“ทรัพย์จำนงค์ฟาร์ม” เป็นอาณาจักรฟาร์มโคเนื้อใหญ่ที่สุดของจังหวัดพะเยา เจ้าของฟาร์มชื่อ จำนงค์ มาคำ หรือ MR.JAMNONG MAKAM ชายผิวดำแดงรูปร่างเล็กสันทัด คนในวงการโคเนื้อระดับประเทศรู้จักกันในนาม “นายฮ้อยเมืองเหนือ” มีประสบการณ์ค้าขายโคเนื้อเป็นเวลากว่า 30 ปี จากพ่อค้าระดับท้องถิ่นสู่การเป็นพ่อค้าโคเนื้อระหว่างประเทศ ที่ดินเลี้ยงสัตว์ผืนเล็กๆ บริเวณตำบลแม่ปืม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ประเทศไทย ขยายขอบเขตเป็นอาณาจักรฟาร์มโคเนื้อครบวงจรบนผืนดินหลายร้อยไร่ วิสัยทัศน์ ความคิด ความเห็นอันมีต่อการค้าโคเนื้อประเทศไทย จึงแหลมคม แม่นยำ ตรงต่อความเป็นจริง

สายพันธุ์โคบาลของจังหวัดพะเยา ประเทศไทย

ผมเกิดมาตระกูลของคนเลี้ยงวัว ตอนเรียนหนังสือผมมองเห็นพ่อต้อนโคก็วิ่งออกจากโรงเรียนไปช่วยพ่อ เมื่อผมเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 อ่านหนังสือออกเขียนหนังสือได้ทำบัญชีเป็น ก็เริ่มค้าขายโคเนื้อ ตอนเช้ามืดผมจะขับรถมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าดรีมเดินทางจากพะเยาถึงตลาดนัดโคกระบืออำเภองาว จังหวัดลำปาง ตอนนั้นซื้อโคเนื้อจำนวน 5 ตัวได้กำไรตัวละ 1 พันบาท การซื้อโคเนื้อที่ตลาดนัดโคกระบือ มีข้อดีเรื่องการเปรียบเทียบราคา คนซื้อโคเนื้อสามารถคำนวณผลกำไรได้ก่อนการลงทุน แต่การซื้อโคเนื้อที่บ้านของเกษตรกรไม่มีตัวเปรียบเทียบ มองไม่เห็นช่องทางการขาย โอกาสขาดทุนจึงมีมาก การลงทุนในธุรกิจโคเนื้อเป็นเบี้ยหัวแตก ลงทุนธุรกิจอื่นต้องลงทุนต่อเนื่องบางครั้งขาดทุน แต่การลงทุนซื้อขายโคเนื้อ ลงทุน 1 ล้าน ได้เงิน 1 ล้านพร้อมกำไร แม้ว่าผมจะเป็นเจ้าของฟาร์มโคเนื้อ ยามว่างในช่วงตอนเย็นผมยังพาโคเดินเล่นกินหญ้าในฟาร์ม ผมคิดว่าการเลี้ยงโคเป็นเรื่องของความสุขทางใจ

เมื่อเริ่มเติบโต ก็มีสื่อมวลชนเดินทางมาสัมภาษณ์ที่ฟาร์ม เป็นหนังสือแม๊กกาซีนโคบาล หลังจากนั้นก็เริ่มมีพ่อค้าชาวมาเลเซียเข้ามาติดต่อขอซื้อโคเนื้อ แล้วก็มีพ่อค้าชาวจีน ชาวเวียดนาม เริ่มมาติดต่อซื้อขาย ทรัพย์จำนงค์ฟาร์มก็เติบโตขึ้น แต่ถ้าถามถึงตลาดหลักสำหรับผมคือตลาดมาเลเซีย พ่อค้าชาวมาเลเซียเห็นหน้าผมจะพูดถึง “วัวก๊อก” หรือ โคอายุน้อย ผมเดินทางเยือนปีนังประเทศมาเลเซียเพื่อดูตลาดความต้องการของคนมาเลเซีย ฟาร์มของพ่อค้าชาวมาเลเซียมีลักษณะเหมือนศูนย์อนุรักษ์โคไทย พ่อค้ามาเลเซียนำส่งโคเนื้อเข้าโรงเชือดวันละ 100 ตัว เชือดในโรงเชือดของตนเองอีกวันละ 10 ตัว ผมคิดว่าตลาดมาเลเซียเป็นตลาดโคเนื้อที่ดีที่สุด มาเลเซียมีประชากรชาวมุสลิมจำนวนมาก พื้นที่เลี้ยงโคเนื้อมีจำนวนน้อย ถือเป็นตลาดที่สำคัญของประเทศไทย  

บุกพม่าฝ่าดงระเบิดเพื่อติดต่อซื้อโคเนื้อ

หลายปีก่อนผมต้องการโคเนื้อจำนวนมาก ผมตัดสินใจเดินทางสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ข้ามฝั่งชายแดนประเทศไทย สู่รัฐฉาน ประเทศพม่า ก่อนข้ามพรมแดนก็จ้างเจ้าหน้าที่ทหารพาข้ามฝั่งเดินทางด้วยเท้า เดินหลบกับระเบิดตลอดทาง พอถึงกลางคืนช่วงดึกก็ต้องจ้างทหารเฝ้ายาม เพราะระหว่างทางอาจถูกปล้น เมื่อถึงตลาดนัดโคกระบือก็พบกับโคเนื้อเมืองพม่า โคเนื้อที่นั่นสวยมาก โคเนื้อมีให้เลือกหลายสี ทั้งสีแดง สีขาว สีดำ พ่อค้าชาวพม่าสวมสร้อยคอทองคำ สวมแหวนครบทุกนิ้ว เมื่อเจรจาเขาก็ขายโคเนื้อให้จำนวนร้อยกว่าตัว ราคาตัวละ 17,000 บาท

ผมจ้างคนลากจูงโคเนื้อคนละ 400 บาท จูงโคเนื้อคนละ 2 ตัว พาโคเนื้อเดินทางข้ามชายแดนฝั่งพม่ามาถึงชายแดนไทยใช้เวลา 11 วัน เมื่อเดินทางถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดการจ่ายค่าแรงคนจูงโคเนื้อ จ่ายค่าแรงคนนำทาง มีกำไรจากโคเนื้อประเทศพม่าตัวละ 7,000 บาท นั่นเป็นการเดินทางเข้าประเทศพม่าเพียงรอบเดียวในชีวิตพ่อค้าโคเนื้อ นับเป็นการค้าขายบนเส้นทางอันตราย ปัจจุบันถ้าผมอยากได้โคเนื้อก็จอดรถรออยู่บริเวณริมเส้นทางหลวงจังหวัดพะเยา นั่งมองดูรถขนส่งโคเนื้อผ่านคันไหนน่าสนใจก็เรียกดู

ลักษณะเฉพาะโคเนื้อพม่าส่วนใหญ่ เป็นโคพื้นเมืองของอินเดียและปากีสถาน เป็นต้นสายของโคสายพันธุ์บราห์มัน มีลักษณะคล้ายโคขาวลำพูนของไทย เป็นโคปลดระวางจากการใช้แรงงาน กีบเท้าผุพัง บางตัวใส่เกือก บริเวณคอเป็นรอยหาบคอน แต่คุณลักษณะของโคเนื้อพม่า มีลักษณะที่อึด ถึก ทน ทำงานหนัก สามารถเดินทางไกลโดยไม่อิดโรย โคเนื้อประเทศพม่าส่วนหนึ่งถูกรับซื้อโดยพ่อค้าชาวเวียดนามเพื่อนำเข้าสู่ประเทศจีน อีกส่วนหนึ่งถูกรับซื้อโดยพ่อค้าชาวไทยเพื่อเลี้ยงขุนก่อนขายต่อให้กับพ่อค้าชาวจีน

ปลดล็อคโควิด เปิดด่านการค้าชายแดน ตลาดโคเนื้อเติบโต 100%

ตลาดโคเนื้อของประเทศไทย ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทุกประเทศเปิดรับโคเนื้อของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าชาวมาเลเซีย พ่อค้าชาวจีน หรือพ่อค้าชาวเวียดนาม การค้าขายเป็นเรื่องความไว้วางใจ พ่อค้าไว้ใจได้บ้านเรามีจำนวนน้อย จำนวนโคเนื้อก็มีน้อยลง อนาคตหากไม่มีโคเนื้อแม่พันธุ์เราก็จะไม่มีโคเนื้อจะเลี้ยง ตัวอย่างจังหวัดพะเยาในปี 2564 เหลือโคเนื้อที่สามารถนำมาขายให้กับทรัพย์จำนงฟาร์มคือ อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา สมัยก่อนคิดว่าโคเนื้อเมืองพะเยาไม่มีวันหมด วันนี้ต้องคิดใหม่  โคเนื้ออาจเยอะขึ้นภายหลัง แต่ราคาของโคเนื้อจะขยับขึ้นเป็นลำดับนับจากเวลานี้

ตลาดโคเนื้อประเทศจีนคืออนาคต พวกเราพูดคุยถึงเรื่องตลาดโคเนื้อประเทศจีนมากว่า 2 ปี พ่อค้าโคเนื้อทุกคนวางเป้าหมายสู่การส่งออกโคเนื้อให้กับประเทศจีน แต่เมื่อทำจริงกลับพบปัญหาหลายประการ เช่น ความยุ่งยากในการเดินทางข้ามประเทศ มาตรการปราบปรามการลักลอบน้ำเข้าโคเนื้อผิดกฎหมาย หรือผลประโยชน์ของการค้าชายแดนที่ไม่ลงตัว คนจีนต้องการโคเนื้อตัวใหญ่แต่การเลี้ยงขุนต้องใช้เวลานาน ใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง ค่าอาหารโคตัวละ 100 บาทต่อวัน ทรัพย์จำนงฟาร์มต้องเสียค่าอาหารเป็นเงินกว่า 10,000 บาทต่อวัน ฉะนั้น การซื้อการขายเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนจึงมีความจำเป็น

ผมยืนยันได้ว่า ตลาดโคเนื้อประเทศจีนไม่ใช่ตลาดโคเนื้อของไทย คู่แข่งอย่างพ่อค้าชาวลาว “พ่อเลี้ยงคำจันทร์” พ่อค้ารายใหญ่ชาวลาวมีเม็ดเงินซื้อขายกับพ่อค้าชาวจีนจำนวนกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี มีโคเนื้อจำนวนมากเตรียมนำเข้าจีนเมื่อมีการเปิดด่าน ส่วนพ่อค้าเวียดนามก็ส่งออกโคเนื้อให้ประเทศจีนอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนปัญหาเรื่องสารเร่งเนื้อแดงในโคเนื้อ พูดกันตามความเป็นจริง ต้องถามถึงต้นสายปลายเหตุ การใส่สารเร่งเนื้อแดงเป็นความต้องการของใครในตลาดโคเนื้อ มันเป็นความต้องการของพ่อค้าแม่ค้าที่รับซื้อโคเนื้อเข้าโรงเชือด พวกเขาต้องการปริมาณเนื้อจำนวนมาก ปริมาณไขมันน้อย เวลาเชือดจะได้ไม่ขาดทุน แน่นอนว่า การใส่สารเร่งเนื้อแดงไม่ใช่ความต้องการของผู้บริโภค ไม่ใช่ความต้องการของคนเลี้ยงโค

ผู้สัมภาษณ์ ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ เรียบเรียงและถ่ายภาพ ร.ต.อ.ทรงวฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)