สิ่งที่ได้พบตลอดสามวันบนถนนสายเก่าในสิบสองปันนาคือความร่มครึ้มของต้นไม้ ช่วยบรรเทาแดดสร้างบรรยากาศเดินทางประทับใจสุด
จากเมืองล่าถึงเมืองหย่วน เมื่อวานปั่นต่อมาถึงเมืองสิง ผ่านป่าสงวนสิบสองปันนา ต้นไม้ใหญ่ๆ ตะไคร่เฟิร์น พ้นเขตป่า จากเมืองสิงไปถึงเมืองหนุน Menglunzhen มีอุโมงค์ต้นไม้ที่สวยงามทั้งแดดทั้งเงา เลี้ยวเข้าถนนสาย G219 นึกว่าจะร้อน ปรากฎมีเงาต้นยางพาราต้นปาล์มช่วยไว้อีก
ที่จริงเส้นทางก็หนักน่องไม่น้อยตั้งแต่เมืองล่ามา ไต่ดอยระดับ 800-1200 ทุกวัน เงาไม้ช่วยลดฮีตได้เยอะ วิศวกรรมถนนเขาก็โอเค สโลปไม่โหด ค่อยๆ สะสมไต่ ซึ่งถ้าเป็นลาวไม่สนหรอก ตัดขึ้นเลย ชันแค่ 14 หรือ 15 จูงแน่นอน
บ้านเมืองในเขตนี้หน้าตาเป็นเมืองเป็นตลาดแบบจีนไปแทบหมด แต่ก็ยังหลงเรือนไม้ไตลื้อเก่าๆ อยู่บ้างเมื่อวานจากเมืองหนุนไปเมืองฮำยังเจอะหมู่บ้านเก่าๆ มีวัด มีเฮือนไม้ ส่วนหมู่บ้านอนุรักษ์ไตที่เราพักที่บ้านแวน มันเฟคๆ นายทุนจีนสวมบรรยากาศไตลื้อได้ไม่สนิท ทุนแผ่ลามออกจากเชียงรุ่งไปยังเมืองต่างๆ ถึงสุดขอบชายแดน ส่วนการพัฒนาชนบทแบบจีนนั้นยังไงต้องยกให้เขา คนมีดื่มกิน มีจับจ่าย เป้าหมายพัฒนาให้พ้นเส้นความยากจน จับต้องได้
ระยะทางปั่นเมื่อวาน 87 กม ยอดแรก 1100 ม. เรียกเหงื่อ มีไต่ยอดกลางก่อนถึงเมืองหนุน 800 ม.ถัดไปก่อนเข้าเมืองฮำมีอีก 600ม. แล้วทางก็ลาดเทลงไปแม่น้ำโขงในช่วงท้าย มีเฮเพราะได้ไหลรถเร็วยาวๆ ในยามที่น่องทำงานหนักมาทั้งวัน ถึงที่หมายราวหกโมงเย็น พักเขตตลาดเมืองกาหลันป้า Menghanzhen มันขยายออกมาเป็นย่านตลาดเมืองใหม่ลืมกาหลันป้าเดิมไปเลย โรงแรมใหม่กว้างทันสมัยไร้กลิ่นบุหรี่ ดีงาม
วันนี้จะเลาะน้ำโขงจากเมืองฮำ กาหลันป้า ไปเชียงรุ่ง ตั้งใจจะไปดูรูปปั้นโจวเอินไหล ปักกิ่งยุคโน้นปลอบประโลมสิิบสองปันนาจนชาวไตลื้อประทับจำ บทบาทพญาเหยียบเมืองของนายกโจว ระบอบใหม่ที่มาแทนระบอบเก่า ปรากฎเป็นสัญลักษณ์เหนือเวียงผาคราง