ระยะทาง 15 กิโลเมตร เดินทางจากตัวเมืองจังหวัดพะเยาสู่พิกัด 19.223800,99.793282 ผ่านเมืองพะเยาสู่เส้นทางลูกรังเราจะพบแหล่งพักพิงสัตว์หายากจำนวนกว่า 100 ชีวิต อาศัยอยู่ ณ บ้านเลขที่ 189 หมู่ 7 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
ใต้ร่มเงาต้นไม้อันร่มรื่น ไก่ฟ้าร่างระหงส์เดินวนเวียนเชื่องช้าสง่างาม นกยุงห้อยหางเกาะอยู่บนกิ่งไม้ มาร่าสัตว์สี่เท้าน่ารักสายพันธุ์อเมริกาใต้ กระจง กระต่าย หลบอยู่ใต้ร่มไม้ใจกลางสวนเกษตรอินทรีย์พื้นที่ 30 ไร่ สายฝนโปรยปรายกระทบแสงยามบ่ายของเดือนมิถุนายน บรรยากาศอันอบอ้าวเริ่มคลายตัวหลังชายหน้าตาดีวัย 46 ปี เดินทางกลับถึงบ้าน แม้ไม่เสร็จภารกิจย้อมผมจากร้านเสริมสวย
เวลา 14.00 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ผู้เขียนเริ่มพูดคุยกับคนคุ้นตาหลังจากเป็นคนแปลกหน้าเมื่อ 20 นาทีก่อน พงษ์เทพ พิทักษ์รัตนพงศ์ เพศชายใบหน้าอ่อนกว่าวัย 46 ปี เริ่มเปิดใจเล่าเรื่องราวภายในครอบครัวว่า เขาไม่เคยเดินทางไกลบ้านนับตั้งแต่จบการศึกษาปริญษาตรีศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2542 หลังเรียนจบก็ทำการเกษตรช่วยครอบครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เริ่มเลี้ยงนกยุงด้วยความชมชอบ หลังจากนั้นขออนุญาตครอบครอง เพาะพันธุ์ และค้า ผ่านเวลามากว่า 20 ปี ครอบครัวสัตว์เลี้ยงอันมีเพียงนกยุง เติบโตขยายพื้นที่จนมีสัตว์เลี้ยงมากกว่า 100 ชีวิต บ้านสวนหลังเล็กเลขที่ 189 เป็นที่รู้จักเริ่มมีคนเยี่ยมเยือนชมดูสัตว์จำนวนมากขึ้น
“ผมค่อนข้างหวงเมื่อมีใครเข้ามาชมสวนดูสัตว์ เพราะปัจจุบันเชื้อโรคมีเยอะมาก เราเปิดให้คนทั่วไปดูพร่ำเพรื่อไม่ได้ สัตว์บางตัวต้องการอยู่อย่างสงบเพื่อใช้เวลาวางไข่ปีละ 2 ฟอง สัตว์บางชนิดค่อนข้างหวาดผวากับคนแปลกหน้าไม่อยากให้ใครมารบกวน”
สัตว์เลี้ยงของพงษ์เทพ พิทักษ์รัตนพง เป็นสัตว์แปลกหายาก เช่น นกหว้า นกแว่นเหนือ นกแว่นใต้ แม้แต่ในผืนป่าธรรมชาติของประเทศก็เหลือน้อยเต็มที สัตว์บางสายพันธุ์ใช้เวลากว่า 3 ปีจึงจะเริ่มวางไข่ซึ่งในประเทศไทยมีคนเพาะเลี้ยงไม่ถึง 3 คน ส่วนตลาดรับซื้อคือต่างประเทศ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ยุโรป ผู้นิยมเลี้ยงสัตว์หายากส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะมั่งคั่ง เลี้ยงสัตว์ไว้ดูเพื่อความสุขทางใจ ไม่สนใจเรื่องการเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่าย
เดิมทีพงษ์เทพเลี้ยงสัตว์ด้วยความชื่นชอบ นานวันสัตว์หลายชนิดขยายพันธุ์จึงเริ่มซื้อขายแลกเปลี่ยน ปัจจุบันบ้านเลขที่ 189 มีสัตว์หายากจำนวนกว่า 100 ชีวิต แยกกันอยู่ตามกรงซึ่งจัดสรรไว้จำนวนกว่า 60 กรง หนึ่งวันของพงษ์เทพจะใช้ไปกับการเลี้ยงดูสัตว์นานาพันธุ์เหล่านี้
“ผมนิยมดูแลสัตว์เลี้ยงยากแต่ราคาสูง นกหว้า พิราบหงอน ราคาตัวละ 20,000-30,000 บาท เปรียบกับการเลี้ยงไก่ 100 ตัว ขายได้เงิน 10,000 บาท เราเลี้ยงสัตว์หายากเพียงไม่กี่ตัวแต่ขายได้ราคาคุ้มค่ากับต้นทุนการเพาะเลี้ยง มีกำไรจากความสุขทางใจ”
การเลี้ยงสัตว์หายากเรามองเชิงอนุรักษ์เพราะหากเริ่มเป็นธุรกิจต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่หากเลี้ยงสัตว์ด้วยใจรักมันก็กลายเป็นอาชีพซึ่งเติบโตมีรายได้นับล้านบาทต่อปี เงินส่วนนี้ เราก็จะนำมาดูแลสัตว์และซื้อสัตว์ชนิดใหม่จากต่างประเทศเข้ามาเพาะเลี้ยงในฟาร์ม
ปัจจุบันคนเลี้ยงสัตว์หายากมีน้อยลง ปัญหาเกิดจากความยุ่งยากในการขอใบอนุญาต ส่วนตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนไม่ค่อยมีปัญหา เพราะปัจจุบันความสนใจของคนอยู่ในกลุ่มโซเชียลมีเดี่ย ใครสนใจสัตว์ประเภทไหนก็อยู่ในกลุ่มนั้น ผมชอบไก่ฟ้าก็อยู่กลุ่มไก่ฟ้าซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม ช่วงหลังเรานิยมแลกเปลี่ยนเพราะสัตว์บางตัวราคาสูง เช่น นกหว้าหรือแว่นพาลาวัล ไก่ฟ้าหน้าเขียวบอเนียว ราคาคู่ละ 50,000 บาท ผู้นิยมซื้อก็เป็นกลุ่มคนหน้าใหม่ซึ่งชมชอบสัตว์ชนิดนั้นเป็นพิเศษ
เรื่อง / ภาพ ร.ต.อ.ทรงวุฒิ จันธิมา (กระจอกชัย)