ค่ำคืนหนึ่งผมมีโอกาสพบกับ พี่นนท์ หรือ สุวิชานนท์ รัตนภิมล ในนิทรรศนกาลศิลปะที่ Pongnoi Community Art Space อยู่ใกล้กับวัดอุโมงค์ หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พวกเราเกือบหลงลืมกันเพราะเป็นเวลานานกว่ายี่สิบปีที่ไม่พบเจอ เราสนทนากันเรื่อง ศิลปะ ดนตรี และทิศทางที่กำลังเป็นไปในงานเขียนหนังสือ สำหรับความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านงานเขียนหนังสือของสุวิชานนท์ รัตนภิมล เชี่ยวชาญแตกฉานเป็นที่ประจักษ์ ปัจจุบันในประเทศไทยหาคนเทียบเคียงฝีมือได้เพียงไม่กี่คน แต่สำหรับการเล่นดนตรี ตอนนั้น ผมก็ยังมิแน่ใจนักว่า ฝีมือการเล่นดนตรีของเขาอยู่ในระดับใด
เราย้ายสถานที่สนทนามายัง “สุดสะแนน” ร้านอาหารแห่งหนึ่งในตรอกถนนคลองชลประทาน พบกับเพื่อนเก่า “ฮวก” (อรุณ ศรีสวัสดิ์) ศิลปิน วาดภาพ เขียนกวี เล่นดนตรี ทำพื้นที่ดนตรีเป็นร้านอาหารเลี้ยงตนเองและครอบครัวมานานหลานสิบปี ผมห่างหายจากกลุ่มเพื่อนมานาน มิตรสหายในวันนั้น บัดนี้มีอายุมาก หลายคนลับลาโลกเหลือเพียงพวกเราไม่กี่คน ประเด็นการพูดคุยจึงเป็นเรื่องราว 20 ปี และงานดนตรีของ สุวิชานนท์ รัตนภิมล
ย้อนกลับไปในบทหนึ่งของการสนทนา เราคุยกันเรื่องเครื่องดนตรีชนเผ่าพื้นเมือง เสียงดนตรีจากป่าเขาที่เรามิเคยได้ยินได้ฟัง อิทธิพล ทำนอง ความหมาย การแสดงออก รวมถึงภาษาเพลงที่สื่อสารเพื่อถ่ายทอดให้กับบุตรหลาน บทเพลงความรักของคนในป่าเขา คำสอนของพ่อเฒ่าซึ่งแฝงความหมายให้คนรุ่นหลัง เรื่องราววิถีชีวิต การดำรงชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง เป็นสิ่งที่พวกเรามิเคยได้ยินได้ฟัง มิต้องกล่าวถึงชาวต่างชาติ แม้แต่คนไทยก็มิเคยได้ยิน
เหตุผลที่ สุวิชานนท์ รอบรู้และแตกฉาน เพราะเขาคือนักเขียนที่ออกตระเวนบันทึกเรื่องราวตามป่าเขา ค้นพบผู้คน ค้นพบเรื่องราว ได้ยินได้ฟังเสียงต่างๆ กลางพงไพร เขาได้เคยฟังเสียงขับร้อง เสียงของเครื่องดนตรี บทเพลงของชนเผ่าพื้นเมืองเผ่าต่างๆ หนึ่งในเรื่องราวที่เขาประทับใจและบอกเล่าให้ผมฟังก็คือ เตหน่าของเครื่องดนตรีของปกาเกอะญอ (ပှၤကညီဖိ)
ต่อมาอีกหลายวันคืน งานดนตรีของสุวิชานนท์ ที่ชื่อ “เสียงดนตรีแห่งจิตวิญญาณ” ก็เกิดขึ้น ณ เวิ้งฉำฉา โหล่งฮิมคาว อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เครื่องดนตรีน้อยชิ้น นักดนตรีน้อยคน แต่เรื่องราวที่บอกเล่ามีมากมาย ผมเป็นหนึ่งในผู้ชมที่เคยนั่งฟังบทกวีและบทกลอนของสุวิชานนท์ ค่ำคืนนี้ ( 8 พฤศจิกายน 2567 ) เรากำลังฟังดนตรีที่เริ่มต้นด้วยกีตาร์คลาสสิคสายเอ็น พวกเขาเล่าเรื่องด้วยท่วงทำนองดนตรีผสมผสานเมโลดี้ดนตรีของชนเผ่าพื้นเมือง สำเนียงดนตรีชนเผ่าผสมผสานแต่ถูกเล่นด้วยเครื่องดนตรีกีตาร์คลาสสิค ฟังดูดี อาจเป็นเพราะเครื่องดนตรีกีตาร์ ชนเผ่าพื้นเมือง เล่นและรู้จักจากครูสอนศาสนาคริสต์เมื่อหลายสิบปีก่อน
เมื่อถึงเวลาอันควร ชิ สุวิชาน หรือ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ และภรรยา ก็เดินทางถึง พวกเขาถือเครื่องดนตรีที่พวกเขาชำนาญลักษณะคล้ายกับ พิณ หรือ ฮาร์ป (harp) ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีสากล ผมมิเคยชมงานดนตรีที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีชนเผ่าพื้นเมืองมาก่อน “เตหน่า” เครื่องดนตรีของชนเผ่าพื้นเมืองปกาเกอะญอ ให้เสียงที่ไพเราะประทับใจมากๆ บทเพลงที่ถูกนำเสนอเป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นใหม่และบทเพลงของชนเผ่าพื้นเมืองถูกขับร้อง ภาษาเสียงร้องบทเพลงของของปกาเกอะญอเป็นภาษาเสียงสูง เมื่อถูกถ่ายทอดและแปลความหมายโดย เอ ภรรยาของ ชิ สุวิชาน จึงเกิดความงดงามทางภาษาและการเล่าเรื่อง ผมนิ่งฟังกระทั่งการแสดงงานดนตรีจบลง
ดนตรี เป็นสิ่งที่กว้างใหญ่ มีแง่มุมมากมายที่เรายังมองไม่เห็น หลายเรื่องราวเรายังต้องค้นพบ งานดนตรี สุวิชานนท์ รัตนภิมล และเพื่อน อาจเป็นประตูที่จะทำให้ผู้คนรู้จักดนตรีของชนเผ่า เพียงแต่เราต้องเปิดใจรับฟังท่วงทำนองและภาษาการเล่าเรื่อง
โลกทุกวันนี้ ไอ…
รู้กันอยู่ว่าปั…