรรมร่วมกับผู้ประท้วง สื่อสารการเมืองด้วยศิลปะ บทเพลง หรือ การวิพากษ์วิจารณ์ ถือเป็นเสรีภาพที่ทุกคนสามารถทำได้ แต่บางครั้ง การสื่อสารทางการเมืองอาจก่อให้เกิดการกระทบกระทั่ง 

ส่วนผลงานศิลปะล้อเลียนผู้นำนั้น เป็นการใช้ศิลปะแสดงถึงความไม่ชอบเพราะเขาพูดออกมาไม่ได้ จึงต้องสื่อสารโดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ บุคคลประกอบด้วยอารมณ์ รัก, โลภ, โกรธ, หลง, เมื่อไม่สามารถหลุดพ้นหรือตัดไม่ขาดจากโลก หรือมีความรู้สึกอ่อนไหวต่อสังคม เมื่อมองเห็นความไม่เที่ยงธรรม เช่น กรณีนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อสิทธิเสรีภาพ เกิดความรู้สึกคล้อยตาม เกิดความรู้สึกต่อต้านคัดค้าน การเมืองประเทศไทยมีฝ่ายซ้าย, ฝ่ายขวา, ฝ่ายเป็นกลาง แต่เราอยู่ร่วมกันเป็นสังคม มีกฎหมายบังคับให้ต้องอยู่ร่วมกัน ถ้าเราไม่เป็นทุกข์เราก็วางเฉย การปล่อยวางความรู้สึกต้องอาศัยหลักพุทธศาสนา อารมณ์สองฝ่ายมันก่อให้เกิดความสุขหรือทุกข์ พุทธศาสนาสอนให้คนพ้นทุกข์

ความชอบหรือไม่ชอบคือสภาวะของจิต ไม่ผิดหรอกเมื่อเราดูผลงานศิลปะแล้วเกิดเป็นความรู้สึก ชอบ ไม่ชอบ หรือ เฉยๆ นั่นคือการแยกกลุ่ม ศิลปะมีหลายกลุ่ม เมื่อเราเรียนรู้และเกิดความเข้าใจ มองเห็นผลงานแล้วเกิดเป็นความชอบ เราก็คือกลุ่มที่มีความชอบในผลงานชิ้นนั้น เมื่ออีกคนมองเห็นผลงานแล้วไม่ชอบ เขาก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ชอบผลงานศิลปะชิ้นนั้น เราไม่สามารถห้ามจิตใจคนได้เพราะมันเป็นเสรีภาพ ชีวิตคนเกี่ยวข้องกับการเมืองจนแยกจากกันไม่ออก นโยบายทางการเมืองทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ส่วนศิลปินที่ปลีกตนเองจากสังคมนั่นคืออุดมการณ์ เป็นเหตุเป็นผลจากอารมณ์ของศิลปิน นั่นคืออุดมการณ์ของศิลปิน  

ศาสนาควรแยกออกจากศิลปะหรือไม่  

ศาสนาเป็นการดำเนินชีวิต สิ่งที่ควรแยกออกจากศาสนาไม่ใช่ศิลปะ สิ่งที่ควรแยกคือการฝึกปฏิบัติสามาธิเพื่อแยกระหว่างจิตกับร่างกาย ร่างกายต้องรับอาหารรับน้ำ ต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพ ทำมาหากินหรือประกอบอาชีพอย่างไร สุจริตหรือทุจริต ความจริงของชีวิตคือทำให้ร่างกายของเราอยู่ได้กินได้ตลอดอายุขัย ศาสนาเป็นการดำเนินชีวิตอย่างไรให้ถูกต้อง ไม่เบียดผู้อื่น ศิลปะเกี่ยวข้องกับศาสนาเพราะช่างศิลป์นับถือศาสนา เคารพศาสดา เคารพหลักธรรมคำสอน วินัยปฏิบัติ เราอยากสรรเสริญศาสดา เราก็ถ่ายทอดเป็นงานศิลปะ เป็นการสรรเสริญเคารพยกย่อง เขียนงานศิลปะเพื่อแสดงถึงหลักธรรมและอุดมคติ

สุนทรียภาพ มันเป็นการแสดงถึงอารมณ์ แสดงถึงความงาม ศิลปินมีอารมณ์และเทคนิคขั้นสูง สามารถถ่ายทอดถึงอารมณ์ คนถึงเลือกซื้อผลงานของเขา เราอย่ามองโลกซับซ้อน ศิลปะถือเป็นการเลี้ยงชีพ แต่การทำงานศิลปะทำให้จิตใจเราสูงขึ้น ดีขึ้น มองเห็นความงาม ความดี ผลงานศิลปะสามารถบำบัดจิตใจผู้คน ให้เกิดเป็นความผ่อนคลาย ศิลปินเรียนระดับมหาวิทยาลัย อาจมีแนวคิดสลับซับซ้อน ผลงานแฝงแนวคิดหรือปริศนา แต่ไม่จำเป็นต้องแยกศิลปะออกจากศาสนา การแยกอาจเป็นการเติบโตหรือแตกแขนงทางศิลปะ

ศิลปะสื่อความหมายทั้งความดี ความไม่ดี ความโลภ โกรธ หลง เช่นเดียวกับคำพูดหรือเสียงดนตรี ใครอยากมีฝีมือสูงส่งก็ต้องฝึกฝนให้ช่ำชอง เมื่ออยู่จุดสูงสุดถึงจะสามารถวิจารณ์ผลงานของศิลปินคนอื่นได้ ใช่ว่าใครจะวิจารย์ผลงานศิลปะของศิลปินได้ เราต้องดูจุดประสงค์ ดูเจตนา ต้องศึกษาระบบของมนุษย์ ระบบการปครอง การเมือง สังคม และความขัดแย้งเกิดขึ้น การใช้ศิลปะนำเสนอการเมืองไม่ทำให้ศิลปะตกต่ำเพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่บางครั้ง ทุกกิจกรรม ทุกสถาบัน ทุกสังคม มีกฎหมายคุ้มครอง การทำผิดกฎหมายต้องถูกดำเนินคดี ต้องได้รับโทษ เป็นไปตามกรรม เราด่าเขา เขาก็แจ้งความดำเนินคดี เราวาดภาพทำให้ผู้คนเกลียดชังเขา เขาก็ดำเนินคดี

ปัจจุบันสังคมมันมีกระแสหรือความสนใจของคนในสังคม เขาสื่อผลงานศิลปะสนองกระแสเพื่อให้คนได้รู้เห็น มองในแง่การประชาสัมพันธ์ก็เหมือนกับดารานักแสดงสร้างกระแส สร้างกระแสความชอบหรือความเกลียดชังให้โด่งดัง ฉะนั้น การที่ศิลปินด่าว่านักการเมือง ด่าว่าอาจารย์สอนศิลปะ อาจเป็นการประชาสัมพันธ์ตนเองในรูปแบบหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในอาชีพของเขา เพื่อให้มีคนสนับสนุนเขา สังคมทุกยุคสมัยมีการพัฒนา สังคมเติบโตมีความซับซ้อนขึ้น ศิลปินก็มีความซับซ้อนมากขึ้น ศิลปะจะเป็นคนดีหรือคนไม่ดี ทำถูกหรือทำผิด เป็นเรื่องส่วนบุคคลของศิลปินคนนั้น

ศิลปะคือการสร้างสรรค์ส่วนธรรมะคือการค้นพบ

ผมชอบทำงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ผมเรียนศิลปะด้วยตนเองมาตั้งแต่บวชเป็นสามเณร ศิลปะเป็นเรื่องความชอบ เมื่อสิกขาหรือเปลี่ยนสถานะจากพระเป็นบุคคลธรรมดา ผมก็เริ่มทำงานเป็นสล่าหรือช่างศิลป์ ผมเป็นลูกศิษย์วัด ทำงานอยู่กับวัด เขียนภาพจิตรกรรมตามผนังโบสต์ ทำงานปฏิมากรรมและรับเหมาก่อสร้าง ผมฝึกเขียนภาพลายเส้นอยู่เสมอเพราะเป็นพื้นฐานการทำงานด้านศิลปะ การศึกษาศิลปะเกิดจากการทำงาน ไม่ได้เกิดจากการเรียนในสถาบันสอนศิลปะ ศึกษาศิลปะด้วยตนเอง ผลงานของผมเป็นเรื่องราววัฒนธรรม ประเพณี พุทธประวัติ แสดงถึงตัวตน บุคคลอันเป็นศาสดาในศาสนาตามบันทึกในไตรปิฎก

ศิลปะเป็นการถ่ายทอดความคิด สื่อสารความคิดให้คนรู้ บางคนชอบก็ถูกอกถูกใจ ถ้าผลงานศิลปะเข้าใจยากเกินไปบางคนก็ไม่ชอบ บางอย่างต้องถูกกับจริต ขึ้นอยู่กับชั้นเชิงการทำงานศิลปะของเราว่าจะสวยหรือไม่ เราสามารถแสดงฝีมือได้ดีขนาดไหน ศิลปะเป็นแนวทางของการพัฒนาตน ทำให้จิตใจอ่อนโยน มีสุนทรียภาพ เข้าใจในธรรมชาติ เข้าใจความจริง เมื่อเรารู้และเข้าใจก็เกิดเป็นความหลงใหล แต่สุดท้ายเราก็ต้องวางเฉย เหมือนเราพายเรือข้ามน้ำเมื่อถึงฝั่งก็ไม่จำเป็นต้องแบกเรือไปด้วย ศิลปะสำหรับผมคือธรรมชาติของความจริงหรือสัจธรรม เราสามารถถ่ายทอดความจริงได้ขนาดไหน ถ้าถ่ายทอดได้ถึงที่สุดก็คือความจริง

สุดท้ายศิลปะก็คือการทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ ทำให้ตนเองสุขสบายชั่วอายุขัยหนึ่ง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องศึกษาจุดประสงค์ จุดกำเนิด จุดแตกดับ จิตใจของเราจะได้ปล่อยวาง ไม่ทะเยอทะยาน หลักทางศาสนาเป็นปรัชญาการดำรงชีพ เมื่อกินมาก มีความโลภมากเกินไป ก็ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองหรือครอบครัว เราต้องมองชีวิต คนกำเนิดด้วยดวงจิต กุศล อกุศล หาภพ หาภูมิ ส่วนงานวาดภาพเป็นการฝึกใจ มันเป็นการปฏิบัติ สามาธิเกิดจากปฏิบัติ จิตเราจะนิ่งจดจ่อ เป็นสมาธิ นานวันจะมีความฉลาด มีความเข้าใจ นั่นคือเรื่องของธรรมมะ

สัมภาษณ์ ธัญวัฒน์ ศรีวิชัย   ภาพ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)