Categories: Phu Chiangdao

ภู เชียงดาว : พ่อเฒ่ากิแฮะกับผีเสื้อสมิงเชียงดาว

คอลัมน์  : ผ่านพบ บนทางผ่าน    นักเขียน : ภู เชียงดาว

ผมมีโอกาสกลับไปเยือน ‘ฟ้าสวย’ อีกครั้ง หลังจากเมื่อสิบกว่าปีก่อนผมเคยแบกเป้มาเป็นครูดอยสอนหนังสือให้กับเด็กๆในแถบนี้

จำได้ว่า เมื่อราวปี 2542 หลังจากมีข่าวว่าครูคนก่อนลาออกไป เด็กๆเริ่มเคว้ง และศูนย์การเรียนใกล้จะถูกยุบ ผมจึงขอย้ายตัวเองมาสอนหนังสือในชุมชนแห่งนี้ แน่นอนว่าผมต้องใช้พลังมหาศาลกว่าจะฟื้นให้ศูนย์การเรียนมีชีวิตเคลื่อนไหวและเรียกเสียงหัวเราะของเด็กๆกลับคืนมาอีกครั้ง

แม้ว่าจะเหนื่อยหนัก หากผมยังคงมีความสุขกับงานในหุบเขาเช่นนี้

ฟ้าสวย ชุมชนเล็กๆของชนเผ่าลีซู ตั้งอยู่ในหลืบเขาด้านหลังของดอยหลวงเชียงดาว ที่ยังคงทอดทะมึนสูงตระหง่าน ช่างน่าเกรงขามอยู่ลิบๆ เดิมทีชุมชนนี้มีชื่อว่า ‘ห้วยแห้ง’ ตั้งตามชื่อของลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ทว่าในหน้าแล้ง สายน้ำที่ไหลมาจากส่วนหนึ่งของดอยหลวงเชียงดาว ได้ไหลมุดลงไปในโพรงใต้ดิน ทำให้ลำห้วยสายนั้นแห้งขอด แต่น่าแปลกที่น้ำสายนั้นไปผุดโผล่ในถ้ำลึกลับท้ายหมู่บ้าน จนกลายเป็นถ้ำธารน้ำไหล มีปลา และค้างคาวมาอาศัยอยู่เต็มไปหมด

บ่อยครั้งที่เด็กๆชวนผมไปเที่ยวในถ้ำเถื่อนแห่งนี้ เราใช้ไฟฉาย เด็กจุดไม้เกี๊ยะ ลุยน้ำเข้าไป ภารกิจของเด็กๆ นั่นคือจับค้างคาวไปให้พ่อแม่ทำอาหาร ในขณะผมจ้องมองดูอยู่เงียบงัน

ชุมชนนี้จึงมีเรื่องราวให้เรียนรู้อยู่มากมาย

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจ ก็คือเรื่องของพ่อเฒ่ากิแฮะ พ่อเฒ่าลีซูชอบสวมหมวกเบเร่ต์สีแดง เที่ยวไล่จับผีเสื้อตามลำห้วย ตอนแรกผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมพ่อเฒ่าถึงไล่จับผีเสื้อเช่นนั้น แต่เริ่มเอะใจ เมื่อวันก่อนมีคนเมืองคนหนึ่งขึ้นมาบนดอย เข้ามาในหมู่บ้าน บอกว่าต้องการรับซื้อผีเสื้อตัวงาม หากใครจับได้จะให้ราคาดี

ว่ากันว่าพวกพ่อค้านำไปขายให้พวกนักสะสมซากแมลงในเมืองใหญ่ข้างล่างโน่นอีกที

ทำให้ผมกลับมารื้อฟื้นภาพบันทึกเก่าๆเหล่านี้อีกครั้ง…

ภาพเบื้องหน้าริมลำห้วยในหุบเขา ไม่ไกลจากหมู่บ้าน ดวงตะวันสาดแสงสะท้อนไปทั่ว…สาดกระทบน้ำในแอ่งที่หลงเหลืออยู่ ส่องสาดกรวดหินทรายเป็นประกายวิบวับ หมู่ผีเสื้อหลายหลากสีสันลวดลายงดงาม กำลังกระพือปีกบินว่อนว่ายไปมาระหว่างดงดอกหญ้า ก่อนจับนิ่งบนโขดหินที่ทับซ้อนระเกะระกะริมลำห้วย

ห้วงยามนั้น…พ่อเฒ่าผ่อนลมหายใจ ค่อยๆก้มๆเงยๆ ขยับกายเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างแช่มช้าและแผ่วเบา ยื่นมืออันสั่นเทาออกไปหวังจะจับปีกผีเสื้อแสนงามตัวนั้น แต่ก็นั่นแหละ…พอเอื้อมมือไปใกล้ตัว เจ้าผีเสื้อกลับกระพือปีกบินไปไกลอย่างรู้ทัน พ่อเฒ่าหยีตาอันพร่าเลือน ส่ายหน้าไปมาแล้วพึมพำๆ อย่างเสียดาย

ผมเฝ้ามองอย่างเงียบๆ อยากจะเอ่ยให้กำลังใจพ่อเฒ่า แต่สุดท้ายก็ได้แต่นิ่งงันอยู่อย่างนั้น นานนักนาน…พ่อเฒ่าค่อยๆ คิด เรียนรู้ และทดลองหาวิธีจับผีเสื้อไพร ทำอย่างไรจึงจะจับมันได้โดยไม่ทำให้ปีกอันงดงามนั้นบอบช้ำหรือฉีกขาด พ่อเฒ่าตัดสินใจฉีกผ้ามุ้งสีซีดขี้ไคลผืนหนึ่ง มาตัดเย็บเป็นตาข่ายทรงกรวย นำไปสอดใส่กับโครงไม้ไผ่ที่โค้งงอเป็นวง ก่อนจะเอาลำไผ่ยาวเล่มหนึ่งมาผูกติดกันทำเป็นด้ามจับ

ในที่สุด…พ่อเฒ่าก็ได้สวิงดักจับผีเสื้อด้วยปัญญาเท่าที่มี พร้อมกับความหวังครั้งใหม่…

ทุกยามเย็น ผมมักเห็นพวกเด็กๆ ลูกหลานของภูเขา พากันวิ่งไล่ตามหลังพ่อเฒ่าอย่างมีความสุข บางคนกระโดดโลดเต้น สนุกสนาน พร้อมกับตะโกนส่งเสียงหัวเราะดังก้องดอย

“เฮ้…พ่อเฒ่าวิ่งไล่จับผีเสื้อๆๆๆ…”

พ่อเฒ่าเงียบงัน…ไม่แสดงอาการหงุดหงิดกับพวกเด็กๆเหล่านั้น หากแกยังคงวิ่งไล่จับผีเสื้อไปมาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แม้ว่าบางครั้ง ผมยินเสียงหายใจหอบเป็นห้วงๆของพ่อเฒ่า พร้อมกับหยีตาจดจ้องมองความเคลื่อนไหวของผีเสื้อที่บินว่อนคล้ายอยากหลอกล่อให้พ่อเฒ่าไขว่คว้า มีความหวังแล้วก็สิ้นหวัง กว่าจะดักจับได้แต่ละตัว พ่อเฒ่าก็เกือบหมดแรง จนต้องทรุดนั่งลงบนโขดหิน

พ่อเฒ่าค่อยๆใช้หัวแม่มือกับนิ้วชี้บรรจงจับปีกบอบบางของผีเสื้อตัวนั้นออกมาจากกับดักเบาๆ แล้วล้วงเอาของบางอย่างในถุงย่ามออกมา…เป็นแผ่นกระดาษเก่าสีเหลืองซีดที่พ่อเฒ่าชอบมาขอกับผมนั่นแหละ แกเอาไปนั่งพับเป็นซองสามเหลี่ยม

พ่อเฒ่าค่อยๆ หย่อนผีเสื้อตัวนั้นลงในซองกระดาษ ก่อนเก็บเอาไว้ในถุงย่าม

“แย่จัง ตัวนี้ขายได้ห้าบาทเท่านั้นเอง…” ชายเฒ่าบ่นพึมพำไปมา

“เมื่อใดหนอ…เฮาจะได้ผีเสื้อตัวที่ต้องการเสียที”

ค่ำแล้ว…ลมพัดโชยเข้ามาตามช่องฝาฟากไม้ไผ่

ผมชอบไปนั่งจิบน้ำชาอยู่ข้างเตาไฟในกระท่อมของพ่อเฒ่า แสงไฟจากไม้เกี๊ยะส่องแสงวอมแวมไปมา สาดกระทบใบหน้าอันเหี่ยวย่นของพ่อเฒ่า ทว่าลึกลงไปในดวงตาคู่นั้นยังฉายแววอารมณ์ดีอยู่

“คนข้างล่างบอกว่า ตอนนี้พ่อค้ามารับซื้อตัวละร้อยทีเดียวนะ…” พ่อเฒ่าเอ่ยออกมาในความเงียบ

“อะไรนะ” ผมถามอย่างไม่แน่ใจ

“ผีเสื้อ…ผืเสื้อลายเสือสมิง” พ่อเฒ่าเอ่ยเบาๆ สายตาจดจ้องมองแสงไฟในเตาที่คุโชน…

หลายคนคงพอรู้เรื่องราวนี้ดี เมื่อหนังสือพิมพ์เริ่มประโคมข่าวเรื่อง ‘ผีเสื้อสมิงเชียงดาว’ กันอย่างครึกโครม…ว่ากันว่า เป็นผีเสื้อหายากที่พบได้ในบริเวณภูเขาสูง และพบบนดอยหลวงเชียงดาวเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และมีเพียงแห่งเดียวในโลก ผีเสื้อพันธุ์นี้ มีขนาดใหญ่ สวยงามด้วยลวดลายบนปีกดูคล้ายลายของเสือสมิง

ก่อนนั้นชาวบ้านบางคนเรียกผีเสื้อพันธุ์นี้ว่า ‘แบงก์ร้อยบินได้’ เพียงชั่วระยะเวลาไม่นานนัก ราคาของผีเสื้อสมิงเชียงดาว ก็เริ่มทวีคูณเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากตัวละร้อยกลายเป็นตัวละพันบาท ห้าพันบาท เพิ่มขึ้นๆ…ว่ากันว่า พ่อค้าคนไทยนำไปขายให้ชาวญี่ปุ่น ให้คนต่างชาติอีกต่อหนึ่ง ผีเสื้อถูกจับทยอยออกจากป่า ลงจากดอย ลงไปในเมือง ไปถึงมือพ่อค้าทุกวันๆ…

แต่สำหรับพ่อเฒ่า ยังไม่เคยจับผีเสื้อสมิงเชียงดาวได้สักตัวเดียว พ่อเฒ่าบอกผมว่า เคยเจอครั้งหนึ่งในป่าตรงตีนดอยหลวง มันช่างงามแท้ ปีกลวดลายสดใสด้วยสีส้ม แดง ดำ เหลือง ขาว ทอง กระพือปีกไปมาระหว่างความว่างเปล่าของอากาศ เหนือดงเสี้ยวป่า

ผมไม่รู้ว่า พ่อเฒ่ารู้สึกอย่างไรกับผีเสื้อ และไม่รู้ว่าจนถึงวันนี้พ่อเฒ่าได้ค้นเจอผีเสื้อตัวนั้นหรือยัง

แดดยามเย็นโรยตัวลงอย่างอ่อนล้า  ลมภูเขาพัดครวญมาอ้อยสร้อย…กระท่อมไม้ไผ่ซุกนิ่งอยู่ในหุบเขาสงัด เพียงชั่วยาม ความมืดก็เข้าคลี่คลุมสรรพสิ่ง แสงไฟฟืนในกระท่อมเริ่มส่องแสงวอมแวม ผมออกมายืนอยู่นอกชานกระท่อม นั่งอยู่ในความเงียบ พูดคุยกับตัวเอง นานและนาน จนถึงคืนดื่นดึก เหม่อมองจ้องไปบนเวิ้งฟ้า…คืนนี้ไร้เดือน หากยังคงมีดาวบางดวงวอมแสงหรุบหรู่ดูเหงาหงอย แมลงกลางคืนกรีดปีกดังช่างวังเวง…

ผมกลับไปเยือนชุมชนฟ้าสวยครั้งล่าสุด เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่ที่แน่ๆ ศูนย์การเรียนฯที่ผมเคยสอนนั้นถูกยุบปล่อยให้ร้าง เด็กๆที่ผมเคยสอนหนังสือโตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว ลูกศิษย์หลายคนอุ้มลูกน้อยมานั่งคุยกับผม ครั้นเมื่อผมถามหาพ่อเฒ่ากิแฮะที่ชอบไล่จับผีเสื้อคนนั้น ชาวบ้านบอกผมว่า พ่อเฒ่าตายไปนานหลายปีแล้ว

ไม่รู้สิ…ผมคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย…ครุ่นคำนึงไปถึงอดีตที่ผันผ่าน

นึกถึงใบหน้าแววตาของพ่อเฒ่ากิแฮะที่ชอบสวมหมวกเบเร่ต์สีแดง

นึกถึงปีกงามของผีเสื้อสมิงเชียงดาว

และนึกถึงอีกหลายๆชีวิตที่สูญหาย.

…………………………………………………..

ช่องทางการสนับสนุนนักเขียน : ขอบคุณที่ร่วมสนับสนุนเรา

ผู้อ่านสามารถโอนเงิน ผ่านธนาคาร กสิกรไทย ชื่อบัญชี องอาจ เดชา 039-3-84205-9 ออมทรัพย์ หรือ พร้อมเพย์ PromptPay 0811113693 “องอาจ เดชา”

admin