เกือบทุกปีผมมักเข้าร่วมงาน Thailand International Jazz Conference (TIJC) เทศกาลดนตรีแจ๊สหลากหลายมิติ จัดขึ้นที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสมือนเป็นการกลับบ้านไปพบกับพี่น้องและผองเพื่อน ผมจบปริญญาตรีรุ่นที่ 1 จากที่นี่ ทุกครั้งที่กลับไปบ้านหลังนี้ ภาพเก่าๆ ย้อนกลับมาเสมอ ความทรงจำส่วนหนึ่งของชีวิตผมเกิดจากที่แห่งนี้ ความโหยหาที่จะกลับไปพบกับพี่น้องและผองเพื่อนตลอดจนชมดนตรีแจ๊สเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกปี หากปีไหนสะดวกก็ไม่ลังเลที่จะกลับไปบ้านหลังนี้อีกครั้ง

ผมจำได้ว่ามีโอกาสร่วมแสดงดนตรีกับคณาจารย์จากวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ผมต้องขออภัยที่จำชื่องานไม่ได้ แต่ยังไม่ได้ใช้เหมือนในปัจจุบัน) การแสดงดนตรีครั้งนั้นนำทีมโดยอาจารย์เด่น อยู่ประเสริฐ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต) กระทั่งเติบโตขึ้นเป็นเทศกาลดนตรีแจ๊สนานาชาติ TIJC ที่ทรงคุณค่าของประเทศไทย ผมได้มีโอกาสร่วมแสดงดนตรีกับอาจารย์เด่นและคณาจารย์ทั้ง Main Stage หรือร่วมแสดงดนตรีกับพี่น้องและผองเพื่อนบนเวที Oval Stage อีกหลายครั้ง  

เพลงแจ๊สที่ได้ขับกล่อมในงาน TIJC ทั้งบนเวที Main Stage หรือ Oval Stage นั้นพบว่าอาจเป็นเพลงแจ๊สมาตรฐานหรือเพลงที่ประพันธ์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีโครงสร้างเพลงหลากหลายบางครั้งต้องคาดเดาบนความน่าจะเป็นว่าควรเป็นช่วงอะไรหรือเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เช่น ช่วงแนวทำนองหลัก ช่วงอิมโพรไวส์ ช่วงเชื่อม ฯลฯ ใช่ครับผมกล่าวไว้ไม่ผิดที่ต้องคาดเดาบนความน่าจะเป็นแต่กรณีนี้มักเกิดกับเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่หรือมีการเรียบเรียงขึ้นมาใหม่เสียมากกว่า เนื่องจากไม่เคยได้รับฟังมาก่อนและอาจมีการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสาระทางดนตรีหลากหลาย ตามแต่ทิศทางผู้ประพันธ์ได้จินตนาการไว้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ผมหยิบยกเอาเรื่องโครงสร้างเพลงแจ๊สมากล่าวถึงใน “EP.4 โครงสร้างเพลงแจ๊สมาตรฐานที่ควรรู้จัก” เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้ที่อาจมีโอกาสได้ศึกษาหรือรับชมรับฟังการแสดงดนตรีแจ๊ส

โครงสร้างเพลงแจ๊สที่ผมจะนำมากล่าวถึงนั้นเรียกว่า “The Sandwich Approach” ซึ่งปรากฏในหนังสือ What to Listen for in Jazz จัดทำขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1995 โดย Berry Kernfeld สำหรับบทความ EP.4 ผมได้ใช้แนวทางจากหนังสือเล่มนี้เสมือนเป็นสารตั้งต้น ผสมผสานกับประสบการณ์การศึกษาของผมเองนำมาถ่ายทอดอธิบายสาระตามแนวที่วางไว้ สำหรับชื่อ The Sandwich Approach อาจทำให้ผู้อ่านจินตนาการถึงแซนด์วิช ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นลองติดตามอ่านบทความนี้กันครับ

สำหรับ The Sandwich Approach (จากนี้ไปผมขอเรียกว่า Sandwich Approach) อาจกล่าวได้ว่าเป็นโครงสร้างมาตรฐานเหมาะแก่การศึกษาบุคคลทั่วไปน่าจะเข้าใจได้อย่างไม่ยากจนเกินไป โดยสาระโครงสร้างเพลงผมอ้างอิงถึงการบรรเลงด้วยวงดนตรีขนาดเล็กเป็นแนวทางหลัก บางเพลงอาจมีโครงสร้างต่างออกไปจากแนวคิดที่ผมได้นำมากล่าวถึงใน EP.4 นี้ เนื่องจากการวางโครงสร้างบทเพลงไม่ได้มีเพียงแนวคิดนี้เท่านั้น หากมีความเข้าใจโครงสร้างนี้แล้วก็ช่วยสนับสนุนให้สามารถคาดเดาได้ว่ากำลังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในเพลงบ้าง ส่งผลให้เกิดอรรถรสสำหรับการรับชมรับฟังมากยิ่งขึ้น อนึ่ง กรณีโครงสร้างเพลงในที่นี้เป็นโครงสร้างภาพใหญ่ของเพลงมีความหมายแตกต่างจากสังคีตลักษณ์ (Form) เช่น สังคีตลักษณ์ AABA หรือ ABAC สำหรับ EP.4 ผมจะไม่กล่าวถึงในทิศทางของสังคีตลักษณ์เพื่อป้องกันความสับสน

ส่วนประกอบหลักที่อยากให้จดจำหรือสังเกตเหตุการณ์ในเพลงประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ช่วงแนวทำนองหลักและช่วงการอิมโพรไวส์ ผมอยากให้ตระหนักว่า 2 ส่วนนี้คือเหตุการณ์สำคัญ มักพบได้บ่อยครั้งในเพลงแจ๊สมาตรฐาน เราควรคาดการณ์ได้ว่าตรงไหนเป็นช่วงแนวทำนองหลักและตรงไหนเป็นช่วงการอิมโพรไวส์ โดยมากโครงสร้างเพลงแบบ Sandwich Approach มักประกอบด้วยแนวทำนองหลักช่วงต้นเพลง ตามด้วยช่วงการอิมโพรไวส์และกลับมาบรรเลงแนวทำนองหลักช่วงท้ายเพลงอีกครั้ง สังเกตว่ามีความคล้ายคลึงกับส่วนประกอบของแซนด์วิชคือส่วนขนมปังประกบหัวท้ายและส่วนที่ตรงกลางเป็นใส้

โดยผมตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้ ช่วงแนวทำนองหลักมักเป็นแนวทำนองที่ผู้ฟังอาจจดจำได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แนวทำนองหลักมีความยาวหลากหลาย เช่น 12 ห้อง 16 ห้อง 24 ห้อง หรือ 32 ห้อง เป็นต้น มักนิยมบรรเลงช่วงต้นเพลง (ปรากฏครั้งที่ 1) และช่วงท้ายเพลง (ปรากฏครั้งที่ 2) (หากเปรียบเทียบการปรากฏของแนวทำนองหลักกับแซนด์วิช คือส่วนขนมปังประกบหัวท้าย) แนวทำนองหลักช่วงต้นเพลงอาจปรากฏตั้งแต่เริ่มเพลงหรืออาจปรากฏหลังจากช่วงนำเข้าเพลง (Introduction) แนวทำนองหลักนี้อาจบรรเลง 1-2 รอบ

ด้านแนวทำนองหลักช่วงท้ายเพลง (ปรากฏครั้งที่ 2) โดยมากมักกลับมาปรากฏอีกครั้งหลังจากช่วงอิมโพรไวส์เสร็จสิ้น แนวคิดการกลับมาบรรเลงแนวทำนองหลักนี้อาจมีแนวคิดคล้ายกับการบรรเลงแนวทำนองหลักช่วงต้นเพลง ซึ่งอาจบรรเลงเหมือนช่วงต้นเพลงหรือบรรเลงเพียงบางส่วนจากนั้นจะดำเนินเข้าสู่ช่วงจบเพลง การจบเพลงมักเกิดขึ้นหลังจากบรรเลงแนวทำนองหลักทั้งหมดเสร็จสิ้นลงอาจเพิ่มเติมการบรรเลงวนซ้ำช่วงท้ายแนวทำนองหลักสั้นๆ หรือเรียกว่า Tag เช่น บรรเลงแนวทำนองหลัก 2 ห้องสุดท้ายวนซ้ำ 3 ครั้ง (การวนซ้ำตรงนี้เรียกว่า Tag) และจบการบรรเลง สรุปภาพรวมแนวคิดการปรากฏของแนวทำนองหลักดังตารางที่ 1 เหตุการณ์เหล่านี้เป็นแนวคิดพื้นฐานที่ควรทำความเข้าใจสำหรับโครงสร้างเพลงแจ๊สมาตรฐาน

ตารางที่ 1 ภาพรวมแนวคิดการปรากฏของแนวทำนองหลัก

ส่วนช่วงการอิมโพรไวส์ (เปรียบเทียบกับแซนด์วิชคือส่วนที่ตรงกลางเป็นใส้) มักปรากฏขึ้นหลังจากการบรรเลงแนวทำนองหลักช่วงต้นเพลงเสร็จสิ้นลงไป โดยมากอาศัยการดำเนินคอร์ดช่วงแนวทำนองหลักมาเป็นวัตถุดิบให้กับนักดนตรีที่ทำการอิมโพรไวส์ เช่น แนวทำนองหลักมีความยาวจำนวน 12 ห้อง หลังจากบรรเลงช่วงแนวทำนองหลักช่วงต้นเพลงจำนวน 12 ห้อง (อาจบรรเลง 1-2 รอบตามแนวคิดจากตารางที่ 1) เสร็จสิ้นลงการดำเนินคอร์ดที่ปรากฏบนช่วงแนวทำนองหลัก จะกลายเป็นวัตถุดิบการดำเนินคอร์ดสำหรับช่วงการอิมโพรไวส์ของนักดนตรีด้วย การดำเนินคอร์ดจำนวน 12 ห้องข้างต้นนี้จะถูกบรรเลงวนซ้ำ ๆ จำนวนหลายรอบ สามารถพิจารณาร่วมกับตัวอย่างที่ 1-2 สำหรับตัวอย่างที่ 1 ผมขอหยิบยกเอาแนวทำนองหลักเพลง Billie’s Bounce ประพันธ์โดย Charlie Parker นักแซ็กโซโฟนคนสำคัญในดนตรีแจ๊สมาเป็นตัวอย่างครั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพและสอดคล้องกับสาระที่ผมกล่าวไว้ ส่วนตัวอย่างที่ 2 ผมใส่เพียงชื่อคอร์ดเท่านั้นไม่กำหนดการวางแนวเสียงเข้าไปร่วมด้วยเพื่อให้เห็นภาพต่อจากตัวอย่างที่ 1 ได้สะดวก  

ตัวอย่างที่ 1 แนวทำนองหลักจำนวน 12 ห้อง

ตัวอย่างที่ 2 วัตถุดิบการดำเนินคอร์ดช่วงการอิมโพรไวส์ที่ได้จากแนวทำนองหลักตัวอย่างที่ 1  

จากการดำเนินคอรฺดในตัวอย่างที่ 2 ข้างต้นจะถูกนำมาเป็นวัตถุดิบบรรเลงวนซ้ำ ๆ สำหรับช่วงการอิมโพรไวส์ให้กับนักดนตรี โดยการบรรเลงวนซ้ำแต่ละรอบหรือแต่ละครั้งนั้นนิยมเรียกว่าคอรัส (Chorus) เช่น จากตัวอย่างที่ 2 การดำเนินคอร์ดจำนวน 12 ห้องบรรเลงวนซ้ำรอบที่ 2 (หรือครั้งที่ 2) จะถูกเรียกว่าคอรัสที่ 2 เป็นต้น ทั้งนี้จำนวนคอรัสสำหรับการอิมโพรไวส์ของนักดนตรีและลำดับการอิมโพรไวส์ของนักดนตรีนั้นขึ้นอยู่กับข้อตกลงสำหรับการบรรเลงเพลงด้วย

ช่วงการอิมโพรไวส์ยังสามารถสร้างสีสันให้หลากหลาย ด้วยแนวคิดสลับกันบรรเลงของเหล่านักดนตรีอาจสลับกันบรรเลง 4 หรือ 8 ห้อง (Trading Fours or Trading Eights) ระหว่างผู้ร่วมบรรเลงคนอื่น ๆ แต่ยังคงอาศัยวัตถุดิบการดำเนินคอร์ดเดิมจากช่วงอิมโพรไวส์ ผมขอยกตัวอย่างกรณีการสลับกันบรรเลง 4 ห้องบนการดำเนินคอร์ดจากตัวอย่างที่ 2 และยกตัวอย่างเป็นการสลับกันบรรเลงระหว่างผู้เล่นแซ็กโซโฟนกับผู้เล่นกลองจำนวน 2 คอรัส (หรือ 2 รอบ) ซึ่งบริบทที่เกิดขึ้นในเพลงสามารถเป็นเครื่องดนตรีอื่นได้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงสำหรับการบรรเลงเพลง ทั้งนี้เพื่อให้สะดวกและเห็นภาพยิ่งขึ้นผมจะใช้ตัวอย่างที่ 3 ในการอธิบายสาระ

ตัวอย่างที่ 3 เป็นวัตถุดิบนำมาจากตัวอย่างที่ 2 เดิมแสดงการดำเนินคอร์ดจำนวน 12 ห้อง แต่สำหรับตัวอย่างที่ 3 ผมได้นำการดำเนินคอร์ดเพิ่มขึ้นอีก 12 ห้อง เพื่อให้สอดคล้องและเห็นภาพการสลับกันบรรเลงจำนวน 2 คอรัสได้สะดวกขึ้น สังเกตว่าตัวอย่างที่ 3 มีทั้งหมด 6 บรรทัดแบ่งเป็นคอรัสที่ 1 จำนวน 12 ห้อง (1st Chorus (12 bars)) คือตั้งแต่บรรทัดที่ 1-3 และคอรัสที่ 2 อีกจำนวน 12 ห้อง (2nd Chorus (12 bars)) ตั้งแต่บรรทัดที่ 4-6 โดยบรรทัดที่มีสีน้ำเงินแสดงถึงการบรรเลงของผู้เล่นแซ็กโซโฟนบรรเลง 4 ห้องในแต่ละช่วง ส่วนบรรทัดที่เป็นสีส้มแสดงถึงการบรรเลงของ ผู้เล่นกลองบรรเลง 4 ห้องในแต่ละช่วงเช่นกัน

ตัวอย่างที่ 3 แสดงแนวคิดการสลับกันบรรเลง 4 ห้อง

จากตัวอย่างที่ 3 น่าจะทำให้เห็นภาพรวมการสลับกันบรรเลง 4 ห้องระหว่างผู้เล่นแซ็กโซโฟนกับผู้เล่นกลองได้สะดวกขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเพลงผู้ร่วมบรรเลงอาจร่วมสลับกันบรรเลงได้หลากหลายเครื่องดนตรีขึ้นอยู่กับข้อตกลงสำหรับการบรรเลงด้วยเช่นกัน สำหรับกรณีสลับกันบรรเลง 8 ห้อง จากประสบการณ์ผู้เขียนโดยมากไม่นิยมสลับกันบรรเลงบนการดำเนินคอร์ดจำนวน 12 ห้อง (ดังตัวอย่างที่ 3) แต่มักพบบนการดำเนินคอร์ดที่มีความยาวจำนวน 16 ห้อง 24 ห้อง หรือ 32 ห้อง เป็นต้น อาจเนื่องจากมีเศษจำนวนห้องที่เหมาะสมแก่การสลับกันบรรเลง 8 ห้องการสลับกันบรรเลงอาจเป็นตัวเลือกเพื่อสร้างสีสันให้กับช่วงการอิมโพรไวส์ ทั้งยังสร้างความท้าทายและทำให้เพลงมีมิติมากยิ่งขึ้น จากสาระแนวคิดช่วงการอิมโพรไวส์ที่ผ่านมาผมได้สรุปภาพรวมไว้ดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 ภาพรวมแนวคิดช่วงการอิมโพรไวส์

แนวคิดข้างต้นเมื่อนำช่วงแนวทำนองหลักและช่วงการอิมโพรไวส์ มาจัดเรียงตามลำดับภาพใหญ่ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเพลงสามารถจัดเรียงได้ดังตารางที่ 3 หากจินตนาการถึงแซนด์วิชน่าจะทำให้เห็นความสัมพันธ์ด้านโครงสร้างที่คล้ายคลึงกันดังที่ Barry Kernfeld ได้นำมาเปรียบเทียบได้อย่างไม่ยากเย็นจนเกินไปนัก สำหรับ EP.5 ที่จะกล่าวถึงต่อไปในครั้งหน้าผมจะนำเพลงแจ๊สมาตรฐานที่ใช้แนวคิดโครงสร้างเพลงแบบ Sandwich Approach มายกตัวอย่างให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในเพลงกันครับ  

ตารางที่ 3 สรุปภาพใหญ่ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเพลง

ก่อนจบ EP.4 นี้ผมขอนำสาระเชิงประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊สที่เชื่อมโยงกับแนวคิด Sandwich Approach มากล่าวถึงสั้น ๆ เพื่อแสดงถึงบริบทอื่นที่เป็นปัจจัยเชื่อมโยงกันดังนี้ โครงสร้างเพลงแบบ Sandwich Approach นั้นมักนิยมพบในเพลงแจ๊สมาตรฐานโดยเฉพาะการบรรเลงด้วยวงดนตรีขนาดเล็ก ซึ่งวงดนตรีขนาดเล็กมีบทบาทสำคัญต่อดนตรี Bebop ในเชิงประวัติศาสตร์มิติดนตรีแจ๊ส หากอ้างอิงถึงเชิงบริบทที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊สอาจกล่าวได้ว่า การบรรเลงด้วยวงดนตรีขนาดเล็กมีความโดดเด่นจากดนตรี Bebop ช่วงทศวรรษที่ 1940 (หรืออาจเรียกว่ายุค Bebop) ที่ผมกล่าวแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าวงดนตรีขนาดเล็กพึ่งเริ่มก่อกำเนิดในช่วงเวลานี้ การบรรเลงด้วยวงดนตรีขนาดเล็กมีมาเนิ่นนานแล้ว หากแต่การบรรเลงดนตรีแจ๊สด้วยวงขนาดเล็กในช่วงเวลานี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับวิถีดนตรีแจ๊สให้ก้าวเข้าไปสู่ดนตรีแจ๊สยุคใหม่หรือ Modern Jazz ต่อไป   

ภาพรวมปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสดนตรี Bebop ในมุมมองของผมคือ 1) ช่วงสภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานบันเทิงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลต่อช่วงเวลาทำการและมีลูกค้าน้อยลงจากสภาพเศรษฐกิจช่วงสงคราม อีกทั้งนักดนตรีบางส่วนต้องไปเป็นทหารทำให้วงดนตรีได้รับผลกระทบ 2) การรวมกลุ่มของนักดนตรีแจ๊สชั้นหัวก้าวหน้า เช่น Thelonious Monk, Dizzy Gillespie, Charlie Parker ร่วมกันบรรเลงดนตรีด้วยวงขนาดเล็กที่สถานบันเทิงชั้นนำ เช่น Minton’s Playhouse เป็นต้น กล่าวได้ว่าเป็นการสร้างปรากฏการณ์สำคัญให้กับดนตรีแจ๊สโดยอาศัยการแสดงด้วยวงดนตรีขนาดเล็ก 3) กรอบข้อจำกัดด้านการอิมโพรไวส์สำหรับวงดนตรีแจ๊สขนาดใหญ่หรือวง Bigband ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้กระแสดนตรี Bebop ที่โดดเด่นจากการแสดงด้วยวงดนตรีขนาดเล็กได้ค่อยๆ สร้างกระแสและได้รับความนิยม สำหรับผู้ที่สนใจประเด็นเหล่านี้สามารถหาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือโมเดิร์นแจ๊ส (Modern Jazz) ที่ผมได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2565

สรุปสาระสำคัญของ EP.4 The Sandwich Approach โครงสร้างเพลงแจ๊สมาตรฐานที่  ควรรู้จัก ดังนี้

1) Sandwich Approach ถูกกล่าวสาระในหนังสือ What to Listen for in Jazz จัดทำขึ้นโดย Berry Kernfeld

2) Sandwich Approach เปรียบเทียบโครงสร้างคล้ายคลึงกับแซนด์วิช เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นของช่วงแนวทำนองหลักและช่วงการอิมโพรไวส์

3) แนวทำนองหลักมักปรากฏ 2 ครั้งคือ ช่วงต้นเพลงและท้ายเพลง

4) ช่วงอิมโพรไวส์ มักปรากฏหลังจากแนวทำนองหลักช่วงต้นเพลง

5) วัตถุดิบการดำเนินคอร์ดช่วงอิมโพรไวส์ มักนำมาจากการดำเนินคอร์ดของแนวทำนองหลักนำมาบรรเลงวนซ้ำ การวนซ้ำการดำเนินคอร์ดแต่ละครั้งช่วงอิมโพรไวส์นี้นิยมเรียกว่าคอรัส

6) ช่วงอิมโพรไวส์อาจเพิ่มทางเลือกด้วยการสลับกันบรรเลงของนักดนตรี เช่น 4 ห้อง หรือ 8 ห้อง

สุดท้ายนี้ขอประชาสัมพันธ์งานดนตรีแจ๊สที่น่าสนใจ Chiang Rai Jazz Festival 2024ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 จัดที่ไร่แสงแก้ว จังหวัดเชียงราย พบกับศิลปินไทยและต่างชาติร่วมบรรเลงขับกล่อม ติดตามรายละเอียดได้ที่เพจ Chiang Rai Jazz Festival บางทีอาจพบเจอกับโครงสร้างเพลงแบบ Sandwich Approach ดังที่ผมได้กล่าวไว้ใน EP.4 นี้ครับ

จากรูปหน้าปก EP.4 ถ่ายโดย Pattreeya In เป็นอีกครั้งที่ได้ไปแสดงร่วมกับอาจารย์ เด่น อยู่ประเสริฐ ในนามชื่อ Den Euprasert and The Suriya Rangers บนเวที Main Stage ที่งาน TIJC 2014 สมาชิกครั้งนั้นประกอบด้วย

อาจารย์ เด่น อยู่ประเสริฐ Piano
เจตนิพิฐ สังข์วิจิตร Guitar
วสันต์ สุคนธมัต Saxophone
สิรภพ สิทธิ์สน Bass
อานุภาพ คำมา Drums

แนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติม:  

หนังสือโมเดิร์นแจ๊ส (Modern Jazz) จัดทำขึ้นปี พ.ศ. 2565 โดย เจตนิพิฐ สังข์วิจิตร

หนังสือ Jazz จัดทำขึ้นปี ค.ศ. 2009 โดย Scott DeVeaux และ Gary Giddins

หนังสือ Jazz: A History of America’s Music จัดทำขึ้นปี ค.ศ. 2002 โดย Geoffrey C. Ward และ Ken Burns

หนังสือ Jazz: From Its Origins to the Present จัดทำขึ้นปี ค.ศ. 1993 โดย Lewis Porterและคณะ

หนังสือ Jazz Styles History & Analysis พิมพ์ครั้งที่ 7 จัดทำขึ้นปี ค.ศ. 2000 โดย Mark C. Gridley

หนังสือ What to Listen for in Jazz จัดทำขึ้นปี ค.ศ. 1995 โดย Berry Kernfeld